fbpx
“ผมเห็น ‘ปรีดี พนมยงค์’ เต็มไปหมดในกลุ่มคนรุ่นใหม่” – ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

“ผมเห็น ‘ปรีดี พนมยงค์’ เต็มไปหมดในกลุ่มคนรุ่นใหม่” – ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

 

 

11 พฤษภาคม 2443 เป็นวันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด ทารกน้อยคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่พระนครศรีอยุธยา บุตรนายเสียงและนางลูกจันทร์ผู้นี้มีนามว่า ‘ปรีดี พนมยงค์’

120 ปีผ่านไป มรดกทางความคิดของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ยังทรงอิทธิพลในสยาม ความคิดทางการเมืองและสังคมของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ดำรงอยู่และถูกท้าทายให้ต้องวิวัฒน์อย่างไรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย โดยเฉพาะในห้วงยามที่เข็มเวลาประเทศไทยเหมือนจะเดินถอยหลัง

ในวาระ 120 ปีชาตกาล ‘ปรีดี พนมยงค์’  101 ชวนหาคำตอบเรื่องมรดกทางความคิดของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในสังคมไทยสมัยใหม่ กับ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมาย ปรัชญากฎหมาย และความคิดทางการเมืองและสังคมของปรีดี พนมยงค์

 

รัตนบุรุษสยาม

 

ถ้าถามผมว่า ‘ปรีดี พนมยงค์’ คือใคร ผมมองว่า ปรีดีคือคนไทยสามัญคนหนึ่งที่รักชาติ ใฝ่เรียนรู้ และนำความรู้ที่ตนได้รับมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศตราบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต กล่าวคือ ปรีดีเป็นผู้เปิดฉากประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ นำชาติบ้านเมืองเข้าสู่ระบอบการปกครองที่เชื่อมั่นในตัวราษฎร และเชื่อมั่นว่าชาติบ้านเมืองสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ ถ้าเรามีกลไกทางการเมือง การปกครอง และการบริหารที่ตอบสนองต่อเจตจำนงและความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีมาก่อน และมาเริ่มมีในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สำหรับผม นี่คือผลงานที่เป็นรูปธรรมของปรีดี และเป็นเรื่องที่คนไทยจะไม่รู้ไม่ได้

อีกผลงานหนึ่งคือ ในช่วงสงครามครั้งโลกที่ 2 ปรีดีมีบทบาทในฐานะผู้นำขบวนการต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม ‘ขบวนการเสรีไทย’ ซึ่งบทบาทนี้เป็นที่ยอมรับกันทั้งในไทยและต่างประเทศ ในความคิดของผม เหตุการณ์ 2 เรื่องนี้ทำให้ท่านโดดเด่นอย่างยิ่งในฐานะผู้นำไทยที่ทำให้ชาติบ้านเมืองรอดปลอดภัย และพยายามนำบ้านเมืองเข้าสู่ระบอบการปกครองที่ต้องการให้ราษฎรเป็นใหญ่อย่างแท้จริง

 

โลกที่สร้าง ปรีดี พนมยงค์ : บริบทโลกและไทย

 

สังคมแบบที่สร้างปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมา ถ้ามองแบบฝรั่งก็จะเป็นสังคมในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งกำลังเดินเข้าสู่ปัญหาความขัดแย้งที่สั่งสมมานาน ถ้ามองยาวๆ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้เกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระดับระหว่างประเทศ และเกิดความขัดแย้งภายในแต่ละประเทศเอง

เราจะเห็นการค่อยๆ ปรากฏตัวของแนวคิดทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มแนวคิดเศรษฐกิจแบบฝ่ายซ้าย เราจะเห็นคนอย่างคาร์ล มาร์กซ์ ที่เสนอวิธีคิดและจัดการเศรษฐกิจ รวมถึงแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นภาพรวมในระดับสากลที่ต่อสู้กันมาหลายสิบปี

ส่วนประเทศไทยตอนนั้นเผชิญกับยุคล่าอาณานิคม แต่จริงๆ ผมคิดว่า มันมีมิติทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เรากำลังอยู่ในยุคที่ปรับตัวให้เข้ากับระบอบแบบนั้น ปรีดีเกิดมาในยุคที่ลัทธิอาณานิคมทำให้เมืองไทยต้องขยับเขยื้อน และเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปรีดีได้ทุนจากกระทรวงยุติธรรมไปเรียนที่ฝรั่งเศสด้วย เจตนารมณ์หรือนโนบายของการส่งบุคลากรไปเรียนที่ต่างประเทศก็เพื่อนำความรู้แบบตะวันตกกลับมาพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5

พอมองลงมาในระดับสังคมไทย ตอนนั้นประเทศเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงเหมือนกับประเทศตะวันตก แต่สังคมไทยก็กำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบสังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่เปิดกว้างมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองสภาพทางเศรษฐกิจระดับพื้นฐานที่สุดในประเทศ เราเห็นวิถีชีวิตของเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา นี่ก็เป็นสิ่งที่ปรีดีสัมผัสและตระหนักถึงในเวลานั้น เพราะท่านเป็นลูกชาวนาด้วย

อย่างที่บอกว่า ไทยเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเหมือนสังคมตะวันตก แต่เราก็กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบหนึ่งไปสู่ระบบใหญ่ที่พวกฝรั่งผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง ทำให้เกิดการทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ และบังเอิญว่า คนกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้คือกลุ่มคนที่ปรีดีได้ไปสัมผัส ทำความเข้าใจ และมองเห็นปัญหาของพวกเขาในเวลานั้น ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นที่มาของความสนใจใฝ่รู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ของท่าน ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส

ส่วนมิติด้านการเมือง เราจะเห็นว่าต่างประเทศสามารถแก้ปัญหาของพวกเขาได้ ทั้งด้วยบริบทและวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขปัญหาในระดับที่ดีพอสมควร แต่ในไทย ถามว่าเราเทียบกับการเปลี่ยนผ่านมาสู่สมัยใหม่ของยุโรปได้ไหม ผมว่าเทียบได้ในมุมหนึ่ง และเทียบไม่ได้ในมุมหนึ่ง ที่บอกว่าเทียบไม่ได้คือ โลกตะวันตกมีความคิดที่ให้ความสำคัญกับประชาชน มีนักคิด นักเขียน ช่วยขยายความ อธิบายรายละเอียด และสร้างทฤษฎีขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในบ้านเรา และในตอนนั้น ข้อมูลข่าวสารหรือสื่อต่างๆ ก็ยังไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก ส่วนคนที่มีความคิดเหล่านี้ก็เป็นคนชั้นกลางในเมือง สำหรับปรีดี ถึงตอนนั้นท่านจะอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา แต่ก็ไม่ได้ไกลจากเมืองหลวงมากนัก และด้วยความที่เราเริ่มมีหนังสือพิมพ์ด้วย ทำให้ท่านได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

ถ้าพูดในภาพรวม สังคมไทยก็กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งปรีดีได้เข้ามาสัมผัสกับสังคมไทยที่เปลี่ยนผ่านไปพร้อมกับกระแสโลก รวมถึงเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งที่ใกล้ตัวคือในเอเชีย และที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น เหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ และมีผลสืบเนื่องต่อมาจนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

เพราะฉะนั้น สังคมที่ปรีดีถือกำเนิดและได้สัมผัสสิ่งต่างๆ นี้ ก็เป็นการสร้างตัวตนของท่านขึ้นมา และในที่สุด เราจะเห็นได้ว่าท่านมีวิสัยทัศน์อย่างไร หลังต้องประสบกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เราเห็นว่าถ้าท่านสามารถทำอะไรได้ ท่านก็จะลงมือทำ นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ชัดนะ ผมคิดว่าปรีดีก็เป็นตัวชี้วัด (indicator) ของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายนอก และส่งมาสู่ประเทศไทยหรือสยามในเวลานั้นด้วย

 

โลกที่สร้าง ปรีดี พนมยงค์ : บริบทส่วนตัว

 

ถ้ามองในมุมเฉพาะลงมาสักนิด สิ่งที่มีอิทธิพลต่อปรีดีคือ ชีวิตครอบครัว หรือวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นเพที่สำคัญมาก คุณพ่อของปรีดีเลือกที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือเป็นชาวนา ท่านเลยได้รับผลพวงวิถีชีวิตแบบชาวนาไปด้วย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ทำให้ปรีดีเห็นปัญหา และบังเอิญว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย

นอกจากนี้ การที่ปรีดีได้ไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ก็เป็นการช่วยก่อรูปร่างความคิด และทำให้ความคิดตกผลึกในที่สุด แต่ผมต้องเล่าบริบททางสังคมก่อนว่า ตอนปรีดีไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ท่านเจอสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบสาธารณรัฐที่สาม’ ซึ่งเป็นระบอบที่มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส สรุปง่ายๆ คือเป็นระบอบการปกครองที่ประชาธิปไตยเริ่มมั่นคง เข้มแข็ง และมีเสถียรภาพภายใต้แนวคิดแบบสังคมนิยม คือเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม ซึ่งในตอนนั้น ความคิดแบบสังคมนิยมแพร่หลายในฝรั่งเศสมาก

ผมลองดูไปถึงรายละเอียดหลักสูตรที่ท่านเรียน พอลงมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่นักนิติศาสตร์ของไทยค่อนข้างมีปัญหาด้วย เพราะเราไม่ค่อยได้เรียนรากฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายแบบยุโรป คือระบบ ‘นิติศาสตร์แบบโรมัน’ ในยุโรปเรียกผลผลิตของระบบนี้ว่า Ratio Scripta เป็นคำที่แปลมาจากภาษาละติน หมายถึงระบบเหตุผลที่ถูกบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นระบบที่เชื่อมั่นในเหตุผลที่ถูกต้อง เชื่อว่าความเป็นธรรมในโลกมีจริง นี่เป็นอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังระบบนิติศาสตร์โรมันอีกที เป็นสิ่งที่ปรีดีเรียน ซึ่งคนที่เรียนลึกลงไปแบบนี้จะเป็นคนที่ถูกฝึกฝนให้คิดอย่างมีตรรกะด้วย

นอกจากนี้ ปรีดียังรับความคิดหลายๆ อย่างที่แพร่หลายเข้ามาในสังคมไทยตั้งแต่ช่วงหลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง ทั้งงานของเทียนวรรณ หรือกลุ่มคณะขุนนางที่กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ให้มีพระราชดำริเรื่องการปกครองใหม่ (เหตุการณ์ ร.ศ.103) หรืออีกสิ่งสำคัญในชีวิตของท่าน และเป็นปัจจัยสำคัญของสังคมไทยเลยคือ พุทธศาสนา ซึ่งเป็นคติที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลในสังคมไทย ใครจะเรียนอะไรมาก็ตาม ถ้ามันเป็นความคิดที่ฝืนหรือขัดต่อความคิดทัศนคติในเชิงพุทธ สังคมไทยอาจจะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรีดีไปรับ สัมผัส และเรียนรู้ จะถูกคัดกรองจนกระทั่งเข้ามาสู่ระบบความคิดที่สอดคล้องและเป็นไปได้ในที่สุด ทั้งในเชิงศีลธรรม ตรรกะวิชาการ และวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้เหมือนจิ๊กซอว์นะครับ ค่อยๆ ต่อทีละเล็กทีละน้อย จนพอมากเข้า เราก็จะเห็นภาพทั้งหมด

 

เค้าโครงการเศรษฐกิจมรดกความคิดสู่คนรุ่นหลัง

 

ถ้าพูดถึงมรดกทางความคิดของปรีดี สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ ที่มีทั้งทฤษฎีทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของปรีดีอยู่อย่างครบถ้วน เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ปรากฏออกมาเป็นแผนงานทางเศรษฐกิจที่มุ่งหาทางบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร แต่เราอธิบายความสุขสมบูรณ์ ความดี หรือความสุขว่าคือมุมไหนไม่ได้นะครับ เราต้องลงลึกไปอีกในแง่ความคิด ทัศนคติที่มีต่อมนุษย์และมีต่อโลก ทั้งหมดนี้คืออิทธิพลของพุทธศาสนาทั้งสิ้น ปรีดีรับสิ่งเหล่านี้เข้ามา และนำเสนอในรูปแบบของวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจ

ปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจในปี 2476 ลองคิดดูว่า ถ้าเราได้ใช้เค้าโครงการเศรษฐกิจต่อมาจนถึงปัจจุบันจะเป็นอย่างไร แน่นอน มันจะไม่สถิตเสถียรอยู่แบบนั้นหรอก แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ซึ่งผมมองว่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ มันจะเซ็ตระบบที่คงตัว และกลายเป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ ถ้าเป็นแบบนี้ ไทยจะทำเรื่องรัฐสวัสดิการได้ก่อนยุโรปด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ปรีดีไม่ได้บอกว่านี่เป็นอะไรที่สำเร็จรูป แต่เป็นเพียงเค้าโครง จะปรับเปลี่ยนหรือแก้อย่างไร ก็ไปว่ากันในสภาอีกที ผมมองว่านี่น่าคิด เพราะในทางการเมือง เค้าโครงการเศรษฐกิจถือว่าสำเร็จในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ทั้งหมด แต่ช่วยผลักดันให้ระบบการเมืองเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วย

ปรีดีมักจะบอกเสมอว่า เวลาจะรับอะไรมาใช้ในบ้านเราจะต้องทำให้เหมาะสม ซึ่งหลักการนี้สำคัญ สิ่งที่ปรีดีทิ้งไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจและเป็นสิ่งที่ผมมองว่ามีคุณค่ามากคือ ปรีดีทำให้เราเห็นว่าระบบเศรษฐกิจมีทางเลือก ไม่ได้มีทางเดียวที่จะต้องเดินไปสู่เส้นทางของการตอบสนองต่อกำไร แต่มีทางอื่นที่เราน่าจะต้องคำนึงถึงด้วย เช่น เราจะสามารถมีเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและเป็นไปเพื่อศีลธรรมได้ไหม ผมว่าสิ่งนี้แสดงออกมาในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้คำว่าศีลธรรม แต่ก็แสดงให้เราเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจที่เอื้ออารีต่อกันเป็นไปได้

เวลาปรีดีเก็บสะสมความคิดอะไรมา สิ่งเหล่านั้นจะอยู่ในกรอบของพุทธศาสนา ผมคิดว่า ตอนที่ท่านไปเจอแนวคิดแบบนี้ อาจจะเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวน่าสนใจดี และสามารถไปกับคติและวัฒนธรรมไทยได้ รวมถึงไม่ได้ขัดแย้งกับพุทธศาสนา แถมถ้ามองผิวเผินแล้วแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ ในมุมวิชาการ เศรษฐศาสตร์ หรือการเมือง อาจจะต้องอธิบายแบบเป็นวิทยาศาสตร์ แต่หลักของมันคือ คิดถึงคนอื่นก่อน และสิ่งที่เราปฏิบัติจะมีผลย้อนกลับมาหาตัวเราเองด้วย นี่คือสิ่งที่ปรีดีคงจะได้ซึมซับ สัมผัส และประทับใจอยู่พอสมควร

 

มอง (มุมมอง) ปรีดี

 

มุมหนึ่งที่เราไม่เคยมองปรีดีเลยคือ มุมที่ท่านพยายามจะปรับตัว และรับเอาระบบความคิดของตะวันตกเข้ามาให้สอดคล้องกับพื้นเพของวัฒนธรรมไทยเดิม ถ้าพูดง่ายๆ ปรีดีเป็นคนหนึ่งที่พยายามปรับพุทธศาสนาให้เข้ากับโลกตะวันตกหรือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ผมมองว่า สิ่งที่ทำให้ปรีดีแตกต่างออกไปคือ เขามองถึงเรื่องการเคารพประชาชน มองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และพยายามผสานตรงนี้เข้ากับความเป็นตะวันตก แต่จริงๆ ความคิดเรื่องนี้ก็มาจากทางตะวันตกเป็นหลักแหละ ปรีดีพยายามเน้นเรื่องนี้ให้ชัด และผสานสิ่งเหล่านี้เข้ากับความคิดพื้นเพในบ้านเรา มันเลยออกมาเป็นความคิดแบบหนึ่ง

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง ‘อเนกนิกรสโมสรสมมติ’ ซึ่งเป็นการตีความที่น่าประหลาดในคติพุทธศาสนาเกี่ยวกับการที่คู่กรณีสองฝ่ายมาตกลงกัน แต่ในสังคมและวัฒนธรรมแบบไทยกลับให้ความสำคัญกับคู่กรณีเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นว่า ฝ่ายนั้นได้รับความชอบธรรมในการปกครองไปอย่างไร และไม่อธิบายอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ผมไม่เข้าใจนะว่า ในสังคมหนึ่งๆ จะมีผู้ปกครองโดยไม่มีผู้ใต้ปกครองได้อย่างไร

ถ้ากลับมามองในมุมมองของปรีดี ท่านมองในมุมผู้ใต้ปกครองก่อน และมุมผู้ปกครองค่อยตามมา เมื่อเรายืนบนหลักแบบนี้ ตรรกะทั้งหมดก็จะตามมาทันที ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม จุดที่ต่างที่สุดอยู่ตรงนี้แหละ คือคุณมองเพื่อนร่วมชาติของคุณอย่างไร

 

หัวใจของการอภิวัฒน์สยาม 2475 

 

อย่างที่ผมเปรียบเรื่องปัญหาของชาวนาหรือปัญหาทางเศรษฐกิจว่าเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ ปรีดีค่อยๆ ปะติดปะต่อภาพนี้ขึ้น และสุดท้าย ท่านก็ตกผลึก มองเห็นว่าการแก้ปัญหาแบบรายครั้ง หรือเป็นกรณีๆ ไป ไม่ได้เป็นทางออกของไทย แต่ต้องแก้ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบ ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์การเมือง ก็คือการปรับความสัมพันธ์ทางการผลิตใหม่ ซึ่งปรีดีพยายามอธิบายเรื่องนี้เท่าที่ทำได้แล้ว ทั้งในหนังสือกฎหมายปกครอง เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือบทสัมภาษณ์ของท่านกับอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภาหลังจากไปอยู่ที่ฝรั่งเศสแล้ว

เพราะฉะนั้น สรุปได้ว่า แรงผลักดันและแรงบันดาลใจสำคัญคือ ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานที่สุดของชาติ เป็นปัญหาแรกที่ต้องแก้ให้สำเร็จ เพื่อจะทำให้ปัญหาอื่นๆ ทั้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ไปต่อได้ ในมุมมองของปรีดี ถ้าระบบนี้เปลี่ยนไม่ได้ ระบบอื่นก็จะเปลี่ยนยากมาก นี่เป็นภูมิปัญญาหนึ่งที่ท่านได้รับมาและพยายามจะนำมาปรับใช้ หลายคนอาจจะพูดว่า นี่เป็นมุมมองแบบมาร์กซ์ แต่ผมคิดว่า ปรีดีรับมาร์กซ์มาบางส่วน เช่น เรื่องความคิดต่างๆ ของมาร์กซ์ในแง่วิวัฒนาการทางสังคม (ปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์) แต่ถ้าเป็นเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น ปรีดีอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

เค้าโครงการเศรษฐกิจคือหัวใจของการอภิวัฒน์ ถ้าทำสิ่งนี้ไม่สำเร็จ สิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้วอาจจะล้มเหลว เพราะยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ท่านมองว่าเป็นหัวใจของการอภิวัฒน์ และถ้าเราเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนแก่นของการอภิวัฒน์ไม่ได้ สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่แบบกระท่อนกระแท่นก็อาจจะถูกโต้กลับในที่สุด

ถ้าถามว่า ทำไมปรีดีไม่พูดเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ตอนที่ท่านกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ผมว่ามีหลายปัจจัย อาจจะไม่อยากให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นอีก หรือเป็นเรื่องการประนีประนอมด้วย ไม่อยากให้เกิดปัญหาใหญ่โตมโหฬารขึ้นมาอีก แต่ผมเชื่อมั่นในสังคมไทยว่า ถ้าเค้าโครงการเศรษฐกิจเกิดขึ้นและลงหลักปักฐานได้ เราจะช่วยกันแก้ไขให้มันเป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้

 

จิตวิญญาณความเป็น ปรีดี พนมยงค์ ในหมู่คนรุ่นใหม่

 

ตลอดเวลาที่ปรีดีเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐบาลและมีอำนาจอยู่ในมือ ท่านก็พยายามทำหลายสิ่งเท่าที่ทำได้แล้ว เช่น ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติเทศบาล ริเริ่มการจัดตั้งธนาคารชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) หรือการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในมุมมองของผม นี่คือสิ่งที่ท่านแปรรูปความคิดออกมาเป็นการกระทำ

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายสิ่งที่ปรีดีคิด เขียน แต่ไม่ได้สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม เช่น เค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งปรีดีต้องการให้เกิดสหกรณ์ที่เป็นระบบเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ พึ่งพาตนเองได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับการผลิตไปจนถึงการแจกส่วนผลผลิตต่างๆ รวมถึงการยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ถ้าพูดให้ง่ายกว่านั้น สหกรณ์ในมุมมองของปรีดี ถ้าเทียบกับปัจจุบันคือ การที่ท้องถิ่นมีอำนาจปกครองและดูแลตนเอง ตอนนี้เราก็พยายามผลักดันให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

นอกจากเรื่องนี้แล้ว ปรีดียังพยายามผลักดันอีกหลายเรื่อง ทั้งสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่ยังมองไม่เห็นได้เป็นรูปธรรมจริง แต่ถ้ามองในประวัติศาสตร์ยาวๆ ผมกลับเห็น ‘ปรีดี’ เต็มไปหมดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องโยงไปถึงศัพท์แบบปรีดี แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังแสดงออกมา ผมว่าหลายอย่างคือการพัฒนาต่อยอดมาจากปรีดี ในยุคนั้น ปรีดีใช้คำและคำศัพท์อธิบายในบริบทสังคมของท่าน และด้วยสภาพพัฒนาการของสังคมไทยทำให้สิ่งเหล่านี้ได้ตกทอดมา และทำให้สังคมไทยย้อนกลับไปหาความคิดแบบเดียวกับที่ปรีดีเคยคิดมาแล้วเมื่อ 80 กว่าปีก่อน ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และอย่าลืมนะว่า ปรีดีถือเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนั้นเหมือนกัน (ปรีดีมีอายุ 33 ปี ในขณะที่เป็นแกนนำคณะราษฎรในการอภิวัฒน์สยาม 2475)

ถ้าต้องนิยามจิตวิญญาณของความเป็นปรีดีในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องการเห็นความสำคัญของกติกา การเปลี่ยนผ่านโดยสันติ และการให้ความสำคัญกับการเคารพคนอื่น เรื่องพวกนี้เราอาจนึกไม่ถึง แต่มันค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบ ชนิดที่ถ้าเราไม่สังเกตดีๆ เราจะมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ บางที กลุ่มคนที่ค่อนข้างอาวุโสอาจจะต้องทบทวนเหมือนกัน แม้กระทั่งรุ่นของผมเอง ผมยังรู้สึกว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมหาศาลเลย

ตอนนี้ เราจะเห็นเด็กรุ่นใหม่หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งรุ่นก่อนหน้านี้อาจจะไม่เคยเจอมาก่อน ผมคิดว่านี่เป็นผลส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กรุ่นใหม่ปรับตัวได้ค่อนข้างลำบาก ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดผลเสีย แต่ขณะเดียวกัน มันก็ก่อให้เกิดผลด้านบวกคือ เด็กรุ่นใหม่สามารถซึมซับอะไรหลายอย่างได้ชนิดที่เราคิดไม่ถึงเลยทีเดียว

 

จากปรีดีถึงคนรุ่นหลัง

 

ประเด็นสำคัญจากบทเรียนชีวิตปรีดี พนมยงค์ คือ การเคารพคนอื่น เห็นคนอื่นเป็น ‘มนุษย์’ ไม่น้อยไปกว่าตัวเอง ผมว่าสองเรื่องนี้สำคัญมาก และจะนำมาซึ่งตรรกะในทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ที่สูงยิ่ง

คุณสังเกตอะไรไหม ภาษาเป็นเรื่องสำคัญนะ คนไทยใช้คำว่า ‘มนุษย์’ น้อย แต่ใช้คำว่า ‘คน’ เยอะ สำหรับผม นิยามของ ‘มนุษย์’ ไม่เท่ากับ ‘คน’ เสียทีเดียว คำว่า ‘มนุษย์’ ในภาษาไทยคือผู้มีใจสูง ซึ่งผมว่าเป็นความหมายที่ดีพอสมควร คำว่า ‘มนุษย์’ ทำให้เราเห็นความเสมอภาคและเท่าเทียมกันค่อนข้างมาก แต่คำว่า ‘คน’ มีความกว้าง ไม่เห็นตัวตนและชีวิตจิตใจ

ผมคิดว่าตนเองเห็นเจตนารมณ์ของสิ่งที่ปรีดีพยายามบอกอย่างชัดเจนในงานเขียน 2 ชิ้นที่ท่านเขียน ชิ้นแรกคือ คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ที่พยายามเตือนคนรุ่นหลังในแง่ความผิดพลาดของคณะราษฎร เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นบทเรียนภายใน ผมอ่านแล้วรู้สึกว่า ปรีดีกำลังบอกเราว่ามนุษย์เป็นแบบนี้แหละ ถ้าเจอกับอำนาจหรือผลประโยชน์เข้าไป และมีจุดยืนไม่มั่นคงพอ

อีกชิ้นหนึ่งคือบทความ จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม  ปรีดีพยายามบอกว่า เราต้องมีจุดยืนหรือความมั่นคงในอุดมการณ์หรืออุดมคติ แต่ก็ต้องมียุทธศาสตร์เช่นกัน

ในแง่ปัจจุบัน เท่าที่ผมติดตามสถานการณ์ ผมนึกถึงข้อเขียนที่ท่านพูดในแง่กฎวิทยาศาสตร์สังคม คือถ้าฝ่ายที่มีอำนาจไม่อยากให้เกิดปัญหา และยังยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถต่อสู้ได้ตามหนทางสันติวิธี ผมว่ามันยังไปด้วยกันได้อยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ประตูแห่งสันติวิธีถูกปิดตายทุกบาน ปรีดีมองว่า มันเป็นกฎธรรมชาติที่อีกฝ่ายจะสู้ต่อ แต่จะใช้วิธีไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังกันต่อไป นี่เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ประสบการณ์ของปรีดีก็บอกพวกเรานะว่า เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ก็ต้องดูแล้วว่าสถานการณ์ไปถึงขั้นไหน

สำหรับผม ปรีดีล้มเหลวหลายเรื่อง ล้มเหลวในที่นี้คือไปไม่ถึงดวงดาว ท่านพยายามทำ แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งที่มีความตั้งใจ แต่ปรีดีก็ทำหลายเรื่องสำเร็จเช่นกัน ซึ่งผมมองว่า ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของปรีดี นอกจากจะหมายรวมถึงทุกเรื่องที่ท่านทำสำเร็จแล้ว ยังต้องรวมเอาความล้มเหลวเข้าไปด้วย เพราะมันยังมีมุมที่ทำให้เราเห็นว่า อย่างน้อย ก็มีสามัญชนคนไทยคนหนึ่งกล้าลุกขึ้นมาบอกกับเราว่า พวกเราสามารถรับผิดชอบอนาคตของตัวเองได้ จริงอยู่ที่เรื่องศีลธรรมของคนกลุ่มหนึ่งไม่เหมือนคนอีกกลุ่มหนึ่ง การจะบอกว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต้องใช้เกณฑ์หลายอย่างตัดสิน แต่ถ้าพูดในเกณฑ์สังคม วัฒนธรรม การเมือง ผมว่าเราต้องดูว่า คุณเคารพคนอื่นมากน้อยแค่ไหน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และปรีดีพยายามทำมาโดยตลอด

 

แสงสว่างในโมงยามแห่งความพร่าเลือน

 

การที่คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจเรื่องปรีดี หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มากขึ้น มันสะท้อนว่า พวกเขากำลังแสวงหาคำตอบ หาทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าพูดง่ายๆ คือ เด็กรุ่นใหม่กำลังตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็นอยู่ ในสภาพการณ์ที่เขาต้องเผชิญอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน พวกเขาพยายามหาว่า มีทางเลือกอื่นไหมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ มีใครเคยเสนอความคิดอื่นที่แตกต่างไปจากที่เขาเคยรับรู้หรือซึมซับอยู่ไหม เราต้องให้เสรีภาพในการค้นคว้า แสวงหา และคลำทางไปจนกว่าเขาจะเจอในสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่หันมาหาคำตอบบางอย่างที่คนรุ่นพวกเราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำไป

เพราะฉะนั้น เราอาจจะไม่ต้องแนะนำอะไรมาก เพราะเด็กจะยิ่งตั้งคำถามหลายอย่าง เราต้องปล่อยเขาให้หาและตั้งคำถามด้วยตัวเอง การตีความต่างๆ เป็นเรื่องวิชาความรู้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิชาความรู้งอกเงยขึ้นมาจากเจตจำนงหรือความต้องการที่จะรู้ของพลเมือง นี่เป็นครรลองที่ควรจะเป็นไปอยู่แล้ว

ผมเองเคยมานั่งคิดว่า ตนเองเริ่มสนใจปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งก็น่าจะเป็นตอนที่ผมไปเรียนที่ฝรั่งเศสนั่นแหละ ตอนผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2529 ผมยังไม่ค่อยรู้จักปรีดีมากมายนัก อาจจะรู้จักในมุมของนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ หรือผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย แต่ผมไม่เคยรู้เลยว่าอะไรคือตัวตนที่สำคัญที่สุดของปรีดี จนผมมาเจอตัวตนที่แท้จริงของปรีดีในเค้าโครงการเศรษฐกิจ มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่รวบยอดอยู่ในนั้น เป็นหัวใจสำคัญที่สุด ก่อนปรีดีถึงแก่อสัญกรรมไม่นาน ท่านก็ยังกลับมาพูดถึงประเด็นนี้ ผมเลยรู้สึกว่า มันสำคัญเกินกว่าที่เราจะปล่อยมือได้

ตัวผมรู้สึกยินดีที่มีคนหันกลับมาสนใจหรือมาตามอ่านงานของปรีดี สิ่งที่ท่านได้ทำไว้ในเรื่องความคิด ภูมิปัญญา หรือการกระทำที่เป็นรูปธรรมสามารถถกเถียงกันได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดและจะทำให้ ‘ปรีดี พนมยงค์’ อยู่ในสังคมไทยต่อไปอีกนานแสนนานคือเรื่องความคิดของท่าน ปรีดีอยากให้อนาคตสังคมไทยเป็นอย่างไร ทั้งในมุมมองของท่านและในมุมมองปัจจุบันของเรา ผมว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ และอยากให้ทุกคนลองอ่านปรีดีดู เราจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่อาจจะคิดไม่ถึงเลยว่า เคยมีคนแบบนี้อยู่ในประเทศนี้ด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save