fbpx

มอง 110 ปี กบฏ ร.ศ. 130 ผ่านทัศนะ แถมสุข นุ่มนนท์ ทายาทผู้ก่อการ

1 มีนาคม ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454 (ตามปฏิทินเก่า) เป็นวันที่ทางการเข้าจับกุมตัวคณะทหารหนุ่มและพลเรือนกลุ่มหนึ่งประมาณหนึ่งร้อยคน ซึ่งกำลังวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

คณะผู้ก่อการในครั้งนี้มิได้ตั้งชื่อกลุ่มการเคลื่อนไหวเอาไว้เป็นทางการ จึงมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น “นายทหารบก นายทหารเรือ และบุคคลพลเรือน ซึ่งก่อการกำเริบ ร.ศ. 130” บ้าง คณะเก๊กเหม็งบ้าง แต่ชื่อที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ “กบฏ ร.ศ. 130”

ในโอกาสครบรอบ 110 ปีของเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้  ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง ยังเติร์กรุ่นแรก : กบฏ ร.ศ. 130 ไว้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ถึงความเป็นมา ความใฝ่ฝัน และความเป็นไปในชีวิตของสมาชิก ร.ศ. 130 กลุ่มนี้ โดยเฉพาะผ่านเรื่องราวของ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ คุณพ่อของอาจารย์

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน อาจารย์แถมสุขก็ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จึงขอใช้บทสัมภาษณ์ที่เรียบเรียงขึ้นใหม่นี้เป็นอนุสรณ์ถึงคณะผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ในวาระครบรอบ 110 ปี และอาจารย์แถมสุข ผู้เพิ่งล่วงลับจากไป

ถึงแม้ว่า เหตุการณ์ใน ร.ศ. 130 จะล้มเหลวจนถูกตราว่าเป็น ‘กบฏ’ แต่พวกเขาก็นับว่า “เป็นความภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ทำสิ่งที่ต้องการจะทำ เพื่อสังคมที่ดีกว่า”


เหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 คืออะไร

กบฏ ร.ศ. 130 เป็นเรื่องของคนหนุ่ม เริ่มต้นอายุตั้งแต่ 18 19 20 เป็นนายทหารกลุ่มใหญ่ทีเดียว และมีพลเรือนด้วย เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีการประชุมกัน แต่ยังไม่ทันตกลง ไม่ทันได้ทำอะไร ก็ถูกทางการปราบ จนกระทั่งต้องถูกจำคุก


จุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์สนใจศึกษาเรื่องกบฏ ร.ศ. 130

ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนตัว เนื่องจากคุณพ่อ (ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์) เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130  

แต่ที่มาสนใจอาจจะเป็นด้วยว่า แต่ก่อนนี้ประวัติศาสตร์เราไม่ทราบว่าคืออะไร เราก็คิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องจดจำ และเป็นเรื่องที่เป็นทางการ เวลาเราเรียนประวัติศาสตร์ก็นั่งฟังคำบรรยายแล้วเราก็จด ก็ตอบตามนั้น เราไม่รู้จักคำว่าวิจัยอะไรเลย  เมื่อดิฉันไปเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว เราไม่มีวิชาเอก วิชาโท และวิชาประวัติศาสตร์อยู่ในหมวดเดียวกับวิชาภูมิศาสตร์ จนกระทั่งว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง แล้วที่สำคัญก็คืออีกนานมากเลย เพราะดิฉันเรียนจบมา พ.ศ. 2500 แต่กว่าจะถึงยุคทองของการศึกษาประวัติศาสตร์ คือตื่นตัวในเรื่องที่จะค้นคว้าประวัติศาสตร์ ก็เป็นช่วงใกล้ๆ กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตอนนั้นมีการเปิดกรุข้อมูลประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนมากเป็นข้อมูลของส่วนกลางที่ถูกควบคุมโดยรัฐว่าเป็นข้อมูลที่จะไม่เป็นพิษ เป็นภัย เป็นอันตราย แล้วข้อมูลอิสระ เราไม่มี แต่เนื่องจากเป็นยุคแสวงหาที่มีการเรียกร้องว่าอะไรคือความจริงที่อยู่เบื้องหลัง ก็ปรากฏว่ามีข้อมูลประวัติศาสตร์ของทางการที่เปิดเผยออกมาเป็นครั้งแรก มีอยู่ยี่สิบกว่าแฟ้ม ที่อยู่ในกองจดหมายเหตุแห่งชาติ  ดิฉันจึงได้ไปค้นคว้า ซึ่งสมัยนั้นลำบากมาก ไม่สามารถที่จะจดอะไรได้เลย มีคนนั่งควบคุมอยู่  ทีหลังจึงได้เจรจาว่าไม่ต้องควบคุม เพราะยังไงดิฉันก็ศึกษาในกรอบอยู่แล้ว ภายหลังจึงได้นำข้อมูลเหล่านี้มาเขียนขึ้น


ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์


อะไรคือสาเหตุของการก่อกบฏ ร.ศ. 130

สาเหตุมาจากความไม่พอใจ ความต้องการการเปลี่ยนแปลง  เราอาจแบ่งได้ออกเป็นสาเหตุระยะยาว และสาเหตุระยะสั้น

สาเหตุที่มาจากเนื้อในตนเลยนั้นมาจากความไม่พอใจในการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของรัชกาลที่ 5 เพราะในตอนกลางรัชสมัยนั้น รัชกาลที่ 5 สามารถที่จะโอนอำนาจทุกอย่างเข้ามาสู่ส่วนกลาง เช่น ระบบเลิกทาสซึ่งเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ แต่ความจริงเป็นการทำให้ทาสหลุดพ้นจากการควบคุมของนายทาส นายทาสไม่มีอำนาจอะไรอีกเลย ส่วนกลางทั้งหมดดึงมาอยู่ที่พระมหากษัตริย์  แล้วก็มีการตั้งคณะเสนาบดีขึ้นมาปกครอง เสนาบดีเกือบทั้งหมดเป็นพระราชวงศ์ มีอยู่ 11 ท่าน เป็นพระอนุชา 9 ท่าน อีก 2 ท่านเป็นขุนนางชั้นพระยาที่ใกล้ชิด

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 สามารถที่จะทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ อย่างแต่ก่อนนี้ผู้ที่อยู่ในชุมชุนต่างๆ เขาใช้ภาษาถิ่นได้ เรามีภาษาถิ่น 40-50 ภาษา รัชกาลที่ 5 เก่งมากเลย เอาภาษากลางมาเป็นภาษาประจำชาติ ภาษาถิ่นหมดไปผ่านระบบการศึกษา  

รัชกาลที่ 5 ยังสามารถที่จะปฏิรูปการคลัง ดึงภาษีอากรทั้งหมดเข้ามาสู่ส่วนพระองค์  ความไม่พอใจก็มีมาก ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว นี่นับเป็นสาเหตุระยะยาว

ส่วนสาเหตุระยะสั้น ก็มาจากการที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ อย่างพวกทหารหนุ่มพวกนี้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นนักเรียนนายร้อยที่ได้รับการศึกษาสูง ผ่านหลักสูตรที่สอนให้รู้จักคิด คิดเป็น อ่านภาษาฝรั่งได้ รู้ว่าบ้านเมืองต่างๆ เขามีการปฏิวัติ มีการเปลี่ยนแปลง  พูดง่ายๆ คือ เขาขอการปฏิรูปให้คนได้ศิวิไลซ์ และสิ่งที่เขาเรียกร้องอย่างมาก คือขอให้คนได้มีปากมีเสียงในการที่จะเป็นตัวของตัวเอง ขอให้มีระบบรัฐสภา

แต่ว่าพวก ร.ศ. 130 ยังไม่ทันได้ตกลงกันว่าจะเอาแบบไหน เพราะยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ (republic) หรือจะเป็นแบบให้พระเจ้าอยู่หัวลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คือไม่ได้คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ คิดว่าคงเป็นเพียงต้องการปฏิรูป คือต้องการการปกครองที่เป็นอารยะ แต่ยังตกลงรูปแบบกันไม่ได้ ถูกจับเสียก่อน

การประชุมมีทั้งหมด 8 ครั้ง ประชุมจริงๆ 5 ครั้ง ส่วนอีก 3 ครั้งเป็นการรับสมาชิกใหม่ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณเดือนครึ่งก็ถูกจับ ทั้งหมดร้อยกว่าคน ผ่านการไต่สวนพิจารณาโทษ แต่ก็เป็นเหมือนศาลทหาร ไม่มีทนาย ไม่ได้ให้สิทธิอะไรทั้งสิ้น ดำเนินการอยู่หกสิบกว่าวันก็ตัดสินอย่างรุนแรงมาก  คนเหล่านี้ที่เข้าประชุม 5 ครั้ง มีแค่ 3 คน 4 ครั้ง มี 4 คน  นอกนั้นประชุมกันคนละครั้ง  ก็เหมือนกับว่า มาเสวนานินทาเจ้านายกัน แต่พวกนี้นินทากันแรงไปหน่อย


ทำไมนายทหารหนุ่มเหล่านี้ถึงลงมือเคลื่อนไหว

ประการแรก คนเหล่านี้ได้ซึมซับประสบการณ์ของตัวเอง ขอยกตัวอย่างกรณีคุณพ่อของดิฉัน ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ คือ คุณปู่ (หลวงพรหมสุรินทร์, หนู รัตนพันธุ์) เป็นคล้ายๆ หัวหน้าหมู่บ้านในจังหวัดพัทลุง เปรียบกับปัจจุบันนี้คงจะเป็น อบต. แบบที่เก็บภาษีเอง มีอำนาจบริหารอะไรเอง ก็ปรากฏว่าเมื่อคุณพ่ออายุ 8 ขวบ คุณปู่ถูกเรียกให้ขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อรับข้อหาว่าคุณปู่กระด้างกระเดื่อง มีการเก็บภาษีเอาไปใช้เองอะไรเอง  คุณปู่ก็ไม่กล้าขึ้นมา เพราะกลัวจะถูกลงโทษ จึงพาภรรยากับลูก (คือคุณย่ากับคุณพ่อ) หลบหนีไปตามเส้นทางธรรมชาติ หลบหนีไปอยู่ไทรบุรี เรียกว่านอนกลางดิน กินกลางทราย อยู่ 8 เดือน หลังจากนั้นทางส่วนกลางเห็นว่าไม่มีความผิด ก็เรียกให้กลับมาตามเดิม แต่คุณปู่ก็สุขภาพแย่มาก เพียงปีเดียว ท่านก็เสียชีวิต 

การที่คุณพ่อได้เห็นอะไรๆ หลายอย่าง แม้กระทั่งตอนมาเป็นนักเรียนนายร้อย คงจะได้รับการบ่มเพาะมาจากหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย ซึ่งเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเป็นผู้ที่ทรงฝึกให้คิดแบบสมัยใหม่ ตามแบบที่ไปเรียนมาจากรัสเซีย ทำให้ท่านนี้คิดเป็น และยังมีนักคิดร่วมสมัยอย่างเช่นเทียนวรรณ ซึ่งมีข้อเขียนเสนอให้เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองตั้ง 17-18 ข้อ และถูกจับไป 

ดิฉันคิดว่า คนเหล่านี้เป็นคนหนุ่มที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ

ความไม่พอใจนี้มีมานานแล้ว เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในรัชกาลที่ 5 มีกบฏเกิดขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ พวก ร.ศ. 130 จึงไม่ใช่กลุ่มแรกที่เกิด อย่างเช่น กบฏเจ็ดหัวเมืองแขก นี่ก็ต่อต้านการปกครองของส่วนกลาง กบฏผีบุญ กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ และอีกหลายแห่งที่อาจจะมีมากกว่านี้ที่ไม่ได้รับการบันทึก แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่า พวก ร.ศ. 130 จะได้รับทราบว่ามีกบฏเหล่านี้ เพราะอย่าลืมข้อมูลเราปิดมาก เราไม่รู้อะไร  แม้ผ่านมาแล้วร้อยกว่าปี ก็ยังมีอะไรที่เราไม่ทราบอีกแยะ ในสังคมออนไลน์ ในสังคมดิจิทัลปัจจุบัน ฉะนั้น ย้อนกลับไปร้อยกว่าปี มันมืดมนแค่ไหนในเรื่องของความเป็นไป คือคนถูกปิดหูปิดตาไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ต้องบอกว่า พวก ร.ศ. 130 กล้า

แต่เมื่อถูกจับกุม มีการสอบสวน เขาเขียนเป็นคำถามให้ตอบ 13-15 ข้อ แต่ละคนก็เขียนด้วยลายมือ ดิฉันได้อ่านทั้งหมดทั้งร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่บอกว่าไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ทำอะไร ก็กลัวอยู่เหมือนกัน น้อยคนมากที่จะสารภาพว่า ต้องการอย่างนี้ๆ แต่เมื่อบอกว่าต้องการอะไรนั้นแรงมาก อย่างเช่นนินทาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ว่าท่านไม่ค่อยทำงาน มัวแต่เล่นละคร และใช้จ่ายเปลือง


คณะ ร.ศ. 130 ในคุก


โทษที่ได้รับ

หลังจากที่พวก ร.ศ. 130 ถูกตัดสินคดีที่กรุงเทพฯ แล้ว ก็ปรากฏว่ามี 2 คน ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่ให้รอลงอาญาไว้ ย้ายไปอยู่นครสวรรค์ ก็มีคนไปรุมถามถึงเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร ก็มีคนเอาไปฟ้อง จึงถูกขึ้นศาลพิพากษาให้ติดคุกเหมือนกับพวกที่อยู่ในกรุงเทพฯ 23 คน อันนี้รัชกาลที่ 6 สนพระราชหฤทัยมากในคดีนี้ และอ่านอย่างรอบคอบเลย ทั้งยังทรงท้วงติงว่ามันแรงไปนะที่ไปลงโทษเขาขนาดนี้ เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรมาก ท่านใช้คำเขียนกำกับเอาไว้ว่า “คนที่ตอแยถามเรื่องนี้ก็อัปปรีพอดูอยู่เหมือนกัน” แสดงว่าเขาไม่น่าจะผิดมาก อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่ง เพราะดูแล้วว่า พวก ร.ศ. 130 ไม่ทันได้ทำอะไร ไม่ได้กระโตกกระตาก ไม่ได้ไปชุมนุมชูสามนิ้ว หรือทำอะไรที่ไหนเลย

แต่ว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถซึ่งเป็นประธานในการสอบสวน มีพระนามของท่านว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบพระเจ้าอยู่หัวมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จะทูลเชิญเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถก็เดือดเนื้อร้อนใจมาก และทั้งหมดก็เป็นลูกศิษย์ของท่าน อบรมสั่งสอนมา ด้วยเหตุนี้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถถึงได้ลงโทษพวกนี้รุนแรงมากเกินไป อย่างคุณพ่อประชุมครั้งเดียว แต่มีพฤติกรรมอะไรหลายอย่างที่ถูกกล่าวหามา ก็ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่รัชกาลที่ 6 ได้ทรงลดโทษให้ เช่น พวกที่ถูกประหารชีวิต ก็ให้มาจำคุกตลอดชีวิต พวกที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ก็ให้เป็นจำคุก 20 ปี  ส่วนโทษอื่นๆ ก็ลดหลั่นกันไป  รวมความแล้ว พวกที่ติดคุกทั้งหมดนั้น ถูกตีตรวน ต้องบดข้าวอยู่ในห้องมืด ทำถนน รุนแรงมากในระยะ 2-3 ปีแรก ติดคุกอยู่ทั้งสิ้น 12 ปี 6 เดือน กับ 6 วัน จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมา

เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพที่ใช้สมองได้ ยังถูกตัดสิทธิเสรีภาพ ห้ามพูด ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ควรจะติดตัวมนุษย์ เป็นเวลาเกือบสิบปี จนกระทั่งได้รับการล้างมลทินเมื่อเดือนธันวาคม 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลำบากมาก คนอายุ 18 ถึงยี่สิบกว่า เข้าไปอยู่ในคุก 12 ปี 6 เดือน กับ 6 วัน


พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475


ข้อคิดในวาระ 110 ปี ร.ศ. 130

มันเป็นความรู้ที่ควรจะรู้ มันเป็นเรื่องที่ควรจะเกิด เพราะคนทุกคนมีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ให้อยู่ในกรอบ  ดิฉันไม่ทราบว่า พวก ร.ศ. 130 เขาจะเสียใจในสิ่งที่เขาทำกันไหม เท่าที่ดิฉันค้นคว้ามาและก็ใกล้ชิดกับสมาชิก ร.ศ. 130 พอประมาณ ดิฉันไม่พบว่ามีใครเสียใจในสิ่งที่ทำไป และไม่ได้มีการอบรมลูกหลานว่าอย่าไปทำอย่างนี้หรืออะไร กลับรู้สึกว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก อย่างที่บ้านของดิฉันมีบรรยากาศของ ร.ศ. 130 อยู่ตลอด มีทั้งดาบ มีทั้งกระบี่ มีทั้งรูปคุณพ่อสมัยอยู่ในคุก (ไม่ทราบว่าไปแอบถ่ายกันอย่างไร) เต็มไปหมด เป็นความภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ทำสิ่งที่ต้องการจะทำ เพื่อสังคมที่ดีกว่า และแน่นอนว่าอาจจะถูกมองว่าเป็นคนที่นอกรีตนอกรอย เพราะว่าตอนที่เกิด ร.ศ. 130 ขึ้น แล้วพวกนี้ถูกจับ บ้านช่อง ครอบครัว พ่อแม่ที่ประกอบอาชีพค้าขายต้องหมดเนื้อหมดตัว เพราะไม่มีลูกค้ามา ไม่มีใครเขาคบหาสมาคมด้วย เพราะเขาบอกว่าเป็นครอบครัวที่แย่มาก ไม่รู้จักสอนลูกสอนหลาน ทำให้พวกนี้เป็นพวกใช้ไม่ได้


แถมสุข กับ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ สมาชิก ร.ศ. 130
ซึ่งเดินทางมาส่งที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อคราวที่แถมสุขเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2505

ที่มา

  • รายการ “รอยจารึก…บันทึกสยาม” ทาง ThaiPBS Podcast, ตอนที่ 1 : 110 ปี กบฏ ร.ศ. 130 | เบื้องหลังความเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสยาม, เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 [https://www.thaipbspodcast.com/podcast/siamrecords/110-year-rebel-re130-of-siam]
  • แถมสุข นุ่มนนท์. ยังเติร์กรุ่นแรก : กบฏ ร.ศ. 130. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565 (กำลังจะตีพิมพ์).

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save