fbpx

110 ปี ปฏิวัติครั้งแรกของประเทศไทย

ในวาระที่ พ.ศ. 2565 เป็นปีครบ 110 ปีแห่งความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรกของประเทศไทยที่รู้จักกันในชื่อ “คณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130” ผู้เขียนขอพาไปรู้จักเหตุการณ์และบุคคลคณะนี้ผ่านบทสนทนา ‘ถาม-ตอบ’ ดังนี้


ถาม-ตอบ คณะ “เก๊กเหม็ง” ร.ศ.130


1.ร.ศ.130 คืออะไร?

คือปีที่เกิดความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกำลังทหารครั้งแรกของประเทศสยามเมื่อต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 อักษร ‘ร.ศ.’ ย่อมาจาก “รัตนโกสินทร์ศก” ที่เริ่มนับ 1 จากปีก่อตั้งพระนครเมื่อพุทธศักราช 2325 เนื่องจากประเทศสยามขณะนั้นยังไม่ใช้ พ.ศ. ซึ่งริเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2456  

การประชุมครั้งแรกของผู้ก่อการบังเกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม ร.ศ.130 ซึ่งเมื่อเทียบเคียงพุทธศักราชเดิมที่ยังนับวันขึ้นปีใหม่เมื่อ 1 เมษายน จะยังคงเป็นเดือน 10 (มกราคม) ปี พ.ศ. 2454 แต่เมื่อนับแบบปฏิทินสากลที่ประเทศไทยเริ่มปรับเปลี่ยนวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2484 เหตุการณ์นี้จะเท่ากับต้นปี พ.ศ.2455


 

2.ทำไมจึงเรียกคณะ “เก๊กเหม็ง”?

เหตุการณ์นี้เกิดหลังการโค่นล้มระบอบศักดินาของราชวงศ์ชิงในประเทศจีน นำโดยซุนยัตเซ็น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2454 โดยมีระยะเวลาห่างถัดมาเพียง 3 เดือน หนึ่งในผู้ก่อการให้ความเห็นว่า “คล้ายเป็นแบบอย่างจีน แต่แนวความคิดมาจากฝรั่ง”[1]  สมัยนั้น คำจีนแต้จิ๋วเช่น “เก๊กเหม็ง” หรือ “เก็กเหม็ง” (革命 จีนกลางอ่าน เก๋อมิ่ง) ถูกใช้อย่างแพร่หลาย แม้แต่ในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6

รากศัพท์ของคำนี้ที่ ดร.ซุนยัตเซ็น เรียกใช้จากคำโบราณเดิม ประกอบด้วย  變革 (เปี้ยงเก็ก) แปลว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ ผสมกับ  天命 (ทีเหม็ง) แปลว่า ‘อาณัติสวรรค์’ ส่วนคำศัพท์การเมืองการปกครองที่คุ้นเคยในปัจจุบันเช่น ‘ปฏิวัติ (Revolution)’ และ ‘รัฐประหาร (Coup d’état)’ ทั้งสองคำเพิ่งบัญญัติขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียง 1-2 เดือนโดยพระองค์วรรณฯ[2] ในระบอบเก่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชนชั้นนำในประเทศนิยมเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการทับศัพท์ว่า “เรฟโวลูชัน” เรียกผู้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองว่า “ริฟอเมอร์” (Reformer)[3] และผู้ครองอำนาจรัฐในอดีตมักจะคุ้นเคยกับการเลือกใช้คำว่า  “กบฏ, ก่อกำเริบ” ในกรณีที่ล้มเหลว หรือ “ปราบดาภิเษก” ในกรณีที่สำเร็จ ในหลวง ร.6 เคยใช้คำว่า “ขบถ” ตามด้วยวงเล็บ “เก๊กเหม็ง”[4] อนึ่ง พระปกเกล้าฯ เคยนิยาม Revolution ว่า “พลิกแผ่นดิน”[5]  

ทั้งนี้ ปรีดี พนมยงค์ เคยแปล “เก๊กเหม็ง” ไว้ว่า “การตัดชีวิต การประหารระบบเก่าให้หมดไปประดุจการตัดชีวิต การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน (ตัดแผ่นดินทิ้ง)[6]


3.ใครเป็นผู้ริเริ่มก่อการ ประกอบด้วยผู้ใดบ้าง?

ร.ต.จรูญ ษตะเมษ และ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ เป็นสองผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะนี้ คนหลังเชื้อเชิญพี่ชาย นามว่า ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เป็นหัวหน้าคณะ นอกจากความอาวุโสและมีอุดมการณ์ต้องกัน หมอเหล็งยังนับเป็นคนโปรดของเจ้าฟ้าจักรพงษ์และมีสถานภาพเป็นนายแพทย์เช่นเดียวกับ ดร.ซุนยัตเซ็น ทางคณะจึงถือเป็นเรื่องมิ่งมงคล

แรกเริ่มองค์ประชุมประเดิม 7 คน จำนวนเท่ากับสมาชิกริเริ่มก่อการคณะราษฎรผู้รวมตัวกันครั้งแรกที่ปารีสในอีก 15 ปีต่อมา คณะผู้ริเริ่มก่อการ ร.ศ. 130 ประกอบด้วย เหล็ง, เหรียญ, เนตร,จรูญ, ปลั่ง, เขียน และ หม่อมราชวงศ์แช่ ต่อมาได้ประชุมกันอีกหลายครั้ง ประเด็นสำคัญที่สุดคือข้อที่สมาชิกโต้เถียงกันว่า การที่จะเปลี่ยนประเพณีปกครองแผ่นดินครั้งนี้ จะดำเนินให้เป็นไปอย่างลดพระอำนาจพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้พระธรรมนูญ (ลิมิเต็ดโมนาร์ชี่) ดี หรือจะกระโดดจนสุดยอดเป็นประชาธิปตัย (รีพับลิก)


เหรียญ ศรีจันทร์ ผู้ริเริ่มคณะ ร.ศ.130
ขุนทวยหาญพิทักษ์ ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะ ร.ศ.130 ในวัยหนุ่ม


4. ฝ่ายรัฐบาลว่าอย่างไร?

เอกสารราชการระบุว่าได้สืบทราบเองว่ามีการจัดตั้งสมาคมที่มีชื่อเรียกกันว่า “อานาคิช” ขึ้นมา (Anarchist) มีสมาชิกราว 800-1,000 คน เริ่มต้นดำเนินการจับกุมเมื่อ 1 มีนาคม 2454 (ปฏิทินเก่า)  “ด้วยเรื่องก่อการกำเริบ..เรื่องนี้เดิมมีนายทหารบกบ้าง, นายทหารเรือบ้าง, บุคคลพลเรือนซึ่งทำการอยู่ในกระทรวงยุติธรรมบ้าง สมคบคิดกันด้วยมูลความประสงค์คิดจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองพระราชอาณาจักร ได้ประชุมกันตั้งเป็นสมาคมขึ้น เมื่อ มกราคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) และได้ประชุมกันต่อๆ มาอีกรวมเป็น 8 คราว…”[7]


5.ฝ่ายผู้ก่อการว่าอย่างไร?  

ตัวเลขเครือข่ายจำนวนผู้ก่อการ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ ว่ามีราว 200 คน ซึ่งน้อยกว่าที่ระบุในเอกสารราชการ 4-5 เท่า อีกทั้งบันทึกวันที่ถูกดำเนินการจับกุมจากฝ่ายผู้ก่อการคือ 27 กุมภาพันธ์ แตกต่างจากเอกสารทางการที่บันทึกไว้ว่า 1 มีนาคม กำหนดการของวันก่อการคือต้นเดือนเมษายน ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) ในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ วัดพระแก้ว ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหากการก่อการสำเร็จ ระบอบใหม่ที่ต้องการจะเป็นเช่นใด

สมัย ร.ศ.130 ยังไม่ปรากฏการบัญญัติใช้คำว่า ‘สาธารณรัฐ’ ปรีดี พนมยงค์ เล่าถึงชีวิตวัยเด็กช่วงนั้นว่า “ครูสอนว่าแบบการปกครองประเทศแยกออกเป็น 3 ชนิด คือ 1.พระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือกฎหมายเรียกว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราช’ 2.พระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมายการปกครองแผ่นดิน 3.ราษฎรเลือกตั้งขึ้นเป็นประมุขเรียกว่า ‘รีปับลิก’ (สมัยนั้นแปลเป็นไทยว่า ‘ประชาธิปไตย’ ต่อมาภายหลัง พ.ศ. 2475 จึงแปลคำว่า ‘รีปับลิก’ เป็นภาษาไทยว่า ‘สาธารณรัฐ’)…”[8] คำอธิบายของปรีดีนี้สอดคล้องกับบันทึกลายมือของหมอเหล็งที่ทางการยึดได้ชื่อว่า “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ[9] รวมทั้งจากหนังสือของคณะผู้ก่อการ มีย่อหน้าสำคัญระบุไว้ว่า “…หากคณะจักมีความจำเป็นที่สุดที่จะเดินหน้า จนถึงกับจะต้องเปลี่ยนองค์ประมุขแห่งชาติแล้วไซร้ ก็จะมิให้เป็นที่ขัดอกขัดใจแก่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันขาด และก็จะต้องให้เกิดความเต็มอกเต็มใจของประมุขใหม่ด้วย เช่นเคยมีการปรึกษาหารือกันภายในของแต่ละกลุ่มสมาชิกไว้ดังนี้ ฝ่ายทหารบกจะทูลเชิญ ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ฝ่ายทหารเรือจะทูลเชิญทูลกระหม่อมบริพัตร และฝ่ายกฎหมายกับฝ่ายพลเรือนจะทูลเชิญเสด็จในกรมหลวงราชบุรี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นคนแรกแห่งสาธารณรัฐไทย…ทว่าตามน้ำใสใจจริงของคณะส่วนใหญ่แล้ว ไม่เชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนองค์ประมุขของชาติ…”[10]


6.ผลลัพธ์ของความพยายามครั้งนี้?  

ความพยายามครั้งนี้ล้มเหลวอย่างรวดเร็วเพียงหนึ่งเดือนเศษหลังการประชุมครั้งแรก สาเหตุไม่ว่าจะด้วยเกิดจากมี ‘ผู้ทรยศ’ ตามมุมมองของเหล่าสมาชิก หรือทางการสืบทราบได้เอง ช่วงต้นของการไล่ล่ากวาดล้างนั้น ร.ท.หม่อมหลวงภักดิ์ ได้ทำลายเอกสารและปลิดชีพตนเองเสียก่อน[11] ทำให้มีสมาชิกสามารถหลุดรอดได้อีกหลายคน ท้ายสุด มีผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในคดีนี้  106 คน ถูกตัดสินลงโทษ 92 คน เป็นพลเรือนสังกัดกระทรวงยุติธรรม 4 คน ทหารเรือ 3 คน และทหารบก 85 คน อายุตั้งแต่ 18 ปี จนถึงมากที่สุด 38 ปี ร.ต.ชะอุ่ม หนึ่งในผู้ต้องสงสัยได้กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยปืนยาวในช่วงระหว่างสอบปากคำ[12]


7.ติดคุกทั้งสิ้นกี่คน ใครบ้าง กี่ปี?  

คำพิพากษาเบื้องต้นมีการตัดสินประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต แต่มีการผ่อนโทษคงเหลือการตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 3 คน และจำคุก 20 ปี 20 คน[13] คำสั่งถอดยศ ลงวันที่ 7 พฤษภาคม ร.ศ. 131 นำลงไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับประจำวันที่ 12 พฤษภาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) เล่ม 29 หน้า 385


หนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับประจำวันที่ 12 พฤษภาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) เล่ม 29 หน้า 385


หลังจากนั้นอีก 4 เดือนมีการจำคุกเพิ่มอีก 2 คน ซึ่งเดิมได้รับโทษเพียงรอลงอาญาแต่ต้องข้อหา ‘ไม่เข็ดหลาบ’ คือ ร.ต.หรี่ บุญสำราญ และ ร.ต.เปลี่ยน ไชยมังคละ ทั้งคู่ถูกจองจำในคุกจังหวัดนครสวรรค์ โดยมิได้ติดร่วมกับ 23 คนก่อนหน้าที่ถูกคุมขังอยู่ ณ กองมหันตโทษหรือที่รู้จักกันว่าคุกต่างประเทศ (ปัจจุบันคือสวนรมณีนาถ) 

นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายทุนคณะนี้เป็นเพียงพลเรือนคนเดียวที่ติดคุก  รายชื่อคณะ ร.ศ.130 ที่ถูกจองจำจำนวน 25 คนปรากฏรายการดังต่อไปนี้

ลำดับยศ ชื่อ และ อายุในวันพิพากษาชาตะ พ.ศ.มตะ พ.ศ.อายุ
1.ร.อ.ขุนทวยหารพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์)  หัวหน้าคณะ 30 ปี22 ธ.ค.242516 มี.ค.250277
2.ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง รองหัวหน้าคณะ 24 ปี2431ก่อน 2503 
3.ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์ 23 ปี2432ก่อน 2503 
4.ร.ท.จือ ควกุล เสนาธิการคณะ 25 ปี5 มี.ค.243010 ก.พ.248757
5.ร.ต.เขียน อุทัยกุล 25 ปี2430ก่อน 2503 
6.ร.ต.วาส วาสนา 24 ปี2431พ.ศ.245827
7.ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ 24 ปี21 พ.ค.243118 มี.ค.248756
8.ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร 22 ปี2433256027
9.ร.ต.เหรียญ ทิพยรัตน์ 21 ปี2434ก่อน 2475 
10.ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ 20 ปี1 พ.ค.24354 พ.ย.251377
11.นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา 21 ปี11 ม.ค.24333 ธ.ค.248047
12.ว่าที่ ร.ต.ทวน เธียรพิทักษ์  25 ปี2430ก่อน 2475 
13.ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ เลขานุการ 21 ปี7 ธ.ค.243411 ต.ค.252389
14.ร.ต.สอน วงษ์โต 23 ปี2432ราว 252290
15.ร.ต.ปลั่ง ปูรณโชติ 22 ปี19 ก.ย. 243315 พ.ย .247340
16.ร.ต.จรูญ ษตะเมษ 26 ปี2429หลัง 2517 
17.ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส 23 ปี2432ราว พ.ศ.251179
18.ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ 25 ปี26 มี.ค.243120 ม.ค.249867
19.ว่าที่ ร.ต.ศิริ ชุณห์ประไพ 22 ปี2434ก่อน 2503 
20.ร.ต.จันทร์ ปานสีดำ 24 ปี2432ก่อน 2475 
21.ว่าที่ ร.ต.โกย วรรณกุล 23 ปี2 พ.ย.24335 ต.ค.251481
22.พันตรี หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช) 38 ปี2417250689
23.ร.ต.บุญ แตงวิเชียร 27 ปี2428หลัง 2503 
24.ร.ต.หรี่ บุญสำราญ 24 ปี2432หลัง 2480 
25.เปลี่ยน ไชยมังคละ 23 ปี1 เม.ย.24321 ม.ค.250876

หมายเหตุ:

  1. ในปี ร.ศ. 130 ยังไม่มีการบัญญัติใช้พุทธศักราชและการใช้นามสกุล ทั้ง 2 เรื่องนี้เริ่มพร้อมกันภายหลังคณะหมอเหล็งถูกจับกุมเพียง 1 ปีถัดมาคือ พ.ศ. 2456
  2. สมาชิกที่ยังไม่พบหนังสืองานศพ คำนวณปีเกิดจากอายุในวันพิพากษาเมื่อพฤษภาคม พ.ศ. 2455
  3. ลำดับ 24 และ 25 ติดคุกภายหลังคนอื่นๆ 4 เดือน ที่จังหวัดนครสวรรค์


ภาพหมู่คณะ ร.ศ.130 ในคุก
(แถวนั่งจากซ้าย) ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์, ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ , ว่าที่ ร.ต.ศิริ ชุณห์ประไพ
(แถวยืนจากซ้าย) ร.ต.จันทร์ ปานสีดำ, ว่าที่ ร.ต.โกย วรรณกุล, ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์. ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์, ว่าที่ ร.ต.ทวน เธียรพิทักษ์, ร.ต.สอน วงษ์โต


นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายทุนและพลเรือนคนเดียวที่ติดคุก


ภายหลังคำพิพากษา มีการลดหย่อนผ่อนโทษตามความประพฤติและวาระพิเศษต่างๆ เช่นเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 1 คณะ ร.ศ. 130 ได้ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ อาสาไปในการสงคราม แต่ยังไม่ถึงคราวจำเป็นที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ไป กระนั้นก็ยังทรงถือเป็นความชอบพิเศษทรงพระกรุณาลดอาชญาลง 1 ใน 4 คงเหลือโทษ 15 ปี ครั้นถึงวันที่ 11 พ.ย. 2467 อันเป็นวันอภิลักขิตสมัย ร.6 ครองราชย์ครบ 15 ปี จึงปล่อยตัวทั้งคณะเป็นไท รวมเวลาต้องพระราชอาชญา 12 ปี 6 เดือน 6 วัน ระหว่างจองจำมีสมาชิก 2 นายเสียชีวิต คงเหลือ 23 คนได้รับอิสรภาพ


8.คำขวัญของคณะนี้?

คำขวัญ (Motto) ของคณะ ร.ศ. 130 คือ “ทำแล้วอย่ากลัว จะชั่วหรือดี” ตามพุทธภาษิตที่ว่า “นิสฺมม กรณํ เสยฺโย”[14]


9.มีคนตายในคุกกี่คน?

จำนวน 2 คน คนแรกในปีที่ 4 หลังเข้าคุก พ.ศ. 2458 ร.ต.วาศ วาสนา ถึงแก่กรรมด้วยวัณโรค เมื่อชีวิตจะหลุดจากร่างได้กอดคอเพื่อนรักสั่งเสียว่า “เพื่อนเอ๋ย ข้าต้องลาเพื่อนในเดี๋ยวนี้ ข้าขอฝากบุตรของข้าคนหนึ่ง และขอฝากไชโยไว้ ถ้าเอ็งยังมีชีวิตได้เห็น…” 

คนที่สองในอีก 2 ปีต่อมา พ.ศ. 2460 ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร ที่ครั้งหนึ่ง ร.6 เคยรับสั่งว่า “คนนี้ฉันรู้สันดานเขาดี เวลาโกรธขึ้นมา บ้านพ่อของเขาเองเขายังจะเผา”[15] ก็มาลาโลกด้วยโรคมะเร็งลำไส้ และถึงอาการตายในวงแขนสหายร่วมอุดมการณ์เช่นกัน ได้เปล่งเสียงอันแหบแห้งใกล้จะหมดลมว่า “ที่ตายของข้าอยู่ตรงนี้ พระเจ้ากะที่ให้ ข้าพึ่งรู้เดี๋ยวนี้เอง”[16] ร่างของทั้งคู่ได้รับการฌาปนกิจที่วัดสระเกศ


10.ระหว่างติดคุก พวกเขาทำอะไร?

คุกต่างประเทศหรือกองมหันตโทษขณะนั้นเพิ่งสร้างไม่กี่ปี ถูกสุขลักษณะเรือนจำดีกว่าคุกเดิม จุนักโทษได้ราวร้อยกว่าคน ผู้ต้องหาคณะนี้บ้างก็ถูกใช้แรงงานกรรมกร ใครลายมือดีก็ได้รับหน้าที่เสมียนที่ทำการคุก หมอเหล็ง กับ หมออัทย์ ได้อยู่ประจำห้องพยาบาล พวกเขาทำงานกันกลมเกลียวไม่บิดพลิ้ว จนได้รับฉายาจากผู้คุมว่า “นักโทษทหาร” ช่วงปีแรกของการจองจำ บางครั้งพวกเขาเผชิญความขัดแย้งกับผู้คุมจนต้องใช้แรงงานอย่างหนักและถูกตีตรวนส่งขังคุกมืด หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “ลูกคุก” จนเมื่อเรื่องความทรมานทรกรรมรับทราบถึงเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ทรงถึงกับตรัสว่า “รัฐบาลไม่ต้องการให้พวกนี้ตาย ยังถือว่าเป็นนักโทษของทหารอยู่ เท่ากับฝากขังไว้เท่านั้น ถ้าใครตายลงด้วยการทารุณในคุกก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ”[17] นับแต่นั้นมาจึงเริ่มผ่อนปรนมากขึ้น


รูปถ่ายคณะ ร.ศ.130 ในคุก ลอบถ่ายโดย ว่าที่ ร.ต.ศิริ ชุณห์ประไพ
(แถวยืนจากซ้าย)
ร.ท.จือ ควกุล, ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.ปลั่ง ปูรณโชติ, ร.ต.เจือ ศิราอาสน์, นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส, ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง, พ.ต.อัทย์ หะสิตะเวช, ร.ต.บุญ แตงวิเชียร, ร.ต.จันทร์ ปานสีดำ
(แถวนั่งกลางจากซ้าย)
ว่าที่ ร.ต.โกย วรรณกุล, ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์, ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์, ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ว่าที่ ร.ต.ทวน เธียรพิทักษ์
(แถวนั่งหน้าจากซ้าย)
ร.ต.เขียน อุทัยกุล, ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนีกร, ร.ต.เหรียญ ทิพยรัตน์, ร.ต.วาส วาสนา, ร.ต.สอน วงษ์โต


พวกเขาได้ฝึกวิชาชีพหลายสาขาภายในคุก ได้อ่านตำรับตำราและหนังสือภายในเรือนจำ สมาชิกมีโอกาสส่งเรื่องเขียนให้กับ จีนโนสยามวารศัพท์ รายวัน และผดุงวิทยา รายเดือนของนายเซียวฮุดเสง โดยได้รับสนับสนุนเงินประจำเป็นจำนวน 80 บาทต่อเดือน และหนังสือพิมพ์อื่นๆ ที่มอบเงินเป็นคราวๆ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยของราชสำนัก หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ของตระกูลวสุวัต หนังสือพิมพ์ยามาโตของชาวญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์วายาโม และหนังสือพิมพ์เยาวชน, ตู้ทอง กับนักเรียน[18]

ชาวคณะที่ร่วมวงสวนอักษรนี้จนมีผลงานโด่งดังจากนามแฝง ได้แก่ “ศรียาตรา” (ร.ต.โกย) “ก.กากะบาด” (ร.ต.บ๋วย) “ไทยใต้” (ร.ต.ถัด) “นายเทพ” หรือ “นโภมณี” (นายอุทัย) “อ้ายงั่ง” (ร.ท.จือ) หรือแม้แต่หมอเหล็งกับหลวงวิฆเนศร์ฯ ยังร่วมกันแต่ง ตำราบำบัดสรรพโรค พิมพ์ขาย[19]

ผลงานแปลของ “ศรียาตรา” เรื่องพระนางโยเซฟิน เป็นที่พอพระทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ร.6 ถึงขนาด ‘ทรงถามถึง’ เดือดร้อนถึงพระสันทัดอักษรบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยในขณะนั้นต้องหาอุบายเลี่ยงตอบ เนื่องด้วยผู้เขียนยังเป็นนักโทษการเมืองร้ายแรง! ชื่อเสียงของ “ศรียาตรา” ยังเคยได้รับคำยกย่องจากสตรีนักประพันธ์ชื่อก้อง “ดอกไม้สด” (หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์) ไว้ว่า “ศรียาตราเป็นนามปากกาชั้นครู! ข้าพเจ้ายืนยันดังนี้”[20]


ร.ต.โกย วรรณกุล หรือ ศรียาตรา


อีกหนึ่งสมาชิกผู้ใช้นามปากกา ก.กากะบาด หรือ ร.ต.บ๋วย (พบอีกชื่อว่า “บวร” ในงานศพ ร.ต.ถัด) นักประพันธ์นามอุโฆษเจ้าของเรื่องมหาเถรทอง กับ นิยายวาบหวาม ‘อิโรติก’ อิงพงศาวดารเรื่องขุนวรวงษา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ร.ต.บ๋วย ยังต้องมาติดคุกซ้ำอีก 1 ปีเมื่อถูกฟ้องเป็นกบฏในพระราชอาณาจักร[21] (หมอเหล็งรำลึก ว่าหมิ่นประมาทพระราชวงศ์[22]) จากบทความเรื่องครอบครัวประหลาด (ไม่ได้เขียนเอง แต่โดนในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์) กล่าวกันว่างานเขียนของบ๋วยดีถึงขั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงขอดูตัว[23] ร.ต.บ๋วย ช่วงต้องคุมขังคดี ร.ศ.130 ยังได้ตั้งวงดนตรีชื่อว่า “ดนตรีทหาร” รับผิดชอบเป็นครูสอนทั้งดนตรีและการขับร้อง[24]


ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ก.กากะบาด


เรื่องราวในคุกอีกหนึ่งเกร็ดขำขันเล่าโดยผู้อาวุโสสูงสุดของคณะ พันตรีหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หสิตะเวช) แพทย์ ‘นัมเบอร์วัน’ ของประเทศสยาม นักเรียนแพทย์ของศิริราชคนแรก[25] ว่าท่านใช้ความรู้แพทย์ช่วยผู้ต้องหาชาวอิตาลีย้ายออกจากคุกสำเร็จ อีกทั้งยังทำงานซื้อขายเป็นนายหน้าที่ดินขณะยังอยู่ในตะราง![26]

คณะ ร.ศ. 130 ระหว่างถูกจองจำยังได้รับความกรุณาจากเจ้านาย เช่น เสด็จในกรมหมื่นพงศาดิศรมหิป (พระองค์เจ้าไชยานุชิต) ซึ่งประทับอยู่ที่วังข้างกองมหันตโทษ ทรงให้มหาดเล็กนำ มะม่วง ข้าวโพด และต้มแกงหม้อใหญ่ๆ เข้าไปให้ในคุก พระองค์ท่านทรงกล่าวอย่างตลกว่า “มันจะฆ่าเจ้า ข้าเจ้าจึงให้มันกิน”[27] จนเมื่อหลังทั้งหมดพ้นโทษได้พากันไปเฝ้าพระองค์ท่าน และทรงรับสั่งกับชาวคณะ ร.ศ. 130 ว่า “มีบางคนตำหนิพวกเธอว่าชิงสุกก่อนห่าม แต่ฉันคัดค้านว่าสัญชาตญาณของมนุษย์นั้นไม่เหมือนผลไม้จะสุกเมื่อใดก็ย่อมได้ไม่มีกฎเกณฑ์อันใดว่ามันจะต้องห่ามเสียก่อน”[28]


11.หลังออกจากคุก พวกเขาทำอะไร?

หนึ่งปีหลังคณะ ร.ศ. 130 ได้รับอิสรภาพ ประเทศสยามผลัดแผ่นดินสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 สมาชิกกลุ่มนี้หลายคนเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชน “ได้ร่วมความคิดปรึกสาหารือไนการเขียนปลุกไจไห้ประชาชนนิยมลัทธิประชาธิปไตย”[29] ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์แนวก้าวหน้าเช่น ศรีกรุง และสยามราษฎร์ ของครอบครัววสุวัต ที่สนับสนุนการปฏิวัติของคณะราษฎร


12.ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 พวกเขายังมีชีวิตอยู่กี่คน?

คงเหลืออยู่ 19 คน สืบดูจาก 18 รายนาม ที่ร่วมเขียนคำไว้อาลัย (ขาดเพียง ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง ที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนั้นแต่มิได้ร่วมเขียน) ในหนังสืองานศพของ ร.ต.ปลั่ง ปูรณโชติ (15) 1 ใน 4 ผู้วายชนม์ก่อนหน้า พ.ศ. 2475 แต่ร่างถูกฌาปนกิจในปี พ.ศ. 2477 ส่วนที่เหลืออีก 3 คนคือ ร.ต.เหรียญ ทิพยรัตน์ (9) ร.ต.ทวน เธียรพิทักษ์ (12) และ ร.ต.จันทร์ ปานสีดำ (20) ล้วนถึงแก่กรรมก่อนหน้า พ.ศ. 2475[30]


    

13.คณะราษฎร ปฏิบัติต่อ คณะ ร.ศ. 130 อย่างไรหลังปฏิวัติสำเร็จ 20 ปีต่อมาเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475?

สมาชิกคนสำคัญของคณะ ร.ศ. 130 บางคนเป็นนักเรียนนายร้อยร่วมรุ่นกับหัวหน้าผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 ในบ่ายวันที่ 24 มิถุนายนนั้นเอง คณะราษฎรได้เชิญสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 ไปพบปะยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เอ่ยกับเพื่อนนักเรียนนายร้อยร่วมรุ่น ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง ว่า “ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนที่เยอรมนี ก็เห็นจะเข้าอยู่ในคณะของคุณอีกคนหนึ่งเป็นแน่” ทั้งยังกล่าวสรุปความว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม!”[31]

ด้านพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ไถ่ถามสหายร่วมรุ่น ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ว่า “พอใจไหม บ๋วย ที่กันทำครั้งนี้” ร.ต.บ๋วย ตอบสวนทันควันว่า “พอใจมากครับ เพราะทำอย่างเดียวกันกับพวกผม” ! ส่วนปรีดี พนมยงค์ กล่าวกับคณะแขกผู้เกียรติวันนั้นว่า “พวกผมถือว่า การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ.130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ.130 ว่าพวกพี่ๆ ต่อไป”[32]


รูปถ่ายหมู่ 27 มิถุนายน 2475 ต้อนรับรัฐธรรมนูญจำลอง หน้าสยามราษฎร์
(แถวนั่งจากซ้าย) นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ร.ท.จือ ควกุล, ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์, ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, พ.ต.อัทย์ หะสิตะเวช
(แถวยืนจากซ้าย) ร.ต.เปลี่ยน ไชยมังคละ. ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์, ร.ต.สอน วงษ์โต, ว่าที่ ร.ต.ศิริ ชุณห์ประไพ, ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์, ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส, ร.ต.จรูญ ษะตะเมษ, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์


14.บทบาททางการเมืองของสมาชิกคณะ ร.ศ.130 หลังปฏิวัติ 2475 ใครทำอะไรบ้าง?  

สมาชิกคณะ ร.ศ. 130 ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาในฐานะผู้แทนราษฎรประเภท 1 จำนวน 3 คน

ร.ต.ถัด รัตนพันธ์ ส.ส.พัทลุงสองสมัยระหว่าง 15 พ.ย. 2476 – 6 พ.ย. 2480 และ 12 พ.ย. 2481 – 18 มี.ค. 2487

ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี ในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย 15 พ.ย. 2476 – 6 พ.ย. 2480

ร.ต.สอน วงษ์โต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท ระหว่าง 15 พ.ย. 2476 – 6 พ.ย. 2480 หรือเจ้าของนามปากกา “กายสิทธิ์” ผู้เล่าเรื่องคณะ ร.ศ. 130 ผ่านงานเขียนหลังปฏิวัติ 2475 คนแรก

รวมทั้ง ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราว 28 มิ.ย. 2475 – 8 ธ.ค. 2476 จากจำนวนทั้งสิ้น 70 คน และหลังการเลือกตั้งครั้งแรก ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ เป็นเพียงคนเดียวของคณะนี้ที่ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ส.ประเภท 2 ตลอดวาระจนยุติลงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 ระหว่าง 9 ธ.ค. 2476 – 9 พ.ค. 2489


15.รูปภาพประวัติศาสตร์ของคณะนี้ในชุดทหารเต็มยศ ถ่ายเมื่อไร ที่ไหน?

เกียรติยศและศักดิ์ศรีของพวกเขาได้รับคืนกลับมาทั้งหมดด้วยพระราชบัญญัติล้างมลทินตามราชกิจจานุเบกษา 7 ธ.ค. 2475[33] และคืนยศเมื่อ 22 เม.ย. 2476 ครั้นเมื่อถึงงานเมรุ 17 วีรชนผู้สละชีพคราวปราบกบฏบวรเดช รัฐบาลในนามหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.) ทำจดหมายเรียนเชิญทั้งคณะมาร่วมพิธี จนเป็นที่มาของภาพถ่ายหมู่ประวัติศาสตร์ในชุดเต็มยศของคณะ ร.ศ. 130 มีเนื้อความว่า “เพื่อเป็นการรักและเป็นการไว้อาลัยแก่เพื่อนทหาร ผมขอโอกาสถือโดยเกียรติยศว่า คุณเป็นผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้มีส่วนเสียร่วมในงานศพนี้ด้วย ฉะนั้นผมจึงขอเชิญคุณ (ในเครื่องแบบทหารตามหมายกำหนดการ) มาร่วมเป็นเจ้าภาพ ณ เมรุท้องสนามหลวงในงานวันที่ 17,18 และ 19 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476 นี้ด้วย…ขอแสดงความนับถือย่างสูง” นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม[34]


พระราชบัญญัติล้างมลทินตามราชกิจจานุเบกษา 7 ธ.ค. 2475


คณะ ร.ศ.130 ในงานศพ 17 วีรชนปราบกบฏบวรเดชที่ท้องสนามหลวง กุมภาพันธ์ 2476
(แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ร.ต.โกย วรรณกุล, ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์, ร.ต.จรูญ ณ บางช้าง. ร.ต.สอน วงษ์โต, ร.ต.เปลี่ยน ไชยมังคละ
(แถวหลังจากซ้าย) ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ท.จือ ควกุล, ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์, ร.ต.เขียน อุทัยกุล, ร.ต.ศิริ ชุณห์ประไพ, นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา


16.จุดจบผู้ทรยศคณะ ร.ศ.130 เป็นอย่างไร?

เช้าวันที่ 24 มิ.ย. 2475 พระยาพหลฯ เกือบสั่งยิงเป้าพระยากำแพงราม หรืออดีตหลวงสินาทโยธารักษ์ (ยุทธ หรือนามเดิม แต้ม นามสกุล คงอยู่) “แกะดำชาว ร.ศ. 130” ที่สี่แยกเกียกกาย เพื่อเซ่นธงชัยเฉลิมพล แต่พระยาทรงสุรเดช ได้ยับยั้งไว้ ด้วยเหตุผลว่า “จักกระทำให้บุคคลส่วนใหญ่คิดเห็นไปว่า กิจกรรมของคณะ 2475 กลายเป็นทำเพื่อแก้แค้นแทนคณะ ร.ศ.130 ไป”

อย่างไรก็ตาม เพียงหนึ่งปีถัดมาพระยากำแพงรามได้เข้าร่วมก่อการกับคณะของพระองค์เจ้าบวรเดช แต่พ่ายแพ้จนต้องติดคุกข้อหากบฏ และเมื่อถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2476 (ปฏิทินเก่า) ขณะที่คณะ ร.ศ. 130 เข้าร่วมงานพิธีศพวีรชน 17 ชีวิตของรัฐบาลที่สละชีพในกบฏครั้งนั้น พระยาพหลฯ ได้แจ้งแก่คณะว่า “ ‘คณะรู้กันหรือยังว่ายุทธิ์ตายเสียแล้ว’…และท่านได้สำทับอีกว่า ‘ยุทธิ์ที่เขาบอกให้จับพวกคุณน่ะ…เขาลอบไปผูกคอตายในซ่วมเรือนจำบางขวางเสียแล้ว’ และพร้อมกันนั้นท่านก็ได้ชวนคณะก่อการทั้งหมด ให้มาช่วยยกของหวานถวายพระอธิษฐานและอโหสิกรรมให้แก่เขาด้วยอีกครั้งหนึ่ง”


17.อ่านเรื่องราว คณะ ร.ศ.130 ผ่านหนังสือเล่มใดได้บ้าง?

หลังพ้นคุกพวกเขายังไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้เนื่องจากยังถือว่ามีชนักกบฏติดหลังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นเจ็ดปีต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้เพียงหนึ่งเดือน ร.ต.สอน วงษ์โต จึงใช้นามปากกา “กายสิทธิ์” เริ่มเขียนเรื่อง คณะราษฎรมีคุณต่อประเทศเพียงใด ลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ชีวิตนักการเมือง และ วิบากของคณะ ร.ศ.130″ จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต.ปลั่ง ปูรณโชติ เมื่อ พ.ศ. 2477 และพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในงานศพของนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2480 บทความนี้นับเป็นการบอกเล่าชีวิตของชาวคณะ ร.ศ.130 ชิ้นแรกในบรรณพิภพ

ระยะนี้มีบุคคลสำคัญ 2 ท่านที่ทาบทามให้สมาชิกคณะนี้ฟื้นความหลังมาเขียนเล่าให้สังคมรับรู้ ท่านแรกคือปรีดี พนมยงค์ ที่สนับสนุนนายสมจิตต์ เทียนศิริ ให้พิมพ์หนังสือ หลังฉากการปฏิวัติ ร.ศ.130 เมื่อ พ.ศ. 2484 ภาพปกสื่อนัยยะถึงการปลดแอกด้วยภาพนักโทษกระชากโซ่ตรวนขาดสะบั้น วาดโดย ลมูล อติพยัคฆ์ และท่านที่สองคือพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  “ได้ขอร้องให้หมอเหล็ง ศรีจันทร์ กับชาวคณะ 130 เขียนประวัติปฏิวัติ ร.ศ.130 ขึ้นไว้ให้จนได้ เพื่อประโยชน์ของอนุชนรุ่นหลังๆ จะได้ศึกษาเล่าเรียนประวัติของชาติไทยไม่บกพร่อง หมอเหล็งก็รับพระคำ…ว่าจะหาโอกาสเขียนให้จนได้”[35]


หนังสือ หลังฉากการปฏิวัติ ร.ศ.130 เมื่อ พ.ศ. 2484


ต่อมาหมอเหล็งจึงนำความมาเล่าสู่คณะฟังและตั้งใจจะเขียนหากแต่เวลาไม่อำนวย จนกระทั่งสิ้นบุญไป ร.ต.เหรียญ และ ร.ต.เนตร ทั้งคู่ได้รับเรื่องต่อและเรียบเรียงจบบริบูรณ์ ณ วันที่ 11 พ.ย. 2502 อันเป็นเวลาครบรอบ 35 ปีแห่งการได้รับอิสรภาพพอดิบพอดี โดยตั้งชื่อว่าหนังสือประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130 จัดพิมพ์ครั้งแรกในงานศพหัวหน้าผู้ก่อการ และถูกประเมินคุณค่าถึงระดับหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน[36] กระทั่งต่อมาถูกผลิตซ้ำอีกราว 10 ครั้ง (ถึงแม้จะถูกเบี่ยงชื่อไปเป็น กบฏ ร.ศ.130 บ้างในบางปก ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าพวกเขาไม่เคยตั้งชื่อหนังสือและเรียกเรื่องราวของคณะว่าเป็นกบฏเลยสักครั้ง!)


หนังสือประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130


ปีเดียวกับที่หนังสืองานศพหมอเหล็งเล่มนี้ปรากฏสู่บรรณโลก น.อ.สวัสดิ์ จันทนี หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรอย่างไม่เป็นทางการได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณนายแพทย์ หลวงวิฆเนศร์ฯ (อัทย์ หะสิตะเวช)[37] สมาชิกอาวุโสสูงสุดของคณะจนเป็นที่มาของหลายบทความในชุดหนังสือนิทานชาวไร่ อันเลื่องชื่อที่บอกเล่าเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ในชั้นปฐมภูมิ ทั้งนี้ พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ บุตรชายของ ร.ต.เนตร และนักเขียนชื่อก้องสมัยนั้นยังได้นำประวัติปฏิวัติฯที่บิดาตนร่วมเขียนกับ ร.ต.เหรียญ นี้มาปรับสำนวนให้มีความเป็นตลาดมากขึ้น พร้อมจำหน่ายในชื่อหนังสือท่านเรียกผมว่าลูก เมื่อ พ.ศ. 2517 ในเวลาไล่เลี่ยกัน ปรากฏหนังสือตลาดอีกเล่มวางจำหน่ายชื่อว่าขบวนการยังเติร์ก โดย สูรยัน (สันนิษฐานว่าคือนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร)  


หนังสือ ท่านเรียกผมว่าลูก


อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2514 หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อการ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ ให้ความเห็นว่าหนังสือหมอเหล็งรำลึก ยังคงเสนอข้อมูลไม่เพียงพอและครั้งหนึ่งในการสัมภาษณ์ได้ออกอาการเสียดายเมื่อคู่สนทนาแจ้งว่า “ได้ไปตรวจเอกสารเกี่ยวกับผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ในกองจดหมายเหตุแห่งชาติ พบแต่หัวเรื่อง แต่ตัวเอกสารอ้างว่าถูกทำหายหมดแล้ว”[38] ทั้งที่จริงแล้ว ยังคงเหลือเอกสารเป็นอันมาก และมีการศึกษาข้อมูลเติมเต็มความปรารถนาของ ร.ต.จรูญ อย่างสมบูรณ์ในต้นทศวรรษถัดมา โดย แถมสุข นุ่มนนท์ ธิดาของ ร.ต.ถัด รัตนพันธ์ หนึ่งในชาวคณะ ร.ศ.130 เธอได้เข้าไปค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ผนวกกับศึกษาหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในสมัย ร.ศ. 130 รวมทั้งบันทึกความทรงจำทั้งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ, ฝ่ายคณะ ร.ศ. 130 และของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ตลอดจนศึกษาจากผลงานวิจัยทางวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาโทในหลายสถาบัน ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ  ตีพิมพ์เป็นบทความวิชาการเรื่องการจับกุมทหารก่อการกำเริบ ร.ศ.130 ลงในวารสารสังคมศาสตร์ ต้นปี 2522 และพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นหนังสือยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.130 (2522)


หนังสือโดยแถมสุข นุ่มนนท์ พ.ศ.2522 พิมพ์ครั้งแรก

สองปีถัดมา อัจฉราพร กมุทพิสมัย ได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องกบฏ ร.ศ.130 ศึกษากรณีการปฏิรูปทางการปกครอง และกลุ่ม “ทหารใหม่” ผลงาน 2 ชิ้นนี้ถือว่าเป็นงานวิชาการคุณภาพสูงที่สร้างคุณูปการให้กับการค้นคว้าเรื่องราวของคณะ ร.ศ.130 อย่างยิ่ง หนังสือของแถมสุขถูกตีพิมพ์ซ้ำถึง 3 ครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าในการพิมพ์ในงานศพของมารดา ผู้เขียนเลี่ยงไม่ใช้คำว่า ‘กบฏ’ เป็นหัวเรื่อง ส่วนวิทยานิพนธ์ของอัจฉราพร ได้รับการตีพิมพ์จำหน่ายในปี พ.ศ. 2540 พร้อมได้รับคำชมเชยจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ อย่างสูงว่า “นี่เป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเกี่ยวกับ ร.ศ. 130 ไม่ว่าจะในภาษาใดๆ ในโลกนี้ก็ตาม”

ทศวรรษที่ผ่านมา ในวาระครบ 1 ศตวรรษคณะ ร.ศ. 130 งานศึกษาเพิ่มเติมของ ณัฐพล ใจจริง ยิ่งช่วยเสริมมิติการศึกษาคณะเก๊กเหม็งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหมอเหล็งรำลึก มาจัดพิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชน ณัฐพลในฐานะบรรณาธิการยังได้รวบรวมนำเสนอเอกสารลายมือของคณะผู้ก่อการที่ถูกทางการยึดเรื่อง ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ  และคำให้การของผู้ก่อการบางท่าน รวมทั้งการหวนกลับไปตีพิมพ์ผลงานชิ้นแรกของคณะ ร.ศ. 130 เรื่องชีวิตนักการเมือง และ วิบากของคณะ ร.ศ.130 หนังสือของมติชนเล่มนี้ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2564 พร้อมผนวกรวมกับการศึกษาหนังสืองานศพของคณะ ร.ศ. 130 ที่ผู้เขียนพบมากกว่า 10 เล่มอันล้วนแล้วแต่เป็นของผู้ก่อการคนสำคัญและได้รับการตีพิมพ์ขึ้นปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้นเอง[39]


18.ผู้ก่อการคณะ ร.ศ.130 อายุยืนยาวเพียงไร ใครลาโลกเป็นคนสุดท้าย?

ทุกปีเมื่อถึง 11 พฤศจิกายน วันรับอิสรภาพของชาวคณะ ร.ศ. 130 จะรวมตัวสังสรรค์กันทุกปี[40] ความงดงามในมิตรภาพอันแนบแน่นของคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ. 130 สะท้อนผ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพที่แม้จะพบเพียงครึ่งหนึ่ง แต่เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการนี้แทบทั้งสิ้น ผู้ก่อการริเริ่ม 4 คนแรกล้วนมีชีวิตเกินเกณฑ์อายุขัยแห่งสากลกำหนด[41] ยืนยาวถึง 5 แผ่นดิน ได้แก่ เหรียญ ศรีจันทร์, จรูญ ษตะเมษ, สอน วงษ์โต จนถึงคนสุดท้าย เนตร พูนวิวัฒน์ หรือแม้แต่ผู้อาวุโส 2 ท่านเช่นหมอเหล็ง และหมออัทย์ ทั้งคู่มีชีวิตอยู่จนได้เห็นวันสิ้นอำนาจของคณะราษฎรด้วยซ้ำ!

3 นักปฏิวัติในปัจฉิมวัย จรูญ , โกย, เหรียญ
ร.ต.จรูญ ษตะเมษ ในวัย 86 เมื่อปี พ.ศ.2514


จำเพาะในมุมของการศึกษาประเภทหนังสืองานศพ กล่าวได้ว่าเป็นชุดที่ผู้วายชนม์รักษาอุดมการณ์ร่วมกันตราบจนวาระ ‘จากตาย’ มีขอบเขตยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษระหว่าง พ.ศ. 2477 – 2523 จากการที่ ‘เพื่อนตาย’ ที่ยังดำรงสังขารอยู่ล้วนอุทิศคำไว้อาลัยต่อกันอย่างสุดซึ้ง ทั้งยังสามารถตรวจสอบว่า ‘ใครอยู่ใครไป’ แบบนับถอยหลังได้อย่างที่ไม่มีอนุสรณ์งานศพของคณะบุคคลใดเสมอเหมือน

นอกเหนือจากมิติของคำไว้อาลัยจำนวนมาก ด้านเนื้อหาหลักที่นำมาลงล้วนแสดงความภาคภูมิใจมิคลอนแคลนต่อหลักการที่ดำเนินไปด้วยใจบริสุทธิ์ต่อประเทศชาติจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแต่ละคน ถึงแม้ประวัติศาสตร์ของผู้ฝักใฝ่ระบอบเก่าจะตราหน้าพวกเขาว่าเป็นกบฏ แต่เมื่อถึงวันที่ได้รับความยุติธรรมกลับคืนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หนังสืองานศพนับจากเล่มแรกของ ร.ต.ปลั่ง ปูรณโชติ จนถึงเล่มสุดท้ายของ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ มากน้อยล้วนบรรจุพฤติการณ์ชาวคณะ ร.ศ. 130 อย่างจุใจ

ร.ต.เนตร คือสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 ที่อยู่ดูโลกเป็นคนสุดท้าย ปีนั้น พ.ศ. 2523 ปรีดี พนมยงค์ ขณะพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสให้เกียรติส่งคำรำลึกอาลัยความยาวถึง 3 หน้าเพื่อร่วมพิมพ์ในอนุสรณ์งานศพ ดังความในย่อหน้าที่สำคัญว่า “ข้าพเจ้ารู้จักตัวพี่เนตร์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาเย็นภายหลังที่คณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจครั้งกระนั้นแล้ว แต่ข้าพเจ้ารู้จักชื่อคณะที่พี่เนตร์เป็นสมาชิกคนหนึ่งคือ ‘คณะ ร.ศ. 130’ ตั้งแต่ปลายปี ร.ศ. 130 ขณะนั้นข้าพเจ้าอายุ 11 ขวบ…ข้าพเจ้าจึงมีความศรัทธาในวีรกรรมคณะ ร.ศ. 130…ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกข์ยากของชาวนาจะแก้ไขให้ดีขึ้นนั้นก็จำเป็นต้องเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินต่อจากที่คณะ ร.ศ. 130 ได้ตั้งใจไว้…ข้าพเจ้ากับเพื่อนจำนวนหนึ่งได้เริ่มก่อตั้งคณะราษฎร์ขึ้น นอกจากบทเรียนทางทฤษฎีและการปฏิบัติของหลายประเทศแล้ว เราก็ได้คำนึงถึงบทเรียนของคณะ ร.ศ. 130 หลายประการโดยเฉพาะหลีกเลี่ยงส่วนที่เกี่ยวกับความบกพร่อง และได้กำหนดวิธีการอย่างรัดกุมมากขึ้นในการชักชวนบุคคลให้เข้าร่วมในคณะและวินัยแห่งการรักษาความลับของคณะ

อนึ่ง ร.ต.เนตร เคยได้รับได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมคณะราษฎรผ่านสายงานของขุนศรีศรากร แต่ได้ตอบปฏิเสธไปโดยว่า“ขอให้เป็นกระบอกเสียงในศรีกรุงก็พอ”[42]


ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ สมาชิกคนสุดท้ายที่อยู่ชมโลก ร่วมงานศพเพื่อนตาย ร.ต.บุญ แตงวิเชียร


19.อุดมการณ์นักปฏิวัติ คำสารภาพครั้งสุดท้ายของผู้ริเริ่มก่อการ?

สวัสดิ์ จันทนี ถ่ายทอดเรื่องเล่าจากฟากรัฐไว้ว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 6 คิดจะปล่อยพวก ร.ศ. 130 นานมาแล้ว แต่มีผู้ทัดทานไว้เพราะกบฏทางประเทศจีนและตุรกียังหนาหูอยู่ เลยเรื่อยๆ มาจน พ.ศ. 2466 จึงรับสั่งแก่เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ว่า “ให้ไปดูทีหรือว่ามันหายบ้ากันหรือยัง” เจ้าพระยาอภัยฯ จึงเข้ามาที่กองบัญชาการคุก เรียกเข้าไปถามเรียงตัวทีละคนๆ ว่าเข็ดแล้วหรือยัง ถ้าใครตอบว่าไม่เข็ดก็เห็นจะซวยเต็มทน”[43]

ประเด็นนี้ ร.ต.จรูญ ตอบคำถามไว้ในสังคมศาสตร์ปริทรรศน์เมื่อปี พ.ศ. 2514 เมื่อผู้สัมภาษณ์เอ่ยถามว่า  “รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นนักชาตินิยม จึงทรงเห็นพระทัยในพวกผู้ก่อการ ร.ศ. 130 อยู่บ้าง จนถึงขั้นลดโทษ และพระราชทานอภัยในที่สุด ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด? ” ร.ต.จรูญ ตอบว่า “ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า พระองค์ท่านจะทรงคิดเช่นนั้นหรือไม่ เพราะท่านไปหลงพวกประจบประแจงหัวโบราณ พูดอะไรก็เชื่อคำเขาไปด้วย พวกฉันต้องติดคุกนานถึงสิบกว่าปี เหลือเวลาอีกไม่เท่าไรก็จะพ้นโทษ ที่ทรงปล่อยนั้นถือว่าเป็นการเอาบุญคุณ ฉันเชื่อว่าเป็นแผนการณ์ของพระองค์มากกว่า”

เมื่อถูกถามต่อว่า“ท่านได้ทำอะไรบ้าง ภายหลังที่ถูกปลดปล่อยแล้ว หมายถึงว่าความคิดที่จะดำเนินการปฏิวัติอีก ยังมีหรือไม่?” นักปฏิวัติอาวุโส เผยทัศนะในปัจฉิมวัยไว้ว่า “ใจก็ยังขุ่นเคืองกันอยู่อย่างเก่า ไม่เคยพูดว่าเข็ด รอเหตุการณ์ที่เหมาะสม ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็จะก่อการอีก การที่ใส่ชุดนักโทษกลับบ้านเพื่อเป็นการระลึกว่า เราต้องโทษ เพราะเราทำเพื่อประเทศชาติ จึงกลับรู้สึกภูมิใจ”[44]

เจตจำนงของชาวคณะ ร.ศ. 130 แสดงผ่านย่อหน้าสุดท้ายในเรื่องเล่าของพวกเขาเมื่อครั้งงานเมรุของนายอุทัย “เพื่อนตาย” เมื่อ พ.ศ. 2480 ไว้ว่า

“ข้าพเจ้ากล่าวตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ ก็พอเห็นควรแก่กาลที่จะยุตติลง ขอชักชวนเพื่อนร่วมชาติทั้งหลาย ท่านซึ่งกำลังจับอ่านอยู่ ณ บัดนี้ แลยังมิได้อ่าน ช่วยกันตั้งใจบำรุงประเทศบ้านเมืองซึ่งเป็นที่รักของเราตามรัฐธรรมนูญโดยระบอบประชาธิปไตยให้ประเทศสยามสถิตสถาพรด้วยความมั่นคงอยู่ชั่วคู่ฟ้าดินสลาย ไชโย! ไชโย!![45]



เชิงอรรถ

[1] พลกูล อังกินันทน์ ,เผชิญหน้าผู้ก่อการ “เก๊กเหม็ง”, สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ฉบับที่ 6 ปีที่ 9 ธันวาคม 2514, น.72.

[2] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, 2542, (สถาบันปรีดี), น.45.

[3] วัฒนา กีรติชาญเดชา, ภาพตัวแทนของซุนยัตเซ็นในมุมมองของรัฐบาลสยามในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2446-2453, รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ SMARTS ครั้งที่ 8, น.801.

[4] (ง)ริปับลิคจีน เมื่อตั้งขึ้นชนแล้วขวบปี ใน ความกระจัดกระจายแห่งเมืองจีน ดอกเตอร์ เอมิลโยเสพดิลลอน เปนผู้เรียบเรียง อัศวะพาหุ แปลเปนภาษาไทย, ร.ศ.131,(โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย),น.154.

[5] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, คำนำ ใน พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, 2470,(โสภณพิพรรฒธนากร), น.(2).

[6] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, 2542, (สถาบันปรีดี), น.53-54.

[7] แจ้งความกระทรวงกระลาโหม เรื่องถอดนายทหาร 22 คน ราชกิจจานุเบกษา 12 พฤษภาคม ร.ศ.131 เล่ม 29 หน้า 385-390. ดูประกอบใน หนังสืองานศพผู้ก่อการ ร.ต.ปลั่ง หน้า 17, นายอุทัย หน้า 29 และ เหล็งรำลึก (2503) หน้า 157. และ ดู ต้นฉบับใน http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/D/385.PDF (เข้าถึง 10 ก.พ.65)

[8] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, สัมภาษณ์ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งแรก 2526,(เคล็ดไทย), น.34-35.

[9] สยามปฏิวัติ จาก “ฝันละเมอ” สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ อภิวัฒน์สยาม 2475, 2564, (bookscape), น.53-68.

[10] หมอเหล็งรำลึก, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันอังคารที่ 19 เมษายน 2503, น.71.

[11] สมบัติ เล็กชูวงศ์ คำไว้อาลัยใน ถัด คนะ ร.ส.130 พิมพ์ชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงสพ ร้อยตรี ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราสดร จังหวัดพัทลุง นะวัดภูผาภิมุข จังหวัดพัทลุง วันที่ 14 พรึสภาคม พุทธสักราช 2487,น.56.

[12] ส.เทียนศิริ โดย  ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร์ พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ.130, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2489, (โรงพิมพ์กรุงเทพฯ),น.149.

[13] แถมสุข นุ่มนนท์, ขบวนการ ร.ศ.130 ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพมารดาผู้เขียน นางแส รัตนพันธุ์ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 4 เม.ย.2533, น.6-21.

[14] หมอเหล็งรำลึก (2503), น.61.

[15] สวัสดิ์ จันทนี, นิทานชาวไร่ เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 2560, (สำนักพิมพ์ศยาม),น.1001.

[16] ส.เทียนศิริ โดย ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร์ พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ.130,พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2489, (โรงพิมพ์กรุงเทพฯ),น.167-168.

[17] หมอเหล็งรำลึก (2503),  น.192-193.

[18] หมอเหล็งรำลึก (2503),  น.205-206.

[19] สวัสดิ์ จันทนี, นิทานชาวไร่ เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 2560, (สำนักพิมพ์ศยาม),น.413 และ เล่ม 2, น. 769.

[20] ส.พลายน้อย, เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต 2, พิมพ์ครั้งแรก 2548,(คอหนังสือ),น.39.

[21] บ๋วยบูชิต (2498), น.จ. นับเป็นคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แรกๆหลัง 2475 ที่ตัดสินโทษนักหนังสือพิมพ์ถึงขั้นติดคุก ดูรายละเอียดคำพิพากษาได้ที่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:148390 (เข้าถึง 10 ก.พ.2565)

[22] หมอเหล็งรำลึก (2503), น.260.

[23] ส.พลายน้อย, เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต 2, พิมพ์ครั้งแรก 2548, (คอหนังสือ),น.43.

[24] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ร้อยเอก แม้น สังขวิจิตร ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 3 มิ.ย.2517. (โรงพิมพ์กรมสารบรรณอากาศ), น.134.

[25] สวัสดิ์ จันทนี, นิทานชาวไร่ เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 2560, (สำนักพิมพ์ศยาม),น.297.

[26] สวัสดิ์ จันทนี, นิทานชาวไร่ เล่ม 2, บทที่ 54 วะลาปะตา, พิมพ์ครั้งที่ 2 2560, (สำนักพิมพ์ศยาม),น.777-788

[27] หมอเหล็งรำลึก (2503), น.227.

[28] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ร้อยเอก แม้น สังขวิจิตร ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 3 มิ.ย.2517. (โรงพิมพ์กรมสารบรรณอากาศ),น.137.

[29] ถัด คนะ ร.ส.130 พิมพ์ชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงสพ ร้อยตรี ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราสดร จังหวัดพัทลุง นะวัดภูผาภิมุข จังหวัดพัทลุง วันที่ 14 พรึสภาคม พุทธสักราช 2487, น.57.

[30] ณัฐพล ใจจริง บรรณาธิการ, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ ร,ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ผู้เขียน, ปฏิวัติ ร.ศ.130, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2564, (มติชน),น.485,

[31] หมอเหล็งรำลึก (2503), น.23.

[32] เรื่อง คน 90 ปี โดย ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ณ ฌาปนสถานวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2523, (เซ็นทรัลเอ็กซ์เพรสศึกษาการพิมพ์), น.172.

[33] พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ.130 พุทธศักราช 2475 ราชกิจจานุเบกษา 7 ธันวาคม 2475 เล่ม 49 หน้า 525-526. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/525.PDF (เข้าถึง 10 ก.พ.2565)

[34] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายหมายใจ ควกุล ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 22 ก.ค.2545, น.74.

[35] หมอเหล็งรำลึก (2503), น.8.

[36] หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน จุดเชื่อมต่อ https://www.rsu.ac.th/soc/corner1.html  (เข้าถึงวันที่ 11 ก.พ.2565)

[37] นายแพทย์ หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช) อุทิศร่างกายเป็น “อาจารย์ใหญ่”ให้กับโรงพยาบาลศิริราช โครงกระดูกของท่านยังห้อยแขวนให้คารวะ ณ พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์-คองดอน ดู https://www2.si.mahidol.ac.th/siriraj130years/details/1/6 (เข้าถึง 11 ก.พ.2565)

[38] พลกูล อังกินันทน์ ,เผชิญหน้าผู้ก่อการ “เก๊กเหม็ง”, สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ฉบับที่ 6 ปีที่ 9 ธันวาคม 2514,น.74.

[39] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, อนุสรณ์งานศพ คณะ “เก๊กเหม็ง” สยาม ร.ศ.130, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 42 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564, น.70-103 และ ณัฐพล ใจจริง บรรณาธิการ, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ ร,ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ผู้เขียน, ปฏิวัติ ร.ศ.130, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2564, (มติชน),น.300-364,

[40] อินทกนิษฐ์ พูนวิวัฒน์, 30 ปีแห่งความหลังครั้งสุดท้าย, งานศพ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ไม่มีเลขหน้า.

[41] ผู้เขียน “หมอเหล็งรำลึก (2503)” วางเกณฑ์สากลกำหนดไว้ 70 ปี

[42] เนตร พูนวิวัฒน์, คน 90 ปี งานศพ ร.ต.เนตร์, น.169.

[43] สวัสดิ์ จันทนี, นิทานชาวไร่ เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 2560,(สำนักพิมพ์ศยาม), น.417.

[44] พลกูล อังกินันทน์ ,เผชิญหน้าผู้ก่อการ “เก๊กเหม็ง”, สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ฉบับที่ 6 ปีที่ 9 ธันวาคม 2514, น.73.

[45] เพื่อนตาย ชาวคณะ ร.ศ.130 พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา 11 มกราคม พ.ศ.2480 ณ เมรุเชิงบรมบรรพตวัดสระเกษ รวบรวมโดย นายร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์, (โรงพิมพ์จันหว่า), น.54.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save