fbpx

ข้อสังเกตบางประการต่อการเลือกตั้งเทศบาล ’64

เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้พื้นที่ขนาดสั้นตรงนี้อธิบายความหลากหลายของการเลือกตั้งเทศบาล 2,472 แห่งที่มีขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคมได้หมดจด บทความครั้งนี้จึงขอเลือกฉายภาพใหญ่ระดับประเทศในบางแง่มุมให้เห็น และหยิบยกบางประเด็นน่าสนใจที่เกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อทำความเข้าใจการเมืองระดับเทศบาลแบบที่เป็นอยู่จริง พร้อมตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะในตอนท้าย

เทศบาลใกล้ชิดประชาชน

จากความเห็นของหลายคน (รวมทั้งผม) เชื่อว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นยิ่งเล็กประชาชนก็ยิ่งมีส่วนร่วมสูง (ในทุกมิติ เรื่อยไปจนถึงด้านการตรวจสอบ) ดูได้ตั้งแต่ขั้นต้นจากการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ข้อมูลโดยรวมของครั้งนี้ก็ยังคงยืนยันเช่นนั้น การเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมามีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 66.51% มากกว่าการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปลายปีที่แล้วร้อยละ 4.26 ทั้งที่จะว่าไปแล้ว อบจ. ต่างหากที่อยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลัก และอยู่ในสายตารัฐบาลมากกว่าชนิดเทียบกันไม่ติด

อีกทั้งด้วยข้อจำกัดของข้อมูล ซึ่ง กกต. ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดว่าระหว่างเทศบาลทั้ง 3 ประเภทคือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกันอย่างไร แต่ถึงกระนั้นเชื่อว่าตัวเลขสัดส่วนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเทศบาลตำบลต้องสูงกว่าเทศบาลเมืองและนครเป็นแน่ ด้วยสภาพความเป็นเมืองและวิถีชีวิตของผู้คน ดูง่ายๆ จากเทศบาลนครแห่งใหญ่ๆ ของประเทศ (ที่ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลสูงสุด 5 อันดับแรก) ได้แก่ เทศบาลนครนนทบุรี มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 37.19 เทศบาลนครขอนแก่น ร้อยละ 47.97 เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ร้อยละ 67.09 เทศบาลนครอุดรธานี ร้อยละ 54.00 และเทศบาลนครหาดใหญ่ ร้อยละ 65.51 ซึ่งล้วนแต่มีเปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบทั้งสิ้น แน่นอนเมื่อการเลือกตั้ง อบต. มาถึง (ดูแนวโน้มแล้วคงมีอันต้องเลื่อนไปจากกำหนดเดิมช่วงเดือนมิถุนายน) ข้อสันนิษฐานนี้จะยิ่งปรากฏชัด ด้วยตัวเลขที่อาจสูงถึงร้อยละ 80

เปรียบเทียบการใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรี 28 มีนาคม 2564 กับการใช้สิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 20 ธันวาคม 2563

หากพิจารณาสถิติโดยรวมของ 5 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงสุดกับ 5 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิต่ำสุด แม้กลุ่มแรกไม่ได้มีจุดร่วมที่เด่นชัดนัก แต่ก็มองได้ว่าเป็นจังหวัดเล็ก ส่วนกลุ่มหลังชัดเจนมากว่ามีลักษณะของเมืองใหญ่ ผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น มีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เศรษฐกิจค่อนข้างดี จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด (GPP) แถวหน้าของประเทศ


จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีสูงที่สุด 5 อันดับแรก และ 5 อันดับสุดท้ายของประเทศ

การเปลี่ยนแปลงคือสัจธรรม

‘ประเสริฐ’ โค่นแชมป์เก่าหลายสมัย คว้าเก้าอี้นายกเล็กนครแม่สอด (บ้านเมือง)

‘ไพร พัฒโน’ พ่ายเลือกตั้งหาดใหญ่ ‘ณรงค์ชัย’ จ่อแชมป์สมัย 3 (แนวหน้า)

กระแสเปลี่ยนมาแรง! อดีต ผกก. เมืองกระบี่ล้มแชมป์เก่า 8 สมัยขึ้นนั่งนายกเล็ก (แนวหน้า)

กลุ่มเพื่อนเนวินแพ้เลือกตั้งเทศบาลเมือง ตระกูลชิดชอบสอบตกท้องถิ่นครั้งแรก (มติชนออนไลน์)

จับตาซุ้มมือปืนเมืองกาญจน์ หลังผลเลือกตั้งเทศบาลนายกเก่าถูกโค่นแชมป์กว่า 30 แห่ง (ผู้จัดการออนไลน์)

ชิงนายกเล็กเมืองชัยภูมิแชมป์เก่าหลายสมัยตระกูลดังหลายพันล้านสาย พท.พ่ายยับ! (77 ข่าวเด็ด)

ล้มแชมป์ระยอง หน้าใหม่ยึดนายกเล็ก ‘นครระยอง-ปลวกแดง’ (ฐานเศรษฐกิจ)

ล็อกถล่ม ตระกูล ‘อังกินันทน์’ แชมป์ผูกขาดนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี 50 ปี ถูกโค่น (สยามรัฐ)

ลูกชาย ‘บิ๊กแจ๊ด’ คว่ำแชมป์เก่า คว้าเก้าอี้นายกเล็กนครรังสิต เฉือนชนะแค่ 5 คะแนน (ข่าวสด)

เลือกตั้งเทศบาลชายแดนใต้ ปัตตานี-นราฯ แชมป์เก่าพ่าย – ยะลา ‘นายกอ๋า’ คว้าชัย (สำนักข่าวอิศรา)

เลือกตั้งเทศบาลนครอ้อมน้อยพลิกโผ อดีต ส.ส. ล้มแชมป์เก่าผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ (คมชัดลึก)

เลือกตั้งนายกป่าตอง-นครภูเก็ต-ฉลอง แชมป์เก่าถูกโค่น (ผู้จัดการออนไลน์)

ข้างต้นเป็นตัวอย่างพาดหัวข่าวเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งเทศบาล (ช่วงวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2564) ที่หาเจอในกูเกิล คีย์เวิร์ดที่หนังสือพิมพ์หลายหัวเลือกใช้เหมือนกันคือคำว่า ‘แชมป์เก่า’ ในทิศทางซึ่งตอกย้ำความพ่ายแพ้ของอดีตนายกเทศมนตรี ตระกูลการเมืองเก่าแก่ ตลอดจนพรรคการเมืองหรือกลุ่มที่อยู่เบื้องหลัง แน่นอนว่าเป็นมุมมองของสื่อที่หยิบจับเอามาเล่นเป็นประเด็น ซึ่งอาจไม่ใช่ภาพแทนผลการเลือกตั้งทั้งหมดก็ได้ แต่ชวนให้ขบคิดต่อ

จนในที่สุดจึงได้มาเห็นรายงานสรุปของทาง กกต. ระบุว่าในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 มีนายกเทศมนตรี ‘คนใหม่’ ชนะ 1,662 คน นายกเทศมนตรี ‘คนเก่า’ ชนะ 807 คน คิดเป็นร้อยละ 67.31 ต่อ 32.69 แม้ยังไม่ถึง 70% ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่สูง อย่างน้อยๆ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 58 ต่อ 42 (คนเดิม 44 คนกับคนใหม่ 32 คน) ยืนยันความเชื่อที่ผมมีมาตลอดว่าการเมืองท้องถิ่นมีพลวัตสูง ความเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทั้งกรณีผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ การผูกขาดตำแหน่งย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ามีนายกฯ คนเดิมจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจวางมือทางการเมือง โดยไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน เช่น นายชัย สุวพันธุ์ นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทองมาถึง 9 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2517-2563 รวมระยะเวลา 46 ปี (ก่อนจากไปด้วยวัย 76 ปี) นายประกาศิต ยูวะเวส นายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร 7 สมัย มากกว่า 30 ปี ถึงกระนั้น นายกฯ คนใหม่ในที่นี้มิใช่นักการเมืองหน้าใหม่หรือคนรุ่นใหม่เสมอไป อาจเป็นทั้งคนในครอบครัว เครือญาติ หรือใกล้ชิดสนิทสนมกับอดีตนายกฯ หรือเป็นนักการเมืองหน้าเก่าจากสนามอื่นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่ง ส.อบจ.

จังหวัดที่มีสัดส่วนนายกเทศมนตรีคนใหม่สูงที่สุด 5 อันดับแรก และ 5 อันดับสุดท้ายของประเทศ[1]

*หมายเหตุ: ยังขาดอีก 2 แห่งที่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ และอีก 1 แห่งที่ยังไม่ประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง

เมื่อไล่เรียงดูรายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีนายกฯ คนใหม่ชนะเลือกตั้งมากที่สุดคือจังหวัดเลย จำนวน 27 คนจาก 29 คน คิดเป็น 93% ขณะที่จังหวัดที่มีนายกฯ คนเก่าชนะเลือกตั้งมากที่สุดคือจังหวัดนนทบุรี จำนวน 17 คนจาก 22 คน คิดเป็น 77% จากตาราง เชื่อว่าปัจจัยแวดล้อมรายภาคน่าจะมีส่วนอย่างมากด้วย เป็นต้นว่าจังหวัดในภาคกลางมีการผูกขาดตำแหน่งสูง จังหวัดทางภาคอีสานมีการผูกขาดทางการเมืองต่ำ นี่เป็นเรื่องที่คงจะต้องศึกษาแบบลงลึกต่อไปเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ผมมีสมมติฐานว่ายิ่งคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากๆ โอกาสของนักการเมืองคนเก่าๆ ก็ยิ่งน้อยลง ผมเลยลองเอา 5 จังหวัดปริมณฑลรายล้อม กทม. (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรปราการ) ที่ประเมินแล้วว่าน่าจะมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำมาเจาะจงดู ปรากฏว่าสัดส่วนคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเทศบาลของจังหวัดกลุ่มนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบทุกจังหวัด (ยกเว้นนครปฐม) และก็เป็นจังหวัดกลุ่มนี้แหละที่สัดส่วนนายกฯ คนเดิมได้รับการเลือกตั้งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศทั้งหมด ยิ่งพิจารณาข้อมูลของนนทบุรีกับนครปฐมเปรียบเทียบกันยิ่งเห็นได้ชัด

นนทบุรี – คนออกไปใช้สิทธิ 45.83% คนเดิมได้ 77.27% คนใหม่ได้ 22.73%

นครปฐม – คนออกไปใช้สิทธิ 67.49% คนใหม่ได้ 65.38% คนเดิมได้ 34.62%

โดยกรณีจังหวัดนนทบุรีนั้น ไม่มีผู้สมัครที่เป็นอดีตนายกเทศมนตรีคนใดต้องประสบกับความพ่ายแพ้แม้แต่คนเดียว[2]


พลังนักศึกษาล้มเลือกตั้ง   

การเลือกตั้งหนนี้ยังไม่สิ้นสุด ส่วนหนึ่งต้องเฝ้ารอ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และยังมีเทศบาลอีก 5 แห่งต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยที่ 2 ใน 5 แห่งนี้มีจุดร่วมอันน่าสนใจอย่างยิ่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย กับเทศบาลตำบลขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ตามลำดับ

เหตุที่ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่เฉพาะในส่วนของ ส.ท. ในบางเขต เนื่องจากไม่มีผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้งครบตามจำนวน เพราะได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด (มาตรา 110 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562) โดยผู้สมัครคนเดิมไม่มีสิทธิจะลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ซึ่งกฎหมายฉบับเดิมไม่เคยกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ (มาตรา 101 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545) อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของทั้งสองแห่งไม่ประสบปัญหาเดียวกัน เพราะได้ฐานคะแนนจากอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งเข้ามาช่วย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลท่าสุด เขต 1 มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 11 หน่วย เป็นหน่วยที่ตั้งอยู่ใน มฟล. 6 หน่วย แม้แต่คนที่ได้คะแนนมากที่สุดยังทำได้เพียง 483 คะแนน สู้คะแนนไม่ประสงค์จะเลือกใครที่มี 598 คะแนนไม่ได้ จึงไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับเลือกตั้ง ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทั้ง 6 ที่นั่ง โดยผู้สมัครคนเดิมทั้ง 27 คนไม่สามารถลงสมัครได้อีก

การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลขามเรียง เขต 1 มีหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 16 หน่วย เป็นหน่วยที่ตั้งอยู่ใน มมส. 14 หน่วย ปรากฏว่ามีบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนมากถึง 1,254 ใบ ทว่ามีผู้สมัครหมายเลข 3 เพียงคนเดียวที่ได้มากกว่าคือ 1,387 คะแนน จึงต้องจัดเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้ได้ ส.ท. ในจำนวนที่เหลืออีก 5 คน โดยที่ 11 ผู้สมัครรายเดิมไม่สามารถลงเลือกตั้งในครั้งใหม่ได้

อนึ่ง การย้ายชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัยขึ้นกับนโยบายของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง บางแห่งบังคับให้ย้าย บางแห่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจ บางแห่งไม่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ล้วนส่งผลต่อการเลือกตั้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในกรณีที่บังคับให้ย้าย ฐานเสียงในมหาวิทยาลัยย่อมทวีความสำคัญขึ้นมาถึงขั้นที่สามารถชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้ ปัญหาคือนักศึกษาไม่ได้มีความผูกพันกับพื้นที่มาก่อนจึงไม่รู้จักผู้สมัคร และไม่ได้พึ่งพาบริการสาธารณะของเทศบาลมากมายนัก (ภายในมหาวิทยาลัยมีรองรับแทบทุกด้าน) ความใส่ใจในการเมืองท้องถิ่นค่อนข้างน้อย (ไม่อินเหมือนการเมืองระดับชาติ) ผู้สมัครเองก็เข้าไม่ถึงนักศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยดำรงอยู่อย่างแปลกแยกออกจากชุมชน แนวโน้มที่จะไปใช้สิทธิ แต่กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนจึงมีสูง ตรงกันข้าม หากไม่มีการย้ายเข้ามา เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง นักศึกษาต้องกลับไปเลือกที่ภูมิลำเนาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งก็เป็นไปได้มากว่าไม่สามารถกลับไปใช้สิทธิได้ เนื่องจากภาระด้านการเรียน การสอบ ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ และการเดินทาง กลายเป็นเสียงที่สูญเปล่าในบ้านของเขาและเธอเอง


ความรุนแรงแพ้พ่าย

ยากปฏิเสธว่าความรุนแรงที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นปัญหาที่ถูกนำมาใช้ลดทอนบทบาทของการปกครองท้องถิ่นมาโดยตลอด แต่จากการเลือกตั้ง อบจ. และเทศบาลที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะแทบไม่ปรากฏข่าวข่มขู่-ลอบยิง-ฆ่าแกงกันเลย ไม่ว่าผู้สมัครหรือหัวคะแนน เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในอดีต ซึ่งมีข่าวขึ้นหน้าหนึ่งนับแล้วหลายสิบข่าวในแต่ละปี ครั้งนี้ยังพบเพียงคดีเดียวเท่านั้นที่ จ.ราชบุรี

คดีนี้เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 1 มีนาคม 2564 ในงานศพภายในศาลาวัดท่ามะขาม อ.โพธาราม ซึ่งนางวราพร เนียมรักษา (ครูนงค์) ผู้สมัครนายกเทศมนตรีตำบลดอนทราย หมายเลข 2 ถูกยิงเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บรวม 5 คน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่านายวันชาติ เนียมรักษา อดีตกำนัน ต.ดอนทราย และ ส.อบจ.ราชบุรี อ.โพธาราม เขต 3 ซึ่งเป็นญาตินามสกุลเดียวกัน มีศักดิ์เป็นน้องชายของสามีนางวราพร ตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุ เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องการเมืองท้องถิ่น ทั้งจากกรณีการเลือกตั้งเทศบาล เพราะผู้สมัครหมายเลข 1 นางจิตรลดา เนียมรักษา อดีตนายกฯ ก็เป็นภรรยาของนายวันชาตินั่นเอง นางวราพรจึงมีฐานะเป็นคู่แข่งคนสำคัญ รวมถึงการเลือกกำนัน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านที่นางวราพรให้การสนับสนุนได้รับเลือก แทนที่จะเป็นลูกสาวของนายวันชาติ[3]

ข่าวนี้สะท้อนว่าความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นไม่ได้มีสาเหตุเชิงเดี่ยว แต่ประกอบไปด้วยหลายข้อขัดแย้งที่สั่งสมมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนนำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตคู่กรณีในที่สุด

การเลือกตั้งที่มีขึ้นตามมาจึงเหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวคือ นางจิตรลดา ผลปรากฏว่าเธอได้คะแนนไป 1,519 คะแนน น้อยกว่าผลคะแนนโหวตโนที่มากถึง 2,862 คะแนน ตอกย้ำทฤษฎีที่ว่า ในการเมืองท้องถิ่นที่เกิดความรุนแรง ประชาชนมักปฏิเสธนักการเมืองที่ข้องเกี่ยวกับความรุนแรงผ่านการเลือกตั้ง แม้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจเอื้อมมือถึงก็ตาม[4] นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งบุตรสาวของผู้เสียชีวิตตัดสินใจลงสมัครด้วยตัวเอง[5] โดยที่นางจิตรลดาไม่มีสิทธิจะลงสมัครแข่งอีก


วาทกรรมการซื้อเสียง

หนึ่งสัปดาห์ภายหลังการเลือกตั้ง ผมมีโอกาสสนทนากลุ่มกับผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกฯ และ ส.ท. ของหลายๆ เทศบาลทางภาคเหนือ เจอทั้งคนที่แพ้ให้แก่คู่แข่งที่แจกเงิน คนที่ไม่ซื้อเสียงแต่ชนะ และคนที่จ่ายแต่ก็ยังแพ้ พอจะประมวลเป็นข้อสรุปอิงตามกลุ่มคนผู้ให้ข้อมูลคร่าวๆ คือ

คนกลุ่มแรกไม่ได้โทษชาวบ้านที่รับเงินแล้วก็ยังไปกาให้เขา แต่เสียดายที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากไม่ได้กลับบ้านเพื่อมาเลือกตั้ง (เหมือนตอน ส.ส. หรือ อบจ.) ซึ่งหวังให้คนกลุ่มนี้แหละที่จะพลิกผลการเลือกตั้ง ผู้สมัครนายกฯ คนหนึ่งเล่า คนที่เขาชนะต้อง ‘ยิง’ (ศัพท์แสลงของคำว่าซื้อเสียง) หลายรอบ รอบแรกยิงเพื่อให้เลือกยกทีม พอช่วงใกล้ๆ เลือกตั้งเปลี่ยนมายิงโดดเพื่อให้เลือกแต่ตัวนายกฯ คิดว่าแห่งอื่นก็คงมีลักษณะคล้ายๆ กัน

คำบอกเล่าที่ฟังจากหลายต่อหลายคนนอกวงวันนั้นก็ยืนยันว่ามีเรื่องของการซื้อเสียงจริงในหลายพื้นที่ แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเทศบาลใหญ่ระดับนครหรือเมืองซึ่งมีวงงบประมาณแต่ละปีๆ มหาศาล เงินที่ใช้ซื้อเสียงย่อมสูง ยืนพื้นอยู่ที่หลักพันต่อหัว ขณะที่เทศบาลตำบลโดยทั่วไปตัวเลขอยู่ที่ 500 บาท บางเทศบาลที่มีการแข่งขันเข้มข้นก็มีการแข่งกันซื้อเสียงดุเดือดตามไปด้วย ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของบางพรรคการเมือง การซื้อเสียงดำเนินการได้เพียงฝั่งเดียว เฉพาะผู้สมัครที่อยู่ฟากรัฐบาล ขณะที่กลุ่มอื่นไม่พ้นถูกจับจ้องโดยอำนาจรัฐไม่ให้กระดิกตัว ผู้สมัครบางคนจ่ายให้แต่หัวคะแนน ไม่แจกเงินผู้มีสิทธิทั่วๆ ไป เป็นไปเพื่อการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีมา มากกว่าจะเป็นการซื้อเสียงโดยตรง เพราะเจาะจงแจกกลุ่มคนที่ถึงอย่างไรเขาก็เลือกอยู่แล้ว ผู้สมัครบางคนแทบไม่เคยออกเดินหาเสียง แต่เอาชนะได้ด้วยการทุ่มซื้อเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย ส่วนหนึ่งเพราะอีกฝ่ายชะล่าใจไม่ยอมจ่ายแข่ง เป็นต้น

คนกลุ่มที่สองเห็นว่าการลงพื้นที่พูดคุยกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องมีส่วนต่อคะแนนที่ได้รับมา ประกอบกับทีมคู่แข่งซื้อเสียงได้ไม่ครอบคลุมทั่วถึง บางคนได้ บางคนไม่ได้ กระแสจึงตีกลับ ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาเลือกกลุ่มตน ทั้งที่ส่วนหนึ่งก็รับเงินจากทีมคู่แข่งไปแล้ว ยิ่งกว่านั้น ความเบื่อหน่ายต่อการบริหารงานของคนเก่า (โดยเฉพาะในช่วงที่ปราศจากการเลือกตั้งสมัยรัฐบาล คสช.) การตั้งหน้าตั้งตากลับบ้านเพื่อมาเลือกตั้งของคนที่ย้ายไปอยู่กินต่างถิ่นในปริมาณที่มากพอ ซึ่งมักเป็นคนรุ่นใหม่ในวัยเรียน-ทำงาน (ช่วงอายุ 20-35 ปี) บางส่วนกลับมาเพราะความผูกพันในเชิงชาติพันธุ์เดียวกันกับตัวผู้สมัคร 2-3 ข้อข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนเอื้อเสริมได้ไม่แพ้กัน

คนกลุ่มที่สามซึ่งยอมรับว่าตัวเองก็ซื้อเสียง (ในวงสนทนามีเพียงไม่กี่คน) ผู้สมัคร ส.ท. รายหนึ่งประเมินความพ่ายแพ้ของตนว่าเป็นเพราะยังทุ่มเงินน้อยไป ซื้อจำกัดวง 200 หัว หัวละ 200 บาท และซื้อโดด (ขอให้เลือกแค่เบอร์ของตัวเอง) ขณะที่ทีมคู่แข่งซื้อแบบยกทีม (6 คน) พ่วงนายกฯ 500 หัว หัวละ 500 บาท ทีมนี้น่าจะหมดเงินไปรวมกันไม่ต่ำกว่า 3 ล้าน ขนาดว่าเป็นเทศบาลตำบลเล็กๆ ลงขันกันระหว่างผู้สมัครนายกฯ ว่าที่ทีมบริหารและผู้สมัคร ส.ท.

ทั้งนี้ไม่ว่ากลุ่มใดต่างเห็นคล้ายกันว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ หัวคะแนนที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ซึ่งทำงานใกล้ชิดประชาชน มีขอบเขตดูแลพื้นที่ขนาดเล็กซึ่งแบ่งได้ชัดเจนมาก (1 คนต่อ 10-15 หลังคาเรือน) เฉพาะอย่างยิ่งกับบทบาทที่มีความสำคัญขึ้นมาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หาใช่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชนเหมือนเมื่อครั้งอดีต

ผลการเลือกตั้งเทศบาลรอบนี้ได้ท้าทายไปยังงานวิจัยตั้งเยอะตั้งแยะที่มีออกมาก่อนรัฐประหารในปี 2557 (ซึ่งมุ่งศึกษาการเลือกตั้ง ส.ส.) ยืนยันทำนองเดียวกันว่าการซื้อเสียงไม่ได้มีความหมายแบบในอดีต และเอามาใช้เป็นปัจจัยชี้ขาดผลการเลือกตั้งไม่ได้อีกต่อไป[6] ฤาการซื้อเสียงใช้ไม่ได้ผลกับการเลือกตั้งระดับชาติ แต่ยังคงทำงานได้ดีในการเมืองระดับท้องถิ่น ยังเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

การจ้างผู้ช่วยหาเสียงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนมองตรงกันว่าเอื้อให้เกิดการซื้อเสียงทางอ้อม เพราะกฎหมายไม่ได้จำกัดจำนวนของผู้ช่วยหาเสียง โดยสามารถจ่ายค่าแรงในอัตราขั้นต่ำต่อวันของจังหวัดนั้นๆ ทั้งที่เอาเข้าจริงก็อาจไม่ได้มีการมอบหมายงานการให้ทำอย่างเป็นกิจลักษณะเลยด้วยซ้ำ ถึงแม้นรวมกันแล้วต้องห้ามมิให้เกินวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ กกต. กำหนด แต่ความเป็นจริง สำหรับบางพื้นที่ การจ้างผู้ช่วยหาเสียงเพียงหลักร้อยก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ได้แล้ว


พรรคการเมืองไม่ช่วยอะไร

ไม่มีการเลือกเทศบาลครั้งไหนที่ผู้สมัครพยายามยึดโยงตัวเองเข้ากับพรรคการเมืองมากเท่ากับครั้งนี้ ที่ผ่านมาพบแต่เฉพาะเทศบาลขนาดใหญ่ระดับนครเท่านั้นที่มีพรรคเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับเทศบาลเล็กๆ พรรคมักปล่อยให้เกิดการแข่งขันกันเอง เพื่อมิให้กระทบต่อฐานเสียงของพรรค หากเลือกข้างสนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

พูดด้วยบริบทของหลายๆ จังหวัดในภาคเหนือตอนบน กระแสอยู่ที่พรรคเพื่อไทยเป็นหลัก เพราะในการเลือกตั้งนายก อบจ. ประสบความสำเร็จอย่างมาก[7] รองลงมาคือคณะก้าวหน้า ส่วนพรรคอื่นนอกจากนี้ไม่พบว่ามีในทางอย่างเปิดเผย

กลุ่มแรกเป็นผู้สมัครที่เป็นสมาชิกและได้รับการรับรองจากพรรคเพื่อไทย/คณะก้าวหน้าให้ใช้ตราสัญลักษณ์นำมาหาเสียงได้ โดยมีติดประดับอยู่บนป้ายชัดเจน การขึ้นรูปเคียงคู่กับแกนนำพรรค รวมถึงการเดินทางมาช่วยหาเสียงให้ เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับผู้สมัครอีกกลุ่มที่พยายามหาเสียงอิงพรรค ด้วยการตั้งชื่อกลุ่มให้สอดคล้องกับชื่อพรรค ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เพื่อ…” หรือลงท้ายด้วยคำว่า “…ก้าวหน้า” และเติมชื่อเทศบาลนั้นๆ ลงในช่องว่าง อีกทั้งยังจงใจออกแบบโลโก้และเลือกใช้สีที่คล้ายคลึงกับของพรรค แต่ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคแต่อย่างใด

ปรากฏการณ์แปลกใหม่ในการเลือกตั้งเทศบาลหลายแห่งของ จ.เชียงใหม่ หนนี้คือ ผู้สมัครกลุ่มแรกไม่น้อยเพิ่งจะเอาโลโก้พรรคเพื่อไทยติดเติมลงไปบนป้ายหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อบอกว่าตนเป็นเพื่อไทยแท้ๆ เนื่องจากประเมินแล้วคะแนนยังตามหลังคู่แข่งอยู่จึงต้องอาศัยกลยุทธ์เช่นนี้ เพราะเชื่อว่าเพื่อไทยยังขายได้ หวังกระแสพรรคช่วยดึงคะแนนแบบที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วเมื่อตอนเลือกตั้ง อบจ.

ผลเลือกตั้งของเชียงใหม่สะท้อนว่า ความเป็นเพื่อไทยใช้ได้ผลน้อยมาก มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยสามารถล้มคู่แข่ง (ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายกฯ) ลงได้ ขณะที่ผู้สมัครซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าใกล้ชิดกับพรรค แต่ไม่ขอใช้โลโก้พรรคกลับเอาชนะได้เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันกระแสของคณะก้าวหน้าก็ยังไม่แรงแบบที่คิด โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครซึ่งเป็นพื้นที่ความหวังจากผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ผ่านมาในปี 2562


ปรับปรุงระบบเลือกตั้ง

ดังเช่นที่เคยอธิบายไว้ในตอนก่อน[8] การเลือกตั้งเทศบาลในส่วนของสมาชิกสภาเทศบาลใช้ระบบที่เรียกว่า Block Vote เขตหนึ่งมีสมาชิกได้ 6 คน ไม่เหมือนกับ ส.อบจ. และ ส.อบจ. ที่ใช้แบบเขตเดียวคนเดียว บีบให้ต้องรวมกลุ่มกันฟอร์มทีมลงสมัคร ทั้งเพื่อจะได้ช่วยกันหาเสียง และลดค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล กอปรกับพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนที่นิยมเลือกยกกลุ่ม ทำให้โอกาสของผู้สมัครอิสระมีน้อย การนำระบบเขตเดียวคนเดียวมาใช้จะทำให้พื้นที่หาเสียงและพื้นที่ดูแลเล็กลง เกิดความชัดเจนว่าในเขตนั้นๆ มี ส.ท. คนใดทำหน้าที่เป็นตัวแทน และช่วยให้กลไกการตรวจสอบโดยสภาทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่ในส่วนของการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี บางแห่งพบว่าผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งได้สัดส่วนคะแนนที่น้อยมาก เช่น เทศบาลนครลำปาง ผู้สมัครที่ชนะได้คะแนน 6,362 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเท่านั้น ในด้านหนึ่งก่อให้เกิดคำถามต่อความชอบธรรมของนายกฯ ได้ว่าขาดความเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นแถบอเมริกาใต้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการนำเอาระบบการเลือกตั้งแบบสองรอบ (Two-round System) มาใช้ ซึ่งมีข้อเสียคือทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณ

ภายใต้กติกาปัจจุบัน กรณีเดียวที่กฎหมายกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำเอาไว้ก็คือ กรณีที่มีผู้สมัครนายกเทศมนตรีเพียงคนเดียว หรือมีผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล 6 คนหรือน้อยกว่านั้น ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และก็ต้องมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดอีกด้วย (มาตรา 111 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562) ซึ่งมีเทศบาลแห่งเดียวที่เข้าข่ายต้องจัดให้มีเลือกตั้งนายกเทศมนตรีใหม่ (ตามมาตรานี้) เนื่องจากไม่ผ่านเงื่อนไขท่อนหลัง นั่นคือ เทศบาลตำบลหนองขาหย่าง อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี ในฐานะเทศบาลเล็กที่สุดของประเทศในแง่จำนวนประชากรที่มีทั้งหมดประมาณ 600 คน (จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยกว่านี้อีก)


สิทธิการเลือกตั้งข้ามถิ่น

การรณรงค์เพื่อให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นในเชิงบังคับว่าเป็นเหตุทำให้ต้องเสียสิทธิ 6 ประการเป็นเวลา 2 ปี ไม่ได้กระตุ้นให้คนพากันออกไปเลือกตั้งเพิ่มขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง เราควรผลักดันให้มีแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนยิ่งขึ้น ทำให้การเข้าถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเป็นไปโดยง่าย อย่างน้อยก็เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง ช่วยให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าพลังเสียงของตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นได้จริงๆ

ตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา นักศึกษาที่ย้ายไปร่ำเรียนอยู่ต่างถิ่นเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีถึง 17 ล้านคน โดยทั่วไป (เพราะกฎหมายของแต่ละมลรัฐไม่เหมือนกันเสียทีเดียว) นักศึกษามี 2 ทางเลือกคือ หนึ่ง ลงทะเบียนเพื่อโหวตกับรัฐภูมิลำเนาเดิม และใช้สิทธิออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือ สอง ลงทะเบียนเพื่อโหวตในรัฐที่กำลังศึกษาอยู่ โดยไปใช้สิทธิด้วยตัวเองในวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งเท่านั้น (ห้ามมิให้ใช้สิทธิมากกว่า 1 แห่งในคราวเดียว) รายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ เช่นมี 17 มลรัฐระบุว่าต้องอาศัยอยู่ในรัฐที่ลงทะเบียนใช้สิทธิมาไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง เป็นต้น

ยังมิพักเอ่ยถึงการพัฒนาระบบการเลือกตั้งออนไลน์ (I-voting) ในฐานะช่องทางใหม่ของวิธีการเลือกตั้ง เหมือนกับที่ทาง กกต. จัดทำระบบการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านมา


[1] ที่มา: สำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 2 (ข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2564)

[2] เปิดรายชื่อแชมป์เลือกตั้ง 22 นายกเทศมนตรี นนทบุรี คนเก่าไม่มีร่วง, มติชนออนไลน์ (29 มีนาคม 2564), จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2647658

[3] ศึกคนกันเอง ‘ดอนทราย’ วิปโยค, คมชัดลึก (3 มีนาคม 2564), จาก https://www.komchadluek.net/news/scoop/460009

[4] ดู การลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นไทย: ทศวรรษแห่งการการกระจายอำนาจ (พ.ศ. 2543-2552), Kyoto Review of Southeast Asia, Issue 21 (March 2017), จาก https://kyotoreview.org/thai/assassination-thai-local-politics-th/

[5] ลูกสาวครูนงค์ ลงสมัครนายกเทศมนตรีดอนทราย หลังแม่ถูกยิงตาย, ไทยรัฐออนไลน์ (20 เมษายน 2564), จาก https://www.thairath.co.th/news/local/central/2073176

[6] อาทิ คำชี้แจงของสิริพรรณ นกสวน กรณีโซเชียลมีเดียแชร์งานวิจัยการเลือกตั้ง 2554, ประชาไท (22 ธันวาคม 2556), จาก https://prachatai.com/journal/2013/12/50586; ปิดฉากวาทกรรมซื้อเสียง ผลวิจัยฟันธง ซื้อเสียงจูงใจคนได้เพียง 4.5%, ประชาไท (21 สิงหาคม 2555), จาก https://prachatai.com/journal/2012/08/42190

[7] ดู การเลือกตั้ง อบจ.’63 บอกอะไรเรา, the101.world (30 ธันวาคม 2563), จาก https://www.the101.world/after-the-provincial-election-63/

[8] ดู เทศบาล: ประวัติศาสตร์ที่ท้องถิ่นต้องเป็นคนเขียน, the101.world (8 มีนาคม 2564), จาก https://www.the101.world/municipality/

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save