fbpx
การเลือกตั้ง อบจ.63 บอกอะไรเรา

การเลือกตั้ง อบจ.’63 บอกอะไรเรา

ณัฐกร วิทิตานนท์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อ 20 ธันวาคม 2563 ทำให้ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นในสังคมไทยได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง นับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ายึดอำนาจ และสั่งยุติไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นกินระยะเวลายาวนานกว่า 6 ปี แต่สำหรับ อบจ. ส่วนใหญ่แล้วปลอดจากการเลือกตั้งนานกว่านั้นมากถึง 8 ปีเต็ม

 

ระบายความอัดอั้น

 

จำนวนผู้สมัครในตำแหน่งนายก อบจ. ใช้สะท้อนความตื่นตัวต่อการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ได้ดี หลายจังหวัดมีคนลงสมัครมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในภาพรวม ผู้สมัครนายก อบจ. มีจำนวน 335 คนใน 76 จังหวัด เทียบกับการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยตรงครั้งแรกเมื่อปี 2547 ครั้งนั้นมีผู้สมัคร 314 คนจากการเลือกตั้งใน 74 จังหวัด (ยกเว้นบุรีรัมย์จังหวัดเดียว) ขณะที่จำนวนผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ. คราวนี้ก็มากถึง 8,186 คน ก่อนที่ต่อมาผู้สมัครบางส่วนจะถูก กกต. ตัดสิทธิเพราะตรวจพบว่าขาดคุณสมบัติ แยกเป็นผู้สมัครนายก อบจ. 3 คน และ ส.อบจ. อีก 116 คน

บรรยากาศที่ถนนสองข้างทางตลอดจนเสาไฟฟ้าเต็มไปด้วยป้ายหาเสียง (คู่ขนานไปกับการหาเสียงในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่เลือกใช้ช่องทางนี้) เป็นภาพที่ชินตาคนทั่วประเทศตลอด 1 เดือนเศษที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่กับที่กรุงเทพมหานคร คนกรุงเทพฯ อาจมีหลายสิ่งอย่างที่คนต่างจังหวัดไม่มีวันได้มี แต่ตอนนี้สิ่งหนึ่งที่คนต่างจังหวัดมีแล้ว แต่คนกรุงเทพฯ ยังไม่มี คือโอกาสเลือกผู้บริหารท้องถิ่นด้วยตัวเอง ซึ่งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้เลือกกันเมื่อใดแน่

วงเสวนาวิชาการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ. ในแต่ละจังหวัด และเวทีประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครในตำแหน่งนายก อบจ. (ที่บางคนมักเรียกว่าดีเบต) ถูกจัดขึ้นอย่างคึกคัก บางเวทีตั้งใจจัดขึ้นเพื่อให้ผู้สมัครมารับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มตน เอาไปทำเป็นนโยบายถ้าหากได้รับการเลือกตั้งเข้าไป พบทั้งที่จัดโดยสถาบันการศึกษา สื่อมวลชนระดับชาติและท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน อย่างหอการค้า สภาอุตสาหกรรม กระทั่งกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา

จากการแถลงของ กกต. จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ทั้งประเทศหนนี้คิดเป็น 62.25% ต่ำกว่าเมื่อปี 2547 เล็กน้อยเพียงจุดทศนิยมแค่นั้น ทั้งที่บรรยากาศทางการเมืองระดับชาติในปีนี้ไม่ได้เปิดกว้าง สถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้อ แถมยังต้องมาเจอข่าวการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในคืนก่อนการเลือกตั้งพอดี ประกอบกับวันเลือกตั้งซึ่งถูกกำหนดลงมาเหมือนไม่อยากให้คนกลับบ้านไปเลือกตั้งกันเยอะๆ ตรงนี้ กกต. เอง (กับรัฐบาล) ต้องรับไปเต็มๆ

ส่วนเรื่องที่ไม่มีการอำนวยความสะดวกโดยจัดเลือกตั้งล่วงหน้าและให้มีเลือกตั้งนอกเขต รวมถึงตัดสิทธิคนย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัดมายังไม่ถึง 1 ปีนั้น อันนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามถึง สนช. ที่ออกกฎหมายแบบนี้ออกมา แต่เพียงแค่นี้ก็แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนที่ได้ระบายความรู้สึกออกมาในรูปแบบของการไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง บางจังหวัดที่มีการแข่งขันเข้มข้น เช่นที่เชียงใหม่ สถิติพุ่งจากเดิมที่เคยอยู่ระดับกว่า 60% ไปเป็นกว่า 70% ได้ ว่ากันว่าเป็นผลจากวิดีโอคลิปออดอ้อนขอคะแนนเสียงของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งไปช่วยกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

 

เบี่ยงเบนกระแส

 

ตลอดช่วงเวลาของการรณรงค์หาเสียง การเลือกตั้ง อบจ. ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมออกจากรัฐบาลและปัญหาการเมืองระดับชาติได้ หลายเรื่องเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลต้องทำ แต่คนหันมาพุ่งเป้าเรียกร้องให้ อบจ. แก้ไขให้ได้แทน เช่น เศรษฐกิจย่ำแย่-การท่องเที่ยวซบเซา ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19, ฝุ่นควัน PM2.5, ปัญหาป่าไม้-ที่ดินทำกิน, ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น ด้วยความรับรู้อันจำกัดเกี่ยวกับบทบาทของการปกครองท้องถิ่นไทย สังคมจึงตั้งความหวังกับ อบจ. เกินกว่าความเป็นจริงที่ อบจ. สามารถปฏิบัติได้

 

พรรคการเมืองกับการเลือกตั้ง อบจ.

 

การเลือกตั้งนายก อบจ. ในปี 2547 จากฐานข้อมูลที่สรุปโดยสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่ามีผู้สมัครในตำแหน่งนายก อบจ. ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองคิดเป็น 43% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด[1] เทียบกับปี 2563 จากข้อมูลของ Rocket Media Lab บริษัทที่ทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน พบว่ามีมากถึง 68% จากผู้สมัครทั้งหมด[2] เพิ่มขึ้นถึง 25% เลยทีเดียว

แต่นั่นไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากยึดข้อมูลที่เป็นทางการแล้วมีเพียง 3 พรรคเท่านั้นที่ประกาศรับรองผู้สมัครนายก อบจ. ในนามพรรค ปีกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ คณะก้าวหน้า 42 คน (จากทีแรกเคยแถลงข่าวเปิดตัว 32 ผู้สมัครไปแล้ว และต่อมาก่อนเลือกตั้งเพิ่มเป็น 41 คน) พรรคเพื่อไทย 25 คน (ลดลงจากที่เคยแถลงว่าจะส่ง 29 จังหวัด จังหวัดที่เปลี่ยนใจไม่ส่งคือ พิษณุโลก ปทุมธานี ชัยนาท สงขลา และสตูล และเพิ่มเติมจังหวัดแพร่) ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลก็มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จำนวน 2 คน (สงขลากับสตูล) พรรคการเมืองอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มีนโยบายส่งผู้ลงสมัคร อบจ. ในนามพรรคแต่อย่างใด บางพรรคถึงขั้นห้ามใช้โลโก้พรรคในการหาเสียงอย่างเด็ดขาด ด้วยเกรงว่าอาจสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ห้ามข้าราชการการเมือง ตลอดจน ส.ส. กระทำการใดๆ ที่เป็นคุณหรือโทษต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่ กกต. ย้ำมิให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวช่วยผู้สมัครหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย

สีสันบนเวทีปราศรัยที่หายไป คงเหลือแต่แกนนำพรรคที่ไม่มีตำแหน่ง ส.ส. มาช่วยหาเสียง แตกต่างกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2555 ที่แม้แต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรียังขึ้นเวทีช่วยผู้สมัครบางคนได้ ภาพคนมาฟังปราศรัยเรือนหมื่นจึงไม่ค่อยมีให้เห็นเหมือนเคย

อย่างไรก็ดี สำหรับตำแหน่งสมาชิกสภา อบจ. มีเพียงคณะก้าวหน้าเพียงกลุ่มเดียวที่ประกาศส่งผู้สมัครในนามกลุ่มลงชิงชัยมากถึง 1,001 คน แตกต่างกับพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีนโยบายส่งผู้สมัคร ส.อบจ. ในนามพรรค แต่อนุญาตสมาชิกพรรคที่ลงสมัครให้ใช้โลโก้หาเสียงได้ เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์

ถึงกระนั้น เมื่อพิจารณาการตั้งชื่อกลุ่มของผู้สมัครในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จุดที่น่าสนใจคือความพยายามที่จะเอาตัวเองยึดโยงเข้ากับพรรคอนาคตใหม่ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไปแล้ว รวมถึงพรรคก้าวไกลกับคณะก้าวหน้าที่ถือเป็นสองปีกของพรรคอนาคตใหม่เดิมในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ก็ไม่ใช่ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าแต่อย่างใด โดยการตั้งชื่อกลุ่มที่มีคำว่า ‘ก้าว’ อยู่ด้วย เช่น กลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่ กลุ่มก้าวหน้าเพราะต่อเนื่อง (แม่ฮ่องสอน) ทีมเพื่ออนาคตขอนแก่นก้าวหน้า ยังไม่พูดถึงการออกแบบป้ายที่จงใจใช้สีส้ม (คล้ายการเลือกตั้งในปี 2555 ซึ่งสีแดงเป็นสีที่ถูกนำมาใช้มากเป็นพิเศษ) หรือคำขวัญก็หนีไม่พ้นต้องมีคำเหล่านี้อยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ก้าว อนาคต และคนรุ่นใหม่ ป้ายของผู้สมัครบางส่วนพยายามผูกตัวเองเข้ากับกระแสการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย บางคนถึงขนาดใช้คำว่า “ไม่เอาเผด็จการ” ก็มี

ในทางตรงข้าม พบน้อยมากที่ตั้งชื่อกลุ่มโดยอิงพรรคพลังประชารัฐ เช่น กลุ่มประชารัฐเชียงใหม่ ทีมสงขลาประชารัฐ ทีมนครประชารัฐ (นครศรีธรรมราช) บ่งชี้ว่าเอาพรรคพลังประชารัฐมาใช้เป็นจุดขายได้ยาก เพราะกลุ่มเหล่านี้ล้วนประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งสิ้น

 

การเมืองใหญ่สะท้อนภาพการเมืองเล็ก

 

ทฤษฎีที่ผมนำมาใช้วิเคราะห์ว่าผู้สมัครรายใดจะชนะ นั่นคือดูว่าผลการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อครั้งที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2562) เป็นอย่างไร ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ในครั้งนี้ก็น่าจะสอดคล้องกัน ด้วยสมมติฐานว่าคนส่วนใหญ่เลือกอิงพรรค และการเลือกตั้งใหญ่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ถือเป็นวิธีประเมินอย่างง่ายๆ ซึ่งเอาเข้าจริงยังมีปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอีกมากตามแต่บริบทของพื้นที่

ผลลัพธ์ภาพรวมทั้งประเทศค่อนข้างยืนยันเช่นนั้น หากยึดข้อมูลเชิงสันนิษฐานที่ทาง Rocket Media Lab พยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครนายก อบจ. กับพรรคการเมือง พบว่าผู้สมัครที่ประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ทั้งประเทศ จำแนกเป็นพรรคเพื่อไทย จำนวน 20 คน ชนะทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง (โดยผู้สมัครที่ถูกส่งลงอย่างเป็นทางการแพ้เป็นส่วนใหญ่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง) รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ 18 คน กระจายอยู่เกือบครบทุกภาค (ยกเว้นเฉพาะภาคใต้) ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ภาคใดภาคหนึ่งเฉกเช่นพรรคอื่นที่มักมีฐานที่มั่นสำคัญของตัวเอง พรรคภูมิใจที่ปักธงในแถบอีสาน และพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองพื้นที่ทางภาคใต้มาอย่างยาวนาน สองพรรคนี้ได้นายก อบจ. 15 คน และ 9 คนตามลำดับ โดยผู้สมัครอิสระจริงๆ มีเพียง 5 คนเท่านั้น (น้อยกว่าปี 2547 ที่มีผู้สมัครอิสระได้รับเลือกตั้ง 7 คน)

 

พรรคการเมือง พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย พรรคอื่นๆ ผู้สมัครอิสระ รวม
ภาค
เหนือ 1 7 1 9
ตะวันออกเฉียงเหนือ 4 9 1 6 20
กลาง 7 3 6 4 1 21
ตะวันออก 3 1 1 2 7
ตะวันตก 3 1 1 5
ใต้ 2 6 4 2 14
รวม 18 15 9 20 9 5 76

 

แต่ในรายละเอียดมีความแตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือตอนบน ในการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทยได้ไป 24 ที่นั่งจากทั้งหมด 31 ที่นั่ง ไม่ได้ยกจังหวัดที่พะเยา เชียงราย แพร่ และแม่ฮ่องสอน ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ก็ออกมาใกล้เคียงกัน นั่นคือเพื่อไทยชนะ 5 จังหวัดจาก 8 จังหวัด (แต่ส่งลงจริงๆ แค่ 6 จังหวัด) จังหวัดที่ไม่มีนายก อบจ.เป็นคนในสังกัดพรรคอย่างเป็นทางการคือ พะเยา เชียงราย (แต่ผู้ชนะเลือกตั้งก็เป็นสมาชิกพรรคที่ไม่ถูกทางพรรคส่งลงสมัคร) และแม่ฮ่องสอนเช่นเดียวกัน เมื่อเทียบกับสัดส่วนที่นั่ง ส.ส. ก็ใกล้เคียงกันมากๆ คือ พรรคเพื่อไทยอยู่ที่ 77% กับ 76% พรรคพลังประชารัฐอยู่ที่ 11% กับ 9% (อบจ. ต่อ ส.ส.)

ทว่าในภาคใต้กลับไม่ได้เป็นเช่นนี้ พรรคพลังประชารัฐที่เคยได้ ส.ส. มากถึง 13 คน กลับไม่ชนะเลือกตั้งนายก อบจ. แม้แต่คนเดียว โดยเฉพาะพันเอกสุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็น ผอ.เลือกตั้งภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังสอบตกที่สงขลา โดยที่นั่งส่วนใหญ่ยังเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมาคือพรรคประชาชาติ และพรรคภูมิใจไทย เมื่อเทียบกับสัดส่วนที่นั่ง ส.ส. ค่อนข้างใกล้เคียงพอสมควรคือ พรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ 43% กับ 44% พรรคประชาชาติอยู่ที่ 21% กับ 12% พรรคภูมิใจไทยอยู่ที่ 14% กับ 16% (อบจ. ต่อ ส.ส.) ชวนมองได้ว่าพลังประชารัฐเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจ ไม่ได้มีฐานเสียงที่แน่นอน หากแต่เกิดจากการรวบรวมฐานเสียงของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง

 

เก่าไป ใหม่มา

 

แบบที่ผมมักย้ำกับสื่อที่มาขอสัมภาษณ์ว่า การเมืองท้องถิ่นมีพลวัตสูง ทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้งจะได้คนหน้าใหม่เข้ามาประมาณ 60% หรือเกือบ 2 ใน 3 เสมอ (แม้ส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเก่ามาจากสนามอื่นหรือมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกคนเดิม) ครั้งนี้ก็ใกล้เคียงกัน นั่นคือมีนายก อบจ. สมัยที่ผ่านมาได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้งรวม 32 คน ขณะที่มีนายก อบจ. คนใหม่ จำนวน 44 คน คิดเป็น 58%[3]

อีกทั้งยังสำรวจพบว่ามีอดีตนายก อบจ. ที่ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ถึง 12 คน (จากอดีตนายกทั้งหมดที่ลงเลือกตั้ง 44 คน) ใน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครพนม บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครปฐม ปทุมธานี พิจิตร กาญจนบุรี พังงา สกลนคร สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี ชื่อที่นักข่าวสนใจก็ไม่พ้น บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ (เชียงใหม่) ชาญ พวงเพ็ชร์ (ปทุมธานี) และสมชอบ นิติพจน์ (นครพนม)

อย่างไรก็ดี นายก อบจ. ที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งก็ยังมีมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นายกฯ ที่ผูกขาดตำแหน่งมานานหลายสมัยติดต่อกันที่ล้วนได้รับชัยชนะถ้วนหน้า เช่น สมศักดิ์ กิตติธรกุล นายก อบจ. กระบี่ (เข้าสู่สมัยที่ 7 แบบไร้คู่แข่ง) วิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ. ศรีสะเกษ (ขึ้นสมัยที่ 6) พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายก อบจ. ขอนแก่น (ขึ้นสมัยที่ 6) ซึ่งนับแต่ครั้งนี้ไป นายกเหล่านี้จะดำรงตำแหน่งได้อีกไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน เป็นผลของกฎหมายที่ถูกแก้ไขในปี 2562

ขณะที่นายก อบจ. คนสำคัญหลายคนตัดสินใจวางมือทางการเมือง เช่น กรุณา ชิดชอบ (บุรีรัมย์) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี (นครราชสีมา) นรินทร์ เหล่าอารยะ (น่าน) โดยไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้อีก

ประเด็นของผมคือ ถ้าปล่อยให้ประชาธิปไตยท้องถิ่นได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการเลือกตั้งเป็นประจำทุกๆ 4 ปี ไม่มีหยุดยั้งกระบวนการประชาธิปไตย ประชาชนจะได้เรียนรู้บทเรียนจากการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าด้านตัวบุคคลหรือนโยบายย่อมเกิดขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพียงแต่ต้องอดทนรอ

 

อยู่ข้างรัฐบาลกุมความได้เปรียบจริงหรือ

 

การเลือกตั้ง อบจ. ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลเป็นขั้วไทยรักไทยเดิมทั้งสิ้น

ปี 2547 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย

ปี 2551 รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน

ปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย

ปรากฏการณ์ที่มีการแข่งขันกันเองระหว่างผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยจึงถือเป็นเรื่องปกติในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน ทว่าครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน และมีนโยบายส่งผู้สมัครนายก อบจ. ลงในนามพรรคเพียงคนเดียว

ผู้สมัครบางคนจึงตัดสินใจลงในนามอิสระ ไม่ขอสังกัดพรรค จนสามารถเอาชนะอดีตนายกฯ คนเดิมที่เป็นมาหลายสมัยลงได้ ตัวอย่างสำคัญคือ กรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า ครอบครัวคนรักปทุม ทั้งๆ ที่ทางเพจของพรรคเพื่อไทยเคยช่วยแชร์โพสต์ให้มาอย่างต่อเนื่อง จู่ๆ ก็หยุดไปหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อัครเดช วันไชยธนะวงศ์ ว่าที่นายก อบจ. แม่ฮ่องสอน สมัยที่ 3 ให้เหตุผลที่ต้องลงอิสระ (แต่ Rocket Media Lab สันนิษฐานว่าเขามีความสัมพันธ์กับพรรคชาติไทยพัฒนา) ว่าเป็นเพราะ อบจ. แม่ฮ่องสอนมีงบประมาณน้อยเกือบจะที่สุดของประเทศ มากกว่าระนองแค่จังหวัดเดียว เพราะเราจัดเก็บภาษีได้น้อย เงินที่ใช้ในการพัฒนาจึงมาจากการจัดสรรให้ของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ หากเลือกพรรคผิด แม่ฮ่องสอนก็จะลำบาก

เมื่อลองสำรวจตรวจตราดูรายชื่อนายก อบจ. ที่เคยโดนหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งสิ้น 15 คน ในจำนวนนี้ 10 คนได้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปไม่นานนัก เชื่อว่าเพราะหันไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา[4]

 

จังหวัด ชื่อ ผลการเลือกตั้ง
กำแพงเพชร สุนทร รัตนากร ชนะการเลือกตั้ง
ชัยนาท อนุสรณ์ นาคาศัย ชนะการเลือกตั้ง
เชียงใหม่ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ แพ้การเลือกตั้ง
นครพนม สมชอบ นิติพจน์ แพ้การเลือกตั้ง
ปทุมธานี ชาญ พวงเพ็ชร์ แพ้การเลือกตั้ง
เพชรบูรณ์ อัครเดช ทองใจสด ชนะการเลือกตั้ง
มุกดาหาร มลัยรัก ทองผา สามีลงสมัครรับเลือกตั้งแทน

แพ้การเลือกตั้ง

ยโสธร สถิรพร นาคสุข ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
เลย ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ ชนะการเลือกตั้ง
สกลนคร ชัยมงคล ไชยรบ แพ้การเลือกตั้ง

 

ดังนั้น ในทางการเมืองท้องถิ่น การอยู่ฝั่งรัฐบาลก็ใช่จะสร้างความได้เปรียบ และการันตีชัยชนะได้ตลอดไป สำหรับบางพื้นที่ที่มีการแข่งขันรุนแรง และเป็นฐานเสียงหลักของพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยด้วยแล้ว การเลือกข้างรัฐบาลอาจกลายเป็นผลด้านร้ายในมุมกลับ

 

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

 

คำหนึ่งที่สื่อชอบใช้กันมากคือ “บ้านใหญ่” เมื่อต้องการเอ่ยถึงการเมืองในระดับจังหวัดที่ถูกผูกขาดโดยตระกูลการเมืองที่มีอิทธิพลเพียงตระกูลเดียว ซึ่งในความเป็นจริงของการเมืองท้องถิ่นต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีเพียงบ้านใหญ่บ้านเดียว แต่มีบ้านเล็กหลายๆ หลัง อาจแบ่งได้ตามลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด เช่น สายเหนือ/ใต้/ตะวันออก/ตะวันตก จึงยากที่จะมีใครสามารถควบคุมฐานเสียงได้หมดทั้งจังหวัด ส.ส. ของบางจังหวัดที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปแบบยกทีม แม้จะสังกัดพรรคเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือ ในแต่ละจังหวัดประกอบด้วยฐานเสียงหลายระดับชั้นลดหลั่นลงไป โดยเขตเลือกตั้งนายก อบจ. ถือเป็นเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดแล้ว รองลงมาคือเขตเลือกตั้ง ส.ส. (เขตละ 1 คน) เขตเลือกตั้ง ส.อบจ. (เขตละ 1 คน) เขตเลือกตั้งนายกเทศบาล/อบต. (เขตละ 1 คน) เขตเลือกตั้ง ส.ท. (เขตละ 6 คน) และเขตเลือกตั้ง ส.อบต. (เขตละ 1 คน) ตามลำดับ ยังมิพักเอ่ยถึงเขตเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านที่ก็เป็นเขตเดียวกับ ส.อบต. ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งนายก อบจ. ได้ คือผู้ที่มีศักยภาพในการรวบรวมฐานคะแนนเหล่านี้เข้าด้วยกันให้ได้มากที่สุด

ต่อคำถามที่ว่าแล้วตกลง ส.อบจ. เป็นฐานให้นายก อบจ. หรือนายก อบจ. เป็นฐานให้ ส.อบจ. และการเมืองท้องถิ่นเป็นฐานให้การเมืองระดับชาติ (ส.ส.) หรือการเมืองระดับชาติเป็นฐานให้การเมืองท้องถิ่น (นายก อบจ.) สรุปก็คือมันต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

กรณีเชียงใหม่น่าสนใจ บางพื้นที่ตัวผู้สมัคร ส.อบจ. สำคัญต่อการตัดสินใจเลือกนายก อบจ. มากกว่าหวังพึ่ง ส.ส. เช่น บางเขตเลือกตั้ง (ระดับ ส.ส.) ที่มีข่าวว่า ส.ส. เจ้าของพื้นที่ช่วยคุณบุญเลิศที่มีฐานะเป็นอดีตนายกด้วย คุณบุญเลิศก็ไม่ได้ชนะในทุกอำเภอของเขตเลือกตั้งนี้ อำเภอที่ชนะได้คืออำเภอที่ ส.อบจ. ของกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรมของเขาชนะแค่นั้น ขณะที่อำเภอที่ถือเป็นฐานเสียงหลักของ ส.ส. คนนั้นแท้ๆ คุณบุญเลิศกลับแพ้ แต่ ส.อบจ. ฝั่งคุณบุญเลิศก็ยังสามารถเอาชนะในเขตอำเภอนั้นได้อยู่ ขณะที่บางพื้นที่ก็ไม่ชัดเจน อาจเป็นปัจจัยร่วมระหว่างผู้สมัคร ส.อบจ. กับผู้สมัครนายก อบจ. ดังผลการเลือกตั้ง ส.อบจ.ทั้ง 5 เขตของ อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มเพื่อไทยชนะยกทีม ได้ ส.อบจ. หน้าใหม่ที่สามารถเอาชนะ ส.อบจ. คนเดิมของกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรมเข้ามาได้ทั้งหมด แน่นอนว่าย่อมสัมพันธ์กับฐานคะแนนของว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีกับทีมผู้สมัคร ส.ท. ในปีกเดียวกันที่คอยเกื้อหนุนกันอยู่ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากฐานเสียงที่แบ่งตามโซนแล้ว ยังมีฐานเสียงที่อิงตามกลุ่มคน อาทิ นักศึกษา ชนชั้นกลาง คนเมือง (ที่หมายถึงคนที่พูดด้วยภาษาพื้นถิ่น) คนชาติพันธุ์ เกษตรกร กลุ่มผู้สูงอายุ กระทั่งแฟนบอล ทำให้ผู้สมัครต้องใช้กลวิธีสื่อสารหาเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม

 

การเมืองเรื่องฟุตบอล

 

เท่าที่ลองไล่ดูรายชื่ออดีตนายก อบจ. (รวมทั้งทายาททางการเมือง) ที่มีส่วนทำทีมฟุตบอลของจังหวัดมาอย่างยาวนาน ทั้งในฐานะประธานสโมสรหรือมีตำแหน่งอื่น ไม่มีใครประสบความล้มเหลวจากการเลือกตั้งครั้งนี้เลยซักคน เช่น วิทยา คุณปลื้ม (ชลบุรี เอฟซี) วิวัฒน์ นิติกาญจนา (ราชบุรี มิตรผล เอฟซี) สราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ (ประจวบ เอฟซี) อนุสรณ์ นาคาศัย (ชัยนาท เอฟซี) สมเกียรติ กิตติธรกุล (กระบี่ เอฟซี)

ในทางตรงข้าม นักการเมืองที่เพิ่งหันมาทำทีมฟุตบอลและลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก กลุ่มนี้ต่างพ่ายแพ้เกือบทั้งสิ้น อาทิ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ (เชียงราย ยูไนเต็ด) สุภวัฒน์ ศุภศิริ (แพร่ ยูไนเต็ด) พล.ต.ต.กริช กิติลือ (ลำพูน วอร์ริเออร์) จันทร์เพ็ญ ประเสริฐศรี (อำนาจ ยูไนเต็ด) มียกเว้นเพียงคนเดียวคือ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ทำทีมทั้ง เชียงใหม่ เอฟซี และ เจแอล เชียงใหม่ ยูไนเต็ด โดยเขาเพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสโมสรเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ก่อนที่จะมีการรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ.ไม่นาน

แน่นอน ฟุตบอลไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะมาชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้ แต่ฟุตบอลก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นักการเมืองบางส่วนเลือกใช้ เพื่อให้ผู้เลือกตั้งภาคภูมิใจในจังหวัดของตน พร้อมสั่งสมความนิยมให้กับตัวเอง โดยหวังแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงกลับคืนเมื่อการเลือกตั้งมาถึง

 

นโยบายสำคัญจริงไหม

 

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทางโทรศัพท์ของ “นิด้าโพล” เรื่อง “ได้เวลาเลือกนายก อบจ.” จำนวน 1,329 ตัวอย่าง (ซึ่งทำการสำรวจก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งร่วม 2 เดือน) สิ่งที่ประชาชนใช้พิจารณาในการตัดสินใจเลือกนายก อบจ. พบว่าส่วนใหญ่  60.50% ระบุว่าพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมา รองลงมา 38.07% ระบุว่าพิจารณาจากนโยบายของผู้สมัคร 24.91% ระบุว่าพิจารณาจากคุณสมบัติส่วนบุคคล เช่น อายุ การศึกษา อาชีพ มีเพียง 8.58% แค่นั้นที่ระบุว่าพิจารณาจากพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองที่สังกัด[5]

แม้ประชาชนไม่น้อยให้น้ำหนักเรื่องนโยบาย แต่เอาเข้าจริง ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เป็นต้นว่านโยบายที่ถูกกำหนดต้องอยู่ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ อบจ. มิเช่นนั้นก็อาจทำให้ถูกร้องเรียนได้ว่าหาเสียงเกินจริง อดีตนายกฯ ที่ลงสมัครเข้าใจถึงขีดความสามารถของ อบจ. มักเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘ประสาน’ แทน ด้วยทราบดีว่าเป็นภารกิจของหน่วยงานอื่น ไม่ใช่เรื่องที่ อบจ. จะทำได้เอง เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ป้ายหาเสียงผู้สมัครที่พบเห็นได้ทั่วไปจุดเน้นจึงอยู่ที่ตัวผู้สมัครกับกลุ่มที่สังกัด โดยเป็นรูปคู่ขนาดใหญ่ของผู้สมัครนายกกับผู้สมัครสมาชิกสภา

หลายเวทีปราศรัยก็พูดเรื่องนโยบายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นโยบายที่ใช้หาเสียงมักเป็นนโยบายกว้างๆ ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมนัก เช่น ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมด้านการศึกษา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม แก้ไขปัญหาภัยแล้ง/น้ำท่วม ฯลฯ เพื่อมิให้เกิดข้อผูกมัดจนเกินไปหากได้รับเลือกตั้งแล้วไม่สามารถทำได้อย่างที่รับปากไว้กับประชาชน มีเพียงคณะก้าวหน้าเท่านั้นที่ได้สร้างชุดนโยบายที่จับต้องได้ออกมา 42 แบบสำหรับ 42 อบจ. ซึ่งมีแกนกลางร่วมกันในประเด็นระบบขนส่งสาธารณะ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วยการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยใช้เทคโนโลยี ทว่านโยบายกลับไม่ช่วยให้ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแต่อย่างใด พอแสดงให้เห็นว่านโยบายยังคงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร อย่างน้อยก็กับการเลือกตั้งคราวนี้

 

ความพ่ายแพ้ของคณะก้าวหน้า

 

เพราะเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แบบที่พรรคอนาคตใหม่เคยเก็บเกี่ยวคะแนนที่ได้รวมกันเพื่อรับปันที่นั่งกลับคืนมาจนได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไปมากถึง 50 ที่นั่ง แต่ระบบการเลือกตั้ง อบจ. เป็นแบบที่มีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายก อบจ. หรือ ส.อบจ. ก็ตาม ต่อให้ได้คะแนนมากมายเพียงใด หากไม่มากพอจะเป็นที่ 1 คะแนนเหล่านั้นก็ไม่มีความหมาย เป็นคะแนนเสียงตกน้ำอย่างแท้จริง

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่ได้ยินบ่อยๆ คือ ถ้าจังหวัดไหนมีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยลงชนกับผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า จะทำให้เกิดการตัดคะแนนกันเอง

จากการสำรวจผลการเลือกตั้งใน 13 จังหวัดที่ทั้งสองพรรคนี้ส่งผู้สมัครนายก อบจ. ลงแข่งกัน พบเหมือนกันคือ โดยส่วนใหญ่ 8 จังหวัด (นครปฐม นครพนม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี ระยอง หนองบัวลำพู ปราจีนบุรี) ต่อให้เอาคะแนนมารวมกันก็ยังเอาชนะผู้สมัครที่เป็นคู่แข่งคนสำคัญไม่ได้ ตัวอย่างเช่นที่นครพนม เพื่อไทยได้ 110,596 คะแนน รวมกับก้าวหน้าที่ได้ 50,012 คะแนน เท่ากับ 160,608 คะแนน ยังไงก็แพ้ ศุภพานี โพธิ์สุ ที่ได้ 161,933 คะแนน หรือที่ระยอง ก้าวหน้าได้ 61,583 คะแนน รวมกับเพื่อไทยที่ได้ 8,715 เท่ากับ 70,298 คะแนน ยังคงแพ้ ปิยะ ปิตุเตชะ ที่ได้ 158,413 คะแนน ตามด้วยกลุ่มจังหวัดที่เพื่อไทยมีคะแนนมาเป็นลำดับหนึ่ง 4 จังหวัด (อุดรธานี อุบลราชธานี มุกดาหาร แพร่) เช่นที่อุดรธานี เพื่อไทยโดย วิเชียร ขาวขำ ได้ 325,933 คะแนน ชนะก้าวหน้าที่ได้ 185,801 คะแนน หรือที่แพร่ เพื่อไทย อนุวัธ วงศ์วรรณ ได้ 140,133 คะแนน ชนะก้าวหน้าที่ได้ 48,571 คะแนน หนองคายจึงเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่พอพูดได้ว่ามีการตัดคะแนนกันเอง เพราะหากนำคะแนนที่เพื่อไทยได้ 76,976 คะแนนมารวมกับที่ก้าวหน้าได้ 50,702 คะแนนแล้วได้มากถึง 127,678 คะแนน สามารถเอาชนะยุทธนา ศรีตะบุตรที่ได้ 85,777 คะแนนได้เลย

ข้อสังเกตดังกล่าวจึงใช้อธิบายไม่ได้เสมอไป ส่วนตัวผมเห็นว่าการทำงานในสภาตลอดปีเศษที่ผ่านมา ได้แบ่งกลุ่มคนสนับสนุนพรรคเพื่อไทยกับอนาคตใหม่แยกออกจากกันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะบอกว่าคนเลือกเพื่อไทยกับก้าวหน้าเป็นคนละกลุ่มกัน

ถึงกระนั้น การลงสนามท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า เอาเข้าจริงก็คงไม่ได้หวังที่จะชนะในตำแหน่งนายก อบจ. แต่เป็นไปเพื่อการรักษาฐานคะแนนเสียงชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ของพรรคก้าวหน้าเอาไว้ เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า และการเลือกตั้งเทศบาลกับ อบต. ซึ่งน่าจะมีโอกาสได้ที่นั่งมากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ตัวเมืองกับเขตที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ จากคะแนนที่ได้รับ (2.6 ล้านคะแนนตามคำแถลงของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) แสดงให้เห็นว่าคณะก้าวหน้ายังรักษาฐานคะแนนเสียงของอดีตพรรคอนาคตใหม่เอาไว้ได้อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น

แม้คณะก้าวหน้าจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้นายก อบจ. ซักจังหวัด แต่ก็ได้ ส.อบจ. เป็นการชดเชย ด้วยที่นั่งไม่น้อยคือ 57 คนจาก 20 จังหวัด โดยมีหลายจังหวัดที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาจำนวนมาก ได้แก่ อุดรธานี 10 คน ฉะเชิงเทรา 10 คน ยโสธร 7 คน และหนองคาย 5 คน นอกนั้นได้จังหวัดละ 1-3 คน หวังว่าคงได้เห็นบทบาทของฝ่ายค้านที่แข็งขันในสภา อบจ. ของจังหวัดเหล่านี้ เหมือนกับที่เคยเห็นบทบาทของพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเราแทบไม่เคยเห็นสภา อบจ. แสดงบทบาทในบางด้าน เช่น เรียกส่วนราชการต่างๆ ที่มาตั้งอยู่ในจังหวัด กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงได้ ทั้งที่กฎหมายได้ให้อำนาจนี้ไว้ตั้งแต่ต้น

 

นายกฯ เสียงข้างน้อย ฝ่ายค้านเสียงข้างมาก

 

การเลือกตั้งนายก อบจ. กับสมาชิกสภา อบจ. พร้อมกันเช่นนี้เอื้อให้เกิดสภาวะซึ่งฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภาเป็นคนละขั้วได้ง่ายขึ้น แตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมาซึ่งนายก อบจ. มักชิงลาออกก่อนครบวาระ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อน เมื่อรู้ผลนายกฯ ก่อน กลุ่มที่ไม่ได้เป็นฝ่ายบริหารก็ไม่ส่งทีมลงสมัครแข่งในการเลือกตั้ง ส.อบจ. ที่มีขึ้นภายหลัง คงมีแต่ฝั่งผู้บริหารเท่านั้นที่ส่งทีมลง จึงกลายเป็นว่าผู้บริหารกับฝ่ายสภามาจากกลุ่มเดียวกันทั้งหมด

หลายจังหวัดที่มีการแข่งขันสูงและคะแนนสูสีกันมาก ไม่มีทางที่เสียงในสภาจะถูกยึดกุมโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว เช่นที่เชียงใหม่ ผลที่ออกมาคือ เสมอกัน 21 ต่อ 21 ระหว่างเพื่อไทยกับกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ที่อุบลราชธานี เพื่อไทยได้ 17 คน ตามหลังกลุ่มอุบลคนดีที่ได้ไป 21 คน นอกนั้นที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นและผู้สมัครอิสระรวมกันอีก 4 คน แสดงว่าชาวบ้านหลายๆ พื้นที่ก็ไม่ได้เลือกแบบ ‘ยกทีม’ เหมือนที่ผู้สมัครในตำแหน่งนายกฯ พยายามรณรงค์

การที่เสียงในสภาก้ำกึ่ง ต่างฝ่ายต่างมีเสียงพอฟัดพอเหวี่ยงกันเช่นนี้ ปัญหาที่ตามคือเกมการเมืองเรื่องงบประมาณ อาจทำให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีถูกคว่ำกลางสภา จนนำไปสู่กลไกตั้งกรรมการร่วมพิจารณา ซึ่งย่อมทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อในปีแรกๆ ก่อนที่โดยธรรมชาติของการเมืองในปีหลังๆ จะเริ่มมีการย้ายไปอยู่ขั้วเดียวกันกับฝ่ายบริหารเพื่อเร่งสร้างผลงานเตรียมลงเลือกตั้งในคราวถัดไป

 

จับตา กกต.

 

สถิติของทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นับแต่ปี 2543 ถึงปี 2558 พบว่า กกต.ได้มีมติวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไปแล้วเกือบ 1,800 เรื่อง แยกเป็นใบแดงหรือสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 1,110 เรื่อง และใบเหลืองหรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ 670 เรื่อง[6] การเลือกตั้งครั้งนี้ที่ดูเหมือนจะจบแล้วตั้งแต่เมื่อนับคะแนนเสร็จเรียบร้อยจึงยังไม่จบง่ายๆ

รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ กกต. มีอำนาจเต็มที่ในการ “สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี” หรือที่ถูกเรียกจนติดปากว่า “ใบส้ม” หากพบว่าผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นทุจริต รู้เห็นให้มีการทุจริต หรือรู้แต่ไม่ยับยั้ง แต่ต้องมีคำวินิจฉัยออกมา ‘ก่อน’ ประกาศผลการเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้ยกเลิกผลเลือกตั้งและจัดเลือกตั้งใหม่ โดยไม่มีการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ ให้เฉพาะผู้สมัครรายเดิมในเขตนั้นกลับเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ยกเว้นผู้สมัครที่ถูกระงับสิทธิซึ่งโดนใบส้ม ในแง่นี้คำวินิจฉัยของ กกต. เป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ถ้าเป็นช่วงหลังจากนั้นแล้วต้องไปจบที่ศาลอุทธรณ์ และต้องกลายไปเป็น “ใบแดง” แทน

หลังผ่านพ้นการเลือกตั้ง อบจ. แค่ไม่กี่วัน มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งเข้ามายัง กกต.ไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้เลือกผู้สมัครประมาณ 30-40 เรื่อง เรื่องปราศรัยหาเสียงใส่ร้าย หรือหลอกลวงต่างๆ ประมาณ 20-30 เรื่อง นอกนั้นเป็นเรื่องอื่นปนๆ กันไป[7]

ประเด็นนี้จึงเป็นอีกปัจจัยชี้ขาดความเป็นไปทางการเมืองของ อบจ. แต่ละแห่งที่ไม่อาจมองข้ามได้

 

อนาคตการกระจายอำนาจ

 

การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข็มแข็งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยรวม ซึ่งตามมาด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นในรูปแบบอื่น ทั้งเทศบาล อบต. ตลอดจนองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่าง กทม. และเมืองพัทยา แน่นอน ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ท้องถิ่นซึ่งถูกกดทับมานานต้องไม่พอใจเพียงแค่นี้ ก้าวเดินต่อไปคือ การเร่งรัดผลักดันให้มีการกระจายอำนาจโดยเพิ่มความเป็นอิสระให้แก่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ หลังหยุดชะงักไปโดยสิ้นเชิงนับแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา.

 

อ้างอิง

[1] ธีรพรรณ ใจมั่น และภาสกร อินแหลง, ฐานข้อมูลการเลือกตั้งนายก อบจ., (นนทบุรี: วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า, 2547).

[2]เปิดข้อมูลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด,” The Momentum (4 ธันวาคม 2563)

[3]สรุปผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ),” วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า (25 ธันวาคม 2563)

[4]เลือกตั้ง 62: เปิดรายชื่อ 13 นักการเมืองท้องถิ่นพ้นตรวจสอบทุจริตหันหนุนพลังประชารัฐ,” iLaw (28 มกราคม 2562)

[5]ด้เวลาเลือก นายก อบจ.,” NIDA Poll (18 ตุลาคม 2563)

[6]ใบแดง-ใบเหลือง เครื่องมือกำราบทุจริตเลือกตั้ง,” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (10 กันยายน 2558)

[7]ประเดิมร้องทุจริตเลือกตั้ง อบจ.200 เรื่อง! เลขาฯ กกต.ชี้กำนัน-ผญบ.ส่วนสำคัญแก้ปัญหา,” สำนักข่าวอิศรา (24 ธันวาคม 2563)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save