fbpx

เดินหน้าเจรจาเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: แต่ใช่ว่าจะคืบหน้าได้ง่ายๆ

กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศและคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง “การอ้างสิทธิในไหล่ทวีปในอ่าวไทย ระหว่างไทยและกัมพูชา” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 เพื่อเร่งทำความเข้าใจต่อสาธารณชนเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ในอันที่จะหาทางนำทรัพยากรปิโตรเลียมเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางด้านพลังงานของไทยได้ถ้าหากว่าสามารถเจรจาตกลงกับกัมพูชาซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่ได้ในเร็ววันนี้

แต่เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน เพราะยืดเยื้อยาวนานมาหลายปีแล้ว นับแต่ประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ซึ่งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันเมื่อปี 2544 ถึงปัจจุบันเวลาผ่านไปแล้ว 22 ปี ไทยมีนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 7 คน (ทักษิณ ชินวัตร สุรยุทธ จุลานนท์ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา) รัฐมนตรีต่างประเทศ 11 คน ไทยและกัมพูชาได้ประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee—JTC) เพื่อหารือเรื่องเขตทับซ้อนไปเพียง 2 ครั้ง คณะอนุกรรมาธิการร่วมทางเทคนิคอีก 2 ครั้ง คณะกรรมการร่วมทางเทคนิคหารืออย่างไม่เป็นทางการ 4 ครั้ง ประชุมคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล 1 ครั้ง และมีการประชุมคณะทำงานว่าด้วยระบอบพัฒนาร่วม 6 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานไทย-กัมพูชาว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล (ฝ่ายไทย) บอกกับที่สัมมนาในวันนั้นว่าปัจจุบันทั้งสองประเทศยังไม่ละความพยายามที่จะเจรจากันเรื่องนี้กันอยู่ แต่ที่ผ่านมาทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเตรียมการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคมีการพบปะกันเพื่อทำความรู้จักกับฝ่ายกัมพูชาไปบ้างแล้ว แต่ยังเปิดเจรจากันอย่างเป็นทางการไม่ได้ ก็เปลี่ยนรัฐบาลแล้วจึงต้องรอนโยบาย ทิศทาง ท่าที และจุดยืนของรัฐบาลใหม่

เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยซึ่งเคยแสดงท่าทีระหว่างที่มีการรณรงค์การเลือกตั้งว่าจะต้องผลักดันการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาอีกครั้ง เพราะแหล่งแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยนั้นมีจำกัดและมีกำลังการผลิตลดต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง บทความนี้จึงขอทบทวนประเด็นปัญหาและวิเคราะห์ปัจจัยที่เอื้ออำนวยและเป็นอุปสรรคต่อการเจรจา

ประเด็นปัญหาที่ค้างคา

แม้ว่าบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 จะเคยถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะบอกเลิกเพราะโกรธแค้นที่นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชาแต่งตั้งให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเป็นที่ปรึกษา แต่ก็รอดอยู่มีผลบังคับใช้จนปัจจุบัน เพราะการบอกเลิกครั้งนั้นไม่เป็นผล รัฐบาลต่อมาสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยืนยันความถูกต้องชอบธรรมของมัน จึงทำให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้กลายเป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวที่ใช้เป็นหลักในการเจรจาเรื่องพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกันของทั้งสองประเทศต่อไป

สาระสำคัญซึ่งเป็นประเด็นในที่นี้คือ ข้อ 2 ของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวที่กำหนดว่า “เป็นเจตนาของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจาที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้พร้อมกัน 1) จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วม (ตามสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม) และ 2) ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต”[1]

พูดง่ายๆ คือ บันทึกความเข้าใจที่ใช้เป็นแนวทางในการเจราจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างสองประเทศฉบับนี้เน้นย้ำถึงสองครั้งสองคราในข้อเดียวกันว่า ให้ทำการแบ่งเขตสำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะและพื้นที่จะเป็นเขตพัฒนาร่วมไปพร้อมกัน สองเรื่องนี้จะแยกจากกันมิได้เป็นอันขาด

ปัญหาในทางปฏิบัติคือไทยและกัมพูชาต่างฝ่ายต่างประกาศอ้างเขตทางทะเลกันคนละที โดยกัมพูชาประกาศเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2513 ส่วนไทยประกาศเมื่อ 18 พฤษภาคม 2516 แม้ว่าจะใช้หลักเขตแดนทางบกหลักที่ 73 เป็นจุดตั้งต้นเช่นเดียวกัน แต่ลากเส้นไปคนละทิศ ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนกันมากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ยังมีปัญหาว่าเกาะกูดอยู่ในเขตของใครอีกด้วย

การเจรจาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาให้ถือเอาเส้นละติจูด 11 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่ง กล่าวคือให้ถือเอาพื้นที่ที่อยู่เหนือเส้นนี้เป็นบริเวณที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อแบ่งทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ส่วนพื้นที่ใต้เส้นนี้ลงมาให้จัดทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน แต่นั่นก็ยังไม่ใช่การแบ่งที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แม้ว่าบันทึกความเข้าใจจะกำหนดให้ดำเนินเจรจาเพื่อจัดการกับพื้นที่สองส่วนไปพร้อมๆ กัน แต่ที่ผ่านมาสองประเทศก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่สองส่วนไม่เท่ากัน สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาแต่ต้น เปิดเผยว่า “กัมพูชาให้ความสำคัญกับการพัฒนาร่วมมากกว่าการแบ่งเขตทางทะเล เพราะกัมพูชาต้องการได้รับประโยชน์จากรายได้ที่จะเกิดจากการให้สัมปทานจากการขายน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อน”[2] ส่วนท่าทีของไทยนั้นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายบอกกับที่สัมมนาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 แต่เพียงว่าถ้อยคำในบันทึกความเข้าใจกำหนดให้ดำเนินการไปพร้อมกัน แต่ไม่ได้พูดชัดเจนว่าให้น้ำหนักกับส่วนใดมากกว่า ประเด็นนี้อาจต้องปล่อยให้เป็นนโยบายของรัฐบาลว่าจะกำหนดทิศทางการเจรจาไปในทางใด จะเน้นที่การแบ่งเขตแดนหรือจะเน้นเรื่องการพัฒนาร่วมกัน ถ้าหากจะถือว่ามีความสำคัญเท่ากันอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะการเจรจาในสองเรื่องนี้มีความยากง่ายไม่เท่ากัน

ส่วนปัญหาเรื่องเกาะกูดนั้น สุรเกียรติ์ กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เคยบอกกับเขาด้วยวาจาเอาไว้นานแล้วว่า “กัมพูชาจะยกเลิกข้อเรียกร้องที่ถือว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชากึ่งหนึ่งและถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย คือยกอธิปไตยเหนือเกาะกูดให้ไทย แต่อย่าเพิ่งประกาศเพราะจะเกิดปัญหาทางการเมืองภายในกัมพูชาได้”[3] แต่นั่นก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่ากัมพูชาจะไม่อ้างสิทธิอันนั้นขึ้นมาอีกเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป บุคคลทั้งสองก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้ว คำพูดเช่นว่านั้นไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมายที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะยึดเป็นบรรทัดฐาน ถ้ากัมพูชายกประเด็นนี้ขึ้นมาก็ต้องดำเนินการเจรจากันใหม่และไม่น่าจะหาทางออกได้ง่ายๆ

สิ่งที่รัฐบาลใหม่ของไทยจะต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ องค์ประกอบของคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน ที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดนี้ยังไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าจัดทำกรอบการเจรจากับกัมพูชาและตั้งคณะทำงานสองชุด คือชุดที่ว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเลมีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้า และอีกชุดหนึ่งว่าด้วยระบอบการพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กรอบการเจรจาที่รัฐบาลชุดที่แล้วกำหนดเอาไว้นั้น ไม่ได้เจาะจงอะไรเป็นพิเศษ กล่าวไว้เพียงว่า จะเจรจากันตามบันทึกความเข้าใจปี 2544 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ไทยทุกด้าน เพื่อรักษาสิทธิของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศและบันทึกความเข้าใจที่ทำกันเอาไว้

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลใหม่มีอำนาจเต็มในการจัดตั้งคณะกรรมกรรมทางเทคนิคนี้ใหม่ มีองค์ประกอบใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และแนวทางในการเจรจา ในอดีตก็เคยมีความเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการชุดนี้มาโดยตลอด เช่น เคยเปลี่ยนตัวประธานจากรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในปี 2548 ในสมัยต่อๆ มา คณะกรรมการชุดนี้ก็กลับมาอยู่ภายใต้การนำของรัฐมนตรีต่างประเทศอีก หรือบางช่วงก็ว่างเว้นไปนาน ตัวอย่างเช่น ช่วงรัฐบาลประยุทธ์ ในวาระแรกหลังรัฐประหาร ตกลงกับกัมพูชาตั้งแต่แต่ปี 2558 ว่าจะตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคเพื่อหารือเรื่องเขตทับซ้อน แต่ก็ไม่ได้ตั้งจนกระทั่งปี 2564 จึงได้ตั้งให้ประวิตรทำหน้าที่นี้ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยอาจจะมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศทำหน้าที่ในการนำการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลกัมพูชา เนื่องจากรัฐมนตรีพลังงานมาจากพรรคร่วมรัฐบาลและไม่มีประสบการณ์ในกิจการต่างประเทศ

ปัจจัยเกื้อหนุน

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ อาจจะได้อานิสงส์จากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจจะทำให้การเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยที่ยืดเยื้อยาวนานมีความคืบหน้าได้ ดังนี้

ประการแรก สถานการณ์การเมืองภายในที่เกิดจากการประนีประนอมกันระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเดิมกับกลุ่มทักษิณ ชินวัตร จะช่วยให้ความหวาดระแวงระหว่างไทยและกัมพูชาที่เคยมีมาในอดีตตั้งแต่กรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร พลอยจางหายไปด้วย ถ้าหากชนชั้นนำสามารถยอมรับการกลับมาจากการลี้ภัยในต่างประเทศของทักษิณได้ ก็ย่อมทำให้ข้อกล่าวหาต่างๆนานาเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบและการทุจริตในอดีตมีน้ำหนักน้อยลง หรืออาจจะเรียกได้ว่าไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้วก็ได้

ประการที่สอง ทักษิณมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับครอบครัวของผู้นำกัมพูชาคืออดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน รวมตลอดถึง ฮุน มาเนท ลูกชายคนโตที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน การปรากฏตัวของทักษิณและน้องสาวของเขาคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ในงานฉลองวันเกิดครบรอบ 72 ปีของฮุน เซน เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 เป็นสัญญาณและดัชนีที่ชี้ชัดว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวของครอบครัวผู้นำทางการเมืองของสองประเทศมีความใกล้ชิดกัน และจะส่งผลดีต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของสองประเทศด้วย

ประการที่สาม ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ มีทักษะทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศดีเพราะมีประสบการณ์ในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศมาก่อนเมื่อครั้งช่วยงานพรรคไทยรักไทยในฐานะผู้แทนทางการค้าในช่วงปี 2547 เขาย่อมรู้จักการประสานประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับกัมพูชา หรือมีข้อเสนอที่ดีเพื่อทำให้การเจรจาเพื่อร่วมพัฒนาในเขตทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยได้

ประการที่สี่ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาโดยรวมเป็นไปทิศทางที่ดี แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องเขตแดนทางบกที่ค้างคาไม่อาจจะจัดการให้เรียบร้อยได้อย่างสมบูรณ์เฉพาะอย่างยิ่งบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งเคยเป็นชนวนความขัดแย้ง แต่คำพิพากษาของศาลของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ตีความเมื่อปี 2556 ที่ชี้ว่าปราสาทพระวิหารและภูเขาในชื่อเดียวกันทั้งลูกนั้นอยู่ในเขตกัมพูชานั้นก็ถือได้ว่ามีความชัดเจนมากขึ้น ลดข้อถกเถียงระหว่างสองประเทศไปได้มาก ส่วนพื้นที่บริเวณโดยรอบนั้นแม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดการได้ แต่ปัจจุบันได้มีการกันเขตเอาไว้โดยชัดแจ้ง รอจนกว่าสถานการณ์จะเอื้ออำนวยให้ทั้งสองประเทศมีความพร้อมที่จะจัดการเรื่องนี้กันต่อไปได้โดยสันติ

ประการที่ห้า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในกัมพูชาหลังการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาที่พรรคประชาชนกัมพูชาสามารถคว้าชัยชนะได้อย่างล้นหลาม ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 120 จาก 125 ส่งผลให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของฮุน มาเนท ที่รับสืบทอดอำนาจจากผู้เป็นพ่อมีเสถียรภาพอย่างมาก ในทำนองเดียวกันคณะรัฐมนตรีของฮุน มาเนท นั้นประกอบไปด้วยสมาชิกที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับเขาและเป็นบุตรหลานของชนชั้นนำในรุ่นพ่อแม่ที่สืบทอดอำนาจรูปแบบเดียวกัน เช่น ซอ สุขา รัฐมนตรีมหาดไทยก็รับตำแหน่งต่อจากซอ เค็ง ผู้เป็นบิดา เตีย เสยฮา รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนเตีย บัณห์ ผู้พ่อ เป็นต้น การถ่ายโอนอำนาจที่ราบรื่นเช่นนี้ทำให้ผู้นำรุ่นใหม่ของกัมพูชาไม่มีความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งภายใน ก็จะทำให้พวกเขาสามารถให้เวลาและความสำคัญกับการบริหารและพัฒนาประเทศมากกว่าจะเล่นการเมือง ที่สำคัญรัฐบาลใหม่ของกัมพูชาไม่มีความจำเป็นต้องหาเหตุขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองหรือเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากปัญหาภายใน

ปัจจัยบั่นทอน

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งสองประเทศอาจจะก่อให้เกิดปัจจัยใหม่ๆ ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาได้เช่นกัน กล่าวคือ ประการแรก รัฐบาลใหม่ของไทยเป็นรัฐบาลผสมที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำแม้จะมีเสียงในสภาผู้ราษฎรมากกว่าพรรคอันดับรองๆ อยู่มาก แต่กลับไม่มีอำนาจต่อรองที่แท้จริง เพราะการจัดตั้งรัฐบาลผูกพันกับสถานะและชะตากรรมของทักษิณเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งมีจำนวนที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรอยู่เพียง 36 ที่นั่ง แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจเก่าในวุฒิสมาชิกและกองทัพ สามารถดึงเอากระทรวงพลังงานซึ่งเป็นกลไกหลักในการกำหนดผลประโยชน์ทางด้านพลังงานในอ่าวไทยไปอยู่ในความควบคุม โดยที่พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้นมีพื้นฐานเป็นนักกฎหมาย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ความรู้ทางกฎหมายของเขาอาจมีประโยชน์อยู่บ้างในการเจรจา แต่ก็ไม่ใช่บทบาทและหน้าที่ของกระทรวงที่เขาดูแลอยู่โดยตรง กรณีนี้อาจเกิดปัญหาได้ถ้าแนวทางของการเจรจาหรือมุมมองต่อปัญหาของสองกระทรวงในรัฐบาลเดียวกันเกิดไม่ตรงกันขึ้นมา ก็จะทำให้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเจรจามากกว่าจะเป็นผลดี  

ประการที่สอง รัฐบาลใหม่ของไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากนัก จำนวนพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลที่มากถึง 11 พรรคไม่ใช่จุดเด่น แต่เป็นข้อด้อยเพราะทำให้รัฐบาลไม่เป็นเอกภาพ การผลักดันนโยบายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลจะต่อรองผลประโยชน์ของตนตลอดเวลา พรรคเพื่อไทยไม่เคยชินกับการบริหารงานในรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนกระจัดกระจายมากขนาดนี้ มิหนำซ้ำยังอยู่ในสภาพที่กลายเป็นลูกไล่ของกลุ่มอำนาจเดิม ชนชั้นสูง และกองทัพอีกด้วย ไม่มีใครเชื่อว่ารัฐบาลแบบนี้จะมีอายุยืนยาวเพียงพอจะผลักดันการเจรจาระหว่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติจำนวนมหาศาลเช่นนี้ต่อไปได้

ประการที่สาม รัฐบาลใหม่ของกัมพูชามีเสถียรภาพมากกว่าไทยเพราะพรรคประชาชนกัมพูชามีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มองจากมุมของประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่เรื่องดี แต่ถ้ามองในมุมของอำนาจต่อรองระหว่างประเทศแล้ว รัฐบาลของฮุน มาเนท มีสมรรถนะสูงกว่ารัฐบาลของเศรษฐา นอกจากนี้ องค์ประกอบของรัฐบาลกัมพูชาดีกว่ารัฐบาลไทย เพราะสมาชิกในรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มที่อยู่ในวัย 40-50 ปี มีการศึกษาดี ย่อมมีพลังมากกว่า สดใหม่กว่า แต่พวกเขาไม่ได้อ่อนด้อยประสบการณ์เพราะได้รับการฝึกปรือจากรัฐบาลก่อน รัฐมนตรีคนก่อนหน้าของพวกเขาก็เป็นคนรุ่นพ่อแม่ที่พวกเขาคุ้นเคยและได้มีโอกาสเรียนรู้งานมาแล้วทั้งสิ้น

ประการที่สี่ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของกัมพูชาอาจจะต่ำกว่าไทยอยู่หลายช่วงตัว แต่ปัจจุบันก็พัฒนาไปมากและมีทางเลือกมากกว่าเมื่อตอนที่เริ่มทำความบันทึกความเข้าใจเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลกับไทยเมื่อปี 2544 เนื่องจากนักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในกิจการปิโตรเลียมในกัมพูชามากแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น โคโนโค ฟิลิปปินส์ เชลล์ โทเทล และเชฟรอน ล้วนแล้วแต่ทำธุรกิจในกัมพูชา นั่นหมายความว่ากัมพูชาไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการพึ่งพิงการลงทุนและเทคโนโลยีทางด้านปิโตรเลียมจากไทย ความคาดหวังของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของไทยที่หวังว่าจะได้เป็นผู้ลงทุนหลักในพื้นที่ร่วมพัฒนานั้นอาจจะกลายเป็นความฝันที่เลื่อนลอยไปแล้วก็เป็นได้

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมว่าพื้นที่ในเขตทับซ้อนในอ่าวไทยนั้นมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากแหล่งแก๊สธรรมชาติที่อยู่ในเขตไทยเหลือน้อย ทำให้มีความจำเป็นจะต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพิ่มเติม และเชื่อว่าพื้นที่ในเขตที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกันนั้นน่าจะมีปริมาณสำรองแก๊สธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในเขตไทยและกัมพูชาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าหากว่ายังไม่สามารถเจรจาตกลงอะไรกันได้ พื้นที่บริเวณนั้นก็จะยังไม่มีผู้ใดสามารถเข้าไปทำการสำรวจหรือขุดเจาะพลังงานใต้พิภพขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะทำให้เป็นการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง

คุรุจิต ซี่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน (2558) เคยมีประสบการณ์ในการเจรจาเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานในอ่าวไทยร่วมกับมาเลเซียในช่วงทศวรรษ 1980 เสนอว่า ทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ไขปัญหาและหาประโยชน์จากพื้นที่ในทะเลที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกันเช่นนี้คือ การเจรจากันบนพื้นฐานของความเคารพแนวทางของแต่ละฝ่าย มีความยืดหยุ่นและมีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะหาทางออกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเป็นที่ตั้ง การเจรจาโดยคำนึงถึงแต่จุดยืนและประโยชน์สูงสุดของตนแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีทางประสบความสำเร็จได้

ประสบการณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาในอดีตชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า การเลือกแนวทางอื่นที่ไม่ใช่การเจรจา เช่น การใช้ศาลโลกเป็นผู้ตัดสินเหมือนดังกรณีปราสาทพระวิหาร อาจจะสามารถยุติข้อพิพาทได้ แต่มีโอกาสอย่างมากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเสียประโยชน์ทั้งหมด

แผนภูมิแสดงการแบ่งพื้นที่สำหรับการเจรจาตาม MOU / ที่มา: กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
แผนภูมิแสดงกลไกการเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล / ที่มา: กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ

References
1 บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลเอกราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน 18 มิถุนายน 2544
2 สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กฎหมายและผลประโยชน์ของไทยในอ่าวไทย: กรณีศึกษาบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชาเรื่องการเจรจาสิทธิในอ่าวไทย (กรุงเทพฯ : สยามเอ็มแอนด์บี, 2553) หน้า 39
3 เพิ่งอ้าง หน้า 43

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save