fbpx

เขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา, ชาตินิยมเป็นพิษอักเสบ

คณะรัฐมนตรีมีการประชุมลับเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2023 เพื่อพิจารณาข้อเสนอของประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่นำข้อมูลใหม่จากฝ่ายกัมพูชามาแจ้งว่า รัฐบาลในกรุงพนมเปญแสดงความพร้อมในการกลับเข้ามาเจรจา (กันอีกครั้งหนึ่ง) เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน (overlapping claims areas – OCA) เนื้อที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรในอ่าวไทย ซึ่งเชื่อว่ามีสำรองปิโตรเลียมในปริมาณและมูลค่ามากมายมหาศาลรอการขุดค้นขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเคยเป็นปัญหาทางการเมืองทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชามาอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลที่ทหารหนุนหลังภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังพยายามดำเนินการแบบปิดลับ ไม่เปิดเผยการพิจารณาเรื่องผลประโยชน์มหาศาลที่ประชาชนพึงรู้ ไม่ปรากฏว่ามีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคมบนเว็บไซต์ของรัฐบาลแต่อย่างใด

รายงานข่าวของสื่อมวลชนเปิดเผยว่า ประวิตรแจ้งกับที่ประชุมว่าได้หารือกับซุย แซม รัฐมนตรีเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา เมื่อเดือนธันวาคม 2022 เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสำรวจแหล่งพลังงานและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน ซึ่งกัมพูชายินดีจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยโดยต้องการให้ดำเนินการผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการร่วม (joint committee)

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์จะไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์หรือภูมิรู้ที่แจ่มชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย เพียงแต่กล่าวตามหลักการทั่วไปแบบกำปั้นทุบดินว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญขอให้ช่วยกันศึกษาให้ดีว่าขั้นตอนต่อไปจะต้องทำอย่างไรเพราะเกี่ยวข้องกับหลายด้าน ทั้งเรื่องที่ดินทับซ้อน เรื่องพลังงาน และเรื่องกฎหมาย ซึ่งทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงต่างประเทศเกี่ยวข้อง

ความจริงนายกรัฐมนตรีของไทยสมควรจะให้แนวนโยบายและทิศทางได้ชัดเจนกว่านี้ เพราะเรื่องนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานผ่านมือรัฐบาลมาหลายชุดและตัวเขาเองก็อยู่ในอำนาจยาวนานพอจะรู้เรื่องบ้างแล้ว อีกทั้งสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาในช่วงระยะเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมาน่าจะเอื้ออำนวยให้สองฝ่ายสามารถดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปได้โดยไม่ติดขัดอะไรมากนัก แต่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่รัฐบาลประยุทธ์เพิ่งจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาเอาก็ต่อเมื่ออายุรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลง  

บทความนี้ต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องชาตินิยมในหมู่ชนชั้นนำของไทย ประกอบกับความอ่อนด้อยในเรื่องกิจการต่างประเทศของรัฐบาลประยุทธ์เองนั่นแหละที่เป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้การเจรจาเรื่องนี้ต้องหยุดชะงักลง จนทำให้ทั้งสองประเทศเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรทางทะเลไปเป็นเวลานาน และอาจจะต้องเสียเวลาไปอีกนานถ้าหากนักการเมืองอนุรักษนิยมฝ่ายขวายังพยายามจะอยู่ในอำนาจอีกต่อไป

เส้นทางอันระหกระเหิน

แรงบันดาลใจสำคัญในการร่วมกันพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างสองประเทศที่มีความสัมพันธ์กันแบบทั้งรักทั้งชัง (love-hate relations) ของไทยและกัมพูชานั้น เกิดขึ้นภายหลังจากความสำเร็จในการร่วมพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน (joint development area- JDA) ระหว่างไทยและมาเลเซีย ซึ่งก็เคยใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะตกลงร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปลายทศวรรษ 1970s

รัฐบาลภายใต้การนำของชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้เริ่มต้นผลักดันแนวคิดนี้กับกัมพูชา แต่เนื่องจากในเวลานั้นสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในของกัมพูชาที่ภาวะสงครามกลางเมืองยังไม่สิ้นสุดและรัฐบาลชาติชายเองก็มีอันเป็นไปหลังการรัฐประหารในปี 1991 ทำให้เรื่องนี้ต้องพับไปโดยที่รัฐบาลต่อๆ มาก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ต่อเพราะการเมืองกัมพูชาหลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ปี 1993 ยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ แถมทั้งสองฝ่ายยังใช้เวลาส่วนใหญ่กับการปักปันเขตแดนทางบกจึงทำให้การเจรจาใดๆ ในกิจการทางทะเลยังไม่เป็นผล จนกระทั่งสมัยทักษิณ ชินวัตรจึงสามารถบรรลุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ซึ่งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2001

สาระสำคัญของเนื้อความในบันทึกความเข้าใจนั้นระบุว่า รัฐบาลทั้งสองได้กำหนดพื้นที่อ้างสิทธิในเขตทับซ้อนทางทะเลที่จะต้องเจรจาเพื่อแบ่งเขตสำหรับอาณาเขตทางทะเลและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไปจนถึงเส้นที่กัมพูชาอ้างและส่วนที่อยู่ใต้เส้นนี้ลงไปก็ให้ทำเป็นเขตพัฒนาร่วมกัน (ดังปรากฏในกราฟฟิก)

ที่มาของการกำหนดให้ใช้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือเป็นเกณฑ์ก็ผ่านการเจรจามาไม่ใช่น้อย เพราะทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกันว่าควรจะกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลกันอย่างไร ฝ่ายไทยเห็นว่าการกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลและไหล่ทวีปนั้นควรจะเริ่มต้นจากหลักเขตแดนทางบกหลักที่ 73 บริเวณแหลมสารพัดพิษจังหวัดตราดลากเป็นเส้นตรงออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ไปบรรจบเส้นเขตแดนไทย-เวียดนาม ไทยเองก็ใช้หลักนี้ในการประกาศทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลเมื่อปี 1966 และเขตไหล่ทวีปในปี 1973 ส่วนกัมพูชาก็ถือเอาหลักเขตหลักเดียวกันเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศไหล่ทวีปในปี 1972 โดยการลากเส้นไปทางตะวันตกและหักเข้าฝั่งเขตแดนเวียดนามกัมพูชาผลจึงเกิดพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนกัน

แต่ครั้นจะเจรจากำหนดเส้นเขตแดนหรือแบ่งไหล่ทวีปกันให้จบเสียก่อนค่อยลงมือขุดค้นทรัพยากรในไหล่ทวีปก็คงจะเสียเวลาไม่น้อยหรืออาจจะไม่สามารถหาทางออกได้เลยก็เป็นได้ เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ตัวอย่างเช่น เดิมทีเส้นที่กัมพูชาลากนั้นจะผ่ากลางเกาะกูด ซึ่งในสนธิสัญญาที่สยามทำเอาไว้กับฝรั่งเศสกว่าหนึ่งศตวรรษก่อนหน้านี้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าอยู่ในเขตไทย ก็ต้องเจรจาให้กัมพูชาขยับเส้นออกให้พ้นเกาะกูด แต่แทนที่กัมพูชาจะขยับเป็นทางตรงซึ่งคงทำให้เสียพื้นที่ทางทะเลไปมาก จึงได้ขีดเส้นอ้อมเกาะกูดเป็นรูปตัวยู เป็นการยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่พื้นที่ส่วนอื่นแถวนั้นเป็นของกัมพูชาซึ่งฝ่ายไทยก็เห็นว่ายังไม่ถูกต้องตามสนธิสัญญาและหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ดี สุดท้ายก็เลยต้องพักการเจรจาเรื่องนี้เอาไว้ก่อน หาเส้นอื่นที่พอจะเห็นร่วมกันได้เพื่อกำหนดเขตที่จะพัฒนาร่วมกันแล้วค่อยเจรจาเรื่องเขตแดนในภายหลัง ซึ่งอาจจะต้องรอกันอีกหลายชั่วอายุคนก็เป็นได้

แต่การเจรจาเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน เดิมก็คิดกันง่ายๆ ว่าแบ่งกัน 50/50 แต่อาจจะไม่เป็นธรรมเพราะทรัพยากรไม่ได้กระจุกอยู่ตรงกลางอาจจะมีส่วนที่อยู่ใกล้กับฝั่งไทยบ้างหรือใกล้ฝั่งกัมพูชาบ้าง จึงได้มีข้อเสนอทำนองว่าถ้าอยู่ใกล้ฝั่งใดให้ฝ่ายนั้นได้ผลประโยชน์มากกว่า เช่นอาจจะเป็น 60/40 หรือ 70/30 เป็นต้น เรื่องนี้ยังไม่ได้ตกลงกันก็มาเกิดมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเพราะการรัฐประหารในปี 2006 โค่นล้มรัฐบาลทักษิณไปเสียก่อน ในรัฐบาลต่อๆ มา เช่นในสมัยสมัคร สุนทรเวช ไทยเคยเสนอให้มีการเจรจาเรื่องนี้กันต่อ แต่ทางกัมพูชาไม่อยู่ในอารมณ์จะหารือเรื่องนี้เพราะเกิดมีขบวนการเสื้อเหลืองทวงคืนเขาพระวิหารขึ้นมาในปี 2008 จนกลายเป็นปัญหาลุกลาม มีการปะทะกันตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทหารของทั้งสองฝ่าย จนไปถึงกลายเป็นคดีพิพาทในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพราะกัมพูชาไปขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเรื่องปราสาทพระวิหารปี 1962

ความจริงแม้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะขัดแย้งกับรัฐบาลฮุนเซนของกัมพูชาอย่างรุนแรงในกรณีปราสาทพระวิหารและเขตแดนทางบกในพื้นที่บริเวณนั้น อีกทั้งได้กล่าวหา ‘พวกทักษิณ’ ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนร่วมกับฮุนเซนในแหล่งพลังงานในเขตทับซ้อนทางทะเล แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีความพยายามที่จะเปิดการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนนั้นอยู่เหมือนกัน มีการสื่อสารกับผู้นำในรัฐบาลฮุนเซนหลายครั้งจากทั้งกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลนั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญ ประวิตร วงษ์สุวรรณในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมและเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกับฝ่ายกัมพูชาอยู่พอควร เพราะเคยเป็นผู้บัญชาการทหารทางชายแดนภาคตะวันออก ทั้งสุเทพและประวิตรซึ่งดูเหมือนจะทำงานเข้าขากันดีในเวลานั้นเคยพยายามขอพบกับรองนายกรัฐมนตรี ซก อาน (เสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2017) เพื่อหาทางเปิดเจรจาเรื่องนี้หลายครั้งทั้งในกัมพูชาและในต่างประเทศ แต่ถูกปฏิเสธ[1] แถมตอนนั้นฮุน เซนยังเล่นการเมืองไทยอย่างเต็มกำลังด้วยการตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษา จนเป็นเหตุให้รัฐบาลอภิสิทธิ์โกรธเคือง ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและที่สำคัญถึงกับประกาศยกเลิกบันทึกความเข้าใจเรื่องเขตทับซ้อนปี 2001 แต่การประกาศยกเลิกในคราวนั้นไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะเป็นการประกาศฝ่ายเดียวและไม่ได้แจ้งให้กัมพูชาทราบอย่างเป็นทางการตามกำหนดเวลา

รัฐบาลต่อมาภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับกัมพูชาด้วยการยอมรับการตีความของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหารโดยปราศจากเงื่อนไขและติดต่อขอเปิดการเจรจากันอีกครั้ง ซึ่งในเวลานั้นกัมพูชาก็แสดงท่าทีในเชิงบวกว่าพร้อมจะเจรจาเรื่องนี้กันต่อ[2] แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว การเมืองไทยไม่เคยมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยให้กับการดำเนินการเรื่องนี้ได้ ในที่สุดก็ได้เห็นสุเทพพามวลชนออกมาประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนในที่สุดก็ลงเอยแบบเดิมด้วยการรัฐประหารซึ่งพาคนหน้าเดิมจากกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษนิยมกลับมาสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งในปี 2014

ทศวรรษแห่งความล่าช้า

ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยที่จะกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของประยุทธ์ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชาเลยแม้แต่น้อย เขาเสียเวลาในช่วงแรกก่อนมีการเลือกตั้งในปี 2019 ไปกับการกำราบฝ่ายค้านหรืออีกนัยหนึ่งคือ ‘พวกทักษิณ’ ให้สิ้นซาก (แต่โชคร้ายที่เกิดกลุ่มซึ่งไม่ใช่พวกทักษิณตามมาอีกมากมายเกินกว่าจะปราบไหว) หลังการเลือกตั้งได้มีนักการเมืองที่เป็นเทคโนแครตและนักธุรกิจที่พอมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้เข้ามาร่วมรัฐบาล จึงมีการประชุมร่วมของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของทั้งสองฝ่ายที่กรุงเทพฯ ตกลงกันว่าจะกลับเข้าสู่การเจรจาเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งพลังงานในเขตพื้นที่ทับซ้อนอีกครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรคืบหน้า จนกระทั่งสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 จึงได้แต่เพียงออกมาแสดงความคาดหวังต่อรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาแทนเขาจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อ[3]

เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีเป็นสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตผู้บริหารพีทีที โกลบอล เมื่อเดือนสิงหาคม 2020 ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรที่มีนัยสำคัญอยู่เป็นเวลานาน รัฐมนตรีคนใหม่เพียงเตรียมการโดยดึงณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำพนมเปญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจทางด้านพลังงานให้เร่งหาทางเปิดการเจรจาอยู่เป็นระยะ เพราะยิ่งเนิ่นนานออกไปก็เสียประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย อีกทั้งราคาพลังงานในตลาดโลกก็เริ่มผันผวน

จนกระทั่งเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ซึ่งก็เป็นเวลาที่รัฐบาลประยุทธ์ชุดหลังการเลือกตั้งได้เดินทางไปเกินครึ่งเทอมแล้วจึงมีความเคลื่อนไหวที่ดูจริงจังออกมาบ้าง เมื่อประวิตรเรียกประชุมคณะกรรมการด้านเทคนิค (Joint Technical Committee) ฝ่ายไทยที่เขานั่งเป็นประธานอยู่ เพื่อพิจารณาจัดทำกรอบการเจรจากับกัมพูชาและตั้งคณะทำงานสองชุดคือ ชุดที่ว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้า และอีกชุดหนึ่งว่าด้วยระบอบการพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวก็ดูเป็นการทำงานของระบบราชการปกติธรรมดาไม่ได้มีอะไรพิเศษ อีกทั้งกรอบการเจรจาที่คณะกรรมการนี้วางขึ้นมาก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ที่จะส่อเค้าให้เกิดความสำเร็จได้ในเร็ววัน เพราะเพียงแต่บอกว่าจะเจรจากันตามบันทึกความเข้าใจปี 2001 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ไทยทุกด้าน เพื่อรักษาสิทธิของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศและบันทึกความเข้าใจที่ได้ทำกันเอาไว้

ที่น่าสนใจและอาจจะพอมีประโยชน์อยู่บ้างคือ คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้อื่นๆเพื่อเจรจากับกัมพูชาให้บรรลุผลถ้าหากเห็นว่าแนวทางนั้นจะให้ผลประโยชน์สูงสุดกับไทยและรับประกันว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส ตามกฎหมายภายในของไทยและสามารถอธิบายเหตุผลและความจำเป็นแต่สาธารณชนได้  อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นแต่เพียงการว่าไปตามหลักการที่ควรจะเป็นเท่านั้น แต่แม้แต่รายงานเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรีทราบเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมาก็ยังไม่มีบันทึกเอาไว้ในเว็บไซต์ของรัฐบาลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยสะดวก เรื่องอื่นๆ คงจะไม่มีอะไรเปิดเผยหรือโปร่งใสเป็นแน่แท้

ถัดจากนั้นมาเกือบ 1 ปีเต็ม ทางฝ่ายกัมพูชาจึงเริ่มส่งสัญญาณออกมาว่าพร้อมที่จะเปิดการเจรจาเรื่องการร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อน[4] โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าจะต้องไม่มีการยกเรื่องเขตแดนทางทะเลและการแบ่งไหล่ทวีปขึ้นมาเป็นอุปสรรค จากนั้นสุพัฒนพงษ์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อประสานงานเพื่อเตรียมการเจรจา และกระทรวงการต่างประเทศแจ้งกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2022 ว่าได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับกัมพูชาแล้วและการประชุมร่วมกันครั้งแรกเป็นไปด้วยดี มีแนวโน้มคืบหน้าอาจจะสามารถนำพลังงานจากพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ได้ภายในระยะเวลา 10 ปี

ประเด็นที่ตกค้างมาหลายปีที่จะต้องเจรจากันต่อไปมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างสองฝ่ายควรจะเป็นเท่าใดจึงจะเป็นธรรมที่สุด ระบบการจัดเก็บรายได้จะเป็นอย่างไร การจัดสรรสิทธิของผู้ได้รับสัญญาสัมปทานเดิมจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าไทยได้ให้สัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนกับบริษัททางด้านปิโตรเลียมหลายบริษัทตั้งแต่ปี 1968 ส่วนกัมพูชานั้นได้ให้สัมปทานกับบริษัทต่างๆ ไปเมื่อปี 1997 ประเด็นต่อมาคือระบบหรือโครงสร้างในการบริหารจัดการพื้นที่พัฒนาร่วมจะเป็นอย่างไร รูปแบบองค์กรแบบไหน จัดสรรงบประมาณและดำเนินการภายใต้กฎระเบียบอะไร เรื่องระบบภาษีศุลกากรจะเป็นอย่างไร กฎระเบียบว่าด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมจะกำหนดกันอย่างไร เป็นต้น

บทสรุปที่อาจจะล่าช้าต่อไป

นับแต่การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อปี 2001 จนถึงปัจจุบันนับได้ 20 ปีเศษแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรคืบหน้าในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย คณะกรรมการและคณะทำงานชุดแล้วชุดเล่า รัฐบาลและรัฐมนตรีผ่านไปหลายคณะแล้ว ทั้งสองประเทศก็ยังไม่สามารถเปิดการเจรจาในเรื่องสาระสำคัญของการร่วมพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์กันแต่อย่างใด

ความล่าช้าในช่วงแรกนั้นเกิดจากปัญหาทางการเมืองภายในของไทยอันเนื่องมาจากขบวนการชาตินิยม (กำมะลอ) ที่หยิบปัญหาเรื่องเขตแดนและวาทกรรมเสียดินแดนมาเล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามจนทำให้การเจรจาเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่ไม่มีใครอยากแตะต้อง นักการเมืองและเจ้าหน้าที่หลายรายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีอันต้องเจอวิบากกรรมไปตามๆ กันบางคนหลุดจากตำแหน่ง บางคนถูกโยกย้ายไปในที่ไม่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ แม้แต่ตัวบันทึกความเข้าใจปี 2001 ที่ใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการเจรจาก็ยังแทบจะไม่อาจจะคงสภาพอยู่ได้เกือบต้องสูญสลายไปเพราะพิษทางอารมณ์ของนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม

ความล่าช้าในช่วงที่สองคือนับจากการรัฐประหารปี 2014 เป็นต้นมาอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากความไม่ประสีประสาในกิจการต่างประเทศของผู้นำในรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่มีบุคลากรที่รับรู้เรื่องนี้ที่มีอำนาจอยู่ในรัฐบาลกลับไม่สามารถผลักดันให้เปิดการเจรจาได้ ส่วนหนึ่งนั้นอาจเป็นผลมาจากความไว้วางใจระหว่างสองประเทศที่สูญเสียไปจากช่วงแรกที่เกิดความขัดแย้งที่มีต้นตอมาจากกลุ่มอนุรักษนิยมที่ก็กลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นหัวหอกในการสร้างความขัดแย้งกับกัมพูชาในครั้งก่อนจะไม่ได้คุมกิจการต่างประเทศและเรื่องพลังงานแล้วก็ตาม แต่ประวิตรซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในตอนที่ขัดแย้งกันรุนแรงถึงขั้นเกิดการปะทะกันตามแนวชายแดนเมื่อปี 2011 และรับรู้เรื่องนี้มาตลอดกลับกลายมาเป็นคนที่ดูแลการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลเสียเอง ก็อาจจะเป็นผลให้ทางฝ่ายกัมพูชาไม่วางใจก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าคนที่ออกหน้าจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีพลังงานก็ตาม แต่รัฐบาลในพนมเปญและเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีฮุน เซนย่อมรู้ดีว่าใครเป็นผู้คุมเกม

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของไทยมักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเจรจาหยุดชะงักเสมอๆ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลก็จะมีการเปลี่ยนท่าทีไปเรื่อยๆ สถานการณ์ของรัฐบาลปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้เป็นคุณต่อการเจรจาแต่อย่างใด เพราะเหตุว่ากำลังจะหมดวาระลงไปและยังไม่แน่ว่าจะสามารถรักษาตำแหน่งกันเอาไว้ได้หลังการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในช่วงกลางปีนี้ ถ้าหากการเมืองเปลี่ยนขั้วอีกครั้งรูปการณ์ของเรื่องอาจกลับไปสู่ที่เดิมอีกครั้งก็เป็นได้ เพราะผู้มีอำนาจในปัจจุบันอาจหยิบยกประเด็นชาตินิยมแบบเดิมๆ หรือสร้างวาทกรรมผลประโยชน์ทับซ้อนของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามมาโจมตีและถ่วงให้การเจรจาหยุดชะงักหรือล่มสลายไปอีกก็เป็นได้


[1] Kang Sothear “Despite huge gas potential, OCA negotiation makes little progress” Khmer Times August 23, 2022 (https://www.khmertimeskh.com/501136633/despite-huge-gas-potential-oca-negotiation-makes-little-progress/?fbclid=IwAR09N3jlM0n66jgSuoGcYRD1PtRAgjZjMTruHdWLjqDAOo0T6l0qhjEQFK8)

[2] Vong Sokheng “Cambodia Thailand eye Overlapping Claims Area” Phnom Penh Post September 19, 2012 (https://www.phnompenhpost.com/national/cambodia-thailand-eye-overlapping-claims-area)

[3] “Chang in Thai energy minister may finally see resumption of talk with Cambodia after 20- year delay” Khmer Times July 21, 2020 (https://www.khmertimeskh.com/50746910/change-in-thai-energy-minister-may-finally-see-resumption-of-talks-with-cambodia-after-20-year-delay/)

[4] Hom Phanet “Cambodia keen to resume gas field talks” Phnom Penh Post August 23, 2022

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save