fbpx
“การพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ต้องอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” - ปราบดา หยุ่น

“การพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ต้องอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” – ปราบดา หยุ่น

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

ในวาระที่การประกาศรางวัลโนเบลเวียนมาอีกครา สิ่งที่คนในแวดวงหนังสือเฝ้าจับตากัน ก็คือรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปีนี้จะไปตกอยู่ที่ใคร แน่นอนว่าหนึ่งในนักเขียนที่คนไทยคุ้นเคยและเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ มาหลายปี ย่อมหนีไม่พ้น ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนชาวญี่ปุ่น ผู้เป็นไอดอลของยุคสมัยแห่งความว้าเหว่

หากมองไปในภูมิภาคเอเชีย นักเขียนจากหลายประเทศสามารถสร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คนเอเชียที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนล่าสุด คือ โม่เหยียน (Mo Yan) นักเขียนชาวจีนที่ได้รับรางวัลนี้ในปี 2012 และถ้ามองใกล้เข้ามาในระดับอาเซียน นักเขียนอย่าง ปราโมทยา อนันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) ของอินโดนีเซีย ก็เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขานี้อยู่หลายครั้ง

ทว่าเมื่อมองกลับเข้ามายังประเทศไทย แม้ทุกวันนี้จะมีหนังสือแปลให้เราเลือกอ่านกันหลากหลายแนว จากหลากหลายประเทศ แต่งานของนักเขียนไทยที่ได้รับการแปลและเผยแพร่ในต่างประเทศนั้น กลับมีอยู่น้อยนิดเหลือเกิน

ถ้ามองแบบผิวเผิน นี่อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต เมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ ที่คนในแวดวงสิ่งพิมพ์กำลังหวาดวิตกกัน แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปอีกระดับ สภาวะดังกล่าวอาจสะท้อนว่าการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในบ้านเรานั้นมีปัญหา คำถามที่น่าคิดก็คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้วรรณกรรมไทยไม่ได้รับความสนใจในระดับสากลเท่าที่ควร เพราะคุณภาพงานของเรายังไม่ดีพอ หรือเพราะข้อจำกัดอื่นๆ ที่ไม่อาจควบคุม

หนึ่งในคนที่น่าจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ คือ ‘ปราบดา หยุ่น’ เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ปีล่าสุด

หลังสร้างชื่อจากการคว้ารางวัลซีไรต์ จากรวมเรื่องสั้น ‘ความน่าจะเป็น’ เมื่อปี 2545 ปราบดาก็โลดแล่นอยู่ในแวดวงหนังสือมาโดยตลอด ทั้งบทบาทของนักเขียน นักแปล เจ้าของสำนักพิมพ์ ไปจนถึงการเป็นอุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ด้านต่างประเทศ ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Publishers Association : APPA) ในปี 2558

ล่าสุด ผลงานรวมเรื่องสั้น ‘ความน่าจะเป็น’ ของเขา ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ ‘The Sad Part Was’ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Tilted Axis ของอังกฤษ และเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับคัดเลือกจาก The Guardian ให้เป็นหนังสือที่น่าจับตาแห่งปี 2017

101 ชวนปราบดามาสำรวจแวดวงหนังสือไทยในปัจจุบัน เทียบเคียงกับแวดวงหนังสือในระดับสากล ไปจนถึงต้นตอของปัญหา ว่าเหตุใดศิลปวัฒนธรรมของบ้านเราจึงยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร

 

ถ้าให้มองแวดวงหนังสือไทยตอนนี้ เราอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ถ้าเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน ถือว่าวงการหนังสือบ้านเราก็ดีกว่าหลายๆ ประเทศ ทั้งในเชิงธุรกิจ ความคึกคัก หรือความเป็นสากล เราดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนเยอะ แต่ถ้าเทียบในระดับเอเชียแปซิฟิก อย่างญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ถือว่ายังเทียบไม่ได้ เพราะประเทศพวกนี้มีจำนวนผู้บริโภคหนังสือที่จริงจังกว่าเรา มีวัฒนธรรมการอ่านการซื้อหนังสือมานาน ไม่ต่างจากตะวันตก แต่สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น

จากที่คุณเคยแลกเปลี่ยนกับคนทำหนังสือหลายๆ ประเทศ เขามองแวดวงหนังสือไทยว่ายังไงบ้าง

เขาก็ค่อนข้างทึ่งนะครับ โดยเฉพาะคนที่เคยมางานสัปดาห์หนังสือของเราที่ศูนย์สิริกิติ์ เขาจะสังเกตว่ามีคนมาในงานเยอะมาก ทำให้รู้สึกว่าบรรยากาศการอ่านการซื้อหนังสือของคนไทยมีความคึกคัก แต่การที่เขาจะมาสนใจงานของเราอย่างจริงจังนั้น ถือว่ายังน้อย เพราะมีกำแพงเรื่องภาษาอยู่ ฉะนั้นการเติบโตของเราจึงเป็นการเติบโตและมีคุณภาพเฉพาะในเมืองไทย แต่เมื่อพูดถึงความแพร่หลายในต่างประเทศ เรายังไปไม่ถึงจุดนั้นเท่าไหร่ เรื่องภาษาเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด

 

แต่เท่าที่ผ่านมา ก็เห็นว่ามีงานของนักเขียนหลายคนที่ได้รับการแปลและเผยแพร่ในต่างประเทศเหมือนกัน

ที่เกิดขึ้นคือการผลักดันในลักษณะปัจเจก และเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง บางคนแปลหนังสือของตัวเอง บางคนก็มีต่างชาติสนใจขอไปแปล ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นรายบุคคล และถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์แวดวงหนังสือไทยที่มีมานานมากแล้ว การก้าวข้ามไปสู่ต่างประเทศของธุรกิจหนังสือไทยอย่างจริงจัง อาจพูดได้ว่ายังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

 

อย่างรวมเรื่องสั้น ‘ความน่าจะเป็น’ ของคุณ ที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ของอังกฤษ ก็ถือเป็นความพยายามในระดับปัจเจกด้วยถูกไหม

ใช่ครับ เป็นการผลักดันแบบปัจเจกล้วนๆ รวมถึงไม่ได้เป็นความพยายามของตัวผมเองด้วย เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้คุณมุ่ย-เลิศหล้า ภู่พกสกุล ซึ่งเป็นผู้แปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นผู้ผลักดันให้เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์

ส่วนงานของคนอื่น ยกตัวอย่างที่ผมรู้ เช่น เรื่อง ‘ลับแล แก่งคอย’ ของ อุทิศ เหมะมูล ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ผู้เขียนเองแสดงความจำนงต่อสำนักพิมพ์ว่าอยากหาคนมาแปลงานเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากนะครับ เพียงแต่ว่าในแง่ระบบของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ถ้าเป็นประเทศอื่นที่มีกระบวนการที่ชัดเจน มันจะไม่เกิดสิ่งนี้ขึ้น ถ้าสำนักพิมพ์เห็นว่างานมีโอกาสแปลเป็นภาษาอื่นๆ นักเขียนไม่ควรต้องพยายามขวนขวายเอง จะมีระบบจัดการเรื่องพวกนี้ให้ เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ในเชิงศิลปวัฒนธรรมของประเทศ และได้ประโยชน์ในแง่ธุรกิจ

หลายประเทศมองว่าการที่งานวรรณกรรมจากประเทศของเขา ได้รับการเผยแพร่ไปสู่ต่างชาติหลายๆ ภาษา มันยิ่งทำให้วัฒนธรรม สังคม กระทั่งความเป็นชาติของเขา ได้รับความสนใจมากขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นจากคนต่างชาติ เขาคิดว่านี่เป็นเรื่องดีที่ควรส่งเสริม แต่ในประเทศไทย ที่ผ่านมาเราไม่เคยมองมุมนี้ หรือคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังเท่าไหร่

 

ถ้าให้ยกตัวอย่างกระบวนการหรือระบบที่ต่างประเทศเขามี แต่เมืองไทยไม่มี กระบวนการที่ว่านี้เป็นยังไง

มันต้องอยู่ในนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนโยบายของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม จากประสบการณ์ส่วนตัวผม หลายครั้งที่พบว่าอยู่ดีๆ ก็มีสถานทูตต่างชาติติดต่อมา ว่าอยากเผยแพร่งานวรรณกรรมของประเทศเขาให้คนไทยได้อ่าน โดยที่เขาจะมีทุนสนับสนุนการแปล มีทุนสนับสนุนการพิมพ์ ให้กับสำนักพิมพ์ในประเทศนั้นๆ ด้วย

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีประเทศจากยุโรปหลายประเทศติดต่อผ่านผมมา ว่าอยากแปลงานวรรณกรรมของประเทศเขาเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศเขา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากนโยบายระดับภาครัฐของเขาเลย ส่วนของไทย เท่าที่ทราบ ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีกรณีที่สถานทูตไทยในต่างประเทศพยายามติดต่อกับองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรม หรือสำนักพิมพ์ของประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะนำงานของคนไทยไปเผยแพร่

จริงๆ สิ่งนี้ควรจะเป็นหนึ่งใน agenda ของสถานทูตด้วยซ้ำ เพื่อแลกเปลี่ยนความเข้าใจและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน แต่ของไทยจะเราเน้นการจัดอีเว้นต์ด้านอื่นๆ เช่น มหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่งานเกี่ยวกับการแปลวรรณกรรมหรือพิมพ์หนังสือ ซึ่งใช้ต้นทุนไม่มาก กลับไม่ได้รับความสนใจเลย

 

แล้วถ้ามองในแง่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีความพยายามผลักดันสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรามีความพยายามในการผลักดันแค่ไหน แต่ถ้าพูดเฉพาะในช่วงเวลาที่ผมได้สัมผัส ผมพบว่าต่อให้เรามีความสนใจที่จะผลักดันจากข้างใน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการหรือคนที่เกี่ยวข้องกับสมาคมต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้น เพราะมันเป็นงานที่ไม่เคยถูกจัดวางมาตรฐานมาก่อนในบ้านเรา พูดง่ายๆ ว่ามันเป็นงานใหญ่ที่ไม่สามารถทำคนเดียว หรือเกิดจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐหรือนายทุนที่พร้อมทุ่มเทกับมันจริงๆ

เท่าที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าคนที่อยากผลักดันเรื่องนี้ในเมืองไทย แม้จะมีไม่เยอะ แต่ก็มีอยู่ ปัญหาคือแรงสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้นั้น แทบไม่มีเลย

 

 

ถ้าให้ลองวิเคราะห์ปัญหา คุณคิดว่าสาเหตุคืออะไร

ผมว่ามันไม่ใช่การลงทุนที่ดูมีเสน่ห์ ไม่ใช่ธุรกิจที่หวือหวา แล้วก็ใช้เวลานานมาก กว่าที่หนังสือเล่มหนึ่งจะถูกแปล ผลักดันไปต่างประเทศ จนกระทั่งได้รับการยอมรับในต่างประเทศ กระบวนการมันค่อนข้างยาวนาน เห็นผลช้า ขณะที่การสนับสนุนเรื่องอื่นๆ ที่เห็นผลภายในหกเดือน หรือหนึ่งปี มันชัดเจนกว่า มีแรงกระตุ้นที่ทำให้คนอยากลงทุนมากกว่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่เรื่องการแปล เราก็มีปัญหาแล้ว เราขาดบุคลากรที่จะสามารถแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ที่สามารถวัดคุณภาพหรือมาตรฐานได้จริง ขณะเดียวกันก็ไม่มีระบบที่ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ยังเป็นการทำแบบปัจเจกอยู่ ถ้าคนนี้ทำได้ดี ก็ดีอยู่คนเดียว ถ้าคนนี้ป่วยขึ้นมาก็ไม่มีคนทำแล้ว หรือถ้าจู่ๆ คนนี้เลิกทำ เพราะเบื่อ ก็ไม่มีคนทำแล้ว มันไม่มีอะไรมาผลักดันหรือสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

นี่คือปัญหาใหญ่ของเมืองไทย ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาเฉพาะแวดวงวรรณกรรมด้วย แต่เป็นปัญหาระดับชาติของความไม่ต่อเนื่องในแง่การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เปลี่ยนรัฐบาลทีนึง นโยบายก็เปลี่ยน แล้วเรื่องศิลปวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญน้อยที่สุด ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะเมืองไทย หลายๆ ประเทศก็เป็น

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้งานวรรณกรรมไทยไม่ได้เป็นที่จับตามาก ก็คือเรื่องทางประวัติศาสตร์การเมือง ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีประเด็นทางการเมือง ที่เป็นที่สนใจในระดับสากลมากขนาดนั้น อย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจ แต่ละชาติเป็นที่สนใจบนเวทีโลกอยู่แล้ว และมักจะมีประเด็นดึงดูดบางอย่างซึ่งสะท้อนออกมาในงานวรรณกรรม แต่ของไทยเรายังไม่มีประเด็นที่ชัดเจนแบบนั้น แม้แต่วิกฤตทางการเมืองของเราเอง ก็เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ถ้าไม่ได้อยู่เมืองไทยมานาน หรือว่าสนใจศึกษาเรื่องพวกนี้จริงๆ มันก็เป็นเรื่องไกลตัวเขามาก

 

แล้วคุณมองว่าการผลักดันเรื่องนี้ จะมีความเป็นไปได้ในสักวันไหม

ถามว่าเป็นไปได้ไหม ผมว่าเป็นไปได้ เพราะว่ามันไม่ยาก เพียงแต่ว่ามันยากที่จะมีคนริเริ่ม แล้วทำอย่างเข้าใจ จริงใจ และทุ่มเทให้กับมันจริงๆ ถึงที่สุดก็อาจต้องเริ่มจากการมีรัฐบาลที่ดีด้วย

 

รัฐบาลที่ดีหมายถึงรัฐบาลแบบไหน แล้วเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมยังไง

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลเผด็จการทุกรัฐบาลจะมีความกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะเขาไม่ชอบให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ชอบฟังเรื่องด้านลบของสังคม เพราะมันจะสะท้อนว่าปัญหาเกิดขึ้นมาจากตัวรัฐบาลเอง ฉะนั้นรัฐบาลแบบนี้ จะไม่มีความสนใจที่จะสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมให้พัฒนาไปข้างหน้า จะไม่พยายามส่งเสริมให้มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่จะทำในลักษณะของการอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้มากกว่า

ถ้าให้มองสถานการณ์ตอนนี้ ตราบใดที่การเมืองไทยยังไม่สามารถก้าวผ่านการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ไปได้ ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่มีการแข่งขันที่เปิดเสรีทางความคิดอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ต่อให้รัฐบาลนี้พยายามทำ สร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อแปลหนังสือไทยไปสู่ต่างประเทศ สุดท้ายมันก็จะมีอคติในการเลือกงานไปแปลอยู่ดี คือเป็นงานที่ส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีของประเทศเท่านั้น หรือพูดถึงศิลปวัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์ของเราเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต่างประเทศจะสนใจ

ผมเชื่อว่าศิลปวัฒนธรรมจะเติบโตได้ ก็ต่อเมื่อวุฒิภาวะของประเทศและสังคมโดยรวมได้ผ่านความเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเองไปแล้ว

แล้วช่วงก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลทหาร เคยมีนโยบายหรือความพยายามส่งเสริมเรื่องนี้ที่พอจะหวังผลได้บ้างไหม

ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าความคล้ายกันของทุกรัฐบาล คือมองเรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเป็นแค่การสร้างภาพลักษณ์ เป็นนโยบายสร้างภาพที่พร้อมจะสลัดทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ พูดง่ายๆ ว่ามันเปราะบางมาก ในแง่ที่คนมีอำนาจในประเทศเรา พร้อมที่จะไม่เคารพต่อนโยบายส่วนรวม ไม่สนใจว่าสิ่งที่เขาทำกันมานั้น มีความต่อเนื่องอย่างไร หรือส่งผลอะไรกับสังคมบ้าง ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองสนใจหรือพอใจก็หยุด เลิก ตัดงบ เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด

ดูเหมือนว่าทางออกที่พอจะเป็นไปได้ในตอนนี้ ก็คือต้องทำแบบตัวใครตัวมันต่อไป

ตอนนี้มันเป็นแบบนั้น แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ถูก ไม่ใช่ระบบที่ถูกต้อง ทางออกที่ดีก็คือ ให้การสนับสนุนอย่างไม่มีข้อแม้ ด้วยหลักการพื้นฐานที่เชื่อว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาประเทศได้

ผมมองว่าถ้าเรื่องศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรม หรืองานศิลปะใดๆ ก็ตาม ได้รับความเข้าใจและความเคารพในฐานะที่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นอัตลักษณ์หนึ่งของชาติ ที่สามารถพัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงได้ มันก็ควรมีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยน แต่นโยบายเหล่านี้ต้องไม่เปลี่ยน การพัฒนาศิลปวัฒนธรรมต้องอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา ไม่ใช่สิ่งที่คุณสามารถสร้างได้ภายในปีสองปี

แล้วถ้ามองในแง่ของตัวงาน พอจะมีใครหรือผลงานไหนที่มีศักยภาพในระดับสากลไหม

ถ้าดูงานของคนไทยตอนนี้ หลายคนก็มีศักยภาพพอที่จะเป็นที่สนใจของคนต่างชาติ แต่ปัญหาคือกระบวนการที่จะนำเสนองานของตัวเองไปสู่ชาวต่างชาติ มันไม่ง่าย ไม่ใช่แค่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วคาดหวังว่าคนจะมาสนใจ และไม่ใช่ว่าเอาใครก็ได้ที่รู้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยมาทำงานแปล สิ่งเหล่านี้มันเป็นศิลปะหมด คนแปลก็ต้องเป็นคนแปลที่มีทักษะ มีศิลปะในการแปลที่เหมาะสม คนที่จะทำการตลาดก็ต้องรู้จักตลาดที่ตัวเองอยากจะไป อยากจะขายในอเมริกาก็แบบหนึ่ง ในฝรั่งเศสก็อีกแบบหนึ่ง หรือในญี่ปุ่นก็อีกแบบหนึ่ง

บางทีในมุมของคนทำงาน บางคนอาจตัดพ้อว่างานเราดี แต่ทำไมไม่มีคนสนใจ งานไทยมีคุณภาพมากมายแต่ทำไมต่างชาติถึงไม่เห็นคุณค่า ปัญหาคือเรามีกระบวนการที่จะทำให้เขาเห็น สนใจ หรือให้คุณค่ากับงานของเราแค่ไหน ถามว่าคนเก่ง ทำงานดี มีคุณค่าระดับสากล มีเยอะไหม พูดได้เลยว่ามีเยอะมาก แต่ไม่ได้หมายความว่างานเหล่านั้นจะถูกค้นพบหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้เสมอไป ถ้าไม่ผ่านกระบวนการบางอย่าง

 

 

งานเรื่อง ‘ความน่าจะเป็น’ ของคุณ นอกจากจะได้รับการแปลและตีพิมพ์ในต่างประเทศแล้ว ยังได้รับรางวัล Pen Translates จาก English Pen ของอังกฤษด้วย อยากทราบว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้งานชิ้นนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานเล่มนี้ เขามีนโยบายชัดเจนว่าอยากพิมพ์งานจากเอเชียที่แตกต่างออกไปจากภาพลักษณ์ของเดิมๆ ที่ชาวตะวันตกคุ้นเคย เขาไม่ได้ต้องการภาพช้าง การรำไทย หรือความทุรกันดาร ซึ่งงานผมอาจมีคุณสมบัติแบบนั้น มีความเป็นเมือง มีรูปแบบของงานทดลอง ซึ่งถ้าถามคนไทย บางคนก็ไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ไทย แต่การที่คนต่างชาติจะสนใจงานแบบนี้ ผมว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะมันมีความเป็นสากลที่สื่อสารกับเขาได้

ยกตัวอย่างมูราคามิ ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็เป็นความสำเร็จในระดับปัจเจกมากๆ ไม่ได้แปลว่านักเขียนญี่ปุ่นทุกคนจะได้รับความสนใจแบบมูราคามิ สิ่งที่ทำให้มูราคามิประสบความสำเร็จก็คืองานที่มีเสน่ห์ดึงดูดคนอ่านในระดับสากล ซึ่งก้าวพ้นเรื่องขนบธรรมเนียมของชาติไป บางทีงานที่สะท้อนวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นจนเกินไปก็อาจไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก

แต่ถามว่าเป็นเรื่องดีหรือเปล่า ก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ผมคิดว่าอย่างน้อยเพื่อเป็นการเปิดหูเปิดตาคนอ่าน สำนักพิมพ์ต่างชาติก็ควรให้ความสำคัญกับรายละเอียดหรือประเด็นที่เป็นเรื่องท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งอาจไม่มีความเป็นสากลเท่าไหร่ แต่จะทำให้เข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้นๆ ในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น

 

แล้วการที่ได้คุณได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APPA) มีความสำคัญแค่ไหนกับตัวคุณ รวมถึงมีผลต่อการผลักดันวรรณกรรมไทยสู่ต่างประเทศแค่ไหน

ต้องบอกตามตรงว่าตำแหน่งนี้ไม่ได้มีความหมายหรือยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้นเลยครับ มันเป็นสมาคมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในประเทศเหล่านี้ ซึ่งตัวผมเองไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรอยู่แล้ว

ต้องอธิบายว่าในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อาจแบ่งกลุ่มคนได้เป็นสองแบบใหญ่ๆ หนึ่งคือกลุ่มคนที่เข้ามาเพราะความลุ่มหลงในหนังสือ หลงใหลในวรรณกรรม กับกลุ่มคนที่เข้ามาด้วยจุดประสงค์ของการทำธุรกิจล้วนๆ ซึ่งสมาคมนี้ เกิดจากกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญทางด้านธุรกิจมากกว่า ไม่ใช่กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญด้านเนื้อหาเท่าไหร่

ที่ผ่านมาสมาคมนี้จะเน้นการประชุม กิจกรรมหลักๆ ของสมาคมคือตัวแทนแต่ละประเทศของสมาชิกเข้าร่วมประชุมปีละครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของแต่ละประเทศ ไม่ได้เป็นสมาคมที่มีบทบาทอะไรในแง่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมาก แล้วคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสมาคมพวกนี้ เขาอยู่กันมาเป็นสิบปี ผมเป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่บังเอิญมีโอกาสเข้าไปดูแลฝ่ายต่างประเทศให้กับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ของไทย ก็เลยกลายเป็นตัวแทนประเทศไทยไปโดยปริยาย

ทีนี้ด้วยความที่คนส่วนใหญ่ในสมาคมเขารู้จักกันมานาน อาจมีผลประโยชน์บางอย่างที่ทับซ้อนกันอยู่ ฉะนั้นการเลือกคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียให้เป็นประธาน น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด สุดท้ายก็เลยมาลงที่ผม แค่นั้นเอง (หัวเราะ)

แล้วมันทำให้เห็นอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม

จะบอกว่าไม่ได้อะไรเลยก็คงไม่ใช่ สิ่งที่ได้หลักๆ ก็คือการรับรู้ความเป็นไปต่างๆ ในวงการหนังสือของแต่ละประเทศ อย่างวันนี้ที่ผมมาตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็เพราะผมได้ไปสัมผัสงานพวกนี้มา แต่ถามว่าตัวผมเองจะสามารถผลักดันอะไรได้ไหม ก็คงต้องบอกว่าไม่มีศักยภาพขนาดนั้น

ในแง่ส่วนตัว คุณมีเป้าหมายหรือความตั้งใจที่ทำเรื่องนี้แค่ไหน ในการผลักดันวรรณกรรมไทยไปสู่ต่างประเทศ

มีไม่มากครับ (หัวเราะ) หมายความว่ามันไม่ใช่บทบาทที่ผมอยากเข้าไปทำอย่างเต็มตัวอยู่แล้ว เพราะโดยตัวตนของผมจริงๆ ในแง่วรรณกรรม ก็คือนักเขียน ผมไม่ใช่คนที่อยากมีบทบาทหรืออยากอยู่ในตำแหน่งสูงๆ เพื่อผลักดันงานของคนไทยไปต่างประเทศ แต่ผมอยากเป็นนักเขียนคนหนึ่งซึ่งได้รับการผลักดันไปสู่ต่างประเทศมากกว่า ไม่ใช่เป็นคนผลักดันเอง เพราะเรารู้ว่าตัวเองไม่ได้มีบุคลิกและวิถีชีวิตแบบนั้น

 

ในฐานะที่เป็นทั้งนักเขียน รวมถึงทำสำนักพิมพ์ มองแวดวงหนังสือไทยตอนนี้ยังไง

ในแง่ของภาพลักษณ์ภายนอก ผมคิดว่ามีความคึกคักและมีความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในวงการเยอะขึ้น แล้วถ้าดูในแง่คุณภาพ เช่น การพิมพ์ หรือการออกแบบปก ก็รู้สึกว่ามีความเป็นสากลขึ้นเยอะ มีความน่าหยิบจับ น่าซื้อ มีความเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานมากขึ้น

แต่ถ้ามองแบบลึกๆ ผมรู้สึกว่าในความคึกคักนั้น เป็นผลมาจากการที่ทุกวันนี้เรามีการสื่อสารกับผู้อ่านผ่านทางโซเชียลมีเดียมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ระหว่างคนที่แอคทีฟมากๆ ในการนำเสนอตัวเอง กับคนที่ไม่นำเสนอตัวเองเลย วิธีการแบบนี้เหมือนเป็นการกดดันให้ทุกคนต้องพยายามนำเสนอผลงานของตัวเอง แข่งกันจัดกิจกรรมของตัวเอง สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต่างก็ต้องไปงานของกันและกันเอง ในวงเล็กๆ ของตัวเอง

ถ้ามองในมุมนักเขียน ผมรู้สึกว่านักเขียนควรได้รับการสนับสนุนให้เขียนงานอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่น เช่น ถ้าเขาไม่ได้อยากเปิดเผยตัวเอง เขาก็ไม่ควรจะต้องเปิดเผย หรือถ้าเขาไม่อยากออกงานบ่อยๆ เขาก็ไม่ควรจะต้องไป ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่นักเขียนต้องยอมทำตามธรรมเนียมใหม่ๆ เพื่อให้เป็นที่รู้จักหรือได้รับการยอมรับในสังคม

สิ่งที่ควรมีคือระบบที่เข้ามาช่วยในส่วนนี้ เช่น ในต่างประเทศจะมีเอเย่นต์หรือฝ่ายการตลาดสำหรับวรรณกรรมโดยเฉพาะ คนเป็นนักเขียนหลายคนชำนาญการเขียนอย่างเดียว ซึ่งก็ถูกแล้ว สังคมไม่ควรเรียกร้องหรือกดดันว่านักเขียนต้องถ่ายเซลฟี่ได้ด้วย หรือต้องเขียนสเตตัสเฟซบุ๊กเป็นประจำ แต่ในยุคที่การแข่งขันเกิดจากการสื่อสารตรงอย่างรวดเร็วและล้นหลาม นักเขียนที่ไม่อยากทำสิ่งเหล่านี้ หรือทำไม่เป็น ก็จะเสียเปรียบไปโดยปริยาย

สำหรับผม งานเขียนเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะของมันแบบหนึ่ง ถ้าเรายังเห็นความสำคัญของการมีนักเขียน ก็ควรมีระบบให้นักเขียนทำงานได้ ไม่ใช่ไปบังคับว่าต้องทำตามกระแสนิยมถึงจะอยู่รอด แบบนั้นมันคือการเรียกร้องให้นักเขียนเป็นพีอาร์ให้ตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้หรืออยากทำ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการแบบนี้ มีส่วนช่วยให้วงการคึกคึกขึ้นจริงๆ

มันดูคึกคักเพราะมีคนที่แอคทีฟอยู่ แต่ถ้ามันไม่มีระบบ อย่างที่คุยกันไปในตอนแรก พอคนเหล่านี้หมดไป หรือไม่แอคทีฟแล้ว วงการจะยังคึกคักอยู่หรือเปล่า?

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save