fbpx
เปิดคลาสฉุกเฉินกับ ทวิดา กมลเวชช : “วิกฤตจะแก้ได้ดีต่อเมื่อเวลาปกติคุณพัฒนา”

เปิดคลาสฉุกเฉินกับ ทวิดา กมลเวชช : “วิกฤตจะแก้ได้ดีต่อเมื่อเวลาปกติคุณพัฒนา”

ธิติ มีแต้ม, สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ถ้าไม่นับ COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยเจอวิกฤตภัยพิบัติ ทำให้ประชาชนต้องบาดเจ็บ (ติดเชื้อ) และล้มตายลงจำนวนมาก

คำถามคลาสสิกคือ เงื่อนไขแบบไหนที่ทำให้ภาครัฐรับมือได้ดีหรือแย่ ตั้งแต่วิธีคิดของรัฐ มาตรการฉุกเฉิน นิสัยใจคอประชาชน ไปจนถึงภาวะผู้นำของผู้มีอำนาจ

กล่าวเฉพาะวิกฤตครั้งนี้ ลองเงี่ยหูฟังครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งเสียงปรบมือ ความพึงพอใจ กระทั่งความไว้เนื้อเชื่อใจก็ยังไม่มีวี่แววจากชาวบ้านตาดำๆ

นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไม #รัฐบาลมีไว้ทำไม จึงกระจายเต็มโซเชียลมีเดีย

เพื่อให้ความเป็นธรรมและคลายข้อสงสัย 101 ชวน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารสาธารณะและนโยบาย โดยเฉพาะการจัดการภัยพิบัติ มาเปิดห้องเรียนฉุกเฉินว่าในยามที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้น อะไรคือสิ่งที่รัฐควรทำหรือไม่ควรทำ

ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ค่อยๆ อ่านทีละบรรทัด…

 

ทวิดา กมลเวชช
ทวิดา กมลเวชช : ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัว

 

วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ตัวโรคและการรับมือ เหมือนหรือต่างไปจากวิกฤตภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นอย่างไร

ภัยพิบัติบางอย่างเกิดจากต้นตอที่ไม่เหมือนกัน กระบวนการทำงานหรือการใช้เทคนิคเข้าไปตอบสนองล้วนมีเงื่อนไขในการบริหารจัดการ ขณะเดียวกัน บางภัยพิบัติมีกฎหมายบางอย่างถูกนำมาใช้ต่างกัน เช่น เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น เรามีพ.ร.บ.ควบคุมโรคใช้ เราจะไม่ใช้พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แบบที่เคยใช้กันมา

ส่วนคำว่า ‘สาธารณภัย’ กับ ‘ภัยพิบัติ’ สองคำนี้ไม่เท่ากัน คือสาธารณภัยเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ส่วนรวม เกิดขึ้นกับชุมชน เช่น อุบัติเหตุที่เกิดบนถนนสักที่ หรือตลาดไฟไหม้ ก็เป็นสาธารณภัยทั้งนั้น แต่เมื่อไหร่ที่สาธารณภัยแต่ละเหตุการณ์เกินกว่าความสามารถที่พื้นที่จะรับมือได้ ก็เป็นภัยพิบัติ ถ้าพูดสรุปๆ คือทุกภัยพิบัติเป็นสาธารณภัย แต่ไม่ใช่ทุกสาธารณภัยจะเป็นภัยพิบัติ

โดยปกติโรคระบาดถือเป็นภัยพิบัติ แต่ว่ามันมีความเฉพาะตัวอยู่ ทีนี้โควิด-19 ต่างอย่างไรกับภัยพิบัติอื่นๆ เอาแค่ตัวโรคก่อน พอมันเกิดขึ้นและมีการขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่เชื้อโรคมันติดง่ายและระยะฟักตัวนาน แถมยังเป็นโรคใหม่ที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานลำบาก พอขยายกระจายวงกว้าง ความตึงเครียดจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มันกลายสภาพจากสาธารณภัยเป็นภัยพิบัติ

ส่วนความต่างของโควิดกับภัยพิบัติ งวดนี้มีความแปลกคือเชื้อมันลงที่สนามบินสุวรรณภูมิหรือสนามบินดอนเมืองก็จริง แต่มันไปไหนต่อและไปกับใครบ้างไม่รู้ เช่น นักท่องเที่ยวซึ่งมีความพิเศษคือเป็นคนประเภทไม่อยู่กับที่ เลยทำให้การเกิดการแพร่ระบาดง่ายขึ้น และเพราะเรามีความรู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก ช่วงแรกเราไม่รู้เลยว่ามันฟักตัวได้นานขนาดนี้ เราก็เลยเบามือกับมัน ซึ่งไม่ใช่ความผิดใครเลย เพราะเราไม่รู้จริงๆ นี่คือความต่างของโควิดกับภัยพิบัติที่เราเคยเจอมา

 

พอเป็นวิกฤตที่หลายประเทศไม่เคยเจอมาก่อน อาจารย์คิดว่าเงื่อนไขอะไรที่ทำให้บางประเทศรับมือได้ดี บางประเทศรับมือได้แย่

ภัยพิบัตินี้เกิดขึ้นทั่วโลก เหมือนส่งข้อสอบชุดเดียวกันให้ทั่วโลกทำแล้วดูว่ามีวิธีการทำงานแบบไหน และจะได้คำตอบแบบไหน ถ้ามองในแง่มาตรการ มีอยู่สามอันที่น่าสนใจ

หนึ่ง การบังคับใช้มาตรการแรง ใช้กฎหมาย สอง มาตรการด้านการจัดการ สาม มาตรการทางสังคม

ในการเทียบสามมาตรการนี้ยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องใหญ่ด้วย ทั้งวัฒนธรรมการเมือง วัฒนธรรมการบริหาร และจารีตของสังคมนั้นๆ เช่น วิธีการทักทายกันของคนยุโรป ยิ่งถ้าเป็นอิตาลีนี่มีทั้งกอดทั้งหอมแก้ม จุ๊บปากด้วยบางที ที่สำคัญคือพอเข้าฤดูหนาว เขาจะใช้เสื้อกันหนาวตัวเดิม และใส่รองเท้าเข้าบ้านกันปกติ

ประเด็นคือเวลาคนไอจามออกมา ไวรัสไม่ได้ค้างอยู่ในอากาศ สักพักมันต้องตกลงไปเกาะที่อะไรสักอย่างแน่นอน และพื้นคือที่รองรับไวรัสดีๆ นี่เอง พอคนเหยียบไปและใส่รองเท้าเข้าบ้านก็เอาเชื้อไปแพร่ต่อในครอบครัว เรื่องเหล่านี้มันเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยของสังคมที่ไม่ได้ระมัดระวังมากพอ

วัฒนธรรมการเมือง เช่น คนจะยอมให้รัฐบังคับหรือยอมอยู่ในกฎเกณฑ์หรือไม่ ผู้นำต้องตัดสินใจอย่างไร ต้องบังคับแค่ไหน ต้องเกรงใจมากแค่ไหน มีการประเมินผลกับการเลือกตั้งในรอบหน้าอย่างไร นี่เป็นวัฒนธรรมการเมืองของทั้งผู้มีอำนาจและประชาชน

วัฒนธรรมการบริหารจัดการ เช่น การบัญชาการอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพ ไม่แย่งกันสั่ง ไม่ทะเลาะกันเอง เกรงใจกัน เพราะระบบแบบนี้ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย แต่เป็นวิถีปฏิบัติในการทำงาน เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมแบบนี้ย่อมเป็นตัวแปรด้วย

ส่วนมาตรการทางกฎหมายที่มีทั้งยาแรงและไม่แรง เช่น การปิดเมือง อันนี้ถูกเอามาเปรียบเทียบกันตลอดเวลา เราจะเห็นว่าเมืองที่ lock-down จะเป็นเมืองต้นเหตุ อย่างที่จีนปิดเมืองต้นเหตุและเมืองข้างเคียงต้นเหตุ เมืองอื่นเขาไม่ปิดนะ เกาหลีใต้ก็เหมือนกัน จากเคสติดเชื้อหลักพันคน แป๊บเดียวขึ้นเป็นหมื่นคน เมื่อเป็นแบบนี้ผู้นำไม่ต้องกังวลเรื่องการขอปิดเมือง แต่ของไทยช่วงติดเชื้อแรกๆ 20-100 คน ถ้าให้ปิดเมืองก็น่าเห็นใจ เพราะเศรษฐกิจจะเสียหาย คนตกงาน สิ่งเหล่านี้พัวพันกันไปหมด

 

ประเทศที่ปิดเมืองแล้วบริหารจัดการได้ดี เขาทำอย่างไร

คำว่ามาตรการปิดมีการใช้หลายแบบมาก สิงคโปร์ก็ปิดแต่ไม่ได้ lock-down เขาปิดแค่ชายแดนเพื่อไม่ให้เพิ่มปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว แล้วก็มีแบบปิดเมืองต่อเมือง ตรวจเข้มทุกคน ที่สำคัญคือเขาสามารถทำให้คนของเขาใส่หน้ากากอนามัยได้เกือบ 100%

ที่เกาหลีใต้เคยมีประสบการณ์จาก MERS และ SARS ทำให้เขาทุ่มทรัพยากรไปเยอะด้วยความเชื่อว่าคนที่มีภาวะเสี่ยงทั้งหมดต้องนำมาตรวจ เขาตรวจเป็นแสนคนแล้วก็เจอเยอะมาก หากมีอาการเพียงนิดหน่อยก็ไปเฝ้าระวังที่บ้านโดยกักตัวเอง แล้วเขาก็ส่งข้าวส่งน้ำให้ นี่เป็นมาตรการที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ใช้กฎหมายหรือคำสั่ง

แต่สำหรับประเทศที่ไม่ทำ นอกจากมาตรการรัฐไม่มีหรือไม่ชัดเจน ยังมีความเชื่อที่ว่าโรคนี้ไม่ตายง่ายๆ  เดี๋ยวสักพักก็มีภูมิคุ้มกัน นี่ยังไม่นับประเทศที่เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยกำจัดโรคได้

 

คน วัดอุณหภูมิ COVID-19

 

เท่าที่เห็นชัดๆ มาตรการของประเทศไทยเป็นอย่างไร

ช่วงแรกๆ ต้องยกประโยชน์ให้ เพราะเรายังไม่รู้จักโรคนี้เท่าที่ควร ไม่รู้ว่าระยะเชื้อฟักตัวนาน 14 วัน แต่ปัญหาอยู่ที่เราทราบตั้งแต่แรกว่าต้นเหตุมาจากจีน แล้วคนจีนเดินทางเข้าไทยเยอะ พอเข้ามาแล้วคุณใช้วิธีแค่วัดอุณหภูมิ ในทางการแพทย์ก็รู้กันอยู่ว่าการวัดอุณหภูมิไม่พอ

ต้องยอมรับว่ามาตรการรัฐของเราอ่อนเรื่องนี้ ทีนี้พอเรารู้ว่าระยะเชื้อฟักตัว 14 วันแล้ว เราก็ยังไม่จัดการอะไร ปล่อยนักท่องเที่ยวเข้าๆ ออกๆ ทำให้เชื้อมันเดินทางไปไหนต่อไหนแล้ว

ต่อมาคือเรื่องหน้ากากอนามัย เราเถียงกันอยู่นั่นแหละว่าถ้าป่วยจะใส่หรือไม่ใส่ ช่วงแรกเราบอกว่าหน้ากากไม่พอ ไม่ป่วยอย่าใส่ คนป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จะได้มีพอใส่ แต่ไปๆ มาๆ คนป่วยก็ไม่ค่อยใส่หน้ากากนี่หว่า ระหว่างที่รัฐยักแย่ยักยันเรื่องนี้ คนก็ป่วยกันไปมากแล้วไง ยังไม่นับประเด็นหน้ากากไม่พอแล้วยังส่งออกไปขายต่างประเทศอีก ดังนั้นเราจะเห็นว่ามาตรการของรัฐไทยไล่หลังโรค ไม่มีการไปดักหน้าแบบไต้หวัน

 

ไต้หวันทำอย่างไร

ไต้หวันได้ผู้นำที่เก่งมาก พอไวรัสเกิดที่จีน เขารู้ว่าตัวเองอยู่ใกล้และไปมาหาสู่กันในทุกช่องทาง ขั้นแรกเขาออกมาให้ลดเที่ยวบินและปิดในที่สุด พอปิดแล้วก็กักตัวนักท่องเที่ยว เขาไม่สนใจว่าจะกระทบเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะกระทบแน่ๆ แล้วยังไปจัดสรรเงินมาพยุงการท่องเที่ยวไว้ พูดง่ายๆ เขาตัดสินใจตั้งแต่ปัญหายังไม่ลุกลามใหญ่โต เขาออกคำสั่งไม่ให้ส่งออกหน้ากากแม้แต่ชิ้นเดียว ตอนที่สั่ง ความต้องการหน้ากากยังไม่สูงมาก พอถึงวันที่คนต้องการใช้มากขึ้น หน้ากากก็เหลือพอใช้ พอผ่านไปสักสองสัปดาห์เขาก็ให้เงินคนออกมาช้อปปิ้งกันและใช้ชีวิตต่อไปได้

แต่มาตรการของไทยไม่ใช่มาตรการแบบดักหน้า เป็นมาตรการไล่งับหลัง แต่งับไม่ทันเพราะคนก็ไม่มีกฎระเบียบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ใช้ไม่เต็มที่ เหมือนออกมาเพื่อจิตวิทยามากกว่า ประกอบกับวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยมีความเป็นการเมืองสูงในการตัดสินใจ ทุกครั้งจะเอาการเมืองนำเทคนิค

 

เงื่อนไขอะไรที่รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ไม่เต็มที่

ขออธิบายยาวหน่อย ในเชิงการบริหาร พ.ร.บ.ควบคุมโรคใช้ได้ไหม ตอบเลยว่าได้ ซึ่งให้อำนาจผู้ว่าฯ จัดการในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผู้ว่าฯ ใช้คำปรึกษาจากคณะกรรมการสาธารณสุขของจังหวัด ซึ่งได้คำแนะนำจากกรมควบคุมโรคจากส่วนกลางอีกที บวกกับมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ดังนั้นในแง่การบริหารจัดการถ้าจะใช้อำนาจของสาธารณสุขเป็นหลัก นายกฯ ก็คุมได้อยู่แล้ว โดยมีมหาดไทยเป็นหน่วยสนับสนุน ซึ่งคุณก็จะเห็นงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกไปช่วยล้างถนน ฉีดยาฆ่าเชื้อในบางพื้นที่

เพราะฉะนั้นลำพัง พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็เอาอยู่ ถ้าการบริหารจัดการดี มีเอกภาพในการทำงานทั้งการสื่อสาร การให้ข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีมันจะได้ผล ประกอบกับถ้าประชาชนยอมทำ social distancing แบบเข้มข้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะไม่จำเป็นเลย

ทีนี้ความเป็นจริงเกิดอะไรขึ้น social distancing ไม่ต้องพูดถึง คนไม่ทำตาม

ในแง่ของการบริหารจัดการ นายกฯ จะสั่งหรือไม่สั่งแต่ก็ให้สาธารณสุขดำเนินการไป ซึ่งไม่ผิด เพราะสาธารณสุขต้องเป็นเจ้าภาพด้วยวิชาชีพ นายกฯ ไม่แตะมาก แต่เราก็เห็นแพทย์แบ่งเป็นหลายกลุ่ม อยู่ฝั่งนายกฯ บ้าง อยู่กับฝั่งสาธารณสุขบ้าง ไม่อยู่ฝั่งไหนเลยบ้าง แปลว่าการตัดสินใจทางเทคนิคจะมีหลายรูปแบบ

ทีนี้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดเจ๋งแค่ไหน ถ้ามีผลทางเศรษฐกิจใดๆ ที่ต้องกระทบแน่นอน จะกล้าตัดสินใจแค่ไหน แต่ประเด็นคือทำเป็นไหม ไม่ได้ดูถูกกันนะคะ คำว่าทำเป็นในที่นี้คือทำหน้าที่ปรึกษาใกล้ชิดกับฝ่ายสาธารณสุขแล้วเอาความรู้สองตัวมาบวกกันระหว่างเทคนิคทางสาธารณสุขกับบริบทของพื้นที่ว่าแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ประเมินการเคลื่อนไหวของชุมชน นักการเมืองท้องถิ่น มาเฟียต่างๆ ใครมีผลประโยชน์มากน้อยกว่าใคร แล้วจังหวัดจะมีมาตรการอะไรในตามมาในการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบ

ที่สำคัญคือสถานการณ์แต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ก็เกิดการตัดสินใจแบบลักลั่น สิ่งที่ตามมาคือเกิดการเปรียบเทียบแต่ละพื้นที่ แล้วผู้ว่าฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นการที่รัฐบาลออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เพราะใช้แก้ปัญหาบางอย่างที่กฎหมายปกติไม่เอื้อด้วย เช่นการบังคับ social distancing และการออกกฎระเบียบการทำงานจากส่วนกลางไปให้พื้นที่ปฏิบัติตาม

ถามว่าทำไมบังคับต้อง social distancing เพราะในทางจิตวิทยา พ.ร.บ.ควบคุมโรคมันทำให้คนคิดแค่ว่าโรคกับคนยังอยู่กันคนละที่ แต่พอเป็นพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้คนบังคับตัวเองโดยอัตโนมัติ ต่อให้มันไม่ได้ผล 100% แต่เชื่อว่า 30% ได้ผล พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจนายกฯ เต็มที่ ไม่มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ อ้างอะไรไม่ได้ ต้องสั่งได้ทุกคน

หากสาธารณสุขยอมทำงานร่วมกับมหาดไทย ยอมทำงานร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงต่างประเทศ มีการเอาระเบียบจาก WHO มาดูร่วมกับกรมควบคุมโรค จากนั้นออกคำสั่งไปว่าจังหวัดดังต่อไปนี้… มีเกณฑ์สัก 2-3 เกณฑ์ ถ้าจังหวัดที่มีเกณฑ์แบบนี้… ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ให้กระทำดังนี้… จะปิดพื้นที่ เคอร์ฟิวก็ทำไปเลย ส่วนจังหวัดที่เป็นกลุ่มกลางๆ มีเกณฑ์สักสองตัวให้เลือกว่าจะทำอะไร ถ้าทำแบบนี้ได้ก็เวิร์กเลย

 

แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นแบบที่ว่ามา ?

เราคิดว่าวัฒนธรรมด้านการบริหารจัดการมันแย่มาตั้งแต่ก่อนวิกฤต ไม่ใช่เพิ่งแย่ ภาครัฐทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่เฉพาะงานข้ามกระทรวง แต่กระทรวงเดียวกันก็ต่างคนต่างทำ แม้แต่ส่วนกลางกับพื้นที่ก็ไม่ได้ทำงานด้วยกันทั้งในระดับแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประสานงาน เพราะฉะนั้นในภาวะปกติคุณยังทำไม่ได้ ภาวะวิกฤตคุณก็ทำไม่ได้หรอกค่ะ

ที่ผ่านมาภาครัฐชอบสั่งอยู่แล้ว แต่สั่งไม่เป็น เวลาที่ดิฉันสอนหนังสือจะใช้คำนี้ว่า “เรามีนายได้แค่คนเดียว แต่เราไม่จำเป็นต้องมีนายเป็นคนเดียวกัน” แปลว่ามันเป็นการสั่งด้วยคำสั่งเดียว แต่สั่งเป็นทอดๆ เช่น ผู้ว่าฯ สั่งสาธารณสุขจังหวัด (สจ.) และ สจ. สั่ง ผอ.โรงพยาบาล ต่อมาถึงหน่วยของตัวเองในการตรวจคัดกรอง

ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่าฯ จะไม่ไปสั่งหัวหน้าส่วนคัดกรองแล้ว ไม่ไปวุ่นวายกับผอ.โรงพยาบาล เราต้องอยู่เฉยๆ ค่ะ ถ้าสั่ง สจ.ไปแล้วก็จบ ซึ่งระบบแบบนี้เราไม่เคยใช้ในเหตุการณ์วิกฤต

เพราะฉะนั้นต้องแยกการบริหารจัดการให้มีเอกภาพ ทำงานร่วมกันให้ได้ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน แต่ระบบสั่งการอย่างมืออาชีพจะเกิดขึ้นได้ ต้องแก้ที่การเมืองด้วย คนที่อยู่ในอำนาจสั่งแค่ไหนแค่นั้น อย่าไปแทรกแซง คนทำงานทำตามหน้าที่ อย่าแตกแถว

จริงอยู่ที่เราอาจมีวิธีคิดต่างกันในเรื่องการจัดการโรคระบาดทั้งด้วยวิชาชีพหรือด้วยเทคนิค แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะจัดแบ่งเป็นซีนาริโอไม่ได้ สมมติว่ามีสามกลุ่มคิดไม่เหมือนกัน ก็เอาสามซีนาริโอมาดูว่าตกลงเราอยู่ตรงไหน เรามีบทเรียนมาแล้วจากไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เขาใช้วิธีแก้ปัญหาแบบดักหน้า หรือว่าจะใช้แบบสเปน อิตาลี ที่กำลังวิ่งตามหลังกันอยู่ ก็เลือกได้

 

คน กรุงเทพ รอรถเมล์ COVID-19

 

ถ้าให้ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันมาบริหารประเทศไทยตอนนี้ เขาจะทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ไหม

คงไม่ได้ดีเท่าไต้หวัน แต่ก็จะดีขึ้น เพราะว่าผู้นำมีผลมากในการบริหารจัดการวิกฤต มันหมายถึงความสามารถในการคาดการณ์ว่าฉากทัศน์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ประเทศกำลังจะไปทางไหน ความสามารถนี้อาจไม่จำเป็นต้องอยู่กับผู้นำ อาจจะอยู่กับคณะที่ปรึกษาก็ได้ ต่อให้ผู้นำไม่รู้และให้ที่ปรึกษาคิดมาใดๆ ก็ตามแต่ มันต้องมีข้อมูลทางเทคนิคมาวางไว้และตกลงกันว่าจะตัดสินใจแบบไหน และรับผิดรับชอบต่อการตัดสินใจนั้นด้วย

ถามว่าไช่ อิงเหวิน มาบริหารอาจจะดีไม่เท่าไร ประเด็นคือวัฒนธรรมการเมืองของเราชอบนอกลู่นอกทาง ชอบแข่งกันเอง มันจะทำไม่ได้เร็วเหมือนไต้หวัน จะเราสะดุดเป็นระยะๆ

อีกเหตุผลคือไทยไม่มีการจัดการข้อมูล ที่ไต้หวันกับเกาหลีใต้ทำได้ดีเพราะเขามีข้อมูล เขาใช้ประโยชน์จากโซเชียลเน็ตเวิร์กและบิ๊กดาต้าในการบริหารจัดการ เช่น เขามีข้อมูลเกี่ยวกับหน้ากากที่ผลิตออกมาในแต่ละวัน มีข้อมูลความเสียหายทางเศรษฐกิจ มีข้อมูลความเคลื่อนไหวในแต่ละเมือง พูดง่ายๆ ว่าประธานาธิบดีไม่ได้เจ๋งในแง่ความกล้าในการตัดสินใจอย่างเดียว แต่เขาตัดสินใจได้ดีบนข้อมูลและมีเทคนิคที่ดี นี่เป็นสิ่งที่ไทยไม่มี

 

แปลว่าโควิด-19 มันเปลือยการบริหารราชการของไทยชัดมาก

เรื่องแรก เราเก็บข้อมูลกันอย่างไรไม่รู้ ข้อมูลที่มีประโยชน์อยู่ไหนบ้างไม่รู้ นี่คือรากเน่าของเรา ไหนจะการทำงานแยกส่วนกัน เป็นเบี้ยหัวแตก

เรามีข้อมูลครัวเรือน มีข้อมูลคนแก่รับเบี้ยยังชีพ มีข้อมูลเด็กเกิดใหม่ แต่ถามว่าเมื่อจะหาข้อมูลกลุ่มเปราะบางในชุมชนที่มีคนแก่ติดเตียง เป็นหญิงตั้งครรภ์และเด็กเกิดใหม่อะไรพวกนี้มีไหม มี.. แต่ต้องวิ่งไปหาถึงสามที่เพื่อเอาข้อมูลมารวมกัน

เราควรจะเอาภัยพิบัติมาทำให้เป็นพันธกิจบูรณาการ (integrated mission) ซึ่งรัฐไทยทำไม่เป็นเลย ไม่เคยทำข้อมูลภาพรวมแบบ dashboard ที่ใช้ในบริการสาธารณะรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถเอาไปใช้บนเงื่อนไขปัญหาใหม่ๆ ได้ มันเปลือยว่าระบบเก็บข้อมูลของเรายังไม่ดี ไม่เชื่อมต่อกัน ดังนั้นในงานปกติไม่ว่าจะงานยุทธศาสตร์หรืองานนโยบาย ก็ทำอะไรไม่ได้ พอเป็นวิกฤตมีเหรอจะตัดสินใจได้

เรื่องที่สอง นโยบายสาธารณะหรือมาตรการในประเทศไทยจะทำด้วยสามจุดประสงค์ คือ แก้ปัญหาทางสังคม อุดช่องว่างทางสังคม และสร้างความก้าวกระโดดในการพัฒนา มาตรการสาธารณะเราอยู่ที่การแก้ปัญหา อุดช่องว่างบ้างตามคำเรียกร้อง แต่สร้างความก้าวกระโดดในการพัฒนามีน้อยมาก

 

โควิด-19 ทำให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ของรัฐไทยเป็นอย่างไร

รัฐไทยมองเห็นแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว รัฐไทยไม่ค่อยทำสิ่งที่เรียกว่า ‘foresight risk identification’ คือเรามองแต่ว่าอีกสิบปีข้างหน้าเราอยากจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่อีกสิบปีข้างหน้ามีอะไรที่เราไม่อยากได้บ้างไหม เช่น เมื่อสิบปีที่แล้วรู้ว่า กทม. จะน้ำท่วม แล้ววันนี้คุณทำอะไรเพื่อให้อีกสิบปีข้างหน้าน้ำไม่ท่วมไหม

เราไม่เคยรู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร ข้อมูลไม่มี วิธีวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ไม่มี เพราะฉะนั้นนโยบายสาธารณะจึงตามหลังปัญหาตลอด พอเป็นแบบนี้เราจึงไม่ให้คุณค่ากับการลงทุนเพื่อทำในสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดในอนาคต เราไปให้คุณค่ากับสิ่งที่อยากได้ เช่น ถ้ามีเงินสักหมื่นล้าน เราจะไม่พัฒนาพื้นที่ ไม่จัดผังเมืองใหม่เพื่อไม่ให้น้ำท่วม ไม่ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวเพื่อป้องกันฝุ่น เราคิดว่าเงินหมื่นล้านเอาไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนดีกว่า แต่เรื่องความปลอดภัย ความยั่งยืน พื้นที่สีเขียว ถูกเอาไปไว้ลำดับท้ายๆ ในขณะที่โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ยังไงเราก็วิ่งตามปัญหากันอยู่ดี

 

ถ้ามองโลกในแง่ร้ายหน่อย หากไม่มีโควิด-19 เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปราชการคงไม่ดังขนาดนี้

เมื่อไหร่ที่คุณอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ข่าวดีไม่เคยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ข่าวร้ายต่างหากที่ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

โควิดทำให้เรารู้ว่ารัฐไม่พร้อมแก้ปัญหา มันเปิดเผยสิ่งที่เป็นรากเหง้ามานาน ทั้งวิธีคิด วิธีบริหารจัดการ วัฒนธรรมการเมือง ระบบการจัดการข้อมูล การตอบสนองต่อปัญหาที่เร่งด่วน เราไม่มีความสามารถเรื่องพวกนี้เลย ก็หวังว่าเสียงจะไม่หายเงียบไป ไม่ใช่พอหยุดยั้งโควิดได้ก็ปาร์ตี้กันดีกว่า จบ เลิก ลืม

รัฐไทยชินมากกับการเปลี่ยนแปลงทีละนิดละหน่อย ด้วยระบบราชการที่มันหนืดๆ อยู่แล้ว ดิสรัปชันก็ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ดังนั้นถ้าอยากได้ความพร้อมรับมือในอนาคต คุณต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วยการทุบ และข่าวดีมันทุบรัฐไม่ได้ค่ะ ต้องทุบด้วยข่าวร้าย มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด

 

เก้าอี้ ห้ามนั่ง Social Distancing COVID-19 เว้นระยะห่าง

 

ประเด็นคือควรจะแค่ไหนที่เรารู้สึกว่าวิกฤตจะทำให้เกิดการปรับตัวของรัฐไทยจริงๆ ไม่ใช่เดี๋ยวพอมีวัคซีนออกมา ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม

คำถามนี้ตอบยาก ทำอย่างไรจะให้มันอยู่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ใช่ไหม อย่างน้อยสิ่งที่เราเจออยู่ตอนนี้มันรื้อวิธีคิดในแง่ของโรคระบาดและยกระดับพื้นฐานการดำเนินชีวิตในสายแพทย์แน่ๆ ทั้งเรื่องการดูแลสุขอนามัยพื้นฐานและมาตรฐานขั้นต่ำของบรรดาโรงพยาบาลที่อยู่ในท้องถิ่น เพราะมันเป็นการทำงานในเชิงวิชาชีพที่ต้องมีความเป็นมืออาชีพ ตอนนี้พวก อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ก็แอกทีฟมากขึ้น เริ่มใช้แอปพลิเคชันมากขึ้น เริ่มทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น

แต่ถ้าถามว่ารัฐไทยจะปรับอะไรไหม เราเชื่อว่าพอวิกฤตจบมันจะเลือนหายไป เพราะรัฐไทยจะมองว่าทันทีที่มาตรฐานทางการแพทย์ดีแล้วและคนมีความรู้มากขึ้นก็พอแล้ว รัฐไทยมีแนวโน้มจะเป็นแบบนั้น ดิฉันไม่ค่อยมั่นใจว่าบทเรียนครั้งนี้จะถูกเรียนรู้แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฝั่งภาครัฐ

โควิดคงไม่มีแรงพอสำหรับปัญหารากเหง้าเดิมของระบบราชการ นี่เป็นความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยความที่โควิดเป็นวิกฤต รัฐอาจไม่ได้คิดว่าต้องไปแก้ระบบซึ่งเป็นรากฐานเดิมของวิกฤต

คนที่เรียนมาทางด้านการจัดการภัยพิบัติ ทุกคนจะถูกสอนว่าวิกฤตจะแก้ได้ดีต่อเมื่อเวลาปกติคุณพัฒนา พวกเราถูกสอนกันมาแบบนี้ ถ้าจะเป็นผู้นำที่ดีในช่วงวิกฤต ในภาวะปกติต้องทำอะไรมาก่อนหน้านั้น ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ขึ้นมาเป็นผู้นำในภาวะวิกฤต

ก่อนหน้าที่ผู้นำของไต้หวันจะเจอวิกฤต เขาก็เป็นคนที่ทำงานหนักและเป็นคนร่างนโยบายหลายๆ อย่างมาก่อน และเป็นคนที่สื่อสารกับสาธารณะแบบคนมีความรู้ มีประสบการณ์ คนไต้หวันก็เชื่อถืออยู่แล้ว ความเชื่อมั่นมันถูกสร้างมาก่อนหน้าจะมีวิกฤต

 

อาจารย์มีประเทศไหนเป็นโมเดลให้เรียนรู้การป้องกันภัยพิบัติบ้าง

ถ้าไม่นับครั้งนี้ว่าไต้หวันมาแรงแซงโค้ง เขาทำสิ่งที่เรียกว่า pre-disaster ด้วยการหามาตรการป้องกันและลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด มีการประเมินสถานการณ์และยอมลงทุนมหาศาลเพื่อเตรียมพร้อม เขาก็เลยสามารถซื้อเวลาในการเข้าสู่เหตุการณ์ได้ดีกว่า

มันคอนเฟิร์มทฤษฎีทางภัยพิบัติเลยว่าเมื่อคุณลงทุนลงแรงกับกระบวนการก่อนการเกิดมากเท่าไร ตอนเกิดจะรับมือง่ายเท่านั้น

ปกติประเทศพ่อประเทศแม่ที่เราคิดว่าเป็นต้นแบบในการจัดการวิกฤตได้ดีแต่ไหนแต่ไรมา เราใช้สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเป็นโมเดลมาเสมอ เพราะเป็นประเทศที่ระบบข้อมูลดีทั้งคู่ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ระบบดี มีการกระจายอำนาจที่ดี เขาเลือกคนที่จัดการกับวิกฤตได้เก่ง ที่สำคัญคือยอมละทิ้งบ้าน ย้ายถิ่นกันได้ง่าย องค์ประกอบเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยามวิกฤตเพราะระบบมันทำงาน แต่ปัจจุบันพอเขาได้ผู้นำที่มั่วๆ มาเดินระบบ มันก็เซไปบ้าง

ส่วนญี่ปุ่นตัวระบบอาจไม่ได้เบ็ดเสร็จได้เท่าสหรัฐฯ แต่ญี่ปุ่นมีวิธีบริหารจัดการและวัฒนธรรมที่ดีมาก ท้องถิ่นกับส่วนกลางทำงานกันแนบแน่นมาก ส่วนกลางเก่ง มีมาตรการที่ดี และให้คำปรึกษาแก่ท้องถิ่นตลอดเวลา เพราะส่วนกลางยอมรับข้อมูลของท้องถิ่นด้วย เขาแลกเปลี่ยน บวกกับประชาชนมีวินัย มีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ดี สำหรับคนญี่ปุ่นเชื่อเรื่องส่วนรวมมาก่อนเรื่องส่วนตัว

ทั้งสองประเทศนี้เหมือนกันตรงที่เจอภัยพิบัติมาเยอะมาก พอเวลาผู้นำตัดสินใจในมาตรการหรือจะลงทุนกับการรับมือภัยพิบัติมันจึงทำได้ ไม่เหมือนประเทศไทยที่จะลุกขึ้นทำอะไรก็ต้องให้เหตุผลนาน

ดิฉันอยู่กับงานภัยพิบัติของประเทศนี้มา 15 ปีตั้งแต่สึนามิ งานภัยพิบัติไม่เคยสำคัญเป็นลำดับแรกๆ สักที บุญเท่าไหร่แล้วที่ตอนนี้ได้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้ แต่ไหนแต่ไรมามันถูกเอาไปซุกอยู่ในซอก

 

ช่วงนี้หลายคนเริ่มพูดถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ทุกประเทศก็เจอปัญหากันหมด อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร กลไกในระดับโลกจะมีบทบาทได้ไหม อย่างไรบ้าง

ดิฉันคิดว่าจีนควรรับผิดและรับชอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีหรือเลว ไม่ใช่ถูกหรือผิด เมื่อเหตุมันเกิดจากตัวเองและมันกระจายไปทั่วโลก เขาก็ควรใช้ทรัพยากรของตัวเองไปช่วยคนอื่นอย่างเต็มที่

ถ้าเราเป็นจีนเราก็ควรทำ ซึ่งจะมีผลกับการทูตและนโยบายในภายภาคหน้า เพราะคนอื่นๆ จะมองว่าจีนเอาใจใส่คนอื่นเป็น นี่จะเป็นผลดีในการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

สำหรับกลไกระหว่างประเทศ ดิฉันทำงานในฐานะผู้แทนของประเทศไทยเกือบ 2 ปี ไปๆ มาๆ ที่เจนีวากับองค์คณะที่ทำเรื่องภัยพิบัติ เราเห็นมาตั้งแต่ตอนอีโบลาระบาดแล้วว่ามันมีความพยายามระหว่าง WHO และหน่วยงานทางการแพทย์ทั่วโลกในการแลกเปลี่ยนความรู้กันในการผลิตวัคซีน ซึ่งมันช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลได้เร็วมาก และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีจะทำให้เราเห็นอะไรได้เยอะ เช่น เชื้อโรคตอนนี้ เวลามันไปปรากฏตัวตามประเทศต่างๆ มันเป็นเชื้อโรคตัวเดียวกันจริง แต่องค์ประกอบเล็กๆ กลับต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่

ทีนี้พอเราได้เห็นข้อมูลนี้พร้อมกันมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะทำการออกแบบมาตรการรับมือให้เหมาะสมกับตัวเองก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น การทำเรื่องการจัดการภัยพิบัติทั่วโลกมีพัฒนาการของมันมาเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วล่ะ แต่ประเทศไทยไม่ค่อยกระเหี้ยนกระหือรือกับเรื่องนี้ เราเลยไม่ค่อยรู้กลไกเท่าไหร่

 

รถไฟฟ้า เว้นระยะห่าง BTS COVID-19

 

เขาแลกเปลี่ยนอะไรกันบ้าง

ตั้งแต่วิธีเก็บข้อมูล สูตรในการเก็บข้อมูลประชาชน จะนับหรือไม่นับผู้ลี้ภัย ในบางเคสเขาเขียนแม้กระทั่งว่าคนตายเพราะภัยพิบัติหรือกินเหล้าที่ระเบียงบ้านแล้วตกลงมาตาย มันละเอียดขนาดนั้น

กฎหมายแต่ละประเทศบังคับใช้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันดีอยู่แล้ว ที่สำคัญคือภัยพิบัติมันไม่มีพรมแดน เพราะฉะนั้นองค์กรระหว่างประเทศจะสร้างโครงสร้างการทำงานร่วม สร้างพันธกิจร่วม สร้างความยอมรับร่วมกันว่าในภาวะหลายๆ อย่าง เราจะมีการเปิดพื้นที่ให้กันและกันในการช่วยเหลือ เราจะมีการส่งต่อข้อมูลให้กันและกันในการวิเคราะห์สถานการณ์

แต่ประเด็นคือมีความร่วมมือ ติดตรงที่มันยังเป็นเพียงความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นยูเอ็นหรืออาเซียน ความร่วมมือมันขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่มีกฎหมายกลาง เป็นแค่กรอบความร่วมมือในการปฏิบัติ มีแผนการต่างๆ เพื่อให้เกิดการศึกษาร่วมกัน แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีสภาพบังคับใช้ เลยทำให้ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะปรับศักยภาพภายในให้สอดคล้องกับกรอบปฏิบัติที่เขาพยายามจะวางให้เหมือนกันได้มากแค่ไหน

บางทีอาจจะเกิดอาการเจอแรงเฉื่อย ความเร็วไม่เท่ากัน ความสามารถไม่เท่ากัน ขี้เกียจไม่เท่ากัน ก็อาจจะทำให้ประเทศที่เป็นผู้ให้รู้สึกเหนื่อยได้

ประเด็นคือช่วงหลังๆ โลกมันเปลี่ยนจากความร่วมมือไปเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติมากขึ้น เพราะมันเจอปัญหาเศรษฐกิจกันมาก เจอเหตุการณ์อะไรต่างๆ การถอยไปรักษาผลประโยชน์ชาติมากขึ้นอาจทำให้การช่วยเหลือระหว่างกันน้อยลง

 

ในแวดวงวิชาการที่อาจารย์แลกเปลี่ยนด้วย คิดว่าโควิด-19 จะเปิดโจทย์วิจัยอะไรใหม่ๆ บ้างไหม

อย่างน้อยสองเดือนจากนี้ไปต้องมีมาตรการเยียวยา เขาเรียกว่ามาตรการระยะสั้น ทุกครั้งที่เราตัดสินใจจัดการเรื่องภัยพิบัติจะมีต้นทุนเสมอ คุณต้องเสียสละอะไรบางอย่างเสมอ เช่น เศรษฐกิจหรือความปลอดภัยบางอย่าง ก็เลยตัดสินใจยาก ดังนั้นมีสองแบบ

หนึ่ง คือหากภายในสองเดือนนี้เราสามารถวิจัยแบบเร็วๆ ว่ามาตรการชดเชยเยียวยาแบบไหนจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว รีบศึกษาได้เลย

หรือจะเก่งกว่านั้น คือทำมาตรการเยียวยาให้สอดคล้องกับทางเลือกที่ต้องเลือกไว้เลย เช่น ถ้าสองเดือนข้างหน้าเห็นสถานการณ์ชัดกว่านี้ และจะเลือกมาตรการบางอย่างมาใช้เพื่อให้เกิดยาแรง จะมีมาตรการเยียวยาอะไรรอไว้อย่างไร ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักวิจัยว่าจะวิจัยได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว หรือคาดการณ์ไปว่าถ้าจะต้องตัดสินใจแบบอื่น จะมีมาตรการรองรับอย่างไร นี่เป็นโจทย์ระยะสั้น

สอง คือโจทย์ระยะกลาง พอมีวัคซีนออกมาจะทำอย่างไร การก่อให้เกิดมาตรฐานทางสังคมใหม่จะทำอย่างไร ค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร อันนี้จะเป็นโจทย์แบบ 3-6 เดือน

ส่วนตัวดิฉันกำลังคิดว่าการศึกษาว่าแต่ละประเทศมีเงื่อนไขแบบไหนที่ทำให้การตัดสินใจในแต่ละมาตรการแตกต่างกัน แล้วมีผลอย่างไร ประเทศที่มีองค์ประกอบเชิงสถาบันในลักษณะนี้จัดการแบบนี้… เมื่อตัดสินใจแบบนี้ในช่วงเวลากี่วันของช่วงโรคระบาดก่อให้เกิดผลอะไรตามหลังบ้าง แล้วทำเป็นโมเดลทางสังคมออกมาเพื่อช่วยในการตัดสินใจครั้งต่อไป

ประเด็นนี้น่ามาทำในรายละเอียดมาก และดิฉันคิดว่าอาจจะถึงเวลาที่ศูนย์บริหารวิกฤตควรมีทีมผู้เชี่ยวชาญประจำ ดิฉันใช้คำว่า pracademia นะคะ เอาคำว่า practice, practitioner แล้วเอา academia ต่อท้าย

 

คนพวกนี้คือใครบ้าง

จะไม่ใช่นักวิชาการที่สอนหนังสือและทำงานวิจัยแค่ไปลงพื้นที่เป็นครั้งๆ แล้วกลับมาเขียน และไม่เอานักวิชาการขายตัวด้วยการเขียนงานให้กับภาครัฐตลอดเวลา

สิ่งที่ต้องการคือคนที่อาจจะไปนั่งทำงานอยู่ที่หน่วยงานรัฐเพื่อให้รู้จริงๆ ว่าเขาทำงานกันอย่างไร ลำบากอย่างไร มีกฎเกณฑ์อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจแบบนั้น เขาอาจจะอยากเผาเอกสารทิ้ง หรือทำไม่ได้เพราะมีเจ้านายโง่ ถูกการเมืองเล่นงาน คือเข้าไปให้รู้เช่นเห็นชาติและรู้สึกถึงมันจริง เราต้องการนักวิชาการแบบนี้

ทุกหน่วยงานจะมีตำแหน่งวิชาการอยู่ คนพวกนี้มีคนเก่งจริงๆ ไม่เอาแบบแก่แล้วไม่รู้จะเอาไปไว้ไหน ต้องเอาคนที่เป็นนักวิชาการสายปฏิบัติ ติดตามองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา และทำงานกับคนอื่นเป็น แก้ปัญหาเป็น

สกสว. ต้องมีบทบาทในการหาคนพวกนี้ให้เจอแล้วสร้างเป็นทีมเฉพาะเรื่องไว้ ในกรณีมีวิกฤตก็ใช้คนพวกนี้เป็นหนึ่งในทีมวิเคราะห์สถานการณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่รับหน้าที่หลัก เหมือนนายกฯ มีทีมเสธ. หน่วยงานมีซือเป๋ สกสว.มีทีม expert pracademia เอาสามทีมนี้ไปทำงานด้วยกัน ตีกันเสียให้เสร็จ เราจะได้ทางเลือกใหม่ๆ ออกมา

 

ในฐานะที่อาจารย์เชี่ยวชาญงานภัยพิบัติและติดตามวิกฤตรอบนี้มาตลอด มีโมเมนต์ไหนในการจัดการของภาครัฐที่อาจารย์เสียดายที่สุด

เรื่องแรก คงเป็นเรื่องของการทำระบบ tracing

ในครั้งแรกพอเรารู้ว่ามันเป็นโรคระบาด และรู้ว่าปัจจัยเสี่ยงที่สุดของเราคือนักท่องเที่ยว ดิฉันเสียดายมากว่าทำไมเราไม่ทำระบบคัดกรองและติดตามให้ดีกว่านี้ เพราะเรากลัวความเสียหายทางเศรษฐกิจ เราไม่ปิดพรมแดน เราไม่กักตัวนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศอื่น

เขาอาจจะไม่ได้มาจากพื้นที่เสี่ยง แต่อาจจะมีพรมแดนติดกันหรือมากับเครื่องบินลำเดียวกันที่มีคนเสี่ยงอยู่ก็ได้ ถ้าจะขอกักตัว 48 ชั่วโมง คนบ่นว่ากักทำไม 48 ชั่วโมง จะได้อะไร ก็เพื่อจะทำข้อมูลให้ละเอียดว่า 48 ชั่วโมงนี้คุณมาจากไหน ทำอะไรมาบ้าง และจะไปไหน

เราสามารถใช้โอกาสนี้ติดต่อโรงแรมไว้เลยว่าคนๆ นี้จะไปนะ ฝากดูแลหน่อย พูดง่ายๆ คือ 48 ชั่วโมงคือซื้อระบบ ไม่ใช่จะเอาเป็นเอาตาย แต่เราก็ไม่ทำ

เรื่องที่สอง ตอน กทม.ประกาศปิดเมือง ประกาศ 14.00 น. คอนเฟิร์ม 15.00 น. แต่พอเที่ยงคืนคุณปล่อยแล้ว อันนี้น่าโกรธเพราะคุณไม่ได้ดูว่าคนออกไปได้อย่างไรบ้าง ถ้าจะมาบอกว่ากลัวคนตกใจก็ไม่โอเคเลย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สั่งมหาวิทยาลัยหยุดการสอนและให้สอนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม มันมีเด็กที่ไปที่สถานีรถเพื่อจะออกไปอยู่แล้ว ทำไมคุณไม่ร่วมกับอว. จัดระบบสกรีนที่สถานีรถ คนก็จะไม่ตกใจมากเพราะคิดว่ากำลังจัดการกับนักศึกษา ระบบแบบนี้ทำร่วมกันได้

ส่วนปริมณฑลก็เหมือนกัน การสกรีนฝ่ายเดียวทำไม่ได้ สมมติว่ากทม.ทำขาออก ปลายทางก็ต้องทำขาเข้า จะได้รู้ได้พอดี อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ไม่เกิดขึ้น

เรื่องสุดท้าย เราสื่อสารเรื่อง social distancing ช้าไปหน่อย ตอนนี้จะมานั่งอธิบายว่าใส่หน้ากากกันเถอะนะ เพื่อไม่ให้คุณเป็นปัจจัยเสี่ยง เรื่องแบบนี้ทำไมไม่สื่อสารกันตั้งแต่แรก ยากตรงไหนในการจะบอกคนว่าเชื้ออยู่ในตัวโดยไม่แสดงอาการ และอาจจะทำให้คนในบ้านติดได้ มาใส่หน้ากากกันเถอะ เรามัวแต่ไปวุ่นวายกับเรื่องใส่หน้ากากกลับข้างหรือไม่อยู่นั่นแหละ

 

เนื่องจากสังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมานาน หลายคนคิดว่าวิกฤตใหญ่จะช่วยให้สังคมมีเอกภาพขึ้น ความขัดแย้งแบบเดิมจะสลายไป อาจารย์ตีโจทย์นี้อย่างไร

โดยทฤษฎีไม่ผิดค่ะ เรามีความเชื่อกันว่าภัยพิบัติเป็นมาตรการทางการทูต ใช้คำนี้เลยว่า disaster is a political policy คือเราเชื่อกันว่าทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ ทุกคนจะเจอวิกฤตร่วมกันจะหยุดขัดแย้งเพื่อไปจัดการกับเรื่องพวกนี้ก่อน แต่การรวมกันจะถาวรไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง อาจจะรวมกันแบบเฉพาะกิจแล้วก็กลับมาแตกกันต่อ

ดังนั้นวิกฤตนี้จะทำให้ประสานรอยร้าวทางการเมืองได้ไหม ถ้าย้อนดูวิกฤตในไทยทุกครั้งไม่เคยทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองดีขึ้น ซ้ำยังทำให้เราขัดแย้งกันกว่าเดิมอีก ครั้งนี้ก็ยิ่งสะท้อนถึงความแตกขั้วกันในทางความคิดมากยิ่งขึ้น วิกฤตไม่ได้ทำให้เราเป็นเอกภาพ

 

เพราะอะไร

ประเทศนี้ชอบการมีฮีโร่ ในการจัดการภัยพิบัติ เราไม่ถามหาฮีโร่ สิ่งนี้ไม่ค่อยมีใครรู้ ในการจัดการคุณตั้งใจเป็นฮีโร่ไม่ได้ สิ่งที่เรามองหาในการจัดการภัยพิบัติคือทีม ไม่ใช่ยอดมนุษย์

ดังนั้นมันคือการใช้ศักยภาพสูงสุดของแต่ละคนมารวมกันแล้วได้พลังใหม่ขึ้นมา นั่นจึงตอบได้ว่าทำไมทุกครั้งที่มีวิกฤตถึงแก้ความขัดแย้งได้ เพราะมันวางอยู่บนหลักคิดเรื่องความเป็นทีม แต่ของไทยไม่รู้จะแก้อย่างไร

 

สถานีรถไฟ เว้นระยะห่าง COVID-19 Social Distancing

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save