ชีววิทยาดิจิทัล : มนุษย์และสัตว์ในโลกอนาคต กับ แทนไท ประเสริฐกุล

ชีววิทยาดิจิทัล : มนุษย์และสัตว์ในโลกอนาคต กับ แทนไท ประเสริฐกุล

:: ชีววิทยาดิจิทัล : มนุษย์และสัตว์ในโลกอนาคต ::

101 สนทนากับ แทนไท ประเสริฐกุล นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน และเจ้าของรายการคุยวิทย์ติดตลก ‘WiTcast’ ในรายการ 101 one-on-one Ep.81

ต่อไปนี้คือไฮไลต์บางช่วงบางตอน ว่าด้วยประเด็นที่มนุษย์สมัยใหม่กำลังขมวดคิ้วใคร่รู้ ตั้งแต่เรื่องข้อกังวลว่ากระดูกนิ้วของคนที่เล่นมือถือมากๆ อาจเปลี่ยนไป – การเพาะเนื้อหมูโดยไม่ต้องฆ่าหมู – การนำจิตสำนึกคนไปใส่ในหุ่นยนต์ – ท่าทางการมี sex ของมนุษย์สมัยก่อนกับมนุษย์สมัยใหม่ ไปจนถึงการสืบทอดพันธุกรรมของลักษณะคนประเภทอำนาจนิยม คำตอบจะไขกระจ่างหรือแสบสันต์จี๊ดจ๊าดขนาดไหน เชิญทัศนา…

ย้อนชมรายการฉบับเต็มได้ที่ : www.the101.world/101-one-on-one-ep-81/

 

 

 

:: คนรุ่นใหม่เล่นมือถือมากๆ กระดูกนิ้วจะใหญ่ขึ้นหรือไม่ ::

 

 

เราต้องแยกแยะการวิวัฒนาการกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เหมือนผมไปวิ่งแล้วน่องผมใหญ่ขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องวิวัฒนาการ และไอ้การจิ้มมือถือจนกระดูกนิ้วมันเปลี่ยนทรง ก็ไม่ถือเป็นวิวัฒนาการ เพราะมันเป็นเพียงการตอบสนองทางร่างกายแค่ในช่วงชีวิตของคนๆ นั้น มันจะเป็นวิวัฒนาการก็ต่อเมื่อมีโค้ดอะไรบางอย่างในร่างกายถูกส่งผ่านทางพันธุกรรมสู่คนรุ่นถัดไป

สมมติผมตกปลาเก่ง แล้วผมมีลูก ผมสอนให้ลูกตกปลาจนเก่ง เรียกได้ว่าเราเป็นตระกูลที่ตกปลาเก่งมาก แต่มันก็เป็นแค่วิวัฒนาการในทางวัฒนธรรม เป็นการเรียนรู้กันปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่น แต่ถ้าจะถึงขั้นเป็นวิวัฒนาการทางธรรมชาติ มันต้องส่งผ่านทางดีเอ็นเอ

มีข่าวว่าคนก้มเล่นมือถือมากๆ แล้วมีกระดูกงอกตรงต้นคอ ถามว่านี่เป็นวิวัฒนาการไหม ไม่ใช่ มันคล้ายกับเราไปซักผ้าบ่อยๆ แล้วมือด้านมากกว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์คงไม่ส่งต่อดีเอ็นเอมือด้านเพื่อให้มนุษย์รุ่นถัดไปซักผ้าเก่งขึ้น ผมว่าไม่เกี่ยวกับการวิวัฒนาการ แล้วการส่งต่อยีนในเผ่าพันธุ์มนุษย์ ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องหลักคุณธรรมที่เราควรจะยึดถือด้วย เพราะวิถีธรรมชาติมันทำได้แค่นี้

 

:: การเพาะเนื้อเยื่อขึ้นมาในห้องแลป สามารถเป็นอนาคตของการผลิตเนื้อสัตว์ได้ไหม ด้วยการปลูกเนื้อเยื่อขึ้นมาเลยโดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ ::

 

 

ผมเชียร์ว่าดี ผมติดตามความคืบหน้าของวงการนี้มานาน ผมคิดว่าเราไม่ได้จะใช้เทคโนโลยีเพื่อสนองต่อตัณหาของมนุษย์อย่างเดียว แต่เราอยากให้การใช้เทคโนโลยีเพื่อการดับทุกข์เผื่อแผ่ไปยังเพื่อนร่วมโลกด้วย เราอยากกินหมูแต่เราไม่อยากให้หมูทรมาน ไอ้ความทรมานอยู่ตรงไหน อยู่ที่สมอง เพราะฉะนั้นเราสร้างเนื้อหมูขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องมีสมองได้ไหมล่ะ หรือเนื้อวัว สเต็กเนื้อสันใน, สันนอก, คุโรบูตะ ก็เพาะในแล็ปเอา ตอนนี้คนเรามีความรู้ด้านนี้ดีแล้ว เราก็พัฒนาขึ้นมาเป็นโปรดักส์ให้คนกินแทนการฆ่าสัตว์ได้

โดยไอเดีย ผมสนับสนุน แต่ข้อเท็จจริงมันมีรายละเอียดมากเสียจนการทดลองคืบหน้าช้ามาก ทุกวันนี้ยังไม่มีการออกมาเป็นโปรดักส์อะไรได้ เพราะว่า หนึ่ง ความซับซ้อนในความอร่อยของเนื้อ คุณจะเอาแค่ก้อนเซลล์อะไรก็ไม่รู้ที่มีแต่โปรตีนล้วน กัดไปแล้วไม่มีรสชาติอย่างนั้นเหรอ

สอง ปัญหาเรื่องต้นทุน ประมาณ 3-4 ปีก่อน ผมเห็นการคำนวณการทำเนื้อที่ผ่านแล็ปมาโดยไม่ต้องฆ่าวัว พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเพาะเซลล์ กว่าจะทำให้เป็นแฮมเบอร์เกอร์หนึ่งชิ้น มูลค่าชิ้นหนึ่งหลายแสนบาท แบบนี้ทำออกมาขายจริงไม่ได้แน่นอน เพราะเนื้อวัวในปัจจุบันยังมีราคาถูกกว่ามาก

 

:: ถ้าในอนาคตมีการเอา consciousness ของคนไปใส่หุ่นยนต์ คนจะยังเป็นคนรึเปล่า ::

 

 

ในทางเทคนิค แบบนั้นคงไม่ถือว่าเป็น ‘โฮโมเซเปี้ยน’ แล้ว เพราะโฮโมเซเปี้ยนน่าจะต้องผูกติดอยู่กับการผสมพันธุ์กับโฮโมเซเปี้ยนด้วยกันอยู่ และยังเป็นสปีชีส์เดียวกันอยู่ แต่สมมติถ้าย้ายจิตผมไปอยู่ในรถแทรคเตอร์ ผมคงไม่สามารถไปจีบสาวที่มีรูปทรงและขนาดต่างจากผมขนาดนั้นได้ เพราะร่างกายผมเป็นรถแทรคเตอร์ แม้ผมจะลุยได้ ล้อใหญ่ แต่ถือว่าเป็นคนละสปีชีส์แล้ว

ในโลกอนาคต เราอาจออกแบบมนุษย์แบบใหม่ที่ไม่มีค่านิยมแบบเดิมเลยก็ได้ เช่น ไม่สนใจคำว่าความรักเลย ไม่สนใจอะไรก็ตามที่เราแคร์กันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าผมไปเป็นรถแทรคเตอร์แล้ว ผมก็คงจะแคร์เรื่องที่ตักดินของผมจนไม่สนใจอย่างอื่น

ผมคิดว่าเวลาเรารู้สึกแคร์หรือไม่แคร์เรื่องอะไร แล้วเราบอกว่านี่คือความเป็นมนุษย์ เกณฑ์ตรงนี้มันเปลี่ยนได้ มันคือการออกแบบมนุษยชาติแบบใหม่ว่าจะให้แคร์เรื่องอะไรบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็คงเป็นแค่รถแทรคเตอร์ที่อยู่ยงคงกระพันไปจนจักรวาลล่มสลาย แม้ว่าดวงอาทิตย์จะกลืนกินโลกมนุษย์ไป เราก็จะยังตักดินอยู่ แล้วเราก็อาจรู้สึกว่าไอ้พวกมนุษย์แบบเก่าที่อยากมีลูก อยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อยากกินของอร่อยๆ มันช่างล้าหลังเสียจริง

 

:: ว่ากันว่า sex แรกๆ ของมนุษยชาติเป็นท่า ‘ลิงอุ้มแตง’ เพราะต้องระวังภัยกันและกัน ปัจจุบัน sex ท่านี้เป็นมรดกทางวิวัฒนาการไหม เพราะยังมีอยู่ปกติ แต่เจตนาของท่านี้เปลี่ยนไป ::

 

 

ผมไม่เคยได้ยินว่าเซ็กซ์ท่าแรกของมนุษยชาติเป็นท่าลิงอุ้งแตง ถ้าเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าผู้ชายน่าจะเหนื่อย แต่สมมติว่ามันเป็นแบบนี้จริงๆ ต่างคนต่างหันหน้าไปอีกทาง เพื่อระวังภัยให้กัน แสดงว่ามนุษย์ต้องเป็นสัตว์ที่มีเซ็กซ์ในที่อันตรายมาก ซึ่งเอาจริงๆ ผมว่าคนเนี่ยเป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดที่พยายามหาที่มิดชิดก่อน แล้วค่อยมีเซ็กซ์กัน นี่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของมนุษย์เลย

ผมมองว่าวิวัฒนาการอาจผลักดันให้เรามีพื้นฐานบางอย่าง แต่มันไม่ได้มาคุมเราทุกวินาที มันไม่ได้คุมเราตั้งแต่เด็กจนเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ระหว่างนั้นเราอาจเอาอะไรใส่หัวเรา เพื่อเปลี่ยนความหมายของเซ็กซ์ท่านั้นๆ ไปเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ฟังค์ชั่นดั้งเดิมของมันก็ได้

เหมือนดั้งจมูก มันไม่ได้วิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อให้วางแว่น มันวิวัฒนาการมาเพื่อให้หายใจสะดวก การวางแว่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทีหลัง แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวางแว่นก็ได้ ใครอยากจะเอาอะไรไปแปะดั้งจมูกก็ได้ ผมคิดว่าท่ามีเซ็กซ์ต่างๆ ก็เหมือนกัน มันอาจเริ่มมาจากเรื่องประสิทธิภาพของการสืบพันธุ์ แต่ท้ายสุดแล้วในช่วงชีวิตเรา เราจะเอาสัญลักษณ์หรือความหมายอะไรบางอย่างไปครอบมันอีกที ดั้งจมูกในที่นี้ก็เหมือนท่ามีเซ็กส์ ท่าลิงอุ้มแตง”

 

:: ในประวัติศาสตร์ชีววิทยา การคลั่งการเมืองของคนๆ หนึ่ง สามารถส่งต่อผ่านดีเอ็นเอได้ไหม ::

 

 

ผมว่าถ้าคลั่งการเมืองในลักษณะว่าชอบพรรคไหนเนี่ย ไม่ใช่การฝังอยู่ในดีเอ็นเอ แต่เป็นลักษณะสมองที่เกิดมาพร้อมกับบุคลิกของแต่ละคน บางคนคลั่งง่าย บางคนคลั่งยาก เช่น การอินกับการเล่นเกม ยอมเสียเงินซื้อของในเกมเป็นหลายแสนบาท ผมว่ามันมีสมองประเภทนั้นอยู่ และถามว่าสมองประเภทนี้ถูกสร้างมาจากไหน ก็สร้างมาจากรหัสดีเอ็นเอ เพราะฉะนั้นคุณเกิดมาจากความหลากหลายที่เป็นพื้นฐานของคุณ ว่าคุณยึดจับกับหลักการอะไร แล้วคุณยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหน ผมว่าลักษณะนี้สืบทอดผ่านทางพันธุกรรมได้

แต่มนุษย์มันซับซ้อน เป็นหยินหยาง เหมือนเหรียญสองด้าน ในบางสถานการณ์ การยึดติดมากๆ อาจเป็นข้อดี คุณไม่ใช่คนที่เปลี่ยนข้างบ่อยๆ เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย แต่ในบางสถานการณ์คุณสมบัตินี้ก็อาจทำให้เราไม่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งอาจทำให้เราเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งใหม่ที่อาจจะดีกว่า

ในมุมกลับก็เหมือนกัน การที่เรายอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ อาจเพราะเราเบื่อสิ่งเก่าง่าย ทั้งที่สิ่งเก่านั้นอาจมีคุณค่าความหมายอยู่

 

:: ลักษณะของคนที่เป็นพวกอำนาจนิยม สืบทอดทางดีเอ็นเอได้หรือไม่ ::

 

 

มันมีสัญชาตญานพื้นฐานของมนุษย์อยู่ เราอยากมีอภิสิทธิ์ต่อเพื่อนร่วมฝูงของเรา เช่น เราอยากได้ที่นอนสบายกว่าคนอื่น เราอยากได้ความยุติธรรมที่เข้าข้างเรา เป็นสัญชาตญานชิงดีชิงเด่น อยากจะควบคุมทรัพยากรไว้ที่เรามากกว่าคนอื่นๆ ทั้งที่ดิน อาหาร รวมไปถึงมนุษย์ด้วยกัน เช่น ตัวเมีย หรือเพื่อนพ้อง สิ่งเหล่านี้สืบทอดผ่านดีเอ็นเอได้

ในเชิงพื้นฐาน ทุกคนอยากได้อำนาจเหมือนกันหมด แต่ว่าแต่ละคนจะอยากได้ไม่เท่ากัน บางคนต้องการมาก บางคนต้องการน้อย หลังจากนั้นเป็นการเสริมต่อกันเอาเองผ่านประสบการณ์ตั้งแต่เด็กจนโต ผ่าน วัฒนธรรม ผ่านค่านิยมของสังคม

สมัยก่อน สัตว์ตัวที่เป็นจ่าฝูงจะได้เมียมากกว่าตัวอื่น แล้วก็ทิ้งลูกหลานที่สืบทอดการอยากได้อำนาจต่อไปเรื่อยๆ แต่ลักษณะของอำนาจแบบนี้ มีค่าเท่ากับการสืบทอดผ่านการสืบพันธุ์ ซึ่งธรรมชาติไม่ได้มองว่าผิดหรือถูก มันเป็นไปเช่นนั้น แต่ถ้าเป็นยุคนี้ การมีอำนาจเท่ากับการมีลูกเยอะไหม ไม่เกี่ยวแล้ว อาจมีนิดหน่อยในแง่การเอื้อประโยชน์ให้กับวงศ์ตระกูล ซึ่งโอกาสที่ตระกูลนี้จะสืบทอดยีนอยากได้อำนาจต่อไปก็มี

แต่ผมเชื่อว่าอิทธิพลของมันลดลงกว่ายุคก่อน ที่ทุกอย่างวัดกันที่การสืบทอดผ่านทางชีวภาพ ทุกวันนี้สังคมขับเคลื่อนด้วยผลผลิตทางการสืบพันธุ์ น้อยกว่าความรู้สึกที่ว่า เราได้สืบทอดอุดมการณ์หรือหลักคิดไปสู่คนที่ไม่ได้มียีนเดียวกับเรามากกว่าด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ เมื่อก่อนการสืบทอดอะไรต่างๆ เป็นเรื่องของชีวะ แต่วันนี้มีหลายเลเยอร์ซับซ้อนขึ้นมา โดยเฉพาะสังคมและวัฒนธรรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save