fbpx

ตัน มะละกา, มิถุนายน และกรุงเทพฯ: ชีวิตและการเดินทางของนักปฏิวัติอินโดนีเซีย

เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่มีความหมายและความสำคัญกับประเทศไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเดือนที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย และแม้รัฐจะพยายามทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวหายไปจากความทรงจำของสังคมไทยในรูปแบบทางการ ทว่าในพื้นที่สาธารณะ เหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลับถูกรื้อฟื้น ให้ความหมายใหม่ มีชีวิตชีวาและโลดแล่นในพื้นที่สาธารณะนอกรูปแบบทางการที่รัฐเองก็ไม่สามารถควบคุมได้

นอกจากนั้น เดือนมิถุนายนยังเป็นเดือนที่มีความสำคัญกับเส้นทางการปฏิวัติและนักปฏิวัติอินโดนีเซียผู้หนึ่งด้วย บุคคลที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงคือ ตัน มะละกา (Tan Malaka) ผู้นำขบวนการคอมมิวนิสต์คนสำคัญของอินโดนีเซีย และได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 1963 ในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน และแม้ว่าตัน มะละกา จะไม่โดดเด่นหรือถูกพูดถึงเท่ากับนักชาตินิยมร่วมสมัยอย่างเช่น ซูการ์โน, โมฮัมหมัด ฮัตตา (Mohammad Hatta) หรือ ซูตัน ชาห์รีร์ (Sutan Syahrir) แต่ความน่าสนใจคือ เขาเป็นผู้นำที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งเห็นต่างกันมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย ทั้งจากกลุ่มผู้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และในกลุ่มผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง

ชีวิตวัยเยาว์ การศึกษาและผลงาน

ตัน มะละกา ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายมินังคาเบา มีชื่อดั้งเดิมว่า Sutan Ibrahim ส่วน Tan Malaka เป็นชื่อกึ่งชนชั้นสูงที่เขาได้รับจากฝั่งมารดาตามแบบฉบับของชาวมินังคาเบา ซึ่งการสืบเชื้อสายของฝั่งมารดาเป็นเรื่องปกติ ชื่อเต็มของเขาคือ Sutan Ibrahim Gelar Datuk Sutan Malaka เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1987 ที่สุมาตราตะวันตก และเสียชีวิตที่หมู่บ้านเซอโลปังกุง (Selopanggung) เมืองเกอดีรี (Kediri) ชวาตะวันออก เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1949 ขณะอายุ 51 ปี จากการประหารชีวิตโดยกองกำลังของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ตัน มะละกา ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนดัตช์ที่บ้านเกิด และได้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูที่เนเธอร์แลนด์ในปี 1913 ที่เนเธอร์แลนด์ เขาได้เข้าร่วมกับสมาคมนักเรียนชาวอินโดนีเซีย ซึ่งสมาชิกสมาคมนี้ต่อมาพัฒนากลายเป็นนักชาตินิยมอินโดนีเซีย และเขายังได้พบปะบรรดานักสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หนึ่งในนั้นคือเฮงค์ สเนฟลีต (Henk Sneevliet) หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมสังคมประชาธิปไตยแห่งอินดีส (Indies Social Democratic Association) หรือ ISDV ซึ่งเป็นองค์กรสังคมนิยมแรกในอินโดนีเซีย (1914) และต่อมาพัฒนาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia) หรือ PKI

นอกจากนี้ ตัน มะละกา ยังได้ศึกษางานเขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติและทฤษฎีสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการปฏิวัติบอลเชวิคปี 1917 เขาสนใจศึกษาลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง ตัน มะละกามีงานเขียนจำนวนมากเกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั้งในภาษาดัตช์และภาษาอินโดนีเซีย ผลงานที่โดดเด่นของเขา เช่น เรื่อง Menuju Republik Indonesia (1924) [Towards of the Republic of Indonesia], Pari dan PKI (1927) [Pari and PKI], Madilog Materialisme, Dialektika dan Logika (1943) [Madilog Materialism, Dialectics, and Logic], Dari Penjara ke Penjara (1970) [From Jail to Jail) เป็นต้น

อิสลามกับคอมมิวนิสต์ 

ช่วงทศวรรษ 1910 และ 1920 เป็นช่วงเวลาเบ่งบานขององค์กรชาตินิยมและการเคลื่อนไหวของขบวนการต่างๆ แนวคิดและอุดมการณ์อันหลากหลายถูกนำมาใช้ในการก่อตั้งองค์กรและสร้างสำนึกชาตินิยมในอินโดนีเซีย ซึ่งมีทั้งองค์กรที่สมาทานแนวคิดศาสนาอิสลามและแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ องค์กรที่มีบทบาทโดดเด่น เช่น องค์กรซาเรกัตอิสลาม (Sarekat Islam) ก่อตั้งขึ้นในปี 1911 และองค์กร ISVD ซึ่งในปี 1920 ISDV ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมคอมมิวนิสต์แห่งอินดีส (Perserikatan Komunis di Hindia) ถือเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งแรกในเอเชีย และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น PKI และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ในอินโดนีเซียเริ่มมีการถกเถียงกันว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์กับแนวคิดอิสลามสามารถไปด้วยกันได้หรือไม่ในการทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านอาณานิคม

หลังจากสำเร็จการศึกษาที่เนเธอร์แลนด์ในปี 1919  ตัน มะละกาเดินทางกลับอินโดนีเซียและเริ่มสนับสนุนแนวทางและการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ในตอนแรก เขาทำงานสอนหนังสือที่โรงเรียนในนิคมเกษตรใบยาสูบของเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ บริเวณทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตราใกล้กับเมดาน สุมาตราตะวันออก ทว่าตัน มะละกา มีความขัดแย้งกับผู้จัดการชาวยุโรปอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับเรื่องเนื้อหาแบบเรียนที่เขาใช้สอนนักเรียนในโรงเรียน ทำให้เขารู้สึกผิดหวังกับการทำงานที่นั่น

ปี 1920 ตัน มะละกาได้ย้ายไปชวา ในปีถัดมา เขาถูกขอให้ไปช่วยก่อตั้ง ‘โรงเรียนประชาชน’ (Sekolah Rakyat) ซึ่งเป็นโรงเรียนขององค์กรซาเรกัตอิสลาม ที่เมืองเซอมารัง (Semarang) ซึ่งจุดมุ่งหมายของโรงเรียนนี้ไม่ได้ต้องการผลิตนักเรียนที่มีความสามารถเท่านั้น แต่ต้องการ “สร้างจิตใจที่เป็นเอกราชในฐานะมนุษย์” ด้วย นี่เป็นคำกล่าวของตัน มะละกา ซึ่งเขาร่างหลักสูตรของโรงเรียนด้วยตัวเอง สิ่งที่พิเศษของโรงเรียนนี้คือ ตัน มะละกาให้มีการสอนภาษาดัตช์แก่นักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กจากชนชั้นล่างที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาดัตช์ เพราะภาษาดัตช์มีการเรียนการสอนในโรงเรียนของชาวดัตช์ที่นักเรียนส่วนใหญ่คือบุตรหลานชาวดัตช์กับพวกลูกหลานชนชั้นนำพื้นเมือง ต่อมาโรงเรียนประชาชนได้ขยายไปหลายเมืองในเกาะชวา

ในต้นทศวรรษ 1920 แนวคิดคอมมิวนิสต์ส่งอิทธิพลต่อขบวนการชาตินิยมในอินโดนีเซียอย่างมาก แม้กระทั่งในองค์กรอิสลาม เช่น ซาเรกัต อิสลาม ความแตกต่างทางความคิดระหว่างซาเรกัต อิสลาม ที่เมืองยอกยาการ์ตากับซาเรกัต อิสลาม ที่เมืองเซอมารังปรากฏอย่างชัดเจน โดยกลุ่มแรกไม่ยอมรับแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่จะเอามารวมกับอิสลาม ในขณะที่กลุ่มหลังเห็นว่าแนวทางทั้งสองสามารถไปด้วยกันได้ ซึ่งตัน มะละกาอยู่ในกลุ่มหลังนี้ 

ในเดือนธันวาคม 1921 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ PKI ตัน มะละกาได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคแทนเซอมาอุน (Semaun) ประธานพรรคคนแรก หลังจากที่เขาได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับระบบทุนนิยมในหลายประเทศรวมถึงในอินโดนีเซีย และการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนที่มีต่อชนชั้นแรงงาน สุนทรพจน์นั้นทำให้เขาได้รับการชื่นชมและยกย่องอย่างยิ่งจากสมาชิก PKI และมีคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคมากขึ้น หลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่ดังกล่าว

ต่อมาในปี 1926 PKI ตัดสินใจจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับเจ้าอาณานิคม ทว่า ตัน มะละกาไม่เห็นด้วยกับการจับอาวุธลุกขึ้นสู้เนื่องจากเห็นว่า PKI ยังไม่พร้อม ส่งผลให้เกิดความบาดหมางระหว่างตัน มะละกา กับกลุ่มผู้นำ PKI คนอื่นๆ อีกทั้งตัน มะละกา ยังพยายามขัดขวางแผนการนั้น แต่ไม่เป็นผล ผู้นำ PKI ยืนยันทำตามแผนการที่วางไว้ ทำให้สมาชิก PKI ได้ก่อการจลาจลด้วยอาวุธ เกิดการปะทะระหว่างสมาชิก PKI กับเจ้าหน้าที่รัฐอาณานิคมที่จาการ์ตาและบันเต็น (Banten) วันที่ 12-13 พฤศจิกายน 1926 และที่สุมาตราตะวันตกวันที่ 1 มกราคม 1927 และในที่สุด การจับอาวุธขึ้นสู้ของ PKI ก็จบลงที่ PKI ถูกเจ้าอาณานิคมปราบปรามอย่างราบคาบ ผู้นำหลายคนถูกประหารชีวิต จำคุก และ PKI ถูกประกาศยุบพรรค 

การก่อตั้งพรรค PARI 

หลังจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ตัน มะละกาได้เดินทางไปยังสิงคโปร์วันที่ 6 มิถุนายน 1926 ต่อมาราวปลายเดือนธันวาคม 1926 เขาได้เดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ และพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน 1927 เขาและสหายอีกสองคนได้แก่ จามาลุดดิน ตามิน (Jamaluddin Tamin) และซูบากัต (Subakat) ได้ร่วมกันประกาศก่อตั้งพรรคสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Partai Republik Indonesia) หรือ PARI ในฐานะพรรคของการปฏิวัติของชนชั้นแรงงาน มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมสมาชิกใต้ดินที่ยังคงทำงานต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ พรรค PARI ยังมีจุดมุ่งหมายในการสร้างชาติที่รวมคนมลายูเข้าไว้ด้วยกัน หลังจากประกาศก่อตั้งพรรคแล้ว บรรดาแกนนำได้แยกย้ายกันไป ซูบากัตเคลื่อนไหวต่อที่กรุงเทพฯ จามาลุดดิน ตามินไปทำงานเคลื่อนไหวที่สิงคโปร์และมลายา ส่วนตัน มะละกาเดินทางไปฟิลิปปินส์ในต้นเดือนสิงหาคม 1927 เพื่อไปรักษาปัญหาสุขภาพของเขา

พรรค PARI แสดงจุดยืนว่าเป็นอิสระทั้งจาก PKI และองค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์น ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ล้มเหลวของ PKI แม้ว่าพรรค PARI ดูจะไม่มีบทบาทอะไรมากนักและมีสมาชิกเข้าร่วมค่อนข้างน้อย แต่พรรค PARI ก็เป็นองค์กรเดียวในปลายทศวรรษ 1920 ที่เรียกร้องเอกราชของอินโดนีเซียอย่างเปิดเผย ในขณะที่ PKI ต้องลงไปเคลื่อนไหวใต้ดินแทน พรรค PARI มีการเคลื่อนไหวอย่างน้อยที่สุดจนถึงทศวรรษ 1930 โดยมีหลักฐานของตำรวจดัตช์ที่ระบุถึงการดำเนินงานของสมาชิกพรรค PARI ในอินโดนีเซีย

ตัน มะละกา ได้เขียน Manifesto Bangkok ในคราวประกาศก่อตั้งพรรค PARI เป็นภาษาดัตช์และแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียโดยซูบากัต อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครมีต้นฉบับ Manifesto Bangkok มีเพียงฉบับปรับปรุงในปี 1929 เท่านั้น

กลับสู่มาตุภูมิ 

ตัน มะละกาเดินทางกลับอินโดนีเซียปี 1944 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซีย หลังจากอินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 กลุ่มนักชาตินิยมนำโดยซูการ์โนได้ก่อตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียขึ้น แต่เนเธอร์แลนด์ไม่ยอมรับการประกาศเอกราชนั้น ทำให้เกิดการทำสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชชองอินโดนีเซียระหว่างทั้งสองฝ่ายต่ออีกถึง 4 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลา 4 ปีนั้น มีทั้งการรบกันและการเจรจา มีการใช้ยุทธวิธีหลากหลายในการต่อสู้เพื่อเอกราช ซึ่งบรรดานักชาตินิยมอินโดนีเซียมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องยุทธวิธี บางคนเห็นว่าควรใช้วิธีทางการทูต บางคนไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง รวมถึงตัน มะละกา ด้วย

ตัน มะละกาได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรสหภาพแห่งการต่อสู้ (Persatuan Perjuangan) เพื่อต่อต้านทุกวิถีทางทางการทูตกับเนเธอร์แลนด์ กลุ่มดังกล่าวนี้อยู่เบื้องหลังการลักพาตัวซูตัน ชาห์รีร์ (Sutan Syahrir) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จากเหตุดังกล่าวทำให้ ตัน มะละกาถูกจับ และถูกตัดสินจำคุกสองปีครึ่งโดยไม่มีการพิจารณาคดี 

ตัน มะละกาได้รับการปล่อยตัวในปี 1948 เมื่อเกิดการลุกขึ้นสู้ของ PKI อีกครั้งที่เมืองมาดียุน (Madiun) นำโดยมุสโซ (Musso) และอามีร์ ชารีฟุดดิน (Amir Sjarifuddin) ซึ่งการลุกขึ้นสู้ของ PKI ครั้งนี้ก็จบลงที่ถูกปราบเช่นที่เคยเกิดในปี 1926 แตกต่างกันที่ครั้งนี้ ผู้ปราบคือรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ไม่ใช่เจ้าอาณานิคม

ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 1948 ตันมะละการ่วมกับ ซูการ์โน, คาเอรุล ซาเละห์ (Chaerul Saleh) และ อดัม มาลิค (Adam Malik) ก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า Partai Musyawarah Rakyat Banyak หรือเรียกโดยย่อว่า Murba โดยพรรค Murba ได้เข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งแรกในอินโดนีเซียปี 1955 และครั้งที่สองในปี 1971 ในสมัยยุคระเบียบใหม่ และต่อมาได้ถูกยุบรวมกับพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย (Partai Demokrasi Indonesia) หรือ PDI

ก่อนการโจมตีครั้งที่สองของเนเธอร์แลนด์ ตัน มะละกาได้ออกจากเมืองยอกยาการ์ตามุ่งหน้าไปเมืองเกอดีรี ซึ่งเขาได้รับการต้อนรับจากประชาชนที่นั่นอย่างอบอุ่น วันที่ 21 ธันวาคม ตัน มะละกาได้ขึ้นปราศรัยท่ามกลางผู้สนับสนุน เขาได้เรียกร้องให้ประชาชนต่อต้านอาณานิคมตะวันตก ไม่ยอมรับการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น และการจะไปสู่เอกราชที่สมบูรณ์ต้องได้มาด้วยการจับอาวุธขึ้นสู้เท่านั้น การปราศรัยดังกล่าวถูกมองโดยศัตรูทางการเมืองของตัน มะละกา ว่าเขาต้องการสร้างสาธารณรัฐขึ้นใหม่ 

ตัน มะละกาจับอาวุธขึ้นสู้ทำสงครามกองโจรที่พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบรันตัส เมืองเกอดีรี เขาถูกจับโดยกองกำลังทหารของสาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1949 สองวันหลังจากถูกจับกุม ตัน มะละกาและผู้ติดตามถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่เชิงเขาหมู่บ้านเซอโลปังกุง เมืองเกอดีรี และศพของเขาก็ถูกฝังไว้ที่นั่น เขาจบชีวิตในข้อหาเป็นกบฏ ต่อมาในปี 1963 ‘ผู้ก่อกบฏ’ นาม ตัน มะละกา ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘วีรบุรุษ’ แห่งชาติในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน 

ตัน มะละกา เป็นผู้นำขบวนการฝ่ายซ้ายที่ชีวิตผลิกผันมากที่สุดผู้หนึ่ง เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ต่อต้านอาณานิคมแบบยอมหักไม่ยอมงอ ถูกจับขังคุกโดยรัฐบาลอาณานิคมหลายต่อหลายครั้ง แต่ในที่สุดกลับเสียชีวิตด้วยฝีมือของ ‘คนอินโดนีเซีย’ ด้วยกันเอง และแม้ว่าจะเสียชีวิตในข้อหาเป็นกบฏ และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศ แต่กลับได้รับการยกย่องอย่างยิ่งในภายหลังในฐานะวีรบุรุษแห่งชาติ บางคนถึงกับยกย่องให้เขาเป็น ‘บิดาแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย’ 

ตัน มะละกา เดินทางไปหลายที่เพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมถึงในประเทศไทยด้วย ช่วงเวลาที่ตัน มะละกาเดินทางมาไทยนั้น เขามาพร้อมกับแนวคิดในการสร้างชาติแบบสาธารณรัฐในแบบฉบับของคอมมิวนิสต์ และเป็นช่วงเวลา 5 ปีก่อนเกิดการปฏิวัติสยาม น่าสนใจว่าในช่วงเวลาที่เขาเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ นั้น ตัน มะละกาได้พบเจอใครบ้าง ได้มีการแลกเปลี่ยนกับนักสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในไทยบ้างหรือไม่ หรือมีความช่วยเหลือระหว่างตัน มะละกากับคนสยามหรือมลายูเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า คำถามเหล่านี้ยังคงต้องการคำตอบมาเติมเต็มช่องว่างทางประวัติศาสตร์ต่อไป


เอกสารประกอบการเขียน

  1. Bonnie Triyana, “Sekolah ala Tan Malaka,” historia.id, https://historia.id/politik/articles/sekolah-ala-tan-malaka-PzlMD/page/1
  2. Helen Jarvis, “Tan Malaka: Revolutionary or Renegade?,” Bulletin of Concerned Asian Scholar, 19:1, 41-54, 1987, https://www.tandfonline.com/doi/pdf/10.1080/14672715.1987.10409868
  3. Tan Malaka, Dari Penjara ke Penjara, Jakarta: TePLOK PRESS, 2000.
  4. Verelladevanka Adryamarthanino, “Tan Malaka: Masa Muda, Perjuangan, Peran, dan Akhir Hidupnya,” kompas.com, https://www.kompas.com/stori/read/2021/05/12/163657379/tan-malaka-masa-muda-perjuangan-peran-dan-akhir-hidupnya?page=all

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save