fbpx
“ถึงสำนักข่าวจะต้องถูกปิด เราก็ไม่ยอมทรยศหน้าที่ตัวเอง” เปิดใจสื่อพม่าในห้วงเวลารัฐประหาร

“ถึงสำนักข่าวจะต้องถูกปิด เราก็ไม่ยอมทรยศหน้าที่ตัวเอง” เปิดใจสื่อพม่าในห้วงเวลารัฐประหาร

ห้ามเรียกรัฐบาลของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ว่าเป็น ‘รัฐบาลรัฐประหาร’”

คือข้อความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของกระทรวงการสื่อสารแห่งเมียนมา ในหัวข้อ ‘จรรยาบรรณในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน’ ที่ส่งถึงสมาคมสื่อเมียนมา (Myanmar Press Council) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวผิดจรรยาบรรณสื่อ พร้อมยกสารพัดกฎหมายมาข่มขู่ ซึ่งบทลงโทษมีทั้งถูกดำเนินคดีอาญาและถูกเพิกถอนใบอนุญาตสื่อ

แทนที่จะยอมทำตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร สื่อพม่ากลับร่วมใจกันขัดขืน สื่ออิสระกว่า 50 แห่งออกแถลงการณ์ร่วมตอบโต้แถลงการณ์ของกระทรวงการสื่อสารว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อ พร้อมยืนยันทำหน้าที่ต่อไป ขณะเดียวกัน สื่อต่างๆ ยังพร้อมใจกันคว่ำบาตรไม่เสนอข่าวใดๆ ของคณะรัฐประหารและกองทัพ และนักข่าวจำนวนหนึ่งก็ตัดสินใจลาออกจากสำนักข่าวที่จะส่งตนไปทำข่าวการแถลงข่าวของกองทัพเพื่อแสดงการต่อต้าน

ท่ามกลางข่าวสถานการณ์รัฐประหารที่ทั่วทั้งโลกกำลังจับตามอง ความหาญกล้าทางจริยธรรมของสื่อมวลชนพม่าได้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาคนทั่วโลก ถึงแม้ล่าสุดจะมีนักข่าวถูกจับกุมไปแล้วอย่างน้อยราว 30 คน และยังมีความพยายามคุกคามสื่อจากกองทัพอีกหลายรูปแบบ แต่ดูเหมือนว่าสื่อพม่าก็ยังคงเดินหน้ารายงานความจริงให้สาธารณชนกันอย่างไม่ลดละ

ในหมู่มวลสื่อมวลชนพม่า Myanmar Now คือสำนักข่าวหนึ่งที่ตื่นตัวในการรายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์รัฐประหาร

Myanmar Now เป็นสำนักข่าวอิสระให้บริการทั้งในภาษาพม่าและอังกฤษ แม้จะเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2015 และดำเนินการมาได้ไม่นาน แต่ Myanmar Now ก็ได้รายงานข่าวการเมืองและสังคมเชิงลึกที่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนสังคมพม่ามาแล้วหลายชิ้น เช่น เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในศาสนสถาน การค้าประเวณีเด็ก การแฉเรื่องราวทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ไปจนถึงการเปิดโปงเครือข่ายอาณาจักรธุรกิจของกองทัพ

ชื่อเสียงของ Myanmar Now ทำให้ชื่อของ ‘ส่วย วิน’ (Swe Win) บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักข่าวดังกล่าว เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ

ในวัย 43 ส่วย วิน ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน โดยเมื่อมีอายุได้ 20 ปี เขาได้เข้าร่วมการประท้วงของนักศึกษาเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร จนถูกจับกุมและจำคุกอยู่นานถึง 7 ปี ก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี 2005 หลังจากนั้น ส่วย วินก็เข้าสู่เส้นทางอาชีพสื่อมวลชนตั้งแต่ปี 2009 จนกระทั่งก่อตั้งสำนักข่าว Myanmar Now ของตัวเองในปี 2015 และต้องผจญกับการถูกคุกคามเสรีภาพสื่ออยู่บ่อยครั้ง 

จากผลงานข่าวของ Myanmar Now ที่ยืนหยัดรายงานความจริง มีคุณภาพ ยึดมั่นในจรรยาบรรณ และสร้างอิมแพ็กในสังคมพม่าสูง ส่วย วินได้รับรางวัลแมกไซไซในปี 2019 โดยถือเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

แต่ในปลายปีของปีเดียวกันนั้นเอง ส่วย วินก็ถูกลอบยิงระหว่างพักผ่อนกับครอบครัวในต่างจังหวัด โดยเขาเชื่อว่าเป็นฝีมือของกองทัพที่ไม่พอใจรายงานข่าวเปิดโปงหลายชิ้นของ Myanmar Now ถึงแม้ส่วย วินจะเจอเหตุถูกคุกคามจากผลงานข่าวของเขาเองมาแล้วหลายครั้ง ทั้งโดนลอบทำร้ายและโดนคดีความ แต่ครั้งนั้นทำให้ส่วย วินเริ่มกังวลต่อความปลอดภัยของครอบครัวเขาเอง เขาจึงตัดสินใจพาครอบครัวย้ายออกจากพม่าไปพำนักที่ออสเตรเลียจนถึงทุกวันนี้

ถึงตัวจะไม่อยู่ในพม่า แต่ส่วย วินก็ยังคงเดินหน้าบริหาร Myanmar Now และทำงานข่าวจากทางไกลอย่างไม่หยุดยั้ง และรัฐประหารครั้งนี้ก็ทำให้ส่วย วิน และ Myanmar Now ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในการทำหน้าที่สื่อมวลชน

101 ต่อสายไปถึงออสเตรเลียเพื่อสนทนากับส่วย วิน ถึงการทำงานของสื่อพม่าที่ยังคงยืนหยัดจรรยาบรรณวิชาชีพตัวเองอย่างแข็งแกร่ง แม้จะกำลังถูกคุกคามอย่างหนักหน่วงภายใต้การรัฐประหาร พร้อมคุยถึงประสบการณ์และมุมมองของเขาที่มีต่อเสรีภาพสื่อและสถานการณ์การเมืองทั้งในพม่าและทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Swe Win บ.ก. Myanmar Now
ส่วย วิน (Swe Win) บรรณาธิการสำนักข่าว Myanmar Now



สถานการณ์ของสื่อมวลชนพม่าภายใต้การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นอย่างไรบ้าง

พวกเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก ทุกคนต่างกำลังทำงานอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว บ้างก็ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย บ้างก็ถูกจับกุม ล่าสุดนักข่าวของ Myanmar Now คนหนึ่งก็เพิ่งถูกจับไป จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ถูกปล่อยตัว ขณะที่หลายสำนักข่าวก็ต้องปิดที่ทำการไปเพื่อความปลอดภัย แต่ก็ยังคงเดินหน้าทำข่าว เสนอความจริงให้ประชาชนอยู่ โดยต้องคอยทำข่าวกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ไม่เปิดเผยตัวในทุกมุมเมือง


สำนักข่าว Myanmar Now ทำงานกันอย่างไรในตอนนี้ และการที่ตัวคุณไม่ได้อยู่ในพม่าทำให้ทีมงานคุณทำงานกันยากขึ้นหรือไม่

ผมสามารถจัดการสำนักข่าวได้จากห้องพักของผมเองในออสเตรเลียด้วยการใช้แพลตฟอร์มอย่างเช่น Zoom ซึ่งผมก็คอยมอนิเตอร์อยู่แทบทุกชั่วโมง และผมก็ยังมีบรรณาธิการอีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ในพม่า ซึ่งก็ช่วยงานผมได้เยอะ

ผมคิดว่าการที่ผมไม่ได้อยู่ในพม่ามันดีกว่า ถ้าผมยังอยู่ที่นั่น เราน่าจะทำงานกันลำบากขึ้น เพราะกองทัพต้องตามล่าตัวผมในฐานะที่เป็นหัวหน้าสำนักข่าวแน่นอน อย่างน้อยผมอยู่ที่นี่ ก็ยังทำงานสั่งการจากที่นี่ได้

ส่วนการทำงานในพม่าตอนนี้ เราต้องแบ่งทีมออกเป็นสองชั้น ชั้นหนึ่งคือคนที่ลงไปทำงานในพื้นที่ ซึ่งก็ต้องทำกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ หน่อย และอีกชั้นหนึ่งก็คือคนที่ทำงานอยู่ใต้ดิน ที่ต้องคอยควบคุมการทำงานและมีอำนาจตัดสินใจเรื่องต่างๆ


เพราะนี่คือความถูกต้อง นี่คือจิตวิญญาณของคนทำสื่อ เราจะไปให้ความชอบธรรมกับคนกลุ่มหนึ่งที่แย่งอำนาจไปจากมือประชาชนและยังทำร้ายประชาชนได้อย่างไร


กองทัพคุกคามและบีบบังคับสื่อมวลชนหนักมาก แต่ดูเหมือนว่าสื่อไม่ยอมจำนนต่อคำสั่งกองทัพ อะไรที่ทำให้สื่อพม่ายืนหยัดทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ได้ในสถานการณ์แบบนี้

เพราะนี่คือความถูกต้อง นี่คือจิตวิญญาณของคนทำสื่อ เราจะไปให้ความชอบธรรมกับคนกลุ่มหนึ่งที่แย่งอำนาจไปจากมือประชาชนและยังทำร้ายประชาชนได้อย่างไร เราไม่ยอมรับให้พวกเขาเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นเราถึงไม่เรียกตำแหน่งของพวกเขาบนหน้าข่าวของเรา บางคนอาจจะบอกให้เรายอมๆ เขาไปบ้าง ยอมเรียกเขาว่าเป็นรัฐมนตรีหน่อย แล้วเราจะได้เปิดสำนักข่าวทำงานกันต่อได้ แต่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย เพราะสื่อมีหน้าที่ต้องยืนหยัดรายงานความจริง อยู่ข้างความถูกต้อง และอยู่ข้างประชาชนเท่านั้น ถึงสำนักข่าวจะต้องถูกปิด เราก็ไม่ยอมทรยศหน้าที่ตัวเอง จะโดนปิดก็ปิดไปเลย

และที่สำคัญ เราต้องเดินหน้าทำงานเราต่อไปทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะถูกคุกคามหนักขนาดไหน เพราะถ้าเราไม่มีนักข่าวหรือช่างภาพทำงานในพื้นที่เลย กองทัพก็จะทำร้ายประชาชนได้ง่ายๆ โดยปราศจากหลักฐาน เราไม่สามารถละทิ้งหน้าที่ของเราได้


อนาคตของเสรีภาพสื่อพม่าจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าเสรีภาพสื่อจะไม่มีแล้ว การรายงานข่าวที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพก็คงจะทำไม่ได้เลย และจะมีโทษหนักมากถ้าทำอย่างนั้น

ล่าสุดกองทัพก็เพิ่งแก้กฎหมายหลายฉบับที่เป็นภัยต่อเสรีภาพในการทำงานของสื่อมาก อย่างเช่นกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transaction Law) ที่ได้เพิ่มเนื้อหาที่ระบุว่า ห้ามเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางออนไลน์ที่จงใจยุยงปลุกปั่น สร้างความขัดแย้ง เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี แต่ตัวกฎหมายก็กำกวม ตีความได้กว้างมาก และเสี่ยงมากที่จะถูกเอาไปตีความตามใจชอบ

แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่การตีความกฎหมายตามใจชอบ ที่สำคัญกว่านั้นคือเราไม่ได้มีระบบยุติธรรมที่เป็นธรรมแล้ว เพราะกองทัพเข้าควบคุมทุกองคาพยพของประเทศ รวมถึงสถาบันยุติธรรม จนไม่ต่างจากกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อให้ตัวบทกฎหมายจะยังชอบธรรมอยู่ แต่ถ้าศาลและผู้พิพากษาไร้ซึ่งความเป็นอิสระและไร้ซึ่งความกล้าหาญที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ตัวกฎหมายก็ปกป้องเราไม่ได้

เพราะฉะนั้น ตอนนี้เขาจะตีความกฎหมายอย่างไรก็ได้ เล่นงานเราได้ทุกเมื่อ เห็นได้จากออง ซาน ซูจีที่โดนยัดข้อหาครอบครองวอล์กกี้ ทอล์กกี้ ซึ่งไร้สาระมาก แต่กองทัพต้องการแสดงให้พวกเราเห็นว่า ขนาดคนที่เคยเป็นผู้นำที่เป็นที่ชื่นชอบขนาดนั้นยังโดนข้อหาได้ พวกเราที่เป็นประชาชนธรรมดาก็โดนได้เหมือนกัน


สื่อพม่ารวมถึง Myanmar Now จะทำอย่างไรต่อไป

ที่จริง เราก็วางแผนเผื่อกันไว้แล้ว พวกเราจะต้องลงไปทำงานใต้ดินกันมากขึ้น โดยไม่มีที่ทำการสำนักข่าว เราคงจะทำงานกันเป็นทีมชัดเจนไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ตอนนี้เหมือนกับว่าเรากำลังสู้อยู่ในสงคราม นักข่าวอย่างเราๆ ก็เป็นเหมือนทหารที่กำลังต่อสู้ เราต้องทำงานกันเหมือนสายลับอะไรทำนองนั้น

แน่นอนว่างานของเราจะยากขึ้น แต่เราก็มั่นใจว่าจะทำได้ เพราะเราคุ้นเคยกับการอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมาก่อนอยู่แล้ว เราเกิดมาก็อยู่กับมันแล้ว เพราะฉะนั้นเราปรับตัวได้


องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) บอกว่ารัฐประหารครั้งนี้ทำให้เสรีภาพสื่อพม่าถอยหลังกลับไปถึง 10 ปีเลย คุณคิดว่าเป็นอย่างนั้นจริงไหม

ผมเห็นด้วยมาก มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ช่วงก่อนปี 2010 ที่กองทัพยังกุมอำนาจอยู่ รายงานข่าวทุกชิ้นจะต้องผ่านกองเซนเซอร์ที่กองทัพควบคุมอยู่ ถ้ากองเซนเซอร์ไม่อนุมัติ ก็เผยแพร่ไม่ได้ และยังมีข้อกฎหมายหลายข้อที่ลงโทษสื่อได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพหรือตัวนายพลระดับสูง

และผมก็เชื่อว่าเดี๋ยวมิน อ่อง หล่ายก็คงทำแบบเดียวกัน สื่อจะกลับมาโดนเซนเซอร์ แล้วเราจะต้องส่งรายงานข่าวให้พวกเขาอนุมัติตามเดิม นักข่าวที่วิจารณ์กองทัพก็จะถูกโยนเข้าคุก

แต่ที่จริงผมว่าหลังจากนี้จะแย่ลงอีก เสรีภาพสื่ออาจจะถอยหลังกลับไปได้นานกว่านั้น อาจจะมากถึง 20-30 ปีเลยก็ได้ ดูได้จากรูปแบบการทำรัฐประหาร และวิธีที่กองทัพปราบปรามประชาชน ไม่ต่างจากช่วงทศวรรษ 1960-1970 เลย สื่อก็คงโดนเหมือนๆ กัน


สิ่งที่ต่างจากตอนนั้นคือ ตอนนี้คนพม่าเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลมีเดียกันแล้ว นี่น่าจะทำให้กองทัพควบคุมสื่อไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนหรือไม่?

เอาเข้าจริงก็ถูกต้องเลย เรียกได้ว่าตอนนี้ ประชาชนมีอินเทอร์เน็ตเป็นอาวุธต่อกรกับกองทัพ ซึ่งไม่เหมือนในยุครัฐบาลทหารก่อนๆ ที่เรายังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ตอนนี้ใครๆ ก็รายงานข่าวได้ อย่างตอนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามบุกเข้าไปจับใครในชุมชนยามวิกาล ชาวบ้านก็หยิบมือถือขึ้นมาไลฟ์ได้เลย ทำให้ตำรวจไม่กล้าทำอะไรมากเหมือนแต่ก่อน ตราบใดที่เรายังมีอินเทอร์เน็ตอยู่ เราก็แทบไม่ต้องห่วงว่าจะโดนเซนเซอร์

ตอนนี้กองทัพถึงได้พยายามปิดอินเทอร์เน็ตทุกคืน และพยายามบล็อกเว็บไซต์บางเว็บ เพื่อจะแก้ปัญหาตรงนี้ แต่อย่างไรเสีย ประชาชนก็มีทางออก คนพม่าหลายๆ คนแม้กระทั่งคนขับรถสามล้อก็รู้วิธีมุด VPN เข้าไปดูเนื้อหาที่โดนบล็อกแล้ว ซึ่งนี่ก็ทำให้ผมประหลาดใจมากเหมือนกันว่าคนพม่ามาถึงขั้นนี้แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้กองทัพจะตัดอินเทอร์เน็ต คนพม่าก็รู้วิธีที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ พวกเขามีทางออกเยอะแยะ

ตลอดช่วง 10 ที่ผ่านมา นักข่าวยังถูกคุกคามอยู่มาก ตัวผมเองก็เคยโดนเหมือนกัน ตอนนั้นผมถึงขั้นถูกลอบยิง และผมก็มารู้ทีหลังว่าเป็นกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง



ช่วงราวๆ 10 ปีที่ผ่านมาที่พม่าอยู่ระหว่างการปฏิรูปเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อในตอนนั้นเป็นอย่างไร ดีขึ้นจากยุคก่อนๆ ไหม

เรารายงานข่าวได้หลากหลายขึ้นมาก มีเสรีภาพมากขึ้นกว่ายุคก่อนๆ เราวิจารณ์ออง ซาน ซูจีได้ วิจารณ์พรรค National League for Democracy (NLD) ของเธอได้และวิจารณ์กองทัพได้มากขึ้นด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรามีเสรีภาพเต็มร้อย ยังมีบางเรื่องที่แตะต้องไม่ได้อยู่ ถึงเราจะเริ่มวิจารณ์กองทัพได้ แต่พอเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนหรือลึกเกินไป โดยเฉพาะการเปิดโปงการกระทำของกองทัพที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นการเข่นฆ่าชาวมุสลิมโรฮิงญา นอกจากนี้ กองทัพก็มักจะชอบปกปิด ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลลึกๆ บางอย่างต่อสื่อ ถึงแม้เราจะไปขุดคุ้ยข้อมูลมาได้ หรือไปขุดเอาเอกสารลับอะไรมาเปิดโปงได้ก็แล้วแต่ ก็จะถูกจับเข้าคุก 2-3 ปีทันที เพราะมีกฎหมายบางตัวที่ปกป้องกองทัพเรื่องนี้อยู่

ในช่วงเวลานั้นสำนักข่าวใหม่ๆ หลายสำนักได้ถือกำเนิดขึ้น รวมถึง Myanmar Now ที่ก่อตั้งในปี 2015 ด้วย เพราะเรามองเห็นโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นสำหรับวิชาชีพสื่อ จากประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพที่ก้าวหน้าขึ้น แต่พวกเราก็ตระหนักดีว่ามันยังไม่เต็มร้อย ต้องเข้าใจว่าพม่าในตอนนั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ประเทศเราไม่เคยมีประชาธิปไตยจริงเลย บรรยากาศแบบนี้ไม่มีทางที่จะมีเสรีภาพสื่อเต็มที่ได้ สื่อก็ยังคงเจอข้อจำกัดมากอยู่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นที่บางคนบอกว่าหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ สถานการณ์จะแย่ลง ในบางแง่มุม ผมว่าไม่จริง ที่จริงคือมันแย่มาตั้งนานแล้วต่างหาก

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นักข่าวก็ยังคงถูกคุกคามอยู่ตลอด สิ่งพวกนี้ไม่ได้หายไปไหน นักข่าวบางคนโดนจับเพราะทำข่าวโรฮิงญา บางคนโดนจับเพราะไปวิจารณ์ออง ซาน ซูจีก็มี และปัญหาคือออง ซาน ซูจีไม่ได้ออกมาปกป้องอะไรนักข่าวเลย เป็นเพราะเธออยากรักษาความสัมพันธ์กับกองทัพ โดยไปหวังว่าจะทำให้เธอทำงานต่อไปได้และเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยเลย ถ้าเธอทำงานร่วมกองทัพเพื่อสร้างความปรองดองในชาติก็ว่าไปอย่าง แต่เราไม่เห็นด้วยที่เธอปิดหูปิดตา สมคบกับกองทัพทำอะไรที่ไม่ถูกต้องแบบนี้ นี่ทำให้ตลอดช่วง 10 ที่ผ่านมา นักข่าวยังถูกคุกคามอยู่มาก ตัวผมเองก็เคยโดนเหมือนกัน ตอนนั้นผมถึงขั้นถูกลอบยิง และผมก็มารู้ทีหลังว่าเป็นกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง


เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ทำไมกองทัพถึงต้องลอบยิงคุณ

ตอนที่ผมโดนลอบยิงคือช่วงปลายปี 2019 คือก่อนหน้านั้น 2-3 ปี Myanmar Now ได้รายงานข่าวหลายชิ้นที่ไปเปิดโปงกองทัพ อย่างเช่น ตอนที่ทนายคนสนิทของออง ซาน ซูจีโดนลอบสังหารที่สนามบิน ทีมข่าวเราก็สืบสวน แล้วไปพบว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ นอกจากนั้น เรายังไปขุดคุ้ยเกี่ยวกับกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งหลายๆ กลุ่มที่กองทัพเป็นคนจัดตั้งหรือหนุนหลังด้วย เพราะฉะนั้น ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพวกเขาหมายหัวผม

ตอนที่ผมโดนลอบยิง ทีแรกผมก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นการตั้งใจลอบทำร้ายผม และไม่คิดว่าจะมีใครอยู่เบื้องหลัง แต่อยู่ๆ วันหนึ่ง เจ้าของโรงแรมที่ผมไปพักในคืนก่อนที่ผมจะถูกยิงมาบอกผมว่า วันก่อนที่จะเกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ทหารคอยมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวโรงแรม และบางทีก็เข้าไปสอบถามเขาถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับตัวผม นี่ทำให้ผมเชื่อได้ว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้


มีเหตุการณ์อื่นอีกหรือไม่ที่คุณหรือนักข่าวของคุณเองโดนคุกคาม

ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารแค่ 3 วัน สำนักข่าวของเราได้รับคำขู่ทางออนไลน์จากกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งว่าจะเข้ามาพังสำนักงาน อาจเป็นเพราะตอนนั้นเราได้กลิ่นรัฐประหารและรายงานข่าวว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดรัฐประหารขึ้น และออง ซาน ซูจีกำลังจะถูกควบคุมตัวภายใน 72 ชั่วโมง

ผมรู้ดีว่าคำขู่ออนไลน์พวกนั้นเอาจริงเอาจังแน่ ตอนนั้นผมเลยต้องสั่งปิดสำนักข่าวทันที แล้วให้นักข่าวไปอยู่ที่อื่นๆ ที่ปลอดภัยในย่างกุ้ง แล้วก็ต้องทำข่าวกันหลบๆ ซ่อนๆ แบบนี้


คุณมองสถานการณ์การเมืองในพม่าตอนนี้อย่างไร

กองทัพพม่ากำลังพยายามพาประเทศกลับไปสู่ความเป็น ‘รัฐตำรวจ’ (police state) เต็มรูปแบบ ที่ประชาชนต้องอยู่ใต้การควบคุมสอดส่องของรัฐอีกครั้ง

ย้อนไปปี 2553 กองทัพตัดสินใจผ่อนคลายการควบคุมประชาชน แต่ไม่ใช่เพราะว่าตั้งใจจะเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่แค่ต้องการจะลงสนามเล่นเกมเหมือนอย่างสิงคโปร์ แล้วก็ยอมปล่อยให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพต่างๆ เพิ่มขึ้นบ้าง ได้สัมผัสชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ร่ำรวยขึ้น มีรถขับ มีโทรศัพท์มือถือใช้ มีเงินซื้อคอนโดฯ อยู่ มีวันหยุดเพิ่มขึ้น กองทัพคิดว่าถ้าประชาชนไปเพลิดเพลินกับอะไรพวกนี้ ก็จะไม่สนใจเรียกร้องประชาธิปไตยจริงๆ อีกต่อไป

แต่กองทัพคิดผิด ที่คนพม่าต่อสู้กันมายาวนานเป็นสิบๆ ปี ไม่ได้ต่อสู้เพื่อวัตถุสิ่งของหรือสิทธิเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นแค่กะปริดกะปรอยอย่างนั้น แต่พวกเขาอยากได้ประชาธิปไตยจริงๆ แบบที่โลกตะวันตกมีกัน เป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนทุกวัยได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งได้ประโยชน์ การปฏิรูปประเทศสู่ประชาธิปไตยช่วงสิบปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เสียงของคนพม่าดังขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่กองทัพรู้ตัวว่าเริ่มจะคุมประชาชนไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ก็เลยทำรัฐประหารขึ้น และพยายามจะฟื้นฟูรัฐตำรวจกลับขึ้นมาคุมคนพม่าอีก ทยอยเอากฎหมายเก่าๆ กลับมาใช้ และแน่นอนว่าถ้าบ้านเมืองเป็นแบบนี้ สื่อมวลชนก็อย่าหวังว่าจะมีเสรีภาพ


คนพม่ามีโอกาสชนะกองทัพไหม

ผมหวังว่าประชาชนจะชนะ แต่เอาเข้าจริงก็ยากที่จะเอาชนะกองทัพได้ การต่อสู้ครั้งนี้จะยาวนาน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีหวังก็คือการกระทำอารยะขัดขืนที่บรรดาข้าราชการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงจำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย นี่เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเอเชีย และสร้างแรงสะเทือนให้กองทัพไม่น้อย สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้อาจจะพลิกไปพลิกมา ต้องจับตาดูกันไปยาวๆ

กองทัพไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นกันมาก และพวกเขาก็กำลังร่วมมือกันปราบปรามประชาชนของตัวเอง เพราะฉะนั้นผมไม่คิดว่าประเทศไทยจะปลอดภัยสำหรับสื่อมวลชนพม่าเหมือนแต่ก่อนแล้ว


นอกจากพม่า ดูเหมือนว่าทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเจอปัญหาเสรีภาพสื่อถูกคุกคามหนักเหมือนกันหมด คุณคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับสื่อในภูมิภาคนี้

คำตอบง่ายมาก เป็นเพราะชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมีประชาธิปไตยและเสรีภาพที่ถดถอย ไม่มีชาติไหนในภูมิภาคนี้ที่มีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นเลย เสรีภาพสื่อจึงเปราะบางมาก และคงถดถอยลงไปกว่านี้อีก เพราะต้องอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมสื่อไม่เหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ ตรงที่มันผันแปรไปตามสภาพการเมือง สินค้าของเราขึ้นอยู่กับสภาวะการเมืองแต่ละช่วง เมื่อไหร่ที่ประชาธิปไตยถดถอย สื่อก็ยิ่งลำบาก

ทราบมาว่าคุณเคยทำงานเป็นนักข่าวในไทยด้วย ประสบการณ์ในตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และคุณมองสถานการณ์สื่อในไทยอย่างไร

ผมเคยทำงานเป็นนักข่าวในไทยอยู่ประมาณ 2 ปีกว่าๆ ช่วงปี 2010-2012 ประจำอยู่ที่เชียงใหม่ ตอนนั้นสำนักข่าวอิสระของพม่าหลายสำนักก็ทำงานจากเชียงใหม่กัน ช่วงนั้นผมมีโอกาสทำข่าวการเมืองของไทย เช่น ข่าวการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ส่งข่าวไปรายงานที่พม่า และยังทำข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจากพม่าที่อยู่ในไทยอยู่บ่อยๆ ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ทางการไทยก็ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ดีมาก ผมรู้สึกว่าช่วงนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดี ประเทศไทยตอนนั้นถือเป็นที่ที่ปลอดภัยที่นักข่าวพม่าจะทำหน้าที่รายงานข่าวให้กับประชาชนคนพม่าได้ และแทบไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย

หลังรัฐประหาร นักข่าวหลายคนมีความคิดที่จะย้ายสำนักข่าวออกจากพม่ากลับไปที่ไทยเหมือนเดิม แต่ผมว่าคงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะการเมืองไทยเปลี่ยนไปมากจากเมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนี้กองทัพไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นกันมาก และพวกเขาก็กำลังร่วมมือกันปราบปรามประชาชนของตัวเอง เพราะฉะนั้นผมไม่คิดว่าประเทศไทยจะปลอดภัยสำหรับสื่อมวลชนพม่าเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ส่วนถ้าจะให้เปรียบเทียบการทำงานของสื่อไทยกับสื่อพม่าในตอนนี้ ผมคงเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะผมเข้าใจว่าสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศกำลังเจอสถานการณ์คนละแบบกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสื่อจะอยู่ภายใต้สถานการณ์แบบไหนก็แล้วแต่ เราก็ไม่มีข้ออ้างที่จะละทิ้งจรรยาบรรณและจิตวิญญาณวิชาชีพตัวเองได้เลย

สื่อพม่าอย่างเราไม่ได้สนใจแล้วว่าสำนักข่าวเราจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ต่อให้อีกหน่อยเราอาจจะไม่มีที่ทำการสำนักข่าวแล้ว แต่เราก็จะยังเดินหน้าทำหน้าที่นักข่าวต่อไปให้ได้



คุณมีอะไรจะแนะนำถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือทั่วโลกที่กำลังถูกคุกคามเสรีภาพ พวกเขาจะเรียนรู้อะไรจากสื่อพม่าในวันนี้ได้บ้าง  

ไม่ว่าจะสถานการณ์การเมืองจะเป็นแบบไหน จะอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ นักข่าวก็ต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณ เราต้องรายงานข้อมูลที่ถูกต้องเสมอ 

เราต้องตระหนักเสมอว่าหน้าที่ของเราคือไม่ได้รายงานแค่สิ่งที่เห็น ไม่ใช่แค่รายงานข่าวด่วน เหตุการณ์สำคัญ เอาข่าวจากงานแถลงข่าวหรือจากแถลงการณ์ต่างๆ เท่านั้น แต่เรามีหน้าที่ต้องรายงานในสิ่งที่คนมองไม่เห็นด้วย เราจะต้องรายงานข่าวเชิงวิพากษ์และเจาะลึกลงไปจากสิ่งที่เราเห็นอีก ยิ่งในสังคมเผด็จการที่พวกผู้นำชอบทำเรื่องสกปรกลับหลังประชาชน นักข่าวก็ต้องคอยตามขุดคุ้ยและเอามาแฉให้คนรับรู้ให้ได้ ต้องจำไว้ว่าเราไม่ได้มีหน้าที่แค่รายงานข่าว แต่ต้องเปิดโปงและขยายความให้สาธารณชนด้วย

ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักข่าวต้องให้ความสำคัญกับการติดตามรายงานข่าวเกี่ยวกับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิหรือถูกจับกุมคุมขังอยู่ เราต้องคอยตามว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา พวกเขากำลังเจอความยากลำบากอะไรบ้างในการต่อสู้ นักข่าวบางคนอาจจะบอกว่าเราเคยรายงานข่าวไปแล้วหนึ่งชิ้นหรือสองชิ้น แต่แค่นั้นไม่พอหรอก ตราบใดที่ยังมีคนทนทุกข์ทรมานจากการถูกละเมิดสิทธิ เราก็ต้องคอยติดตามรายงานข่าวไปเรื่อยๆ ต้องกัดไม่ปล่อย นักข่าวอย่างเราต้องบ้าระห่ำให้ได้ขนาดนั้น และที่สำคัญคือต้องมียุทธศาสตร์ที่ดี

นอกจากนี้ นักข่าวอย่างเราต้องไม่สบประมาทพลังของตัวเอง ต่อให้คุณจะอยู่ในสำนักข่าวเล็กๆ ไม่ได้มีทุนหนา เหมือนอย่างสำนักข่าวของผมที่ไม่รับโฆษณาเลย และทีมเราก็เล็กมาก แต่ขอให้เชื่อว่าเรามีพลังทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ตราบใดที่เรายังยืนอยู่บนหลักจรรยาบรรณที่ถูกต้อง และเดินหน้ารายงานเปิดโปงความจริงให้สาธารณชนแบบสุดความสามารถ ดีกว่าสำนักข่าวใหญ่ๆ บางแห่งที่ถึงจะมีคนเยอะ ทุนหนาก็จริง แต่กลับไม่ได้รายงานข่าวอะไรที่เป็นประโยชน์ ไม่เจาะลึกเปิดโปงความจริง ไม่กล้าวิพากษ์ขุดคุ้ยผู้นำเผด็จการ มันก็เป็นสำนักข่าวที่ไร้ประโยชน์

ตอนนี้ สื่อพม่าอย่างเราไม่ได้สนใจแล้วว่าสำนักข่าวเราจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ต่อให้อีกหน่อยเราอาจจะไม่มีที่ทำการสำนักข่าวแล้ว แต่เราก็จะยังเดินหน้าทำหน้าที่นักข่าวต่อไปให้ได้ ถึงเราจะตกงาน แต่เราก็ยังยึดมั่นในจิตวิญญาณนักข่าว ทำหน้าที่เพื่อประชาชนได้อยู่ ไม่ต้องสนใจว่าจะมีสำนักข่าวหรือไม่

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตราบใดที่สื่ออย่างเรายืนข้างความถูกต้องและยึดมั่นจรรยาบรรณวิชาชีพของเรา เราจะมีที่ทางในวิชาชีพนี้อยู่เสมอ ผมยืนยันได้เลย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save