fbpx

วิกฤตศีลธรรมในสังคมพุทธราชาชาตินิยม กับ สุรพศ ทวีศักดิ์

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าว ‘เสียๆ หายๆ’ หลุดออกมาจากในรั้ววัดวา – สถานที่ที่บางคนเชื่อว่าควรจะขาวสะอาด เป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าข่าวคาวจากในวัดจะหลุดออกมาสู่สายตาสาธารณชนถี่ขึ้น

พระมั่วสุมเล่นการพนัน กินหมูกระทะแกล้มเบียร์หน้าพระประธาน มีความสัมพันธ์กับสีกา พระผู้ใหญ่ล่วงละเมิดทางเพศสามเณรหนุ่ม ไปจนถึงสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่ไม่มีในตน ฯลฯ

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้สังคมกลับมาตั้งคำถามต่อคุณค่าความหมายของศาสนา ยิ่งโดยเฉพาะศาสนาพุทธ ที่หลายคนใช้คำว่านี่คือยุค ‘วิกฤตผ้าเหลือง’

ในยุคที่หลายคนหันหลังให้วัด ขณะเดียวกัน รัฐไทยและกลุ่มอนุรักษนิยมก็เชิดชู ‘ศีลธรรมอันดีงาม’ ให้เป็นแก่นแกนหลักของสังคม ให้ความสำคัญจนอยู่ในกฎหมายและคำพิพากษา คำถามสำคัญก็คือ ในวันที่ศีลธรรมในสังคมไทยถูกตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา ศรัทธาของผู้คนกำลังสั่นคลอน ศีลธรรมแบบไหนที่เรากำลังพูดถึง ภาพที่เห็นและเป็นอยู่นับเป็นศีลธรรมอันดีงามอยู่ไหม

101 ชวน ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา ผู้เขียนหนังสือ พุทธราชาชาตินิยม มาพูดคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้

เรากำลังอยู่ในวิกฤตแบบไหนกันแน่ สังคม ‘เคร่งศีลธรรม’ มีรากมาจากไหน ลงลึกไปใต้ภูเขาน้ำแข็งของเหตุการณ์ ‘ผู้ทรงศีลผิดศีลเสียเอง’ นั้น เราจะมองพุทธแบบไทยอย่างไร และท่ามกลางคลื่นความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่เกิดขึ้น เราจะมีทางออกของเรื่องนี้แบบไหน

ช่วงที่ผ่านมาวงการพระสงฆ์มีข่าวเสียหายเยอะพอสมควร หลายคนมองว่าเป็นยุควิกฤตผ้าเหลือง คุณมองว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนภาวะอะไรในสังคม

ในเชิงข้อเท็จจริง เรื่องแบบนี้มีอยู่ในวัดมานานแล้ว ถ้าไล่ดูในคัมภีร์ที่เล่าเรื่องสมัยพุทธกาล หนักกว่าตอนนี้อีกนะ มีข้อห้ามพระเสพเมถุนกับคนเป็น พระก็ไปเสพเมถุนกับสัตว์หรือศพ ห้ามเสพเมถุนระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ก็ให้ภิกษุณีเปลือยต่อหน้าแล้วตัวเองก็สำเร็จความใคร่ ถ้าโฟกัสมาเฉพาะเมืองไทย น่าจะเจอหลายวัด เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่ถูกนำเสนอออกสื่อเท่าไหร่ ระยะหลังมีโลกโซเชียลฯ มีคลิปปล่อยออกมา ประเด็นจึงขยายไปเร็ว

ปรากฏการณ์นี้ทำให้เห็นว่าพุทธศาสนาไม่ฟังก์ชันเรื่องศีลธรรมแล้ว ศีลธรรมแยกเป็นสองเรื่องคือ หนึ่ง ศีลธรรมของตัวบุคคล คือพระสงฆ์ทำผิดวินัยสงฆ์ คุณทำผิดกฎแล้วไม่ยอมรับผิด พยายามปกปิดเพื่อใช้สถานภาพของพระมาหลอกลวงหากินต่อไป สอง ศีลธรรมของระบบสงฆ์ คือมีการช่วยกันปกปิดความผิด จนไม่สามารถตรวจสอบและอธิบายกับสังคมได้

ปฏิกิริยาของสังคมส่วนหนึ่งก็ใช้สำนึกทางศีลธรรมออกมาตั้งคำถาม วิจารณ์ให้แก้ไข แต่ส่วนหนึ่งก็ยกให้คนที่มีปัญหานี้กลายเป็นไอดอล ค่าตัวสูงขึ้น เป็นดารา ผมเลยสับสนว่าเรามีจุดยืนทางศีลธรรมแบบไหนกันแน่

ถ้าเราบอกว่าศีลธรรมคือการละอายต่อบาป ดูแล้วก็เหมือนจะไม่ค่อยละอาย หรือถ้าพูดแบบศีลธรรมของโลกสมัยใหม่คือคุณต้องซื่อตรงต่อผู้บริโภค ในทางโลกคือการปลอมแปลงสินค้า ผิดทั้งเชิงศีลธรรมและกฎหมาย ถ้าคุณปาราชิกขาดจากความเป็นพระ แต่ยังใช้สถานะพระหาเงินจากการทำบุญและการแสดงธรรมอยู่ ก็เฟกน่ะ หนักกว่าปลอมแปลงสินค้า เพียงแต่ไม่มีกฎหมายเอาผิดได้ นี่เป็นเรื่องศีลธรรม แต่ทั้งระบบสงฆ์และตัวพระเองไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนี้

ศีลธรรมวิกฤต มาพร้อมกับการเมืองนั่นแหละ เพราะเกาะเกี่ยวเป็นโครงสร้างเดียวกัน ตอนนี้คนเสื่อมศรัทธากับสถาบันที่เราถูกสอนให้เชื่อว่าเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม เพราะสิ่งที่เราถูกปลูกฝังว่าพระเป็นผู้ละกิเลสนั้นขัดแย้งกับความจริงที่เห็น คนก็เริ่มเสื่อมศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ กับอีกส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกันคือวิกฤตระบบยุติธรรมและสถาบันการเมืองเสื่อม หลายอย่างประเดประดังเข้ามาพร้อมกัน

เวลาเราพูดคำว่า ศีลธรรม เรากำลังพูดถึงอะไรอยู่

เมื่อพูดถึงศีลธรรมในคอนเซ็ปต์บ้านเรา คนมักจะนึกถึงศาสนา เราถูกสอนมาทั้งที่บ้าน วัด โรงเรียน แต่ในโลกสมัยใหม่มีศีลธรรมทางโลกที่เป็นแนวคิดปรัชญา คือการกระทำที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเซนส์ของศีลธรรมเหล่านี้ไม่มีในสังคมไทย

ถ้ายกตัวคนที่มีศีลธรรมสมัยใหม่ เช่น กลุ่มทะลุฟ้า ทะลุวัง และกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้อง เขารู้ว่าการออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ผลลัพธ์คือการเข้าคุก แต่เขาคิดว่าการกระทำแบบนี้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นความถูกต้องคือหน้าที่ที่ต้องทำ

ถ้าเอาคอนเซ็ปต์เชิงปรัชญามาจับ เช่น แนวคิดประโยชน์นิยมของจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) นี่คือการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สู้เพื่อเสรีภาพ หรือมองในคอนเซ็ปต์ของคานท์ (Immanuel Kant) นี่คือการสู้เพื่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ ความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แม้ว่าผลของมันจะเลวร้ายต่อตัวเอง นี่คือศีลธรรมสมัยใหม่ แต่ศีลธรรมทางศาสนาไม่ได้มาทางนี้ กลายเป็นว่าถ้าคุณทำไม่ดีมา คุณไปบวชแล้วก็กลายเป็นคนดีขึ้นมา เป็นศีลธรรมส่วนบุคคลที่สร้างภาพลักษณ์ แล้วหลายๆ ครั้งมันเฟก แม้แต่พระที่รู้ธรรมะดีๆ สุดท้ายก็เฟก

ศีลธรรมไม่ใช่เรื่องไม่กินเหล้า ไม่ทำผิดศีล?

ศีลธรรมสมัยใหม่อยู่ที่อิสรภาพของเราแต่ละคนที่จะตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด ถ้าเขากินเหล้าแล้วดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้ากินเหล้าแล้วไปตีหัวคนอื่น อันนี้ผิด

คอนเซ็ปต์ของศีลธรรมสมัยใหม่คือคุณไม่ผิดเมื่อคุณไม่ไปละเมิดคนอื่น แต่ศีลธรรมของเรากลายเป็นว่า ถ้าฉันปาราชิกแล้วยังหลอกคนอื่นต่อไป ซึ่งเป็นการละเมิดคนอื่น ฉันไม่รู้สึกว่าผิด สึกมาก็กลายเป็นไอดอล ผมเลยไม่เข้าใจว่าศีลธรรมของเราคืออะไรกันแน่

เมื่อพูดถึงศีลธรรมในคอนเซ็ปต์บ้านเรา คนมักจะนึกถึงศาสนา… แต่ในโลกสมัยใหม่มีศีลธรรมทางโลกที่เป็นแนวคิดปรัชญา คือการกระทำที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเซนส์ของศีลธรรมเหล่านี้ไม่มีในสังคมไทย

ถ้าเราย้อนมองรากสังคมไทย อะไรที่ทำให้ศีลธรรมในสังคมเราเดินทางมาถึงจุดนี้

การเมืองที่ไม่ปรับตัวกับโลกสมัยใหม่ ศีลธรรมแบบศาสนาอาจจะทำให้สังคมดีในยุคสมัยหนึ่ง ชุมชนกับวัดใกล้ชิดกัน ทำให้มีขนบประเพณี วัฒนธรรม เอื้อเฟื้อพึ่งพากัน แต่เมื่อสังคมการเมืองและเศรษฐกิจเปลี่ยน โลกาภิวัตน์เข้ามา พื้นฐานแบบนั้นหายไปแล้ว คราวนี้โครงสร้างที่กำกับศาสนาที่เป็นศาสนาของรัฐอยู่ ไม่เอื้อให้มีการตีความคำสอนของศาสนาให้สอดคล้องกับศีลธรรมสมัยใหม่ที่เราพูดถึง คือไม่ทำให้มีการตีความคำสอนศาสนาแล้วนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่เคารพสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย เพราะโครงสร้างขัดกัน

ผมเขียนหนังสือ พุทธราชาชาตินิยม ขึ้นมา เพื่ออยากอธิบายว่าศาสนาที่ทำงานในสังคมตอนนี้เป็นแบบไหน เวลาเราพูดถึงศาสนา เรามักนึกถึงว่าศาสนาคือคำสอน เรื่องอื่นๆ ไม่ค่อยเกี่ยว พระประพฤติไม่ดีก็เรื่องของพระ แต่ศาสนายังดีอยู่

คำว่า พุทธราชาชาตินิยมหมายถึงอะไร

พุทธราชาชาตินิยมคือพุทธที่สนับสนุนราชา สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมบนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ถือว่าพระราชาคือผู้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศ เป็นศูนย์รวมของความสามัคคี เป็นอัครศาสนูปถัมภก ซึ่งพุทธในไทยทั้งในเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างเป็นลักษณะพุทธราชาชาตินินิยมที่ต่อยอดมาจากพุทธศักดินา

เล่าก่อนว่าอุดมการณ์ไตรภูมิพระร่วงสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งมีคติเรื่องจักรพรรดิราชที่ถือว่าสถานะผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ได้มาจากการบำเพ็ญบารมีโดยการอุปถัมภ์ศาสนาและพระสงฆ์ อุดมการณ์นี้ต่อมาในอยุธยานำมาปรับใช้ให้เข้ากับระบบศักดินา เรียกว่าพุทธศักดินา โครงสร้างของพระสงฆ์มีศักดินาพระขึ้นมา มีสังฆราช พระราชาคณะชั้นต่างๆ ซึ่งโครงสร้างนี้อยู่ในชนชั้นปกครอง (กษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง พระสงฆ์ราชาคณะ) ผู้ใต้ปกครองคือคนส่วนใหญ่ (ไพร่ ทาส) พุทธศาสนาในไทยเจริญรุ่งเรืองมาแบบนี้

ลักษณะของวัดวังในปัจจุบันจำลองมาจากอยุธยา มีวัดที่มีพระพุทธศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมือง เช่น วัดพระแก้ว กษัตริย์มีสถานะอยู่ในทั้งพุทธ พราหมณ์ และผี

ความเป็นพรามณ์ของกษัตริย์คืออำนาจที่แตะต้องไม่ได้ มีสถานะตามกฎหมายธรรมศาสตร์ของฮินดู ความชอบธรรมของกษัตริย์คือความเป็นธรรมราชา อาศัยทศพิธราชธรรม เราเห็นพิธีพระบรมราชาภิเษกที่มีทั้งพิธีพุทธและพราหมณ์ เปรียบเทียบกับคริสต์ก็คือคุณจะเป็นคิงได้ โป๊ปต้องสวมมงกุฎให้เพื่อให้คุณใช้อำนาจเทวสิทธิ์ เราเรียกลักษณะนั้นว่าเป็นรัฐคริสเตียนในยุคกลางที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างในปัจจุบัน

ของเราในยุคสุโขทัย อยุธยา ผมก็เรียกว่าเป็นรัฐพุทธศาสนาแต่มีช่วงเวลาที่เป็นพุทธศักดินาด้วย ส่วนความเป็นพุทธราชาชาตินิยมเริ่มมาตั้งแต่ ร.4 ที่เริ่มสร้างนิกายของราชสำนักขึ้นมาคือธรรมยุตินิกาย พอถึง ร.5 ก็ปฏิรูประบบราชการและสร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมา รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ร.5 เลยก่อตั้งมหาเถรสมาคม ซึ่งเรามักเรียกว่าเป็นคณะสงฆ์ แต่ผมคิดว่าเป็นศาสนจักร เพราะคล้ายกับ Church of England ที่กษัตริย์เป็นประมุขของนิกาย ซึ่ง ร.5 ก็ทำแบบนั้นแหละ คือพระองค์เป็นประมุขของมหาเถรสมาคม

ผมเรียกมหาเถรสมาคมว่าศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม เพราะขึ้นต่ออำนาจกษัตริย์โดยตรง กษัตริย์แต่งตั้งสังฆราช พระราชาคณะ ตำแหน่งบริหารระดับสูง นี่คือรูปแบบที่ ร.5 สร้างขึ้น พอมาถึง ร.6 ทำให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก คืออุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้อุดมการณ์เป็นตัวกำหนดทั้งอำนาจทางการเมืองที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับกษัตริย์เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรื่องศีลธรรมทางสังคมที่ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

คำว่าศาสนา ร.6 บอกชัดเจนว่าหมายถึงศาสนาพุทธ ขาวหมายถึงพระไตรรัตน์ (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) สีในธงชาติก็คือศาสนาพุทธ ความเป็นไทยคือความเป็นพุทธ เพราะฉะนั้นทั้งตัวความคิด อุดมการณ์ และโครงสร้างศาสนจักรแบบนี้ทำให้ศาสนจักรมีอำนาจทางกฎหมาย มีภาษีจากประชาชนอุปถัมภ์ มีหน่วยงานราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคอยซัพพอร์ตมหาเถรสมาคมที่อยู่กรุงเทพฯ และยังมีสำนักพุทธประจำจังหวัดต่างๆ

ทั้งโครงสร้างเป็นพุทธราชาชาตินิยม จึงมีอำนาจของมหาเถรสมาคมกำหนดว่าให้พระสงฆ์ทั่วประเทศสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ห้ามอภิปราย บรรยาย จัดกิจกรรม หรือชุมนุมทางการเมืองเพื่อสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

ถ้ามองในสังคมปัจจุบัน การคุมพระได้ มีพลังต่อสังคมมากขนาดนั้นเลยหรือ ในยุคที่คนแทบไม่เข้าวัดแล้ว

ถ้าเราดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระยะนี้ ดูเหมือนว่าถึงคุณจะคุมพระได้ก็ไม่มีผล เพราะพระไม่ได้มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ใช่ไหม แต่ถามว่าทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์อย่างพันธมิตร กปปส. ขึ้นมา ที่อ้างธรรมะศีลธรรม อ้างคนดี นี่คือผลผลิตของพุทธราชาชาตินิยมที่สืบเนื่องมายาวนาน

ณ ปัจจุบันนี้เขาคุมความคิดคนไม่ได้ แต่เขากระชับอำนาจมากขึ้น อย่างที่เราเห็นว่ามีการออกระเบียบตัดคะแนนออกมา เรื่องการไม่เต็มใจร่วมพิธีทางศาสนาในโรงเรียน ซึ่งคงจะหมายถึงสวดมนต์หน้าเสาธง ถ้าคุณไม่เต็มใจทำ เสียงเบา คุณก็ถูกตัดคะแนน หมายความว่าแม้คนรุ่นใหม่จะออกมาเรียกร้องสิ่งที่สวนทางกับศาสนาและอุดมการณ์อนุรักษนิยม แต่ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไปจนถึงระดับโรงเรียน เขาบังคับให้ทำสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ทำในเชิงระบบโครงสร้างผ่านอำนาจรัฐ ผ่านกลไกของระบบการศึกษา เพื่อเน้นปลูกฝังเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

เคยมีการเสนอการปฏิรูปกิจการศาสนาเป็นลายลักษ์อักษรให้มหาเถรสมาคมว่า แค่บังคับเด็กไทยเรียนพุทธศาสนายังไม่พอแต่ต้องบวชด้วย คุณต้องใช้หลักฐานการบวชไปขอจบระดับประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย หรือจะเป็น ส.ส. ได้ ต้องบวชก่อนหนึ่งเดือน

ในขณะที่ปรากฏการณ์ที่เราเห็นคือความเสื่อมศรัทธา แต่ในเชิงโครงสร้างการเป็นศาสนาของรัฐ มีการปลูกฝังและบังคับคนเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ถ้าเราดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระยะนี้ ดูเหมือนว่าถึงคุณจะคุมพระได้ก็ไม่มีผล เพราะพระไม่ได้มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ใช่ไหม แต่ถามว่าทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์อย่างพันธมิตร กปปส. ขึ้นมา ที่อ้างธรรมะศีลธรรม อ้างคนดี นี่คือผลผลิตของพุทธราชาชาตินิยมที่สืบเนื่องมายาวนาน

ถ้าเป็นแบบนี้ แล้วศาสนาอื่นจะอยู่กันอย่างไร รวมถึงคนที่ไม่นับถือศาสนาด้วย

เท่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเรามีเสรีภาพที่จะเลือกนับถือศาสนาใช่ไหม แต่คุณต้องเรียนพุทธนะ ก็เหมือนเสรีภาพทางการเมือง คุณมีเสรีภาพทางการเมืองที่จะวิจารณ์รัฐบาลด่านักการเมืองสุดๆ อย่างไรก็ได้ แต่คุณแตะข้างบนไม่ได้ เสรีภาพทางการเมืองของคุณก็กำมะลอไง เพราะถ้าว่าตามคอนเซ็ปต์ของเสรีนิยม ไม่มีสถาบันไหนที่อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ศาสนาก็เหมือนกัน ถ้ามีเสรีภาพจริงๆ คุณจะบังคับให้เรียนในโรงเรียนรัฐบาลไม่ได้

ยิ่งพอบังคับ สังคมจะยิ่งปะทุไหม ถ้าลองเดาใจคนมีอำนาจว่า เขาพยายามจะทำให้ศาสนาพุทธอยู่ในชีวิตคน แต่สังคมไม่ได้ไปทางนั้นแล้ว จะยิ่งเป็นผลเสียไหม

เขาไม่มอง เลยทำให้ผมงงกับความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม สมัยก่อนปัญญาชนของฝ่ายอนุรักษนิยมยังดูมีกึ๋นใช่ไหม อย่างหมอประเวศ วะสี หรือ เสถียรโกเศศ ในยุคหนึ่งคนเหมือนจะฟังอยู่ เขาก็พยายามตีความศาสนาพุทธให้มีเหตุผล แต่ยุคนี้ไม่มีเลย กลายเป็นว่าใช้กลไกของรัฐเข้ามาควบคุมเรื่องศาสนามากขึ้น

ประเด็นหนึ่งของเสรีนิยมที่พูดถึงมากก็คือรัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา ซึ่งเราไม่คุ้นเคย คำว่ารัฐต้องเป็นกลางทางศาสนาในคอนเซ็ปต์ของเสรีนิยมคือรัฐต้องไม่อุปถัมภ์ส่งเสริมศาสนาอะไรเลย เลยทำให้เกิดแนวคิดโลกวิสัย (secularism) มา เอาหลักการเสรีนิยมมาใช้ว่าต้องแยกศาสนากับรัฐ ซึ่งตรงนี้เราแทบจะไม่พูดกันเลย ตั้งแต่ 2475 เราไม่พูดประเด็นนี้ พอพระมาผลักดันว่าเราต้องส่งเสริมศาสนาเพื่อให้สังคมมีศีลธรรม เราเลยรับสิ่งพวกนี้เข้ามา ในที่สุดก็มีปัญหาอย่างที่ว่า

ในสังคมเราตอนนี้หลายคนอาจใช้ศาสนาพุทธในการยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น ทำบุญขอพรเก้าวัด เจอปัญหาในชีวิตแล้วกลับมาทบทวนธรรมะเพื่อปลอบประโลมจิตใจตัวเอง ซึ่งคนก็อาจจะมองว่าศาสนาสำคัญในแง่นี้ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ผมไม่ค่อยมีปัญหากับประเด็นนี้ คุณไม่สบายใจแล้วไปอ่านธรรมะ ปฏิบัติธรรม หรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งตรงนี้ไปได้กับสังคมโลกวิสัย คุณจะเชื่ออย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่เอามาบังคับคนอื่น ไม่ต้องเอามาเป็นเรื่องของรัฐ

ปัญหาจริงๆ ในปัจจุบันคือเราไม่แยกศาสนาจากรัฐ การที่มีศาสนจักรของรัฐ แล้วศาสนจักรนี้ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาใช้อาชีพนักบวชหารายได้และอำนาจ มีอภิสิทธิ์เพราะมีอำนาจทางกฎหมาย มีภาษีประชาชนมาซัพพอร์ต แล้วคุณก็หารายได้จากศรัทธาประชาชนอีก เวลาคุณมีความผิดอะไร กลไกของความเป็นศาสนจักรของรัฐก็ปกป้องคุณ

ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ตำบล มีอำนาจทางกฎหมาย ถ้าไม่มีตำแหน่งพวกนี้ พอมีปัญหาเกิดขึ้น ชาวบ้านก็มาล้อมวัด ดำเนินการไปโดยหลักบ้านๆ เอาหลักศาสนามาว่ากันว่าทำแบบนี้ผิดหรือไม่ผิด เช่น อาบัติแค่นี้ไม่ต้องขาดจากพระ ให้อยู่ต่อ ปรับปรุงตัว หรือถ้าเจออยู่กับสีกา จับได้คาหนังคาเขา ก็ต้องสึกไป

เราอยู่บ้านนอก เห็นแบบนี้มาตลอด ชาวบ้านเขาจัดการกันเอง แต่พอมีความเป็นศาสนาแบบรัฐมากขึ้น ชาวบ้านจัดการไม่ได้ พอไปร้องเรียนเจ้าคณะอำเภอ ก็มีการใช้กฎและอำนาจปกป้องกัน ผมเลยมองว่าอำนาจพวกนี้ให้อภิสิทธิ์สำหรับคนบางกลุ่มที่ใช้สถานะของนักบวชมาแสวงหาผลประโยชน์จากศรัทธาของประชาชน

แต่ถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐไปแล้ว คุณเป็นองค์กรเอกชน คุณต้องพิสูจน์ตัวเอง คุณจะอยู่ได้อย่างไร ก็ต้องทำตัวให้คนศรัทธา ต้องมีวิธีการดึงดูดชักจูงคนเข้าวัด องค์กรคุณต้องถูกตรวจสอบความโปร่งใสในเรื่องการเงิน ภาษี นิกายนี้พระมีเมียได้หรือมีไม่ได้ ก็ต้องเปิดเผยให้คนเขาเลือกศรัทธา ไม่ใช่คุณบอกว่าถือพรหมจรรย์แต่คุณแอบมี ก็ทำให้เสื่อมศีลธรรม คุณไม่เคารพคนอื่น

อย่างพระญี่ปุ่นเขามีเมียได้ มีครอบครัว เปิดบาร์เหล้า เล่นเพลงร็อก ฯลฯ คนที่เชื่อพวกนี้ก็มาทางนี้ ส่วนคนที่เชื่อนิกายที่ถือพรหมจรรย์ก็ไปอีกทาง ก็แฟร์ ญี่ปุ่นเป็นสังคมโลกวิสัย พระไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ไม่มีงบรัฐสนับสนุน ถ้าทำแบบนี้ การนับถือศาสนาก็จะเป็นเสรีภาพอย่างแท้จริง รัฐไม่มาควบคุม โรงเรียนไม่บังคับเรียน แล้วศาสนาก็จะไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มไหน

ถ้าสังคมเราเดินหน้าไปโดยที่ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือจากหลายสถาบัน สังคมเราจะเดินไปสู่อะไร

ถ้าเป็นแบบนี้อยู่ จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมาก สิ่งที่น่าเห็นใจก็คือประชาชนรับกรรม สื่อเสนอข่าวว่ามีลัทธิงมงายหลอกให้ประชาชนกินปัสสาวะอุจจาระในชนบท ซึ่งตรงนี้ก็น่าหดหู่ว่ารัฐละเลยเรื่องการศึกษา สุขภาพ และเศรษฐกิจของชาวบ้าน เลยทำให้คนส่วนหนึ่งต้องไปพึ่งไสยศาสตร์ ถูกหลอกลวง

แต่ในเมืองก็มีลัทธิแม่มด ล่าคนคิดต่าง ซึ่งลัทธินี้เจริญรุ่งเรืองในกรุงเทพฯ ถ้าสังคมยังเดินไปแบบนี้ก็จะเกิดคนรุ่นใหม่แบบทะลุวัง ทะลุฟ้า ฯลฯ ที่มีเซนส์แบบเสรีนิยมแบบมาร์กซิสต์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งสร้างลัทธิล่าแม่มด ล่าคนเห็นต่างทางความคิดขึ้นมา ระบบยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือ เอาคนคิดต่างไปเข้าคุก เอาอนาคตของชาติไปเข้าคุก ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ร้าวลึกลงเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วจะสู้กันจนพังไปข้างหนึ่ง

แต่ถ้าเอาแนวทางของคนรุ่นใหม่ที่เสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปฏิรูปศาสนา ไปคุยกันในสภา ก็อาจมีทางออก แต่ถามว่าจะไปได้อย่างไรถ้าพรรคการเมืองไม่มารับผิดชอบ การจะเดินหน้าได้โดยที่คนไม่ต้องติดคุกมากขึ้นหรือไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น พรรคการเมืองต้องกล้าหาญที่จะเอาเรื่องนี้ไปพูดต่อในสภาให้มีทางออก หรือสังคมต้องมีการตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมา แต่ทุกวันนี้เหมือนปล่อยเด็กไปตามยถากรรม ปล่อยคนรุ่นใหม่ไปอดข้าวอยู่ในคุก น่าหดหู่ใจนะ แล้วศาสนาเราก็ไม่ได้อยู่ข้างเสรีภาพ แต่อยู่ข้างอำนาจนิยมตลอด

ดูเป็นภาพย้อนแย้งเหมือนกัน คนอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งที่นับถือศาสนา เคร่งศีลธรรม ไม่ได้ออกมาคัดค้านเรื่องที่คนรุ่นใหม่ถูกจับเข้าคุก

เพราะศีลธรรมของเราเป็นผลผลิตจากพุทธราชาชาตินิยม มีแบบนี้มาตลอด ตั้งแต่ 6 ตุลา ฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้บุญมากกว่าบาป พระออกมาพูดเอง แล้วพระที่พูดก็เป็นพระราชาคณะ พระชื่อดังในยุคนั้นด้วย เป็นแกนนำกลุ่มนวพล ในที่สุดพระที่ออกมาพูดแบบนี้ก็ไม่ผิด ทางมหาเถรสมาคมสอบสวนแล้วไม่มีหลักฐานว่าทำอะไรผิด แต่พระที่มาชุมนุมกับนักศึกษาถูกไล่ออกจากวัดในยุคนั้น

เป็นแบบนี้มายาวนาน เป็นศีลธรรมแบบพุทธราชาชาตินิยม ความถูกต้องคือต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าไม่จงรักภักดีคือผิด นี่คือบรรทัดฐานศีลธรรมของพุทธแบบนี้

ทีนี้เวลาปราชญ์พุทธเอาธรรมะมาอธิบายการเมืองก็มีปัญหาทั้งตัวโครงสร้างและความคิด เช่น สมเด็จพระพุฒโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) บอกว่า ‘ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ’ แต่พอผมไปศึกษาดู ปรากฏว่าท่านอ้างธรรมาธิปไตยมาวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและประชาชน แต่ไม่ได้อ้างธรรมาธิปไตยเพื่อไปตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์ ผมเลยมองว่าการอ้างแบบนี้ผิดฝาผิดตัว เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาไม่ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่าเขาต้องปกครองโดยหลักธรรมาธิปไตย แต่เขาปกครองโดยหลักประชาธิปไตย เวลาเราตรวจสอบเขา เราต้องเอาหลักประชาธิปไตยไปตรวจสอบ แต่คนที่ประกาศว่าจะปกครองโดยธรรมคือกษัตริย์ แต่พระกลับเอาธรรมะมายกย่องกษัตริย์อย่างเดียว แล้วเอาธรรมะอันเดียวกันมาบอกว่านักการเมืองไม่มีธรรมะ นี่คือความคิดหลักคำสอนที่เป็นผลผลิตจากพุทธราชาชาตินิยม นำมาสู่สองมาตรฐานทางศีลธรรม

พูดได้ไหมว่าตอนนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างศีลธรรมชุดเก่ากับศีลธรรมชุดใหม่ในสังคมไทย

พูดได้ ในคนรุ่นใหม่ที่พูดถึงความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนเท่ากัน สิทธิเสรีภาพ นี่คือคอนเซ็ปต์ทางศีลธรรมแบบสมัยใหม่แล้ว ถ้าในเชิงความคิดจริงๆ ในโลกตะวันตก อย่างเสรีนิยมแบบสายคานท์ เขาบอกเลยว่าศีลธรรมไม่ใช่ศาสนา การทำตามกฎศาสนาไม่ใช่ศีลธรรม เพราะศีลธรรมต้องมาจาก autonomy คืออิสรภาพในการใช้เหตุผลของเราเองว่าอะไรถูก-ผิด แล้วเราเองคือคนบัญญัติกฎศีลธรรมขึ้นมา และไม่ใช่บัญญัติตามอำเภอใจนะ เราต้องบัญญัติตามพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเราและทุกคนเท่าเทียมกัน ดังนั้นการกระทำของเราจะถูกจะผิดก็อยู่ที่ว่าเราเคารพสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเราหรือคนอื่นๆ หรือไม่

แต่พอมาถึงเรื่องการเมือง คานท์บอกว่าเราต้องแยกศีลธรรมออกจากการเมืองและกฎหมาย โอเค มันเหลื่อมซ้อนกันอยู่ว่ากฎหมายก็ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อิทธิพลความคิดของคานท์ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญของเยอรมัน มีมาตราที่บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งมาจากคอนเซ็ปต์ทางศีลธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเอาศีลธรรมาบัญญัติเป็นกฎหมายนะ เช่นการโกหกผิดศีลธรรม แต่การโกหกจะผิดกฎหมายเมื่อคุณไปหลอกลวงทำให้คนอื่นเสียทรัพย์ ถ้าคุณโกหกทั่วไป ก็ไม่ถึงขั้นผิดกฎหมาย จะเอาศีลธรรมมาบัญญัติเป็นกฎหมายไม่ได้

หรือจอห์น รอว์ลส์ (John Rawls) เขาก็พูดให้ชัดเจนลงไปว่าในสังคมเสรีประชาธิปไตยต้องแยกคุณค่าสองอย่างออกจากกัน อย่างแรก คือคุณค่าทางการเมือง (political value) หมายถึงหลักความยุติธรรมสาธารณะซึ่งหมายถึงหลักเสรีภาพ เรายอมรับให้สังคมมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจได้ แต่การยอมรับนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า หนึ่ง เรามีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งสาธารณะต่างๆ เช่น ตำแหน่งข้าราชการ ตำแหน่งทางการเมือง หรืออาชีพที่มีรายได้ดีต้องเปิดกว้างและเป็นธรรมกับการแข่งขันโดยไม่เลือกตระกูล ชนชั้น สีผิว ศาสนา ทุกคนใช้ความสามารถมาแข่งกันได้ แต่ในขณะเดียวกัน เงื่อนไขข้อที่สองก็คือต้องดูแลคนข้างล่าง คนที่เสียเปรียบมากที่สุด ต้องให้สวัสดิการเขา ให้เข้มแข็งขึ้นมา คนทุกศาสนาต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน มีเสรีภาพทางการเมือง อำนาจอธิปไตย สิทธิการเลือกตั้ง การชุมนุมอย่างสงบ เสรีภาพทางความเห็นเป็นคุณค่าแกนกลางที่คนทุกศาสนาและเชื้อชาติต้องยึดถือร่วมกัน เป็นคุณค่าทางการเมืองแต่เขาไม่เรียกว่าเป็นศีลธรรม

อย่างที่สอง คุณค่าทางศีลธรรม (moral value) คือความเชื่อส่วนบุคคล คุณมีสิทธิ์ที่จะเลือกเชื่อศีลธรรมแบบคานท์ ประโยชน์นิยม แบบศาสนาคริสต์ พุทธ อิสลาม ฯลฯ รัฐไม่ได้ส่งเสริมหรือบังคับยัดเยียดให้คุณเรียน แต่คุณต้องรู้เรื่องการเมือง การเคารพสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน อำนาจอธิปไตย ทุกศาสนาต้องยึดถือร่วมกัน

ไอเดียแบบนี้เลยเป็นพื้นฐานของการแยกศาสนาออกจากรัฐ แต่ถ้าคุณจะเอาศาสนามาเคลื่อนไหวทางการเมือง คุณก็ต้องตีความให้สนับสนุนสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค อย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่เป็นหมอสอนศาสนาก็ตีความไอเดียเรื่องพระเจ้าให้สนับสนุนความเท่าเทียมของมนุษย์

ถ้าเรามีชุดคุณค่าทางสังคมแบบใหม่แล้ว ศาสนาจะมีความสำคัญอย่างไรในอนาคต

ในบ้านเรา ถ้าทำให้คนให้ความสำคัญกับคุณค่าทางการเมืองว่าเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชน สิทธิเสรีภาพ การเลือกตั้ง ความยุติธรรมได้ ถ้าเราทำสำเร็จในเรื่องนี้ เราแทบจะไม่ต้องสนใจเรื่องศาสนา คือศาสนาแบบที่เป็นอยู่นี้ให้รีบเสื่อมไปเร็วๆ เสื่อมไปทั้งตัวระบบโครงสร้าง

ในฝรั่งเศสที่แยกศาสนาออกจากรัฐได้มาจากการปฏิวัติ เขาต่อต้านพวกนักบวช สุดท้ายกษัตริย์กับนักบวชก็จบไป แยกศาสนากับรัฐเป็นรัฐโลกวิสัย ส่วนสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นจากการประกาศอิสรภาพ ไม่มีสถาบันกษัตริย์อยู่แล้ว ก็ง่ายที่จะเป็นรัฐโลกวิสัย

แต่ของเรายาก เพราะสถานะของกษัตริย์เป็นสถานะทางศาสนา แยกไม่ออกจากกัน ทีนี้สถานะของกษัตริย์มีความเป็นศาสนามากกว่าพระ ศักดิ์สิทธิ์กว่าพระ พระเรายังแตะต้องได้ แต่กษัตริย์แตะไม่ได้ ปกครองพระอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นถ้าจะแยกศาสนาออกจากรัฐก็ต้องยกเลิกตั้งแต่คำว่ากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ ยกเลิกระบบมหาเถรสมาคม ต้องไม่มีกฎหมายเฉพาะทางศาสนาใดๆ เลย ซึ่งตรงนี้จะยากสำหรับคนไทย เพราะพระสงฆ์และชาวพุทธอนุรักษนิยมทั้งหลายจะไม่ยอม ถ้าจะทำได้ก็ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ แล้วเรื่องอื่นถึงจะถูกปฏิรูปตามมา

แต่อาจมีบางประเทศที่มีวิธีปฏิรูปอีกแบบ เช่น สวีเดน นักวิชาการสวีเดนคนหนึ่งบอกว่าบ้านเขาที่แยกศาสนาออกจากรัฐได้ เพราะคนหันหลังให้โบสถ์ บทบาทของโบสถ์ก็เสื่อมลงไป แต่ไม่ได้หมายความว่าศาสนาคริสต์หายไปจากวิถีชีวิตของคน คนที่สนใจก็อ่านไบเบิล เขามีศาสนาในเชิงวัฒนธรรม แต่งงานก็ยังมีพิธีทางศาสนาอยู่ ในเชิงปรัชญาก็มีอยู่ในปัจเจกบุคคล บางคนบอกว่าฉันไม่นับถือศาสนา แต่อาจจะไปเรียนปรัชญาเต๋า ปรัชญาพุทธ แล้วเอามาใช้กับชีวิตก็ได้ แต่ฉันไม่ไปวัด ไม่ไปโบสถ์ บทบาทของวัดโบสถ์ก็ค่อยๆ เสื่อมลง แล้วที่เห็นในบ้านเราก็กำลังเป็นแบบนั้น

ยิ่งพระมีข่าวเสียๆ หายๆ คนก็ยิ่งไม่อยากไปวัด

ใช่ ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าอาจจะรู้สึกเจ็บ ห่วงศาสนา แต่คนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกว่า ดีแล้ว เพราะต่อไปไม่ต้องบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน ไม่ต้องบังคับฉันเข้าค่ายธรรมะ

เอาจริง ถ้ามองตรงไปตรงมา ตัวคำสอนศาสนาก็เป็นปรัชญาชีวิต แต่การที่มีสถาบันการศาสนาของรัฐขึ้นมา ทำให้ศาสนามีอำนาจ

เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยเรื่องวิกฤตผ้าเหลืองที่มาจากเรื่องพระทำผิดกฎ แต่อยากชวนคุณมองให้ชัดขึ้นว่าจริงๆ แล้ววิกฤตผ้าเหลืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคืออะไรกันแน่

วิกฤตผ้าเหลืองสะท้อนวิกฤตศีลธรรม ผ้าเหลืองไม่สามารถเป็นพลังของมโนธรรมสำนึกในทางศีลธรรมได้อีกต่อไป เหมือนเปิดเผยให้เราเห็นธาตุแท้ว่าผ้าเหลืองเป็นเครื่องมือทำมาหากินของคนบางกลุ่ม แล้วมีอำนาจที่สลับซับซ้อน ก็คืออำนาจของศาสนจักร แทนที่จะทำให้ปัญหาพวกนี้โปร่งใส แต่กลับมาช่วยปกปิด ช่วยเหลือกัน แล้วระบบกลไกต่างๆ ของวัดก็ไม่มีความเป็นธรรมาภิบาล คือพอเกิดปัญหาขึ้นก็เอาเงินวัดไปเคลียร์ปัญหาได้ พอเกิดแบบนี้ทำให้เราไปคิดต่อว่าในองค์กรแบบนี้มีปัญหาที่น่ากลัว แล้วทำให้เห็นว่าผ้าเหลืองไม่มีพลังทางศีลธรรมให้สังคมอีกแล้ว

ถามว่าสังคมหมดทางไปไหม สังคมก็ไม่ได้หมดทาง จะมีคนรุ่นใหม่ๆ ออกมา มองศีลธรรมในมิติใหม่ คือศีลธรรมเป็นเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพคนเท่ากัน มิติทางศีลธรรมแบบนี้อาจจะฟังก์ชันมากกว่า มีลักษณะของการตรวจสอบกันเอง อย่างการล่วงละเมิดทางเพศที่มีการตรวจสอบทุกวันนี้ก็คือการที่ผู้หญิงที่ถูกกระทำออกมากล้าพูดทางสื่อมากขึ้น ผมว่าสังคมจะเริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าคนกล้า

ในแง่นี้ก็เป็นเรื่องของศีลธรรมในโลกสมัยใหม่ คนกล้าหาญที่จะพูดความจริง กล้าปกป้องสิทธิตัวเอง แต่กลไกรัฐต้องมารองรับ ถ้ามีคนกล้าพูดแล้วรัฐต้องออกมาดำเนินการให้ยุติธรรม

วิกฤตผ้าเหลืองสะท้อนวิกฤตศีลธรรม ผ้าเหลืองไม่สามารถเป็นพลังของมโนธรรมสำนึกในทางศีลธรรมได้อีกต่อไป เหมือนเปิดเผยให้เราเห็นธาตุแท้ว่าผ้าเหลืองเป็นเครื่องมือทำมาหากินของคนบางกลุ่ม แล้วมีอำนาจที่สลับซับซ้อน ก็คืออำนาจของศาสนจักร

ในแง่หนึ่ง หลายคนก็มองว่าการยอมรับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อาจจะง่ายกว่าปฏิรูปศาสนา

ศาสนาเข้าถึงชีวิตคนมากกว่า เจ้าก็อยู่ข้างบน เด่นในเรื่องอำนาจ การชนกับเรื่องเจ้าคือการชนเรื่องอำนาจ เช่น มีกฎหมาย 112 มันก็ยากตรงนี้ และส่วนหนึ่งคือเรื่องความเชื่อด้วย อาจจะมีอนุรักษนิยมที่ยังเชื่อว่ากษัตริย์เป็นสมมติเทพ แตะต้องไม่ได้ กลายเป็นมีทั้งอำนาจและความเชื่อรวมกัน แต่ระยะหลัง ความเชื่อความศรัทธาตรงนี้จางไป มีการใช้อำนาจมากขึ้น แต่คนทะลุเพดานไปแล้ว

ทีนี้ศาสนาเป็นเรื่องที่แปลกกว่านั้น คนไม่รู้สึกว่าศาสนาเป็นอำนาจ เวลาที่คนไทยพูดถึงความเสื่อมของศาสนา เขาหมายถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีของพระกระทบต่อศรัทธาของเขา แต่เขาไม่คิดว่าการที่มีศาสนจักรของรัฐที่พระมียศ มีตำแหน่ง มีอำนาจทางกฎหมาย และการที่เราต้องจ่ายภาษีให้องค์กรศาสนานั้นผิดหลักการเสรีประชาธิปไตยและหลักการโลกวิสัย คนไม่ได้คิดในประเด็นนี้ เลยยากที่จะทำให้คนเข้าใจว่าเราถูกเอาเปรียบอยู่ตอนนี้ เรามีโครงสร้างที่ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาอยู่นะ โครงสร้างที่กำหนดให้พระสนับสนุนเจ้าได้อย่างเดียว สนับสนุนประชาธิปไตยไม่ได้

พระเองก็ไม่มีเสรีภาพทางศาสนา คือถ้าคุณมีเสรีภาพทางศาสนา คุณต้องเลือกได้ว่าคุณจะตีความธรรมะสนับสนุนเจ้าหรือตีความธรรมะเพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน แต่ตอนนี้คุณเลือกไม่ได้ เพราะอำนาจของศาสนจักรให้คุณสนับสนุนเจ้าได้อย่างเดียว และชาวพุทธก็ไม่มีความเสมอภาค เพราะบวชภิกษุณีในไทยไม่ได้ ต้องไปบวชในต่างประเทศ องค์กรอย่างสินติอโศกที่แยกจากมหาเถรสมาคมก็เป็นข้าวนอกนา รัฐไม่ได้อุปถัมภ์ส่งเสริมใดๆ ส่งเสริมแต่องค์กรภายใต้มหาเถรสมาคม ทั้งหมดนี้ขัดหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยหมดเลย

แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดในประเด็นนี้ คนคิดว่าศาสนาเป็นสิ่งที่เรานับถือมาแต่บรรพบุรุษ และศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี มีศีลธรรม รัฐจะต้องอุปถัมภ์ จะไปแยกออกได้อย่างไร ตอนนี้ยากตรงที่จะเปลี่ยนศรัทธาคนอย่างไร ยกระดับคนให้เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างว่าการมีศาสนจักรแบบนี้ขัดต่อหลักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และหลักความเป็นกลางทางศาสนาของรัฐ

ถ้าเราจะเริ่มปฏิรูปศาสนา ในความหมายว่าให้สังคมดำเนินไปด้วยศีลธรรมสมัยใหม่ที่เคารพความเท่าเทียมและเสรีภาพ เราควรทำอย่างไรก่อน

ถ้าเป็นการปฏิรูปศาสนาเปรียบเทียบกับตะวันตก การปฏิรูปศาสนาของเขาคือการทำให้ศาสนาเป็นอิสระจากอำนาจ ตั้งแต่คาทอลิกกุมอำนาจ แยกเป็นโปรแตสแตนท์ออกมา ก็คือปฏิเสธอำนาจของคาทอลิก อำนาจในการตีความและควบคุมศาสนา แต่พอปฏิรูปศาสนาปุ๊บ มีโปรแตสแตนท์ขึ้นมาก็ทำให้รัฐต่างๆ หลุดไปจากอำนาจของคาทอลิกด้วย ทำให้วิทยาศาสตร์ความรู้สมัยใหม่มีอิสระ ก็แตกไปใหญ่เลยทีนี้ จนมาถึงการแยกศาสนากับรัฐ ศีลธรรมสมัยใหม่ถึงเจริญขึ้นมาได้

แต่การปฏิรูปศาสนาของเราตรงข้าม การปฏิรูปศาสนาของเราของเราคือการกระชับอำนาจ สถาบันกษัตริย์กระชับอำนาจในการควบคุมศาสนามากขึ้น เหมือนการปฏิรูปการเมืองผ่านรัฐประหาร คือคุณทำรัฐประหารทีไร คุณก็บอกว่าปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยิ่งทำรัฐประหาร ยิ่งปฏิรูป เขาก็ยิ่งกระชับอำนาจเข้าไป ศาสนาก็เหมือนกัน ยิ่งปฏิรูปเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ศาสนามีอำนาจในรัฐ ถูกบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ต้องมีกฎหมายต่างๆ ออกมา เพราะฉะนั้นการปฏิรูปของเราเลยสวนทาง ผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปแบบนี้เลย

ผมพูดมาตลอดว่าต้องแยกศาสนากับรัฐให้ได้ ซึ่งสามารถทำได้ มีศัพท์ภาษาอังกฤษว่า political secularization คือการทำให้เป็นโลกวิสัยในทางการเมือง อันนี้ต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้รัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัย ยกเลิกคณะสงฆ์ของรัฐทั้งหมดให้เป็นเอกชน แยกศาสนาออกจากรัฐ ทำในทางกฎหมาย แม้ของเรายังทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ยังมีอีกคำหนึ่งว่า social secularization คือการทำให้เป็นโลกวิสัยทางสังคม อย่างที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ทำอยู่ ตั้งคำถามว่าทำไมต้องบังคับเรียนศาสนา เรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับเรียนศาสนา มีกลุ่มที่มีความคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ปฏิเสธการบังคับยัดเยียดความเชื่อทางศาสนามากขึ้นๆ ในขณะเดียวกันความเสื่อมของศาสนาอย่างกรณีพระกาโตะ ก็มาช่วยพวกนี้ด้วย พอคนเสื่อมศรัทธา คนก็จะเห็นปัญหาที่เราพูดมากขึ้นว่าทำไมต้องแยกศาสนาออกจากรัฐ ทำไมต้องเลิกบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน อันนี้เป็นเรื่องของการทำให้เป็นโลกวิสัยทางสังคม ที่ผมคิดว่ายังมีความหวังอยู่ในคนรุ่นใหม่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save