การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของสังคมไทย แต่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเต็มที่ ภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยมีหัวใจอยู่ที่การเป็น ‘รัฐบาลอัจฉริยะ’ (Smart Government) และ ‘รัฐบาลเปิด’ (Open Government)
101 ชวน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มองภาพใหญ่การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในสังคมไทย เงื่อนไขที่ภาครัฐต้องปรับตัว และการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม
:: Digital Transformation ไทยไปถึงไหน ::

ทุกวันนี้ Digital Transformation สร้างความเปลี่ยนแปลงทั่วถึงทุกวงการ แม้กระทั่งอุตสาหกรรมบางประเภทที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้รับผลกระทบ เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างรถยนต์ Tesla ที่มีกลไกการทำงานเหมือนกับเป็นไอโฟนเครื่องหนึ่ง นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นอีกตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ Digital Transformation เข้าไปสู่วงการต่างๆ มากขึ้นอีก เช่นเรื่องการศึกษา
ในประเทศไทย องค์กรและธุรกิจใหญ่ๆ ก็เริ่มปรับตัวรับ Digital Transformation กันมาก เช่นมีการตั้งส่วนงานขึ้นมาดูแลเรื่องนวัตกรรมโดยเฉพาะ โดยหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรเหล่านี้เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ ความต้องการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น การนำดิจิทัลไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน และการนำไปพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยจำนวนมากยังไม่พร้อมปรับตัวสู่ดิจิทัลมากนัก และยังต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้การลงทุนและอาจมีความเสี่ยงสูง โดยรวมแล้ว ประเทศไทยจึงค่อนข้างตามหลังอยู่ในเรื่อง Digital Transformation
ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวในเรื่องนี้ โดยมี 3 คอนเซปต์ที่ต้องคิดก็คือ คน กระบวนการ และเทคโนโลยี ใน 3 อย่างนี้ หลายคนมักไปให้ความสำคัญกับ ‘เทคโนโลยี’ มากที่สุด เพราะมักคิดว่าแค่มีเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านก็เกิดขึ้นได้ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลก็คือ ‘คน’ เพราะถ้าคนยังไม่มีทัศนคติที่เปิดกว้างและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี โอกาสที่จะมีการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใดๆ ก็จะน้อยลงไปเยอะ
หนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ไทยยังตามหลังใน Digital Transformation ก็คือการเข้าถึงสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ต และยังมีปัญหาว่า สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ด้วย ทำให้คนบางกลุ่มโดยเฉพาะคนสูงวัยและคนในพื้นที่ห่างไกลถูกตัดโอกาสในการเข้าถึงบริการทั้งจากภาครัฐและเอกชนบางอย่าง ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ทางภาครัฐก็กำลังดำเนินการทำ Universal Service Obligation ซึ่งคือการดำเนินการเพื่อให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกพื้นที่ในไทย เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญที่จะต้องทำก็คือการสร้าง Digital Literacy ให้ผู้คน โดยอาจใช้รูปแบบของอาสาสมัครดิจิทัลเข้าไปสร้างความรู้ให้กับประชาชนพื้นที่ต่างๆ ที่ยังใช้ดิจิทัลไม่คล่อง
:: ยุค Platform Economy เบ่งบาน รัฐต้องดูแลความเป็นธรรมให้ประชาชน ::

Digital Transformation มาพร้อมๆ กับการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ซึ่งเข้ามา Disrupt หลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมขนส่งที่มี Grab เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งจากธุรกิจดั้งเดิมไปมาก เพราะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายและเข้าถึงบริการที่หลากหลายได้ในราคาถูก อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเก็บสะสมข้อมูลทั้งจากฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต (Data Economy) เกิดประโยชน์กับการวางกลยุทธ์ของธุรกิจและการทำโฆษณา การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจจาก Platform Economy นี้ไม่ได้เพิ่มแค่ในลักษณะการบวก แต่เพิ่มเป็นทวีคูณ โตขึ้นหลายเท่าตัว
การขยายตัวของ Platform Economy ทำให้ภาครัฐต้องปรับบทบาทใหม่ ในมุมหนึ่ง ภาครัฐสามารถเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม เช่นการใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับประชาชน ขณะที่อีกมุมหนึ่ง รัฐก็ต้องส่งเสริมแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์กับประชาชน รวมไปถึงต้องเข้าไปกำกับดูแลไม่ให้แพลตฟอร์มเกิดการเอารัดเอาเปรียบใคร
ใน Platform Economy มีแนวโน้มสูงที่ผู้ให้บริการจะผูกขาดตลาด หากเห็นว่าบางอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่ภาวะผูกขาดไม่ว่าจะน้อยรายหรือรายเดียว เช่นมีการควบรวมกิจการ ซึ่งอาจนำไปสู่การเอาเปรียบด้านราคาต่อผู้บริโภค ภาครัฐก็ต้องเข้าไปกำกับดูแลด้านการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์ม อีกทั้งต้องเข้าไปดูแลการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มกับธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งมักมีประเด็นว่าทั้งสองกลุ่มอยู่ภายใต้กฎหมายที่แตกต่างกันจนเกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันด้วย นอกจากนี้รัฐยังต้องระวังแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ในเรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาดเอาเปรียบผู้บริโภค เช่นการนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้ประโยชน์โดยผู้บริโภคไม่ยินยอม
อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถไปถึงขั้นห้ามธุรกิจแพลตฟอร์มว่าห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้มากนัก เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ ใน Platform Economy รัฐต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นธรรมในการแข่งขันกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค การกำกับดูแลของรัฐอาจไม่ต้องใกล้ชิดมาก แค่เข้าไปดูแลเมื่อเกิดปัญหา เพราะถ้าภาครัฐเข้าไปกำกับดูแลมากเกินไปตั้งแต่ต้น ก็อาจไปขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ประเด็นความเป็นธรรมของแรงงานในระบบแพลตฟอร์มก็เป็นเรื่องสำคัญ รัฐต้องเข้าไปดูว่าสภาพการจ้างงานเอาเปรียบแรงงานอยู่หรือเปล่า ส่วนมากจะมีปัญหาว่าแรงงานในแพลตฟอร์มไม่ถูกนับว่าเป็นพนักงาน แต่ถูกจัดเป็นพาร์ทเนอร์ จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ในบางประเทศอย่างอังกฤษ เพิ่งมีการกำหนดว่า แรงงานที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มเกินกี่ชั่วโมงขึ้นไป จะถูกนับว่าเป็นพนักงาน ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขการจ้างงาน รวมถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ไม่ต่างจากพนักงานคนหนึ่งในบริษัท ภาครัฐของไทยก็ต้องคิดประเด็นนี้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรที่จะดูแลคุ้มครองแรงงานของเราได้
:: ภาครัฐกับการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ::

บางคนอาจถามว่าภาครัฐควรสร้างแพลตฟอร์มและเป็นเจ้าของเองเลยหรือไม่ เพื่อเข้าไปดูแลเรื่องต่างๆ ได้ง่าย แต่ที่จริง ถ้าเอกชนทำได้ดีอยู่แล้ว ภาครัฐก็ไม่ควรเข้าไปทำ เพราะอย่างไรเสีย ภาคเอกชนก็มีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากกว่า แต่สำหรับบางแพลตฟอร์ม ภาครัฐก็ควรเข้าไปทำเอง เช่นเรื่อง Digital ID แต่เรื่องอื่นๆ ควรส่งเสริมให้เอกชนทำ
ถ้าถามว่าภาครัฐไทยทุกวันนี้ตามทันการเปลี่ยนแปลงในโลกแพลตฟอร์มหรือไม่ ก็คงไม่ได้ทันถึงขนาดว่าก้าวหน้ามากขนาดนั้น แต่อย่างไรเสีย ภาครัฐอาจจะต้องเดินช้ากว่าตลาดเล็กน้อย เพื่อดูตัวอย่างทิศทางที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีปัญหา เราจะได้เริ่มทำเครื่องมือเข้าไปกำกับดูแลได้ทันท่วงที และที่สำคัญคือว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันและกำหนดทิศทางไปทางเดียวกัน
:: รักษาผลประโยชน์ชาติ
เมื่อแพลตฟอร์มต่างชาติบุกตลาด ::

การกำกับดูแลข้อมูลของธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นเรื่องของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลแต่ละธุรกิจ เช่นธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูเรื่องแพลตฟอร์ม E-payment ซึ่งถ้ามีการทำกิจกรรมอะไรที่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตหรือต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ แต่ปัญหาคือ ถ้าเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ตอนนี้เราก็เลยเริ่มเชิญชวนภาคเอกชนให้เปิดข้อมูลบางอย่างในส่วนที่สามารถเปิดเผยได้กับภาครัฐด้วย และนอกจากนี้ ภายใต้หลักการที่ว่า ประชาชนผู้ใช้บริการคือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่แท้จริง ภาครัฐก็อาจจะต้องเข้าไปกำกับดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะต้องกำกับให้แพลตฟอร์มต่างประเทศทำตามด้วย
ประเด็นการแบ่งปันผลประโยชน์ใน Platform Economy ก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่างออสเตรเลียที่ก้าวหน้าไปมากคือมีการบังคับแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Google ว่าต้องแบ่งรายได้ให้กับสำนักข่าวในประเทศที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ด้วย เพราะคอนเทนต์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มมีส่วนในการสร้างกำไรจากการโฆษณาให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มมากกว่า แต่นี่ก็เป็นประเด็นที่ดีเบตกันมาก ว่าเราควรจะไปให้น้ำหนักกับฝั่งไหนมากกว่ากัน เป็นสิ่งที่เราต้องถกเถียงหาข้อสรุปกันต่อไป
การจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง โดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ถ้าการบริโภคเกิดขึ้นในประเทศนี้ ภาครัฐก็ควรจะได้เก็บภาษีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ใช่ว่าเอามูลค่าส่วนเพิ่มนี้ออกไปนอกประเทศทั้งหมด รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกก็มีแนวคิดเช่นนี้ ส่วนรูปแบบภาษี อาจจะใช้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรืออาจจะกำหนดภาษีพิเศษสำหรับเจ้าของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกินกว่ากำหนด เราก็ต้องพิจารณาทางเลือกและดูผลกระทบทั้งด้านดีด้านเสีย เพราะอีกด้านหนึ่งแพลตฟอร์มก็อาจผลักภาระไปให้ประชาชนได้เหมือนกัน
:: เดินหน้าสู่ Smart Government ::

ทุกวันนี้ โลกเปลี่ยนเร็ว เอกชนก็ปรับตัวเร็ว ดังนั้นภาครัฐก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภาครัฐมีความคล่องแคล่ว (Agile) เดินหน้าไปสู่ Smart Government ที่จะตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว และยังต้องตอบสนองกับความต้องการของประชาชนหรือภาคเอกชนได้รวดเร็วด้วยอย่างรัฐบาลบางประเทศแสดงวิสัยทัศน์เลยว่าจะต้องเป็น Government as a platform ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนผ่านให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นก็จะช้ากว่าภาคเอกชนไปมาก
การเป็น Smart Government จะต้องมี 3 องค์ประกอบได้แก่ Hyper Awareness คือรับรู้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงบนโลกได้อย่างรวดเร็ว ถัดมา Inform Decision-making คือการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล เพื่อนำไปตัดสินใจสร้างนโยบายที่ดี และสุดท้าย Fast Execution คือการทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่ได้ทันที รัฐบาลก็จำเป็นต้องขับเคลื่อน 3 เรื่องนี้
การเป็น Smart Government มีประโยชน์ต่อประชาชนมาก ทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการเป็นรัฐบาลที่เข้าใจประชาชน เพราะสามารถมีฐานข้อมูลมากเพียงพอที่จะจัดเตรียมบริการหรือสิทธิสวัสดิการต่างๆให้กับประชาชนแต่ละกลุ่มได้ทันที โดยที่รัฐบาลไม่ต้องถามและประชาชนไม่ต้องร้องขอ หรือถ้าประชาชนร้องขอ ภาครัฐก็สามารถตอบสนองเป็นรายบุคคลได้เลย นอกจากนี้ Smart Government ยังอำนวยความสะดวกกับชีวิตประชาชนหลายอย่าง เช่นการที่ประชาชนสามารถติดต่อหรือทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐผ่านทางออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานและไม่ต้องใช้กระดาษ รวมถึงการเข้าสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสด
สำหรับประเทศไทย อุปสรรคสำคัญในการเดินหน้าสู่ Smart Government คือการวางภาพในอนาคตที่ยังไม่ค่อยชัดเจน ซึ่งตอนนี้เราก็ทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกันอยู่ และน่าจะเข้าที่ประชุมครม.เร็วๆ นี้ ก็น่าจะช่วยกำหนดทิศทางได้ดีขึ้น โดยแผนฉบับนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแผนเทคโนโลยีเพื่อเทคโนโลยี แต่เป็นแผนเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ สิ่งที่เราต้องการเห็นทั้งหมดตอนนี้มี 3 เรื่องคือ การบูรณาการดิจิทัลให้เทคโนโลยีในภาครัฐเชื่อมต่อกันได้ การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และสุดท้ายคือการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อม เราก็จะเดินหน้าไปสู่ Smart Government ได้มากขึ้น
:: Open Government เปิดข้อมูล ต่อยอดประโยชน์ให้ประเทศ ::

Smart Government ถือเป็นขั้นสูงสุดของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้ดิจิทัลตอบสนองความต้องการรายบุคคล และสามารถทำทุกอย่างในระบบอัตโนมัติได้ โดยขั้นตอนก่อนที่จะเป็น Smart Government ประกอบด้วย Electronic Government, Open Government และ Data-driven Government ตามลำดับ
ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของ Open Government ซึ่งภาครัฐสามารถเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชน ที่ผ่านมาเราเปิดเผยข้อมูลไปแล้วกว่า 2,800 ชุด และมีคนใช้งานแล้วกว่า 1.3 ล้านคน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนมีประโยชน์อยู่ 3 อย่าง หนึ่ง ทำให้เกิดความโปร่งใส ประชาชนจะทราบว่ารัฐทำอะไรอยู่และสามารถเข้าไปร่วมตรวจสอบได้ สอง ทำให้ประชาชนและภาคเอกชนนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในเรื่องต่างๆ ได้ ยิ่งรัฐเปิดข้อมูลให้ได้เร็วเท่าไหร่ ประชาชนและเอกชนก็จะยิ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็ว และสุดท้าย คือการนำข้อมูลไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เช่นการใช้ข้อมูลอุบัติเหตุทางจราจรไปหาวิธีการที่จะเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนบางพื้นที่ได้
การเป็น Open Government ต้องยืนบนหลักคิดที่ว่า “เปิดเป็นหลัก ปิดเป็นข้อยกเว้น” โดยต้องเปิดข้อมูลให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด แต่อาจจะปิดบางข้อมูลที่เป็นความลับหรือมีผลต่อความมั่นคง ที่จริงก็มีหลักอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานพิจารณาได้ว่าข้อมูลไหนไม่ควรเปิดเผยเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบตามมา
แต่สำหรับประเทศไทย บางครั้งที่หน่วยงานรัฐไม่ได้เปิดเผยก็เป็นเพราะเรื่องทางเทคนิค เพราะข้อมูลบางอย่างยังคงจัดเก็บในรูปกระดาษ นอกจากนี้ข้อมูลบางอย่างยังอาจจัดเก็บมาไม่มีคุณภาพมากนักเพราะยังไม่ได้ทำ Data Governance แต่ใช้คนคีย์ข้อมูลเองอยู่
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคิดในการทำ Open Government ก็คือเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เพราะประชาชนบางคนกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกเปิดเผย ซึ่งตรงนี้ก็มีวิธีการแก้ปัญหาได้อยู่ เช่นการไม่ระบุชื่อนามสกุลของแหล่งข้อมูลลงไป หรือการบอกข้อมูลเป็นช่วงอายุแทนอายุจริงๆ
ในขั้นต่อไป เรากำลังเดินหน้าไปสู่ความเป็น Data-driven Government ซึ่งภาครัฐจะสามารถนำข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ ไปใช้ประโยชน์กับประชาชนได้อย่างอัตโนมัติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการประชาชน หรือจัดสรรสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างตรงจุด หากเราสามารถจัดการข้อมูลได้ดีและเชื่อถือได้