fbpx

‘เสถียรภาพในความขัดแย้ง’: บทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ข่าวต่างประเทศเกือบทุกสำนักต่างรายงานเหตุการณ์รายวันและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนหลากหลายแง่มุม หนึ่งในเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจ (และสร้างความหวั่นใจ) มากที่สุดคือ การส่งสัญญาณอย่างชัดเจนของประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูตินว่า รัสเซียพร้อมจะที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้งครั้งนี้ นี่ถือเป็นการประกาศขู่จะใช้นิวเคลียร์ครั้งแรกของรัสเซียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

แม้ว่าคำแถลงดังกล่าวไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า อะไรคือเหตุการณ์ที่รัสเซียจะยอมไม่ได้และจะตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทันที แต่เราสามารถ ‘อ่าน’ ความหมายของการประกาศของประธานาธิบดีปูตินได้ว่า การขู่จะใช้นิวเคลียร์นี้เป็นความพยายามที่จะสื่อสารกับผู้รับสารหลักๆ สองกลุ่ม นั่นคือ

1) ยูเครน เพื่อเพิ่มอำนาจในการขู่บังคับของรัสเซีย โดยเฉพาะก่อนที่รัสเซียจะแถลงการณ์ รัสเซียประสบปัญหาในการใช้อาวุธตามแบบ (conventional weapons – อาวุธที่ไม่ได้มีพลังทำลายล้างสูงอย่างอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ) ในการบุกทำสงครามกับยูเครน และ 2) ประเทศสมาชิกนาโต ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ เพื่อป้องปรามไม่ให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาแทรกแซงในความขัดแย้งดังกล่าว

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นหลังจากการแถลงคือ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ดำเนินต่อไป โดยมีประเทศสมาชิกนาโตสนับสนุนยูเครนผ่านความช่วยเหลือทางทหารในระดับย่อมและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น หนึ่งในคำอธิบายหลักที่นักวิชาการมักอธิบายพฤติกรรมการไม่แทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตกในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ คือยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกนาโตหรือไม่ได้มีข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับชาติตะวันตกเช่นสหรัฐฯ ดังนั้น ชาติมหาอำนาจตะวันตกจึงไม่มีพันธะหน้าที่หรือข้อผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องใช้กองกำลังทางทหารเพื่อปกป้องยูเครน

เหตุผลทางกฎหมายดังกล่าวอาจถูกในบางส่วน แต่คำอธิบายนี้ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของมหาอำนาจตะวันตกในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้อย่างครอบคลุมนัก แท้จริงแล้ว ชาติมหาอำนาจตะวันตกไม่เพียงแค่ไม่แทรกแซงในความขัดแย้งดังกล่าว หากแต่รัฐเหล่านี้ยังพยายามอย่างหนักที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจสร้างความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย ดังที่จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามจะสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ยกระดับความเป็นอริต่อรัสเซียและลดความตึงเครียดด้านนิวเคลียร์ระหว่างประเทศด้วยการประกาศเลื่อนการทดสอบการยิงขีปนาวุธข้ามทวีป ที่ปกติแล้วจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

ปรากฏการณ์ที่รัฐคู่ขัดแย้งที่ต่างมีนิวเคลียร์ พยายามไม่แทรกแซงในความขัดแย้งโดยตรงและหลีกเลี่ยงการสร้างความตึงเครียดเช่นนี้อาจเกิดจากสิ่งที่นักวิชาการด้านความมั่นคงเรียกว่า ‘ความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพ’ (stability-instability paradox)

ความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพ

แนวคิดว่าด้วยความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพอธิบายบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ต่อการเมืองระหว่างประเทศ ว่า อาวุธนิวเคลียร์อาจไม่ได้สร้างสันติภาพอย่างที่นักวิชาการหรือนักนโยบายบางกลุ่มเสนอ[i] แต่จริงๆ แล้ว สงครามและความขัดแย้งในโลกยังคงมีอยู่และอาจมีมากขึ้นด้วยซ้ำ หากแต่เปลี่ยนรูปแบบไปจากลักษณะสงครามขนาดใหญ่ระหว่างมหาอำนาจไปสู่สงครามหรือความขัดแย้งที่มีระดับตึงเครียดต่ำกว่า

แนวคิดว่าด้วยความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพแบ่งระดับความขัดแย้งตามระดับความตึงเครียดออกเป็นความตึงเครียดระดับสูง เช่นสงครามนิวเคลียร์ และความตึงเครียดระดับต่ำกว่า เช่นสงครามตามแบบและสงครามตัวแทน กล่าวคือ ปมความย้อนแย้งนี้เสนอว่า หากรัฐคู่ขัดแย้งทั้งสองรัฐต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ สามารถทนทานต่อการโจมตีและสามารถโต้กลับการโจมตีได้ (หรือที่เรียกว่า ‘second strike’) รัฐทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มที่จะควบคุมความตึงเครียดที่อาจยกระดับไปสู่สงครามนิวเคลียร์ เพราะหากสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้นจริง ผลทำลายล้างจะเกิดกับทั้งคู่ ความพยายามในการควบคุมนี้ส่งผลให้แนวโน้มที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ต่ำลง หรือเรียกได้ว่าเกิด ‘เสถียรภาพ’ ในความขัดแย้งที่มีความตึงเครียดระดับสูง

ความย้อนแย้งเกิดขึ้นเมื่อความมีเสถียรภาพในระดับสงครามนิวเคลียร์กลับสร้าง ‘ความไร้เสถียรภาพ’ ในสงครามหรือความขัดแย้งในระดับต่ำกว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐคู่ขัดแย้งที่มีสมรรถภาพทางทหารที่ด้อยกว่าสามารถโจมตีหรือพัวพันในสงครามขนาดย่อมหรือความขัดแย้งที่มีความตึงเครียดต่ำ เนื่องจากรัฐที่มีสมรรถภาพด้อยกว่านี้ ‘รู้’ ว่ารัฐที่มีอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าจะไม่กล้าเข้ามาแทรกแซงหรือวุ่นวายด้วยอาวุธทางทหารโดยตรง เพราะกลัวว่าความขัดแย้งจะบานปลายตึงเครียดมากขึ้นจนอาจใกล้ระดับสงครามนิวเคลียร์ กล่าวโดยสรุปก็คือ จากมุมมองของแนวคิดนี้ อาวุธนิวเคลียร์ช่วยป้องปรามสงครามในระดับความตึงเครียดสูง หากสร้างความย้อนแย้งด้วยการเปิดโอกาส (รวมถึงในบางครั้งกลับหนุน) ให้เกิดสงครามขนาดย่อยหรือความขัดแย้งในระดับต่ำกว่า 

หลักการความย้อนแย้งมักใช้ในการทำความเข้าใจหลายๆ เหตุการณ์ในช่วงสงครามเย็นที่มหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตพยายามรักษาระดับความขัดแย้งอยู่ที่สงครามตัวแทนและไม่ทำสงครามกันโดยตรง ตัวอย่างเหตุการณ์หลังสงครามเย็นที่เราเห็นความย้อนแย้งได้อย่างชัดเจนคือ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและปากีสถาน หลังจากปี 1998 ที่ทั้งสองประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ครบครัน อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังทหารที่เข้มแข็งกว่าก็ไม่สามารถขู่จะใช้กำลังทหารกับปากีสถานได้อีก แต่ทั้งสองประเทศก็มีความขัดแย้งและความรุนแรงขนาดย่อมอย่างเนืองๆ นอกจากนี้ แนวคิดนี้ยังถูกปรับและประยุกต์ใช้ในการทำความเข้าใจความขัดแย้งระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ เช่นความขัดแย้งไซเบอร์อีกด้วย

ความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

วิกฤตการณ์ยูเครนอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ล่าสุดที่ปรากฏความย้อนแย้งนี้ มหาอำนาจสมาชิกนาโตและรัสเซียต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ ความขัดแย้งที่มีความตึงเครียดระดับสูงถูกป้องปรามเนื่องจากความหวั่นเกรงว่าความขัดแย้งจะบานปลายจนถึงระดับนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประธานาธิบดีปูตินส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า พร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทุกเมื่อ แม้อำนาจทางการทหารของสมาชิกนาโต (หรือกระทั่งแค่อำนาจทางการทหารของสหรัฐฯ ประเทศเดียว) จะเหนือกว่าอำนาจทางการทหารของรัสเซีย มหาอำนาจตะวันตกก็ถูกป้องปรามจากการใช้กำลังทหารสู้กับรัสเซียเพื่อปกป้องยูเครนโดยตรง สถานการณ์ดังกล่าวเอื้อให้รัสเซียสามารถบุกและทำสงครามกับยูเครน (ซึ่งถือว่าเป็นสงครามที่มีความตึงเครียดระดับต่ำในมุมมองของมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย) ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี นักวิชาการและนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงหลายคนยังคงกังวลว่า ความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพอาจจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน กล่าวคือ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้มองว่า ความไม่มีเสถียรภาพในความขัดแย้งที่มีความตึงเครียดระดับต่ำอาจบานปลายและดึงมหาอำนาจตะวันตกเข้ามาพัวพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนในท้ายที่สุดความเสถียรภาพของความตึงเครียดในระดับสูงเช่นนิวเคลียร์ก็อาจถูกสั่นคลอนและอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ พวกเขามองว่าสาเหตุหลักที่อาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าวก็คือ รัสเซียอาจอ้างเหตุหรืออาจเกิดอุบัติเหตุทำให้สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียบานปลายไปยังประเทศใกล้เคียงที่เป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งนั่นหมายความว่าสมาชิกนาโตจำต้องเข้าร่วมกับสงครามครั้งนี้

แม้ข้อวิเคราะห์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ แต่จากเหตุการณ์ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่าความย้อนแย้งยังคงดำรงอยู่อย่างค่อนข้างมั่นคง รัสเซียเองก็พยายามระวังไม่ให้เหตุการณ์บานปลายจนมหาอำนาจตะวันตกต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนมหาอำนาจตะวันตกเองก็ไม่เพียงแค่ไม่แทรกแซงทางตรงเท่านั้น แต่ยังพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือท่าทีที่อาจนำไปสู่การยกระดับความตึงเครียดกับรัสเซียได้ ยกตัวอย่างเช่นการที่สหรัฐฯ เลื่อนการทดสอบขีปนาวุธดังที่กล่าวไปแล้ว หรือล่าสุดนาโตก็ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับเขตห้ามบิน (no-fly zone) เหนือน่านฟ้ายูเครน แม้ยูเครนจะยื่นขอสหรัฐฯ และนาโตหลายครั้งเพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนในยูเครนจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย รวมทั้งข้อเสนอดังกล่าวได้รับความสนับสนุนอย่างมากจากประชาชนอเมริกัน

สาเหตุหลักที่สหรัฐฯ และนาโตยืนกรานปฏิเสธที่จะกำหนดเขตห้ามบินก็เพราะว่า ในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อมีการกำหนดเขตห้ามบิน สหรัฐฯ และนาโตจำเป็นต้องช่วยดูแลเรื่องการบังคับใช้ ซึ่งรวมถึงการส่งเครื่องบินลาดตระเวน การชิงโจมตีระบบป้องกันของรัสเซีย และการยิงเครื่องบินของรัสเซียในกรณีที่มีเครื่องบินล่วงล้ำเข้ามาในเขตห้ามบินด้วย การกระทำดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้มหาอำนาจตะวันตกและรัสเซียต้องเผชิญกันโดยตรงและสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความขัดแย้งตึงเครียดยกระดับขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มหาอำนาจตะวันตกพยายามจำกัดการกระทำของตนให้มีเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในระดับความตึงเครียดต่ำเช่นผ่านการช่วยเหลือทางอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครนและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียเท่านั้น

หากมองผ่านมุมมองจากแนวคิดความย้อนแย้ง แม้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังไม่สิ้นสุด แต่คงเป็นการยากที่เราจะเห็นว่ามหาอำนาจนิวเคลียร์ในนาโตจะยกระดับการแทรกแซงหรือพัวพันกับความขัดแย้งที่ต้องเผชิญหน้ากันโดยตรง พฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นหลักๆ เพราะเหตุผลทางกฎหมายที่ว่ายูเครนไม่ใช่สมาชิกนาโต แต่เป็นเพราะบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีผลต่อความเข้าใจของนักนโยบายในการดำเนินกิจการด้านการเมืองระหว่างประเทศ[ii] แม้ว่าความกลัวต่ออำนาจการทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ที่ทั้งรัสเซียและมหาอำนาจในนาโตต่างมีในครอบครองจะช่วยป้องปรามความขัดแย้งในระดับสูง แต่ความมีเสถียรภาพนั้นกลับเปิดโอกาสความขัดแย้งในระดับต่ำ (จากมุมมองของมหาอำนาจในนาโต) อย่างสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้เกิดขึ้นอย่างง่ายขึ้นและยาวนานขึ้น


[i] ในทางวิชาการ แนวคิดความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพมักถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับทฤษฎีปฏิวัตินิวเคลียร์ (nuclear revolution) ที่มองว่า อำนาจของการป้องปรามจากอาวุธนิวเคลียร์สามารถสร้างสันติภาพให้กับโลกได้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าแม้ว่าทั้งสองทฤษฎีมีความต่างกันแต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนดังที่มักหยิบยกขึ้นมาในการถกเถียง ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ‘สันติภาพ’ สำหรับกลุ่มที่สองหมายถึงสภาวะไร้ซึ่งสงครามใหญ่ระหว่างมหาอำนาจของโลกที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งในแง่นี้ นักวิชาการกลุ่มแรกก็คาดการณ์ไปในแนวทางเดียวกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ Jervis 1989) หรือเมื่อนักทฤษฎีว่าด้วยแนวคิดความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพได้ปรับปรุงทฤษฎีโดยควบรวมความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจ (นอกเหนือจากการทำสงครามตามแบบ) เข้าไปในกลุ่มความขัดแย้งที่มีความตึงเครียดระดับต่ำด้วย (เช่น Kydd 2019) หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนทั้งสองทฤษฎีจะมีลักษณะคล้ายกัน

[ii] แนวคิดว่าด้วยความย้อนแย้งของความมีเสถียรภาพ-ความไร้เสถียรภาพถูกกล่าวถึงในทางวิชาการครั้งแรกโดย Glenn Snyder แต่ก่อนหน้านั้นแนวคิดนี้ก็เป็นที่รู้จักและยึดถือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยนักนโยบายสหรัฐฯ อยู่แล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save