fbpx

ยุทธศาสตร์อาวุธนิวเคลียร์ในศตวรรษที่ 21: มหาอำนาจยังสะสมอาวุธนิวเคลียร์ไปทำไม

อาวุธนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่มหาอำนาจโลกให้ความสนใจ สหรัฐฯ ซึ่งมีหัวรบอาวุธนิวเคลียร์เป็นอันดับสองของโลกรองจากรัสเซีย ก็มักจัดสรรงบประมาณทางการทหารที่เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ในระดับที่สูงลิ่วจนเบียดขับงบประมาณทางการทหารในด้านอื่นๆ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีธรรมเนียมในการทบทวน ประกาศจุดยืน และชี้แจงเหตุผลเกี่ยวกับนโยบายนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review) ทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนประธานาธิบดี

สำหรับประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในปีนี้ เป็นที่คาดกันว่าแผนนโยบายดังกล่าวน่าจะเสร็จภายในปีหน้า ทั้งนี้ แม้ว่าประธานาธิบดีไบเดนจะมีลักษณะเป็นสายพิราบ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมีแนวโน้มที่จะลดบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงลง แต่แผนการโดยคร่าวของนโยบายยังคงระบุชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะยังคงพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป แผนการอัพเกรดและเพิ่มจำนวนอาวุธนิวเคลียร์เช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สหรัฐฯ เท่านั้น แต่เรายังพบแนวนโยบายในทางเดียวกันในประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียและจีน

จากข้อมูลเมื่อปี 2020 รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์สะสมแล้วกว่า 4,300 หัว สหรัฐฯ มีถึง 3,800 หัว ส่วนจีนมีมากกว่า 300 หัว มีการคำนวณเล่นๆ จากนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ติดตั้งเตรียมพร้อมที่ใช้ในเชิงยุทธศาสตร์ (strategic deployed) ว่า หากถูกใช้พร้อมกัน รัศมีทำลายล้างของจำนวนนิวเคลียร์เหล่านั้นสามารถครอบคลุมพื้นที่ผิวโลกได้ด้วยซ้ำ และการคำนวณนี้ยังไม่ได้คิดรวมจำนวนระเบิดนิวเคลียร์ที่เก็บสำรองของสหรัฐฯ เสียด้วยซ้ำ รวมถึงยังไม่นับรวมอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐอื่นๆ อีก

คำถามชวนประหลาดใจมีอยู่ว่า ในขณะที่ภาพความเสียหายจากการทิ้งระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่สองที่ฮิโรชิมะและนางาซากิยังเป็นที่จดจำในประวัติศาตร์โลก (ซึ่งใช้ระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้น) ทำไมมหาอำนาจเหล่านี้ถึงยังไม่หยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และยังต้องแข่งกันเพิ่มจำนวนและอัพเดตคุณภาพเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์อีก? เราจะเข้าใจพฤติกรรมการแข่งขันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพนี้ได้อย่างไร?

ที่สำคัญที่สุดคือ มีเยอะกันขนาดนี้กล้าใช้กันจริงหรือ?

สามแนวคิดหลักด้านความมั่นคง: Coercion, Deterrence และ Compellence[1]

ในการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์สมัยใหม่ หากรัฐสองรัฐมีความต้องการที่ขัดแย้งกัน หลักยุทธศาสตร์ที่แต่ละรัฐมักยึดถือคือหลัก coercion[2] นั่นคือ การที่แต่ละรัฐต่างพยายามโน้มน้าวหรือขู่บังคับคู่ขัดแย้งให้ทำในสิ่งที่ตนต้องการด้วยการเปลี่ยนผลประโยชน์ที่รัฐคู่ขัดแย้งคาดว่าจะได้รับหากทำตามหรือไม่ทำตามในสิ่งที่เราอยากให้ทำ

การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ (หรือการซ้อมรบ) ในช่วงที่มีความขัดแย้งเป็นตัวอย่างที่ดีของยุทธศาสตร์แบบ coercion กล่าวคือ รัฐหนึ่งๆ มักจะทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อส่งสัญญาณขู่ให้รัฐคู่พิพาทยอมทำตามที่ตัวเองต้องการ โดยรัฐคู่พิพาทจะคิดคำนวณว่า หากมีการยิงนิวเคลียร์หรือสงครามเกิดขึ้นจริง ผลเสียหายจะมากกว่าการไม่ยอมทำตามความต้องการหรือไม่ หากคิดคำนวณแล้วว่า ผลเสียหายของการรบร้ายแรงกว่า ก็จะยอมทำตามความต้องการของคู่พิพาทตน ลักษณะของการขู่บังคับว่าจะใช้กำลังหรือการใช้อาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรองนี้ทำให้บางคนเรียก coercion ว่าการทูตแบบบีบบังคับ (coercive diplomacy)

อย่างไรก็ตาม coercion มักถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ deterrence (การป้องปราม) และ compellence (การบังคับให้ทำตาม) สองคอนเซปต์นี้มีลักษณะคล้ายเหรียญคนละด้าน โดย deterrence คือการโน้มน้าวหรือขู่บังคับรัฐคู่ขัดแย้งเพื่อป้องปรามไม่ให้รัฐคู่ขัดแย้งทำในสิ่งที่เราไม่ต้องการ ส่วน compellence คือการโน้มน้าว ขู่บังคับ หรือใช้กำลังกับรัฐคู่ขัดแย้งเพื่อให้รัฐคู่ขัดแย้งทำในสิ่งที่เราต้องการ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ตัวอย่างในโลกจริงสำหรับ deterrence เช่น กรณีเกาหลีเหนือประกาศว่าหากสหรัฐฯ โจมตีหรือบุกเกาหลีเหนือเมื่อไหร่ เกาหลีเหนือจะยิงนิวเคลียร์โต้กลับทันที ตัวอย่างสำหรับ compellence เช่น การที่สหรัฐฯ ขู่รัฐบาลเวียดนามเหนือให้ยอมแพ้มิเช่นนั้นจะทิ้งระเบิดในช่วงสงครามเวียดนาม หรือการที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นแล้วยื่นคำขาดให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

การแบ่งประเภทของ coercion เป็นสองประเภทช่วยให้นักวิชาการและนักนโยบายสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ปัจจัยใดบ้างที่จะเหมาะสมกับการเจรจาต่อรองในสถานการณ์หนึ่งๆ[3] ในทางทฤษฎี ยุทธศาสตร์แบบ compellence มักสำเร็จได้ยากกว่า deterrence เพราะหากมองจากมุมมองของรัฐที่ข่มขู่บังคับแล้ว รัฐที่เลือกดำเนินยุทธศาสตร์แบบ compellence ต้องคำนวณและแจกแจงรายละเอียดระดับของอาวุธหรือการคุกคามให้ชัดเจน รวมไปถึงช่วงเวลาที่เหมาะเจาะในการดำเนินนโยบาย (เช่นให้เวลา 3 วันในการตัดสินใจให้ยอมแพ้) ซึ่งลักษณะเหล่านี้มักไม่เกิดขึ้นในการเลือกยุทธศาสตร์แบบ deterrence เช่น การประกาศนโยบายป้องปรามทั่วไปของประเทศหนึ่งๆ อาจประกาศกว้างๆ ว่า หากรัฐอื่นใช้กำลังกับเรา เราจะใช้ตอบโต้ด้วยอาวุธและความรุนแรงที่เหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนี้ หากมองจากมุมมองของรัฐที่ถูกข่มขู่ การยินยอมทำตามรัฐที่ใช้นโยบาย compellence ก็เป็นไปได้ยากกว่าเช่นกัน เนื่องจาก compellence เป็นการบังคับที่ทำให้สถานะดั้งเดิม (status quo) ของรัฐที่ถูกบังคับต้องเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การใช้ยุทธศาสตร์ compellence จึงมักถูกแรงต้านจากรัฐที่ถูกบังคับมากกว่า

มีมาก แต่ไม่กล้าใช้: ปริศนาของการสะสมอาวุธนิวเคลียร์

หนึ่งในเหตุผลหลักของนักวิชาการและนักนโยบายสายความมั่นคงที่สนับสนุนการสะสมและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์คือ พวกเขาเชื่อว่าจำนวนและประสิทธิภาพของอาวุธนิวเคลียร์ทำให้รัฐหนึ่งๆ ได้เปรียบเวลาต่อรองด้วยการขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับรัฐอื่นหากรัฐอื่นไม่ยอมทำตามสิ่งที่ต้องการ (nuclear compellence) นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม พลังทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ที่ทำให้รัฐคู่ขัดแย้งอกสั่นขวัญแขวนกลับเป็นข้อจำกัดของอาวุธนิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน เพราะความสามารถในการทำลายล้างสูงทำให้คนที่ถูกข่มขู่รู้สึกว่าคนที่ขู่ไม่กล้าที่จะใช้อาวุธนี้จริงๆ ลองคิดง่ายๆ ว่า หากเกิดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นจริง คนที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์จะต้องแบกรับการโดนรุมประณามจากนานาชาติอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามเย็นที่โลกรู้สึกร่วมกันว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม โดยเฉพาะสำหรับรัฐที่เป็นฝ่ายเริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน กล่าวโดยสรุปคือ ปัญหาสำคัญของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการข่มขู่คือปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ (credibility problem)

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านความมั่นคงส่วนใหญ่มองว่า หากใช้ในแง่การข่มขู่เจรจาต่อรอง อาวุธนิวเคลียร์อาจมีประสิทธิภาพในแง่การป้องปราม (nuclear deterrence) โดยเฉพาะในกรณีที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างมีอาวุธและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในระดับที่สามารถตอบโต้การยิงนิวเคลียร์ของอีกฝ่ายได้หากอีกฝ่ายยิงนิวเคลียร์ก่อน (นั่นคือ ต่างฝ่ายต่างมี second-strike capability) เมื่ออยู่ในสถานการณ์นี้ ความเป็นไปได้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะกล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตีอีกฝ่ายก่อนจะต่ำมาก เนื่องจากหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ออกไป อีกฝ่ายอาจโต้กลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน

อย่างไรก็ดี หากมองว่าอาวุธนิวเคลียร์อาจเป็นประโยชน์สำหรับการป้องปรามเช่นนี้ การสะสมอาวุธนิวเคลียร์เป็นจำนวนมากก็ยังไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก เพราะปัจจุบันทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ต่างมีความสามารถในการตอบโต้กลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งกันและกันแล้ว ซึ่งนั่นแปลว่า แท้จริงแล้ว แต่ละรัฐไม่จำเป็นที่จะต้องมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากหรือแข่งขันกันเป็นที่หนึ่งด้านอาวุธนิวเคลียร์เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องปราม และด้วยความที่อาวุธนิวเคลียร์มีปัญหาหลักเรื่องความน่าเชื่อถือดังที่กล่าวไป แม้จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในลักษณะเพื่อป้องปรามโดยไม่ใช้เพื่อชิงโจมตีก่อน รัฐต่างๆ มักบรรเทาปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น รัสเซียได้ตั้งให้มีการยิงนิวเคลียร์กลับโดยอัตโนมัติหากระบบความมั่นคงของรัสเซียสามารถตรวจเจอการเคลื่อนไหวของอาวุธนิวเคลียร์จากรัฐอื่นเข้าเขตแดนของตน

แล้วมีเหตุผลอะไรที่มหาอำนาจนิวเคลียร์เหล่านี้ยังต้องการเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของอาวุธนิวเคลียร์แบบที่เราเห็นในข่าวอีก?

Nuclear Compellence เป็นไปได้จริงหรือ?

นักวิชาการและนักนโยบายที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ nuclear compellence เชื่อว่า หากเกิดความขัดแย้งขึ้นจริงระหว่างสองมหาอำนาจและความขัดแย้งได้ยกระดับรุนแรงจนถึงระดับวิกฤต ท้ายที่สุดแล้ว อาวุธนิวเคลียร์ยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการขู่รัฐคู่ขัดแย้งให้จำนนต่อความต้องการของรัฐที่ใช้นิวเคลียร์ข่มขู่ได้ โดยเสนอว่ามีเหตุผลอย่างน้อยสองประการที่จะทำให้ปัญหาความน่าเชื่อถือของอาวุธนิวเคลียร์บรรเทาลง

(1) แม้การใช้อาวุธนิวเคลียร์จะมีค่าใช้จ่ายทางสังคมสูงเพราะจะถูกประณามจากสังคมโลกว่าไร้มนุษยธรรม แต่ที่จริงแล้ว ในทางการทหารปัจจุบัน หากอยู่ในสถานการณ์วิกฤตหรือสงคราม การตัดสินใจในการยิงนิวเคลียร์ (รวมถึงการใช้อาวุธอื่นๆ) มักจะกำหนดให้เป้าหมายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารหรือมีคุณค่าทางทหาร (counterforce) แทนที่จะเป็นแหล่งพลเรือน (countervalue)[4] การกระทำเช่นนี้น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ และนั่นหมายความว่าต้นทุนทางสังคมในการใช้อาวุธอาจไม่ได้สูงลิ่วอย่างที่คาดคิดกัน

(2) หากเชื่อว่ารัฐฝ่ายตรงข้ามจะใช้ยุทธการ counterforce เช่นกัน นั่นหมายความว่า เป็นไปได้สูงว่าเป้าหมายโจมตีของฝ่ายตรงข้ามก็คือฐานอาวุธนิวเคลียร์หรือเทคโนโลยีที่ช่วยในการลำเลียงนิวเคลียร์นั่นเอง ดังนั้น หากรัฐไหนครอบครองจำนวนนิวเคลียร์มากกว่าและมีเทคโนโลยีเหนือกว่า รัฐนั้นยิ่งมีโอกาสที่จะใช้รองรับการโจมตีและตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ดีกว่าหากมีการแลกเปลี่ยนนิวเคลียร์กันจริง ซึ่งนั่นหมายความว่ามีโอกาสในการชนะสงครามมากกว่า และการมีโอกาสในการชนะสงครามนิวเคลียร์มากกว่า จะแสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นว่าเราพร้อมจะสู้ (resolve) ในสงครามมากกว่า[5] ดังนั้น เมื่อคู่ขัดแย้งของเราประเมินได้เช่นนี้ คู่ขัดแย้งของเราจึงควรยอมจำนนต่อสิ่งที่เราเรียกร้อง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักวิชาการและนักนโยบายที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ nuclear compellence มักไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรก็คือ แม้กระทั่งในทางทฤษฎี ความได้เปรียบในการต่อรองนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งมี ‘ความเหนือกว่า’ อีกรัฐหนึ่งในระดับสูงมากอย่างมีนัยสำคัญถึงจะส่งผลให้เกิดความชัดเจนว่า รัฐนั้นมีความยึดมั่นว่าเราพร้อมจะสู้ (resolve) มากกว่าจริงๆ รัฐคู่ขัดแย้งจึงจะยอมจำนนก่อนสงครามนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นจริง แต่หากความแตกต่างในระดับความสามารถทางนิวเคลียร์ไม่ได้สูงมากพอ การแข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างรัฐทั้งสองอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดระหว่างกันรวมถึงสร้างความตึงเครียดหรือเกิดสงครามโดยไม่จำเป็น

แล้วเพิ่มหรือไม่เพิ่มจำนวน/พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ดี?

โมเดลนโยบายนิวเคลียร์ทั้ง 2 โมเดล (nuclear deterrence vs. nuclear compellence)[6] มองต่างกันถึงความเป็นไปได้ในการใช้นิวเคลียร์และบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้ในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ และนำไปสู่ข้อสรุปเชิงนโยบายนิวเคลียร์ที่ต่างกัน หากยึด nuclear deterrence ก็ไม่จำเป็นต้องสะสมนิวเคลียร์ในจำนวนที่มากนัก แต่หากยึด nuclear compellence ก็จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายให้มีอาวุธนิวเคลียร์เหนือกว่าอาวุธนิวเคลียร์ของคู่ขัดแย้งให้มากๆ

อย่างไรก็ตาม จากสถิติของการเพิ่มจำนวนและ/หรือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของมหาอำนาจต่างๆ อาจกล่าวได้คร่าวๆ ว่ารัฐเหล่านั้นอาจมีแนวโน้มที่จะยึดโมเดลหลังเป็นหลัก

เมื่ออ่านมาถึงย่อหน้านี้ ผู้อ่านอาจเกิดคำถามในใจว่า แล้วโมเดลแบบไหนน่าเชื่อถือ หรือถูกต้องมากกว่ากันแน่?

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า แม้ว่าในกรณีทั่วไป compellence จะสำเร็จได้ยากกว่า deterrence แต่ในทางทฤษฎี โมเดลเกี่ยวกับนิวเคลียร์ทั้งสองโมเดลเป็นไปได้ทั้งคู่[7] หากพิจารณาเพิ่มเติมจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็ยังไม่ชัดเจนนักเช่นกันที่จะตัดสินได้ว่าโมเดลไหนมีความเป็นได้จริงมากกว่า (และควรใช้มากกว่า) แม้ล่าสุด Matthew Kroenig ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านนโยบายนิวเคลียร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ได้ตีพิมพ์ผลงานเชิงประจักษ์เพื่อสนับสนุนว่าแท้จริงแล้ว nuclear compellence เป็นไปได้จริง และสามารถช่วยให้รัฐที่มีอำนาจเหนือกว่าทางนิวเคลียร์ชนะการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศในระดับวิกฤตได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบการวิเคราะห์ในงานดังกล่าว พบว่าข้อมูลที่ใช้มีความไม่เหมาะสมและมีความผิดพลาดจำนวนมาก

นอกจากนี้ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่มักถูกนำมาสนับสนุนในงานวิจัยด้านนโยบายนิวเคลียร์ต่างๆ มักมีสมมติฐานว่า การที่รัฐมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองกับการที่รัฐข่มขู่กับรัฐอื่นว่าจะใช้นิวเคลียร์หากไม่ยอมทำตามที่รัฐข่มขู่ต้องการนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งนั่นอาจทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลและข้อสรุปผิดพลาด เพราะจริงๆ แล้ว รัฐคู่ขัดแย้งอาจไม่ได้คิดถึงการใช้และผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์ในการเจรจาต่อรองเลยด้วยซ้ำไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐเหล่านั้นอาจยินยอมทำตามรัฐคู่ขัดแย้งเพียงเพราะเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับหลักการ compellence หรือ deterrence ก็ได้[8]

ทั้งนี้ ในท้ายที่สุด ไม่ว่ารัฐหนึ่งๆ จะเลือกโมเดลใดเป็นแนวทางหลักสำหรับการดำเนินนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐบาลควรจะออกมาแถลงว่าจะใช้นโยบายใดและชี้แจงเหตุผลถึงความจำเป็นที่จะใช้นโยบายนั้นๆ ต่อสาธารณะ เพราะนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศมักมีหลายมิติ มีทั้ง (1) ความซับซ้อนภายในนโยบายความมั่นคงเอง (เช่น จริงๆ แล้วผู้สนับสนุนท่าที nuclear deterrence อาจต้องการเพิ่มจำนวนหรือพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์หากพิจารณาว่าจะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการป้องปรามรัฐอื่นที่อาจมาคุกคามรัฐพันธมิตรของตนด้วย (extended deterrence) การเป็นรัฐมหาอำนาจที่อาจต้องใช้อาวุธในจำนวนเยอะกว่ารัฐขนาดเล็กในการสื่อสารความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ หรืออาวุธชนิดหนึ่งที่ฝ่ายทหารวางแผนและนำเสนออาจไม่ได้มีความเหมาะสมหรือจำเป็นต่อนโยบายความมั่นคงโดยรวม เป็นต้น) และ (2) มีทั้งความซับซ้อนระหว่างนโยบายสาธารณะอื่นๆ เช่นในหลายสถานการณ์ เราควรแบ่งงบประมาณกลาโหมไปใช้ในประเด็นสาธารณะด้านอื่นๆ ที่สำคัญกว่าหรือเร่งด่วนกว่า อย่างที่เราจะเห็นจากการที่หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ วางแผนว่าจะตัดงบค่าใช้จ่ายทางการทหารหลังจากที่ต้องใช้งบจำนวนมากกับการจัดการด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากภัยโรคระบาดโควิด

เนื่องจากนโยบายความมั่นคง (ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ) ของรัฐใดๆไม่เคย ไม่ใช่ และไม่ควรจำกัดอยู่ในขอบเขตการพิจารณาของฝ่ายทหารหรือกลาโหมเท่านั้น การเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงย่อมเป็นผลดีทั้งคุณภาพของนโยบายความมั่นคงเองและความชอบธรรมของรัฐและทหาร รวมถึงเป็นสิทธิของประชาชนที่ควรได้รู้และตัดสินใจว่าภาษีที่จ่ายไปถูกจัดสรรไปในเรื่องใดอีกด้วย


[1] การแบ่งประเภทและความหมายของสามแนวคิดนี้อ้างอิงจาก Thomas Schelling (และนักวิชาการด้านความมั่นคงส่วนใหญ่หลังจากงานตีพิมพ์ของ Schelling) เป็นหลัก นักวิชาการด้านความมั่นคงบางคนโดยเฉพาะในยุคก่อน Schelling มักใช้คำว่า Deterrence ในความหมายเดียวกับ Coercion ของ Schelling (เช่น Jervis (1979)) นอกจากนี้ นักวิชาการบางคนก็ใช้คำว่า Coercion ในความหมายเดียวกับ Compellence ของ Schelling (เช่น Pape (1996))

[2] หลักการ coercion มักถูกมองว่าเป็นหลักการที่ตรงข้ามกับการใช้กำลังดิบ (brute force) ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นหลักยุทธศาสตร์แบบเก่า การใช้กำลังดิบมีเป้าหมายเพื่อเอาชนะคู่ขัดแย้งด้วยการเน้นทำลายและสร้างความเสียหายคู่ขัดแย้งด้วยกำลังทางทหาร

[3] อย่างไรก็ดี นักวิชาการและนักนโยบายต่างเห็นพ้องว่า ในบางครั้ง การแยกความแตกต่างระหว่าง deterrence และ compellence ในสถานการณ์ความขัดแย้งโดยเฉพาะในระดับวิกฤต เป็นไปได้ยากและขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละประเทศ

[4] อย่างไรก็ดี ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่า counterforce และ countervalue สามารถแยกออกจากกันได้หรือไม่

[5] เทคนิคอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้ในการเพิ่ม resolve เช่นการ ‘แกล้งบ้า’ ของประธานาธิบดีนิกสัน ดู ‘สงครามนิวเคลียร์ใกล้ปะทุจริงหรือ? วิเคราะห์ความเป็นไปได้หลังเกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลสำเร็จ

[6] ความแตกต่างระหว่างสองโมเดลนี้เป็นความแตกต่างในเชิงแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ แน่นอนว่า ในนโยบายความมั่นคงที่ประกาศต่อสาธารณะ นักนโยบายมักใช้คำว่าป้องปรามหรือ deterrence สำหรับแนวคิดแบบ nuclear compellence ด้วย เนื่องจากในทางการเมือง การใช้คำว่า compellence มักสื่อความหมายในเชิงรุกและแข็งกร้าว

[7] แม้ในหลายๆ ครั้งผู้เขียนมองว่างานวิเคราะห์ของฝ่ายสนับสนุน nuclear compellence มักประเมินความเสี่ยงเรื่องความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต่ำเกินไป เช่น งานของ Matthew Kroenig ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแนวคิด nuclear compellence คนสำคัญ โดยผู้เขียนเห็นว่า Kroenig ได้ละเลยการวิเคราะห์ “ความไม่แน่นอนในความเอาจริงของรัฐข่มขู่ในสายตาของรัฐที่ถูกข่มขู่ (the coerced’s uncertainty about the coercer’s resolve)” ซึ่งหากความไม่แน่นอนสูง ความเสี่ยงของในการเกิดสงครามนิวเคลียร์โดยไม่จำเป็นย่อมสูงด้วย

[8] Alexander Downes and Charles Glaser. (2020). “Nuclear Compellence: Rethinking the Effects of the Bomb,” working paper.  

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save