fbpx

“อย่าผูกขาดความหวังดี” ศรีสมร โซเฟร กับเมล็ดพันธุ์อันหลากหลายในหนังสือเด็ก

“หนังสือที่ชวนให้คิดคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ รู้รับทราบความเป็นไป และใฝ่ฝันถึงสิ่งที่ดีกว่า” คือคำอธิบายหนังสือนิทานทั้ง 8 เล่มของวาดหวังหนังสือ ที่ดูแปลกตาจากหนังสือเด็กในท้องตลาด

เป็ดน้อย, 10 ราษฎร, แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ, ตัวไหนไม่มีหัว, เสียงร้องของผองนก, เด็กๆ มีความฝัน, จ จิตร และแม่หมิมไปไหน? คือชื่อของหนังสือในชุดนี้ ซึ่งเป็นผลงานของ 8 นักวาดพร้อมนักเขียนคือ สองขา, ทราย เจริญปุระ และหนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์

การปรากฏตัวของหนังสือเด็กชุดนี้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยด้วยเนื้อหาอันแตกต่างและความสนใจจากกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการตรวจสอบพร้อมตั้งธงไว้ว่าอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายบิดเบือน เชิดชูความรุนแรง บิดเบือน ปลุกปั่น พร้อมทั้ง สคบ. เรียกผู้ทำหนังสือให้เข้าไปชี้แจง

“อยากให้หนังสือเด็กไทยมีความหลากหลายยิ่งขึ้น” คือคำยืนยันของ หมอน-ศรีสมร โซเฟร บรรณาธิการวาดหวังหนังสือและนักเขียนหนังสือเด็กนามปากกา ‘สองขา’

ในฐานะนักเขียนหนังสือเด็กที่มีผลงานจำนวนมาก การจัดทำนิทานชุดนี้ด้วยเงินตัวเองเป็นหนึ่งในความฝันของเธอที่ต้องการเห็นหนังสือเด็กไทยมีเนื้อหาหลากหลายกว่าเดิม มิใช่เพียงการสั่งสอนว่าเด็กต้องทำงานบ้าน เชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องเรียนเก่ง เป็นคนเรียบร้อย แต่หนังสือต้องช่วยให้เด็กมีจินตนาการ เห็นความเป็นไปได้อันหลากหลายของโลกใบนี้ และรู้จักเลือกสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ

สิ่งสำคัญในการอ่านของเด็กคือไม่ควรถูกบังคับหรือถูกตีกรอบให้คับแคบ

101 พูดคุยกับศรีสมรถึงวิธีคิดในการจัดทำหนังสือนิทานชุดนี้และความฝันของเธอในฐานะนักเขียนหนังสือเด็กที่หวังสร้างความหลากหลายในโลกการอ่าน


คุณเริ่มต้นการเป็นนักเขียนหนังสือเด็กได้อย่างไร

เราเป็นครูมาทั้งชีวิต เคยเป็นข้าราชการครูในหมู่บ้านกะเหรี่ยงตอนอยู่ไทย จากนั้นแต่งงานจึงย้ายไปอยู่อเมริกา 15 ปี ไปเรียนต่อและเป็นครูเด็กพิเศษ จากนั้นย้ายมาอยู่อิสราเอลจนถึงปัจจุบัน ช่วงแรกเราลองเป็นครูอนุบาลอยู่หนึ่งปี แต่ภาษาฮีบรูเราดีไม่พอ อยากให้เด็กได้เต็มที่ เพราะเด็กปฐมวัยก่อนห้าขวบควรได้ครูที่มีภาษาดี ก็เลยไปเป็นครูสอนภาษาไทยที่สถานทูตไทยอาทิตย์ละครั้ง ไปเป็นล่าม สุดท้ายรู้สึกไม่ใช่

ระหว่างที่คิดว่าจะทำอะไรดีก็ไปเปิดไดอารีของตัวเอง เราเกิดวันที่ 13 ตอนวันเกิดอายุ 13 พี่สาวให้ขนมต้ม 13 ลูก เราคิดว่าขนมต้มเหมือนดวงดาว แล้วก็คิดว่าโตไปจะมีความฝันอะไรในชีวิต ตอนนั้นเราเขียนถึงความฝันตัวเองไว้เท่าจำนวนขนมต้ม พออ่านไดอารีพบว่าความฝันหนึ่งที่ยังไม่ได้ทำคืออยากเขียนหนังสือเด็ก เราเลยเริ่มเขียนแล้วส่งอีเมลให้สำนักพิมพ์ที่เมืองไทย ตอนนี้มีหนังสือที่เราเขียนพิมพ์ออกมาแล้ว 162 เล่ม ส่วนมากเป็นหนังสือเด็ก


ทำไมจึงมาทำวาดหวังหนังสือและหนังสือเด็กทั้ง 8 เล่มนี้

เราคิดมาตลอดว่าอยากให้หนังสือเด็กไทยมีความหลากหลายยิ่งขึ้น แม้ว่าหนังสือเด็กไทยเดี๋ยวนี้ดีกว่าสมัยเราเป็นเด็กมาก เมื่อก่อนมีแต่ภาพขาวดำ ที่สนุกที่สุดคือชัยพฤกษ์การ์ตูน แต่เราอยากให้หนังสือเด็กมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ใช่สอนแต่เรื่องให้กตัญญูรู้คุณ เป็นเด็กดี ต้องนวดย่า ปลูกต้นไม้ เราเองก็เขียนส่งไปหลายที่ แต่บางที่คิดว่าถ้าพิมพ์แล้วอาจขายยาก

ทุกวันเด็กและวันครูเราจะส่งหนังสือให้เด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ ในเมืองไทย เราก็คิดว่าบ้านเมืองเราในรอบสิบปีนี้มีเสียงแห่งความสุขน้อย มีแต่เสียงแห่งความโกรธเคือง ความไม่เข้าใจกัน ไม่อยากคุยกัน เกรี้ยวกราดใส่กัน และมีการทำร้ายกันด้วย เราจะให้เด็กโตมาในสิ่งแวดล้อมอย่างนี้เหรอ

ปีนี้เราเลยคิดว่าจะลองทำหนังสือใหม่ๆ ดู ไปแคะกระปุกตัวเองดูเงินว่ามีอยู่เท่าไหร่ แล้วชวนเพื่อนสมัยเรียนอีกคนหนึ่งให้มาช่วยดูเรื่องการจัดการ แล้วติดต่อให้คนมาเขียนราว 20 คน แต่ละคนไม่เคยเขียนหนังสือเด็กมาก่อน บางคนไม่ตอบ บางคนให้เลขาฯ ติดต่อกลับมา เราก็ส่งตัวอย่างงานเราให้ดูว่าต้องเขียนอย่างไร หลายคนเกร็งเพราะไม่เคยเขียนมาก่อน มีพี่หนูหริ่งและทรายที่ตกลงยอมเขียน

เวลาพูดถึงหนังสือเด็ก คนจะนึกถึงแบบเดิมๆ ที่มีอยู่ เขานึกถึงแบบอื่นไม่ออก มันมีกรอบอยู่ คนที่ไม่เคยเขียนหนังสือเด็กก็คิดว่า ถ้าจะเขียนถึงเด็กก็อยากเขียนให้ดี มีประโยชน์ ไม่ทำร้ายเด็ก ไม่มีอะไรที่ไม่ดี ใครเห็นเด็กก็อยากทำอะไรดีๆ แต่พอเป็นหนังสือผู้ใหญ่แล้วก็คิดว่าไม่เป็นไร เขียนด่า เขียนเรื่องเข้มๆ ได้

พอนักเขียนตกลงยอมเขียน เราก็ติดต่อนักวาดที่เราชอบผลงาน หลายคนไม่เคยวาดหนังสือเด็ก แต่เขาก็ทุ่มเทเต็มที่ แทบจะเป็นงานอาสา เพราะค่าตอบแทนน้อย เราบอกเขาว่าถ้าขายแล้วมีกำไรจะมอบให้กลุ่มต่างๆ เช่นกองทุนราษฎรประสงค์ กลุ่มเส้นด้าย กระจกเงา ให้กลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ละเรื่องเราพิมพ์ 3,000 เล่ม แต่จะจัดหนังสือส่วนหนึ่ง ราว 400-500 เล่มส่งให้คนในสังคม ให้เด็กๆ ให้สถานีอนามัย โรงพยาบาล ส่งไปแคมป์ก่อสร้างที่ถูกกักตัว กลุ่มสลัมสี่ภาค ให้เด็กที่อำเภอจะนะ


หากคุยกับคนที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือชุดนี้ จะบอกว่าหนังสือชุดนี้คืออะไร

หนังสือชุดนี้คือความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากทำให้หนังสือไทยมีความหลากหลายยิ่งขึ้น อยากทำหนังสือสวย ดี อ่านสนุก ราคาจับต้องได้ อ่านแล้วเด็กได้คิด เพลิดเพลิน รู้จักตัวเองมากขึ้น มองรอบๆ มากขึ้น และอาจมีใครเป็นต้นแบบ

หนังสือเล่มหนึ่งก็เหมือนหน้าต่างหนึ่งบาน นิทานวาดหวังแปดเล่มก็หวังจะเป็นหน้าต่างแปดบาน เด็กจะเปิดแล้วชอบ เดินไปตามหน้าต่างนี้ หรือจะดูอีกหน้าต่างต่อ หรือดูแล้วปิดหน้าต่างก็เป็นสิทธิของทุกคน

เราทำหนังสือนี้ขึ้นมาเพื่อให้มีเสียงอื่นๆ หากมีอะไรก็มาคุยกัน อย่าเกรี้ยวกราด ไม่ต้องขู่กัน เรากลัวอยู่แล้ว นี่คือความสัมพันธ์ที่ดีของกระทรวงศึกษาฯ และรัฐบาลกับคนเขียนหนังสือเด็กเหรอ เราไม่ต้องรักกันก็ได้ แต่อย่าโกรธ เกลียด ขู่ หรือไล่บี้หนังสือเด็กอย่างนี้


หนังสือบางเล่มมีการพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย วางโจทย์ใหญ่ของหนังสือชุดนี้ไว้อย่างไร

ตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นธีมอะไร เราเปิดกว้างมาก เชิญคนให้มาเขียนอย่างหลากหลาย แต่คนที่ตอบตกลงมามีแค่สองคนคือทรายกับพี่หนูหริ่ง พี่หนูหริ่งเขียนเรื่องไฟป่า สิ่งแวดล้อมและฝุ่น ทรายเขียนเรื่องแม่หมิมไปไหน

ตอนแรกทรายไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร เขาเล่าให้ฟังว่าเวลาจะออกจากบ้าน ลูกแมวของเขาชื่อหมิมก็จะมาแง้วๆ ว่าอย่าไปเลยอยู่บ้านเล่นกับหมิมหน่อย เราเลยบอกว่าเขียนเรื่อง ‘แม่หมิมไปไหนดีไหม’ วันไหนรู้สึกดี วันไหนท้อแท้ กลัว มีความสุข ให้เขียนเข้ามา แล้วนักวาดก็เป็นทาสแมว เราเลยรวมตัวกัน

ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ‘เด็กๆ มีความฝัน’ ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลย เด็กๆ ต้องมีความฝัน อยากรู้ว่าเขาเป็นอะไร หรือเรื่อง ‘ตัวไหนไม่มีหัว’ เป็นเรื่องพยัญชนะไทยคุยกัน เรื่องนี้เราเขียนเพราะเราเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ชอบภาษาไทย ตอนเด็กก็สงสัยว่าทำไมพยัญชนะตัวนี้หัวเข้า ตัวนี้หัวออก ทำไม ค.ควาย ไม่เหมือน ด.เด็ก ทำไม ภ.สำเภา ไม่มีกระโดงเรือ เราคิดว่าตัวอักษรพวกนี้น่ารัก เห็นเลข 8 ก็คิดว่าเหมือนบัวลอยสองอันติดกัน แต่พอถามเยอะก็โดนครูดุ ให้ไปคาบไม้บรรทัดมุมห้อง เราถูกตี หาว่าเป็นเด็กมีปัญหา ไม่เข้าใจว่ามีปัญหาตรงไหน แค่อยากรู้เอง

พอเราเป็นครูที่อเมริกา เด็กคนไหนถามเก่ง ครูจะชื่นชมมาก ตอนนั้นยังไม่มีปริญญาโท ยังไม่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นครูไม่ได้เลยไปเป็นผู้ช่วยครู วันแรกที่ไปสอนตะลึงมาก เราแนะนำตัวว่าชื่อหมอน เขียนชื่อบนกระดานแล้วถามว่ามีคำถามไหม เด็กทั้งห้องยกมือแข่งกันอยากให้เรียกเขา เพราะเขามีคำถาม เราช็อกเพราะโตมาในสังคมที่ห้ามถาม คนที่ถามคือคนมีปัญหา

ตอนน้องชายเราอยู่ ม.ต้น เขาเป็นเด็กเฮ้วแต่เรียนเก่ง ขี้สงสัย พอเรียนเลขแล้วเขาบอกครูว่าโจทย์ไม่ถูก ถ้าสอนผิดจะสอบได้เหรอ ครูก็สั่งให้หยุด น้องชายถามแบบนี้หลายวิชา สุดท้ายครูไม่ชอบ เรียกผู้ปกครอง โดนหักคะแนน แล้วถูกให้ออกจากโรงเรียนด้วยข้อหามีหนังสือปกขาว น้องบอกว่าเล่มนั้นครูเอามายัดในโต๊ะ ไม่ใช่ของเขา แล้วน้องถามครูว่า เด็ก ม.3 ดูหนังสือปกขาวแล้วผิดตรงไหน ครูยังดูเลย ครูยังไปเที่ยวโน่นนี่เลย สุดท้ายเขาเชิญออกแล้วบอกว่าเป็นบุญคุณแล้วที่ไม่ไล่ออก

เมืองไทยมีกรอบหลายอย่างทำให้คนไม่กล้าถาม ไม่กล้าคิด ไม่กล้าลอง ไม่กล้าทำอะไร เราอยากเห็นความหลากหลาย หนังสือเด็กไม่ใช่มีแค่เรื่องสั่งสอน มันก็ดีที่มีหนังสือเรื่องสั่งสอน เรื่องมารยาท เรื่องความรู้ ทักษะ การช่วยเหลือผู้อื่น แต่ต้องมีหนังสือเรื่องจินตนาการและหนังสือที่ทำให้เด็กรู้ว่าเขาเป็นใครและทำให้เขารักตัวเอง เพื่อที่เขาจะก้าวเดินต่อไป

ตอนเด็กเราเคยถามพ่อแม่ว่า ทำไมบางวันพระจันทร์เหมือนกล้วยหอม ทำไมบางวันเหมือนแตงไทย เราเคยคิดว่าพระจันทร์เหมือนรูกลางท้องฟ้า ถ้าใครตายแล้วจะลอยเหมือนลูกโป่งสวรรค์ แล้วจะลอยออกไปทางรูพระจันทร์ไหม ทำไมเราไม่เห็นกลับมาอีก คนก็หาว่าเราต๊อง แล้วความคิดเด็กแบบนี้ผิดตรงไหน

เราเป็นครู เรียนจิตวิทยาเด็ก-พัฒนาการเด็ก อ่านทฤษฎีมาหมด ทั้งหนังสือ ครู และหลักสูตร ต้องช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามวัย กาย อารมณ์ สังคม สมอง และการสื่อสาร แล้วหนังสือเด็กไทยเน้นตรงไหน หลักสูตรเน้นเรื่องวิชาการอย่างเดียว เด็กอนุบาลสามต้องไปติวสอบเข้า ป.1 มันคืออะไร เราสงสารและเห็นใจ เด็กไม่มีเวลาสนุกกับชีวิตที่จะได้รู้จักกับตัวเอง

เรามีลูกสองคน ไม่เคยให้ลูกกวดวิชา ไม่เคยเรียนพิเศษ หลังเลิกเรียนอยากทำอะไรก็ให้ไป ลูกเราได้ลองทำอะไรหลายอย่าง ใช้เวลาหลายปี จนสุดท้ายก็เจอว่าเขาชอบอะไร แต่ถ้าพ่อแม่บอกว่าลูกต้องเน้นเอ็นทรานซ์ให้ติด ต้องเรียนหมอหรือวิศวะ แต่คนทั้งโลกไม่ได้อยากเป็นหมอหรือวิศวะ ให้ทางเลือกเขาสิ ชีวิตเขา ให้เขาเลือก กว่าเขาจะรู้ เขาต้องมีโอกาสในการเลือกตั้งแต่เล็ก เช่น เลือกว่าจะกินอะไร เลือกว่าจะใส่เสื้อผ้าอะไร บางทีในหน้าหนาวแต่ลูกเราอยากใส่เสื้อผ้าหน้าร้อน ไม่ยอมใส่เสื้อกันหนาว บอกแล้วไม่เชื่อก็ต้องปล่อยเขา เดี๋ยวออกไปเขาก็รู้เองว่ามันหนาวก็วิ่งกลับมา ถ้าเขาฝืนก็ให้ป่วยไป 2-3 วัน เดี๋ยวเขาก็รู้เอง

ความหลากหลายและการได้เลือกเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งค่อยๆ รู้จักตัวเองและได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก พอคุณได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วคุณจะมีพลังบวก ถ้ามีพลังบวกเยอะๆ จะส่งต่อสิ่งที่ดีให้กัน สังคมก็จะดี ถ้าคุณมัวแต่ฟังคนอื่น ความคิดดีๆ จะไม่เกิดขึ้น เพราะความคิดนั้นอาจดีในสมัยหนึ่ง แต่เดี๋ยวก็ล้าสมัย


มีหนังสือเล่มหนึ่งในชุดนี้คือเรื่อง ‘จ จิตร’ ที่เล่าถึงชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์ ทำไมจึงเลือกทำเรื่องนี้เป็นหนังสือเด็ก

ตอนแรกเราตั้งใจว่าจะคลอดหนังสือชุดนี้ให้ทันวันเกิดจิตร ภูมิศักดิ์ 25 กันยายน เพราะจิตรเป็นคนที่เราชื่นชม ตอนเด็กเรามีฮีโร่คือ กาลิเลโอ ชาร์ลส์ ดาร์วิน และฟีโบนักชี เราคิดว่าคนไทยก็ต้องมีฮีโร่ พอรู้จักจิตรก็ชื่นชมมาก ชีวิตเขายากลำบากมาก แต่ยังใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และมีผลงาน ไม่ได้ดีแต่ปากหรือดีแบบปฏิบัติธรรมสวดมนต์

เราชอบที่จิตรสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ตอนเด็กเขาติดตามพ่อที่เป็นสรรพสามิตไปอยู่พระตะบอง ทำให้เขารู้ภาษาไทย เขมร ฝรั่งเศส ย้ายกลับมาพ่อแต่งงานใหม่ แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เย็บผ้าเลี้ยงลูกสองคน จิตรไปเรียนโรงเรียนวัดเบญฯ ก็โดนเพื่อนล้อว่าเป็นไอ้เขมร ไปเรียนเตรียมฯ แล้วเข้าจุฬาฯ ก็ถูกโยนบก คนทำไม่โดนอะไรแต่จิตรถูกพักการเรียน ถ้าเป็นเราโดนแบบนั้นคงอยากเอาคืน

จิตรไปเป็นครูสอนภาษาไทย เป็นคอลัมนิสต์เขียนสองแห่ง แนะนำเรื่องศิลปะของโลก แนะนำรูปภาพแวน โกะห์ ปิกัสโซ เขียนถึงเพลงคลาสสิก ซึ่งสมัยนั้นเป็นสิ่งที่แทบไม่มีในสังคมไทย เขาหาความรู้จากห้องสมุด เก็บเงินได้ก็สั่งซื้อหนังสือ จิตรมีใบสั่งซื้อหนังสือเยอะมาก เราเห็นจากเพจของคุณวิชัย นภารัศมีที่ศึกษาเรื่องจิตร

พอจิตรถูกจับเข้าคุกก็ยังไม่ยอมแพ้ มีไฟแห่งชีวิต ตั้งวงดนตรี มีชมรมหมากรุก มีเพื่อนนักโทษเป็นคนจีนและคนมูเซอก็แลกกันสอนภาษา จนเขียนพจนานุกรมภาษาลาหู่ คนใฝ่เรียนรู้แบบนี้หาได้ที่ไหน เขาเป็นคนที่หาได้ยากในหมู่คนไทย เราเลยคิดว่าปีนี้อยากทำหนังสือเพื่อจิตร เพราะเป็นปีที่ 91 ของเขา เราอยากทำมานานแล้ว


เรื่อง ‘จ จิตร’ มีฉากโยนบกและฉากจิตรตาย หนักไปสำหรับเด็กไหม พ่อแม่จะอธิบายกับลูกอย่างไร

หนังสือพิมพ์รายวันวางอยู่บนโต๊ะในบ้าน รูปคนถูกข่มขืน-ผูกคอตายไม่โหดกว่านี้เหรอ คนวาดเล่ม จ จิตร คือ faan.peeti เขาตั้งใจวาดมาก ถ้าสังเกตแต่ละภาพจะมีกบตัวเล็กๆ ที่ติดตามจิตรไปด้วย ตอนเราเล็กๆ อ่านชัยพฤกษ์การ์ตูน ‘รงค์’ (ณรงค์ ประภาสะโนบล) เขาชอบวาดกบตัวเล็กๆ ตรงมุมภาพ เราก็บอกคนวาดว่ามีกบหน่อยเถอะ เวลาอ่านเราชอบมองกบ อยากรู้ว่ากบทำอะไร

ในเล่มมีภาพโยนบกก็มีภาพกบตกใจ ให้เด็กเห็นว่าถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้กบจะรู้สึกอย่างไร หน้าเล่นดนตรีกบก็ร่าเริง หน้าสุดท้ายที่จิตรตาย คนวาดไม่อยากให้มีภาพความรุนแรงอย่างหยดเลือดหรือปืน จึงวาดให้ไม่เห็นหน้าจิตร นอนคว่ำหน้า มีแว่นตากระจกแตก เรามองว่าเขาช่างคิด จิตรใส่แว่นตอนอยู่จุฬาฯ เขาเรียนรู้โลกผ่านแว่น พอแว่นแตกก็มีความหมายอย่างหนึ่ง จิตรลงจากป่าไปขอข้าวชาวบ้าน ในภาพสุดท้ายก็มีกบถือห่อข้าวอยู่ด้วย แต่กบกินข้าวไม่ได้เพราะสะเทือนใจน้ำตาไหลลงห่อข้าวอุ่นๆ พร้อมภาพดาว ทำให้นึกถึงเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

มีภาพหนึ่งตอนจิตรไปเป็นไกด์ที่นครวัด มีรูปดอกไม้ตรงมุมคือดอกลำดวน ดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา หรือหน้าที่จิตรเขียนเพลงที่ภูพานแล้วมีดอกไม้สีเหลืองสีม่วงเล็กๆ เราคิดว่าเป็นดอกหญ้าธรรมดา แต่ไม่ใช่ นั่นคือดอกสร้อยระย้าซึ่งมีที่ภูพานในฤดูนั้น เขาทำอย่างตั้งใจใส่ใจ

มีภาพที่จิตรเล่นดนตรีในป่า ตอนแรกคิดว่าจะเป็นกีตาร์ ให้แต่งตัวแบบไปแคมป์ปิ้งหน้าหนาว แต่ก็ต้องเปลี่ยนเพราะเราไปถามคนอื่นๆ ว่าสมัยนั้นเครื่องดนตรีน่าจะเป็นอะไร บรรยากาศเป็นอย่างไร เราอยากเขียนให้ถูกต้อง ทำจนแทบจะเป็นสารคดี เล่มนี้ถามข้อมูลจากคนอื่นๆ เยอะมาก เราทำอย่างคารวะจึงอยากให้ถูกต้อง

ภาพความตายถามว่าดูรุนแรงไหม สังเกตว่าหนังสือเด็กไทยแทบไม่มีภาพความตายเลย มีน้อยมาก ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกชาติมีหนังสือเด็กที่พูดถึงเกิดแก่เจ็บตายทั้งนั้น ในความเป็นจริงมีบ้านไหนบ้างที่ไม่มีคนตาย แล้วถ้ามีคนตายเกิดขึ้นเด็กจะจัดการความรู้สึกอย่างไร ถ้าเขาสะเทือนใจจะพูดออกมาได้ไหม

พอหนังสือออกมาแล้วมีคนบอกว่า ที่ผ่านมามีหนังสือเกี่ยวกับจิตรเยอะแยะ มีเพลง มีสารคดี มีคลิปสั้นๆ เกี่ยวกับจิตร แต่ปีนี้มีหนังสือเด็ก จิตรตายปี 2509 ตอนหลังนักศึกษาเชิดชูจิตรขึ้นมา ภาพของจิตรคือนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หนังสือเล่มนี้เราทำให้เห็นความเป็นเด็กของเขา เราศึกษาข้อมูลของจิตรแล้วเห็นภาพต่างๆ ก็คิดว่าคนที่ร้องรำทำเพลงเล่นลิเกออกแขกทาหน้าขาวได้ เขาต้องมีหลายมุม มีจดหมายที่เขาเขียนถึงคนที่เขาชอบด้วย นี่คือความเป็นคนที่มีหลากหลาย มีคนบอกว่านี่คือการเกิดใหม่ครั้งที่สามของจิตร

ธีมเล่มนี้เราเขียนตั้งแต่หน้าปกว่า ‘ใฝ่เรียน ใฝ่รู้’ เพราะเราอยากให้เด็กเห็นว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก แล้วคุณเรียนด้วยตัวเองแบบจิตรได้ ติดคุกเขายังสร้างผลงานได้เลย คนแบบนี้แหละคุณต้องเชิดชู ถ้าเด็กอ่านแล้วไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ไม่ชอบก็วาง หนังสือเราไม่ได้ขายให้กระทรวง ไม่ได้บังคับให้เด็กอ่านไปสอบ เป็นสิทธิของคนซื้อคนอ่านและวิจารณญาณของพ่อแม่


หนังสือชุดนี้เหมาะกับเด็กอายุเท่าไหร่ อย่างเรื่อง ‘10 ราษฎร’ ที่เป็นภาพแกนนำการเคลื่อนไหวและไม่มีคำบรรยาย หรือเรื่อง ‘จ จิตร’ ยากไปสำหรับเด็กหรือเปล่า

ไม่มีหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งที่เหมาะสมหรับคนคนหนึ่งในวัยใดวัยหนึ่ง นี่คือการตีกรอบ หนังสือเด็กไทยจะบอกว่าเหมาะสำหรับเด็ก 1-3 ขวบ หรือ 4-6 ขวบ เรางงมาก ตอน ป.2 เราอ่านหนังสือเรื่อง ‘นกกางเขน’ เดี๋ยวนี้ก็ยังอ่านอยู่

หนังสือชุดนี้มีพ่อแม่ซื้อไปแล้วบอกว่าลูกชอบเรื่อง ‘แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ’ เขาสนุกที่มีมังกรพ่นไฟ ถ้าเด็กป.1-ป.2 กำลังหัดอ่านหัดเขียนก็จะชอบเรื่อง ‘ตัวไหนไม่มีหัว’ เกี่ยวกับพยัญชนะไทย หรือเรื่อง ‘เด็กๆ มีความฝัน’ ก็ชอบกันตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เล่มนี้ได้แนวคิดมาจาก Where’s Waldo ที่ต้องหาวอลโดในแต่ละภาพ มีผู้ใหญ่อายุ 70 กว่าเขียนมาบอกว่าชอบเล่มนี้มาก ต้องคอยหาน้องมะนาวและข้าวปุ้น เราพยายามใส่ลูกเล่น ระหว่างคุณหาน้องมะนาวกับข้าวปุ้น คุณก็หาความฝันของตัวเองด้วย เราอยากให้หนังสือเด็กมีลูกเล่นแบบนี้

เรื่อง ‘10 ราษฎร’ หลายคนเห็นว่าเป็นแม่เหล็กกวักมือเรียกโจทก์ ไอเดียคือเราชอบงานของนักวาดคนนี้ งานเขาเท่มาก แล้วยังไม่มีหนังสือเด็กเป็นงานเท่ๆ แบบนี้ ทั้งที่เด็กหลายคนชอบหน้ากากเสือ อยากหาฮีโร่คูลๆ ไม่ใช่หนังสือแบบที่จะมาสั่งสอนเรา เล่มนี้ไม่ใช่เรื่องความรุนแรง นี่คือการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนึ่งปีที่ผ่านมาของราษฎร มันร้ายแรงตรงไหน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงร้ายแรงกว่า ในเล่มมีรูปแม่เพนกวิน (สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์) เห็นลูกนั่งรถเข็นให้น้ำเกลือ ภาพแบบนี้ร้ายแรงตรงไหน หรือรูปทนายอานนท์เป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์ so cute and so cool เราชอบที่เขาวาดให้เปิดมาหน้าซ้ายเป็นคนหนึ่ง หน้าขวาเป็นอีกคน แต่เห็นรายละเอียดเล็กน้อย เห็นแว่น เห็นตา แล้วเราต้องเดาว่านี่คือเหตุการณ์ไหน เป็นรูปแบบการนำเสนอที่ฉลาด

เรื่อง ‘เป็ดน้อย’ ตอนเด็กเรามีเป็ดยางแบบนี้ รุ่นลูกก็มี เป็ดน้อยคงอยู่คู่โลกไปอีกนาน เราชอบงานภาพของคุณสะอาด นานๆ จะเห็นคาแรกเตอร์แบบไทยที่ง่าย น่ารัก และเป็นมิตร เราเลยชวนให้เขามาเขียน อยากให้เด็กได้รู้จักตัวการ์ตูนน่ารักแบบนี้ ญี่ปุ่นมีโดราเอมอน ฝรั่งมีโดนัลด์ ดั๊ก มิกกี้ เมาส์ หมีพูห์ แล้วของไทยล่ะ เราคิดว่าเป็ดยางน่ารัก เด็กดูแล้ววาดเองได้และเป็นเรื่องใกล้ตัว เด็ก 1-2 ขวบก็รู้จักเป็ดน้อยลอยกะละมังแล้ว


เราต้องระวังไหมว่า เรื่องไหนที่ควรพูดกับเด็ก เรื่องไหนไม่ควรพูดกับเด็ก เพราะบางคนมองว่าไม่ควรเอาเรื่องการเมืองไปคุยกับเด็ก

ตอนเราเป็นครูที่ซิลิคอนวัลเลย์ เมื่อ 20 กว่าปีก่อนเกิดคำถามว่า เราจะสอนคอมพิวเตอร์ให้เด็กได้ไหม สุดท้ายเขาลองสอนเด็กระดับอนุบาล ให้เด็กไปแล็บคอมพิวเตอร์อาทิตย์ละครั้ง คอมพิวเตอร์เป็นแค่เครื่องมือ อยู่ที่ว่าคุณจะสอนอะไร จะพูดคุยอะไรกับลูกต่างหาก

ถ้าคุณคิดว่าเด็กไม่ควรรู้เรื่องนี้ อย่างตอนเรามีประจำเดือนครั้งแรกก็ไม่มีความรู้เลย ตกใจว่าทำไมมีเลือดไหลออกมา ต้องถามพี่ แล้วทำไมเราไม่ให้เด็กรู้มาก่อนล่ะ เราคุยเรื่องนี้กับลูกตั้งแต่เขาอยู่ ป.2 เราเอาตุ๊กตาหมีให้พ่อกับลูกคนละตัว บอกว่าสักวันลูกจะมีเมนส์นะ ให้ทั้งพ่อและลูกลองใส่ผ้าอนามัยแบบแผ่น ทั้งสามคนเอาแถบกาวติดตุ๊กตาหมี ขนาดพ่อยังไม่รู้เลยว่าต้องใช้อย่างไร พอคุยเรื่องนี้กับลูกแล้วเขาก็เข้าใจว่าวันไหนเราปวดท้องไปไหนไม่ไหวเพราะอะไร อยู่ที่ว่าเราจะสื่ออะไรกับเขา

หนังสือก็เป็นสื่อให้พ่อแม่ได้คุยกับลูก อย่างหนังสือชุดนี้พ่อแม่ก็ส่งความเห็นมาว่าลูกชอบเรื่อง ‘แม่หมิมไปไหน?’ เพราะเห็นแมวตัวใหญ่กว่าคน ถ้าถามเด็กทั่วไปว่ารักแมวหรือรักแม่ เด็กจะตอบว่ารักแมว (หัวเราะ) พอเห็นแมวตัวใหญ่กว่าผู้ใหญ่เขาก็ชอบเลย เรื่อง ‘เป็ดน้อย’ เด็กก็ชอบ เราไม่ต้องเล่าอะไรก็ได้ วันไหนถ้าเขาอ่านออกเองแล้วไม่ชอบก็จะเก็บไปเอง เราบังคับให้เขาอ่านไม่ได้

พ่อแม่ที่ซื้อไปเขาส่งรูปลูกมา พอมีดรามาเราต้องลบรูปเด็กออกจากเพจ กลายเป็นว่ารูปเด็กถือหนังสือกลายเป็นความไม่ปลอดภัยของประเทศนี้เหรอ น่าเศร้า

หนังสือเป็นสื่อให้พ่อแม่พูดคุยกับเด็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก อยู่ที่วิจารณญาณของพ่อแม่ว่าตอนนี้อยากให้ลูกอ่านเล่มไหน มีบ้านหนึ่งที่เด็กบอกว่ากลัวหน้าปกเรื่อง ‘ตัวไหนไม่มีหัว’ เพราะม้าฟันโต ถ้าน่ากลัวก็ยังไม่ต้องอ่าน แต่ดีที่เด็กได้แสดงความเห็น เราไม่ได้บังคับให้เขาอ่าน ถ้าคุณบังคับว่าเขาต้องอ่านเล่มไหน แล้วกรอบเล็กลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายเด็กจะรักการอ่านเหรอ ถ้าถูกบังคับให้อ่านเล่มที่ไม่อยากอ่าน


คิดว่าหนังสือชุดนี้มีความเป็นการเมืองอยู่แค่ไหน หรือว่าต่อให้มีความเป็นการเมืองก็ไม่เป็นอะไร

ถามว่าคำว่า ‘การเมือง’ คืออะไร การเมืองอยู่รอบตัวเรา ตอนลูกคนแรกเกิดเราลาคลอดไม่ได้ แล้วรัฐบาลเปลี่ยนกฎหมายในสมัยคลินตัน ตอนลูกคนที่สองเราเลยลาคลอดได้ การเมืองอยู่กับเราตั้งแต่เกิด มีความพยายามสร้างภาพว่าการเมืองแย่ นักการเมืองเลว ทั้งที่ไม่ใช่ ทุกอย่างมีทั้งสองด้าน ในทุกวงการมีทั้งดีและไม่ดี เช่นเดียวกับการเมือง ในเมื่อมันเกี่ยวพันกับเราแล้วจะไม่ให้เขารู้จักเลยเหรอ ไปดูหนังสือเด็กทั่วโลกเขาเรียนเรื่องการเมือง เรื่องนายกฯ อยู่ในหลักสูตร ที่อเมริกาเรียนเรื่องทาสตั้งแต่สามขวบ มีหนังสือ Rosa Parks เพลง Follow the Drinking Gourd ก็เป็นเพลงที่เด็กร้องตอนอนุบาล มีงานประจำปีกันอย่างสนุกเป็นเรื่องจับต้องได้

ถามว่ามีเรื่องการเมืองไหม มีกี่เปอร์เซ็นต์ น่าเป็นห่วงไหม เราคิดว่าแล้วแต่คนเลย หนังสือนี้เราไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการเมือง เราอยากให้มีหนังสือที่มีความหลากหลายผุดขึ้นมา ชอบหรือไม่เป็นอีกเรื่อง เราจึงอยากได้ยินเสียงคนอ่าน ถ้ามันดีจะได้มีคนเขียนแนวอื่นบ้าง เชื่อว่าคนทำหนังสือเด็กของไทยมีฝีมือกันเยอะ มีความสร้างสรรค์ แต่พอทำแล้วมีหมายเรียกมา อย่างนี้คนอื่นจะกล้าทำไหม เราเป็นห่วงคนเขียนคนวาดทั้งหมด เราทำอย่างตั้งใจดีไม่คิดว่าจะเป็นประเด็น

ถ้าท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงสงสัย ขอให้อ่านก่อน คนที่ใช้คำใหญ่ๆ บอกว่าเป็นหนังสือล้างสมอง ทำให้เกิดความแตกแยก หนังสือออกมาแค่ไม่กี่อาทิตย์จะไปล้างสมองใครได้ ที่สำคัญคือคุณเปิดอ่านหรือยัง เราเขียนหนังสือสู่สาธารณะ พร้อมจะรับทั้งดอกไม้และก้อนหิน แต่ไม่พร้อมรับข้อหาและหมายต่างๆ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วกระทรวงศึกษาฯ ตรวจสอบหนังสือเด็กในตลาดทั้งหมดไหม หน้าที่ของกระทรวงศึกษาฯ ต้องสนใจระบบโรงเรียน การศึกษา พัฒนาหลักสูตร แบบเรียน อบรมครู เดี๋ยวนี้มาไล่บี้หนังสือเด็กที่เพิ่งออกมาสองอาทิตย์ แล้วอีกหน่อยคนจะกล้าทำอะไรล่ะ จะแช่แข็งหนังสือเด็กไทยเหรอ นี่คือเรื่องสิทธิในการอ่าน คุณจะให้อ่านแค่หนังสือบางแนวเหรอ

อย่างเรื่อง ‘แม่หมิมไปไหน’ สิ่งที่เราอยากสื่อคือเรื่องการให้ ความเห็นอกเห็นใจกัน เราเพิ่งส่งเรื่องนี้ไปให้สมาคมหนังสือเด็กสิงคโปร์พิจารณาเพื่อเป็นหนึ่งในหนังสือเด็กอาเซียนออนไลน์ ซึ่งจะมีประเทศละสิบเรื่อง เขาเน้นหนังสือเรื่องความเห็นอกเห็นใจ ความใส่ใจ และการหยัดยืน เรามั่นใจว่าเรื่องดี ภาพสวย เราจึงกล้าส่งไปให้พิจารณา เรานำเสนออย่างภูมิใจ ไม่คิดว่ามีอะไรไม่ดีแบบที่เขากล่าวหา

การที่มีหมายเรียกมา คนวาดก็ถามว่าถ้าโดนหมายจะทำอย่างไร ครอบครัวเขาตกใจ ที่ทำงานของเขาก็ถาม ขอร้องว่าถ้ามีอะไรให้มาคุยกับเรา โปรดให้มีเมล็ดพันธุ์ของการทำอะไรใหม่ๆ ที่หลากหลายเกิดขึ้นบ้าง อย่าแช่แข็งกัน หมียังอยู่ที่ขั้วโลกเหนือได้เลยเพราะยังมีความอบอุ่นอยู่บ้าง เพนกวินก็อยู่ที่ขั้วโลกใต้ได้ หนังสือเด็กของไทยอย่าให้เป็นยิ่งกว่าขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้เลย ให้เราได้เติบโตเถอะ ให้เราได้หายใจ เขาอาจคิดว่าทำด้วยความหวังดี แต่อย่าผูกขาดความหวังดี เพราะเราก็เชื่อว่าเราทำด้วยความหวังดี ตลอดชีวิตเราเป็นครู ทำงานหนังสือกับเด็ก เราไม่เคยค้าแป้ง ฉะนั้นอย่ากล่าวหากัน อย่ามองกันเป็นศัตรู ถ้าสนใจก็อ่านหนังสือแล้วมาคุยกันตรงๆ


หนังสือชุดนี้ราคาถูกกว่าหนังสือเด็กในท้องตลาดมาก อะไรทำให้ขายราคานี้ได้

เรามีนักเขียนที่ชื่นชมคือ วาณิช จรุงกิจอนันต์ วัฒน์ วรรลยางกูร และโบตั๋น ตอนเราเป็นครูเด็กกะเหรี่ยงก็เขียนเรื่องแล้วได้ลงสตรีสารที่คุณโบตั๋นเขียนอยู่ พอมีต้นฉบับเราก็ส่งไปสำนักพิมพ์ชมรมเด็กของคุณโบตั๋น เพราะเขาทำหนังสือถูก เข้าถึงได้ทุกคน เราอ่านเรื่อง ‘ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด’ ‘แวววัน’ แล้วเห็นว่าคนเล็กๆ อย่างเราก็สู้ชีวิตได้

เราเป็นลูกคนจน กว่าจะมีหนังสือได้คือตอน ม.2 ต้องเขียนเรียงความไปประกวด ทำไมหนังสือจึงแพงขนาดนั้น ยิ่งเห็นหนังสือเด็กยุคนี้แปลมาจากต่างประเทศขายเล่มละเกือบสามร้อย เราเขียนต้นฉบับส่งไปสำนักพิมพ์ไหนก็จะขอแค่ว่าให้ปรู๊ฟคำให้ถูก ไม่สลับหน้า และขอให้หนังสือราคาถูก ไม่เอาปกแข็ง ไม่เอาป็อปอัป เพราะอยากให้คนได้อ่านเยอะๆ

พอทำหนังสือชุดนี้เราจึงตั้งใจทำหนังสือถูก ที่ขายถูกได้เพราะเราเป็น บก. เอง เขียนเองหกเรื่อง นักเขียนนักวาดก็ทำงานแบบแทบจะเป็นงานอาสาแล้ว ค่าใช้จ่ายที่แพงคือค่าพิมพ์ แต่เราเข้าใจเพราะช่วงโควิดท่าเรือปิด กระดาษแพง สิ่งสำคัญคือเราไม่ได้ส่งสายส่ง ถ้าส่งจะโดนหักหลายเปอร์เซ็นต์ เราตั้งใจจะทำให้หนังสือถูก ขายเองเป็นแอดมินเอง มีเพื่อนมาช่วยแพ็กหนังสือ ทำด้วยใจอยากให้คนได้อ่าน

เราเข้าใจคนที่ขายหนังสือแพงนะ ร้อยกว่าบาทยังเข้าใจ แต่หนังสือเด็กสองร้อยกว่าบาทคืออะไรเหรอ ค่าแรงขั้นต่ำก็ซื้อไม่ได้ แล้วคุณจะให้เด็กไทยอ่านอะไร

เมืองไทยไม่มีระบบห้องสมุดแบบในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปีที่ผ่านมามีโควิด การพิมพ์หนังสือก็น้อยลง กระดาษแพง เศรษฐกิจไม่ดี หนังสือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย แต่ที่ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา เวลามีแผ่นดินไหวหรือน้ำท่วมอาจทำให้สินค้าอื่นขายไม่ดี แต่ที่ขายดีคือหนังสือ เพราะเขามีระบบห้องสมุด ตอนเราอยู่อเมริกาเขาให้ยืมหนังสือได้ 6 เดือน ไม่จำกัดจำนวน ไปเจอครั้งแรกตกใจมาก เอากระเป๋าเดินทางไปยืมหนังสือกลับมาเลย แล้วสามารถบอกเขาได้ว่าอยากได้เล่มไหน ถ้าจองไปสองอาทิตย์ยังไม่มา ห้องสมุดต้องซื้อหนังสือเล่มนั้นมาเพิ่ม ช่วงเกิดภัยพิบัติ เช่น พายุ คนอยู่ติดบ้านมากขึ้นและอยากประหยัดเงิน สิ่งที่เขาทำคือยืมหนังสือห้องสมุด ถ้ามีคนต้องการอ่านมาก ห้องสมุดก็ต้องซื้อหนังสือเพิ่ม สำนักพิมพ์ขายตรงให้ห้องสมุดเขาก็อยู่ได้

ถ้าไทยมีระบบห้องสมุดหรือมีกฎหมายประกันว่าถ้าพิมพ์หนังสือออกมาแล้วมีแหล่งให้ขายตรงได้เลยจำนวนหนึ่งโดยไม่ต้องผ่านสายส่ง คนทำหนังสือก็จะอยู่ได้ จะทำให้เกิดการเติบโตและงอกงาม หนังสือไทยอาจส่งออกได้ด้วย เราดีใจที่มีคนแปลหนังสือต่างประเทศเยอะ แต่ก็อยากให้แปลหนังสือไทยเป็นภาษาอื่นด้วย ปัจจุบันยังมีน้อยมาก อยากให้หนังสือไทยเป็นที่รู้จัก


ในมุมมองของคุณ หนังสือเด็กที่ดีควรเป็นอย่างไร

ไม่มีหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง แล้วแต่ว่าเด็กวัยไหน อย่างเราชอบเรื่อง ‘บึงหญ้าป่าใหญ่’ ของ เทพศิริ สุขโสภา มากเลย ชอบเรื่อง ‘คือรักและหวัง’ ของวัฒน์ ตอนอยู่ ป.5 ก็ชอบ ‘ขุนช้างขุนแผน เล่ม 2’ ท่องได้เยอะเลยเพราะเราชอบกลอน ไม่มีหนังสืออะไรที่จะดีและสมบูรณ์แบบสำหรับทุกคนทุกเพศทุกวัย อย่างพระคัมภีร์เก่าของยิวอายุห้าพันกว่าปี พระไตรปิฎกอายุสองพันกว่าปี ไบเบิล อัลกุรอาน เราจะบอกได้ไหมว่าคัมภีร์เหล่านี้ดีสำหรับทุกคนทุกเพศทุกวัยในทุกวัน ไม่มีความสมบูรณ์แบบอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่ดีไปหมดหรือเลวไปหมด

ความหมายของหนังสือเด็กที่ดีแบบกว้างๆ ในมุมมองของเราคือต้องอ่านสนุก ช่วยให้เด็กรู้สึกว่าโลกนี้สนุก สำหรับเด็กเล็กต้องทำให้รู้สึกว่าฉันทำโน่นนี่เองได้ ใส่กางเกงเองได้ ไปโรงเรียนเองได้ไม่ร้องหาแม่ โตขึ้นมาอีกหน่อยเด็กอาจชอบอ่านเรื่องพ่อมดแม่มด เจ้าหญิง เจ้าชาย มังกร โตขึ้นอีกหน่อยเด็กเริ่มมองหาฮีโร่ เช่น เขาอาจชอบอ่านเรื่องนักฟุตบอล อย่างเราชอบนักวิทยาศาสตร์ก็อ่านเรื่องกาลิเลโอ ตอนเด็กเราอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่คิดไม่ออกว่าทำไมไม่มีนักวิทยาศาสตร์ไทย กาลิเลโอเป็นคนแรกที่ทำกล้องดูดาว ที่บ้านเราซื้อกล้องดูดาวให้สามีดูกับลูก ได้เห็นพระจันทร์สี่ดวงของดาวพฤหัสฯ เห็นวงแหวนของดาวเสาร์ โอ้โห! โลกไปไกลขนาดนี้แล้วเหรอ หนังสือเด็กต้องทำให้เรารู้สึกว่า ว้าว! โลกนี้ยังมีอะไรอีกนะ นอกจากการพับผ้า กรอกน้ำ เตรียมสอบวันพรุ่งนี้ พอเราโตมาหน่อยก็อ่านเจอหนังสือมันๆ อีกเยอะ เป็นไปตามวัย แล้วแต่ช่วงเวลาของเรา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save