fbpx
เรื่องของ ‘การเขียน’ ในยุคโซเชียลมีเดีย (ที่มากกว่าดราม่า ‘คะ/ค่ะ’)

เรื่องของ ‘การเขียน’ ในยุคโซเชียลมีเดีย (ที่มากกว่าดราม่า ‘คะ/ค่ะ’)

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ดราม่าการใช้ ‘คะ/ค่ะ’ ผิดดูเหมือนจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ยุคหนึ่งถึงขั้นมีแคมเปญรณรงค์ “นะค่ะไม่มีในโลก” หรือทุกวันนี้ในกระทู้พันทิปหากใครใช้ผิดก็จะมีคนมาคอยทักท้วงเสมอ หรือการเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนตามเพจเฟซบุ๊กบางทีก็ดันไปลงเอยด้วยประโยคทำนองว่า “ก่อนจะมาเถียงฉันเนี่ย หัดใช้ภาษาไทยให้ถูกก่อนเถอะ” (อ้าว)

เหยื่ออธรรมลำดับต้นๆ ของการใช้ภาษาไทยผิดมักจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ (พยายามเลี่ยงคำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ เพราะไม่อยากถูกมองเป็นผู้ใหญ่กะโหลกกะลา) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วน้องๆ ที่เขียนภาษาไทยผิดก็มีเยอะจริงๆ นั่นแหละ ล่าสุดผมเพิ่งเจอนักศึกษาหลังไมค์เฟซบุ๊กมาว่า “ขออณุญาตินะครับอาจาน คะแนนผมไม่ถึงเกรน ช่วยผมด้วย” เจอ ‘อณุญาติ’ กับ ‘อาจาน’ เข้าไปก็ปวดใจแล้ว แต่ ‘เกรน’ นี่ทำเอามึนตึ้บ ใช้เวลาวิเคราะห์อยู่ 5 วินาทีถึงจะเข้าใจว่าคือคำว่า ‘เกณฑ์’ โอ๊ย ตาย อ่านแล้วไมเกรนกำเริบ

มีความพยายามวิเคราะห์กันมาหลายปีแล้วว่าทำไมน้องๆ ถึงเขียนภาษาไทยผิดกันมาก ข้อสันนิษฐานมีอยู่ว่า เด็กรุ่นใหม่อ่านหนังสือน้อยลง เมื่อไม่มี input ของภาษาไทยที่ถูกต้อง ก็เลยไม่มี output ของการเขียน บ้างก็ว่าเพราะเด็กสมัยนี้ (อ้าว เผลอใช้คำนี้จนได้) หมกมุ่นอยู่กับทวิตเตอร์ที่ไม่ได้มีความเคร่งครัดด้านภาษามากนัก

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนสนใจคือเรื่องของอนาคตมากกว่า ผมชอบพูดกับเพื่อนเสมอว่าโลกยุคที่ทุกคนเลิกควบกล้ำ ร.เรือ แบบในนิยายเรื่อง ‘ชิทแตก’ ของปราบดา หยุ่น มีสิทธิเกิดขึ้นในภายในเร็ววันนี้ เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ของยุคสมัยที่คนจะไม่ใส่ใจความต่างของ ‘คะ/ค่ะ’ อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้จะถูกกำหนดด้วยเจเนอเรชั่นต่อไป หาใช่คนแก่อย่างพวกเรา

แต่ถ้าพูดแบบแฟร์ๆ ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่หรอกที่ใช้ภาษาไทยผิด จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม อาชีพที่เขียนคำผิดอันดับต้นๆ คือคนที่ทำงานพีอาร์ ใช่ครับ ตำแหน่งประชาสัมพันธ์ที่ต้องสื่อสารกับคนอื่นนี่แหละ ทุกครั้งที่ได้รับจดหมายข่าวหรือการแจ้งข่าวผมจะต้องเจอคำผิดเสมอ หรือถ้าคุยไลน์กับพีอาร์ เตรียมใจไว้เลยว่า 80% จะต้องเจอการใช้คะ/ค่ะที่สับสนปนเป จนบางทีเราเริ่มงงว่า เอ๊ะ ตกลง ‘นะคะ’ กับ ‘นะค่ะ’ อันไหนกันแน่ที่ถูกวะ (ฮา)

นอกจากเรื่องการเขียนแล้ว อีกประเด็นที่ผมรู้สึกเอะใจค่อนข้างมากในช่วงหลังคือเรื่องของการสื่อสาร เดี๋ยวนี้เวลาเราจะติดต่อหน่วยงานหรือร้านค้าใดๆ ก็มักใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก ซึ่งถ้าเป็นองค์กรใหญ่ๆ อย่างสายการบินแห่งชาติหรือบริษัทประกันชื่อดัง ก็มักจะตอบอย่างสุภาพและรอบคอบ มีแบบฟอร์มชัดเจน ขึ้นต้นว่า “เรียนคุณ…” ลงท้ายว่า “ด้วยความเคารพอย่างสูง”

ผมเองไม่ได้คาดหวังความพินอบพิเทาอะไรนักหรอก แต่พวกร้านค้าระดับกลางหรือย่อยบางทีก็ตอบห้วนจนเราตกใจ เช่นถามไปว่า กี่บาทครับ แม่ค้าก็ตอบมาสั้นๆ ว่า “300 บาท” แอบรู้สึกว่า เอ เพิ่มคำว่า ‘ครับ’ หรือ ‘ค่ะ’ เข้าไปสักนิดก็ไม่น่าจะลำบากอะไรนี่นา เพื่อนบางคนบอกว่าผมจู้จี้หัวโบราณ ข้อความแชทมันไม่มีน้ำเสียงนะ อย่าไปคิดมากสิ แต่ผมกลับคิดว่าการแชทนี่ควรจะ ‘เพิ่มน้ำเสียง’ ให้น่ารักกว่าปกติ จะมองว่า ‘เฟค’ ก็ได้ แต่เพื่อให้บรรยากาศของการสนทนาเป็นไปด้วยดี

อีกกรณีที่เจอคือการสื่อสารที่ออกแนวเซอร์ไปเลย ไม่แน่ใจว่าเราไม่เข้าใจเขา หรือเขาไม่เข้าใจเรา อย่างล่าสุดผมไลน์ไปถามร้านปิ้งย่างว่าหยุดช่วงสงกรานต์หรือไม่ โดยร้านนี้เขาจะมีวันหยุดประจำคือวันจันทร์

ผม: “รบกวนสอบถามนิดนึงคร้าบ ช่วงสงกรานต์ร้านเปิดมั้ยครับ”

ร้าน: “ร้านเราหยุดทุกวันจันทร์ครับ”

ผม: “……”

คือรู้แล้วว่าร้านปิดวันจันทร์ แต่อยากรู้ไงว่าสงกรานต์เปิดหรือเปล่า! ส่งให้เพื่อนดูก็ตีความได้ว่าเขาต้องการสื่อว่าช่วงสงกรานต์เปิดปกติ แต่หยุดวันจันทร์นะ โธ่ งั้นก็พิมพ์เพิ่มมาอีกนิดสิว่า “ช่วงสงกรานต์เปิดครับ” แค่นี้เอง ดอกพิกุลจะร่วงหรือไง ฮือ เหนื่อยใจ

ที่ว่าไปทั้งหมดจะเป็นเรื่องการเขียนผิด-สื่อสารพลาดในระดับที่เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ที่จริงยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องระดับกว้างและน่าจะซีเรียสพอสมควร นั่นคือเรื่องข่าว/บทความในยุคออนไลน์

อย่างที่ทราบกันดีว่าสื่อสิ่งพิมพ์แทบจะดับสูญไปหมดแล้ว ตัวผมเองก็แทบจะเขียนทางออนไลน์เกือบ 100% ซึ่งสิ่งที่พบประจำคือการเขียนผิดครับ อันนี้เจอทั้งในบทความของตัวเองและเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวออนไลน์ชื่อดัง เรียกได้ว่าบทความไหนที่ไม่มีเขียนผิดเลยนี่แทบจะเป็นปาฏิหาริย์

แล้วทำไมบทความออนไลน์ถึงเขียนผิดกันเก่งเหลือเกิน อันนี้ผมว่ามีหลายสาเหตุด้วยกัน หนึ่งคือมันเป็นยุคที่ทุกคนแข่งกันเร็วครับ ข่าวล่ามาแรง เช่น ดาราคนนั้นคนนี้ติดยาหรือท้องก็ต้องรีบลงด้วยความเร็วแสง หรือไปดูหนังรอบสื่อมา กลับบ้านคืนนั้นก็ต้องรีบโพสต์เลย การตรวจนี่อาจจะทำได้แค่รอบเดียว

สองคือ เท่าที่ผมทราบ มีเว็บไซต์บทความออนไลน์ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีตำแหน่งพิสูจน์อักษรอย่างเป็นเรื่องเป็นราว นอกนั้นจะเป็นให้กองบรรณาธิการหรือคนอัพโหลดบทความช่วยอ่านสักรอบหนึ่ง (บางที่ไม่มีการตรวจก่อนด้วย นักเขียนส่งไปแบบไหนก็อัพลงเว็บแบบนั้นเลย) ซึ่งการตรวจคำผิดในบทความนี่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ นะครับ บางคำถ้าอ่านผ่านๆ ก็หลุดง่ายดาย เช่น ‘จำกัด’ กับ ‘กำจัด’ หรือบางคำก็ไม่แน่ใจว่าเขียนแบบไหนกัน เช่น ‘เสร่อ’ หรือ ‘สะเหล่อ’ (คำที่ถูกคืออันหลังครับ)

แต่เหตุผลสำคัญ (และเป็นข้อที่น่ากลัวที่สุด) คือนักเขียนและกองบรรณาธิการบางทีจะคิดว่า “เฮ้ย บทความออนไลน์ ผิดเดี๋ยวก็ค่อยมาแก้ทีหลังได้” เป็นที่มาของการตรวจทานที่อาจจะไม่ได้เคร่งครัดนัก อ่านแค่รอบเดียวพอ หรืออย่างตัวผมเองหลังจากบทความโพสต์ไปแล้ว ก็มักจะส่งให้เพื่อนๆ อ่านแล้วหาคำผิด นี่ก็เป็นกระบวนการ “แก้ทีหลัง” เหมือนกัน

น่าสนใจดีว่าสมัยที่ยังเป็นยุค Printed Media การตรวจทานคำผิดเป็นอะไรที่จริงจังมาก บ.ก. มักจะสอนเราว่านิตยสารหรือพ็อกเก็ตบุ๊คเนี่ยมันอยู่ได้เป็นร้อยปีนะ ถ้ามีคำผิดมันก็จะอยู่ไปร้อยปีเลย แต่พอเป็นยุคออนไลน์ที่แก้ย้อนหลังได้ สปิริตความจริงจังเหล่านั้นก็เลยหย่อนยาน ทั้งที่ความจริงแล้วบางที ‘ความผิดพลาด’ ในยุคออนไลน์ก็ร้ายแรงกว่ามาก เช่น ถ้าเผลอเขียนผิดจนกลายเป็นเรื่องตลกหรือมีคำหยาบหลุด ชาวเน็ตก็จะแคปส่งต่อกันจนเป็นไวรัลดังทั่วประเทศ แถมผ่านไปอีกห้าปีสิบปีก็ยังกูเกิ้ลเจอเคสนี้ได้

ดังนั้นสื่อสิ่งพิมพ์กับออนไลน์อาจจะไม่ต่างกันเท่าไรในแง่ที่ว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นมันก็จะคงอยู่ไปตลอดกาล (ถ้ามีมือดีแคปทันน่ะนะ)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save