fbpx
สัมผัส LGBTQ ในเอเชีย ผ่านนิทรรศการศิลปะ ‘SPECTROSYNTHESIS II’

สัมผัส LGBTQ ในเอเชีย ผ่านนิทรรศการศิลปะ ‘SPECTROSYNTHESIS II’

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

น้อยครั้งนักที่เราจะมีโอกาสฟังเสียงคนต่างประเทศเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศผ่านประสบการณ์หรือความนึกคิดส่วนตัว หากไม่ได้รู้จัก ไม่ได้เป็นเพื่อนกับคนต่างชาติ การติดตามจากข่าวหรือสื่อออนไลน์อาจทำให้เรารับรู้ความเคลื่อนไหวของ LGBTQ ในภูมิภาคจากมุมไกลๆ เท่านั้น แต่งานนิทรรศการศิลปะงานหนึ่ง ทำให้เรามีโอกาสสัมผัสเรื่องราวของ LGBTQ ในเอเชียในมุมที่ใกล้ชิดขึ้น

นิทรรศการที่ว่าคือ ‘สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์’  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia) นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่สะท้อนประเด็นความหลากหลายทางเพศ โดยจัดแสดงงานของศิลปินจำนวน 59 คน จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใกล้เคียง เช่น ไทย เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อินเดีย ฮ่องกง ไต้หวัน

นิทรรศการนี้ตั้งใจส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็น LGBTQ และสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคผ่านศิลปะ การเดินชมนิทรรศการจึงคล้ายการแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับเพื่อนต่างถิ่น บางคนเล่าเรื่องส่วนตัว บางคนระบายความอึดอัดต่อโครงสร้างสังคม แม้วิถีชีวิตและเอกลักษณ์ในบางพื้นที่จะใกล้เคียง แต่ละคนก็ได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับต่างกัน และแม้บางคนจะอยู่ต่างที่ ต่างวัฒนธรรม แต่กลับเจอเรื่องราวที่เราเข้าอกเข้าใจ ราวกับเห็นตัวเองอยู่ในนั้น

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

SPECTROSYNTHESIS เป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่เดินทางไปตามประเทศต่างๆ โดยนิทรรศการจัดตั้งที่กรุงเทพฯ เป็นจุดที่สองต่อจาก กรุงไทเป ไต้หวัน (SPECTROSYNTHESIS Asian LGBTQ Issues and Art Now) เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นนิทรรศการที่โด่งดังมากในขณะนั้น

แม้ไต้หวันจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน แต่งานศิลปะของ ชู ฮุ่ยหยวี่ (Su Hui-Yu) ศิลปินชาวไต้หวันที่เข้าร่วมนิทรรศการนี้ จะนำเราย้อนไปยังไต้หวันเมื่อปี 2001 ที่ความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับ และข่าวโด่งดังของ LGBTQ ในช่วงนั้นคือข่าว ‘ศพในกระเป๋าเดินทาง’

ในห้องแคบๆ ภาพเคลื่อนไหวของชายหนุ่มคนหนึ่งปรากฏบนจอขนาดใหญ่ เขามีถุงพลาสติกใสครอบหัว และกำลังหอบหายใจผ่านถุงใบนั้น เชื่องช้า เนิ่นนาน ชวนอึดอัดจนผู้ชมต้องจับจ้องลมหายใจต่อลมหายใจ ถัดไปจากภาพนี้ เป็นภาพเคลื่อนไหวของชายสองคน หนึ่งในสองเป็นร่างไร้ชีวิต ที่ถูกชายอีกคนค่อยๆ อุ้ม ยก และพยายามจะบังคับมือไม้อันขืนแข็งยัดลงกระเป๋าเดินทาง

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

ปี 2001 ชายวัยรุ่นคนหนึ่งถูกพบในสภาพเสียชีวิต ร่างกายถูกยัดไว้ในกระเป๋าเดินทางสีดำ เมื่อตำรวจดำเนินการสืบสวนก็พบว่า เขามีเพศสัมพันธ์กับชายอีกคนที่พบกันในเว็บไซต์สำหรับผู้มีรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ชายผู้นั้นใช้ชื่อในโลกออนไลน์ว่า Ne Quan เขาได้ฆ่าผู้เสียชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจ จากการทำ autoerotic asphyxiation หรือ การสำเร็จความใคร่ด้วยการขาดอากาศหายใจ และตัดสินใจซ่อนผู้เสียชีวิตในกระเป๋าเดินทาง

เหตุการณ์นี้ทำให้สื่อมวลชนไต้หวันในอดีตขุดคุ้ยเรื่องรสนิยมทางเพศแบบ BDSM และประเด็นรักร่วมเพศ หลังจากอัตลักษณ์ทางเพศของชายในข่าวกลายเป็นเป้าสายตา และถูกวิจารณ์อย่างหนักในสังคม ภายหลังสื่อมวลชนจึงค่อยๆ เริ่มนำเสนอเรื่องจิตวิทยาทางเพศ และการประณามบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศตามมา

ข่าวดังกล่าวยังทำให้ศิลปินเชื่อมโยงกับตัวเองที่มักฝันว่าก่อเหตุฆาตรกรรมหลายต่อหลายคดี และตื่นจากฝันด้วยความรู้สึกผิดและหวาดกลัว งานศิลปะนี้จึงสะท้อนภาพความฝันที่บรรจบกับความจริง เพื่อให้ผู้ชมได้ไตร่ตรองเรื่องเพศ และการวิจารณ์จริยธรรม โดยศิลปินตั้งชื่อผลงานว่า Ne Quan ชื่อในโลกออนไลน์ของชายในข่าว

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

อีกผลงานที่น่าสนใจคือ ภาพถ่ายบุคคลโดยศิลปินชาวอินโดนีเซียนามว่า ยอปปี ปีเตอร์ (Yoppy Pieter) บุคคลในภาพชุดนี้กว่า 10 ชีวิต เป็น LGBTQ ชาวมุสลิมที่แสดงอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างชัดเจน แม้จะอาศัยอยู่ในสังคมที่หวาดระแวงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ยอปปี ปีเตอร์ถ่ายภาพเหล่านี้จากการไปเยี่ยม ‘นักเรียน’ ที่โรงเรียนอิสลามอัลฟาลาฮ์ โรงเรียนซึ่งเคยเปิดให้นักเรียนที่เป็นคนข้ามเพศได้เข้ามาเรียน แต่เนื่องด้วยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก และมีประวัติศาสตร์ที่หลาดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้รัฐบาลมีมาตรการโจมตี LGBTQ อยู่หลายครั้ง และในปี 2559 องค์กรทางศาสนาองค์กรหนึ่งก็ได้ผลักดันให้รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งปิดโรงเรียนอิสลามอัลฟาลาฮ์แห่งนี้ รวมถึงสั่งห้ามกิจกรรมทางศาสนาทั้งหมดด้วย

ยอปปี ปีเตอร์ ได้ถ่ายภาพของ LGBTQ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ทั้งนักเรียน ไปจนถึงผู้ดูแล เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีผู้มีความหลากหลายทางเพศมากมายอยู่ในอินโดนีเซีย และพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อินโดนีเซียมาโดยตลอด ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในสังคม ยังเกี่ยวข้องกับบทลงโทษทางศาสนาที่มากขึ้น รวมถึงการห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมที่เป็น LGBTQ ประกอบศาสนกิจ งานศิลปะชิ้นนี้นอกจากจะบันทึกใบหน้าและอัตลักษณ์ของพวกเขาไว้แล้ว จึงส่งความรู้สึกเสียดายที่สัญลักษณ์ของความหลากหลายในพื้นที่ได้เลือนหายไปด้วย

“ฉันมักตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเราถึงถูกห้ามละหมาดทั้งที่เป็นมุสลิมเหมือนกัน”

“…ฉันเพียงยิ้มและตอบกลับไปอย่างนุ่มนวลว่าทำไมฉันถึงต้องถูกทำร้าย พวกเขาหารู้ไม่ว่า ความเป็นหญิงของฉันเป็นของขวัญจากพระเจ้า ซึ่งฉันรู้สึกขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง”

บางเสียงจากคนในภาพถูกบันทึกไว้ที่คำบรรยาย

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

ประติมากรรมขนาดสูงชิ้นหนึ่งแสดงภาพที่ถูกยืดขยาย จนมีลักษณะคล้ายม้วนกระดาษขนาดใหญ่ ชายกระดาษกองอยู่ที่พื้นทบกันไปมา เมื่อพิจารณาดูใกล้ๆ จะเห็นเป็นสีเนื้อของผิวหนัง และเห็นชายหลายคนอยู่ในภาพ แม้สัดส่วนร่างกายจะบิดเบี้ยวจากการยืด ก็ยังดูออกว่าร่างกายของพวกเขาเปลือยเปล่า

ใกล้ๆ กันมีรูปของชายหลายคนถูกเรียงร้อยสลับกัน ไม่อาจคงสัดส่วนหรือหน้าตาของใครไว้ และไม่รู้ว่าภาพต้นฉบับเป็นอย่างไร ภาพนี้มีลักษณะคล้ายพิกเซลหรือโมเสกจำนวนมากที่จัดวางต่อกัน แต่เช่นเคย สีเนื้อและอวัยวะที่โดดเด่นออกจากภาพ แสดงให้รู้ว่าภาพต้นฉบับคือชายหนุ่มที่ร่างกายเปลือยเปล่า

งานศิลปะนี้แสดงภาพที่แปลกตาและคุ้นตาในเวลาเดียว ไม่ใช่เพราะเคยเห็นภาพต้นฉบับมาก่อน แต่ภาพใดๆ เมื่อถูกนำมาตัดแต่งในลักษณะนี้ จะให้ความรู้สึกต้องห้าม ทำให้นึกถึงการเซ็นเซอร์ หรือการบดบังสิ่งที่ไม่อยากให้เราเห็น ซึ่งเราคุ้นเคยกันดี

เจ้าของผลงานประติมากรรมและภาพเหล่านี้คือ ดิญ คิว เล (Dinh Q. Lê) ศิลปินชาวเวียดนาม เขาตั้งใจจะเล่าเรื่องของผู้คนที่ลบเลือนไปจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยมีความเชื่อส่วนตัวว่า การปิดบัง ลบล้าง หรือจำกัดภาพเหล่านี้ไม่ให้มีผู้ใดรู้เห็น ถือเป็นการโน้มน้าวให้ผู้คนในสังคมเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง นำเสนอผ่านประติมากรรมที่ถูกทำให้บิดเบี้ยว และภาพที่ร้อยขัดกันไปมา เป็นเทคนิคที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิธีการทอเสื่อพื้นบ้านของเวียดนาม ทักษะที่ศิลปินได้เรียนรู้มาจากคุณป้าเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ภาพที่ศิลปินใช้สร้างผลงานทั้งสองรูปแบบมีที่มาหลากหลาย ทั้งจากสารคดี ภาพยนตร์ฮอลลีวูด กระทั่งภาพจากวัฒนธรรมเวียดนาม เมื่อจับคู่กับเทคนิคของศิลปิน ภาพจะสื่อสารกับเราว่า การเซ็นเซอร์ทำให้อัตลักษณ์ต่างๆ ผิดเพี้ยนไปอย่างไร

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

หนึ่งไฮไลต์ของนิทรรศการนี้ คือ ภาพถ่ายของ เยิ่น หาง (Ren Hang) ศิลปินชาวจีนผู้ล่วงลับ ภาพของชายหญิงในอิริยาบถที่แปลกประหลาด บางคนอยู่ในสภาพเปลือย บางร่างกายจัดวางอยู่ในท่าทางขัดกับชีวิตปกติ แม้สีสันของภาพจะสดใส แต่ภาพก็สื่อถึงการเดินทางตามหาตัวตน พร้อมกับสะท้อนความรู้สึกภายในของศิลปินที่ต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาตลอด ก่อนจะจากโลกนี้ไป

ครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น ผลงานของ เยิ่น หาง ถูกพูดถึงมาตลอดในสังคมจีน และเพราะผลงานของเขามักนำเสนอภาพนู้ด จึงตกเป็นเป้าการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลจีนอยู่เสมอ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดหยุดเขาจากการสร้างผลงานศิลปะได้ เขาถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า

“ผมไม่คิดว่าการเปลือยกายเป็นความท้าทาย มันเป็นเรื่องธรรมดาเลยละ ใครๆ ก็เปลือยกายกันทั้งนั้น ผมชอบที่ผู้คนเปลือย และชอบเซ็กซ์ด้วย ผมใช้ภาพนู้ดในงานของผมเพื่อที่จะรู้สึกสมจริง และรู้สึกถึงการมีตัวตน”

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

นอกจากศิลปินต่างประเทศแล้ว ในนิทรรศการยังมีผลงานของศิลปินชาวไทยจำนวนมาก ผลงานหนึ่งชิ้นที่สะดุดตาผู้คนในงานจนต้องแวะถ่ายภาพคือ ตุ๊กตาสีสันสดใสหลายตัวที่แสดงท่าทางแปลกประหลาด

ตุ๊กตาบางตัวถูกจัดให้ห้อยจากเพดาน บางตัวตั้งอยู่บนนั่งร้านขนาดสูง บางคู่กำลังทำท่าคล้ายมีเพศสัมพันธ์ โดยมีแสงนีออนจากหลอดไฟหลากสีเชื่อมโยงตุ๊กตาแต่ละตัวไว้  ไฟบางดวงถูกจัดวางในตำแหน่งสำคัญ หรือตำแหน่งของอวัยวะเพศ มองไกลๆ คล้ายว่าเจ้าตัวเล็กพวกนี้กำลังสนุกสนานอยู่กลางหอศิลป์ ทั้งน่ารักและแสบสันในคราวเดียว

ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า Der Nang Der โดย อดิศักดิ์ ภูผา ที่มองว่าสังคมจำกัดโครงสร้างเรื่องเพศไว้เพียงแค่เรื่องสืบพันธ์ หรือไม่ก็ลามกอนาจาร แต่กลับมองข้ามเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเพื่อความเพลิดเพลิน นอกจากนี้สังคมยังจำกัดการแสดงออกทางเพศของบุคคลที่ไม่ใช่เพศชาย-หญิง อีกด้วย ผลงานของเขาหยิบยืมองค์ประกอบมาจากประเพณีเชิดหุ่นกระบอกในภาคอีสาน ที่มีชื่อว่า ‘ลิงเด้า’ การแสดงพื้นเมืองที่มักเล่าเรื่องตลกพื้นเมืองหรือนิทานพื้นบ้าน พร้อมหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

อีกงานศิลปะที่งดงามและเป็นผลงานของศิลปินชาวไทย คืองานที่ชื่อว่า Welcome To My World, ‘Tee’ โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง ผลงานชิ้นนี้เปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวของศิลปินกับหญิงข้ามเพศที่เขารู้จักนามว่า ‘ตี๋’

ครั้งยังเป็นเด็ก แม่ของศิลปินได้ฝากเขาให้อยู่ในความดูแลของเพื่อนบ้านอดีตสาวบาร์ ที่มีลูกเป็นกะเทยชื่อ ‘ตี๋’ เธอมักจะถูกเรียกว่า ‘อีตี๋’ ซึ่งเป็นคำนำหน้าอันไม่สุภาพในสมัยนั้น ในความทรงจำของเขา ตี๋สวยจนประทับใจ สวยระดับนางงานนพมาศ สวยจนทำให้เขาปรารถนาจะเป็นเธอ หลายปีผ่านไป เขาได้รับรู้เรื่องราวของตี๋อีกครั้งหนึ่ง เมื่อตี๋ได้ปลิดชีวิตเพื่อปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของเขา จนได้ผันชีวิตเข้าสู่การเป็นศิลปินที่ชื่นชมการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ของผู้คนในสังคม

ศิลปินถ่ายทอดความงามของตี๋ออกมาผ่านภาพเคลื่อนไหว จอขนาดใหญ่แสดงภาพหญิงข้ามเพศคนหนึ่งที่นอนเปลือยกาย นางแบบผมยาวสลวยกำลังนอนโพสต์ท่า เธอขยับเล็กน้อย ม้วนปลายผมเล่นอย่างเอียงอาย แม้เธอยกแขนเล็กๆ นั่นจนเห็นกล้ามเนื้อปูดขึ้นเล็กน้อย ผิวพรรณของเธอก็ยังดูเนียนสวย เธอมีอวัยวะเพศชาย แต่ก็ไม่อาจบดบังสัดส่วนโค้งเว้าที่เธอมีเช่นกัน ภาพของเธอถูกจัดวางไว้ในหลายมุมมอง กายภาพที่ปรากฏแตกต่างกันออกไป ตี๋ในบางภาพอาจเป็นผู้หญิง แต่บางภาพก็มีอวัยวะที่บ่งบอกเพศกำเนิด

ว่ากันว่ายิ่งเราได้เห็นใครในหลายมุม คนๆ นั้นจะยิ่งเผยเสน่ห์ออกมา ภาพของตี๋ที่สร้างขึ้นโดยศิลปินก็เป็นเช่นนั้น และอาจเป็นความท้าทายเล็กๆ ให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตัวเองรู้สึก เมื่อมองกายภาพของร่างกายที่ปรากฏบนจอ เราสัมผัสถึงการแบ่งแยกบุคคลจากเพศหรือไม่

ศิลปะที่ยกมาพูดถึงในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิทรรศการ เป็นเรื่องราวของเพื่อนต่างถิ่นแค่บางคนเท่านั้น ยังมีผลงานจากศิลปินไทยและต่างประเทศอีกมากมายที่น่าสนใจ หากคุณใช้เวลาสัมผัสเรื่องราวของทุกคน ดูและชมศิลปะในนิทรรศการครบทุกชิ้น คุณอาจรู้สึกเหมือนได้เข้าใกล้โลกใบนี้มากขึ้นอีกหน่อย และเห็นความเคลื่อนไหวในประเด็นความหลากหลายทางเพศชัดขึ้น ไม่ว่าความชัดเจนนั้นจะเป็นน้ำหนักบนไหล่บ่า หรือเป็นความโล่งปลอดโปร่งที่หัวใจก็ตาม

'สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์'  (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia)

[box]

นิทรรศการสนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ : 23 พฤศจิกายน – 1 มีนาคม 2563 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 – 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

[/box]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save