fbpx
เสี้ยวเศษของเกษมสุข

เสี้ยวเศษของเกษมสุข

อุทิศ เหมะมูล เรื่อง

 

“อกหักอีกแล้วว่ะพี่” เปิดอ่านถ้อยคำในกล่องข้อความ

“ก็ดีแล้ว” ผมเขียนตอบ

ใจคอต้องเป็นคนแบบไหนกันจึงตอบน้องนุ่งได้แห้งแล้ง มีระยะ ขาดความรู้สึกร่วมและความเข้าอกเข้าใจได้เช่นนี้ บางทีบางคำก็เป็นเช่นนี้ ทิ้งเราลอยล่อง ปลดปล่อยเราคว้างไปในบรรยากาศของความหมายซึ่งอุ่นไอร้อนเสียดสีออกมาจากก้อนคำ – คล้ายอุกกาบาต

‘ก็ดีแล้ว’ ผมหมายความตามนั้นจริงๆ คุณอกหักเพราะหวังและรัก เคยมีหวังและรักเป็นอุ่นไอของก้อนคำ เคยทำให้คุณชื่นชมความกล้าหาญ รื่นรมย์ความเด็ดเดี่ยวของตัวเอง แล่นลิ่วระเริงไปด้วยใจเบิกบาน แต่คราวนี้จะเป็นผลกลับของความรัก ของสิ่งที่เคยมุ่งหวัง

“มันดีที่ได้อกหัก” ผมเขียนอธิบายเพิ่ม “อกหักคือผลของการที่คนเรายังมีหัวใจรักอยู่”

แค่หักน่ะกำลังดี เดี๋ยวดามใหม่ก็รักได้อีกครั้ง อย่าให้ถึงขั้นแตกยับ ร่วนร้าว หัวใจโหวงเป็นรูโพรงที่เติมยังไงก็ไม่เต็ม ปลูกลงไปยังไงก็ไม่เติบไม่โต

“อยากอกหักแบบนั้นบ้าง” ผมเขียนตอบ “มันคงจะดีมากๆ”

แค่ได้ยินผมก็รู้สึกระริกระรี้ เหมือนถูกสัมผัสด้วยอากาศเย็นวันแรกของปี เหมือนได้รับโปสการ์ดภาพเมืองแปลกหน้า เหมือนได้ฟังเพลงใหม่ๆ ที่แสนจับใจ ได้บิขนมปังอุ่นๆ สัมผัสเนียนนุ่มคำแรกของไอศครีมระหว่างลิ้นกับเพดานปาก วันแรกที่เดินทางไปถึงทะเล ความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะป่ายปีนภูเขา ระริกระรี้มุ่งหมายอยู่เช่นนั้น… ก่อนอากาศเย็นจะหนาวเยือก ก่อนเมืองแปลกหน้าจะคุ้นเคย ก่อนเพลงจะเริ่มซ้ำเก่า ก่อนจะกินขนมปังไม่หมดเพราะเอียนและเลี่ยน และเสียวฟันเพราะไอศกรีม ก่อนจะมองไม่เห็นทะเลเหมือนวันแรกที่ไปถึง ก่อนยอมรับว่าแพ้พ่าย ล้มเลิกกลางทางว่าป่ายปีนภูเขาไม่ถึงจุดหมาย… อัศจรรย์เช่นนี้แหละชีวิต ล้มแล้วยังลุกขึ้นได้ และอย่างน้อยที่สุด สำหรับผม คือมองย้อนกลับจากผลของความล้มเหลวและอกหัก ไปยังวันแรกๆ ที่ทำให้ใจรื่นเริงเบิกบาน จะต้องกลัวทำไมเรื่องเจ็บ จะจดจำเป็นอุทาหรณ์ทำไมเรื่องผิดหวัง แพ้พ่าย

ถ้ายังอกหักอยู่ก็แสดงว่ายังรักได้ อย่าพูดว่า ไม่เอาแล้ว พอแล้ว เติมความเหี่ยวเฉาลงในหัวใจ

 

ในฐานะของคนอายุมากกว่า ผมคิดว่าตัวเองแตกกราวร้าวร่วนมากกว่าอกหัก ไม่ได้จะอวดน้องว่าตนเจ็บลึกกว่า มันตัดสินกันไม่ได้หรอก เพียงอยากแบ่งปันกระบวนการทำความเข้าใจ มันอยู่ไม่ได้หรอก แต่ต้องอยู่กับมันให้ได้ ปฏิเสธไปมันก็ยังอยู่ตรงนี้ไม่หายไปไหน ทุกเวลานาที ทุกวัน ทุกเดือน กระบวนการยอมรับ ‘การมีอยู่’ ของสิ่งที่เคยมีอยู่ จากเสียใจจนทุกข์ขม ตีอกชกหัว เรียกร้องความสนใจด้วยการกร่อนทำลายตัวเอง หวงความสุขของคนที่เรารักไม่ให้ปันความรักให้คนอื่น ไม่ยอมปลดเขาจากใจ ทั้งๆ เราต่างปล่อยกันไปแล้ว

อาณาจักรของความรัก พื้นที่ของสรวงสวรรค์ลั่นแตกออกเป็นเศษเสี้ยว ทิ่มแทงและปักและบาด ทุกส่วนเสี้ยวคมหมด แตะต้องโดนส่วนใดก็เสียวแปลบกระตุกใจไหลซิบๆ ผมเปลี่ยนคนที่ไปจากผมแล้วไม่ได้ ส่วนที่อยู่กับตัวผมคือความทรงจำไหลหลั่งเข้มข้น แรกๆ ก็เหมือนเลือด รสชาติทั้งคาวและขื่นอย่างสังกะสี ต่อมาก็หนักทึบและกลมกล่อมดีอย่างไวน์ Malbec ความทรงจำเป็นรสชาติเช่นนั้นสำหรับผม บางทีผมอาจทำให้มันเป็นเช่นนั้น ผมทำกับความทรงจำเช่นนี้ รสชาติที่ชวนดื่มด่ำ หลังจากต้องเผชิญกับความเหลือรับประทานของความทรงจำที่แสนทานทนก่อนหน้านี้

เคยกินแอปเปิ้ลสดมาแล้วก็ต้องกินไซเดอร์ได้ กินองุ่นได้ก็ลองกินไวน์ ความหวานชื่นแปรรูปเป็นรสชาติสวยเศร้า

และพอความเศร้าจางลงไปอีก ก็จะเหลือแต่สวย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกที่หลายๆ ความทรงจำมันสวยเพราะมีความเศร้าทาบลงเป็นเงา เช่นที่ความรักมันสวยผุดผ่องเพราะมีอกหักขัดเงาจนส่องประกาย

 

YouTube video

 

การได้ฟังเพลง Some sort of paradise ทำให้รู้สึกเช่นนั้น ดนตรีบรรเลงสุดลอยล่องและสวยงามอย่างกับตกอยู่ในโลกของเทพนิยาย หรือตกอยู่ในภาวะใคร่ครวญความครวญคร่ำ เหมือนอยู่ในวิมาน อยู่ในสวรรค์ที่เก็บกอบความเศร้า สูญ และโศก สร้างรังรองแห่งความเกษมสุขขึ้นมา เช่นว่าตอนเรามีความสุขไม่ทันรับรู้ว่าสุข เพราะอยู่กับมันตรงนั้นเป็นเนื้อเดียวกับมัน แต่ดนตรีเช่นนี้ความสุขเกิดขึ้นได้จากการครุ่นคำนึงและตระหนัก การเผชิญหน้ากับความทรงจำคุ้นเคย และแรกทีเดียวเรามองมันอย่างคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ปฏิเสธและไม่ยอมรับ (เจ็บปวดเกินไปที่จะมองเห็นด้วยซ้ำ) และนำตัวเองไปหาประสบการณ์อื่น เพื่อเติม เพื่อเลือนลบ เพื่อแทนที่ความทรงจำอันเดิม แต่ก็ตระหนักว่ามันแทนที่กันไม่ได้ เพราะยิ่งเติมประสบการณ์ใหม่เท่าไร ก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มเติมขึ้น ไม่เคยลบและเลือนอันเก่า

Robin Guthrie สร้างเสียงกีตาร์เฉพาะนี้ขึ้นมาจนเป็นเอกลักษณ์ของเขา – สะท้อนก้องกังวาน ฉ่ำชื้นเหมือนทะเลเพิ่งหมาดฝน – มาตั้งแต่ต้นยุค 1980 เขาคือผู้ก่อตั้งวงดนตรี Cocteau Twin และเสียงกีตาร์ไฟฟ้าของเขานั้นสอดประสานไปกันได้ดีเหลือเกินกับเสียงร้องอันลอยล่อง งึมงำ ฟังแทบไม่เป็นภาษา ทว่าเป็นเสียงร้องชวนลุ่มหลงอย่างกับนางไซเรนของ Elizabeth Fraser หากแต่ได้สร้างบรรยากาศอันเป็นดินแดนย่ำสนธยา ปกคลุมไปด้วยหมอกทึบหนา ดั่งเทพนิยายที่ไม่หวานแหวว หากแต่น่าเคลือบแคลงและแฝงอันตราย

เสียงกีตาร์ไฟฟ้าของ Robin Guthrie นั้นช่างละมุนและอ่อนหวาน แต่เมื่อใส่เอฟเฟ็กท์กลับสะท้อนกว้างเหมือนวงน้ำแผ่ออกไปไร้ฝั่ง เสียงกังวานคล้ายล่องไปในอวกาศ เหมือนคุณเป็นอุกกาบาตบนฟากฟ้า หรือก้อนหินไร้นามดิ่งจมลงในทะเลสาบ ทิ้งแรงกระเพื่อมไว้บนผิวน้ำ แผ่ขยายออกไปอย่างไร้ฝั่งกระทบ คุณจึงรู้สึกว่าเสียงสะท้อนจากกีตาร์ไฟฟ้าที่ทั้งละมุนอ่อนหวาน มีทั้งอากาศที่หุ้มห่อและแรงกระเพื่อมที่แผ่ออกไป ในพื้นที่สุดแสนเวิ้งว้างเดียวดาย คุณจะเสียดสีและเกิดลุกไหม้ในอวกาศ คลื่นกระเพื่อมจะอ่อนแรงจนผิวน้ำราบเรียบอีกครั้ง เสียงกีตาร์ไฟฟ้านั้น เป็นเช่นเดียวกับความทรงจำของคุณ อบอุ่นและเอื้ออารีต่อคุณ ไปไหนต่อไหนด้วยกับคุณในทุกๆ ที่ เป็นสิ่งเดียวที่จะหล่อหลอมคุณ ทำให้เกิดใหม่ และมองเห็นทุกส่วนเสี้ยว ทุกที่มาของเหตุ สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า และที่จะเป็นไปในอนาคต ไม่ทุกข์ไม่ทน ไม่กระวนกระวายใจ ไม่เป็นบ้าเสียสติอีกต่อไป

ตอนนี้ผมพูดได้แล้วว่าเป็นผู้รอดชีวิต ผู้ซึ่งระเบิดออกและแตกกระจายเป็นส่วนเสี้ยว มีความทรงจำหลากหลายหมุนรอบตัวเองดั่งดาวบริวาร

เคยคิดเสมอว่าเธอจะเคยคิดถึงผมบ้างไหม คิดถึงโมงยามเล็กๆ เหมือนสายสร้อยที่ร้อยเกี่ยวกัน เราทำความเจ็บปวดและทุกข์ใจให้กันมาก คงยากเกินไปที่จะคิดถึงกันอย่างมีความสุข เพราะทุกข์เพราะเจ็บปวดและไม่อาจผ่านไปได้ แต่ตอนนี้ผมรู้แล้ว เธอเองก็ไม่ต่างกัน ระเบิดออกและแตกกระจายเป็นส่วนเสี้ยว มีความทรงจำหลากหลายหมุนรอบตัวเองเป็นดาวบริวาร ส่องให้เธองดงามและเปล่งปลั่ง

เราต่างมีเศษเสี้ยวความทรงจำส่วนตัวที่ทำให้เราสวยงาม หายใจ และดำเนินต่อไป ยอมรับมันว่าเป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว ความทรงจำนั้นทำให้ผมมีความสุข ไม่สังเคราะห์ ไม่คัดแยกความทุกข์ออกไป สุขเพราะเศษเสี้ยวแตกหักทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสรวงสวรรค์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022