fbpx
กักขัง / โดดเดี่ยว: ความเดียวดายเบื้องหลังซี่กรง

กักขัง / โดดเดี่ยว: ความเดียวดายเบื้องหลังซี่กรง

[et_pb_section transparent_background=”off” allow_player_pause=”off” inner_shadow=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” custom_padding=”0px|0px|54px|0px” make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” make_equal=”off” use_custom_gutter=”off” fullwidth=”off” specialty=”off” admin_label=”section” disabled=”off”][et_pb_row make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” use_custom_gutter=”off” gutter_width=”3″ allow_player_pause=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_equal=”off” parallax_1=”off” parallax_method_1=”on” parallax_2=”off” parallax_method_2=”on” parallax_3=”off” parallax_method_3=”on” parallax_4=”off” parallax_method_4=”on” admin_label=”row” disabled=”off”][et_pb_column type=”4_4″ disabled=”off” parallax=”off” parallax_method=”on”][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”Text” use_border_color=”off” border_style=”solid” disabled=”off”]

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในแฟนประจำของซีรีส์ Orange Is the New Black ที่ฉายอยู่บนเน็ตฟลิกซ์ (ซีซั่นใหม่เพิ่งมานะรู้ยัง!) คงรู้กันดีตั้งแต่ซีซั่นแรกๆ ว่าสถานที่หนึ่งที่เหล่านักโทษหญิงแห่งเรือนจำลิทช์ฟิลด์หวาดกลัวและไม่อยากจะย่างกรายเข้าไปใกล้ที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น ‘SHU’ ที่ย่อมาจาก Secure Housing Units หรือ ‘แดนมั่นคงสูงสุด’

Orange is the New Black Wiki / Netflix

ดินแดนแห่งฝันร้ายของนักโทษแห่งนี้เป็นแหล่งรวม ‘ห้องขังเดี่ยว’ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่กักกันนักโทษร้ายแรง ด้วยการตัดขาดนักโทษจากโลกภายนอก ภายในห้องขังขนาดประมาณ 6×9 ฟุต แบบ fully-furnished (เตียงนอนพร้อมโถส้วมในตัว – แบบไม่มีประตูกั้น) พวกเขาถูกทิ้งไว้ให้อยู่ตามลำพังกับความเงียบ แสงสว่างจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เปิดทิ้งไว้ตลอด 24 ชั่วโมงจะเริ่มกัดกร่อนนาฬิกาชีวิต สิ่งที่บอกเวลาได้แบบคร่าวๆ คือจานข้าวจากผู้คุมที่ส่งเข้ามาให้เป็นเวลาเท่านั้น

ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการคุมขังนักโทษให้อยู่ในโลกที่เงียบงัน จะบั่นทอนความคิด ความสามารถ และศักยภาพในการคิดจะกระทำผิดซ้ำซาก จนอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด – โลกของการขังเดี่ยวกลายเป็นดินแดนสีเทาที่อยู่ระหว่างแนวคิดการ ‘ดัดสันดาน’ เพื่อสังคมที่ดีขึ้นอย่างสุดโต่ง

ในระดับเดียวกันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกินพอดี

 

แนวคิดการจับนักโทษเข้าห้องขังเดี่ยวถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี 1790 ไม่ช้าไม่นานหลังประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษ โดยเริ่มต้นจากการขยายพื้นที่ของเรือนจำ Walnut Street ที่ตั้งอยู่ในเมืองฟิลาเดลเฟียเพื่อรองรับจำนวนนักโทษที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินรับไหว

การขยับขยายในครั้งนั้นเกิดเป็นพื้นที่แบบใหม่ที่จับเอานักโทษ 16 คนเข้ามาอยู่ในห้องขังเดียว แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือในห้องขังนี้ถูกซอยย่อยออกเป็น 16 ห้อง แต่ละห้องถูกกั้นไว้ไม่ให้ทุกคนได้พูดคุยกันเหมือนห้องขังปกติ ที่สำคัญ สิ่งที่นักโทษผู้ถูกส่งให้มาอยู่ในนี้จะได้รับคือสิทธิพิเศษในการไม่ต้องออกไปทำงานแบบคนอื่น แต่ให้ใช้เวลาได้นั่งคิดทบทวนกับความผิดที่ก่อ จนรู้สึก ‘สำนึกผิด’ (กลายเป็นชื่อเรียกห้องขังแบบนี้ว่า ‘Penitentiary House’ หรือ ‘โรงดัดสันดาน’)

Wikimedia Commons

ในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 วิธีการลงโทษเหล่านักโทษยังคงใช้วิธีแบบรุนแรงอย่างการเฆี่ยนตี ใส่ขื่อล่ามโซ่ลากไปตามท้องถนนให้อับอายอยู่ โรงดัดสันดานที่เกิดขึ้นเป็นแนวคิดของ สมาคมฟิลาเดลเฟียเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากในเรือนจำ ที่สมาชิกในกลุ่มล้วนแต่เป็นชาวคณะ Quakers หรือคนที่เชื่อในศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิมที่ว่าเราสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรงโดยรับรู้จาก ‘แสงสว่าง’ ภายในตัวเอง

ที่ต้องเล่าถึงรายละเอียดความเชื่อ ก็เพราะว่าโดยธรรมดาเวลาสมาชิกกลุ่มเควกเกอร์มาประชุมกัน สิ่งที่พวกเขาทำเพื่อติดต่อกับพระเจ้าก็คือการนั่งเงียบๆ ให้แสงสว่างจากภายในชี้นำถึงพระเจ้า ดังนั้นด้วยความเชื่อที่ว่าพระเจ้าสามารถนำทางให้มนุษย์กลับตัวกลับใจจากความผิดบาปได้จากการหาแสงสว่างและเสียงในตัวเอง การผลักดันให้เกิดห้องขังเดี่ยวจึงเป็นทางออกที่กลุ่มเห็นว่ามีมนุษยธรรมที่สุดในเวลานั้น

แต่แนวคิดที่เวิร์กในฟิลาเดลเฟีย เมื่อแพร่กระจายไปถึงเรือนจำ Auburn ที่นิวยอร์กในปี 1821 ความจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อนักโทษก็เริ่มเปิดเผย

การจับขังเดี่ยวไม่ได้ ‘เปลี่ยน’ พฤติกรรม แต่มันกลับ ‘ฆ่า’ เหล่านักโทษทั้งเป็นด้วยอาการทางจิตที่ไม่ปกติหลังถูกคุมขัง จนนิวยอร์กต้องเลิกใช้วิธีนี้หลังเริ่มใช้ไม่นาน

ขณะเดียวกันที่ฟิลาเดลเฟีย ห้องขังเดียวกลับถูกขยับขยายจนขังได้มากกว่าสองร้อยคนในบริเวณเดียว (และดีไซน์ในช่วงนั้นก็สืบทอดรูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้) ในห้องขังมีแค่คัมภีร์ไบเบิลให้อ่านแก้เบื่อ สิ่งที่ทำได้ในนั้นคือนั่งทำงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างการทอผ้า ทำรองเท้า ถ้าจะมีเวลาได้ออกมาข้างนอก ก็ยังต้องใส่โม่งคลุมหน้าให้ร่างกายได้สัมผัสโลกภายนอกแค่เพียงดวงตา

Wikimedia Commons

 

ตัดภาพกลับมาที่โลกในศตวรรษที่ 21 แนวคิดห้องขังเดี่ยวไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน แต่มันแพร่กระจายจากฟิลาเดลเฟียไปจนทั่ว 44 รัฐในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก และถ้านับในประเทศผู้ให้กำเนิดเพียงที่เดียว ก็มีนักโทษกว่า 80,000 ถึง 100,000 คนที่ถูกจองจำอยู่ในความโดดเดี่ยวอันแสนทรมาน

การขังเดี่ยวใน SHU ของเรือนจำทั่วๆ ไป ไปจนถึงในเรือนจำมั่นคงสูงสุดหรือ Supermax Prison (เรือนจำควบคุมพิเศษที่มีไว้ใช้สำหรับนักโทษอุกฉกรรจ์ด้วยวิธีการขังเดี่ยวและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าควบคุม) ถูกใช้กันหลักๆ ด้วยปัจจัยสามแบบ นั่นคือใช้เพื่อลงโทษนักโทษที่ทำผิดกฎระเบียบของเรือนจำ ใช้เมื่อคำตัดสินของศาลจำแนกให้เป็นนักโทษอันตราย

ที่น่าเศร้าที่สุดคือกลุ่มนักโทษเยาวชน หรือนักโทษเพศทางเลือก ที่ถูกจับมาอยู่ในพื้นที่ขังเดี่ยวแม้ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรง ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นหากให้อยู่รวมกับนักโทษคนอื่นๆ (เหตุผลข้อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ต่างประเทศ เพราะจากรายงานของสำนักข่าวประชาไทเมื่อปี 2012 ก็พบว่ามีนักโทษทรานส์เจนเดอร์ในเรือนจำชายแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่ถูกย้ายไปอยู่ในห้องขังเดี่ยว แม้เธอจะไม่ได้ทำผิดมากกว่านักโทษคนอื่นๆ เลย)

และหากคุณคิดว่าการได้อยู่คนเดียวเงียบๆ ลำพังเป็นเรื่องสุดแสนจะโรแมนติกเหมือนอย่างคำคมทวิตเตอร์ การลงโทษด้วยการขังเดี่ยวในห้องแคบๆ คงไม่ใช่เรื่องน่าพิศมัยขนาดนั้น เพราะระยะเวลาที่นักโทษชาวอเมริกันส่วนใหญ่ถูกคุมขังในดินแดนแห่งความโดดเดี่ยวเพียงลำพัง มีไปตั้งแต่ไม่กี่วัน จนถึงระยะเวลาเป็นสิบๆ ปี เช่นในแอริโซน่า ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี เท็กซัสที่ 4 ปี นิวยอร์ก (ที่เคยยกเลิกไปเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ปี

…สำหรับนักโทษบางคนในบางรัฐ เขาอาจอาศัยอยู่ในความลำพังนั้นยาวนานได้ถึง 43 ปี!

 

แล้วอันที่จริง ขีดจำกัดในการ ‘โดดเดี่ยว’ ของมนุษย์มีมากแค่ไหน?

ยังไม่มีทีมนักวิจัยคนไหนที่กล้าพอจะจับมนุษย์มาทดลองด้วยข้อจำกัดด้านมนุษยธรรม (เห็นจะมีก็แต่รายการเรียลิตี้ Solitary เมื่อหลายปีก่อนที่จับเอาผู้แข่งขันมาทดสอบความอดทน แต่ก็ไม่ได้อยู่คนเดียวแบบเป็นจริงเป็นจัง) แต่ย้อนกลับไปช่วงปี 1950 แฮร์รี่ ฮาร์โลว นักจิตวิทยาจาก University of Wisconsin ก็ทำการทดลองที่ใกล้เคียงที่สุด โดยใช้ลิงรีซัสมาขังไว้ตัวเดียวในห้องที่ไม่มีทางปีนหนีออกไปได้

หลังสองสามวันผ่านไป เขาพบว่าลิงที่ถูกขังเดี่ยวนั่งซึมอยู่ที่มุมของห้องอย่างสิ้นหวัง และเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นเรื่อยๆ มันก็เริ่มไร้สติ นั่งจ้องมองที่เดิมเป็นเวลานานๆ เขย่าขาอย่างไร้จุดหมาย เดินวนไปมา จนกระทั่งเริ่ม ‘ทำร้าย’ ตัวเอง หลังจบการทดลอง ลิงส่วนใหญ่เมื่อออกมาก็สามารถปรับตัวได้ ทว่าลิงที่ถูกขังนานถึงหนึ่งปีก็เหมือนถูกทำลายวิญญาณลงไปอย่างสิ้นซาก

คอนเซ็ปต์การลงโทษด้วยวิธีนี้ยิ่งถูกมองว่าป่าเถื่อนและโหดร้ายยิ่งขึ้น เมื่อมีการศึกษาผลกระทบของการขังเดี่ยวที่มีต่อนักโทษจริงๆ และพบว่ากว่าหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างนักโทษกลายเป็นคนป่วยทางจิต มีอาการจิตหลอน หวาดระแวง ความสามารถในการคิดความจำถูกทำลาย ไวต่อสิ่งเร้ารอบตัวจนใช้ชีวิตลำบาก ผู้สำรวจเล่าว่าหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างกลายเป็นคนไร้ความสามารถในการรับรู้ว่าร่างกายตัวเองเป็นอย่างไร ด้วยอาการที่ยืนอยู่หน้าโถส้วมเพื่อพยายามปัสสาวะอย่างไร้จุดหมายตลอด 24 ชั่วโมง

ที่สำคัญที่สุด หากเราเชื่อกันว่าการขังเดี่ยวจะทำให้นักโทษได้สติและกลับมาเป็นคนดีสู่สังคม เรื่องจริงอาจจะกลายเป็นว่าพวกเขาคงไม่มีทางได้ออกมา เพราะหลังจากผ่านการขังเดี่ยว หลายต่อหลายคนกลายเป็นผู้เสพติดการทำร้ายตัวเองและพยายามฆ่าตัวตาย มีผู้สำรวจพบว่ากว่าครึ่งของกลุ่มนักโทษในเรือนจำแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ปี 1999 จนถึง 2004 ล้วนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั้งสิ้น

 

ในระดับสากล เมื่อปี 1987 คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee Against Torture) ผู้ตรวจตราการปรับใช้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (United Nations Convention against Torture) ได้กำหนดไว้ว่าการลงโทษด้วยวิธีการขังเดี่ยวควรเป็นการกระทำที่รัฐสมควรยกเลิก เช่นเดียวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ประกาศว่าการยืดระยะเวลาคุมขังเดี่ยวอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล

ไม่ได้มีแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ร่วมลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาที่ว่า แต่ประเทศไทยเราเองก็เข้าร่วมอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ นี้ไว้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว

หลังจากพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ของไทยไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กฎหมายการทำงานของเจ้าพนักงานเรือนจำเพิ่งถูกเปลี่ยนใหม่ แต่สิ่งเดิมที่ยังคงอยู่คือการลงโทษด้วยการขังเดี่ยว เพียงแต่ลดลงจากขังเดี่ยวไม่เกินสามเดือนในเวอร์ชั่นออริจินอลเมื่อปีพุทธศักราช 2479 มาเป็นไม่เกินหนึ่งเดือนในปีนี้

และเมื่อไม่นานมานี้ กรมราชทัณฑ์เองก็เพิ่งพาสื่อมวลชนเดินทัวร์เรือนจำมั่นคงสูงสุดแห่งใหม่ล่าสุดในจังหวัดราชบุรีที่สุดจะไฮเทคเหมือนหลุดมาจากในซีรีส์ต่างประเทศ ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ ภายในมีเรือนจำห้องขังเดี่ยวสำหรับนักโทษตัวบิ๊กอยู่ถึง 60 ห้อง เห็นแล้วไม่ใช่แค่ผู้ต้องขังที่โอ้โหกับความแน่นหนา แต่ผู้ชมทางบ้างอย่างเราเมื่อเห็นรายการข่าวทำโมเดลสามมิติพาทัวร์ และคุณฐปนีย์ลงทุนเข้าไปลองใช้ชีวิตในห้องขังเดี่ยว ก็โอ้โหตามไปไม่แพ้กัน

The Reporter / สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

แต่ไม่ใช่แค่ในห้องขังเดี่ยวแสนไฮเทคที่มีไว้ลงโทษ ข้างนอกคุกไทยยังมีสิ่งที่ทรมานมากกว่านั้น

ในชีวิตจริงของผู้ต้องขัง ตามรายงานสภาพเรือนจำไทยภายหลังรัฐประหารของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปี ทำให้เรารู้ว่า สภาพความเป็นอยู่ที่รัฐจัดหาให้ไม่ได้สอดคล้องกับมาตรฐานเรือนจำสากล สุขอนามัยเข้าขั้นย่ำแย่ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ไม่ทั่วถึง ไม่มีการเคารพสิทธิผู้ต้องขัง และเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห้องขังอยู่เรื่อยๆ ด้วยการใช้โซ่ตรวนมากเกินกว่าเหตุ และการถูกจำกัดบริเวณที่นานเกินควร

ยังไม่รวมถึงการใช้พื้นที่และเรือนจำภายในค่ายทหารเป็นสถานที่ควบคุมพลเรือนตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ที่ไม่มีการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว และขาดการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก ที่รัฐบาลไทยเลือกที่จะเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะของนานาชาติให้เลิกใช้พื้นที่ทหารเป็นที่คุมขัง

 

ประวัติศาสตร์ของการขังเดี่ยวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันบอกให้เรารู้ว่าความโดดเดี่ยวอาจเป็นเรื่องน่ากลัวกว่าที่คิด แต่ที่น่าสยดสยองมากไปกว่านั้น คือสภาพความเป็นอยู่ของคนในเรือนจำภายนอก ที่โดดเดี่ยวกับความเป็นมนุษย์อันถูกรัฐปล่อยเว้นทิ้งร้างไร้การเหลียวแล

เพราะนี่ไม่ใช่ซีรี่ส์เน็ตฟลิกซ์ที่ถ่ายให้เราดูชีวิตในห้องขังเดี่ยวหรือขังรวมบนหน้าจอ

แต่มันคือโลกความจริง ที่หลายคนไม่อยากเข้าไปพบเจอ

 

[/et_pb_text][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”box” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#969696″ border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”10px|10px|10px|10px” disabled=”off”]

 

แอปพลิเคชั่น 6×9 จากหนังสือพิมพ์ The Guardian คือแอปที่จำลองโลกของการอยู่ในห้องขังเดี่ยวเอาไว้ให้เราได้ดูทั้งในแบบ AR และ VR (ถ้ามีอุปกรณ์) บรรยากาศอาจเหมือนหนังผี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ลองมาทดสอบว่าคุณจะทนอยู่ในสภาพแวดล้อมอันโดดเดี่ยวนี้ได้นานแค่ไหนได้ที่ลิงก์นี้เลย

 

[/et_pb_text][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”Text” use_border_color=”off” border_style=”solid” disabled=”off”]

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง A Brief History of Solitary Confinement โดย Jean Casella and James Ridgeway ของเว็บไซต์ longreads

บทความเรื่อง What Does Solitary Confinement Do To Your Mind? โดย JASON M. BRESLOW ของเว็บไซต์ Front Lineตีพิมพ์เมื่อ 22 เมษายน 2557

บทความเรื่อง Suicidal in Solitary โดย JAMES RIDGEWAY AND KATIE ROSE QUANDT ของเว็บไซต์ Solitary Watch ตีพิมพ์เมื่อ 5 เมษายน 2560

ข่าว แง้มคุก “ซุปเปอร์แม็กช์” “เขาบิน” จัดเต็มวงจรปิด 360 ตัว เยี่ยมญาติผ่าน “วิดีโอคอล” โดย จตุพร พ่วงทอง จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ตีพิมพ์เมื่อ 11 ธันวาคม 2556

ข่าว รายงาน “หลังกำแพง” (คุก) ชี้ไทยล้มเหลวการแก้ปัญหาเรือนจำ จากบีบีซีไทย ตีพิมพ์เมื่อ 1 มีนาคม 2560

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save