fbpx

สดศรีสุริยา-อานันท์ : ความยินดีในชีวิตที่สดศรี

เล็กเป็นภรรยาที่ดี เป็นแม่ที่ดีของลูกๆ และภรรยาทูตที่ดี ชีวิตของเขามีศูนย์กลางอยู่ที่ผมและลูกๆ

อานันท์ ปันยารชุน กล่าวอย่างกระชับแต่จับใจถึงชีวิตของ ม.ร.ว.สดศรี ผู้เป็นภริยา

แม้อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยผู้นี้จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่เรื่องราวชีวิตของสตรีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จกลับไม่เป็นที่รับรู้กันมากนัก


ม.ร.ว.สดศรี ปันยารชุน
(21 กรกฎาคม 2479 – 20 พฤศจิกายน 2566)


กำเนิด


ม.ร.ว.สดศรี (หรือ ‘เล็ก’) เป็นลูกคนกลางของ พล.ท. ม.จ.คัสตาวัส จักรพันธุ์ กับ ม.จ.ทิตยาทรงกลด (ราชสกุลเดิม รพีพัฒน์) เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2479 เดิมชื่อว่า ‘สดศรีสุริยา’ ที่ตั้งอย่างคล้องจองกันคือ กทลี สดศรีสุริยา ตราจักร

ฝ่ายท่านบิดาเป็นพระโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ซึ่งกรมหมื่นอนุวัตน์ฯ เป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พระโสทรอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้างฝ่ายท่านมารดานั้น เป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘พระบิดาของกฎหมายไทย’

เมื่อ ม.จ.คัสตาวัสทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส  ม.ร.ว.สดศรีเข้าเรียนที่โรงเรียนอเมริกัน จึงได้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็ก หลังจากนั้นไปเรียนวิชาเลขานุการ ที่ Queen’s College กรุงลอนดอน โดยพำนักอยู่กับครอบครัวของนายโฉลก โกมารกุล ณ นคร ที่ปรึกษาฝ่ายการคลัง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ในขณะนั้น


อานันท์กับ ม.ร.ว.สดศรี ที่งานเต้นรำประจำปี (May ball) ซึ่งนักเรียนไทยในยุคนั้น มักเชิญเพื่อนสาวที่ตนกำลังสนใจอยู่มาร่วมงาน


พบรัก


ณ บ้านของท่านที่ปรึกษาฯ นี้เองที่ ม.ร.ว.สดศรี สุภาพสตรีรูปร่างหน้าตาสดสวย กิริยามารยาทงดงาม และเป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม ได้เจอกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นามว่า อานันท์ ปันยารชุน

หลังจากนั้นอีก 2 ปี อานันท์ก็เอาชนะใจ ม.ร.ว.สดศรีได้ เมื่อเรียนจบกลับมาประเทศไทย และเข้าทำงานแล้ว จึงได้สมรสกันเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2499 และมีธิดา 2 คน คือ นันดา กับดารณี

ในระยะแรกของการสร้างครอบครัว ม.ร.ว.สดศรีทำงานที่ Economic Commission for Asia and the Far East (ECAFE) ได้เงินเดือน 2,500 บาท ส่วนอานันท์แรกบรรจุเป็นข้าราชการชั้นโท เงินเดือน 1,600 บาท แม้รายได้ของทั้งคู่จะไม่ถึงกับอัตคัดขัดสน แต่อานันท์ก็หาลำไพ่พิเศษด้วยการสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในอัตราชั่วโมงละ 30 บาท


ในวันหมั้น


ชีวิตในต่างแดน


เมื่ออานันท์เจริญก้าวหน้าในราชการ เป็นเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ม.ร.ว.สดศรีในวัย 28 ปี นอกจากการดูแลลูกๆ แล้ว เธอยังรับภาระในฐานะภริยานักการทูตอาวุโสด้วย เช่น การรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นต้น

ม.ร.ว.สดศรีสนใจศิลปะ ชอบเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่มีมากมายในนิวยอร์ก และสมัครเรียนหลักสูตรมัณฑนศิลป์ทางไปรษณีย์จนจบ ลูกสาวทั้งสองคนตั้งข้อสังเกตว่า คุณแม่ชอบชีวิตในนิวยอร์กว่ากว่าบรรดาเมืองอื่นๆ ที่เคยไปอยู่มา

หลังจากนั้น อานันท์ได้เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ชีวิตของ ม.ร.ว.สดศรี ก็พบความเปลี่ยนแปลง ดังที่นันดา ลูกสาวคนโต เล่าว่า “คุณพ่อยังอยู่ที่นิวยอร์ก เพราะต้องทำงานที่คณะผู้แทนถาวร มาออตตาวาได้ก็ตอนสุดสัปดาห์เท่านั้น…ปลายปีมีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเป็นเวลา 3 เดือน คุณพ่อไม่ค่อยได้มาออตตาวา เพราะติดราชการที่นิวยอร์กมาก คุณแม่ก็ต้องช่วยตัวเองมากขึ้น เรียนขับรถจนไปไหนมาไหนกับลูกๆ ได้ง่าย ถึงแม้จะมีงานภายในบ้าน เช่น การตกแต่ง คุณแม่ก็ไม่มีอะไรทำมาก คุณแม่เริ่มเหงา…แต่เวลาคุณพ่อมาอยู่กับเราที่ออตตาวา คุณแม่จะมีความสุขมาก


ครอบครัวพักผ่อนที่แคนาดา


การเมืองกระทบกระเทือน


ต่อมาอานันท์ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ครั้นเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพล ถนอม กิตติขจร และครอบครัวเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสหรัฐอเมริกา กระทรวงการต่างประเทศจึงแจ้งให้เอกอัครราชทูตไปอำนวยความสะดวกแก่อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ได้สมญา ‘จอมทรราช’

เหตุนี้เองทำให้อานันท์ถูกเรียกเป็น ‘สมุนทรราช’ ตามไปด้วยเมื่อหนังสือพิมพ์ลงข่าวการที่ทูตไปรับจอมพล ถนอม และกระทรวงการต่างประเทศก็มิได้มาแก้ข่าวให้แต่อย่างใด คนทั่วไปจึงคิดว่า อานันท์คิดเอง ทำเอง

ลูกสาวคนโตอย่างนันดา กล่าวว่า “เรื่องที่เกี่ยวกับจอมพล ถนอมครั้งนั้น เป็นครั้งแรกที่การเมืองเข้ามากระทบกระเทือนครอบครัวของเรา


กับนาย John D. Rockefeller III

มรสุมชีวิต


หลังอานันท์ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ชีวิตก็เจอมรสุมครั้งสำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวคือ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ให้พักราชการนายอานันท์ ปันยารชุน เนื่องจาก (1) เปิดเผยความลับทางราชการให้กับศูนย์นิสิตนักศึกษา และ (2) มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยฝักใฝ่และส่งเสริมการเปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศคอมมิวนิสต์

แม้จะเป็นคำสั่งที่ทำให้อานันท์ “ท้อแท้ใจที่สุด” แต่ก็ยังพอรับได้ อย่างไรก็ดี “มันไม่ยุติธรรมกับภรรยาและลูกสาวผม เขาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องอะไรแต่เขาต้องมารับเคราะห์กรรมไปด้วย” โดยเฉพาะ ม.ร.ว.สดศรี “ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 4 เดือน ผมต้องไปนอนเฝ้าทุกคืน ปัญหาสุขภาพของภรรยาผมยังติดตัวอยู่จนปัจจุบัน”

อานันท์เล่าถึงความวิตกของภรรยาว่า “เมื่อผมถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ภรรยาผมตกใจแทบสิ้นสติ ใครๆ ก็รู้ดีว่าเป็นเรื่องที่เขากุกันขึ้นมา แต่ภรรยาผมเกรงว่ามีการร่วมหัวกันของนายทหารบางคนที่จะ ‘สร้างเรื่อง’ ขึ้นมาเพื่อจะเอาผิดกับผม

และทุกครั้งที่อานันท์ทำงานเกี่ยวกับ ‘การเมือง’ ม.ร.ว.สดศรีก็จะรู้สึกเรื่องการถูกไล่ล่าจองล้างจองผลาญขึ้นมาอีก ดังที่อานันท์กล่าวว่า “สำหรับเขา (สดศรี) มันเป็นประสบการณ์ที่สะเทือนใจและลืมไม่ได้

แม้จะพ้นมรสุมทางการเมืองครั้งนี้และอานันท์ออกไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์แล้ว แต่ ม.ร.ว.สดศรีก็ยังคงมีแผลในใจ ดังที่ลูกสาวคนเล็ก ดารณีเล่าว่า “คุณแม่ดูจะไม่ enjoy ที่นั่นเลย อาการของคุณแม่ดูจะยิ่งหนักขึ้น คุณแม่ยังคงหวาดกลัว และระแวงสงสัยคนว่าจะมาทำอันตราย


ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีนาคม 2535


มากกว่าความรัก


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยตรัสถึงเรื่องความรักเอาไว้ว่า “ความรักมันมีสองหน หนแรกมันตื่นเต้น เรียกว่า PASSION คือหลง อยู่ด้วยกันไปมันก็ค่อยๆ จางลงไปทุกที ตอนนี้แหละจะอยู่ด้วยกันยืดไม่ยืด ถ้ากลับรู้ใจเป็นเพื่อนสนิทกันได้แล้ว ความรักจริงจะเกิด และไม่มีแตกกันจนตาย”

หลังจากครองชีวิตคู่มายาวนานกว่าหกทศวรรษ ครั้งหนึ่งอานันท์เคยให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันนี้ว่า “ผมแต่งงานมา 63 ปี ความรักอย่างเดียวมันไม่พอ ความรักมันเริ่มต้นในชีวิต ตอนหมั้นกัน ตอนจีบกัน ตอนแต่งงานกันใหม่ๆ พอหลังจากนี้สักสามสิบปีไปแล้วนี่ ความเป็นเพื่อนสำคัญกว่า…พอผ่านไปอีกสิบปี มันไม่ใช่ความเป็นเพื่อนแล้วนะ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เยื่อใยซึ่งกันและกัน ความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน แล้วมันมีองค์ประกอบเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ

อานันท์ย้ำว่า “การสร้างความเชื่อถือความเชื่อมั่นเป็นรากฐานของชีวิต”


ม.ร.ว.สดศรีกับอานันท์ กับบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายในวันแต่งงาน


คู่ชีวิต


ลูกสาวทั้งสองคนกล่าวถึงความสำคัญของ ม.ร.ว.สดศรี ที่มีต่อสามีเอาไว้ว่า “คุณแม่เป็นคนที่มี EQ สูง ห่วงความรู้สึกของคนอื่นมาก แต่คุณพ่อไม่เป็นเช่นนั้น คุณพ่อเป็นคนพูดตรงๆ คุณแม่กลัวคนเขาจะไม่พอใจหรือไม่ชอบคุณพ่อ…คุณแม่อยากให้คุณพ่อเป็นที่รักของคนทั่วไป ไม่มีศัตรู

นันดากล่าวว่า “คุณแม่คอยแนะให้คุณพ่อคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นให้มากขึ้น คุณแม่ไม่ต้องการให้คุณพ่อมีเรื่องขัดแย้งกับคนอื่น คุณแม่จะคอยบอกคุณพ่อถึงสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับผู้คนซึ่งคุณพ่ออาจมองข้ามไป

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่สะท้อนความสำคัญของคู่ชีวิตนักการทูต ซึ่งกล่าวถึงภรรยาของเขาว่า “เล็กเป็นภรรยาที่ดี เป็นแม่ที่ดีของลูกๆ และภรรยาทูตที่ดี ชีวิตของเขามีศูนย์กลางอยู่ที่ผมและลูกๆ

ในมิติของคู่ชีวิต ลูกสาวทั้งสองคนของ ม.ร.ว.สดศรี เห็นว่า “คุณพ่อคงไม่อาจก้าวถึงสุดยอดของชีวิตการทำงานได้ หากไม่ได้รับความเกื้อหนุนอย่างไม่ถดถอยจากคุณแม่ ทั้งในฐานะภรรยาเอกอัครราชทูต และผู้ดูแลครอบครัวตลอดมา”

แม้ประวัติศาสตร์ไทยจะไม่มีทางลืมชื่อ ‘อานันท์ ปันยารชุน’ ไปได้ แต่คู่ชีวิตอย่าง ม.ร.ว.สดศรี คงจะค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป หลงเหลือไว้ก็แต่ในความทรงจำของคนที่เธอรักและรักเธอเท่านั้นเอง


พาภริยาชมดอกไม้


บรรณานุกรม

  • นรุตม์. ในวังแก้ว หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2536.
  • พระราชานุกิจ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2526.
  • วิทยา เวชชาชีวะ. “นักสู้ อานันท์”. กรุงเทพฯ : แปลน สารา, 2565.
  • สุทธิชัย หยุ่น. จากปากคำประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : บริษัท อาลาดิน ออนไลน์ จำกัด, 2564.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save