fbpx

Six Feet Under: เมื่อพูดถึงความตาย มนุษย์มักไม่คิดถึงสิ่งที่จบสิ้น แต่กลับคิดถึงสิ่งที่ยังไม่จบ

สปอยล์: มนุษย์ทุกคนต้องตาย

ซีรีส์ Six Feet Under ออกอากาศครั้งแรกทาง HBO ช่วงปี 2001-2005 ความยาว 5 ซีซัน 63 ตอน แม้จะผ่านมาสองทศวรรษแล้ว แต่การกลับมาดูในปีนี้ก็ไม่ตกยุค โดยเฉพาะเนื้อเรื่องที่พยายามสร้างบทสนทนาจำนวนมหาศาลกับคนดู

Six Feet Under สร้างโดยอลัน บอลล์ (Alan Ball) ผู้เขียนบทภาพยนตร์ American Beauty (1999) ทั้งสองเรื่องนี้จึงมีกลิ่นอายคล้ายกันในบางด้าน ทั้งการเสียดสีสังคมอย่างตลกร้ายและการตั้งคำถามต่อชีวิตตัวเองของตัวละครหลัก

เนื้อเรื่องจับจ้องอยู่ที่ครอบครัว ‘ฟิชเชอร์’ ที่ทำกิจการรับจัดงานศพ โดยอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้าน ชั้นหนึ่งสำหรับรับรองลูกค้าและจัดพิธีศพ ส่วนชั้นใต้ดินเป็นห้องเก็บและดองศพ เรื่องเริ่มต้นหลังจากที่ ‘เนท’ ลูกชายคนโตกลับมาเยี่ยมบ้านแล้วพ่อของเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทิ้งกิจการจัดงานศพไว้ให้เนทดูแลร่วมกับ ‘เดวิด’ ลูกชายคนรอง โดยต้องกลับมาอยู่ในบ้านที่มี ‘รูธ’ แม่จอมจุ้นจ้านที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้ครอบครัว และ ‘แคลร์’ ลูกสาวคนเล็ก ผู้กำลังอยู่ในวัยต่อต้านทุกอย่าง

บนผิวน้ำชั้นตื้นที่สุดซีรีส์นี้คือดราม่าครอบครัว แต่เมื่อดำน้ำลึกลงไปในเนื้อเรื่องจะพบว่าสิ่งที่ซ่อนไว้ด้านล่างนั้นคือการตั้งคำถามเรื่องการมีอยู่ จนถึงการตั้งคำถามในเรื่องที่ใหญ่กว่ามนุษย์เอง

เดวิด (Michael C. Hall), แคลร์ (Lauren Ambrose), รูธ (Frances Conroy), เนท (Peter Krause)

1

หลังได้รับความสำเร็จมหาศาลจาก American Beauty บอลล์ก็ตั้งต้นซีรีส์ใหม่ให้ HBO โดยต้องการเล่าเรื่องครอบครัวที่ทำธุรกิจจัดงานศพ เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเคยเผชิญความตายของคนในครอบครัว และเอาความเป็นตัวเองไปใส่ไว้ในตัวละครหลักสามพี่น้อง ทั้งความไม่รู้จักโตในตัวเนท, เกย์ที่ไม่ยอมรับความเป็นตัวเองอย่างเดวิด, ความเป็นศิลปินและต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในตัวแคลร์

บอลล์ยังเติมอีกสองตัวละครหลักเข้าไปในเรื่องนี้ อันทำให้ปมปัญหาในครอบครัวซับซ้อนขึ้น คือ รูธ – แม่ที่กลายเป็นหญิงหม้ายและค้นพบว่าที่ผ่านมาทั้งชีวิตเธอไม่เคยใช้ชีวิตเพื่อตัวเองเลย, เบรนด้า – แฟนสาวของเนทที่เติบโตมาในครอบครัวท็อกซิก มีปัญหาสุขภาพจิต และต้องการทำตัวแตกต่างจากสังคม

โฟกัสหลักของเรื่องคือความสัมพันธ์ในครอบครัวฟิชเชอร์ บอลล์ตั้งต้นจินตนาการภาพครอบครัวรับจัดงานศพที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันกับความตาย รับมือญาติคนตายที่ร้องไห้ฟูมฟายทุกวัน ปลอบโยนคนไม่รู้จักโดยต้องไม่เก็บเอาไปคิดมากหลังเลิกงาน มีงานศพจัดอยู่ในบ้านตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ออกมาเป็นครอบครัวฟิชเชอร์ที่แต่ละคนมีจุดร่วมคือความเหินห่าง หม่นหมอง และเก็บอารมณ์ความรู้สึก ยกเว้นเนทที่เลือกออกจากบ้านตั้งแต่วัยรุ่น เพราะไม่ต้องการอยู่ในธุรกิจนี้

ตัวละครทุกตัวที่โผล่เข้ามาในเรื่องนี้ล้วนบกพร่อง เผชิญปัญหา-สร้างปัญหา-เป็นปัญหา ผู้สร้างซีรีส์ค่อยๆ ปูให้เราผูกพันกับตัวละครแต่ละตัว โดยเฉพาะสามพี่น้องฟิชเชอร์ แต่ที่สุดแล้วเราจะไม่สามารถรักพวกเขาได้เต็มที่ ด้วยความบกพร่องหลายอย่างที่แต่ละคนมี อย่างเนทที่เป็นคนโลเลหนีปัญหา จนถึงก้าวข้ามเส้นศีลธรรม เดวิดที่จู้จี้จุกจิก ไม่ยอมรับตัวเอง และเปราะบางยิ่งกว่าแก้วไวน์ชั้นดี กับแคลร์ที่ทำตัวเป็นวัยรุ่นมีปัญหาแบบที่หากมีเช็กลิสต์เด็กมีปัญหาคงต้องติ๊กถูกทุกข้อ ที่สำคัญคือตัวละครแทบทุกตัว ‘เห็นแก่ตัว’ หมกมุ่นอยู่กับปัญหาตัวเองและมักยุ่งเกินกว่าจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนที่พวกเขารักเวลามีปัญหา

เปล่าเลย ตัวละครพวกนี้ไม่ใช่คนเลวอะไรนักหนา พวกเขาก็คือ ‘เรา’ ที่มีช่วงเวลาน่ารักบ้าง น่าเกลียดบ้าง มีความเครียด ความกังวล เป็นห่วงคนอื่นบ้างนิดหน่อย และมักจะหมกมุ่นอยู่กับปัญหาในชีวิตตัวเองที่แก้ไขไม่ได้

สิ่งที่ตัวละครค่อยๆ พยายามเรียนรู้คือการโผล่หัวขึ้นมาจากปัญหาตัวเองและมองไปรอบๆ เพื่อคอยพยุงคนรอบข้างบ้างบางคราว ครอบครัวฟิชเชอร์เป็นกลุ่มคนที่หมกมุ่นอยู่กับความเศร้าและขมขื่น แต่อย่างน้อยพวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะไม่กลายเป็นนรกของกันและกัน

นั่นคือสิ่งที่เรียกร้องขั้นต่ำของการเป็นครอบครัว

2

Six Feet Under บรรจุประเด็นทางการเมืองและสังคมไว้มากมาย จำนวนมากเป็นประเด็นก้าวหน้าที่มีข้อถกเถียงในสังคม ทั้งเรื่องการยอมรับความรักของเพศเดียวกัน การเหยียดเกย์ในสายตาคนนับถือศาสนา แนวคิดชายเป็นใหญ่ การคุกคามทางเพศ การทำแท้ง โทษประหารชีวิต การส่งทหารไปรบต่างประเทศ รวมถึงการทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ความกล้าหนึ่งของเรื่องนี้คือการสร้างพฤติกรรมตัวละครหลักที่เลยเส้นศีลธรรมคนทั่วไปจนยากจะยอมรับ แต่ผู้ชมก็ไม่อาจเบือนหน้าหนีได้

ส่วนสำคัญที่สุดที่เป็นไอเดียหลักคือเรื่อง ‘ความตาย’ และสิ่งที่จะมาคู่กันแบบหนีไม่พ้นคือเรื่อง ‘ชีวิต’

หากจะอธิบายสั้นๆ ว่า Six Feet Under พูดถึงอะไร คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ครุ่นคิดถึงเรื่องความตาย ชีวิตก่อนความตายและชีวิตหลังความตาย

ชายคนนั้นก็คือเนท พี่ชายคนโตของบ้านที่พยายามรับมือความตายของพ่อที่เกิดขึ้นกะทันหันและเขาเพิ่งรู้ตัวหลังพ่อจากไปว่า เขาไม่ได้รู้จักพ่อตัวเองดีเลย ที่ผ่านมาพ่อเป็นแค่ผู้ชายไม่ค่อยพูด ทำแต่งาน ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่นั่นคือชีวิตแค่เสี้ยวเดียวของพ่อ และชีวิตส่วนอื่นๆ ของพ่อที่เขายังไม่รู้จักก็กลายเป็นโลกลี้ลับที่เขาไม่มีโอกาสสัมผัสอีกแล้ว

ต่อมาเนทต้องเผชิญหน้ากับความตายของตัวเอง เมื่อรู้ว่าตัวเองเจ็บป่วย ตลอดเส้นทางหลายซีซันของซีรีส์คือการคุยกับตัวเองเรื่องความตายในหัวเนท ผู้ไม่เคยอยากตาย

มนุษย์ทุกคนย่อมเคยครุ่นคิดถึงความตาย ไม่ว่าจะของตัวเอง ของคนอื่น บางคนเคยมีประสบการณ์จัดการกับความตายของคนใกล้ตัว รวมถึงจัดการความตายของตัวเองล่วงหน้า แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคุณต้องจัดการความตายทุกวัน คุณจะสามารถชาชินกับความตายได้ไหมหากเห็นมันซ้ำๆ

นั่นคือสิ่งที่คนจัดงานศพต้องเจอ งานประเภทนี้คงง่ายกว่าสำหรับคนที่ทำงานเพียงเพื่อให้ผ่านไปในแต่ละวัน แต่เป็นเรื่องยากสำหรับเนท ผู้เพิ่งก้าวเข้าสู่วงการจัดงานศพโดยหอบหิ้วชีวิตอันสับสนเต็มไปด้วยคำถามของตัวเองมาด้วย ทั้งคำถามต่อความตายและคำถามต่อการมีอยู่ของเขาเอง ความตายแต่ละวันที่เกิดขึ้นตรงหน้าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ตลอดทางของซีรีส์คือการพยายามสนทนากับผู้ชมเรื่องความตายและการมีอยู่ ทั้งในบทสนทนาชีวิตประจำวันของตัวละครและในบทสนทนาของตัวละครกับคนตาย เช่นที่ยามลับตาคนแล้วเนทหรือเดวิดมักพูดคุยกับพ่อผู้ล่วงลับว่า หากพ่อเห็นเขาตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้แล้วจะพูดอะไร …ซีรีส์เรื่องนี้ไม่มีผี บทสนทนาทั้งหมดนั้นคือเสียงที่ตัวละครสร้างขึ้นในหัวเพราะคำนึงหาพ่อและเสียดายว่าพวกเขาไม่เคยคุยกับพ่ออย่างจริงจังเลย จนกระทั่งไม่มีโอกาสอีกแล้ว

ระหว่างที่ตัวละครคุยกับเสียงในหัว บทสนทนาหลายครั้งมักนำให้ผู้ชมกลับมาคุยกับตัวเองถึงเรื่องความตายและการมีอยู่เช่นกัน

มนุษย์รู้ว่าตัวเองเป็นสัตว์ที่ต้องตาย (mortal) แต่มนุษย์ก็แสร้งว่าไม่เคยมีความจริงข้อนี้อยู่ ยามมีชีวิตเกิดใหม่ เมื่อสบตาลูกน้อยในอ้อมอก เราก็พร้อมปฏิเสธความจริงที่ว่าเด็กน้อยคนนี้ต้องสูญสลายไปในสักวันหนึ่ง

เช่นที่เมื่อเนทรู้ตัวว่าตัวเองป่วยโรคร้ายแรง ระหว่างคุยถึงเรื่องอนาคตกับแฟน (เบรนด้า) เขาไม่ลืมย้ำเตือนความจริงข้อนี้

“ผมกำลังจะตายนะ ผมอาจตายตอนไหนก็ได้”

“แล้วไง แล้วฉันไม่ตายเหรอ”

อาจเป็นตลกร้าย หากมีคนเดินมาบอกว่า “คุณต้องตาย” หรือ “คุณกำลังจะตาย” คนที่ได้ยินอาจงุนงงหรือโกรธ ทั้งที่เป็นเพียงการพูดถึงความจริงของโลก

สิ่งที่มนุษย์อาจต้องคำนึงน้อยลงเมื่อคิดถึงความตาย คือเรื่องที่ว่าเราจะตายอย่างไรหรือหลังตายแล้วเราจะเป็นอย่างไร แต่คำถามที่อาจสำคัญกว่าคือปัจจุบันเราใช้ชีวิตอย่างไร มีชีวิตเพื่ออะไร

3

ลูกค้าที่เดินเข้ามาที่บ้านฟิชเชอร์เพื่อให้จัดงานศพคนในครอบครัวล้วนมีวิธีรับมือความตายที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่คร่ำครวญถึง ‘อนาคต’ ที่ไม่มีวันมาถึง ทั้งเรื่องที่ยังไม่เคยบอกคนตาย ความตั้งใจว่าจะดูแลเอาใจใส่คนตายมากขึ้น การท่องเที่ยวที่ผัดผ่อนจนไม่ได้ไปเสียที แต่การคร่ำครวญเป็นเพียงเรื่องชั่วครู่ เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนมักรู้ตัวว่าต้องรับมือกับ ‘ปัจจุบัน’ ที่เปลี่ยนแปลง

เรื่องยากไม่ต่างกันคือการรับมือกับความตายของตัวเอง โดยเฉพาะคนป่วยที่รู้ตัวว่านาฬิกากำลังนับถอยหลัง เมื่อมองเข้าไปในความตายอย่างจริงจัง เฝ้ามอง สำรวจ และพูดคุยกับตัวเองเรียบร้อยแล้ว มนุษย์จำนวนมากไม่ได้รู้สึกเสียใจกับความตายของตัวเองเท่าที่รู้สึกเมื่อคิดถึงสิ่งที่เหลืออยู่ พูดง่ายๆ ว่า เมื่อพูดถึงความตาย มนุษย์มักไม่ได้คิดถึงสิ่งที่จบสิ้น แต่กลับคิดถึงสิ่งที่ยังไม่จบ อย่างครอบครัวที่เหลืออยู่ ธุรกิจที่กำลังไปได้สวย เรื่องบางอย่างที่ไม่เคยทำ

มนุษย์อาจไม่ได้กลัวการตายเท่าที่กลัวการรู้ว่าในอนาคตเขาจะไม่ได้กอดลูกน้อย ไม่ได้เห็นลูกแต่งงาน ไม่ได้อยู่ปลอบโยนคนรักยามเป็นทุกข์ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดมักไม่ใช่สิ่งที่เรามองเห็น

ตัวละครใน Six Feet Under พูดกันมากเรื่อง ‘ปัจจุบัน’ และ ‘อนาคต’ เมื่อมองไปข้างหน้า คำว่า ‘อนาคต’ เป็นเหมือนจักรวาลอันเวิ้งว้างที่ไม่มีใครหยั่งรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่สุดคือในก้อนจักรวาลอนาคตนั้นมี ‘ความตาย’ รออยู่ การคิดถึงเรื่องอนาคตมักทำให้เราคิดถึงความตายคู่กันอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ ทั้งหมดนั้นสร้างความกลัวแก่เรา กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น กลัวความไม่แน่นอน กลัวคนรักโดดเดี่ยว กลัวสูญเสียสิ่งที่รักทั้งหมดในชีวิต

หากจะสรุปท่าทีของซีรีส์ที่มีต่อเรื่องนี้ ก็ต้องยกคำพูดของเบรนด้าที่ว่า

“อนาคตก็เป็นแค่คอนเซ็ปต์เห่ยๆ ที่มีไว้ให้เราหลีกหนีการอยู่กับปัจจุบันนั่นแหละ”

4

อีกหนึ่งความน่าสนใจของซีรีส์นี้คือการพาเราไปสำรวจพิธีกรรมความตายในหลายศาสนา แม้ไม่ครบถ้วนแต่ก็มากพอจะสร้างบทสนทนา ที่น่าชวนคิดคือการฉายภาพฉากงานศพพุทธไทย ซึ่งเมื่อเนทและเดวิดในฐานะคนนอกศาสนาพุทธมองพิธีกรรมต่างๆ มากมายที่คนพุทธทำในวาระความตายก็เกิดคำถามขึ้นมา เช่น การตักน้ำรดมือศพโดยอธิบายว่าเป็นการขอโทษหรือยกโทษแก่ผู้ตาย (อโหสิกรรม)

“แค่นี้มันพอเหรอ?” คำถามสำหรับการขอโทษใครสักคนต่อเรื่องไม่ดีที่เคยทำต่อกันมา เป็นคำถามที่ชาวพุทธเลิกตั้งคำถามและทำตามกันมาโดยไม่คิดอะไร และสุดท้ายพิธีกรรมต่างๆ ก็ไม่ช่วยให้ครอบครัวผู้ตายเศร้าน้อยลง กลับมีอะไรต้องทำมากขึ้นในช่วงที่ยังจัดการความรู้สึกตัวเองไม่ได้

ซีรีส์ยาวถึงห้าซีซัน มีช่วงเอื่อยบ้าง แต่ในซีซันสุดท้ายที่ต้องทำพิธีกรรมขมวดจบหลังดราม่าลากยาวจนเริ่มเหนื่อยล้า คนเขียนบทเสี่ยงเลือกทางจบของเรื่องที่ไม่ซ้ำซาก เหมือนตบหน้าคนดูแล้วจับเหวี่ยงขึ้นรถไฟเหาะจนมึนงง แต่ยืนยันได้ว่าไม่มีใครสามารถลืมตอนจบของเรื่องนี้ได้เลย

เรื่องหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นสำหรับคนที่ดูซีรีส์นี้จบ คือจะเริ่มคิดถึงการวางแผนงานศพตัวเองล่วงหน้า เพราะคุณคงเกลียดมากหากรู้ว่าแม่เดาเอาเองว่าคุณชอบเพลงอะไรแล้วเปิดเพลงนั้นวนตลอดงาน, คนในครอบครัวมาเถียงกันว่าคุณนับถือศาสนาอะไร ทั้งที่คุณไม่นับถือศาสนา, ลูกชายทึกทักเอาเองว่าคุณเหมาะกับโลงศพสไตล์ไหน, หลานสาวมึนงงว่าใครคือเพื่อนคุณที่ควรเชิญมางานศพบ้าง แน่ละว่าคุณตายแล้วคงไม่รับรู้เรื่องราวพวกนี้ แต่คงดีกว่าถ้าคุณตัดสินใจเลือกภาพจำครั้งสุดท้ายสำหรับงานศพตัวเองเพื่อความสะดวกแก่คนที่ยังอยู่ ซึ่งก็อาจไม่ได้รู้จักคุณดีเท่าไหร่

ความตายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องเจอ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save