ณัฐชลภัณ หอมแก้ว เรื่อง
เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสนทนาที่พูดถึงกันอย่างหนาหู โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ‘PM 2.5’ ที่มีผลกระทบรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว จนรัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่มลพิษทางอากาศก็ยังทวีความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศ เมื่อค่าฝุ่นละอองพุ่งทะยานสูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตัวและหันมาสนใจปัญหาดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากความพยายามแก้ปัญหาจากภาครัฐแล้วก็ยังมีกลุ่มจากภาคเอกชนที่ชื่อว่า ‘Thailand Clean Air Network’ หรือ ‘เครือข่ายอากาศสะอาด’ เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการและนักวิจัย รวมไปถึงองค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อผลักดัน ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ สำหรับการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศที่ซับซ้อนและเรื้อรังมาเป็นเวลานานหลายปี โดยให้มีการรับรองสิทธิของประชาชนที่จะหายใจอากาศสะอาด และกำหนดหน้าที่ของรัฐที่จะทำให้สิทธิดังกล่าวของประชาชนเกิดขึ้นได้จริง
‘สิทธิที่จะมีอากาศสะอาดหายใจ’ หรือ right to breathe เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ
101 มีโอกาสพูดคุยกับกับ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมไทยตอนนี้ ตั้งแต่อันตรายที่แฝงตัวอยู่ในฝุ่น PM 2.5 แนวทางการแก้ปัญหา และการผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาด
ศ.ดร.ศิวัช เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีอากาศและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หนึ่งในนักวิจัยของเครือข่ายอากาศสะอาดและผู้ที่ศึกษาด้านมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานาน และเป็นนักวิจัยประจำ IEECAS (Institute of Earth Environmental Chinese Academy of Sciences) ในประเทศจีน มีหน้าที่ตรวจวัดมอนิเตอร์สารก่อมะเร็ง และโลหะหนักในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์กับ IEECAS
สิ่งที่น่าสนใจท่ามกลางปัญหาตอนนี้ คือ เราไม่มีองค์ความรู้ที่กระจ่างชัดว่าเรากำลังสูดอากาศที่มีอันตรายอย่างไรบ้าง และจะส่งผลกระทบถึงสุขภาพของเราเพียงใด
ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้อาจารย์มองว่าส่งผลถึงอะไรบ้างและแตกต่างกับปีที่แล้วอย่างไร
มืดแปดด้าน นี่แหละคือความน่ากลัว เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าในฝุ่นมีค่าสารก่อมะเร็งสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ยังเป็นที่พักพิงให้กับเชื้อโรคร้าย ไม่ว่าจะเป็นแอนแทรกซ์ ซาลโมเนลลา อีโคไล ไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อการกลายพันธุ์ ถ้ารับในปริมาณมากก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดบางทีเรารับไปแล้วอาจไม่เกิดผลกับตัวเราโดยตรงแต่มีโอกาสส่งผลให้ลูกเราเกิดความผิดปกติต่อร่างกาย เช่น เป็นเด็กดักแด้ หรือมีร่างกายที่ผิดปกติ นี่คือความน่ากลัวและอันตรายของไดออกซิน
อย่างตอนนี้ก็มีโคโรนาเป็นเชื้อตัวใหม่เข้ามาอีก เชื้อพวกนี้ก็จะกระจายไปเกาะกับฝุ่น ดังนั้นตอบเลยว่าสิ่งที่น่ากลัวคือเราไม่รู้ เราขาดข้อมูลที่จะมาตอบ เราไม่มีองค์ความรู้นี้เลย
มีงานวิจัยที่ผมทำเกี่ยวกับ การประเมินสารก่อมะเร็ง (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) การเผาไหม้ของชีวมวลในภาคเหนือ ส่วนภาครัฐจะมีข้อมูลจากการมอนิเตอร์ วัด PM 2.5 PM 10 วัดค่าโอโซน วัดค่าอะไรที่ง่ายๆ แล้วก็จบแค่นั้น แต่อย่าลืมว่าอากาศเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องใช้หายใจ เราออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ มากมายแต่เราไม่เคยออกมาเรียกร้องสิทธิในการสูดอากาศบริสุทธิ์เลย อาจารย์คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยใช้คำว่า ‘Right to Breathe’ เกิดมาแล้วทุกคนจะต้องมีสิทธิที่จะสูดอากาศบริสุทธิ์ในการหายใจ
กรมควบคุมมลพิษไม่ได้วัดสารก่อมะเร็งหรือโลหะหนักเลย ยังมีสารปรอทที่เป็นสาเหตุของโรคมินามาตะ ซึ่งอาจส่งผลให้กระดูกผิดรูป แคดเมียมที่เป็นสาเหตุของโรคอิไตอิไตทำให้มีอาการเจ็บปวดเข้ากระดูก และสารหนูที่เป็นส่วนหนึ่งของสารก่อมะเร็ง เราไม่ได้วัดสารเหล่านี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ งบประมาณไม่เพียงพอก็เข้าใจได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบอยู่ดี เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องมอบให้กับประชาชน
เปรียบเทียบความตื่นตัวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเมื่อปีที่แล้วกับปีนี้แตกต่างกันแค่ไหน
ปีที่แล้วยังมึนๆ กันอยู่ ต้องเรียนตามตรงเพื่อความยุติธรรมว่าปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เพิ่งเกิด มันเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานแล้ว เพียงแต่เป็นเหมือนกับมัจจุราชเงียบ คนจะตอบสนองกับสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น วันไหนที่มองเห็นฟ้าหลัวหรือเริ่มรู้สึกหายใจไม่สะดวก ไอ จาม เราก็รู้แล้วว่าค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง แต่ในความเป็นจริงต่อให้อากาศเหมือนจะสะอาด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสะอาดเสมอไป เพราะในอากาศเหล่านั้นก็ยังมีฝุ่นละอองกระจายอยู่
ประเด็นหลักคือรัฐบาลยังไม่ได้ให้คำตอบกับเราเลยว่าในฝุ่นพวกนั้นมีสารพิษอะไรอยู่บ้าง ในแต่ละจังหวัดต่างกันอย่างไร มีสารก่อมะเร็งอยู่ไหมหรือว่ามีสารก่อการกลายพันธุ์อยู่หรือเปล่า ตอนนี้เราคุยกันแค่ว่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นหรือต่ำลงแค่นั้นเอง ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าสูงหรือต่ำแต่อยู่ที่ว่ามีอะไรบ้างที่อยู่ในนั้น
ภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรมีส่วนแค่ไหนกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5
เรายังไม่มีข้อมูลเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นงานวิจัยของผมเองก็พอทราบคร่าวๆ ว่าในภาคเหนือช่วงวิกฤตมีสาเหตุสำคัญมาจากการเผาที่ทำให้ฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มขึ้น แต่หากดูสถานการณ์เชียงใหม่ทั้งปีโดยไม่ได้โฟกัสแค่เฉพาะช่วงที่มีการเผา พบว่าต้นกำเนิดสารก่อมะเร็งอับดับหนี่งคือไอเสียยานพาหนะ ตามมาด้วยอันดับสองคือการเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้ง แต่กรุงเทพฯ เกือบ 100% จะเป็นไอเสียยานพาหนะ
ในขณะที่ภูเก็ตได้รับผลไม่น้อยจากมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงประมาณปลายปีที่แล้วถ้ายังจำกันได้มีมลพิษข้ามพรมแดนมาจากเกาะกาลิมันตันที่มีการเผาป่าพรุ ในช่วงนั้นฝุ่นควันเยอะมากลอยมาถึงตอนใต้ของไทยลามมาถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัญหาก็คือมลพิษทางอากาศไม่ได้เกิดขึ้นจากภูเก็ตแต่มาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่นอกประเทศ คือมลพิษข้ามพรมแดนกรณีเดียวกันกับที่สิงคโปร์เผชิญ
เชียงใหม่ที่เจอปัญหาฝุ่นละอองมานาน มีวิธีจัดการที่น่าสนใจไหม
ต้องบริหารจัดการการเกษตร เรื่องนี้คุยกันยาว ปัญหาคือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาโดยตลอด โครงสร้างพืชเชิงเดี่ยวมันไม่เหมาะสมกับหลายๆ พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ราบสูง เพราะที่ราบสูงไม่สามารถเอาเครื่องจักรขึ้นไปได้ ทำให้ใช้เครื่องจักรเคลียร์หน้าดินไม่ได้ จึงมี 2 ตัวเลือกเท่านั้นคือเผาและใช้สารเคมี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ไม่ดีทั้งนั้น ดังนั้นวิธีที่ถูกคือไม่ควรปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนที่ราบสูง แล้วคุณไปปลูกข้าวโพดบนภูเขาได้อย่างไร มันผิดตั้งแต่ตรงนี้แล้ว
คำถามต่อมาคือเขาปลูกข้าวโพดไปทำไม ปลูกไปขายให้ใคร ก็คือบริษัทที่รับซื้อเพื่อใช้ทำอาหารสัตว์ไง ปัญหาต้องกลับไปจุดเริ่มต้น
เครือข่าย Thailand Clean Air มารวมตัวกันได้อย่างไร และมีเป้าหมายอย่างไร
พวกเราเจอกันตามงานเสวนา แล้วรู้สึกว่าต้องทำอะไรแล้วเพราะปีที่ผ่านมาผมเองก็เป็นผู้ประสบภัย ไอจนเป็นเลือด ที่จริงผมไม่อยากซื้อเครื่องฟอกอากาศเลย เพราะคิดว่ามันฟุ่มเฟือย แต่ทนไม่ไหว ไอทั้งคืน ไอไม่หยุด ไอจนเสมหะออกมาเป็นเลือด จนรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว นี่ขนาดเราทำงานด้านอากาศมาโดยตรงยังเป็นผู้ประสบภัยเลย พอเปิดเครื่องฟอกอากาศค่าฝุ่นละอองก็ลดลงอย่างมีนัยยะ แล้วคนที่ไม่มีเครื่องฟอกอากาศเขาอยู่กันอย่างไร การทำงานวิจัยมาทำให้รู้ว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดก็คือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน หลายคนที่ออกมารวมตัวกันก็เพราะเห็นลูกไอเป็นเลือดจนทนไม่ไหว ส่วนใหญ่มีลูกน้อย
มองไปในอนาคตแล้วคิดว่าทำไมเขาต้องมาทนอะไรแบบนี้ นี่คือเหตุผลที่ทำให้มารวมตัวกัน พวกเราที่มารวมตัวกันเพราะมีอุดมการณ์เหมือนกัน ผมคิดว่าจริงๆ แล้วคนไทยทุกคนควรจะเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ด้วยซ้ำ
ทางเครือข่ายมี ‘สมุดปกขาวอากาศสะอาด’ อยากทราบว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร
อันนี้เป็นแนวความคิดของอาจารย์คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ท่านแนะนำว่าก่อนที่จะเป็นกฎหมายอากาศสะอาดจะต้องมีการนำร่องก่อน ต้องการสร้างความตระหนักรู้และความตื่นรู้ของประชาชนก่อน ให้รู้ที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ออกกฎหมายมาเลย อย่างเช่นถ้าเขาขับรถเครื่องยนต์ดีเซลแล้วถูกห้าม เขาก็จะงง รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม แล้วคนขับเบนซินหรือแอลพีจีล่ะ เขารู้สึกโกรธเพราะเขาไม่รู้
‘สมุดปกขาว’ เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตื่นรู้ ให้ตระหนักถึงปัญหาก่อน หลังจากนั้นนำไปสู่ ‘สมุดปกน้ำเงิน’ เพื่อที่จะมีการลงลึกไปถึงปัญหาว่าแท้ที่จริงแล้วมีอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนติดตามอ่าน เมื่อได้ความรู้มากขึ้นก็นำไปสู่ ‘สมุดปกเขียว’ เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหา การตอบโจทย์ปัญหาทั้งหมดที่มี ถ้าทำแบบนี้ได้ก็จะนำไปสู่การยกร่างกฎหมายอากาศสะอาดขึ้นมา
การระดมความเห็นแก้ปัญหาฝุ่นของ Thailand Clean Air เห็นแนวทางที่ตรงกันไหม
ส่วนใหญ่เห็นตรงกันร้อยละ 80-90 เรามีการเรียกร้องให้เกิดกฎหมายอากาศสะอาด แต่ประเทศนี้ออกกฎหมายเยอะมาก ออกมาแล้วก็ขัดแย้งกันเอง เกิดความทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานจนกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวเอง ไม่เดินหน้าและนำมาใช้ไม่ได้
ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ตไม่เหมือนกัน เชียงใหม่ในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องการเกษตร กรุงเทพฯ เป็นไอเสียจากยานพาหนะแต่ก็ได้รับผลกระทบจากการเผาไร่อ้อยจากจังหวัดอื่นในภาคกลาง ส่วนภาคใต้ถือว่าโชคดีเพราะได้รับอานิสงส์จาก 2 มหาสมุทรคือฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ยกเว้นช่วงวิกฤตที่เกิดการไหม้ของป่าพรุจากมลพิษข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นในเกาะกาลิมันตัน อินโดนีเซีย ภาคใต้เป็นปัญหาในระดับอาเซียน เพราะต่อให้ไม่มีจุดความร้อนแม้แต่จุดเดียวในประเทศไทย แต่ถ้ามีการเผารอบๆ ก็เข้ามาอยู่ดี มลพิษไม่มีพรมแดนจึงต้องแก้ปัญหากันระดับอาเซียน เพราะฉะนั้นการมี Clean Air Act Thailand หรือกฎหมายอากาศสะอาดที่ประเทศไทยอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกฎหมายอากาศสะอาดของอาเซียนด้วย
กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีอยู่แค่ 3 ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายอากาศสะอาด คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1972 ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายอากาศสะอาดก็จะเป็นประเทศที่ 4 ในอาเซียน เราไม่ได้เป็นผู้นำเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด แล้วหากจะแก้ปัญหาทั้งอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดต้องลงนามให้สัตยาบัน ถ้าไม่ทำทั้งอาเซียนก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ต่อให้ประเทศไทยไม่ปล่อย PM2.5 แม้แต่โมเลกุลเดียว แต่ถ้าเพื่อนบ้านยังปล่อยอยู่เราก็ยังเจอปัญหานี้อยู่
ถ้าเรายังแก้ปัญหาไม่ได้ ควรมีการป้องกันหรือเตรียมตัวอย่างไรได้บ้าง
หนึ่งในแนวความคิดของผมก็คือ รัฐบาลรวมทั้งผู้ปล่อยมลพิษจะต้องรับผิดชอบ เช่น บริษัทขายรถยนต์ที่เราเปิดโอกาสให้เขามาขายในประเทศได้กำไรกลับไปแล้วแลกมาด้วยอะไร เรามีรถใช้แล้วเราก็ต้องมาสูดดมมลพิษ
ผมเป็นนักวิจัยประจำ IEECAS (Institute of Earth Environmental Chinese Academy of Sciences) เขามีนวัตกรรมที่เรียกว่าหอฟอกอากาศเกิดขึ้นที่จีน มีความสูง 60 เมตร เจ้าของโปรเจ็กต์นี้คือ ศ.ดร.Cao Junji ที่เป็นเพื่อนผม เขามีแนวความคิดสืบเนื่องมาจากเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ประกาศกร้าวว่าจะต้องทำสงคราม Blue Sky War คือสงครามจัดการเรื่องมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ มีการจัดตั้งตำรวจสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อตรวจจับควันดำ มีสติกเกอร์ที่เช็คได้ว่ารถยนต์ที่ปล่อยควันดำได้รับอนุญาตมาได้อย่างไร แล้วไล่ไปยังหน่วยงานที่ปล่อยให้รถควันดำมาวิ่งในถนนได้ ดังนั้นข้าราชการจะละเลยไม่ได้ ไม่สามารถรับสินบนกับผู้ประกอบการเพื่อให้มองข้ามเรื่องควันดำไปได้ สติกเกอร์นั้นจะระบุชัดเลยว่าข้าราชการหมายเลขนี้ของกรมขนส่งเป็นคนอนุญาต ไม่ใช่ว่าหาเจ้าภาพไม่เจอ แล้วคนที่ต้องรับเคราะห์ก็คือประชาชน
เราอาจจำเป็นต้องมีตำรวจสิ่งแวดล้อมแบบจีนขึ้นมา ให้มีอำนาจจัดการข้าราชการที่อนุญาตให้รถที่มีควันดำวิ่งได้ กฎก็มีอยู่แล้วต้องตรวจเข้ม แต่ขอให้ไม่ใช่แค่ขึงขังไปวันๆ หรือเล่นละครเล่นลิเกแล้วให้ประชาชนต้องมาแบกรับ มันไม่ถูก เมื่อข้าราชการมีหน้าที่จัดการคุมเข้มเรื่องนี้ เขาก็ต้องทำหน้าที่แค่นั้นเอง แต่ทำไมมันทำยากเหลือเกินในประเทศนี้ แล้วทำไมยังปล่อยให้รถเมล์ที่มีควันดำวิ่งได้อยู่ ทำไมไม่จัดการอะไรสักอย่าง
อาจารย์คิดว่ากฎหมายอากาศสะอาดจะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นได้ยั่งยืนไหม
ประเทศก็ต้องมีขื่อมีแปร ถ้ากฎหมายไม่มีบทลงโทษใครจะทำอะไรก็ได้ แต่ในกฎหมายอากาศสะอาดไม่ได้มีแต่บทลงโทษอย่างเดียว พวกเราคิดไว้ว่านอกจากบทลงโทษแล้วน่าจะสร้างแรงจูงใจด้วย เช่น ผู้ประกอบการเจ้าไหนที่มีการซื้อหรือติดตั้งอุปกรณ์ลดฝุ่น ลดควันดำ ก็ต้องลดหย่อนภาษีให้เขา เพราะเขาเสียเงินไปกับตรงนี้เยอะ กฎหมายต้องทำให้คนรู้สึกว่าอยากทำ อยากช่วยด้วย ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่ออกมาแล้วบั่นทอนให้ไม่อยากทำอะไร
การแก้ปัญหาให้ได้ผลจะกระทบหลายส่วน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร ไปจนถึงการแก้ปัญหาในประเทศเพื่อนบ้าน คิดว่าการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดจะมีโอกาสสำเร็จไหม
จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเห็นความสำคัญเหมือนพวกเราหรือเปล่า ท้ายที่สุดคนที่ได้รับอานิสงส์ก็คือคนไทยทุกคน แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นเราต้องตื่นรู้ก่อนว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง
อันดับหนึ่งเราต้องรู้ว่าเรามีสิทธิที่จะสูดอากาศสะอาด สองคือตื่นรู้ว่ามีภัยเงียบอะไรบ้างกำลังคุกคามและบั่นทอนโดยที่เราไม่รู้ตัว
เราถูกแนวความคิดหนึ่งทำให้เชื่อว่า เมื่อไหร่เรารวยแล้วเราจะมีความสุข ด้วยเหตุผลดังกล่าวเราจึงต้องพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร เพื่อทำให้เราสามารถทำธุรกิจได้มากขึ้น หาเงินได้เยอะขึ้น นั่นคือที่มาของสิ่งที่เรียกว่าความสุข โดยที่เราละเลยสิ่งที่สำคัญไป สิ่งที่สำคัญนั้นคือสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเรา
หากคุณมีเงินพันล้านในบัญชีธนาคาร แต่ต้องนอนให้น้ำเกลืออยู่ในโรงพยาบาล เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเพราะสูดเอาสารพิษเข้าไปเป็นประจำ กับให้เลือกอีกรูปแบบหนึ่งคือในบัญชีธนาคารคุณมีอยู่ 10 ล้าน แต่สภาพร่างกายแข็งแรงระดับนักกีฬาโอลิมปิกเลย คุณจะเลือกอะไร
ตอนนี้สิ่งที่ทุกรัฐบาลทำ ไม่ว่าจะเป็นใครเข้ามาก็จะพูดแต่เรื่อง GDP ของประเทศว่าโตกี่เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจฝืดเคืองเหลือเกิน คุยแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงิน ในยุคสมัยก่อนเขาไม่ได้มีเหมือนเราอย่างตอนนี้ก็ยังอยู่กันได้
ผมเข้าใจว่าเราอยู่ในโลกที่เน้นวัตถุ เราถูกสังคมบีบว่าใครไม่มีมือถือจะอยู่ไม่ได้ ไม่เข้าไลน์ก็ถูกตัดออกจากสังคม เราถูกบีบให้มีโน่นมีนี่ เราจึงต้องหาเงินมากขึ้น เราต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น แล้วเราก็ถูกบีบให้เบียดเบียนสุขภาพของเรามากขึ้น เพื่อให้เราป่วยง่ายขึ้น เพื่อให้มาสูดดมเอาสารพิษในชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้นแล้วก็ป่วย ออกไปข้างนอกควันดำเพียบ มันน่าอยู่ไหม?
จากผลกระทบต่างๆ นี้ อาจทำให้เกิดการประนีประนอมยอมรับข้อเสนอบางข้อไปใช้ และไม่รับบางข้อ ทางเครือข่ายมีหลักการไหมว่าเรื่องใดที่ไม่สามารถตัดออกได้หากต้องการแก้ปัญหาจริงๆ
เครือข่ายเราไม่ได้มีหน้าที่ประนีประนอม เรามีหน้าที่เรียกร้องและเราก็ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เราเสนอทางออกให้ นักวิชาการมีหน้าที่หนึ่งคือวิจัยตอบโจทย์สิ่งที่คนยังไม่รู้ และให้คำแนะนำกับรัฐบาล แต่นักวิจัยไม่ได้มีหน้าที่ไปบริหารจัดการเพราะนั่นคือหน้าที่ของรัฐบาล นั่นคือเหตุผลที่เราเลือกเขามาเป็นรัฐบาล
หากเสนอไปแล้วรัฐบาลไม่ใส่ใจ ประชาชนต้องมีหน้าที่ใส่ใจและติดตาม สื่อมีหน้าที่ที่จะต้องนำเสนอและกระตุ้นสังคม เฝ้าติดตามว่ารัฐบาลทำจริงหรือไม่ มีความจริงใจไหมไม่ใช่ว่าพอหมดช่วงฝุ่นละอองก็เฉไฉไปเรื่องอื่น
มองความเงียบในการจัดการปัญหาของรัฐบาลขณะนี้อย่างไร ประเด็นเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่ออกมาทำอะไรจริงจังไหม
เขาสนใจแต่การเติบโตของเศรษฐกิจ เขาสนใจแต่ GDP สนใจแต่การสร้างโรงงาน ซึ่งตัวเขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ เราก็ต้องเมตตาและเห็นใจรัฐบาลด้วยว่าเขาไม่รู้ ต้องถามถึงจุดยืนก่อนว่าจะเอาแบบไหน คุณจะตะบี้ตะบันเอาแต่เรื่องเศรษฐกิจโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมไม่ได้
ภาคประชาชนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก สื่อก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากถึงมากที่สุดที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ คนจะเริ่มไม่ทนถ้ารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ที่ผ่านมาเราเงียบมาตลอด เราถูกเอาเปรียบมาตลอดในเรื่องต้นทุนสุขภาพ ต้นทุนสิ่งแวดล้อม ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีประเทศไหนที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โตเกียวเมืองใหญ่มหาศาลยิ่งกว่าเราทำไมสูดอากาศได้เต็มปอด เพราะเขาจัดการได้สำเร็จ รถต้องใหม่ ไม่มีควันดำทุกอย่างจึงสำเร็จ
หากอาจารย์จะมีข้อเสนอส่วนตัว คิดว่ามีวิธีใดที่ต้องทำเร่งด่วนและวิธีใดจะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในระยะยาวได้บ้าง
ผมพูดมาตลอดเรื่อง work from home ส่วนการควบคุมเครื่องยนต์ดีเซลยังไงก็ต้องทำ เพราะเครื่องยนต์ดีเซลปล่อยมลพิษเยอะสุด เคยสังเกตไหมว่าที่สยามสแควร์รถเยอะมากแต่มลพิษไม่ได้สูงที่สุด มลพิษกลับไปหนักอยู่ที่ดินแดง-โชคชัย 4 เพราะส่วนใหญ่รถที่อยู่แถบสยามสแควร์-มาบุญครองเป็นแท็กซี่ซึ่งใช้แก๊สเป็นส่วนใหญ่ เทียบกับดีเซลแล้วแก๊สจะปล่อยมลพิษน้อยกว่า และรถส่วนตัวส่วนมากเป็นรถราคาแพง รถระบบไฮบริด ซึ่งปล่อยมลพิษน้อย แต่ที่ดินแดง-โชคชัย 4 ส่วนมากเป็นรถสิบล้อ รถบรรทุก รถดีเซล heavy duty ปล่อยควันดำขโมงเลย แล้วยิ่งช่วงขึ้นทางด่วนก็จะไปอัดกันอยู่ตรงนั้น สารก่อมะเร็งแถวดินแดงเพียบ ยังไงก็ต้องจริงจังกับเรื่องการควบคุมเครื่องยนต์ดีเซล ยังไงก็ต้องทำ
ภาคประชาชนสามารถทำอะไรได้บ้างกับสถานการณ์เช่นนี้
คนไม่ออกมาเรียกร้อง จุดเดือดคนไทยอยู่สูงเกินไป เหมือนเรื่องกบที่ถูกต้มอยู่ในหม้อ ถ้าเราเอากบเป็นๆ ใส่ในหม้อต้มน้ำแล้วเปิดไฟ ตอนแรกจะเริ่มอุ่นๆ หากเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไหวตัวกับการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ก็จะรีบทำอะไร แต่กบก็ยังเฉย จนน้ำเริ่มเดือดกบก็เริ่มไม่ไหว แต่พอคิดจะกระโดดก็ทำไม่ได้แล้วเพราะกล้ามเนื้อไม่ทำงาน ผลสุดท้ายคือสุก
ประชาชนจะตื่นตัวได้เมื่อมีสื่อที่ดีนำเสนอข้อมูลละเอียดตรงประเด็น ผมไม่ได้ปฏิเสธการเรียกร้องเรื่องอื่นๆ อยากเรียกร้องก็เรียกไป แต่อากาศหายใจหากไม่มีสัก 3 นาทีก็ตายแล้วไม่เห็นเรียกร้องอะไรกันเลย ออกไปข้างนอกก็เจอสารก่อมะเร็ง แล้วสารก่อมะเร็งแต่ละตัวก็มีค่าเป็นพิษไม่เท่ากัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีมอนิเตอร์เพื่อวิเคราะห์ เช่นที่อังกฤษมีระดับรายตำบลเลย