fbpx

แจกเงินถ้วนหน้า คนละหลายหมื่นบาท ต่อเนื่องหลายปี : สิงคโปร์ทำได้อย่างไรโดยไม่กู้มาแจก?

ขณะที่สังคมไทยกำลังถกเถียงเรื่องนโยบายแจกเงินคนละ 10,000 บาทผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกันอย่างเผ็ดร้อนโดยยังไม่รู้ว่าในที่สุดโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ไม่นานนี้ก็มีข่าวว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเราประเทศหนึ่งอย่าง ‘สิงคโปร์’ ประกาศแจกเงินประชาชนอายุ 21 ปีขึ้นไปในเดือนธันวาคมนี้ โดยที่จำนวนเงินต่อคนแตกต่างกันไปตามระดับรายได้ต่อปีและจำนวนการถือครองอสังหาริมทรัพย์ โดยอยู่ในระหว่าง 200-800 ดอลลาร์สิงคโปร์ (5,200-20,800 บาท) และมีจำนวนผู้มีสิทธิรับเงินทั้งสิ้นประมาณ 2.9 ล้านคน

การปรากฏขึ้นของข่าวนี้ทำให้ผู้คนบนโซเชียลมีเดียและสำนักข่าวหยิบยกมาพูดถึงและเปรียบเทียบกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของไทยกันไม่น้อย โดยจำนวนหนึ่งเป็นการพูดขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเพื่อไทยนั้นมาถูกทาง เพราะขนาดประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ก็ยังใช้วิธีนี้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นนี้กลับมองข้ามรายละเอียดของโครงการที่สิงคโปร์กำลังดำเนินการ เพราะแท้จริงนั้น นโยบายแจกเงินของสิงคโปร์มีอยู่หลายจุดที่ไม่ได้เหมือนของประเทศไทย นับตั้งแต่รูปแบบการแจกเงิน จุดประสงค์ที่แท้จริงของการแจกเงิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะที่ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อมาแจกประชาชน สิงคโปร์กลับไม่ได้กู้เลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว จึงน่าคิดว่าสิงคโปร์นำแหล่งเงินมาจากไหน

บทความนี้จึงชวนไปทำความเข้าใจในรายละเอียดถึงโครงการแจกเงินของรัฐบาลสิงคโปร์ และชวนไปดูด้วยว่าโครงการนี้ต้องเผชิญข้อท้วงติงอะไรเหมือนอย่างที่ดิจิทัลวอลเล็ตของไทยเผชิญหรือไม่

Assurance Package + GST Voucher :
แจกเงินยาวหลายปี เยียวยาค่าครองชีพประชาชน

อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าการแจกเงินของรัฐบาลสิงคโปร์ในเดือนธันวาคมนี้ที่เห็นตามข่าวไม่ใช่การแจกครั้งแรกและครั้งเดียว แต่เป็นการแจกเงินที่กินเวลาต่อเนื่อง 5 ปี โดยแจกทุกเดือนธันวาคมตั้งแต่ปี 2022-2026 ด้วยมูลค่าแตกต่างกันไปในแต่ละปี นโยบายแจกเงินของสิงคโปร์ชุดนี้มีชื่อว่า Assurance Package (AP) for GST หรืออาจแปลเป็นไทยว่าแพ็กเกจสร้างหลักประกันสำหรับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสิงคโปร์ใช้ตัวย่อว่า GST (Goods and Service Tax) ขณะที่บ้านเราใช้คำว่า VAT (Value Added Tax)

กล่าวอย่างง่ายคือนโยบายแจกเงินดังกล่าวมีขึ้นเพื่อช่วยเยียวยาประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศสิงคโปร์จาก 7% เป็น 9% ซึ่งเดิมทีรัฐบาลได้ประกาศล่วงหน้าว่าการขึ้นภาษีจะเริ่มต้นขึ้นในวันใดวันหนึ่งระหว่างปี 2021-2025 จนกระทั่งการขึ้น GST ได้เริ่มต้นขึ้นจริงในวันที่ 1 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา โดยขึ้นเป็น 8% และกำลังจะขึ้นในอีกขั้นหนึ่งเป็น 9% ตามเป้าหมายในวันที่ 1 มกราคม 2024 ที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้

หากถามว่าทำไมถึงต้องขึ้น GST นั้น รัฐบาลสิงคโปร์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะในอนาคต ภาครัฐจะมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมากขึ้น จากการมีประชากรสูงวัยมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มต้นทุนด้านบริการสุขภาพและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็จะพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ในตอนนั้นก็ถือได้ว่าแทบจะต่ำสุดในเอเชีย

อันที่จริงปัญหาเงินเฟ้อก็ไม่ได้มาจาก GST เท่านั้น แต่รัฐบาลสิงคโปร์ยังพูดถึงปัญหาความชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน, สงครามรัสเซีย-ยูเครน ฯลฯ ว่าเป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานการณ์โลกตอนนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการแจกเงินนี้

แรกเริ่มที่รัฐบาลประกาศแพ็กเกจนี้มาในปี 2020 นั้น รัฐบาลตั้งใจใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1.4 แสนล้านบาท; คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในปีนั้น) แต่ปรากฏว่าในแต่ละปี รวมถึงในปีล่าสุด รัฐบาลก็ตัดสินใจอัดฉีดเงินเข้าโครงการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายถึงจำนวนเงินที่แจกประชาชนต่อหัวนั้นก็เพิ่มขึ้น ทำให้ในปัจจุบัน แพ็กเกจดังกล่าวใช้เงินรวมทั้งสิ้นเกินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2.6 แสนล้านบาท)

โครงการ AP for GST ประกอบด้วยเงินหลายก้อนที่แจกจ่ายออกสู่ประชาชน โดยเงินก้อนหลักคือ Assurance Package Cash (AP Cash) ซึ่งในปีปัจจุบัน (2023) ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินตั้งแต่ 200 ถึง 800 ดอลลาร์สิงคโปร์ (5,200 ถึง 20,800 บาท) ขึ้นกับระดับรายได้และจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครอง และหากคิดเป็นจำนวนเงินตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการ ประชาชนสิงคโปร์จะได้รับเงินรวมกันทั้งสิ้นคนละ 700 ถึง 2,250 ดอลลาร์สิงคโปร์ (18,200 ถึง 58,500 บาท) (รายละเอียดที่ภาพ 1)

อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำที่ประชากรสิงคโปร์ได้รับต่อคนเท่านั้น เพราะภายใต้แพ็กเกจนี้ยังมีการแจกเงินเสริมให้อีกหลายก้อน เช่น เงินเพิ่มเติมสำหรับผู้สูงวัย, เงินประกันสังคมเพิ่มเติม, เงินช่วยค่าครองชีพพิเศษ, เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค, วอยเชอร์ส่วนลดสำหรับใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค, การเติมเงินสนับสนุนสำหรับการพัฒนาเด็กที่แจกให้สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี และการเติมเงินเข้าบัญชีเพื่อการศึกษาสำหรับเยาวชนอายุ 7-20 ปี โดยมีการตั้งเกณฑ์บุคคลที่มีคุณสมบัติรับเงินก้อนต่างๆ แตกต่างกันไป จึงเรียกได้ว่าประชาชนสิงคโปร์ทุกวัยได้รับเงินกันอย่างถ้วนทั่ว

แจกเงินถ้วนหน้า คนละหลายหมื่นบาท ต่อเนื่องหลายปี : สิงคโปร์ทำได้อย่างไรโดยไม่กู้มาแจก?
ภาพ 1: รายละเอียดมูลค่าการแจกเงิน AP Cash ภายใต้โครงการ Assurance Package ปีงบประมาณ 2023-2027 และเงินแจกเสริมของปีงบประมาณ 2023
ภาพโดย: Today Online

AP for GST ไม่ใช่โครงการแจกเงินเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพเพียงโครงการเดียวของรัฐบาลสิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังมีอีกโครงการหนึ่งคือ GST Voucher (GSTV) ที่เริ่มมายาวนานตั้งแต่ปี 2012 โดยแจกเงินสดให้สำหรับประชาชนที่มีรายได้ต่ำและปานกลางในเดือนสิงหาคมของทุกปี ด้วยมูลค่าที่แตกต่างกันไปตามแต่ละปีงบประมาณ รวมทั้งยังมีการเติมเงินประกันสังคม เครดิตเงินคืนสำหรับค่าสาธารณูปโภค และเครดิตเงินคืนค่าบำรุงรักษาอาคารที่พักอาศัยในโครงการ Housing and Development Board (HDB) ที่รัฐสร้างให้ประชาชนเช่าอาศัย

ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้แจกเงินสดก้อนหลัก (GSTV Cash) ให้ประชาชนสูงสุดคนละ 700 ดอลลาร์สิงคโปร์ (18,200 บาท) (รายละเอียดที่ภาพ 2) รวมทั้งเติมเงินประกันสังคมให้สูงสุดคนละ 450 ดอลลาร์สิงคโปร์ (11,700 บาท) คิดเป็นงบประมาณรวมกันทั้งสิ้นในปีนี้ 1.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3.12 หมื่นล้านบาท)

แจกเงินถ้วนหน้า คนละหลายหมื่นบาท ต่อเนื่องหลายปี : สิงคโปร์ทำได้อย่างไรโดยไม่กู้มาแจก?
ภาพ 2: รายละเอียดมูลค่าเงินที่แจกภายใต้โครงการ GSTV (เฉพาะในส่วน GSTV Cash) ระหว่างปีงบประมาณ 2022-2024
ภาพโดย Ministry of Finance Singapore

หากถามว่ายอดรวมเงินที่ประชาชนแต่ละคนได้รับจากทั้งสองโครงการในตลอดทั้งระยะเวลาของโครงการคิดเป็นเท่าไหร่นั้น คงคำนวณได้ยาก เนื่องจากมีการแจกเงินอยู่หลายก้อน รวมทั้งเงินที่แจกยังไม่มีมูลค่าไม่เท่ากันในแต่ละปี และยังแจกประชาชนแต่ละคนไม่เท่ากันอีกด้วย แต่ถ้าพูดถึงเฉพาะในปี 2023 นี้ และมองเฉพาะเงินสดก้อนหลักที่แจกแก่ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปี ประกอบด้วย AP Cash (800 ดอลลาร์สิงคโปร์) และ GSTV Cash (700 ดอลลาร์สิงคโปร์) เห็นได้ว่าคนสิงคโปร์มีสิทธิได้รับเงินสดก้อนหลักรวมกันสูงสุดถึง 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (39,000 บาท) โดยยังไม่รวมเงินแจกเสริมก้อนอื่นๆ ที่มีมูลค่ารวมกันอีกมากมาย

ส่วนวิธีการแจกเงินนั้น เงินสดที่แจกทั้งในโครงการ AP for GST และ GSTV เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของประชาชนผ่านระบบ PayNow ซึ่งคล้ายกับระบบพร้อมเพย์ของบ้านเรา หรืออาจเป็นการโอนตรงทางเลขบัญชีธนาคารที่เคยลงทะเบียนไว้กับทางการในกรณีที่ไม่เคยลงทะเบียน PayNow ไว้ แต่หากไม่มีบัญชีธนาคารเลย ก็มีทางเลือกคือสามารถไปกดเงินได้ที่ตู้เอทีเอ็มต่างๆ ซึ่งสามารถรับเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอกเลขบัญชี เพราะฉะนั้นเงินแจกของรัฐบาลสิงคโปร์จึงมีสภาพคล่องมากกว่าและมีข้อจำกัดที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่สามารถทำธุรกรรมทางดิจิทัลเท่านั้น และยังมีการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้อยู่มาก

รัฐบาลสิงคโปร์เอาเงินจากไหนมาแจก?

ไม่ว่าจะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของไทย หรือ AP for GST และ GSTV ของสิงคโปร์ ก็ล้วนต้องใช้งบประมาณมหาศาลในหลักแสนล้านบาท โดยฝั่งดิจิทัลวอลเล็ตใช้เงินราว 5 แสนล้านบาท ส่วนทางด้านสิงคโปร์ เฉพาะ AP for GST ตลอดทั้ง 5 ปีของโครงการใช้เงินรวม 2.6 แสนล้านบาท ยังไม่รวม GSTV ที่ประเมินมูลค่ารวมแน่ชัดได้ยาก อย่างไรก็ตาม ขณะที่รัฐบาลไทยประกาศว่าจะนำเงินมาจากการออก พ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท รัฐบาลสิงคโปร์กลับใช้เงินทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดิน โดยไม่มีการกู้จากแหล่งใด จึงชวนให้สงสัยว่ารัฐบาลสิงคโปร์มีงบเพียงพอนำมาแจกประชาชนนับล้านคนต่อเนื่องกันหลายปีได้อย่างไร

จำนวนประชากรสิงคโปร์ที่น้อยกว่าไทยก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ขณะที่ดิจิทัลวอลเล็ตของไทยมีกลุ่มเป้าหมายกว่า 50 ล้านคน โครงการอย่าง AP for GST มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือประชากรอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไปแค่ราว 2.9 ล้านคนเท่านั้น และหากรวมประชากรกลุ่มอื่นอย่างเด็กและผู้สูงวัยด้วย ก็จะมีจำนวนผู้รับสิทธิเท่ากับจำนวนประชากรทั่วประเทศ คิดเป็นราว 5 ล้านคน ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยกว่าไทยราว 10 เท่า แต่นี่ก็ยังไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด และต้องอย่าลืมว่าเงินที่แจกแก่ประชาชนสิงคโปร์ต่อหัวนั้นก็มีมูลค่ารวมกันสูงกว่าของไทยอยู่หลายเท่า

สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถใช้งบตัวเองแจกประชาชนได้นั้น เป็นเพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา งบประมาณของสิงคโปร์มักเกินดุล จนมียอดเกินดุลสะสมมหาศาล โดยในเกือบทุกปีงบประมาณ รัฐบาลสามารถทำยอดเกินดุลสูงกว่าที่ประมาณการไว้แต่ต้นปีตลอด (ภาพ 3) และต่อให้ในบางปี รัฐบาลจะตั้งงบประมาณแบบขาดดุลไว้ แต่เมื่อสรุปยอดตอนสิ้นปี ก็กลับกลายว่าเป็นพลิกขึ้นมาเกินดุล เช่นที่เกิดขึ้นกับงบประมาณปีที่ผ่านมา (2022) ที่เดิมตั้งไว้ขาดดุล 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (5.2 หมื่นล้านบาท) แต่ก็มาพบตอนท้ายปีว่าแท้จริงกลับเกินดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.4 หมื่นล้านบาท)

ความสามารถของรัฐบาลสิงคโปร์ที่บริหารงบจนเกินดุล และยังเกินดุลแบบเหนือคาดได้เกือบทุกปีนั้น มีการวิเคราะห์ว่ามาจากสาเหตุที่หลากหลาย ทั้งการรักษาวินัยการใช้จ่ายทางการคลังอย่างเข้มงวด ความสามารถในการกระจายความเสี่ยงทางการคลัง การจัดหารายได้จากหลายแหล่ง และปัญหาคอร์รัปชันที่แทบไม่มี นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละปีอีกด้วย เช่นบางปี รัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ ได้เกินกว่าเป้า หรืออย่างปีล่าสุด (2022) รัฐบาลก็แจ้งว่างบที่พลิกขึ้นมาเกินดุลได้นั้นเป็นเพราะการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ที่ดีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งทำให้จัดเก็บรายได้ภาษีได้เกินกว่าเป้า และยังเป็นเหตุให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถอัดฉีดเงินแจกให้ประชาชนเพิ่มเติมได้อีกในปีนี้

แจกเงินถ้วนหน้า คนละหลายหมื่นบาท ต่อเนื่องหลายปี : สิงคโปร์ทำได้อย่างไรโดยไม่กู้มาแจก?
ภาพ 3: สถิติดุลการคลังของสิงคโปร์รายไตรมาส (ร้อยละต่อจีดีพี) นับตั้งแต่ปี 2013-2023 ซึ่งเห็นได้ว่าเกินดุลเป็นส่วนใหญ่
ภาพจาก CEICDATA.COM

ตามกฎหมายของสิงคโปร์ งบประมาณส่วนที่เกินดุลมาในแต่ละปีนั้นจะถูกนำไปเก็บไว้ในคลังเงินสำรองของประเทศ แต่บางปี รัฐบาลสิงคโปร์ก็ตัดสินใจนำบางส่วนของกำไรตรงนี้มาแบ่งปันสู่ประชาชนในรูปเงินโบนัส เช่นในปี 2008, 2011, 2018 และ 2019 ด้วยมูลค่าเงินที่แตกต่างกันไป การแจกเงินสดถ้วนหน้าจึงเป็นเรื่องที่คนสิงคโปร์คุ้นเคยกันมานานแล้ว  

กล่าวได้ว่าการมีงบประมาณเกินดุลสะสมจำนวนมากทำให้รัฐบาลสิงคโปร์มีสภาพคล่องเพียงพอในการนำมาแจกประชาชนยามจำเป็น เช่นในยามข้าวยากหมากแพงตอนนี้ หรือกระทั่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยนั้นขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่องมาเกินกว่า 15 ปี (ภาพ 4) เพราะฉะนั้นบริบทเบื้องหลังนโยบายแจกเงินของไทยจึงต่างจากสิงคโปร์อยู่มาก

ในอาเซียนยังมีอีกประเทศหนึ่งที่ใช้นโยบายแจกเงินประชาชนเพื่อต่อสู้กับปัญหาค่าครองชีพคล้ายสิงคโปร์ คือประเทศมาเลเซีย โดยเริ่มแจกเงินมาตั้งแต่ปี 2022 โดยทุ่มงบประมาณรวมในปีนั้นเกือบ 9 พันล้านริงกิต (7.2 หมื่นล้านบาท) มุ่งแจกคนรายได้น้อยเกือบ 9 ล้านคน ด้วยมูลค่าเงินแจกต่อคนสูงสุดที่ 2,500 ริงกิต (20,000 บาท) และยังมีแผนแจกเงินอีกต่อเนื่องแบบปีต่อปี รวมทั้งปี 2023 ที่ผ่านมานี้ ทว่าในกรณีมาเลเซียนั้นก็ต่างจากสิงคโปร์ตรงที่ว่ามีสถานการณ์คลังที่ขาดดุลมาต่อเนื่องยาวนานและมีฐานรายได้จากการเก็บภาษีที่ต่ำ จนถูกผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ระวังถึงพื้นที่ทางการคลังที่มีจำกัด

แจกเงินถ้วนหน้า คนละหลายหมื่นบาท ต่อเนื่องหลายปี : สิงคโปร์ทำได้อย่างไรโดยไม่กู้มาแจก?
ภาพ 3: สถิติดุลการคลังของไทยรายไตรมาส (ร้อยละต่อจีดีพี) นับตั้งแต่ปี 2004-2023 ซึ่งเห็นได้ว่าขาดดุลมาต่อเนื่องยาวนาน
ภาพจาก CEICDATA.COM

แจกเงินแบบสิงคโปร์ ยั่งยืนไหม?

แม้ว่าประชาชนสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะปลาบปลื้มกับการได้รับเงินแจกแบบกระหน่ำจากรัฐบาล ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนก็เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครที่ออกมาท้วงติง

ข้อท้วงติงใหญ่ที่รัฐบาลสิงคโปร์เผชิญคือเรื่องความยั่งยืนของการใช้นโยบายแจกเงิน บางส่วนมองว่าแม้การแจกเงินอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อให้ประชาชนได้ในระยะสั้น แต่ในระยะกลางไปจนถึงระยะยาว เงินเฟ้อก็จะยังคงอยู่ เพราะ GST ก็ยังคงปรับเพิ่มขึ้น รวมไปถึงความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจผลักให้ค่าครองชีพสูงขึ้นได้อีกในอนาคต คนสิงคโปร์จำนวนหนึ่งจึงเกิดคำถามว่าหากปัญหาค่าครองชีพสูงยังไม่อาจบรรเทาลงได้จริงในระยะยาว แล้วรัฐบาลจะต้องคอยแจกเงินประชาชนไปอีกนานแค่ไหนและใช้เงินมากขนาดไหน รวมทั้งจะมั่นใจได้อย่างไรว่าในอนาคตจะยังมีงบเพียงพอที่จะแจกจ่ายสู่ประชาชนได้อีกในโลกที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งก็เตือนเช่นกันว่าการแจกเงินที่มากหรือบ่อยเกินไป เมื่อถึงจุดหนึ่งก็อาจทำให้เศรษฐกิจดื้อยาได้ ทั้งยังอาจทำให้ประชาชนเสพติดการพึ่งพาเงินแจกจากรัฐบาล

คนสิงคโปร์และผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งจึงมองว่านโยบายแจกเงินอาจไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงของการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แถมยังอาจเป็นตัวกระตุกเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ จึงมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลสิงคโปร์ควรแก้ปัญหาในเรื่องนี้ที่ต้นตอให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูง การพยายามลดต้นทุนการบริการด้านสุขภาพ การปรับโครงสร้างอัตราภาษีต่างๆ ให้เป็นธรรมมากขึ้น และการเพิ่มอำนาจต่อรองด้านค่าแรงสำหรับแรงงานในประเทศ เป็นต้น

ณ วันนี้ เราอาจยังไม่เห็นชัดเจนนักว่านโยบายแจกเงินของรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพจะให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร เมื่อระยะเวลาการใช้นโยบายผ่านพ้นไปอีกสักระยะหนึ่ง เราอาจค่อยมาย้อนถอดบทเรียนกันว่ามาตรการแจกเงินแบบสิงคโปร์จะเป็นโมเดลให้เรามองได้ในด้านใด


อ้างอิง

GST Voucher

Assurance Package Scheme

Analysis: Higher than projected revenues gave Govt financial muscle to provide additional help for living costs

Explainer: Calculating the Cost of Living in Singapore

Budget 2023: Cash payouts of between S$700 and S$2,250 over 5 years for adult S’poreans as part of enhanced Assurance Package

$1.1b Cost-of-Living Support Package: 5 key questions answered by DPM Wong

‘Inflation jihad’, cash handouts: Can Singapore, Malaysia and other Asian countries soften the blow of rising prices?

Budget 2020: How S’pore Is Able To Run A Budget Deficit While Funding All Necessary Costs

2.5m S’poreans to get up to S$800 each in Dec as part of S$1.1b support package to help with rising living costs

Commentary: Should Singapore look beyond a balanced budget to ensure we will always have enough in our reserves?

All adult Singaporeans will get one-off bonus of up to S$300

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save