fbpx
เมื่อเราต้องอยู่อาศัยในสองโลก

เมื่อเราต้องอยู่อาศัยในสองโลก

รชพร ชูช่วย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

โมเพิ่งเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้เพียงสองสามปี หลังเรียนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ ยังปรับตัวกับการสอนได้ไม่ลงตัวนัก ทุกครั้งที่มีการบรรยายก็ยังเตรียมตัวแบบหามรุ่งหามค่ำยังไม่คล่องแคล่ว ยิ่งกับชั้นเรียนที่มีนักศึกษากว่าสองร้อยคน โมจะเครียดเป็นพิเศษ

ถึงแม้จะตั้งใจสอนมากเท่าไหร่ การบรรยายสำหรับชั้นเรียนใหญ่นี้ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะห้องเรียนที่ใหญ่โต นักศึกษามองหน้าครูยังแทบไม่เห็น จึงเป็นเรื่องยากที่จะดึงเอาสมาธิของเด็กๆ มาไว้ในห้องเรียนเป็นเวลาสามชั่วโมงได้ การคุยกัน เล่นโทรศัพท์ นอนหลับ หรือทำงานอื่นๆ ในห้องเรียนนั้นเป็นเรื่องปกติ คงเพราะคิดว่าห้องใหญ่ขนาดนี้อาจารย์คงมองไม่เห็น

แรกๆ โมเข้าใจว่าคงเป็นเพราะตัวเองสอนไม่เอาไหน แต่เมื่อได้ปรึกษากับอาจารย์คนอื่นๆ ที่สอนชั้นเรียนใหญ่ๆ เหมือนกันก็ได้ความว่าทุกคนก็ประสบปัญหาเดียวกัน พอจะอนุมานได้ว่ารูปแบบการสอนแบบนี้ไม่มีประสิทธิภาพนัก เด็กที่น่าจะเข้าใจสิ่งที่สอนคงมีอยู่ไม่กี่คน ปัญหานี้แทบจะไม่เกิดขึ้นในชั้นเรียนที่มีคนน้อย ในห้องเล็กๆ มองเห็นหน้าจ้องตากันได้ จะคุยเล่นหรือเอาโทรศัพท์ขึ้นมาตอบไลน์อาจจะยาก

มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้ทำชั้นเรียนออนไลน์เสมอมา มีแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ใช้ และถึงขั้นให้เงินพิเศษเป็นโบนัสหากมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ตามที่กำหนด แต่โมก็ยังไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากมีเฟซบุ๊กกรุ๊ปของชั้นเรียนต่างๆ เพื่อประกาศสั่งงานเล็กๆ น้อยๆ และโมก็คิดเสมอว่าสอนออนไลน์จะไปสู้สอนจริงๆ แบบเจอหน้าตาได้อย่างไร จนเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด มหาวิทยาลัยประกาศปิดพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยแต่ไม่หยุดการเรียนการสอน ให้ย้ายทุกสิ่งอย่างไปสอนออนไลน์แทน โมก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่อีกครั้ง

การสอนออนไลน์ไลฟ์ด้วยวิดีโอครั้งแรกถือเป็นความหายนะ เพราะโมจัดการกับบทเรียนและวิธีการสอนเหมือนการเรียนในห้องปกติ แค่ย้ายทั้งหมดมาอยู่หน้าจอ บรรยายรวดเดียวสามชั่วโมงไม่ได้พัก ผ่านไปสักชั่วโมงโมก็เห็นนักศึกษาสักครึ่งจากสองร้อยกว่าคนปิดกล้องของตัวเองไป ก็เลยไม่รู้ว่ายังมีการฟังอยู่รึเปล่า (แต่ก็คงไม่ต่างกันกับในห้องเรียนจริงๆ ที่มีคนหลับ และทำอย่างอื่นเมื่อผ่านไปสักพักเช่นกัน) นักศึกษาบ่นว่าเสียงไม่ชัดเนื่องจากไมค์ที่ติดอยู่กับโน้ตบุ๊กคุณภาพเสียงไม่ดีพอ คุณภาพของกล้องเองก็คงไม่ดีเท่าไหร่ เพราะหน้าตาของโมในจอดูค่อนข้างน่ากลัว เหมือนคนไม่ได้ดื่มน้ำและอดนอนมาสักห้าวัน และไฟที่อยู่ด้านหลังสว่างจ้า (ไม่เปิดก็ไม่ได้เพราะห้องจะมืด) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมได้ยากเช่นการเชื่อมต่อของระบบอินเทอร์เน็ตไม่สม่ำเสมอทั้งของฝั่งครูและนักเรียน

โมขอนักศึกษาพักไปสองสัปดาห์เพื่อเตรียมการสอนในครั้งถัดไป คราวนี้โมจัดห้องใหม่ เอาโต๊ะไปวางใกล้หน้าต่าง จะได้มีแสงสว่างธรรมชาติเข้ามาทางด้านข้างเพื่อให้ความสว่างกับหน้า ย้ายไฟตั้งโต๊ะไปวางไว้หลังจอคอมพิวเตอร์เปิดเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่สอง เอากระดาษขาวมาวางไว้ตรงหน้าคีย์บอร์ดเพื่อให้แสงสะท้อนมาที่หน้าอีกครั้ง แสงจะได้สวยๆ (ตามคำแนะนำที่โมอ่านเจอในอินเทอร์เน็ต) และแต่งหน้าให้มีสีสันจะได้ไม่ดูเหมือนอดนอน โมสั่งซื้อไมค์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์จากร้านออนไลน์มาเป็นตัวช่วยหลังจากอ่านรีวิวสินค้าไปกว่าครึ่งวัน ทดลองเสียงแสงกันอยู่หลายวันกว่าจะรู้สึกว่าพอใช้ได้

คราวนี้บทเรียนถูกแบ่งเนื้อหาเป็นสามส่วน ส่วนละ 45 นาที พัก 15 นาที และบันทึกทั้งหมดไว้เป็นวิดีโอในห้องเรียนออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ใครอยากมาฟังการสอนไลฟ์ก็ได้ ใครไม่สะดวกฟัง อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ก็ไปรอดาวน์โหลดไฟล์ใหญ่ๆ ไปฟังทีหลังกัน การถามตอบต่างๆ ก็มีได้ในไลฟ์ หรือในหน้าเพจของห้องเรียนออนไลน์

โมกลับมาดูวิดีโอที่บันทึกไว้ย้อนหลัง พบว่าหน้าตาของตัวเองในการสอนรอบสองนี้ดีขึ้น ไม่น่ากลัวอีกต่อไป การจัดแสงช่วยได้จริงๆ และเสียงพูดก็ชัดเจนเพราะไมค์รุ่นท็อป ที่ยังต้องปรับปรุงน่าจะเป็นฉากหลังที่มีหนังสือวางปะปนกับของใช้ วิดีโอแพลตฟอร์มที่โมใช้ยังเปลี่ยนฉากหลังไม่ได้ คงต้องจัดบ้านกันอีกรอบใหญ่ คราวนี้ต้องทำให้กลายเป็นสตูดิโอถ่ายวิดีโอย่อยๆ ไปเลย ทาสีผนังให้เป็นสีพีชสวยๆ แบบที่ชอบไปเลย เอาต้นไม้มาแต่งให้สดชื่นไม่น่าเบื่อแข็งเกร็งเหมือนในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัย

เสียงตอบรับจากนักศึกษาค่อนข้างเป็นบวก หลายคนบอกว่าดีกว่าเรียนในห้องจริงๆ ที่มีคนสองร้อยกว่าอีก เพราะสามารถหยุดเมื่อไม่เข้าใจ ย้อนกลับไปฟังใหม่ได้ เวลาอยู่ในห้องเรียนจริงๆ ถ้าเผลอหลับก็จะตามไม่ทัน เนื้อหาตรงนั้นหายกลายเป็นหลุมดำ และกลับกลายเป็นว่าการมีส่วนร่วมถามตอบในห้องเรียนออนไลน์นั้นมีมากกว่าในชั้นเรียนจริงๆ เสียอีก เพราะนักศึกษาติดต่อครูได้ตลอดเวลา คนที่เหนื่อยเพิ่มขึ้นคือโมเองเพราะต้องคอยเข้าไปตอบคำถามเมื่อมีเสียงเรียกเตือนในโทรศัพท์ว่ามีคนมาถามในห้องเรียน ดูเหมือนว่าประสิทธิภาพการเรียนรู้ในชั้นเรียนใหญ่ๆ ที่โมเคยวิตกกังวลมาก่อนหน้านี้ อาจจะแก้ไขได้ด้วยการเรียนออนไลน์ แม้ว่าโมอาจจะต้องปรับตัวให้มีความเป็นยูทูบเบอร์ในการสอนมากขึ้น โมคิดอยู่ว่าจะให้น้องของเพื่อนที่เป็นยูทูบเบอร์สอนเทคนิคบางอย่างให้บ้าง จะได้มีสีสันในการสอนมากขึ้น

โมจบภาคการศึกษานี้ไปแบบงงๆ ลองผิดลองถูกกับการสอนออนไลน์ ได้ข่าวมาว่าเทอมหน้าต้องเตรียมการไว้ทั้งสองทาง เพราะไม่รู้ว่าจะเปิดมหาวิทยาลัยให้ไปสอนกันแบบก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ อย่างน้อยคงต้องมีการรักษาระยะห่าง (social distancing) ไปสักพัก ถึงจะเปิดเรียนที่มหาวิทยาลัยได้ ห้องเรียนที่มีอยู่หากต้องนั่งห่างๆ กันคงนั่งไม่พอ อาจจะต้องมีการผลัดกันมาเรียนที่คณะ คนที่ไม่ได้มาก็ดูออนไลน์ไป วิธีการผสมเจอกันบ้างเป็นบางเวลาแบบนี้น่าจะดีเพราะโมก็อยากเจอนักศึกษา จะได้คุยกันเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเรียนบ้าง และการสอนบางเรื่องน่าจะดีกว่าถ้าได้เจอกัน คงต้องลองหาสมดุลกันไประหว่างออนไลน์และออฟไลน์ แต่โมเชื่อว่าหากหาระบบที่ลงตัวได้ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยน่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว

ประสบการณ์การสอนออนไลน์ของโม เป็นประสบการณ์ร่วมของประชากรโลกชนชั้นกลางในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่ต้องเผชิญกับการขอให้กักตัวอยู่ที่บ้าน แต่ยังต้องทำกิจกรรมสัมมาอาชีพต่างๆ เท่าที่จะทำได้ผ่านระบบการสื่อสารออนไลน์ต่างๆ แบบภาคบังคับโดยไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน กิจกรรมที่เคยอยู่นอกบ้านจำนวนมากถูกผลักเข้ามาในบ้านแคบๆ โดยขยายขอบเขตของพื้นที่แคบๆ นั้นออกไปด้วยพื้นที่ออนไลน์ที่เป็นโลกเสมือน แม้ว่าพื้นที่ในบ้านของหลายๆ คนจะไม่ได้เหมาะสมนัก แต่ก็ต้องพยายามปรับตัวกันไป หลายๆ คนอาจหวังว่าสถานการณ์เหล่านี้จะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ในขณะที่หลายๆ คนเริ่มชินและเห็นข้อดีหลายอย่างของโลกออนไลน์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอนุญาตให้เราใช้ชีวิตหลากหลายมิติด้วยการสื่อสารออนไลน์มานานเกือบสองทศวรรษ จนรูปแบบของพื้นที่ทางกายภาพที่รองรับกิจกรรมที่มีการแข่งขันด้านออนไลน์อย่างดุเดือดนั้น เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ มาเป็นเวลานานแล้ว แบบที่หลายๆ คนอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นนัก

ร้านขายของออนไลน์ทำให้ร้านขายของแบบมีหน้าร้านจำนวนมากต้องสร้างประสบการณ์พิเศษที่การซื้อของออนไลน์ให้ไม่ได้ เช่นการบริการที่มีพนักงานชั้นยอดให้คำปรึกษาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน การโชว์สินค้าที่จับต้องลองได้ การได้เห็นสินค้าหลากหลายเพื่อเปรียบเทียบได้ทันที (โมใช้เวลาเลือกไมค์ไปครึ่งค่อนวันในการซื้อของออนไลน์ หากไปที่ร้านอาจจะเร็วกว่านี้มาก) รวมไปถึงการต่อรองราคา บางทีการไปซื้อของอาจจะกลายเป็นการใช้ชีวิตแบบมีไลฟ์สไตล์ มีกิจกรรมหลากหลายที่ไม่ใช่แค่การซื้อของ หรือบางทีร้านค้าเหล่านี้ก็ลุกขึ้นมาขายของออนไลน์ไปพร้อมๆ กับการมีหน้าร้าน ในทางกลับกันร้านค้าที่เริ่มต้นจากการเป็นร้านออนไลน์จำนวนมาก เมื่อประสบความสำเร็จก็มักจะมีการสร้างร้านออฟไลน์ มีหน้าร้านเพื่อให้ลูกค้าไปเสพประสบการณ์เสริม สร้างความแข็งแรงของธุรกิจไปอีกทางหนึ่ง

การทำงานที่บ้านหรือการทำงานแบบไม่มีพื้นที่ตายตัว ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สำนักงานรวมกันเป็นหลักแหล่ง เปลี่ยนสถานที่หรือเมืองที่ทำงานไปเรื่อยๆ นั้น เกิดขึ้นมานานแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะการทำงานของธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการติดต่อสื่อสารทำงานร่วมกับใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ที่มีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต (ที่ดีๆ) โดยไม่ยึดติดกับพื้นที่ การเกิดขึ้นของพื้นที่ทำงานชั่วคราวแบบ co-working space คือพื้นที่หลักที่รองรับคนทำงานแบบไม่ตายตัวเหล่านี้ ที่ต้องการพื้นที่ระยะสั้น เข้าไป plug-in ได้แบบไม่มีพิธีรีตองมากนัก เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ไม่มีภาระผูกพันเป็นเวลานาน แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่เหล่านี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับการพบเจอผู้คน สร้างเครือข่ายมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ที่จับต้องได้

การทำงานในโลกออนไลน์ที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ กลับกลายเป็นการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์ในอีกทางหนึ่ง ด้วยเรามีอิสระมากขึ้นที่จะเลือกสถานที่ สังคม และรูปแบบของพื้นที่ เพื่อให้ร่างกายของเราอยู่อาศัยจริงๆ ในเงื่อนไขที่เราชอบได้ เช่นการเลือกไปทำงานในเมืองที่อยู่ติดทะเล การเลือกอยู่กับครอบครัว การเลือก co-working space ที่มีผู้คนแบบที่เราอยากคุยด้วย หรือแม้แต่การตกแต่งสภาพพื้นที่ของเราในบ้านให้เป็นแบบที่เราชอบโดยไม่ต้องทนอยู่ในพื้นที่ทำงานของบริษัทที่อาจจะไม่ได้สะดวกสบายนัก และอาจจะต้องใช้พื้นที่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ที่เราไม่ชอบ

การเรียนออนไลน์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ ก็มีมานานแล้ว มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งโลกต้องมีหลักสูตรออนไลน์แบบจริงบ้างเล่นบ้างกันถ้วนหน้า แต่ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายหรือได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากความเชื่อที่ว่าการเรียนการสอนแบบเจอตัวกันต้องดีกว่า จึงมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีข้อจำกัดในการเดินทางหรือข้อจำกัดในการทำงาน เช่นหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้บริหาร ที่มีรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ผสมกับการเจอกันแบบตัวเป็นๆ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ด้วยกิจกรรมที่เข้มข้นเน้นการมีปฏิสัมพันธ์

การระบาดของไวรัสโควิด-19 โยนคนจำนวนมากลงไปในทะเลแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์อย่างฉับพลันทันที ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ คนจำนวนมากหันมาใช้การสื่อสารออนไลน์แทนการเจอกันจริงๆ ที่ในเวลาปกติแล้วคงต้องใช้เวลาเป็นปีที่จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมากเท่านี้  สำหรับหลายๆ คนจะขลุกขลักเงอะงะกันไปในช่วงแรก ในที่สุดก็ค้นพบว่าการเจอกันแบบห่างๆ ไปตามหน้าที่ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์เข้มข้นจากหลายฝ่าย เจอกันออนไลน์ก็สะดวกดี ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีใครอยากจ้องจอนานๆ ประชุมก็จะไม่ยืดเยื้อ การซื้อของใช้บางอย่าง การเรียนบางรูปแบบก็เช่นกัน และแน่นอนว่าในเวลาอันใกล้ พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วจะทำให้การสื่อสารออนไลน์ง่ายและเป็นธรรมชาติมากขึ้น

เมื่อการเจอกันแบบออฟไลน์กลายเป็นเรื่องยากซับซ้อนขึ้น ต้องมีความจำเป็นหรือคุ้มค่าจริงๆ การเจอกันแบบนี้จึงตามมาด้วยคุณภาพและความเข้มข้นมากขึ้น การไปนั่งกินข้าวรวมกลุ่มกันจะไม่มีคนนั่งเล่นมือถือไม่สนใจเพื่อนร่วมโต๊ะอีกต่อไป การเรียนหนังสือในห้องเรียนกับครูจะเป็นการสนทนาถกเถียงกันทั้งสองฝ่ายมากกว่าการรับสารฝ่ายเดียวแบบการบรรยาย แล้วมีนักเรียนนั่งหลับจำนวนมาก การประชุมร่วมกันในห้องประชุมจะเป็นการต่อรอง หรือร่วมกันหาหนทางใหม่ในการแก้ปัญหาที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้า

แม้ว่ามาตการต่างๆ ในการรักษาระยะห่างในโลกออฟไลน์ จะเริ่มมีการผ่อนปรนให้เข้มงวดน้อยลงบ้างแล้ว แต่การระบาดยังไม่ได้หายไป วิถีชีวิตการรักษาระยะห่างคงกลายเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่จะมากน้อยแล้วแต่สถานการณ์ เราคงต้องปรับตัวตลอดเวลาในการใช้ชีวิตกันไปแบบเปิดๆ ปิดๆ ครึ่งๆ กลางๆ จนกว่าจะหาวิธีจัดการกับการระบาดได้อย่างปลอดภัย

ในเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก เพราะเราทุกคนจะถูกบังคับให้ทดลองและค้นพบศักยภาพของโลกออนไลน์ที่เข้ามาเปลี่ยนการดำรงชีวิตในโลกออฟไลน์ที่จับต้องได้ของเรา ในอัตราเร่งที่สูงกว่าที่ผ่านมาอย่างน่าตกใจ และแน่นอนว่า พื้นที่ที่รองรับชีวิตในโลกออฟไลน์ของเราก็จะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปตามโลกออนไลน์ที่มีบทบาทมากขึ้นในหลายๆ มิติของการใช้ชีวิต แต่ด้วยธรรมชาติของโลกออฟไลน์มีกายภาพที่แข็งเกร็งปรับเปลี่ยนได้ยากกว่า เราจึงเห็นสถานการณ์การปรับเปลี่ยนเฉพาะหน้าแบบชั่วคราวกันในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการถกเถียงคาดการณ์จากผู้คนหลากหลายสาขาในโลก แต่ยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นไปในทิศทางใดอย่างแน่นอนในโลกที่ซับซ้อนพัวพันกันในทุกมิติเช่นนี้

แต่เมื่อถึงวันที่การระบาดหมดลงแล้ว เช่ือได้ว่าการใช้ชีวิตของเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อถึงเวลานั้นเราน่าจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างไร้รอยต่อ โมอาจจะสามารถสอนวิชาบรรยายให้นักศึกษาได้ครั้งละสามพันคนจากทั่วโลกผ่านห้องเรียนออนไลน์อย่างง่ายดาย แต่สอนวิชาสัมมนาที่มีการถกเถียงกันอย่างสนุกสนานให้นักศึกษาทีละสิบคนที่ห้องสัมมนาในมหาวิทยาลัย ถึงตอนนั้นเราคงต้องมาคิดกันว่าจะจัดการอย่างไรดีกับห้องบรรยาย 250 ที่นั่งในมหาวิทยาลัย หรือเรายังจะมีมหาวิทยาลัยในแบบที่เรารู้จักกันในวันนี้อยู่อีกหรือไม่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save