fbpx
ที่อยู่อาศัยที่เท่าเทียมคือทางรอด

ที่อยู่อาศัยที่เท่าเทียมคือทางรอด

บ้านเมย์เป็นโรงงานทำลูกชิ้นปลาอยู่ท่าฉลอม ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับตลาดมหาชัย ตั้งแต่จำความได้ คนงานของโรงงานที่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนพม่า แถวๆ นั้นจำนวนประชากรคนพม่าน่าจะมากกว่าคนไทยเสียด้วยซ้ำ เพราะงานที่ใช้แรงงานทั้งในเรือประมง ในตลาด และในโรงงานที่เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลใดๆ ในละแวกนั้นล้วนเป็นแรงงานพม่าทั้งสิ้น

นอกจากโรงงานทำลูกชิ้น (ที่อร่อยมาก) แล้ว ที่บ้านเมย์ยังทำบ้านเช่าให้คนงานอยู่ด้วย เพราะมีที่ดินใกล้ๆ โรงงานว่างอยู่ คนส่วนมากที่มาเช่าคือคนงานพม่าที่ทำงานแถวๆ นั้น ตอนแรกก็มีการกำหนดว่าให้แต่ละบ้านอยู่ได้ไม่เกินครอบครัวละ 3-5 คน แต่ไปๆ มาๆ ก็ต้องอนุญาตให้อยู่กันมากกว่านั้น เพราะต้องแข่งกับบ้านเช่าเจ้าอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดจำนวนคน คนพม่าท่ีมาทำงานเหล่านี้ต้องการเก็บเงินส่งไปที่บ้านให้มากที่สุด จึงต้องพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ความเป็นอยู่จึงค่อนข้างแออัด บางทีหนึ่งห้องอยู่กันเป็นสิบคน เมย์เคยเข้าไปดูเห็นว่า เวลานอนก็นอนเรียงกันแน่นๆ บนพื้น แบบไม่มีทางเดิน ห้องน้ำห้องหนึ่งก็ใช้รวมกันเป็นสิบคน เวลากินข้าวก็กินพร้อมกัน แบ่งๆ กัน

เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ในละแวกมหาชัย (ที่ลือกันว่ามาจากแรงงานพม่าที่ข้ามมาจากพรมแดนด้านตะวันตกแบบนั่งรถตู้เข้ามากันได้ไม่ยาก โดยมีวิธีการจ่ายเงินโดยไม่ต้องกักตัว 14 วันตามกฎหมาย) เมย์ไม่แปลกใจเลยที่เมื่อตรวจเชิงรุกแล้วพบว่าคนงานพม่าติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใหญ่จำนวนพันๆ คน ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่าคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันมากนัก เนื่องจากความเป็นอยู่อันแสนแออัดของคนพม่า เมื่อมีคนติดเชื้อหนึ่งคนก็ทำให้การแพร่เชื้อไปได้เร็วและไกล และเมื่อรวมกัยรายได้ที่ไม่พอดูแลรักษาตัวเองให้ปลอดภัย ไม่มีหน้ากากสะอาด หรือไม่มีโอกาสล้างมือบ่อยนักเพราะงานที่ต้องทำ

ไม่นานนักก็มีการระบาดของโควิด-19 ที่ตลาดอื่นๆ รอบกรุงเทพฯ นัยว่าน่าจะมาจากแรงงานชาวพม่าที่ติดต่อไปมาหาสู่กันระหว่างตลาดต่างๆ และด้วยการตรวจเชิงรุกก็ทำให้เห็นว่าชาวพม่าติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการจำนวนมาก เมื่อรวมกับปัจจัยที่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างแออัด จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จนทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากมาย ต้องมีการปิดตลาด ขาดรายได้ โรงงานของเมย์เองก็ต้องหยุดไปพักหนึ่งเช่นกัน

เมย์จำได้ว่า เมื่อปีที่แล้วช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ตอนเริ่มต้นนั้น มีข่าวว่าหอพักคนงานต่างชาติในสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าคนงานต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เป็นพื้นที่ที่มีการะยาดมากกว่าพื้นที่ทั่วไปหลายเท่า เนื่องมาจากความเป็นอยู่ที่แออัดในหอพัก

หอพักห้องหนึ่งอยู่กันเกิน 10 คน ใช้ห้องน้ำและพื้นที่กินข้าวรวมกันอย่างใกล้ชิดกันมาก ซึ่งดูจะไม่ต่างกับคนงานพม่าแถวบ้านเมย์เท่าใดนัก ยิ่งมีการล็อกดาวน์จนทำให้ออกไปทำงานไม่ได้ คนเหล่านี้ต้องอยู่รวมกันในพื้นที่แคบๆ จนทำให้เกิดการระบาดหนักภายในพื้นที่ จนกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ต้องเข้ามาจัดการเพื่อไม่ให้การระบาดลุกลาม ด้วยการตรวจแบบปูพรม แยกคนติดเชื้อ จัดพื้นที่ใหม่ให้พอมีการเว้นระยะห่างได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งก็พอบรรเทาการแพร่ระบาดไปได้

ที่มหาวิทยาลัยกลางเมืองที่เมย์เรียนอยู่นั้น ก็เกิดระบาดแพร่กระจายของโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน  เพราะการเรียนการสอนจำนวนมากก็เปลี่ยนไปอยู่ออนไลน์ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดปีที่แล้ว เมย์ก็ไม่ได้มาที่คณะสักเท่าไหร่ ไม่มีผู้คนอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมากนัก แต่เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่อาศัยอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยก็ยังทำงานและอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด จนเกิดการระบาดขึ้นในหอพัก เนื่องจากหอพักนี้อยู่กลางเมืองจึงมีคนในครอบครัวมาอาศัยอยู่ด้วยจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็น ความเป็นอยู่หนาแน่นกว่าปกติ ไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อมีผู้ติดเชื้อเป็นเจ้าหน้าที่ในหอพักนี้ จึงเกิดการแพร่กระจายไปรวดเร็วเช่นกัน แม้ว่าจะมีนโยบายมากมายของมหาวิทยาลัยในการจัดการเรียนการสอน สร้างระยะห่างในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่เมื่อที่อยู่อาศัยของพนักงานไม่ได้มาตรฐานตามสุขอนามัย ความพยายามทั้งหมดก็หายไปในพริบตา ราวกับว่าโควิด-19 มาเปิดเผยประเด็นที่เป็นจุดอ่อนให้เห็นทันที

ประเด็นปัญหาคุณภาพของที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยกลางเมือง เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมโลกสมัยใหม่มาโดยตลอด เมื่อเมืองกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน ดึงดูดแรงงานจำนวนมหาศาลจากชนบทเข้ามาทำงานในเมือง ความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างมหาศาลก็ตามกันมา ทุกคนอยากอยู่ใกล้แหล่งงานและเงิน แต่ขณะเดียวกันที่อยู่อาศัยในแหล่งงานและเงินก็มีราคาสูงตามไปด้วย

ผู้คนที่มาเป็นแรงงานราคาถูกให้เมืองจึงมักต้องอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ตามมีตามเกิดเท่าที่พอหาได้ ซึ่งมักจะอยู่กันอย่างหนาแน่น ไม่ได้สุขอนามัย ทั้งด้านอากาศ สุขาภิบาล หรือความปลอดภัยของสิ่งก่อสร้างอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อที่อยู่อาศัยแบบไม่เป็นทางการ (informal settlement) เหล่านี้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ก็กลายเป็นชุมชนแออัด ยิ่งถ้าผู้ที่มาคือแรงงานต่างชาติ สภาพความเป็นอยู่ก็อาจยิ่งต่ำลงไปอีก ด้วยความพยายามที่จะประหยัดเพื่อส่งเงินกลับไปยังภูมิลำเนา หรือมีเงื่อนไขอื่นๆ ในการดำรงชีวิต

ในประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีโครงการที่พยายามยกระดับความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยที่เป็นแรงงานหลักให้เมืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การพัฒนาชุมชนแออัด การสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยของการเคหะแห่งชาติ แต่ด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว โครงการต่างๆ เหล่านี้ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและจำนวนประชากรที่หลั่งไหลเข้ามาในเขตเมือง การมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานของคนทุกคนยังห่างไกลความเป็นจริงมาก

การจัดหาที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานให้ประชาชนและแรงงานไม่เคยเป็นนโยบายหลักของประเทศ การมีที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลต้องดิ้นรนกันเองในกลไกตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงถึง 6-7% ของรายได้มวลรวมประชาชาติ น่าแปลกใจว่าแม้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีมูลค่าสูงขนาดนี้ ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเมืองก็ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เพราะโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นจำนวนมากกลายเป็นการลงทุน ไม่ใช่การสร้างเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ จะเห็นได้จากการที่เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจใดๆ รัฐบาลมักมีนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเสมอ เช่น การอนุญาตให้คนต่างชาติ (ที่ไม่ได้เป็นแรงงานต่างชาติราคาถูก) ถือครองกรรมสิทธิ์​คอนโดมีเนียมได้ถึง 100% ในบางช่วงเวลา หรือการเช่าที่ดินได้ 99 ปี เป็นต้น [i]

ในขณะที่ค่าครองชีพของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นทุกปี มากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นของแรงงานในทุกระดับ และราคาที่อยู่อาศัยในตลาดก็ถีบตัวขึ้นทุกปี ความสามารถในการครอบครองที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานจึงลดลงแบบฮวบฮาบ โดยเฉพาะแรงงานที่มีรายได้น้อยที่มีอยู่ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรในกรุงเทพฯ การเช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกที่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงเป็นทางเลือกทางเดียวที่เหลืออยู่ของแรงงานเหล่านี้ ไม่ว่าจะบ้านหลังเล็กที่อยู่กันหลายคนตามชุมชนแออัดในที่ดินข้างทางรถไฟริมคลอง ใต้ทางด่วน ห้องเช่าที่ซอยแบ่งจากตึกแถวแต่ละชั้นที่แทบจะไม่มีหน้าต่าง หรือหอพักพนักงานที่เช่าอยู่รวมกันหลายๆ คนในหนึ่งห้อง

ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น เราอาจเพิกเฉยกับประเด็นที่ประชากรจำนวนมากของประเทศ ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนและมีที่อยู่ที่ไม่ได้มาตรฐานได้ อาจมีการพัฒนาชุมชนด้วยโครงการช่วยเหลือสังคมขององค์กรต่างๆ ไปสร้างสาธารณูปโภคเพิ่มเติมให้ ทำให้รู้สึกกันว่าเราไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหานี้มากนัก เมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนก็อาจทำรั้วมาบัง แต่งหน้าทาสีให้ชุมชนแออัดที่อยู่ใกล้ถนนนี้ดูไม่ได้เลวร้ายนักเมื่อมีขบวนรถผ่านไป

แต่โรคระบาดไม่ได้เดินทางผ่านแค่ถนนใหญ่ สามารถแพร่กระจายไปได้ในทุกพื้นที่ที่มีการอยู่อาศัยอย่างแออัด เมื่อเกิดการระบาดในแต่ละกลุ่มก้อน ก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ไม่เพียงแต่กับผู้ติดเชื้อโดยตรง แต่กระทบกันไปเป็นวงกว้าง จนถึงระดับความเชื่อมั่นในประเทศและต่างประเทศ อย่างที่เห็นกันในปีที่ผ่านมาเป็นระยะๆ ปัญหาที่อยู่อาศัยที่สังคมทำเป็นหลับตาข้างเดียว เป็นระเบิดเวลาที่ทุกคนนั่งทับอยู่เป็นเวลานาน ตอนนี้เริ่มระเบิดปะทุให้เราเห็นจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า เราไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลังให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีมาตรฐานได้ แม้แต่คนงานต่างชาติที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่แทบจะเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคมนี้

ด้วยสภาวะวิกฤตทางสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของโลก แนวโน้มการเกิดโรคอุบัติใหม่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โควิด-19 อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการระบาดอื่นๆ ที่ตามมา การรับมือทางสาธารณสุขไม่ควรเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลแต่เพียงผู้เดียว แต่ต้องเริ่มจากบ้านที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้ มีความเป็นอยู่ที่ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ อันจะเป็นการป้องกันปัญหาทางสาธารณสุขเบื้องต้นได้ดีที่สุด

การให้โอกาสให้คนมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพนั้นมีความสำคัญกับการใช้ชีวิตของประชาชนพอๆ กับการให้สิทธิเข้าถึงสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแน่นอนว่าถ้าสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว สุขภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ก็จะดีขึ้นด้วยเป็นลำดับ นอกจากนี้แล้ว การมีบ้านมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตในสังคมมนุษย์อย่างมาก การมีหลังคาคุ้มหัวที่นอนหลับได้อย่างปลอดภัย การสามารถ ‘กลับบ้าน’ ได้เมื่อมีปัญหาใดๆ ทำให้คนมีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างแท้จริง

ด้วยเงื่อนไขของตลาดที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ความสามารถในการมีที่อยู่อาศัยที่ดีของประชาชนผู้มีรายได้น้อยก็ลดลงไปเรื่อยๆ จนแทบจะเป็นไปไม่ได้ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพและพอเพียงสำหรับประชาชนทุกคนต้องเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาเมืองและสังคมของรัฐบาล ไม่สามารถปล่อยให้กลไกตลาดหรือผู้ประกอบการจัดการกันไปเองได้

หน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่มีหน้าที่พัฒนาที่อยู่อาศัยล้วนมีข้อจำกัดในการทำงาน จนทำให้ไม่เท่าทันการพัฒนาของเมืองและระบบเศรษฐกิจ เราจึงต้องการนโยบายที่เร่งด่วนจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย รวมถึงภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีองค์ความรู้ในการจัดการโครงการที่อยู่อาศัยรวมมากมาย จากการทำโครงการพัฒนาที่ดินที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมากในหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยการนำเอาที่ดินกลางเมืองของรัฐที่มักนำไปให้เอกชนเช่าในระยะยาวเพื่อหาเงินเข้าคลัง ทำเป็นที่อยู่อาศัยให้ประชาชนที่มีรายได้จำกัดเข้าถึงได้ เช่นเดียวกันกับโครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยของข้าราชการที่ใช้ที่ดินของรัฐ พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อให้ข้าราชการเช่าหรือซื้อในราคาที่ต่ำกว่าตลาดมาก [ii]

ก่อนที่จะมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมนั้น การรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นสวัสดิการที่สงวนไว้สำหรับข้าราชการเท่านั้น ฉะนั้นการสร้างโอกาสของการมีบ้านให้ผู้มีรายได้น้อยในสังคมก็ควรพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุข คือให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการจัดหาที่อยู่อาศัยอย่างพอเพียงให้กับประชาชน เพราะที่อยู่อาศัยก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่เช่นเดียวกับยารักษาโรค การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันนั้น คือการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนเข้าถึงชีวิตที่มีคุณภาพได้ ตามความสามารถและอัตภาพของแต่ละคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หลังจากการระบาดแถวโรงงานที่บ้านเมย์ซาลง ทุกคนก็กลับมาใช้ชีวิตเกือบเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการล้างมือและใส่หน้ากากอย่างเคร่งครัดขึ้น เมย์บอกแม่ว่าน่าจะไม่อนุญาตให้คนงานพม่าพักอยู่ในบ้านเช่าแบบแน่นๆ อีกต่อไป แต่แม่บอกว่าถ้าอย่างนั้นเขาคงย้ายออกหมด เพราะราคาจะแพงกว่าที่อื่นๆ และแม่ก็ไม่อยากลดราคาค่าเช่าห้อง เท่านี้ก็ต้องพยุงค่าจ้างคนงานมากมายในขณะที่โรงงานปิดๆ เปิดๆ ออเดอร์ก็ลดลงมาก ไม่สม่ำเสมอ แม้เมย์จะบอกว่าการอยู่กันแบบหนาแน่นขนาดนี้เสี่ยงต่อการระบาดไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะระบาดอีกเมื่อไหร่ มากันทีก็คงต้องปิดกันทีแบบนี้ไปเรื่อยๆ แม่บอกว่าเริ่มที่เราคนเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเราทำอยู่เจ้าเดียว แล้วเจ้าอื่นไม่ทำ อย่างไรถ้ามีการติดเชื้ออีกครั้งก็คงระบาดไปทั่วย่านอยู่ดี


[i] บุษรา โพวาทอง. 2563. งานวิจัยมาตฐานภาครัฐด้านอสังหาริมทรัพย์

[ii] https://tdhw.treasury.go.th/Bureaucrat/description

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save