fbpx
หมู่บ้านประเทศไทย กับปัญหาเรื่องเพศที่อยู่ถัดไปไม่กี่หลังคา

หมู่บ้านประเทศไทย กับปัญหาเรื่องเพศที่อยู่ถัดไปไม่กี่หลังคา

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลายปีก่อน ฉันที่ยังเป็นนักศึกษามีโอกาสเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านในจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน รถทัวร์คันโตบรรทุกนักศึกษาจากจังหวัดปทุมธานี เคลื่อนผ่านเวลากว่า 6 ชั่วโมงก็หยุดนิ่ง เมื่อเท้าของสิบชีวิตย่ำบนพื้นดินสีอิฐ นอกจากจะพบว่ารถคันนี้ใหญ่ผิดแผกเมื่ออยู่บนถนนแคบในต่างจังหวัด ก็ยังพบว่ามีเรื่องราวที่น้อยครั้งจะได้สำรวจรออยู่เบื้องหน้า

ใช่แล้ว คราวนี้ Sex จะ Appear ในฉากที่ไกลห่างจากเมือง มาสู่หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประเด็นเรื่องเพศซ่อนอยู่ หลายเรื่องใหญ่กว่าถนนลูกรังหรือรถทัวร์ เรื่องราวทั้งหมดปะติดปะต่อจากความทรงจำ และบันทึกที่ฉันเขียนทุกคืน

 

เมื่อมาต่างถิ่น สิ่งแรกที่คุณจะมองหาด้วยสัญชาตญาณคือที่หลับนอน คณะของพวกเราถูกจับแยก กระจายกันพักกับครอบครัวของชาวบ้าน หนึ่งคนต่อหนึ่งครอบครัว ฉันจึงได้พบกับ ‘แม่’ หญิงวัยห้าสิบต้นๆ ผู้อ้าแขนให้ฉันพักอาศัยอย่างใจดี ในบ้านไม้เล็กๆ มีเพียงฉัน แม่ และตุ๊กแกเจ้าถิ่นตัวอ้วนอีกหนึ่งตัว (อาจมากกว่าหนึ่ง แต่ไม่มาให้เห็น)

ห้องที่แม่ให้ฉันนอนได้รับการจัดเก็บอย่างสะอาดสะอ้าน มีเตียง พัดลมตัวเล็ก และตู้เสื้อผ้าที่มีรูปศิลปินเกาหลีแปะอยู่ทั่ว แม่เฉลยว่าเป็นห้องของลูกสาวที่ขณะนั้นไปเรียนพิเศษอยู่ต่างจังหวัด ฉันถึงบางอ้อ แหม ก็ศิลปินเกาหลีเป็นความ ‘หวาน’ อย่างหนึ่งของผู้คนจำนวนมากในวัยเดียวกับฉัน เธอเองก็คงอายุห่างจากฉันไม่มากนัก

ในทุกวัน ฉันมีเวลาแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับแม่แค่สองครั้ง ก่อนออกจากบ้านไปทำกิจกรรม และระหว่างมื้ออาหารเย็น จากกะเพราไก่ เปลี่ยนเป็นไข่มดแดง ป่นปลาร้า บทสนทนาก็เปลี่ยนจากลมฟ้าอากาศ ชีวิตประจำวัน ไปเป็นเรื่องเพศ

“ที่นี่เด็กๆ ท้องในวัยเรียนกันเยอะ” หลังจากอยู่ชายคาเดียวกันหลายวัน แม่ก็เริ่มเล่าให้ฉันฟัง พร้อมกับข้อเท็จจริงอีกอย่างว่า แม่เป็น ‘อสม.’ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

อสม. ทำหน้าที่สอดส่องดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่ จะได้รับการอบรมความรู้เบื้องต้นในการดูแลสุขภาพ รวมไปถึงสุขภาวะทางเพศ อสม. จะต้องคอยสังเกตว่าคนในหมู่บ้านเจ็บป่วยหรือไม่ เมื่อมีคนป่วยก็ให้คำแนะนำเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็ต้องคะยั้นคะยอให้ชาวบ้านไปหาหมอ เพราะหลายคนเจ็บป่วยแต่กลัวจ่ายค่ารักษาไม่ไหว เพราะเหตุนี้ แม่จึงรู้สถานการณ์ท้องไม่พร้อมของวัยรุ่นและสุขภาวะทางเพศของคนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี

ภารกิจอย่างหนึ่งของแม่คือการแจกจ่ายถุงยางให้กับวัยรุ่นในพื้นที่ แม่เล่าว่าในชุมชนมีการอบรมเรื่องสุขภาพหลายเรื่อง เช่น อันตรายจากการใช้ยาฆ่าแมลง การป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย ยกเว้นก็แต่เรื่องเซ็กซ์ที่ไม่มีการอบรม ทั้งที่ปัญหาเกี่ยวกับเพศนั้นมีมาก และพรั่งพรูออกมาจากปากแม่เหมือนน้ำในฤดูน้ำหลาก

เคยมีเด็กชายอายุ  12 ในหมู่บ้านข่มขืนเด็กผู้หญิง ป.1 และไม่ใช่กรณีเดียว เด็กผู้ชายอีกหลายคนก็เคยทำเช่นกัน แม่บอกว่าส่วนมากจะเป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่สามารถอยู่ดูแลใกล้ชิด หลายคนอยู่กับตายาย

แม่จะคอยบอกให้วัยรุ่นวัยเรียนมาเอาถุงยางไป หากจะมีเซ็กซ์ต้องใช้ด้วย แต่หลายคนทำทีเขินอาย สุดท้ายก็ไม่มาเอา ครูที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านก็ทำเฉยเวลาเห็นเด็กกอดจูบกันในโรงเรียนหรือที่สาธารณะ บางทีเด็กแอบไปมีอะไรกันตามป่าชุมชน หรือที่ลับตาคน ก็ไม่ใช้ถุงยาง” – ส่วนหนึ่งจากบันทึก

 

การเป็นอสม. เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ให้แม่หันมาพูดคุยกับลูกเรื่องเซ็กซ์อย่างตรงไปตรงมา แม่เล่าไปขำไปว่า บางครั้งพูดตรงจนลูกคนเล็กเสียเองที่เป็นฝ่ายเขินอาย และเพราะรู้ว่าลูกอาย แม่จึงไม่เคยยัดเยียดถุงยางให้ลูกกับมือ แต่จะบอกลูกว่าเก็บถุงยางไว้ตรงไหนของบ้าน ให้ลูกไปหยิบเอาเอง แม้ยังชอบย้ำกับลูกว่า “อย่าคิดว่าไม่ใส่ถุงก็ไม่เป็นไร อย่านึกว่าเดี๋ยวกินยาคุมเอาก็ได้ มันไม่ปลอดภัย”

“พูดอ้อมค้อมกับวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ได้ผล ต้องพูดให้ตรง” แม่บอก

ในบรรดาครัวเรือนที่แม่รับหน้าที่ดูแล มีเด็กวัยรุ่นบ้านหนึ่งน่าจะติดเชื้อ HIV เพราะแม่ของเด็กถูกสามีบังคับไปขายบริการ จนได้รับเชื้อจากลูกค้า แต่ไม่ได้รับการรักษา อดทนเรื่อยมาจนคลอดลูก ปัจจุบันเธอเสียชีวิตไปแล้ว แต่ อสม. อย่างแม่ยังคงทำหน้าที่สังเกตอาการของเด็กคนนี้ แม่พยายามอย่างหนักให้ผู้ใหญ่ในบ้านพาเด็กไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ก็ได้รับเพียงคำปฏิเสธจากครอบครัวนี้ซ้ำๆ ทั้งสีหน้าและน้ำเสียงของแม่ขณะเล่าดูหนักใจ เมื่อฉันถามว่าเด็กได้รับยาต้านหรือไม่ แม่ไม่ตอบ คงไม่แน่ใจ และไม่ชอบความไม่แน่ใจนี้มากพอดู

นอกจาก อสม. แล้ว ในหมู่บ้านก็ยังมี อพม. (อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ทำหน้าที่เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ เช่น เรื่องความรุนแรงในครอบครัว อพม. ที่หมู่บ้านต้องคอยไกล่เกลี่ยปัญหาสามีตบตีภรรยาอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็มีกรณีลุง ป้า น้า อา และพ่อเลี้ยง ทำร้ายลูกหลานในบ้านของตัวเอง หากลงมือรุนแรงเกินรับไหว ก็ อพม. อีกนี่แหละที่เป็นผู้แจ้งตำรวจและหน่วยงานอื่นๆ ให้เข้ามาดูแล

 

แม้ฉันจะอาศัยอยู่ที่นั่นไม่นาน ไม่มีทางพบเจอปัญหาเท่าที่แม่ต้องเจอ แต่ในระยะเวลาไม่กี่อาทิตย์นั้นฉันเห็นเหตุการณ์มากมายตรงกับที่แม่บอก ที่นี่แทบไม่มีคนวัยกลางคนเลี้ยงลูก แต่มีเด็กวัยรุ่นที่อุ้มทารกในอ้อมแขน มีคนแก่ที่ไกวเปลกล่อมหลาน บางวันก็ได้ยินเสียง “ใครมีมะกรูดมาแลกมะนาว” ดังขึ้น และพบว่าเป็นงานบุญสู่ขอของคู่บ่าวสาวอายุ 16 ปีเท่านั้น ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเนียนสนิท เป็นวิถี เป็นชีวิตอีกรูปแบบที่ฉันพยายามทำความเข้าใจ

แต่ปัญหาที่แม้จะทำความเข้าใจ ก็ยังยอมรับได้ยาก ก็มีให้เห็นเช่นกัน

ที่นี่มีศาลาประจำหมู่บ้าน เป็นลานกว้างๆ ตั้งอยู่ใจกลาง ชาวบ้านมักใช้พื้นที่นี้ชั่งผลไม้ ชั่งมันสำปะหลัง และพืชผลอีกหลายชนิดเพื่อส่งขายในหน้าเก็บเกี่ยว เมื่อพวกนักศึกษามาเยือน ลานแห่งนี้ก็โดนปลั๊กไฟและคอมพิวเตอร์บุกยึดเพื่อให้พวกเราปั่นงาน — ถ้าชั่งความเหนื่อยอ่อนของนักศึกษาทั้งหมด คงขายได้หลายสตางค์อยู่ — คืนหนึ่ง ขณะที่ฉันนั่งพิมพ์งานอยู่คนเดียวในศาลา ‘บัว’ (นามสมมติ) เด็กผู้หญิงคนหนึ่งในหมู่บ้าน ก็วิ่งมาเล่นกับฉันเช่นทุกวัน ตัวเล็กๆ สูงแค่เอว วิ่งเตาะแตะมาเล่าการบ้านวิชาภาษาไทยให้ฉันฟังด้วยรอยยิ้ม เมื่อหยอกล้อกับบัวได้สักพัก ‘น้าแก้ว’ (นามสมมติ) แม่ของบัวก็เดินมานั่งคุยกับฉันด้วย ลมหายใจของน้าแก้วเจือกลิ่นเหล้า เธอยกมือขึ้นถูจมูกที่แดงก่ำเพราะสุรา แล้วเริ่มเล่าเรื่องให้ฉันฟัง

“ลูกชายคนโตของน้าแก้วเสียไปหลายเดือนก่อน เขาไปทำงานที่ระยองเป็นช่างไฟฟ้า และโดนไฟฟ้าช็อตเสียชีวิต น้าแก้วที่เหลือเพียงลูกสาวเท่านั้นกลับต้องมาใจสลายอีกครั้ง เพราะในงานฌาปนกิจศพของลูกชาย น้าแก้วได้รับรู้ว่าน้องบัวถูกกลุ่มเด็กผู้ชายในหมู่บ้านข่มขืน

เด็กผู้ชายคนหนึ่งในกลุ่มบังคับให้น้องบัวมาบอกน้าแก้ว หวังว่าเพื่อนๆ ในกลุ่มจะรอดจากความผิด แต่น้าแก้วเค้นความจริงจนเด็กชายสารภาพว่าใครบ้างที่ทำร้ายลูกสาวของน้าแก้ว เด็กๆ กลุ่มนี้ไม่ได้ทำกับน้องบัวเพียงคนเดียว เคยทำมาก่อนแล้ว แต่เก็บเงียบ น้าแก้วบอกว่าเพิ่งขึ้นโรงขึ้นศาลกันไป ได้เงินเยียวยาแปดพันบาท หลายคนยุให้เรียกเพิ่ม แต่น้าแก้วไม่เอา อยากจะพอแล้ว ไม่ต้องการอะไร ขอให้จบไป แล้วอย่ามาเจอะเจอกันอีกพอ ส่วนหนึ่งจากบันทึก

คืนนั้น ด้วยหัวใจที่หนักอึ้ง ฉันไม่อาจนอนหลับ กลับมาเล่าให้แม่ฟังก็พบว่าแม่รู้ คนในหมู่บ้านก็รับรู้เรื่องราวกันดี แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ฉันยังจำน้ำตาของน้าแก้วได้ขึ้นใจ น้ำตาที่เงินกี่ล้านก็เยียวยาไม่ไหว จำมือเล็กๆ ของน้องบัวที่ชี้การบ้านให้ฉันดู มือเล็กๆ ที่ไม่ได้สั่นไหว แต่ข้างในไม่อาจรู้ว่าเป็นอย่างไร

ปัญหามากมายก่อตัวขึ้นใต้หลังคา ถัดจากบ้านที่ฉันนอนไปไม่กี่หลัง ต่างที่ ต่างวิถีอย่างไรไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือความจริงที่ว่า หมู่บ้านเล็กๆ แห่งเดียว บรรจุปัญหาเรื่องเพศไว้นับไม่ถ้วน

หมู่บ้านขนาดใหญ่ของเราก็คงไม่ต่างกัน หลังคาถัดไปอาจเป็นใครก็ได้ทั้งนั้น

ฉันเพียงหวังว่าทุกหลังคาเรือนจะตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องเพศ หวังเพียงว่าจะไม่มีน้ำตาของใครให้ต้องจดจำ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save