fbpx
เจ็ดปีกับความใฝ่ฝันที่หายไป

เจ็ดปีกับความใฝ่ฝันที่หายไป

“เจ็ดปีแล้วนะไอ้สัส”

Hashtag นี้กลายเป็น hashtag ยอดนิยมทั้งบน Facebook และ Twitter เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นการระลึกถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยน้ำเสียงที่ออกจะดุเดือด เป็นที่แน่ชัดว่าการระลึกถึงนั้น คงไม่ได้ระลึกด้วยความอาลัยอาวรณ์

ในฐานะนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าจะระลึกอะไรถึงรัฐประหาร คสช. คงเป็นการระลึกถึงวันที่ความใฝ่ฝันและอุดมการณ์แบบรัฐธรรมนูญ​ 2540 ตายลง

อันที่จริง ความใฝ่ฝันและอุดมการณ์แบบรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นตกอยู่ในวิกฤตมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 แล้ว แต่เรายังคงพอกล่าวได้ว่าทุกฝ่ายพยายามประคับประคองความฝันที่จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่จะมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพ มากันอย่างทุลักทุเล อย่างน้อยที่สุดก็ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ประกาศชัดว่าเป็นการแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 การรัฐประหาร 2549 ก็เป็นการรัฐประหารเสียของ เพราะรีบยึดและคืนอำนาจให้นักการเมืองก่อนที่จะมีโอกาสรื้อถอนโครงสร้างหลักที่รัฐธรรมนูญ 2540 วางไว้ การจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นไปอย่างระมัดระวังที่สุดเท่าที่เผด็จการผู้มีอำนาจเต็มจะจำกัดตัวเองได้

แต่เป้าประสงค์ของผู้ทำรัฐประหาร 2557 นั้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นับแต่วันยึดอำนาจว่า ต้องการปลูกฝังระบอบใหม่ ค่านิยมใหม่ อุดมการณ์ใหม่ และที่สำคัญคือจะไม่คืนอำนาจให้ประชาชนจนกว่าภารกิจนั้นจะสำเร็จ แต่ถ้าสำเร็จแล้วก็อาจไม่จำเป็นต้องคืนอำนาจเลยก็ได้

หนึ่งในความใฝ่ฝันของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ตายลงคือความใฝ่ฝันที่จะมีนักการเมืองคุณภาพดี

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุปัญหาประการหนึ่งของการเมืองไทยคือ นักการเมืองที่ไร้คุณภาพหรือคุณภาพต่ำทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในประชาธิปไตยแบบตัวแทน การเมืองกลายเป็นเรื่องสกปรกของคนเห็นแก่ตัวแก่งแย่งอำนาจกันเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เมื่อภาพลักษณ์ของนักการเมืองเลือกตั้งเป็นเช่นนี้เสียแล้ว รัฐประหารจึงเป็นเรื่องยอมรับได้ไม่ยาก

การยกระดับคุณภาพนักการเมืองเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนำระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมาใช้ เพื่อคานกับการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตที่ถูกมองว่าถูกครอบงำโดยบรรดาเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น แต่ระบบบัญชีรายชื่อที่ไม่ต้องลงพื้นที่หาเสียงและเน้นชูนโยบายจะทำให้ได้คนเก่งคนดี คนชั้นกลาง และมืออาชีพทั้งหลายที่ไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ สามารถเข้ามาสู่สนามการเมืองได้บ้าง

อีกกลไกหนึ่งคือการบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจบการศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากจะเป็นการเปิดทางให้คนดีคนเก่งแล้ว ยังเป็นการพยายามสกัดนักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งมักมีภาพว่าการศึกษาไม่สูงนัก ไม่ให้เข้ามาในการเมืองได้อีก ซึ่งกลไกนี้ได้รับเสียงวิจารณ์มากว่าเป็นเผด็จการชนิดไม่มีกฎหมายประเทศไหนตราไว้

แน่นอนว่าความฝันนี้ไม่ได้เป็นจริง อันที่จริงนักการเมืองแบบผู้รับเหมาหรือเจ้าพ่อบ่อนนั้น สามารถหลบหลีกความพยายามของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่จะสกัดพวกเขาได้ อย่างน้อยที่สุดหลายคนสามารถสำเร็จปริญญาตรี หรือแม้แต่ปริญญาเอก จากหลักสูตรพิเศษต่างๆ ของบางมหาวิทยาลัยจนได้ และไม่ว่าอย่างไร กฎหมายข้อนี้ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อรัฐประหาร 2549

รัฐประหาร 2549 เองก็เป็นหลักฐานว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่น่าจะได้คุณภาพนัก ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แต่นี่คือความใฝ่ฝัน ความปรารถนาของชาวไทย อย่างน้อยก็ในช่วงขณะหนึ่ง ที่จะปฏิรูปการเมืองให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานผ่านผู้แทนราษฎรที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ และสำหรับบางคนเมื่อนักการเมืองไม่ได้ดั่งใจก็มีปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงเสียจนยอมล้มระบบทั้งหมด น่าเสียดาย

รัฐประหาร 2557 ทำให้การเมืองไทยดีขึ้นไหม สมใจบรรดาชนผู้เรียกร้อง ‘ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง’ หรือไม่

ทุกวันนี้ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา สำหรับคนรุ่นใหม่คงเป็นสภาพที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นมาก่อน สำหรับนักการเมืองค้าแป้ง รุกป่า หรือแสดงกิริยาถ่อยเถื่อน ส่วนที่ไม่ถ่อยก็เป็นจำอวด น่าหัวร่อปนรังเกียจ จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือกลไกสูงสุดในการบริหารบ้านเมือง หลายคนเรียกได้ว่าเจ้าพ่ออย่างเต็มปาก อีกหลายคนคือตัวตลก

ยุทธวิธีสำคัญในการเตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้งของ คสช. ในปี 2562 นั้นคือการดูด ดูดนักการเมืองพื้นที่ที่มีฐานเสียงเข้าสู่ร่มธงพลังประชารัฐโดยไม่เลือกอุดมการณ์หรือคุณภาพ การดูดนั้นแลกกับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์นานาประการ ทั้งแลกกับการไม่ดำเนินคดี หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจใดๆ ที่อาจพึงมีได้

ที่ตลกร้ายที่สุดคือ หลายคนที่ถูกดูดเข้าพรรคพลังประชารัฐนั้น เคยอยู่ใต้ร่มธงทักษิณ ชินวัตรมาก่อน เคยเป็นเป้าหมายของ คสช. ในการกำจัด และเคยเป็นที่รังเกียจ ดูถูกดูหมิ่น จากมวลชน กปปส. เสียด้วยซ้ำ จนไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันจะเป็นเนื้อนาเดียวกันได้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้มีภาพลักษณ์รังเกียจนักการเมืองเลือกตั้ง

เหตุการณ์สำคัญที่น่าสนใจคือการแตกหักระหว่างกลุ่มสี่กุมารกับกลุ่มสามมิตรในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทนอุตตม สาวนายน เป็นสัญญาณปิดฉาก เชิญกลุ่มเทคโนแครตผู้มากความสามารถลงจากเวทีและการเรืองอำนาจเด็ดขาดของบรรดานักการเมืองแบบเก่าที่รัฐธรรมนูญ 2540 พยายามหนักหนาที่จะกันออกจากการเมือง

ที่เหลือเชื่อคือมวลชนที่ยังสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ หลายคนสงสารและแก้ตัวให้ ‘ลุงตู่’ ผู้ถูกบีบให้จัดการเลือกตั้งทั้งที่ยังปฏิรูปไม่เรียบร้อย ทำให้ต้องจับมือตั้งรัฐบาลกับ ‘นักการเมืองอาชีพ’ ที่ทำให้ผู้นำที่ทรงคุณธรรมอย่างลุงต้องด่างพร้อย ถ้าพลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ภายใต้ระบอบ คสช. ก็คงไม่เละเทะปานนี้ พร้อมกันนั้นก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า การเมืองเลือกตั้งคือเรื่องสกปรก การเมืองสะอาดคือการเมืองแต่งตั้ง โดยไม่ใส่ใจเลยว่าคนสะอาดจะนั่งอยู่ท่ามกลางคนสกปรกได้อย่างไร

ต้องย้ำว่า หลายคนที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์นั้นสมาทานความฝันเรื่องนักการเมืองคุณภาพ การเมืองสะอาดจากปี 2540 แต่ยอมรับได้กับสภาพการเมืองสกปรก นักการเมืองด้อยคุณภาพ ซึ่งถ้าจะว่าไป คือการเมืองก่อน 2540 เสียอีก สภาพความรับรู้ไม่ลงรอย (cognitive dissonance) ตรงนี้ที่หล่อเลี้ยงรัฐบาล พปชร. ไว้ได้ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอื้อฉาวอีกเท่าไหร่ก็ตาม มวลชนบางกลุ่มก็ยังพร้อมเสมอที่จะรักและแก้ตัวให้

ทางออกเดียวจากสภาวะอิลักอิเหลื่อของการเมืองไทยเช่นนี้คือผู้รักประชาธิปไตยต้องไม่ทิ้งความใฝ่ฝันเรื่องการเมืองสะอาด นักการเมืองคุณภาพดีว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ดังที่ฝ่ายค้านได้พยายามแสดงให้เห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เน้นข้อมูล ขันแข็งในการเปิดโปงความผิดปกติของรัฐบาล นั่นไม่ใช่ความใฝ่ฝันที่จะสร้างการเมืองที่ดีหรอกหรือ น่าเสียดายที่ระบบกฎหมายของไทยเข่นฆ่าผู้มีความสามารถ

แต่ถึงจะยากเท่าไหร่ ความใฝ่ฝันถึงการเมืองสะอาด ความเชื่อว่าการเมืองสะอาดเป็นไปได้ จำเป็นต้องมีอยู่ในใจเสมอ เพราะยอดปรารถนาของเผด็จการคือเมื่อปวงชนล้วนสูญเสียศรัทธาในประชาธิปไตย และเชื่อว่าการเมืองที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้เป็นไปไม่ได้ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ย่อมเป็นระบบเผด็จการตลอดกาล

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save