fbpx

ความ(ไม่)มั่นคงในโลกใหม่: ทบทวนความมั่นคงของไทยในโลกไร้ระเบียบ

‘ความมั่นคง’ เป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐ พลเมืองยอมสูญเสียอิสรภาพบางส่วนมาอยู่ใต้รัฐ ก็เพราะคาดหวังให้รัฐปกป้องและดูแลความสงบสุขให้กับตน กระนั้น เมื่อกล่าวถึง ‘ความมั่นคง’ รัฐกลับมักเหมารวมเอา ‘ความมั่นของรัฐ’ เป็นความหมายเดียวกับ ‘ความมั่นคง’ ของประชาชน

ในอดีต คำว่า ‘ความมั่นคง’ จึงถูกโยงเข้ากับอำนาจรัฐและการทหาร เพราะความท้าทายหลักคือการสร้างสันติภาพระหว่างดินแดน แต่เมื่อความขัดแย้งระหว่างรัฐไม่ใช่โจทย์หลัก ประกอบกับมนุษย์พบเจอปัญหาใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร โรคภัย ประชากร เศรษฐกิจ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การผูกโยงความมั่นคงเข้ากับการทหารอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อีกต่อไป

101 จึงชวนทบทวนและหานิยามของ ‘ความมั่นคง’ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ ว่าอะไรคือความเสี่ยง และความมั่นคงของไทยมีหน้าตาแบบใด ร่วมเสนอยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่จะนำไปสู่การป้องกันภัยคุกคามจากทั้งภายนอกและภายใน ผ่านวงสนทนาจากผู้เชี่ยวชาญหลากวงการ ร่วมด้วย จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประเทือง ปิยกะโพธิ์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย, พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชวนเสวนาโดย ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB)

หมายเหตุ: เรียบเรียงผ่านการเก็บความจากงานเสวนา  Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #3 “ความ(ไม่)มั่นคงในโลกใหม่”

YouTube video

การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์: โจทย์ที่ประเทศไทยยังคงมองไม่ชัด – จิตติภัทร พูนขำ

จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นวงเสวนาด้วยการมองความมั่นคงผ่านแว่นภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่ในระดับโลกนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากอดีต ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจการเมืองโลกทั้งหมด ประเด็นความมั่นคงเคลื่อนที่ไปคนละทางพอสมควร หากมองระดับมหภาคของโลก มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนกำลังเคลื่อนไปสู่การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics competition) ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ในเอกสาร National Security Strategy (NSS) ของสหรัฐอเมริกา มีการมองโลกจากมุมมองของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจสูงขึ้น อีกทั้งบ่งชี้ว่าจีนมีความเป็นภัยคุกคามหรือคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ (strategic competitor)

หากมองภาพใหญ่ของภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้หลายประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก แม้หลายต่อหลายคนต้องการที่จะเห็นโลกนี้มีหลายขั้วอำนาจ (multipolar) และจัดวางความสัมพันธ์อยู่บนฐานของพหุภาคีนิยม แต่จิตติภัทรกลับมองว่าโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ระบบที่มีสองขั้วอำนาจกำกับเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร รวมไปถึงความมั่นคงมากยิ่งขึ้นอย่างรุนแรง

ประเด็นที่สอง นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา โลกของเรามีกระบวนการแบ่งขั้ว (decoupling) มหาอำนาจ โดยเฉพาะในมิติที่แต่เดิมเคยมีร่วมกัน อย่างในเรื่องของสงครามการค้า ห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) สงครามเทคโนโลยี อาทิ Chip War หรือ สงคราม semiconductor ต่างๆ รวมถึงความขัดแย้งเรื่องดินแดน เช่น ทะเลจีนใต้ ไต้หวัน ความมั่นคงทางทะเล (maritime security) เป็นต้น

ประเด็นต่อมาคือ ปัญหาต่างๆ ในโลกจะถูกวางกรอบด้วยมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopoliticization of issues) การแข่งขันในปริมณฑลนี้นำไปสู่เรื่องของคุณค่าที่แตกต่างกัน มีระเบียบ (rule-based order) ที่ฟากหนึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาหรือตะวันตก และอีกฟากหนึ่งนำโดยจีนและรัสเซีย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นระเบียบโลกที่ไม่เสรี (illiberal international order) มากนัก

การแบ่งขั้วอำนาจของประเทศมหาอำนาจ ทำให้โลกเกิดการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ เพื่อสร้างพันธมิตรภายใต้ระเบียบสองชุดนี้ หรือที่เรียกกันว่ากระบวนการ ‘Friendshoring’ ที่ด้านหนึ่งสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้พหุภาคีกลุ่มเล็ก (minilateral) ผ่านหลายภาคี เช่น กลุ่ม Quad ที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย, กลุ่ม AUKUS ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร หรือการประชุมไตรภาคีซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่แคมป์เดวิด (Camp David)

ขณะเดียวกัน จีนก็พยายามสร้างกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น อาทิ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งเป็นนโยบายการลงทุนข้ามชาติที่จะเชื่อมเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาไว้ด้วยกัน คล้ายกับเส้นทางสายไหมในอดีต หรือความร่วมมือในการตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) หรือแม้แต่การสร้างกรอบของการพัฒนา ความมั่นคง และอารยธรรมผ่าน แนวคิด G สามตัว ได้แก่ Global Development Initiative (GDI), Global Security Initiative (GSI) และ Global Civilization Initiative (GCI)

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันและการแบ่งขั้วกันอย่างเข้มข้นของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในขณะที่ระดับภูมิภาค โจทย์ของความมั่นคงอาจเป็นคนละชุดกับระดับโลก จิตติภัทรมองว่า กรณีของรัฐขนาดกลางหรือขนาดเล็ก รวมถึงประเทศไทย เมื่อกล่าวถึงความมั่นคง มักจะถูกทำให้นึกถึงหน่วยงานความมั่นคงก่อน และตีกรอบประเด็นความมั่นคงด้วยมุมมองของหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ 

“นิยามความหมายของความมั่นคงที่กว้างขึ้นในแวดวงวิชาการ ตรงนี้เป็นช่องว่างที่สูงมากระหว่างโลกของกองทัพและทหาร แม้บางส่วนจะคิดว่ากองทัพพอมองเห็นว่ามีประเด็นความมั่นคงใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่กองทัพก็ยังตีกรอบประเด็นด้วยมิติความมั่นคงแบบทางการทหารอยู่” จิตติภัทรกล่าว

ประเด็นความมั่นคงใหม่ๆ ที่กล่าวมานั้น จิตติภัทรขยายความว่าอาจเรียกว่าเป็น ความมั่นคงแบบใหม่ (non-traditional security) หรือ ความมั่นคงมนุษย์ (human security) ในมิติความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาหาร พลังงาน สุขภาวะต่างๆ ฯลฯ รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็น ความมั่นคงหลังจากมนุษย์ (post-human security) เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ บางส่วนที่ควบคุมจัดการไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ในระนาบของรัฐขนาดกลางและเล็กอาจมีนิยามของความมั่นคงที่ไม่เหมือนกัน จึงนำไปสู่ประเด็นความคลุมเครือของนิยามความมั่นคงว่าความมั่นคงคืออะไร เป็นความมั่นคงของใคร และเพื่อใคร สิ่งนี้จะส่งผลถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่แตกต่างกัน

จิตติภัทรแตกประเด็นเกี่ยวกับองค์ความรู้ของสังคมไทยในเรื่องของความมั่นคงไว้ 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อกล่าวถึงนิยามความมั่นคงควรพิจารณาด้วยว่าประเทศไทยขยับระนาบความคิดของทฤษฎีไปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากกรอบวิธีคิดที่นำมาใช้ในหน่วยงานความมั่นคง มักจะประกอบสร้างความมั่นคง (securitization) หรือทำประเด็นหนึ่งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงให้กลายเป็นเรื่องของความมั่นคง และขยายไปสู่มิติอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ สุขภาวะ สิ่งแวดล้อม แต่การประกอบสร้างความมั่นคงมักจะมาพร้อมกับการลดความเป็นการเมืองลง (depoliticization) รวมถึงอาศัยบทบาทของรัฐในการสร้างสภาวะยกเว้น (state of exception) ทำให้บางเรื่องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่มีโอกาสในการถกเถียงถึงนิยามหรือรับมือกับเรื่องดังกล่าว

“บางคนมีการพูดถึงการศึกษาความมั่นคงเชิงวิพากษ์ (Critical Security Studies) มองว่าความมั่นคงควรจะนิยามว่าเป็น เสรีภาพ (freedom) หรือปลดแอกจากข้อจำกัดที่มีทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านโครงสร้างที่มีต่อมนุษย์เรา ฉะนั้น ภายใต้ฐานคิดเช่นนี้จะไปเชื่อมโยงกับเรื่องความมั่นคงของมนุษย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรตั้งคำถามด้วยว่าประเทศเราขยับระนาบของความคิดทฤษฎีไปมากน้อยแค่ไหน” 

ประเด็นที่สอง คือ กาลเทศะ (Space and Time) ของความมั่นคง ในบางครั้งเมื่อศึกษาโจทย์ความมั่นคงระดับของมหาอำนาจ จะเห็นความมั่นคงในรูปแบบหนึ่ง แต่หากเทียบกับรัฐขนาดกลาง-เล็กแล้ว อาจเป็นอีกความคิดหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐอเมริกาวางให้จีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ จิตติภัทรให้ความเห็นว่าหลายประเทศในโลกใต้ (Global South) ไม่ได้มองเช่นนั้น มุมมองความมั่นคงของประเทศไทยจึงมีความเฉพาะเจาะจง

“คนในประเทศที่เป็นโลกใต้ก็มีวิธีการกำหนดกรอบที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น มุมมองความมั่นคงของบ้านเรายังเป็นมุมมองที่มีความเฉพาะเจาะจงมาก สังคมอำนาจนิยมอื่นๆ ก็มีความคล้ายกับเราในโลกใต้พอสมควร สิ่งนี้เป็นโจทย์หนึ่งในเวลาที่เรานึกถึงการผลิตองค์ความรู้ในงานวิจัย เราจะคิดบนฐานของหน่วยงานความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ เราอาจจะต้องไปดูเรื่องของกระบวนการสร้างองค์ความรู้ของความมั่นคงว่ามันมีลักษณะอย่างไรให้มากขึ้น”

ประเด็นที่สามคือ ทุนวิจัย ซึ่งมักจะจำกัดอยู่กับประเด็นใหม่ๆ กล่าวคือ โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเรียนรู้ วิ่งกวดความรู้ใหม่ๆ ของความมั่นคงอยู่เสมอ แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่จิตติภัทรมองว่าอาจจะยังไม่เพียงพอ เนื่องจากโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากอย่างที่คิด มีหลายประเด็นที่มักจะวนกลับมาและเป็นโจทย์ความมั่นคงดั้งเดิม (classic) เช่น การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ ภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองเรื่องทรัพยากร ฯลฯ ฉะนั้น โจทย์การวิจัยในไทยอาจจะต้องคำนึงถึงภาพใหญ่ของความมั่นคงโลกมากขึ้น ไม่ใช่เพียงคิดว่าอะไรใหม่หรือเก่า

เมื่อกับดักของความมั่นคงเก่าและความมั่นคงใหม่ผ่านกรอบการประกอบสร้างความมั่นคง รวมถึงการมองความมั่นคงในแว่นของหน่วยงานความมั่นคงเพียงอย่างเดียว ทำให้องค์ความรู้เรื่องความมั่นคงของไทยไม่เท่าทันโลก สิ่งนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่จิตติภัทรต้องการให้นำมาเป็นฐานของการตั้งโจทย์วิจัยในอนาคต

หากจะตั้งโจทย์วิจัย อาจต้องคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนมุมมอง (perspective) หรือ กระบวนทัศน์ (paradigm) บางอย่างของความมั่นคงก่อน มิฉะนั้น จะกลายเป็นการศึกษาเป็นเรื่องๆ ไป แต่มองไม่เห็นภาพใหญ่ของงานวิจัย อีกประการหนึ่งคือ เราต้องเรียนรู้โลกให้มากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจบริบทของความมั่นคงโลก ซึ่งท้ายสุดอาจนำมาสู่การปรับเปลี่ยนของเราเอง

จิตติภัทรทิ้งท้ายว่า “ท้ายที่สุดสำหรับเมืองไทย เราอาจจะต้องมียุทธศาสตร์ที่สำคัญและชัดเจนว่าเป้าหมายของเราคืออะไร วิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายคืออะไร ในขณะเดียวกัน ไทยและรัฐขนาดกลาง-เล็กมีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างหนึ่งคือ ความต้องการพยายามจะทำให้โลกลดการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ลง นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผมคิดว่า รัฐหรือมนุษย์ไม่อาจบรรลุความมั่นคงได้ หากโลกยังแข่งขันกันทางด้านนี้อยู่”

เทคโนโลยีกับความมั่นคง: บทบาทของเทคโนโลยีในสังคมโลกและจุดยืนของประเทศไทย – ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในสังคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวพันกับเรื่องความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ชวนมองอย่างแรกคือ บทบาทของเทคโนโลยีที่มีต่อความมั่นคง เนื่องจากหากมองเรื่องความมั่นคงของชาติ (national security) มักจะถูกใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญหรือสนสัญญาต่างๆ สิทธิมนุษยชนมักไม่สัมบูรณ์ (absolute) อยู่แล้ว แต่ข้อจำกัดที่มีแต้มต่อสูงสุดในการต่อสู้กับสิทธิเสรีภาพคือเรื่องความมั่นคง

บทบาทของเทคโนโลยีถูกนำเข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ตั้งแต่เรื่องของการเลือกตั้งไปจนถึงปฏิบัติการทางการเมืองต่างๆ เช่น ปี 2016 ที่ โดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดี ก็มีเรื่องของการแทรกแซงข้อมูลข่าวสาร แสดงให้เห็นว่าการใช้โซเชียลมีเดียปลอมส่งอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้ง แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่ได้ถูกกำหนดมุมมองในเรื่องของความมั่นคง แต่ในเวทีโลก เมื่อพูดถึงความมั่นคงมักจะมีประเด็นนี้อยู่ด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน

ถัดมาเป็นเรื่องของข้อมูลบิดเบือน (disinformation) ที่อาจไปกระทบกับประเด็นอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่เพียงการเลือกตั้งอย่างเดียว ในการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลเองใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติการ หรือตัวแพลตฟอร์มเองใช้เทคโนโลยีในการสกัดการปฏิบัติการของภาครัฐ เป็นต้น

การป้องกันการก่อการร้าย เป็นบทบาทต้นๆ ที่รัฐพยายามจะให้บริษัทเทคโนโลยีช่วย เนื่องจากช่วงหลังนี้ กลุ่มก่อการร้ายใช้แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการขยายความคิด เช่น การที่กลุ่มก่อการร้ายไอซิส (ISIS) ใช้วอทส์แอป (Whatsapp) เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือทวิตเตอร์ (Twitter) ในการเชิญชวนให้คนเข้าร่วมกระบวนการ ซึ่งสิ่งนี้เป็นการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีทั้งสิ้น เพราะบริษัทเทคโนโลยีใช้เครื่องมือเทคโนโลยีในการตรวจสอบว่าคนกลุ่มนี้คือใคร มีเทคนิคอย่างไร และใช้เทคโนโลยีในการสกัดกั้นกลับ

“อย่างสุดท้ายคือ การใช้เทคโนโลยีในการป้องกันการกระทำความรุนแรง เช่น โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในปี 2017 เฟซบุ๊กถูกประณามว่า อัลกอริทึม (Algorithm) ของเฟสบุ๊กส่งผลต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น”

ด้านบทบาทของบริษัทเทคโนโลยีต่อความมั่นคง ฐิติรัตน์ชี้ว่า บริษัทเทคโนโลยีมีลักษณะข้ามพรมแดน ตัวอย่างล่าสุดที่ปรากฏให้เห็นคือ แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Meta, X หรือ TikTok ล้วนแต่ถูกสหภาพยุโรป (EU) แจ้งให้คัดกรองเนื้อหาที่เป็นการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง หรือข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกลุ่มฮามาส (Hamas) ออก แม้จะมีการตั้งคำถามเกิดขึ้นเช่นกัน ด้วยทั้งสามบริษัทนี้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา แต่สหรัฐฯ ก็ไม่สามารถออกคำสั่งในเรื่องนี้ได้ แต่ EU สามารถกระทำได้

เนื่องจาก สหรัฐอเมริกามีการปกป้องในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าสหภาพยุโรป ในขณะที่ฝั่ง EU มีกฎหมายตลาดดิจิทัล (Digital Market Act) และ กฎหมายบริการดิจิทัล (Digital Service Act) ที่กำกับดูแลทางด้านเทคโนโลยี และมีผลบังคับกับบริษัททั่วโลกในลักษณะเป็นสิทธิพิเศษทางกฎหมายนอกอาณาเขต (extra-territorial powers) ซึ่งบริษัทต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง

“บริษัทเทคโนโลยีเหมือนมีอำนาจในการควบคุมอะไรหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา รวมไปถึงการต่อกรกับอำนาจรัฐ จริงๆ ถ้าแพลตฟอร์มปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ EU สั่ง ก็ต้องมาดูเหมือนกันว่า EU มีอำนาจที่จะบังคับใช้กฎหมายนั้นมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้จึงมีการกล่าวถึงอธิปไตยทางดิจิทัล หรือ ‘Digital Sovereignty’ มากขึ้น”

ความหมายของคำว่า อธิปไตย (sovereignty) ถูกใช้แตกต่างกันในแต่ละรัฐ ดังนั้น คำว่า Digital Sovereignty จึงอาจหมายความถึง

หนึ่ง – รัฐต้องการที่จะหลุดออกจากการควบคุมของบริษัทเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา

สอง – ประชาชนต้องการอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูลของตนเอง เพราะ sovereignty ในความหมายดั้งเดิมหมายรวมถึงอำนาจที่แต่ละคนจะสามารถกำหนดเจตจำนงของตัวเอง (individual sovereignty) ด้วย

สาม – รัฐต้องการอำนาจในการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมประชาชน เพราะส่วนใหญ่ในปัจจุบันประชาชนใช้ชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

โจทย์ของ Digital Sovereignty จึงเป็นโจทย์ความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ (state) กับแพลตฟอร์ม และมีความสัมพันธ์อยู่สามแบบ คือ

แบบแรก รัฐและแพลตฟอร์มอาจเป็น ‘Agreement Model’ หรือความสัมพันธ์คล้ายกับ ‘โป๊ปและจักรพรรดิในยุคกลาง’ ซึ่งเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยและเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน ในปัจจุบันคล้ายกับพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership) เช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกากับบริษัทเทคโนโลยี ที่รัฐบาลปล่อยให้ทางบริษัทเจริญเติบโต โดยให้ตลาดเป็นผู้นำทาง และผลประโยชน์ก็กลับมาสู่อเมริกาในแง่ของการที่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถกลายเป็นเทคโนโลยีระดับโลก และทำให้รัฐบาลสามารถสร้างอิทธิพลต่อได้ง่ายขึ้น

แบบที่สอง รัฐและแพลตฟอร์มอาจเป็น ‘Religion-politics congruence model’ หรือ รัฐกับศาสนจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คล้ายกับ information-politics congruence ของโลกปัจจุบัน คือการที่รัฐอยากให้แพลตฟอร์มเป็นไปอย่างไรก็สามารถที่จะกำหนดได้อย่างเบ็ดเสร็จ เช่น ในประเทศจีน เนื่องจากจีนพยายามที่จะส่งออกโครงสร้างพื้นฐานของตนเองผ่านเทคโนโลยี รวมถึงให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะแอฟริกา แต่มีการสอดแนมอยู่เบื้องหลัง

แบบที่สาม รัฐและแพลตฟอร์มอาจเป็น ‘Religion-politics separation model’ หรือการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐกับศาสนา อย่างเช่น EU ในปัจจุบันที่พยายามจะห้ามมิให้รัฐมีอำนาจเหนือประชาชน ประชาชนมีสิทธิที่จะปกครองตนเอง และการที่คนจะสามารถปกครองตนเองได้นั้น การปล่อยตัวเองออกจากอำนาจของแพลตฟอร์มก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

เมื่อโลกไซเบอร์ (cyber space) เป็นดินแดนที่รัฐกระทำการอันใดไม่ได้มาก ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรโลกบาลก็ไม่ค่อยมีบทบาทในการควบคุมดูแล สิ่งที่เกิดขึ้นกับการกำกับทางอินเทอร์เน็ตจึงมีหน่วยงานที่ชื่อว่า ‘The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers’ (ICANN) ซึ่งเป็นองค์กรที่นำโดยวิศวกรที่เป็นผู้สร้างบนอินเทอร์เน็ต ร่วมกับนักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน รวมถึงตัวแทนรัฐบางส่วน มาทำงานร่วมกันในการที่จะกำหนดว่าโลกอินเทอร์เน็ตควรปฏิบัติการ (operate) อย่างไร กระนั้น วิธีคิดของ ICANN ก็ตั้งอยู่บนฐานของอินเทอร์เน็ตที่มีเสรีภาพและเปิดกว้างมาก ฉะนั้น การกำกับดูแลจึงค่อนมาทางคุณค่าของฝั่งเสรีนิยม และยึดอยู่กับวิธีคิดเรื่องของสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิขั้นพื้นฐานค่อนข้างมาก

ทางฝั่งสหประชาชาติ (United Nations: UN) ก็พยายามเข้ามามีบทบาทในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในโลกไซเบอร์ตั้งแต่ช่วงที่รัฐต่างๆ เล็งเห็นว่าอินเทอร์เน็ตมีผลสำคัญกับประชาชน ซึ่งทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘The World Summit on the Information Society’ (WSIS) ขึ้นมา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลอะไรที่รัฐจะสามารถใช้อำนาจควบคุมอินเทอร์เน็ตได้ อย่างมากสุดที่สหประชาชาติจะกระทำได้จึงเป็นส่วนของกฎหมายที่ไม่มีสภาพบังคับโดยตรง (soft law)

อีกอย่างหนึ่งที่ UN กระทำอย่างแข็งขันมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงในโลกไซเบอร์คือ นโยบาย ‘Global Digital Compact’ (GCD) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ โดยฐิติรัตน์สรุปกรอบแนวคิดของ GCD ไว้สามเรื่องหลัก คือ

หนึ่ง – พยายามเชื่อมผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอินเทอร์เน็ตหลากหลายตัวแสดง เพื่อให้มาปรับแนวทางหรือบรรทัดฐานร่วมกัน เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วบริษัทเทคโนโลยีล้วนกำกับดูแลตนเองทั้งสิ้น

สอง – ให้บรรทัดฐานที่มีร่วมกัน ตรงกับหลักการเรื่องการเคารพในเสรีภาพซึ่งสานต่อมาจากแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยนที่เป็นเสาหลักของ UN

สาม – คุ้มครองอันตรายบนโลกไซเบอร์ สิ่งนี้เกี่ยวพันกับความมั่นคงของชาติมากขึ้น เช่น พยายามร่วมมือกันเพื่อกำหนดบรรทัดฐานของจริยธรรมในโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดความไว้วางใจและมั่นคงปลอดภัยต่อดิจิทัล (digital trust and security)

เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ จากการที่ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญข้างต้น ฐิติรัตน์มองว่าประเด็นปัญหาความมั่นคงทางเทคโนโลยีที่ประเทศไทยควรให้ความสนใจ มีดังนี้

ประเด็นแรก คือ ความสามารถในการปกป้องระบบโครงสร้างพื้นฐาน (critical infrastructure) ของเรายังไม่มีความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีดีพอ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลต่อวิธีการป้องกันความมั่นคงแบบใหม่ที่ต้องอาศัยความเข้าใจของพลเรือน

ประเด็นที่สอง คือ ไทยตกเป็นเป้าข้อมูลบิดเบือนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก และสิ่งนี้อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งของเราในภายภาคหน้าด้วย

ประเด็นสุดท้าย การสอดแนมผ่านอุปกรณ์จะเชื่อมโยงกับจีน เนื่องจากข้อมูลหลายๆ อย่างในระบบโครงสร้างพื้นฐานของเรา จีนเข้ามาลงทุนทำให้ค่อนข้างมาก แต่ปัญหานี้หลักๆ แล้วจะตกไปอยู่ที่รัฐมากกว่า 

ดังนั้น หากจะต้องตั้งโจทย์ในการวิจัย ฐิติรัตน์ชี้ว่า ประเทศไทยรับมาทั้งเทคโนโลยีของอเมริกา หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานของจีน ปัญหาคือไทยไม่ได้กำหนดตำแหน่งว่าเราอยู่จุดไหน ได้ประโยชน์หรือไม่ อย่างไร

อีกทั้งโจทย์ความต้องการที่จะควบคุมเทคโนโลยีของประเทศไทยยังไปคนละทางกับโจทย์เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) สังเกตได้จากการที่มีสถานการณ์ขัดกันค่อนข้างมาก และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล (digital security) มีปัญหาในเรื่องความสามารถ (capacity) ของรัฐในการบังคับใช้ทั้งหมด ซึ่งมาจากการที่ความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีของรัฐไม่มากพอ จึงไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นสุดท้ายคือ โจทย์ทางทฤษฎีในแง่ ‘Digital Empires’ ที่เป็นประเด็นพูดคุยกันอย่างหลากหลายบนเวทีโลก แต่โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นมุมมองที่เอาประเทศใหญ่เป็นศูนย์กลาง โจทย์สำหรับประเทศเล็กยังมีไม่มากนัก

“สิ่งสำคัญของเทคโนโลยีคือมันสามารถข้ามพรมแดนได้ตลอดเวลา ดังนั้น เราไม่สามารถที่จะพูดถึงเรื่องการคุ้มครองประชาชน การคุ้มครองพลเมือง โดยมองอยู่แค่โจทย์ภายในประเทศได้อย่างแน่นอน หากเราพูดถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ก็มักถูกกำหนดโดยประเทศใหญ่ๆ แล้วเราอยู่ตรงไหนภายใต้ Digital Empires นี้” ฐิติรัตน์ทิ้งท้าย

‘พลังอำนาจแห่งชาติ’ สิ่งคุ้มครองความมั่นคงในมุมมองกองทัพ – ประเทือง ปิยกะโพธิ์

เมื่อกล่าวถึงความมั่นคง ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนอาจนึกถึงการปฏิบัติการของหน่วยงานความมั่นคงก่อน ซึ่ง ประเทือง ปิยกะโพธิ์ ในฐานะตัวแทนของหน่วยงานความมั่นคง ได้อธิบายถึงมุมมองต่อคำว่า ‘ความมั่นคง’ ระหว่างกองทัพกับพลเรือนว่า มีความเข้าใจที่ค่อนข้างต่างกัน ทหารจะเริ่มมองความมั่นคงจากผลประโยชน์ของชาติก่อน หากแบ่งอย่างกว้าง จะมีเรื่องของความมั่นคง อธิปไตย ความมั่งคั่ง ศักดิ์ศรีบนเวทีโลก และอื่นๆ ทางการทหารมองว่า ความมั่นคงจะรักษาผลประโยชน์ของชาติได้อย่างไร และเราจะทำให้มั่นคงอย่างไร ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ผลประโยชน์ของชาติตั้งอยู่และมั่นคงคือ พลังอำนาจแห่งชาติ

“ถ้าแบ่งในเชิงวิชาการทหาร การทหารเป็นแค่กิ่งหนึ่งในตัวพลังอำนาจของชาติที่จะไปรักษาผลประโยชน์ของชาติ ฉะนั้น ถ้าหากพลังอำนาจของชาติเข้มแข็ง ก็จะรักษาผลประโยชน์ของชาติได้ ดังนั้น ทหารเราไม่ได้มองว่ามีแค่ทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานความมั่นคงอย่างเดียว แต่มีหลายกิ่งที่จะไปรักษาผลประโยชน์ตรงนั้น”

ในสถานการณ์ปัจจุบันมีเหตุการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่สิ่งที่กองทัพมองเป็นหลักคือ การแข่งขันของชาติมหาอำนาจ ประเทืองกล่าวว่า แม้พวกเขาจะแข่งขันกันมานาน แต่ตอนนี้บทบาทของสหรัฐอเมริกาเริ่มลดลง และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน รัสเซีย มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นในทางการทหาร ประเทศที่เรียกว่าเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริงในโลกนี้มีเพียงสามประเทศคือ สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย

กองทัพมองว่าการแข่งขันเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ทุกประเทศต้องการรักษาผลประโยชน์ของตน ดังนั้น ทุกเครื่องมือที่ใช้ก็เพื่อประโยชน์ชาติ บางอย่างก็ไปด้วยกันได้ บางอย่างก็เป็นเพียงการแข่งขัน แต่บางอย่างก็กลายเป็นข้อพิพาทจนนำไปสู่การทะเลาะ และจบที่ปัญหาสงครามต่อไป

อีกสิ่งที่กองทัพมองว่าสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากมองในเชิงเศรษฐกิจ ผลกระทบอาจเป็นการกีดกันทางการค้า หรือถ้ามองในเรื่องของความเสียหายก็จะเป็นในส่วนของภัยพิบัติ รวมถึงการอพยพผู้คนต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความวุ่นวายในโลกตามมา

อย่างสุดท้าย คือ โลกยุควูก้า (VUCA World) ที่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ทำให้เกิดความผันผวน คลุมเครือ ไม่แน่นอน อยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่กองทัพมองว่าน่ากังวลไม่แพ้สถานการณ์สงคราม ฉะนั้นจึงต้องย้อนกลับไปถึงความสำคัญของพลังอำนาจแห่งชาติ เพราะเมื่อเหตุการณ์มิติหนึ่งเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อมิติอื่น เช่น การทหารกระทบทางเศรษฐกิจ หรือการกระทำทางเศรษฐกิจกระทบทางสังคม เป็นต้น

สามสิ่งข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้โลกเกิดสถานการณ์เช่นปัจจุบัน ในส่วนของสงคราม ประเทืองมองว่าเป็นวัฏจักรของสังคม กล่าวคือ เมื่อคนเรามีผลประโยชน์ไม่ตรงกัน ก็ต้องเจรจากัน แต่เมื่อเจรจากันไม่ลงตัวก็ต้องใช้กำลัง และเมื่อใช้กำลังระยะหนึ่งแล้วบาดเจ็บล้มตาย ก็จะวนมาสู่การเจรจากันอีกรอบหนึ่ง ซึ่งลักษณะนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ความน่ากลัวในปัจจุบันคือ ความทันสมัยของเทคโนโลยีทำให้ผู้คนใช้อาวุธสมัยใหม่ทำลายกันและกัน สมัยก่อนอาจกระทบเพียงคนที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ แต่ปัจจุบันกระทบทั้งระบบ

“ซึ่งสิ่งนี้จะย้อนกลับมาที่โลกยุควูก้าที่ความสลับซับซ้อนไม่ได้อยู่ในมิติใดมิติหนึ่ง แต่เกี่ยวโยงไปในหลายมิติ ตรงนี้คือสิ่งที่แตกต่างกันไป อย่างที่ผมบอก ทุกประเทศจะมองผลประโยชน์ของชาติ เพราะฉะนั้นเวลาทำเขาใช้เครื่องมือทุกเครื่องมือที่มีอยู่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงนั้น”

เมื่อโลกเป็นเช่นนี้แล้ว ประเทืองมองว่าความยากสำหรับกองทัพคือ ‘การปฏิบัติ’ มีบางอย่างที่กองทัพเตรียมพร้อม แต่ต้องยอมรับว่าบางอย่างยังไม่ทันได้เตรียมการ ซึ่งการเตรียมการต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ งบประมาณ และยุทธศาสตร์ อย่างเช่นเรื่องการแข่งขันของมหาอำนาจ บางอย่างก็อยู่นอกเหนือสิ่งที่กองทัพจะต้องดำเนินการ เป็นเรื่องที่อาจจะต้องร่วมมือกันในระดับประเทศ

จุดแข็งของกองทัพที่จะต่อสู่ในเรื่องของความมั่นคงจากมุมมองของคนในกองทัพเอง ประเทืองมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เมื่อมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น คนในชาติจะมองเรื่องของส่วนรวมก่อน และร่วมมือกันตรงนี้ได้ดี

แต่จุดอ่อนของกองทัพคือ เรื่องเทคโนโลยีที่ประเทศของเราตามไม่ค่อยทัน เราสามารถใช้เทคโนโลยีได้ แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นผู้ผลิต และเรายังคงต้องตามประเทศอื่น

“ถ้าเรามองภัยจากภายนอก สมัยก่อนมันเห็นชัดเจนในด้านสงครามต่างๆ หากเป็นสิ่งนั้นเราก็มีการตั้งกองกำลังที่จะพร้อมรับ แต่ปัจจุบันตัวภัยคุกคามไม่ใช่เพียงกำลังทหารแล้ว แต่เป็นไซเบอร์ ถ้าภายนอกควบคุมไซเบอร์ไม่ได้ เราก็จะเกิดปัญหา ส่วนเรื่องภายใน อันนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาความมั่นคงจากภายในเริ่มมีมากขึ้น”

อีกหนึ่งสิ่งที่กองทัพมองเพื่อที่จะทำให้รับมือกับสภาพสังคมโลกได้ดีขึ้นคือ การปรับกองทัพให้เล็กลงแต่ยังคงประสิทธิภาพเท่าเดิมได้ ซึ่งจะไปเกี่ยวพันกับเรื่องประชากรศาสตร์ของประเทศ ดังนั้น กองทัพอาจต้องหันมาพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น หรือแม้แต่การรับทหารเกณฑ์แบบสมัครใจก็ต้องมีสิ่งจูงใจให้คนอยากเข้าไปเป็นทหารมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทืองมองว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีกองทัพ ฉะนั้น กองทัพมีหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่สถานการณ์ปกติ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที

“จริงๆ ทหารไม่ได้อยากรับภารกิจเยอะ เพราะเราเองก็พยายามจะบอกว่าเราไม่ใช่ผู้รับผิดชอบหลัก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในส่วนที่เกี่ยวกับพลเรือน หลายครั้งถูกร้องขอมาจากหน่วยที่เขารับผิดชอบ เข้าใจว่าที่ผ่านมาผู้นำประเทศส่วนใหญ่เป็นทหาร ทำให้ภาพของทหารออกมาเป็นแบบนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากวันหนึ่งประเทศไทยเปลี่ยนผู้นำทางการเมือง ผมเชื่อว่าทหารก็จะเปลี่ยนไปด้วย อย่างที่เรียนไปว่า ทหารเป็นเพียงกิ่งหนึ่งในพลังอำนาจแห่งชาติ ฉะนั้น การเมืองเป็นอย่างไร ทหารจะต้องล้อตามอยู่แล้ว”

ประเทืองทิ้งท้ายในส่วนของงานวิจัยที่อยากให้เกิดขึ้นว่า หากมองระยะใกล้ ควรศึกษาเรื่องของความมั่นคงหรือความไม่สงบในประเทศโดยรอบ เช่น ปัญหาการเมืองการทหารในพม่า ข้อพิพาททะเลจีนใต้ สถานการณ์ความขัดแย้งคาบสมุทรเกาหลี ว่าท้ายสุดแล้วจะไปลงเอยอย่างไร และส่งผลกระทบอย่างไร เนื่องด้วยสิ่งนี้สามารถกระทบต่อประเทศเราได้ในหลายมิติ รวมไปถึงยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจใช้ตอบโต้กันในเรื่องของกลุ่มภาคีหรือเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย

แยกทหารจากการทำงานด้านพลเรือนและปฏิรูปกองทัพเพื่อความมั่นคง  – พวงทอง ภวัครพันธุ์

พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าความมั่นคงในโลกปัจจุบันรวมถึงของไทย แบ่งออกเป็นความมั่นคงทางการทหารกับความมั่นคงมนุษย์ หรือจะเรียกว่าเป็นความมั่นคงแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด โรคภัย สิ่งแวดล้อม ไฟป่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หากดูในงานเอกสารของกองทัพไทย หรือหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ แม้แต่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล้วนมีเรื่องความมั่นคงมนุษย์อยู่ด้วยทั้งสิ้น เห็นได้ชัดว่ากองทัพให้ความสำคัญกับความมั่นคงมนุษย์มานาน ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นและขยายมากยิ่งขึ้น แม้ว่าการที่กองทัพให้ความสนใจกับความมั่นคงมนุษย์จะดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ประสิทธิภาพในการจัดการของกองทัพค่อนข้างจำกัด

ประการแรก คือ การแย่งชิงงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงไปใช้ พวงทองยกตัวอย่างแผนงานของกองทัพไทย โดยแสดงงบประมาณจากกระทรวงกลาโหมประจำปี 2562 และ 2566 ขึ้นมาเปรียบเทียบ พบว่า กองทัพไทยมีงบประมาณและแผนงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านการทหารโดยตรงเป็นจำนวนมาก ในปี 2562 มีแผนงานด้านพลเรือนอยู่ 7-8 แผนงาน ในขณะที่ปี 2566 มี 6-7 แผนงานจาก 11 แผนงาน อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังมีแผนงานเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือแม้แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้สะท้อนว่า งานส่วนใหญ่ของกองทัพไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับเป็นเรื่องภายในประเทศและขยายออกไปสู่สารพัดเรื่องยิ่งขึ้น

ประการที่สอง คือ กองทัพไม่ได้มีความรู้ความสามารถในส่วนงานของพลเรือนโดยตรง เช่น ประเทศไทยมีหน่วยงานท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่กองทัพยังมีหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นของตัวเอง แล้วนำงบประมาณของประชาชนไปใช้ในส่วนนั้น หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าทางภาคเหนือ เราจะไม่เห็นกองทัพเข้ามามีบทบาทในด้านนี้ ทั้งที่กองทัพมีงบที่จะจัดการกับเรื่องภัยพิบัติ มีหน่วยทหารพัฒนา พวงทองกล่าวว่า หลังจากได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับหน่วยประชาชนที่อาสาเข้าไปช่วยดับไฟป่ามาเป็นเวลา 3-4 ปี พวกเขาล้วนบอกว่าทหารทำไม่ได้ และไม่ได้ฟังภาคประชาชนที่มีความรู้เกี่ยวในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ

ในเรื่องของความมั่นคงโลกที่ทหารจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ พวงทองมองว่าสิ่งนี้เป็นจุดอ่อนของกองทัพไทยเช่นเดียวกัน ปัญหาคือหลายส่วนในกองทัพมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านน้อยมาก เพราะความสามารถที่จะติดตามงานวิจัยในต่างประเทศมีน้อย นายทหารส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้อย่างแตกฉาน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงว่ากองทัพจะวางยุทธศาสตร์อย่างไร

“เมื่อกำลังพลจำนวนมากถูกเอามาใช้กับเรื่องกิจการภายใน ดิฉันมองว่ามันทำให้กิจการกองทัพที่ควรจะเข้มแข็งกลับอ่อนแอลง ตัวอย่างเช่น กองทัพใช้งบกว่าสองร้อยล้านเพื่อศึกษาการซื้อเรือดำน้ำ แต่กลับซื้ออาวุธที่ใช้ไม่ได้มา สิ่งนี้เกิดจากความอ่อนด้อยเรื่องยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และเทคโนโลยี หากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน แต่ประเทศนี้ไม่มีสิ่งเหล่านี้”

พวงทองกล่าวว่า การที่กองทัพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพลเรือน ทำให้มีแนวโน้มที่การมองปัญหาเหล่านั้นจะถูกมองด้วยมุมมองแบบทหาร (militarization) ถ้าเรามองว่าปัญหาต่างๆ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จำเป็นต้องแก้ด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่วิธีทางการทหาร ผลักให้ประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากกองทัพเป็นภัยคุกคาม หลายต่อหลายครั้งการมองหรือแก้ไขปัญหาถูกทำให้มีอุดมการณ์ทางการเมือง (politicize) ที่ต่อต้านประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม

จากที่กล่าวมาข้างต้น พวงทองตั้งคำถามเกี่ยวกับโจทย์วิจัยว่า เมื่อทำโจทย์วิจัยเหล่านี้แล้วจะสามารถปฏิรูปกองทัพได้หรือไม่ ประเด็นในเรื่องที่นักการเมือง รัฐบาล ขอให้กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องพลเรือนนั้นเป็นความจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ด้านหนึ่งรัฐบาลพลเรือนมองว่า ถ้าให้กองทัพเข้ามาทำเรื่องพวกนี้โดยไม่ตัดงบประมาณ จะทำให้กองทัพสนใจเรื่องการเมืองน้อยลง ไม่แทรกแซงการเมืองแล้วไปทำรัฐประหาร แต่อีกด้านก็สะท้อนถึงความไม่รู้ของฝ่ายนักการเมืองเอง พรรคการเมืองที่ไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาหลายๆ อย่าง อีกทั้งยังฟังคำแนะนำจากฝ่ายความมั่นคงซึ่งมองปัญหาด้วยมุมมองแบบทหาร ขณะเดียวกันกองทัพเองก็คงต้องการโครงการเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เห็นได้ชัดจากงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงรัฐประหาร

ประเด็นความตึงเครียดในระดับโลกหรือการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของมหาอำนาจ หากกองทัพไทยไม่มีความเข้มแข็งในด้านการทหาร หรือขาดความเข้าใจในยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจหรือของประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นอันตรายต่อประเทศไทยโดยตรง ดังนั้น ในโลกที่อ่อนไหวมากขึ้น การกำหนดนโยบายต่างประเทศที่ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งนับเป็นปัญหาสำคัญกว่าการให้กองทัพจัดการงานพลเรือน

การที่จะทำให้กองทัพหันไปทุ่มเทกับภารกิจป้องกันประเทศมากขึ้น พวงทองมองว่า ต้องมีการวิจัยหรือการประเมินโครงการต่างๆ ที่อยู่ในกองทัพ รวมถึงโครงการที่กองทัพข้องเกี่ยวกับความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งถูกครอบงำโดยวิธีคิดเรื่องความมั่นคงทางทหารอย่างเดียว อาทิ ประเมินเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกองทัพ โครงการยาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจ หากไม่นำข้อมูลเหล่านี้ออกมา ประชาชนก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น กองทัพเองก็อาจจะไม่ตระหนักว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ทำไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ควรนำกำลังคนไปทุ่มเทกับเรื่องที่ได้รับมอบหมายหลักอย่างการทหาร

“ข้อเสนอปฏิรูปของทัพ คิดว่าเกี่ยวข้องในหลายเรื่อง ตั้งแต่กฎหมายหลักอย่างรัฐธรรมนูญ กองทัพอ้างว่ารัฐธรรมนูญเปิดทางให้กองทัพเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องพวกนี้ ทหารอ้างถึงอำนาจของตนตั้งแต่รัฐธรรมนูญ เรื่อยมาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 4 แม้แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติก็มีเรื่องเหล่านี้อยู่ ฉะนั้น ถ้าไม่แก้สิ่งเหล่านี้ คุณก็ไม่มีทางเอาทหารออกจากเรื่องการเมืองได้

“ฉะนั้น ประเด็นที่พูดมาทั้งหมดที่จะทำให้กองทัพมีความเป็นมืออาชีพได้นั้นมันเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมนุษย์เองต้องแก้ไขและปรับปรุงในหลายๆ เรื่องเช่นกัน” พวงทองกล่าวทิ้งท้าย

ส่งเสริมความมั่นคงด้วยสันติภาพเชิงบวก: บทเรียนจากการจัดการปัญหาชายแดนใต้ – ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

บทเรียนจากการจัดการปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงกระบวนการสันติภาพ ทำให้ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่าความมั่นคงแบบใหม่จะต้องมองด้วยกรอบความคิดเรื่องของการสร้างสันติภาพหรือสันติสุขในสังคมผ่านการพัฒนามนุษย์

ความรุนแรงและความไม่สงบที่ปรากฏให้เห็นในจังหวัดชายแดนใต้มีพัฒนาการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ศรีสมภพกล่าวว่า ยังมีอีกด้านที่เรามองไม่เห็น นั่นคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เมื่อเรามองเรื่องของความรุนแรง เราจึงต้องมองทั้งความรุนแรงเชิงกายภาพและความรุนแรงที่ไม่ใช่กายภาพ จึงจะทำให้เรามองเรื่องของความมั่นคงได้ชัดขึ้น

รายงานจากฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง ปี 2566 เกิดทั้งสิ้น 22,166 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,520 คน และผู้บาดเจ็บ 13,968 คน โดยแนวโน้มของความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นลดและเพิ่มสลับกันไป แต่ช่วงหลังมีความแกว่งของเหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งที่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพและพยายามแก้ปัญหาโดยสันติ เหตุผลที่สำคัญคือความแปรปรวนของเหตุการณ์ ซึ่งความแปรปรวนนั้น ศรีสมภพลงความเห็นว่า อาจเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากขึ้นโดยการปิดล้อมตรวจค้นที่เข้มขึ้น

นอกจากกระบวนการในการแก้ปัญหาที่ควบคุมไม่ให้ก่อเหตุหรือเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ขณะเดียวกัน ปัญหาความยากจน การกระจายรายได้ โอกาสชีวิตของคน การพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ รวมถึงความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมไม่ได้ถูกแก้ไขไปด้วย ในทางสันติภาพมองว่าการจัดการปัญหาเช่นนี้ เป็นการจัดการแบบแคบ หรือ ‘Negative peace’ แต่หากมองความรุนแรงถึงต้นตออย่างอื่น ความรุนแรงแบบที่ไม่ใช่กายภาพ ก็จะเป็นการมองปัญหาที่กว้างขึ้นและมีเป้าหมายที่กว้างกว่า กลายเป็น ‘Positive Peace’ หรือ สันติภาพเชิงบวก

“เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาความมั่นคงในภาพใหญ่ได้หากละเลยความรุนแรงที่ไม่ใช่กายภาพ เพราะความมั่นคงต้องรวมถึงความมั่นคงของมนุษย์ด้วย โดยเฉพาะความมั่นคงแบบใหม่ ที่จะขยายสู่ความมั่นคงของมนุษย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ศรีสมภพกล่าว

สิ่งที่จะทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบลดน้อยลง ศรีสมภพย้ำว่า กระบวนการสันติภาพ มีส่วนช่วยอย่างมาก ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เนื้อในของกระบวนการสันติภาพมีการคุยกันและพยายามทำข้อตกลงหลายอย่างประมาณ 25-30 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน การจะทำให้สันติภาพเชิงบวกเกิดขึ้นจริงนั้น ต้องย้อนกลับมาดูว่าในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ความไม่สงบลดลงอย่างเป็นระบบ สมมติฐานหนึ่งที่อธิบายได้ในแง่ของงานวิจัยคือ อาจเป็นเพราะปี 2556 มีการพูดคุยแบบสันติภาพครั้งแรกเกิดขึ้น และมีต่อมาเรื่อยๆ แต่ยังคงมีปัจจัยอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ทำให้ความไม่สงบลดลง อาทิ กลไกการทำงานของฝ่ายความมั่นคงที่ความมั่นคงแบบเก่ายังมีความเข้มข้นอยู่ กระทั่งทุกวันนี้ ทหารยังมีอำนาจมากในเรื่องการจัดการปัญหาภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะจัดการไปที่ความรุนแรงเชิงกายภาพมากกว่า 

ดังนั้น หัวข้อวิจัยที่ควรจะทำเพื่อความมั่นคง ศรีสมภพมองว่า ควรเป็นเรื่องที่ทำให้สันติภาพเชิงบวกมีประสิทธิผลมากขึ้น ในแง่ของการศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ผ่านนโยบายสันติภาพ ซึ่งมีการออกแผนงานและกิจกรรมนับไม่ถ้วน ควรมีการเข้าไปวิจัยหรือประเมินว่ามีผลจริงหรือไม่ต่อพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของขบวนการสันติภาพ หรือการลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น 

“น่าจะทำ (วิจัย) เรื่องนี้เพราะมีแผนหรือโครงการของรัฐ เรื่องของคำสั่งในการสร้างสันติภาพ และมันไม่ได้เป็นไปในทางสันติภาพเชิงบวกเท่าที่ควร สันติภาพเชิงบวกควรเติมเข้าไปอย่างไรในกระบวนการ และควรจะมีการศึกษาโดยเร็วบนพื้นฐานของความเข้าใจในสันติภาพที่ยั่งยืน แล้วเอามาใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้” ศรีสมภพกล่าวปิดท้าย

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save