fbpx

“โรงเรียนอนาคต” เปิดเทอม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “โรงเรียนอนาคต” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องวรรณไวทยากร ชั้น 1 ดึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โรงเรียนอนาคต ธรรมศาสตร์

“โรงเรียนอนาคต” – ประสบการณ์ความรู้แนวใหม่ เพื่อร่วมปลูกอนาคตสังคมไทย – มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่” ระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย (อายุ 17-23 ปี) ให้มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งวงแลกเปลี่ยนถกเถียง วงปฏิบัติการ วงสนทนา วงเสวนา วงเดินทาง และวงระดมสมอง ร่วมกับวิทยากรชั้นนำจากหลากหลายวงการนับ 50 คน ในช่วงระหว่างวันที่ 8-22 กรกฎาคมนี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

“โรงเรียนอนาคต” จะผสมผสานนักเรียนและนักศึกษาที่มีความคิดและผลงานที่โดดเด่นในวงการต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างหลากหลาย สร้างบรรยากาศแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเรียนรู้ระหว่างกันและส่งพลังเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกันได้เต็มที่

รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า โลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแรงและเร็ว ทุกส่วนของโลกเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยี การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่คาดการณ์ได้ยาก สังคมไทยจะก้าวต่อไปอย่างประสบความสำเร็จในสังคมโลกได้ ก็ต้องมีผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมจัดการกับโลกแห่งความไม่แน่นอนในอนาคต และนี่จึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะ “สร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้สังคมไทยและนานาชาติ” และตั้งเป้าหมายในการปลูกฝังบัณฑิตของ มธ. ให้มีคุณลักษณะ 6 ข้อ ที่เหมาะกับการเป็น “ผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21” เรียกย่อๆ ว่า GREATS คือ เท่าทันโลกและสังคม (Global Mindset) มีความรับผิดชอบ (Responsibility) สื่อสารอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง (Eloquence) มีสุนทรียะในจิตใจ (Aesthetic Appreciation) เป็นผู้นำทีม (Team Leader) และมีจิตวิญญาณเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคม (Spirit of Thammasat)

โครงการ “โรงเรียนอนาคต” จะทำหน้าที่เสมือนแปลงต้นกล้าที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้นำรุ่นใหม่ในตัวของเยาวชน ผ่านประสบการณ์เรียนรู้รูปแบบใหม่ที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล และปลูกฝังวิธีคิดที่จะติดตัวเขาเหล่านั้นไปในอนาคต รวมถึงจะมีโครงงานเข้มข้นที่จะช่วยเยาวชนให้ดึงศักยภาพในตัวออกมาให้เบ่งบานและงอกงาม พวกเขาเหล่านี้จะเป็นเครือข่ายของขุมพลังแห่งการขับคลื่อนสังคมไทยและนานาชาติในอนาคตต่อไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอปักธงในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เยาวชนต้นกล้าเหล่านี้ไปเติบโตและขยายผลในทุกแวดวง ทุกส่วนของสังคมไทย และสังคมโลกต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธรศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธรศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.

ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า เราต้องฝากโลกอนาคตไว้ในมือของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มักเรียกกันว่า Gen Z และ Gen Alpha คนเจเนอเรชันใหม่เหล่านี้มีวิธีคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนในรุ่นก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็สอดรับไปกับสังคมโลกที่ถูกขับคลื่อนไปในรูปแบบที่โอกาสมีไม่จำกัด

ในขณะที่สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่มีอยู่ก็พร้อมที่จะล้าหลังและพ้นสมัยไปตลอดเวลาเช่นกัน คำถามคือเราจะเตรียมคนให้พร้อมสำหรับโลกใหม่ในอนาคตได้อย่างไร ในเมื่อเราเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าโลกอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร สิ่งที่แน่นอนก็คือ การสร้างคนเพื่อรับมือกับโลกอนาคตไม่อาจใช้วิธีการเดิมๆ ได้อีกต่อไป ความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด ทักษะสำคัญกว่าเนื้อหา และ 3 ทักษะสำคัญคือ “คิด วิเคราะห์ ค้น” คือสิ่งที่เราต้องปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของ DNA คนรุ่นใหม่ เพราะถ้ามี 3 ทักษะนี้ เขาเหล่านั้นจะสามารถปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเจอได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ

“โรงเรียนอนาคต” ทำหน้าที่เป็นเสมือนกรีนเฮ้าส์ที่จะบ่มเพาะ และเร่งอัตราการเติบโตทางวิธีคิด มุมมอง และทักษะที่ผู้นำพึงมีเพื่อให้ประสบความสำเร็จในอนาคต เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ลองผิดลองถูก ได้เรียนรู้รอบด้านในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ได้ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง และคิดเรื่องใหม่ๆ ที่ใหญ่กว่าเรื่องของตนเอง ได้คิดและพัฒนาโครงการที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยและสังคมโลกไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทางด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “โรงเรียนอนาคต” ออกแบบมาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกและสังคมไทยในปัจจุบัน โรงเรียนนี้เชื่อมโยงร้อยรัดอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน เห็นที่มาที่ไป เข้าใจสภาวะที่ดำรงอยู่ และร่วมกันสำรวจหนทางใหม่ๆ สำหรับอนาคต ผ่านแง่มุมความรู้และทักษะที่หลากหลาย ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ ภาพยนตร์ สารคดี การเขียนเชิงสร้างสรรค์ ที่สำคัญห้องเรียนนี้มุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเเรียนรู้ที่เปิดกว้างและเสรี กระตุกและกระตุ้นความคิดมุมมองใหม่ๆ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เรียนรู้จากกันและกัน เพื่อสรรค์สร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

“โรงเรียนอนาคต” เกิดขึ้นบนฐานความเชื่อ 3 ประการ หนึ่ง สังคมมีความหวัง และความหวังอยู่กับคนรุ่นใหม่ เพราะมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกไกล ยิ่งได้รับโอกาสเร็ว ยิ่งมีโอกาสดึงศักยภาพในตัวออกมาได้เร็ว สอง ความหลากหลายคือพลัง เราอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้องค์ความรู้และทักษะที่หลากหลายรอบด้าน ได้เจอเพื่อนจากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อก้าวออกจากศาสตร์และความสนใจเฉพาะของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เกิดพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สาม การสร้างเครือข่ายคือคำตอบ ลำพังตัวคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ต่อให้เก่งอย่างไรก็ตาม เราอยากให้คนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ ในแต่ละสาขาได้มาเจอกัน ได้สานต่อความสัมพันธ์ และกลายเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงนำความรู้ที่ได้รับไปสู่เพื่อนๆ ในโรงเรียนและสังคมวงกว้าง

ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และบรรณาธิการบริหาร

ส่วน ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และบรรณาธิการบริหาร The101.world กล่าวว่า เสน่ห์ที่น่าตื่นตาตื่นใจของ “โรงเรียนอนาคต” คือ หนึ่ง ความหลากหลายของนักเรียนที่เข้าร่วม เรามีทั้งนักเรียนมัธยม และนักศึกษามหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ ทั้งด้านรัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ จิตรกรรม สถาปัตยกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ปรัชญา ครุศาสตร์ การออกแบบ เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ มาเรียนรู้ร่วมกัน เรียน-กิน-นอนอยู่ด้วยกันสองสัปดาห์เต็ม ซึ่งน่าจะเปิดโลกและเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ข้ามความสนใจของนักเรียนได้อย่างกว้างขวาง

สอง เราจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมาก ทั้งเรียนวิชาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านต่างๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับนักวิชาการชั้นนำ, ฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ผ่านการลงมือปฏิบัติการจริงกับตัวจริงในวงการต่างๆ ทั้งนักคิดนักเขียน ผู้กำกับ นักออกแบบ นักแสดง นักพูด นักเคลื่อนไหวทางสังคม, เปิดวงเสวนาเรื่องอนาคตของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย กับตัวละครสำคัญในวงการต่างๆ ของประเทศ ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ, เดินทางเพื่อเรียนรู้ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเรื่องสตาร์ทอัพและนวัตกรรมทางธุรกิจ และตั้งวงสนทนาแบบไม่เป็นทางการหลังอาหารเย็นกับวิทยากรที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจทางความคิดเกือบทุกวัน ทั้งหมดนี้ภายใต้การอำนวยการเรียนรู้ของวิทยากรกระบวนการมืออาชีพที่จะอยู่กับนักเรียนตลอดสองสัปดาห์

เราหวังว่า “โรงเรียนอนาคต” จะเป็น “ข่าวดี” หนึ่งของสังคมไทยและระบบการศึกษาไทยท่ามกลางบรรยากาศหดหู่และสิ้นหวัง โดยปลุกพลังให้ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กลับมาลงแรงร่วมกำหนดอนาคตของพวกเรากันเองอีกครั้ง โดยใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม

สตีเน่อ คลัพเพอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย

ปิดท้ายด้วย สตีเน่อ คลัพเพอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย กล่าวว่า FES ตื่นเต้นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “โรงเรียนอนาคต”  ตั้งแต่ FES ก่อตั้งขึ้นในปี 1925 เป้าหมายหลักของเราคือการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในด้านการศึกษาและการมีส่วนร่วมทางสังคม เราเชื่อมั่นว่าทุกประเทศต้องการคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมาดปรารถนาในการแบกรับความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และโลก เป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้านำเสนอความคิดใหม่ๆ และใส่ใจส่วนรวม ไม่ได้สนใจเพียงแค่อนาคตของตัวเองเท่านั้น

เราหวังว่านักเรียนที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วม “โรงเรียนอนาคต” ในปีแรกนี้จะมีส่วนร่วมในการปลูกอนาคตสังคมไทยให้งอกงามขึ้น ประสบการณ์สองสัปดาห์ใน “โรงเรียนอนาคต” คงเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและหาที่ไหนไม่ได้ นักเรียนจะได้เรียนรู้กับวิทยากรจากวงการต่างๆ ทั้งในและนอกแวดวงวิชาการ มีโอกาสได้สะท้อนคิดและคิดวิพากษ์องค์ความรู้ต่างๆ และได้สร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขา

เราจะทำให้ “โรงเรียนอนาคต” คือโรงเรียนสำหรับวันพรุ่งนี้ที่แท้จริง!

โรงเรียนอนาคต ธรรมสษสตร์

การเรียนรู้ใน “โรงเรียนอนาคต”

 

ธีมหลักของการเรียนรู้ใน “โรงเรียนอนาคต” ปีแรก คือ ความท้าทายของสังคมไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง (Thai Challenges in the Changing World) โดยมุ่งสำรวจสถานะและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม อุดมการณ์ และเทคโนโลยี ผ่านปรากฏการณ์สำคัญของยุคสมัย และเชื่อมโยงให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลกต่อสังคมไทย

รูปแบบการเรียนรู้ ประกอบด้วย

(1) วงแลกเปลี่ยนถกเถียง (Discussion)

เป็นการเรียนรู้องค์ความรู้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับวิทยากรที่ทำงานความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง

หัวข้อสำหรับวงแลกเปลี่ยนถกเถียง ได้แก่

  • ระเบียบโลกใหม่ (ในโลกไร้ระเบียบ?) (New World (dis)Order)

จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • ความท้าทายใหม่ในโลกทุนนิยม (New Challenges to Capitalism)

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

  • Cosmopolitanism

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ bookscape และหัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

  • ความยั่งยืนและระบบนิเวศ (Sustainability and Ecosystem)

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว

  • ความยุติธรรม (Justice)

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation)

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

  • พลังเยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Youth Movement in Politics)

Adonis Elumbre, Chair and Assistant Professor, Department of History and Philosophy, College of Social Sciences, University of the Philippines, Baguio

(2) วงปฏิบัติการ (Workshop)

เป็นการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงภายใต้การดูแลจากมืออาชีพผู้มีประสบการณ์ตรงอย่างโชกโชน

หัวข้อสำหรับวงปฏิบัติการ ได้แก่

  • การคิดวิพากษ์ (Critical Thinking)

พฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และทีมงาน

  • ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ (Creativity and Design)

Eyedropper Fill ทีมนักออกแบบมัลติมีเดีย

  • การเขียนอย่างสร้างสรรค์ (Creative Writing)

วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์

  • ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)

เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ นาดาว/GDH

  • การถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี (Documentary Making)

ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี

  • ศิลปะการแสดง (Performing Art)

B-Floor Theatre กลุ่มละครเวทีและศิลปะการแสดง

  • การรณรงค์สื่อสารทางสังคม (Social Campaigning)

สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา

  • การทดลองเชิงพฤติกรรม (Behavioral Experiment)

ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • การพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking)

กตัญญู สว่างศรี พิธีกร สแตนด์อัพคอมเมเดียน

(3) วงเสวนา (Seminar)

เป็นการเรียนรู้เรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในโลกต่อสังคมไทย การรับมือและปรับตัวของสังคมไทย ในมิติต่างๆ ผ่านวงเสวนา ซึ่งประกอบด้วยวิทยากรหลากหลายวงการมาร่วมแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน

หัวข้อสำหรับวงเสวนา ได้แก่

  • การเมืองไทยในอนาคต (The Future of Thai Politics)

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  พรรคอนาคตใหม่

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ พรรคสามัญชน

องอาจ คล้ามไพบูลย์ พรรคประชาธิปัตย์

  • เศรษฐกิจไทยในอนาคต (The Future of Thai Economy)

อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • การเมืองภาคประชาชนไทยในอนาคต (The Future of Thai Social Movement)

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง โรงน้ำชา (Togetherness for Equality and Action – TEA)

วิเชียร ทาหล้า เครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่

(4) วงสนทนา (Dinner Talk)

เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของวิทยากรที่น่าสนใจในวงการต่างๆ เช่น นักวิชาการ สื่อมวลชน นักการเมือง นักธุรกิจ เอ็นจีโอ ผ่านการพูดคุยสนทนากันแบบกึ่งทางการในช่วงรับประทานอาหารเย็นของทุกวัน

แขกรับเชิญวงสนทนา ได้แก่

  • ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
  • บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน
  • นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  • ศักดิดา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน
  • Stine Klapper ผู้อำนวยการ FES ประเทศไทย
  • ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ Documentary Club
  • พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอก MIT Media Lab

(5) วงเดินทาง (Journey)

เป็นการเรียนรู้ผ่านการศึกษาดูงานในพื้นที่จริง หัวข้อสำหรับวงเดินทาง ได้แก่

  • เทคโนโลยี นวัตกรรม และผู้ประกอบการยุคใหม่ (Technology, Innovation and New Entrepreneurship Journey)

นำโดย พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.

  • เส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Historical and Cultural Journey)

นำโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมด้วยทีมวิทยากรมิวเซียมสยาม

ผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการ

ผู้เข้าร่วมโครงการนำส่งผลงาน 2 ชิ้น

  • ผลงานกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน โดยจัดทำข้อเสนอการสร้างอนาคตประเทศไทยในหัวข้อเฉพาะที่เลือก และนำเสนอต่อผู้เข้าร่วมโครงการในตอนท้ายโครงการ
  • ผลงานเดี่ยว โดยสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใดก็ได้ ในหัวข้อใดก็ได้ ภายใต้ธีมของโครงการภายในเวลาประมาณ 3 เดือนหลังจากสิ้นสุดโครงการ (ภายในเดือนตุลาคม 2561) ทั้งนี้ โครงการจะจัดให้มีการแสดงผลงานต่อสาธารณะต่อไป (ภายในสิ้นปี 2561)

ทีมงานโรงเรียนอนาคต

ที่ปรึกษา : พิภพ อุดร และ Stine Klapper

ผู้อำนวยการโรงเรียนอนาคต : ปกป้อง จันวิทย์ และ ประจักษ์ ก้องกีรติ

หัวหน้าทีมอำนวยการเรียนรู้ : พฤหัส พหลกุลบุตร

วิทยากรกระบวนการ : พฤหัส พหลกุลบุตร ฐิตินบ โกมลนิมิ และศิริพร ฉายเพ็ชร

ผู้ประสานงาน : ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ กัปตัน จึงธีรพานิช และชัชฎา กำลังแพทย์

ติดต่อ : [email protected]

ภาพประกอบ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save