fbpx

จากหนึ่งชีวิตสู่หนึ่งพันชีวิต Schindler’s List

มี 2 เหตุผลที่ผมเลือกหยิบหนังเรื่อง Schindler’s List มาเล่าสู่กันฟังในคราวนี้ เป็นทั้งเหตุผลที่ดีและเหตุผลที่เลวปนกัน

อย่างแรกคือ Schindler’s List ถึงวาระครบ 30 ปี และเพิ่งจะมีเผยแพร่ดูได้ใน Prime Video จึงสมควรแก่เวลาที่จะทบทวนรื้อฟื้นกล่าวถึงกันอีกสักครั้ง

ส่วนเหตุผลที่เลวคือตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ผมมีความจำที่สับสนยุ่งเหยิง ด้านหนึ่งก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้เอาไว้บ้าง (ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็น่าจะเป็นข้อเขียนสรุปความสั้นๆ ไม่ได้แตะต้องลงสู่รายละเอียดมากนัก) แต่อีกด้านหนึ่งก็เชื่อมั่นมากพอๆ กันว่าผมไม่เคยเขียนถึง Schindler’s List เลย

ข้อสงสัยข้างต้นนั้นเกิดขึ้นและเป็นมาอยู่เนืองๆ ถ้าแบ่งฝ่ายเป็นตัวบุคคลได้ คงทะเลาะเบาะแว้งกันหนักถึงขั้นสามารถยกพวกตีกันได้ไม่ยาก

การเขียนถึงในครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อสงบศึกให้แก่สติอันไม่เรียบร้อยของผมเอง

ตลอดเส้นทางการทำหนังของสตีเวน สปีลเบิร์ก ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน เจ้าของสมญา ‘พ่อมดแห่งฮอลลีวูด’ มีผลงานยอดเยี่ยมที่ได้รับการยกย่องเป็นมาสเตอร์พีซมากมาย แต่ถ้าจะให้เลือกเพียงแค่หนึ่งเดียว ในฐานะงานชิ้นสำคัญสุดตลอดชีวิตการทำหนังของเขา ผมคิดว่า Schindler’s List คือหนังเรื่องนั้น

สปีลเบิร์กประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่อายุน้อย เป็นที่ยอมรับอย่างไร้ข้อกังขาถึงความเก่งกาจในการทำหนังเพื่อความบันเทิง แต่ในฐานะผู้กำกับที่พยายามทำหนังสะท้อนเนื้อหาจริงจังอย่าง The Color Purple (1985) และ Empire of the Sun (1987) ถือเป็นความล้มเหลวอันน่าเจ็บปวด

เรื่องแรกนั้นเป็นหนังทำเงิน คำวิจารณ์อยู่ในเกณฑ์ดี แต่เป็นผู้แพ้ยับเยินบนเวทีออสการ์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 11 สาขา แต่พลาดหมด ขณะที่เรื่องต่อมาเข้าชิง 6 สาขา และไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาเลยเช่นกัน มิหนำซ้ำยังบาดเจ็บขาดทุนอีกต่างหาก

The Color Purple และ Empire of the Sun เป็นหนังดีนะครับ ไม่มีข้อสงสัยอันใดให้ต้องรู้สึกเคลือบแคลง ผมเองก็ชอบหนัง 2 เรื่องนี้มาก แต่ก็เข้าใจและเห็นพ้องกับบทวิจารณ์จำนวนมาก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาและข้อด้อยสำคัญ คือสปีลเบิร์กทำหนัง 2 เรื่องนี้แบบอดไม่ได้ที่จะปรุงแต่งแทรกใส่กลิ่นอายแฟนตาซีผจญภัย (อันเป็นจุดเด่นที่เขาถนัดและเก่งมากๆ) จนทำให้หนังออกมาหวือหวาน่าตื่นตา แต่ขณะเดียวกันก็บั่นทอนความหนักแน่นจริงจัง

พูดง่ายๆ คือหนังออกมาสนุก แต่ไม่ลึกซึ้งเข้มข้นดังที่ควรจะเป็น

Schindler’s List เป็นการค้นพบจุดบรรจบที่ลงตัวพอเหมาะ  สปีลเบิร์กไม่ได้เปลี่ยนสไตล์การทำหนังเป็นอื่นหรอกนะครับ แต่เขาเติบโตด้วยวุฒิภาวะ จนรู้ว่าจะเล่าเรื่องผ่านวิธีการที่ถนัดสันทัดและเคยทำมาตลอดให้สอดคล้องกลมกลืนกับเนื้อหาได้เช่นไร สามารถควบคุมการประดิดประดอยลูกเล่นแพรวพราวต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ไม่สนุกมือเลยเถิดจนลดทอนความจริงจังของเรื่องราว

ที่สำคัญคือบรรดาจุดเด่นทั้งหลายอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีอยู่ของสปีลเบิร์ก เขาใส่มันไว้ในหนังเรื่องนี้อย่างแนบเนียน รวมทั้งเล่นแร่แปรธาตุเทคนิคต่างๆ ทางภาพยนตร์ อย่างเช่นมุมกล้อง การถ่ายภาพ การเคลื่อนกล้อง การตัดต่อลำดับภาพ จนผลลัพธ์ออกมาแปลกตาต่างไปจากงานอื่นๆ ในอดีตอย่างเด่นชัด

Schindler’s List ถ่ายทำโดยปราศจาก story board ละทิ้งอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือจำพวกดอลลี เครน สเตดิแคม ใช้การแบกกล้องใส่บ่า กำหนดมุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง และจัดองค์ประกอบภาพด้วยวิธีด้นสดขณะถ่ายทำ บวกรวมกับการเลือกถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำแทนฟิล์มสี งานภาพที่ออกมาจึงใกล้เคียงกับหนังข่าวหรือสารคดี

ในทางตรงข้าม หลายๆ ฉากก็ประดิษฐ์ปรุงแต่งภาพอย่างจงใจให้สวยประณีต มีการจัดแสงอย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของตัวเอกออสการ์ ชินด์เลอร์ ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีบุคลิกนิสัยขัดแย้งตรงข้าม ด้านเปิดเผยต่อสาธารณะ เขาเป็นนักธุรกิจที่ฉวยประโยชน์จากสงครามสร้างความมั่งคั่ง เป็นเพลย์บอยที่ข้องแวะพัวพันกับสาวๆ นับไม่ถ้วน ใช้ชีวิตสำเริงสำราญกับงานปาร์ตี้อยู่เนืองๆ เจนจัดช่ำชองกับการติดสินบนผู้มีอำนาจในพรรคนาซีเพื่อสร้างเส้นสาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชินด์เลอร์ก็เปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรม เสียสละ กระทำการสุ่มเสี่ยงเอาชีวิตตนเองและทรัพย์สินมากมายที่มีอยู่เป็นเดิมพัน เพื่อช่วยชีวิตชาวยิวจำนวนพันกว่าคน

พฤติกรรมคลุมเครือว่าลึกๆ แท้จริงแล้วออสการ์ ชินด์เลอร์คิดอะไรอยู่ในใจ และเต็มไปด้วยความขัดแย้งตรงข้ามจนสุดโต่ง ได้รับการขับเน้นผ่านการกำกับภาพ ซึ่งในหลายๆ ฉาก จัดแสง high contrast ให้ซีกหน้าครึ่งหนึ่งอยู่ในเงามืด อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในด้านสว่าง

อีกตัวอย่างของการปรุงแต่งในสไตล์แบบสปีลเบิร์กก็คือ ขณะที่หนังถ่ายทำเป็นขาวดำ แต่ในฉากสังหารหมู่ชาวยิว ผู้ชมได้เห็นเด็กหญิงคนหนึ่งในชุดสีแดงโดดเด่นออกมาจากภาพรวมทั้งหมด และแปลกเกินจริงสำหรับหนังขาวดำ (ตัวละครนี้ได้รับการกล่าวถึงในหนังสือ Schindler’s Ark ของโทมัส เคนนีลลี ซึ่งเป็นต้นเรื่องเดิม กล่าวอย่างรวบรัดคือเด็กหญิงชุดแดงเป็นคนที่ออสการ์จดจำได้จากการมองเห็นระยะไกลเพราะชุดที่เธอสวมใส่)

การใส่สีเฉพาะเด็กหญิงและเครื่องแต่งกายของเธออาจเป็นการบอกเล่าให้ตรงกับในหนังสือ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย แต่ขณะเดียวกัน มันสะท้อนถึงความเป็นนักเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพที่เก่งกาจของสปีลเบิร์ก และสะท้อนถึงการใส่กลิ่นอายแฟนตาซีลงไปในเรื่องราวสมจริง ซึ่งเป็นทางถนัดของสปีลเบิร์ก

และที่แน่ๆ คือเด็กหญิงในชุดแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ในหนังที่มีผู้คนตีความหมายกันมากมาย

กล่าวโดยสรุป ความสำคัญเบื้องต้นของ Schindler’s List คือการผสมผสานอันยอดเยี่ยม ระหว่างการเล่าเรื่องเนื้อหาที่มีอารมณ์หนักหน่วงสมจริงกับลีลาลูกเล่นอันแพรวพราวด้วยเทคนิควิธีทางภาพยนตร์ในแบบฉบับของสปีลเบิร์ก เป็นจุดหมายแรกที่สะท้อนถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริงสำหรับคนทำหนังที่ได้ชื่อว่ามีหัวใจเป็นเด็กตลอดกาล และที่น่าทึ่งก็คือ ท่ามกลางภาวะสุกงอมถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ สปีลเบิร์กก็ยังคงรักษาหัวใจวัยเยาว์ของเขาไว้ด้วยเช่นกัน

ความสำคัญถัดมาคือการคลี่คลายปมในใจของสปีลเบิร์ก ซึ่งมีชีวิตวัยเด็กโดนกลั่นแกล้งรังแกเพราะความเป็นคนยิว จนกระทั่งส่งผลให้เขากลบเกลื่อนและปฏิเสธความเป็นยิวของตนเอง

ในแง่นี้ การทำหนังเรื่อง Schindler’s List จึงเป็นทั้งการเปิดเผยยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่, เผชิญหน้ากับปมและบาดแผลในใจ (ในสารคดีเรื่อง Spielberg เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ระหว่างการถ่ายทำมีหลายฉากหลายตอนจำลองเหตุการณ์อดีต ส่งผลให้เขาสะเทือนใจหนักหน่วงจนร่ำไห้สะอึกสะอื้น ต้องใช้ความพยายามอย่างยากเย็นในการทำใจและควบคุมตนเองเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง)

สปีลเบิร์กเคยกล่าวไว้ว่า สำหรับเขาแล้ว การทำหนังเป็นการบำบัดเยียวยาตนเอง เป็นการสะสางคลี่คลายแก้ปัญหาชีวิต และบ่อยครั้งเป็นการถอยห่างจากทุกข์โศกต่างๆ ในชีวิตจริงไปสู่โลกแห่งจินตนาการในภาพยนตร์

Schindler’s List ก็มีความหมายและบทบาทเช่นนั้น แต่ที่แตกต่างและพิเศษเฉพาะตัว คือมันเป็นครั้งแรกที่เขาเดินเข้าหาความจริงอันแสนเศร้าในหนัง ก่อนที่อีกหลายปีต่อมา เขาจะทำเช่นนี้อีกครั้งใน The Fablemans

พูดอีกแบบคือ Shindler’s List เป็นงานที่สปีลเบิร์กมีความผูกพันส่วนตัว และมีคุณค่ามีความหมายต่อจิตใจของเขาเป็นพิเศษ

มีนักวิจารณ์บางท่านตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถัดจาก Schindler’s List แล้ว ผลงานทั้งหมดของสปีลเบิร์ก ‘สุกงอม’ เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แม้กระทั่งในหนังที่เน้นความบันเทิงบริสุทธิ์ (ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้า) ก็สะท้อนชัดถึงความเติบโต

Schindler’s List ดัดแปลงจากหนังสือชื่อ Schindler’s Ark ของโทมัส เคนนีลลี ซึ่งระบุว่าเป็นนิยาย แต่ด้วยวิธีร้อยเรียงเรื่องราว การค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน บุคคลต่างๆ สถานที่ และเหตุการณ์เป็นเรื่องจริง ขณะอ่านจึงรู้สึกเหมือนงานประเภท non-fiction มากกว่า และจับสังเกตไม่ออกว่าตรงไหนแห่งใดเป็นการปรุงแต่งด้วยกรรมวิธีของนิยาย

Schindler’s Ark ลำดับความเหตุการณ์ต่างๆ เรียงตามเวลาที่เกิดขึ้น เต็มไปด้วยข้อมูลรายละเอียดและคำอธิบายเกี่ยวกับบุคคลและเหตุการณ์มากมาย จุดเด่นสำคัญคือการเล่าเรื่องที่สะกดตรึงชวนอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ และให้ความกระจ่างทุกๆ ด้าน เหนือสิ่งอื่นใดคือสะท้อนเนื้อหาสาระอันทรงคุณค่าและเต็มไปด้วยอารมณ์ซาบซึ้งสะเทือนใจ

โดยตัวมันเอง นี่คือนิยายยอดเยี่ยมควรค่าแก่การเสาะหามาอ่าน แต่แง่งามเพิ่มเติมสำหรับผู้ชมภาพยนตร์ คือหนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนเฉลยข้อสอบ ว่าสปีลเบิร์กใช้วิชาพ่อมดของเขาดัดแปลงหนังสือเรื่องนี้อย่างไรตรงไหนบ้าง และทำให้ประจักษ์ตระหนักถึงความเก่งกาจของสปีลเบิร์กมากยิ่งขึ้นไปอีก

ระหว่างหนังกับหนังสือ มีวิธีการเล่าแตกต่างกันไกลสุดกู่ ตั้งแต่การเรียงลำดับเหตุการณ์ วิธีการสร้างความสะเทือนใจ และที่สำคัญสุดคือข้อจำกัดด้านความยาวของหนัง จำเป็นต้องรวบรัดตัดทอน ละเว้นไม่กล่าวถึงหลายๆ บุคคล และเท่าที่มีอยู่ในหนัง ผู้คนจำนวนมากก็ได้รับการบอกเล่าถ่ายทอดโดยปราศจากรายละเอียดหรือคำอธิบายว่าใครเป็นใคร

สปีลเบิร์กแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการใช้ภาษาภาพเล่าเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย้ำความสำคัญของตัวละครที่ผู้ชมแทบจะไม่ทราบชื่อเสียงเรียงนามด้วยความถี่ในการปรากฏ จนกระทั่งคนดูจดจำได้ รวมถึงเหตุการณ์ในลักษณะ ‘ฉากจำ’ ที่เกิดกับผู้คนเหล่านั้น

ความยอดเยี่ยมแรกสุดของ Schindler’s List คือการเล่าเรื่องในแบบจัดระเบียบใหม่ แตกต่างจากตัวเรื่องเดิม เป็นการเล่าโดยกำหนดช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1939 ซึ่งเยอรมนีบุกเข้ายึดครองโปแลนด์ และจบที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลง

ในกรอบของระยะเวลาดังกล่าว หนังเล่า 2 เหตุการณ์หลักควบคู่กัน ส่วนแรกคือตัวออสการ์ ชินด์เลอร์  ซึ่งเดินทางมาที่คราคุฟ อาศัยจังหวะเหมาะจากสงคราม ก่อตั้งโรงงานผลิตภาชนะเครื่องเคลือบ เพื่อขายให้แก่กองทัพเยอรมัน ใช้แรงงานชาวยิวด้วยเหตุผลว่าค่าแรงต่ำกว่าชาวโปแลนด์ รวมทั้งเกิดจุดเปลี่ยนเล็กๆ หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งค่อยๆ นำไปสู่การตัดสินใจสำคัญ คือการช่วยเหลือชาวยิวให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

อีกเส้นเรื่องหนึ่งเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในเมืองคราคุฟ เริ่มตั้งแต่ถูกเยอรมนีเข้ายึดครอง ถูกตีตราลงทะเบียนประกาศความเป็นยิว โดนยึดทรัพย์และที่อยู่ ถูกกวาดต้อนไปอยู่อย่างแออัดในเขตพื้นที่สำหรับชาวยิวโดยเฉพาะ การเลือกคัดสรรคนที่ยังมีประโยชน์กับคนที่ไร้ประโยชน์ซึ่งต้องถูกกำจัดทิ้ง และหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ จนไปยุติลงด้วยการส่งไปตายที่ค่ายเอาชวิทซ์

เหตุการณ์ทั้ง 2 ส่วนบอกเล่าสลับเคียงคู่กัน และส่งผลกระทบต่อกันและกันตลอดเวลา

วิธีเล่าเรื่องเช่นนี้ของสปีลเบิร์กหละหลวมย่อหย่อนในแง่รายละเอียดข้อมูลไม่ตรงตามจริง แต่เป็นระบบระเบียบมากในแง่การสร้างที่มาที่ไป ทำให้ผู้ชมรู้จักออสการ์ ชินด์เลอร์ และความเปลี่ยนแปลงในตัวเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งเป็นระเบียบมากในการร้อยเรียงอารมณ์สารพัดสารพัน ทั้งความสะเทือนใจ ความซาบซึ้ง ความโหดร้ายทารุณ

Schindler’s List เป็นหนังที่ครบเครื่องใน 3 องค์ประกอบหลัก ทั้งการเล่าเรื่องได้เข้มข้นชวนติดตาม (จริงๆ แล้วคือสนุกมากๆ แต่ด้วยเนื้อหาที่มาจากเรื่องจริงอันเศร้าสลด ผมรู้สึกว่าการใช้คำว่าสนุกกับหนังเรื่องนี้ดูไม่ค่อยเหมาะควรนัก)

มันเป็นหนังสำหรับการดูเพื่อเสียน้ำตา (ด้วยความเต็มใจ) จากหลายๆ ความรู้สึก ทั้งจากความหดหู่เศร้าหมอง จากความโหดร้ายทารุณ จากความปลื้มปีติ จากความซาบซึ้งกินใจ ฯลฯ

ถัดมาคือความถึงพร้อมในทางศิลปะ มีฉากยอดเยี่ยมชวนจดจำชนิดนับกันไม่หวาดไม่ไหวตั้งแต่ต้นจนจบ และเป็นตำราแบบอย่างชั้นดีสำหรับคนที่เรียนหรือสนใจทางด้านภาพยนตร์ เพื่อศึกษาเทคนิควิธีการ

สำหรับผมแล้ว หนังเรื่องนี้เป็นศิลปะการเล่าเรื่องชั้นยอดระดับขุมทรัพย์แหล่งใหญ่

ความยอดเยี่ยมประการสุดท้าย คือเนื้อหาสาระว่าด้วยเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งตรงข้ามระหว่างความดีกับความชั่ว การกระทำเปี่ยมด้วยมนุษยธรรมและการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ความกล้าหาญและความหวังในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดของชาวยิว

ที่น่าประทับใจมากคือ เนื้อหาสาระข้างต้นทั้งหมดบอกเล่าสะท้อนออกมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน กระจ่างชัด และเข้าใจง่ายจนไม่ต้องตีความใดๆ ขณะเดียวกันก็มีความหนักแน่นลึกซึ้งอยู่เต็มเปี่ยม

คุณสมบัติประการหลัง เป็นเหตุผลสำคัญสุดที่ทำให้ผมดู Schindler’s List ซ้ำได้เรื่อยๆ และตั้งใจว่าหากเป็นไปได้ ก็จะหาโอกาสดูซ้ำอีกในอนาคต

ผมรู้สึกของผมเองนะครับ ว่าทุกๆ ครั้งที่ดูหนังเรื่องนี้ มันคือการชำระล้างจิตใจและการขัดเกลาทางความคิด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save