fbpx

สปีลเบิร์ก 101 Spielberg

ผมประเดิมการดูหนังปีนี้ ด้วยสารคดีเรื่อง Spielberg ใน HBO GO เป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่ผลงานล่าสุดของสตีเวน สปีลเบิร์กอย่าง The Fablemans จะเข้าฉายในบ้านเรา

ดูจบแล้วก็ชอบมาก คุณภาพดีเกินกว่าที่ผมคาดหวังเอาไว้เยอะเลย จนต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านเสาะหามาดู

ว่ากันตามเนื้อผ้า Spielberg เป็นสารคดีที่มุ่งสรรเสริญความเก่งกาจสามารถของสตีเวน สปิลเบิร์ก (แง่มุมนี้ปรากฏชัดผ่านคำให้สัมภาษณ์ของบรรดานักแสดงที่เคยร่วมงานกับสปีลเบิร์ก, ผู้กำกับ, นักวิจารณ์, ทีมงาน ฯลฯ)

พูดง่ายๆ ว่า ตั้งใจสดุดีอวยกัน

อย่างไรก็ตาม มี 2-3 ปัจจัยที่ทำให้ Spielberg ดีงามและไปไกลเกินกว่าที่จะเป็นแค่งานโฆษณาประชาสัมพันธ์ดาดๆ

ปัจจัยแรกคือผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ซูซาน เลซี มีประสบการณ์คร่ำหวอดกับการเล่าเรื่อง ‘ชีวิตและผลงานของศิลปิน’ จากซีรีส์สารคดีคลาสสิกชุด American Masters ซึ่งสร้างมายาวนานตั้งแต่ปี 1985 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลล่าสุดใน imdb ระบุไว้ว่ามี 273 ตอน)

ซูซาน เลซี เป็น executive producer และ creator ของสารคดีชุดนี้ รวมทั้งเขียนบทและกำกับด้วยประมาณ 8 ตอน

American Masters เป็นซีรีส์สารคดีที่เล่าถึงศิลปินอเมริกันทุกแขนงสาขา ตั้งแต่นักเขียน นักดนตรี นักแสดง ช่างภาพ สถาปนิก นักเต้นและคนออกแบบท่าเต้น ผู้กำกับหนัง ฯลฯ ผมสนใจและอยากดูมาก แต่ยังไม่สบโอกาส

งานของซูซาน เลซีที่ผมเคยได้ดูคือผลงานปี 2018 เรื่อง Jane Fonda in Fives Act (เรื่องนี้มีอยู่ใน HBO GO เช่นกัน) สารคดีเจาะลึกชีวิตเข้มข้นหลากหลายบทบาท (ซึ่งขัดแย้งตรงข้ามกันอย่างไม่น่าเชื่อ) ของเจน ฟอนดา ผู้เป็นทั้งนักแสดงระดับยอดฝีมือ นักเคลื่อนไหวด้านการเมือง นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี นางแบบแฟชัน และเคยมีวิดีโอบริหารร่างกายเสริมสร้างความงามที่ขายดีถล่มทลายชื่อ Jane Fonda’s Workout

Jane Fonda in Five Acts เล่าเรื่องได้น่าสนใจชวนติดตามมาก ดูแล้วก็สัมผัสได้ทันทีว่า ซูซาน เลซี เป็นคนทำสารคดีที่เก่งมาก ในการจัดระเบียบข้อมูลจำนวนมาก แล้วเลือกสรรเฉพาะหัวใจสำคัญออกมาบอกเล่าอย่างกระชับ เข้าใจง่าย และครอบคลุมภาพรวมด้านกว้าง พร้อมๆ กันนั้นก็ลงลึกในบางประเด็นที่น่าสนใจอย่างถี่ถ้วน

ฝีมือและความชำนาญช่ำชองของซูซาน เลซี เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ Spielberg เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องที่ลื่นไหล เพลิดเพลิน มีชีวิตชีวา เปี่ยมด้วยชั้นเชิง และที่สำคัญคือครอบคลุมเรื่องพื้นฐานซึ่งผู้ชมควรรู้เกี่ยวกับสตีเวน สปิลเบิร์ก ‘เกือบ’ จะครบถ้วนทุกแง่มุม เท่าที่ความยาว 2 ชั่วโมง 20 นาที (ยาวกว่ามาตรฐานปกติทั่วไปของหนังสารคดี และสั้นจำกัดมากในการพูดถึงคนทำหนัง ซึ่งมีอะไรให้พูดถึงมากมายมหาศาลอย่างสตีเวน สปีลเบิร์ก) จะเอื้ออำนวย

ปัจจัยต่อมาคือตัวบุคคลที่เป็นเนื้อหาหลักของสารคดี ได้แก่ สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้มีความพิเศษเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับที่ชื่นชมในตัวเขา หรือหมั่นไส้ความสำเร็จในการเป็นคนทำหนังเพื่อการค้าของเขา สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ สปีลเบิร์กเป็นหนึ่งผู้กำกับหนังอเมริกันที่ยิ่งใหญ่สุดนับจากทศวรรษ 1970 จนถึงปัจจุบัน และขึ้นหิ้งเป็นตำนานไปเรียบร้อยแล้ว

การยกย่องชื่นชมคนเก่งฉกาจฉกรรจ์อย่างสปีลเบิร์ก พูดออกมาอย่างไรก็ไม่เลี่ยนหรือเกินเลยความจริงหรอกนะครับ

ถึงตรงนี้ ผมก็นึกออกและควรต้องรีบกล่าวถึงก่อนที่จะลืม หากจะมีจุดอ่อนข้อด้อยเด่นชัดของสารคดีเรื่อง Spielberg อยู่บ้าง ก็คือการให้พื้นที่เกือบทั้งหมดพูดถึงความสำเร็จของเขา และเอ่ยอ้างพาดพิงถึงความล้มเหลวเพียงแค่คร่าวๆ ผ่านๆ (อย่างไรก็ตาม สารคดีเรื่องนี้ก็พูดถึงหนังเรื่อง 1941 ซึ่งเป็นการล้มดังพังพินาศย่อยยับมากสุดในชีวิตการทำหนังของสปีลเบิร์ก)

สารคดีเรื่อง Spielberg เล่าถึงชีวิตส่วนตัวและเส้นทางการทำหนังของสปีลเบิร์กไปควบคู่สลับกัน ตั้งแต่วัยเด็กและพื้นฐานความสัมพันธ์ภายในครอบครัว, ความหลงใหลในการดูหนังและการสร้างหนังแบบเด็กเนิร์ดเต็มขั้น, การเริ่มต้นอาชีพเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ด้วยความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจัง, สร้างชื่อเสียงและปรากฏการณ์อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่จับตามองในฐานะเด็กมหัศจรรย์ของฮอลลีวูด, การพบเจอและกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับคนทำหนังอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งแข่งขันกันอยู่ในที และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนทั้งหมดได้รับการขนานนามว่า The Movie Brats ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมวงการหนังอเมริกันสู่ยุคใหม่ในเวลาต่อมา (กลุ่มก๊วนดังกล่าวนอกจากสปีลเบิร์กแล้ว ประกอบไปด้วย มาร์ติน สกอร์เซซี, จอร์จ ลูคัส, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา และไบรอัน เดอ พัลมา), เบื้องหลังที่มาของผลงานคลาสสิกอย่าง Jaws, Close Encounters of the Third Kind, Raiders of the Lost Ark, E.T. The Extra-Terrestrial, Schindler’ List, Saving Private Ryan, การเติบโตทางด้านเนื้อหาในผลงานยุคหลังๆ ซึ่งจับต้องประเด็นว่าด้วยปัญหาสังคมและการเมืองมากขึ้นอย่าง Munich, Lincoln และ Bridge of Spies (จริงๆ แล้วยังมี The Post อีกเรื่องที่สามารถนับรวมเข้ากลุ่มได้ แต่สารคดีเรื่องนี้ทำขึ้นเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ The Post กำลังอยู่ในระหว่างการถ่ายทำ และยังไม่ได้ออกฉาย), และทิ้งท้ายด้วยการที่สปีลเบิร์กพูดถึงและให้เครดิตกับทีมงานหลักที่ล่มหัวจมท้ายทำงานด้วยกันมาเนิ่นนาน, การสรุปและให้คำจำกัดความชีวิตและผลงานของสปิลเบิร์กจากหลายๆ ฝ่าย

หนังจบลงด้วยคำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ของแดเนียล เดย์ ลูอิส (ซึ่งร่วมงานกับสปีลเบิร์กเรื่องเดียวคือ Lincoln) ได้อย่างน่าประทับใจ และน่าจะตรงกับที่แฟนๆ ของสปีลเบร์กคิดเอาไว้

เนื้อหาต่างๆ ข้างต้น เล่าผ่านคำบอกเล่าของสตีเวน สปีลเบิร์กเป็นหลัก และผนวกรวมเล่าสลับควบคู่ไปกับบทสัมภาษณ์ผู้คนมากมาย อาทิเช่น พ่อกับแม่และน้องสาว 3 คน, พรรคพวกผู้กำกับในกลุ่ม The Movies Brat (รวมทั้งผู้กำกับรุ่นน้องอย่าง เจ.เจ. อับรามส์ ซึ่งเป็น ‘แฟนพันธ์ุแท้’ ของสปีลเบิร์ก), ทีมงานเจ้าประจำในหนังส่วนใหญ่ (เช่น แคทเธอรีน เคนเนดีและแฟรงค์ มาแชล 2 โปรดิวเซอร์คู่ใจ, จอห์น วิลเลียมส์ คนทำดนตรีประกอบ, ไมเคิล คานห์ คนตัดต่อ, จานุซ คามินสกี ผู้กำกับภาพ), นักแสดง (กลุ่มนี้มีเยอะแยะมากมาย แต่คนที่ปรากฏเยอะ และพูดได้น้ำได้เนื้อคือ ทอม แฮงค์ส, ลีโอนาโด ดิ คาปริโอ, ริชาร์ด ไดรย์ฟัส, เลียม นีสัน และเบน คิงสลีย์), นักวิจารณ์ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และผู้บริหารของสตูดิโอ (คนสำคัญคือ ซิด ไชน์เบิร์ก ผู้บริหารของยูนิเวอร์แซล ผู้หยิบยื่นโอกาสให้กับสปีลเบร์ก และสนับสนุนช่วยเหลือในระยะแรกเริ่ม)

บทสัมภาษณ์ต่างๆ เหล่านี้ เป็นการถ่ายทำขึ้นใหม่สำหรับสารคดีเรื่องนี้โดยตรง และนำมาประกอบรวมเข้ากับฟุตเทจอีก 2 ส่วน

กลุ่มแรกเป็นภาพจากหนังที่สปีลเบิร์กกำกับ สิ่งที่น่าสนใจคือนอกจากจะมีฉากเด่นๆ จากหนังทุกเรื่องเกือบครบครันแล้ว การเลือกฉากต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในสารคดีเรื่องนี้ ยังเหมาะเจาะสอดคล้องกลมกลืนกับเนื้อหาในบทสัมภาษณ์ รวมทั้งผลพลอยได้พิเศษคือทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าทุกภาพจากหนังทุกเรื่องนั้น ‘น่าดู’ มากๆ  จนเมื่อดูสารคดีจบลงแล้ว ลำดับต่อไปคือ ไล่ตามดูหนังของสปีลเบิร์กทุกเรื่องเท่าที่จะสามารถดูได้

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลข้างเคียงดังกล่าว และป้ายยาเพิ่มเติมได้อีกนิดนะครับว่า สารคดีเรื่อง Spielberg ทำให้กลับไปดูหนังอื่นๆ ของสปีลเบิร์ก สนุก ได้อรรถรส และความเข้าอกเข้าใจเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

นอกจากมีหนังที่สปีลเบิร์กกำกับในยุคเป็น ‘มืออาชีพ’ ให้ดูกันจนเต็มอิ่มจุใจแล้ว ความน่าตื่นเต้นอีกอย่างก็คือยังมีภาพจากหนังสั้น ถ่ายทำด้วยกล้อง 8 ม.ม. เมื่อครั้งเป็นแค่ ‘มือสมัครเล่น’ ครบทุกเรื่อง ฟุตเทจเหล่านี้ไม่เพียงแค่ ‘ฉายแวว’ ว่าเขาจะกลายเป็นคนทำหนังที่เก่งกาจในเวลาต่อมาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความรักความหลงใหลและการทุ่มเทอุทิศตนเพื่อให้ความฝันกลายเป็นจริง

พูดอีกแบบคือ หนังสั้นดังกล่าวพิสูจน์ยืนยันว่าความสามารถและความสำเร็จของสปีลเบิร์กไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ด้วยพรสวรรค์ฟ้าประทาน แต่เกิดจากการทำงานหนักชนิดหมกมุ่นจริงจัง แบบที่เรียกได้ว่าหายใจเข้าหายใจออกเป็นการทำหนังอยู่ตลอดเวลา

ฟุตเทจกลุ่มต่อมาคือภาพเบื้องหลังการถ่ายทำหนังดังๆ เรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนที่แฟนๆ ของสปีลเบิร์กน่าจะตื่นเต้นฮือฮามากเป็นพิเศษ เมื่อได้เห็นการถ่ายฉลามเป็นครั้งแรกในเรื่อง Jaws แล้วมีปัญหา ฉลามกลไกที่สร้างขึ้นเกิดพังและต้องใช้เวลาซ่อมนานร่วมเดือน ขณะที่ตารางการถ่ายทำหยุดรอไม่ได้ ต้องดำเนินต่อไป จนนำไปสู่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งกลายเป็นความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ นั่นคือการเล่าเรื่องโดยที่ผู้ชมไม่เห็นฉลาม แต่รู้สึกถึงการมีฉลามอยู่ตลอดเวลา, วิธีการที่สปีลเบิร์กกำกับนักแสดงเด็กในหนังหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะใน E.T. The Extra Terrestrial, ฉากรบอันลือลั่นตอนเปิดเรื่องใน Saving Private Ryan ซึ่งใช้วิธีด้นสดระหว่างการถ่ายทำ นักแสดงและทีมงานไม่ทราบข้อมูลใดๆ มาก่อน, การถ่ายทำ Shnidler’s List ในสถานที่จริง สปิลเบิร์กตัดสินใจละทิ้งอุปกรณ์ทันสมัยอย่างเครนหรือรางดอลลี และเลือกถ่ายเหตุการณ์ส่วนใหญ่ด้วยวิธีแบกกล้องใส่บ่า

ฟุตเทจกลุ่มสุดท้ายเป็นภาพจากโฮมมูฟวี ส่วนใหญ่เป็นหนังที่ถ่ายเล่นภายในครอบครัว (ภาพส่วนนี้ทำให้ผู้ชมได้เห็นสปีลเบิร์กในวัยเด็ก พ่อและแม่ในวัยหนุ่มสาว และจุดเริ่มต้นแรกๆ ในการเป็นผู้กำกับหนังของเขา ด้วยการแกล้งน้องสาวจับไปขังในตู้เสื้อผ้า และเล่าเรื่องน่ากลัวหลอกน้อง) อีกส่วนหนึ่งเป็นโฮมมูฟวีที่บันทึกเก็บไว้เมื่อเขากลายมาเป็นผู้กำกับหนังแล้ว (เหตุการณ์ที่น่าสนใจคือสปีลเบิร์กจับกลุ่มสรวลเสเฮฮากับผองเพื่อนคนทำหนังร่วมรุ่น)

โครงสร้างหลักๆ ของ Spielberg ไล่เรียงเหตุการณ์เบื้องหน้าเบื้องหลังการทำหนังแต่ละเรื่องตามลำดับเวลา พร้อมๆ กับสลับแทรกด้วยแง่มุมเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ซึ่งผมจัดกลุ่มเอาเองแบบไม่ตรงตามหนังได้ว่า มันพูดประเด็นหลักๆ ดังนี้ คือ ชีวิตวัยเด็กอันเปลี่ยวเหงา ปราศจากเพื่อน (ซ้ำร้ายยังโดนเด็กที่โตกว่ากลั่นแกล้งที่โรงเรียน) จนกระทั่งค้นพบว่าหนังคือที่ยึดเหนี่ยว เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทดแทนชดเชยความขาดพร่องสารพัดสารพันในชีวิต, ครอบครัวอันแสนสุขมีอันต้องพบจุดจบ เมื่อพ่อแม่ของสปีลเบิร์กหย่าร้างกัน และทำให้ตัวเขาเกิดบาดแผลในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่กลายมาเป็นการหมางใจกันกับพ่อเนิ่นนานหลายปี ก่อนจะสะสางคลี่คลายได้เมื่ออายุมากขึ้น (แง่มุมนี้กลายเป็นแก่นเรื่องที่ปรากฏในหนังส่วนใหญ่ของสปีลเบิร์ก ซึ่งเจ้าตัวเล่าไว้ว่านอกจากจะทำหนังแต่ละเรื่องด้วยเหตุผลแรงดลใจต่างๆ นานาแล้ว เขายังใช้การทำหนังเป็นดังเช่นการบำบัดเยียวยาจากทุกข์โศกและปัญหาชีวิตด้วย), ชีวิตการแต่งงานซึ่งลงเอยด้วยความล้มเหลวหย่าร้างกันกับเอมี เออร์วิง และการกลับมาตั้งหลักได้ หลังจากเสียศูนย์อยู่พักใหญ่ เมื่อได้พบและแต่งงานกับเคท แคปชอว์ (นางเอกใน Indiana Jone and the Temple of Doom เธอไม่ได้ปรากฏตัวในสารคดีเรื่องนี้ แต่สปีลเบิร์กกล่าวถึงและให้เครดิตเธอไว้เยอะมาก ทั้งในการเป็นเพื่อนคู่คิดและการอยู่เบื้องหลังผลงานสำคัญๆ ของเขาหลายเรื่อง), ปมด้อยเกี่ยวกับความเป็นยิวที่สปีลเบิร์กพยายามปกปิด ก่อนจะคลี่คลายมาเป็นการยอมรับด้วยความภาคภูมิใจ และนำไปสู่การทำหนังที่เป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซอย่าง Schindler’s List

พูดรวมๆ กว้างๆ Spielberg เล่าถึงเส้นทางชีวิตและการทำหนังของสปีลเบิร์ก แต่พร้อมๆ กันนั้น สารคดีเรื่องนี้ก็แผ่ขยายไปสู่แง่มุมเยอะแยะมากมาย ตั้งแต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสนุกๆ ในวงการหนัง (เช่น สปีลเบิร์กไปเยี่ยมกองถ่ายหนังเรื่อง Scarface ของไบรอัน เดอ พัลมา แล้วได้รับการเชิญชวนให้กำกับฉากหนึ่ง, หรือกำเนิดที่มาของการขึ้นข้อความในฉากเริ่มเรื่อง Star Wars จนกลายเป็นขนบอย่างหนึ่งในหนังชุดนี้ทุกภาค), เบื้องหลังการถ่ายทำ (การใช้เสียงและดนตรีประกอบในเรื่อง Jaws ใช้ตัวโน้ตสื่อความแทนการปรากฏตัวของฉลาม และจอห์น วิลเลียมส์ยังคิดละเอียดไปอีก ด้วยการเรียบเรียงดนตรีให้ดังค่อยแตกต่างกัน เพื่อให้ระดับเสียงนั้นบอกถึงระยะใกล้ไกลของฉลาม), การตีความและอ่านความหมายแฝงในหนังของสปีลเบิร์ก (ตัวอย่างที่ผมชอบมากคือ มาร์ติน สกอร์เซซีพูดถึงฉากท้ายเรื่อง Empire of the Sun แล้วจับประเด็นว่ามันสะท้อนถึงความล่มสลายของอารยธรรมความศิวิไลซ์โดยสงคราม), การค้นหาลักษณะร่วม เอกลักษณ์ หรือลายเซ็นในหนังของสปีลเบิร์ก

อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และทำให้สารคดีเรื่องนี้มีชีวิตชีวา ไม่แข็งทื่อตายตัว ก็คือเรื่องราวส่วนใหญ่ดำเนินความตามลำดับเวลาก็จริง แต่ไม่ได้เป็น 1,2,3 เป๊ะๆ มีการเล่าสลับก่อนหลังแบบไม่เคร่งครัดอยู่หลายครั้งหลายครา เช่น การเริ่มต้นพูดถึง Jaws ก่อน แล้วจึงค่อยย้อนไปสู่ยุคทำหนังสั้นเป็นมือสมัครเล่น (และก่อนที่จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Jaws หนังเปิดฉากด้วยการที่สปีลเบิร์กพูดถึงประสบการณ์ดูหนังเรื่อง Lawrence of Arabia เมื่อตอนอายุ 16 ซึ่งเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ทำให้เขา ‘ถอดใจ’ เกือบจะล้มเลิกความฝันอยากเป็นผู้กำกับหนัง เมื่อพบว่าหนังของเดวิด ลีน ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ จนเป็นเรื่องยากห่างไกลสำหรับสปีลเบิร์กที่จะทำให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ความตื่นเต้นประทับใจที่มีต่อ Lawrence of Arabia ก็ทำให้เขาย้อนกลับไปดูหนังเรื่องนี้ซ้ำในสัปดาห์ต่อมาและต่อมาและต่อมา…จนกระทั่งจับสังเกตเห็น 2 ฉากที่เขาชื่นชอบ กลายเป็นการเรียนรู้แรกๆ เกี่ยวกับ theme หรือแก่นเรื่อง รวมทั้งเปลี่ยนความรู้สึกยำเกรงต่อหนังเรื่องนี้ ให้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ)

ย่อหน้าข้างต้นมีใจความในวงเล็บยืดยาวไปหน่อย จนผมเกือบหาทางกลับไม่เจอ ที่ตั้งใจจะพูดแต่เดิมก็คือสารคดีเรื่องนี้เจ้าเล่ห์นิดๆ ในการเล่าให้รู้สึกเหมือนจะเป็นไปตามลำดับเวลา แต่เอาเข้าจริงไม่เป็นเช่นนั้น มีการสับขาหลอกอยู่ตลอดเวลา แบบที่ผู้ชมไม่ทันรู้สึกหรือเอะใจ

ลำดับเรื่องที่แท้จริงของหนังเป็นการตั้งประเด็นต่างๆ ขึ้นมาทีละหัวข้อ (โดยอิงหรือพยายามให้สอดคล้องกับเวลาในการสร้างงานแต่ละชิ้น) ในแง่นี้ซูซาน เลซีทำได้เนียนมาก ร้อยโยงจากประเด็นหนึ่งไปสู่อีกประเด็นหนึ่งได้อย่างราบรื่น

แน่นอนว่าการที่สารคดีเรื่องนี้พยายามจะนำเสนอให้ครอบคลุมทุกด้าน (ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนทำหนังที่มีผลงานชุก มิหนำซ้ำยังมีมาตรฐานคุณภาพที่ค่อนข้างคงเส้นคงวาอย่างสปีลเบิร์ก) ภายในเวลาจำกัดแค่ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ส่งผลให้งานชิ้นนี้โดดเด่นในแง่การให้ภาพรวมด้านกว้าง มากกว่าที่จะลงลึกแง่มุมใดเป็นพิเศษ

ด้วยลักษณะรวมๆ เท่าที่เป็นอยู่ สำหรับผู้ชมที่ไม่รู้จักสตีเวน สปีลเบิร์กมาก่อน หรือโตไม่ทันช่วงท็อปฟอร์มของเขา สารคดีเรื่อง Spielberg จึงเป็นความรู้พื้นฐานทั่วไปที่เหมาะแก่การเริ่มต้นทำความรู้จัก

สำหรับแฟนๆ สปีลเบิร์ก สารคดีเรื่องนี้เป็นในสิ่งที่เรียกว่า fan service โดยแท้

ที่แน่ๆ Spielberg เป็นงานที่ทำให้คนรักหนังทุกคนมีความสุข ทั้งจากการดูสารคดีเรื่องนี้ และจากการดูหนังของสตีเวน สปีลเบิร์ก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save