วจนา วรรลยางกูร เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
‘ครอบครัว’ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมสร้างครอบครัว ยิ่งหากพูดถึงการมีลูกแล้ว ยิ่งมีเหตุผลนานัปการที่จะทำให้คนมีลูกน้อยหรือไม่มีเลย
การแต่งงานหรือมีลูกเป็นทางเลือกที่มนุษย์แต่ละคนควรสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้ แต่เหตุผลส่วนมากที่คนเลือกไม่มีลูกมาจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจ ความมั่นคง หรือปัญหาสังคมรอบด้านที่หลายคนไม่อยากให้ลูกตัวเองต้องเผชิญ
เหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือคนวัยทำงานมองมุ่งไปยังความก้าวหน้าในอาชีพ โดยเฉพาะผู้หญิงที่คิดว่า ‘ต้องเลือก’ ระหว่างการมีลูกหรือความก้าวหน้าในการงาน เมื่อมองเห็นชีวิตตัวเองหลังมีลูกว่าจะทำงานได้ไม่เต็มที่เท่าเดิม จนส่งผลต่อค่าจ้างและความมั่นคง ขณะที่สังคมก็คาดหวังว่าผู้หญิงต้องเป็น ‘แม่ที่ดี’ ทุ่มเทให้ลูก และต้องเป็นหนึ่งในกำลังหลักหาเงินเข้าบ้านด้วย
สำหรับคนที่ชีวิตที่กระท่อนกระแท่น การต้องเลือกทิ้งชีวิตด้านอื่นๆ เพื่อการมีลูก คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก
เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ภาครัฐจำเป็นต้องตระหนัก เมื่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงต่อจำนวนประชากรในอนาคต เราจะมีคนวัยทำงานน้อยลง และมีสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น
ช่องว่างเหล่านี้สามารถช่วยเติมเต็มได้ด้วยนโยบายทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่จะต้องช่วยลดภาระให้คนที่คิดจะมีลูก ‘ไม่ต้องเลือก’ สิ่งใดสิ่งหนึ่งและทิ้งอีกทางเลือกหนึ่งไป รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวทั้งในที่ทำงานและสังคมโดยรวม
สิ่งเหล่านี้อยู่ในงานวิจัยของ ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานและมีความสนใจเฉพาะในประเด็นแรงงานผู้หญิงของประเทศไทย
งานวิจัยของศศิวิมลได้ศึกษาพบว่าระดับการศึกษาของผู้หญิงส่งผลต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูก ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่กับอัตราการเกิดที่ลดลงของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่องความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างคนที่ไม่มีลูกและคนที่มีลูก พบว่าการมีลูกทำให้แรงงานไทยทั้งหญิงและชายได้ค่าจ้างน้อยลง และจากข้อมูลย้อนหลังกว่า 30 ปี พบว่าความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างคนไม่มีลูกและคนมีลูกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
สิ่งเหล่านี้กระทบโดยตรงต่อโครงสร้างประชากรและตลาดแรงงานในอนาคต อันเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องช่วยกันคิดเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้คนไว้วางใจที่จะมีลูก และแต่ละชีวิตที่เกิดขึ้นมานั้นต้องสามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้
หมายเหตุ – บทสัมภาษณ์นี้ ข้อมูลอ้างอิงนำมาจากบทความ aBRIDGEd ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย และ ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย
งานวิจัยของอาจารย์หลายเรื่องเกี่ยวกับแรงงานหญิงและครอบครัว เห็นความสำคัญของประเด็นนี้อย่างไร
ผู้หญิงไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จะถือว่าเป็นหนึ่งในกำลังแรงงานหลักในการช่วยขับเคลื่อนประเทศเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้ ตลาดแรงงานไทยมีการกีดกันทางเพศน้อยและให้โอกาสผู้หญิงได้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานสูง โดยจะพบว่า มีผู้หญิงเป็นหัวหน้างานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามว่า ในช่วงที่ผ่านมา อะไรที่เป็นตัวผลักดันให้บทบาทและสถานภาพของผู้หญิงไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เลยได้ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์กับข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรรายปี ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2528 เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้หญิงไทยทั้งในตลาดแรงงานและการตัดสินใจในครัวเรือน
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความแตกต่างค่าจ้างระหว่างเพศชาย-หญิง มองเห็นประเด็นอะไรที่น่าสนใจ
ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ชายและผู้หญิง (gender wage gap) ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ 30 ปีก่อน มีความแตกต่างประมาณร้อยละ 20 คือ ถ้าผู้ชายได้ 100 บาท ผู้หญิงจะได้ 80 บาท ในขณะที่ปัจจุบันนี้แทบไม่มีความแตกต่าง แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างคนที่มีลูกกับคนไม่มีลูก (parenthood wage gap) ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกตอนนี้ให้ความสนใจ ในกรณีของประเทศไทยพบว่า คนไม่มีลูกมีค่าจ้างสูงกว่าคนมีลูก ทั้งในกรณีของผู้หญิงและผู้ชาย คือมีทั้ง motherhood wage penalty และ fatherhood wage penalty โดยในกรณีของผู้หญิงจะมีความแตกต่างค่อนข้างสูง คือประมาณร้อยละ 30 ส่วนในกรณีของผู้ชาย มีความแตกต่างอยู่บ้างแต่ก็ไม่เยอะมาก ประมาณร้อยละ 10 โดยผลการศึกษานี้ค่อนข้างขัดกับผลการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่พบผลทางบวกต่อค่าจ้างของผู้ชายที่มีลูก (fatherhood wage bonus)
ปัจจัยที่ทำให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างหญิงชายในไทยลดลงคืออะไร
เราสามารถแบ่งปัจจัยออกได้เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่สามารถอธิบายได้ (explained part) และส่วนที่ไม่สามารถอธิบายได้ (unexplained part)
ส่วนแรกที่สามารถอธิบายได้ มีสาเหตุมาจากลักษณะเฉพาะของแรงงานหญิง (women’s characteristics) ที่เปลี่ยนไป โดยพบปัจจัย 3 ข้อที่เป็นตัวผลักดันให้ช่องว่างทางค่าจ้างระหว่างแรงงานชายหญิงลดลง ข้อแรกคือระดับการศึกษาของแรงงานเพศหญิงที่เพิ่มสูงขึ้น ข้อถัดมาคือ ภาคการผลิตที่แรงงานทำงานอยู่ และข้อสุดท้ายคือ อาชีพของแรงงาน
การที่แรงงานเพศหญิงมีระดับการศึกษาสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการปฏิรูปทางการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับของภาครัฐ การส่งเสริมการศึกษาของผู้หญิงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และการที่พ่อแม่ในประเทศไทยไม่มีอคติในการลงทุนทางการศึกษากับลูกสาว ดังเช่นในบางประเทศ
ในส่วนของภาคการผลิต พบว่า การพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยที่เปลี่ยนจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นประกอบกับการเข้าร่วมตลาดแรงงานเพศหญิงที่สูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีการเคลื่อนย้ายจากการเป็นแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานะแรงงานในครัวเรือนและไม่ได้รับค่าจ้าง กลายมาเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้รับค่าจ้างและมีสัดส่วนจำนวนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนสุดท้ายคือ อาชีพของแรงงาน จากข้อมูล พบว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานกลุ่มงานวิชาชีพที่มีรายได้สูง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเพียงร้อยละ 35 ในช่วงปี 30 ปีก่อน มาเป็นร้อยละ 50 ในช่วง 10 ปีหลังนี้ แสดงถึงความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพของแรงงานหญิงไทยและพัฒนาการของตลาดแรงงานไทยที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีการทำงานในอาชีพที่มั่นคงและมีระดับรายได้สูงขึ้น
ส่วนที่สองที่ไม่สามารถอธิบายได้ (unexplained part) โดยทั่วไปจะเกิดจากการกีดกันทางเพศ (gender discrimination) หรืออคติที่มีต่อผู้หญิงในตลาดแรงงาน ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังคงมีอยู่บ้าง แต่ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงตลาดแรงงานไทยที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยมากขึ้น

มองสาเหตุเรื่องความแตกต่างในค่าจ้างระหว่างแรงงานที่ไม่มีลูกกับมีลูกอย่างไร
ในส่วนของแรงงานเพศหญิง เราสามารถอธิบายความแตกต่างของค่าจ้างได้จากพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป คือ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงหลังการมีลูก เนื่องจากต้องแบ่งเวลาไปเลี้ยงดูลูก จึงได้รับค่าจ้างลดลงตามไปด้วย สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปัจจัยทางสถาบัน โดยประเทศไทยยังขาดการสนับสนุนสิทธิที่พึงมีของแรงงานที่มีลูก ทั้งในเรื่องของการลาคลอดบุตรโดยยังได้รับค่าจ้าง ความช่วยเหลือจากภาครัฐในการเลี้ยงดูลูก การกีดกันการจ้างงานของแรงงานหญิงที่มีลูกในตลาดแรงงาน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของแรงงานเพศหญิง
สำหรับแรงงานเพศชายนั้น ผลการวิจัยในประเทศอื่นชี้ว่า แรงงานชายมีแนวโน้มจะทำงานเพิ่มมากขึ้นหลังการมีลูก ทำให้ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ให้ผลทางบวกต่อค่าจ้างของผู้ชายที่มีลูก (fatherhood wage bonus) เนื่องจากในสังคมส่วนใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้หารายได้หลักในครอบครัว (breadwinner in the family) ส่วนผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้หารายได้รอง (secondary earner) ส่วนในประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ว่า แรงงานชายที่มีลูกจะได้รับค่าจ้างลดลงเล็กน้อย (fatherhood wage penalty) ซึ่งคล้ายกับที่พบในประเทศนอร์เวย์ โดยคำอธิบายของประเทศนอร์เวย์ คือ ในประเทศนอร์เวย์ ให้สิทธิผู้ชายลางานไปเลี้ยงดูลูกค่อนข้างมากและผู้ชายต้องมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกเลยทำให้มีค่าจ้างลดลงบ้าง แต่ที่แปลกคือในประเทศไทยสิทธิของผู้ชายที่ทำงานในภาครัฐลาได้ 15 วันเท่านั้น ส่วนภาคเอกชนขึ้นอยู่กับระเบียบหน่วยงาน การลางานไปเลี้ยงดูลูกจึงอาจจะไม่ใช่สาเหตุของ fatherhood wage penalty ในประเทศไทย
งานวิจัยอีกชิ้นของอาจารย์ยังมีการศึกษาว่าผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะแต่งงานน้อยลง
งานวิจัยพบว่า ผู้หญิงไทยที่มีระดับการศึกษาต่างกันจะมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างต่างกัน ทั้งในเรื่องการแต่งงานและการมีลูก โดยพบปรากฎการณ์ marriage strike ในประเทศไทย คือ ผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานและอยู่เป็นโสดมากขึ้น โดยสัดส่วนของคนโสดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้หญิงไทยที่เกิดภายหลังปี 2525 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป เป็นโสดร้อยละ 50-60 ในขณะที่ผู้หญิงไทยที่เกิดช่วงเดียวกันที่จบชั้นมัธยมและประถมศึกษา เป็นโสดเพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้น
ความคาดหวังของสังคมต่อผู้หญิงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงโสดเพิ่มขึ้นหรือเปล่า
ใช่ งานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปไม่เพียงแต่จะชะลอการแต่งงาน แต่มีแนวโน้มที่จะเลือกอยู่เป็นโสดตลอดไปมากขึ้น ซึ่งปรากฎการณ์นี้ เรียกว่า gold miss เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในกลุ่มประเทศเอเชียที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่มีรากฐานวัฒนธรรมที่หยั่งลึกเรื่องทัศนคติความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงค่อนข้างสูง สถานการณ์นี้พบในประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น โดยสังคมคาดหวังว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว นอกจากจะเป็นแม่บ้านที่เลี้ยงดูลูก ทำงานบ้าน ดูแลความเรียบร้อยของบ้านแล้ว ยังถูกคาดหวังให้มีบทบาทนอกบ้านในฐานะที่เป็นหนึ่งในแรงงานหลักที่ต้องหาเงินเข้าบ้านและเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงส่วนหนึ่งเลยเลือกที่จะไม่แต่งงาน ไม่มีลูก และหันไปให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่า ซึ่งสัดส่วนของผู้หญิงกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
งานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะมีลูกน้อยลง
ที่จริงแล้วมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบความสัมพันธ์ที่ผกผันกันระหว่างระดับการศึกษาของผู้หญิงกับจำนวนลูก คือ ผู้หญิงที่มีการศึกษาเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง ในประเทศไทยก็เช่นกัน ผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มการศึกษาระดับอื่นๆ มีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อย โดยผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปที่เกิดในช่วงปี 2495 จะมีลูกประมาณ 1.3 คน แต่กลุ่มที่เกิดในช่วงปี 2525 เฉลี่ยแล้วมีลูก 0.7 คน ในขณะที่จำนวนลูกของผู้หญิงกลุ่มที่จบมัธยมและประถมศึกษา โดยเฉลี่ยจะยังอยู่ที่ 1.2 คนและ 1.5 คน ดังนั้น อัตราการเกิดในประเทศไทยที่ลดลงอย่างมากก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตราการมีลูกลดลงของกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงนี้
ปรากฏการณ์นี้เป็นในทิศทางเดียวกันกับเทรนด์โลกหรือเปล่า
เป็นทิศทางเดียวกับเทรนด์โลก ตอนนี้อัตราการเกิดของทุกประเทศก็ลดลง ทำให้ทุกประเทศมีนโยบายสนับสนุนทั้งให้คนแต่งงานและมีลูก ซึ่งนโยบายก็ค่อนข้างเข้มข้นมาก ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ มีการสนับสนุนอย่างเป็นระบบเลย ตั้งแต่ช่วยหาคู่ให้ พอเริ่มต้นชีวิตคู่จะซื้อบ้านหลังแรกก็มีเงินช่วยเหลือ หลังจากมีลูกแล้วก็ช่วยเรื่องทุนการศึกษา สุขภาพ การลดหย่อนภาษี เอาง่ายๆ คือ ช่วยเลี้ยงลูกเลย ขณะที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์และสวีเดน มีเงินช่วยเหลือในการจ่ายค่าบริการดูแลเด็ก บางประเทศมีกฎหมายแรงงานที่เอื้อต่อการดูแลลูก เช่น สวีเดน พ่อแม่ที่มีลูกอายุน้อย สามารถขอลดเวลาทำงานได้ สหราชอาณาจักร อนุญาตให้พ่อแม่มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ ต้องยอมรับว่า ประเทศแถบยุโรป สแกนดิเนเวียมีสวัสดิการของพ่อแม่ค่อนข้างดี

นอกจากปัจจัยด้านสถาบัน เช่น สวัสดิการของพ่อแม่ อาจารย์คิดว่า มีปัจจัยอื่นที่ทำให้คนมีลูกน้อยลงหรือเปล่า
เรื่องทัศนคติของคนรุ่นใหม่ก็มีส่วน ในเมืองไทยมีการสำรวจคนกลุ่มนี้หลายครั้งที่พบว่าค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างครอบครัว การแต่งงาน และมีลูกน้อยลง เมื่อเทียบกับการให้ความสำคัญเรื่องความสำเร็จในหน้าที่การงาน อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกของเราค่อนข้างสูง การเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนให้มีคุณภาพจะต้องลงทุนค่อนข้างสูง ถ้าเราไม่มีความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงพอ แรงจูงใจก็จะน้อยลง
ขณะที่ตอนนี้คนมีลูกน้อยลง มองว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เราเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว มีคนอายุเยอะเพิ่มขึ้น ขณะที่มีอัตราการเกิดน้อยลงเรื่อยๆ คนที่อยู่ในกลุ่มอายุที่เป็นกำลังแรงงานหลักก็น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ประเทศเราพบอยู่ ถ้าประเทศเราไม่เริ่มมีนโยบายกระตุ้นตอนนี้ ในอนาคตเราขาดแคลนแรงงานแน่นอน เพราะการปรับโครงสร้างประชากรเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใช้เวลา นี่พูดถึงแค่การสร้างแรงงาน 1 คนขึ้นมาในประเทศเท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงว่าเป็นแรงงานที่มีคุณภาพหรือเปล่าด้วยซ้ำ ซึ่งอันนี้ก็จะเชื่อมโยงกับปัญหาสำคัญหลายเรื่องที่เรามีอยู่ เช่น การเข้าถึงการศึกษา ระบบการศึกษาที่มีอยู่มีคุณภาพในการสร้างคนคุณภาพ ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพให้ตลาดแรงงานหรือเปล่า ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ
เฉลี่ยแล้วตอนนี้ครอบครัวหนึ่งควรมีลูกกี่คนจึงจะไม่กระทบต่อปัญหาแรงงานในอนาคต
ตามหลักควรจะอยู่ที่ประมาณ 2 คน เป็น replacement rate ที่ทำให้จำนวนประชากรคงที่ เพราะพ่อแม่ 2 คน ผลิตลูก 2 คน มาทดแทนพ่อแม่ ประเทศไทยโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 2 คนมานานแล้ว ตอนนี้ไทยอยู่ประมาณ 1.5 คน
วิกฤตเศรษฐกิจน่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูก วิกฤตที่เกิดขึ้นจากโควิดน่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการมีลูกของคนไทย หรือผู้หญิงไทยหรือเปล่า
ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้น่าจะมีผลต่อเรื่องการมีลูกอยู่แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรในไทยก็ค่อนข้างสูง ถ้ารายได้น้อยลงแต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมก็น่าจะมีผลเหมือนกัน แต่สิ่งที่ตอบได้แน่ๆ ก็คือ วิกฤตครั้งนี้น่าจะกระทบผู้หญิงมากสุด เพราะตอนนี้ผู้หญิงทำงานอยู่ในภาคบริการมาก จากเดิมข้อมูลในปี 2528 สัดส่วนร้อยละของผู้หญิงอยู่ในภาคเกษตรร้อยละ 65 ขณะที่ภาคบริการอยู่ที่ร้อยละ 20 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 15 ตอนนี้ข้อมูลในปี 2560 ประเทศไทยมีสัดส่วนร้อยละของผู้หญิงในภาคบริการร้อยละ 50 ภาคเกษตรร้อยละ 30 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 20 ตามที่ทุกคนรู้ วิกฤตนี้กระทบภาคบริการหนักที่สุด ดังนั้นผู้หญิงจึงน่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ ซึ่งส่งผลในเรื่องค่าจ้างของผู้หญิงแน่นอน แต่มีงานวิจัยบางชิ้น เช่น ในประเทศอเมริกา ที่มองว่าวิกฤตนี้อาจทำให้มีการปรับปรุงในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ (gender inequality) คือ ผู้ชายได้กลับมาอยู่บ้าน ช่วยดูแลลูกที่บ้านมากขึ้น ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไป
ท้ายสุดภาครัฐควรมีบทบาทอย่างไร ปัจจุบันมาตรการส่งเสริมให้คนแต่งงานและมีลูกของภาครัฐมีอะไรที่ทำได้ดีแล้ว และอะไรที่น่าจะพัฒนาต่อ
ภาครัฐพยายามทำในระดับหนึ่ง อย่างเรื่องกระตุ้นให้คนแต่งงาน ปีนี้ก็เพิ่งมีโครงการวิวาห์สร้างชาติ มีการให้คู่มือความรู้ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ การแจกวิตามิน เรื่องการมีบุตรหลักๆ ก็มีการลดหย่อนภาษี การให้เงินอุดหนุนเด็กรายเดือน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่า ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาและพยายามที่จะแก้ไขปัญหา แต่ถ้าเทียบกับมาตรการของประเทศอื่น มาตรการของไทยก็ยังน้อยอยู่
สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญและพัฒนาต่อ คือ เรื่องสวัสดิการของพ่อแม่ การช่วยเลี้ยงดูเด็ก ปัจจุบันแค่การลดหย่อนภาษีและเงินช่วยเหลือรายเดือน อาจจะยังไม่เพียงพอ ก็คงต้องมีการช่วยเหลือให้มากขึ้น เช่น แถบยุโรปมีการช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายสถานเลี้ยงดูเด็ก ช่วงเวลาที่ยืดหยุ่นในการทำงานสำหรับคนมีลูกอายุน้อย หรือสถานที่ทำงานก็ควรต้องมีศูนย์เลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้พ่อแม่สามารถฝากลูกแล้วไปทำงานได้ ตอนนี้บางองค์กรในไทยก็มีศูนย์เลี้ยงดูเด็กใกล้ที่ทำงาน ถ้าภาครัฐสนับสนุนภาคเอกชนให้มีได้ทั่วถึงจะช่วยให้คนรู้สึกว่า ทำงานไปด้วยและเลี้ยงลูกไปด้วยได้ ไทยยังมีการช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ยิ่งถ้าหากภาครัฐไม่ริเริ่ม ไม่มีมาตรการสนับสนุนอย่างจริงจัง ภาคเอกชนก็ทำอะไรได้ยาก รัฐจึงน่าจะเป็นผู้ริเริ่มให้ภาคเอกชนเห็นปัญหา แล้วก็มาช่วยกันดูว่าภาคเอกชนจะทำอะไรได้บ้าง อย่างสถานการณ์โควิด-19 เรายังนับผู้ติดเชื้อเป็นรายคนในแต่ละวัน คือต้องดูแลประชาชนแต่ละคนให้ดี ไม่อย่างนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้น จะเห็นว่าเราต้องมองรายคนเลยว่าคนนี้สุขภาพดีหรือเปล่า เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ ในประเทศ อยากให้มองว่าการช่วยพ่อแม่เลี้ยงดูเด็กแต่ละคนก็เหมือนกัน เด็กแต่ละคนในประเทศ ถ้าเราสามารถช่วยกันทำให้มีคุณภาพได้ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ภาครัฐก็ต้องยอมที่จะลงทุนและช่วยเหลือให้มากที่สุด เพราะคนแต่ละคนที่เราสร้างขึ้นมาในประเทศจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศในอนาคต
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world