fbpx

‘ชาร์ล เดอ โกล เมืองไทย?’ จอมพลสฤษดิ์ ในเงารัฐบุรุษแห่งฝรั่งเศส

หากกล่าวถึงชื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปัจจุบัน เชื่อเหลือเกินว่าหลายๆ คนคงนึกถึงภาพอดีตนายกรัฐมนตรีจอมเผด็จการที่มีลักษณะเป็น ‘ผู้นำแบบไทยๆ’ ปกครองบ้านเมืองด้วยคติแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ [1] ขณะเดียวกัน หากสำรวจหลักฐานร่วมสมัยอย่างหนังสือพิมพ์ช่วง พ.ศ.2500–2501 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ก้าวขึ้นมามีอำนาจและบทบาททางการเมืองอย่างเต็มตัว จะพบความน่าสนใจอย่างยิ่งว่า การปกครองด้วยโลกทัศน์ทางการเมืองแบบจอมพลสฤษดิ์นี้เชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ทางการเมืองในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศส

อาจจะมีบางท่านไม่ทราบว่า ครั้งหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์เคยได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ขวัญใจประชาชน’ ราวต้น พ.ศ.2500 จากการแสดงตนว่าอยู่เคียงข้างฝ่ายนิสิตนักศึกษา ประชาชน และปัญญาชนทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ในห้วงยามที่หลายฝ่ายไม่พอใจการบริหารงานและการจัดการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งท้ายที่สุด จอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500

ทว่า ภาพลักษณ์ ‘ขวัญใจประชาชน’ ของจอมพลสฤษดิ์ ก็อยู่ได้เพียงไม่นาน เมื่อในกาลต่อมา จอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจยึดอำนาจอีกครั้งจากรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร ที่จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ให้การสนับสนุนเอง ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ในการยึดอำนาจครั้งที่สองนี้ จอมพลสฤษดิ์ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยเข้าสู่ระบอบเผด็จการ หรือที่เรียกกันด้วยสำนวนอันไพเราะว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ นับแต่นั้นมา

ณ ช่วงระยะเวลารอยต่อทางการเมืองไทย พ.ศ. 2500–2501 อีกฝั่งของท้องฟ้าที่ประเทศฝรั่งเศส ก็เป็นช่วงเวลาที่วีรบุรุษทางการเมืองอย่าง นายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) กลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามครั้งที่ 2 ประเทศฝรั่งเศสขณะนั้นกำลังประสบปัญหาทางการเมืองจากการกบฏของอาณานิคมแอลจีเรียและปัญหาด้านเศรษฐกิจภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ปรากฏกระแสเรียกร้องวีรบุรุษทางการเมืองอย่างนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) ให้กลับเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ของประเทศ

การกลับมาของนายพลชาร์ล เดอ โกล มาพร้อมกับแนวคิดการปกครองที่เพิ่มอำนาจการบริหารและอำนาจตัดสินใจของประธานาธิบดี รวมทั้งให้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญเพื่อใช้แก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเพื่อรองรับรูปแบบการใช้อำนาจ และมีการทำประชามติวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2501 ซึ่งผลปรากฏว่า แนวคิดรัฐธรรมนูญฉบับเดอโกลเป็นที่ยอมรับถึงเกือบร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่ลงประชามติ ต่อมา เดือนตุลาคม พ.ศ.2501 จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและทำให้ประเทศฝรั่งเศสเข้าสู่ช่วงการปกครองที่นิยามว่า ‘ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5’

ควรกล่าวเสริมว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เพียงแต่ประเทศไทยและฝรั่งเศส ในอีกหลายประเทศก็เกิดวิกฤตทางการเมืองเช่นกัน มีการยึดอำนาจ ปฏิวัติ และรัฐประหารโดยบรรดาผู้นำทางทหาร-ผู้นำกองกำลังติดอาวุธ อันเป็นผลมาจากยุคสมัยหลังอาณานิคม และการเข้าสู่ช่วงสมัยที่เรียกกันว่า ยุคสงครามเย็น (Cold War)

กล่าวได้ว่าในแง่หนึ่ง การเปลี่ยนผ่านจาก ‘ขวัญใจประชาชน’ ไปสู่ ‘ผู้นำเผด็จการ’ ของจอมพลสฤษดิ์ ในช่วงก่อนและหลังการยึดอำนาจวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เป็นหนึ่งในภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองโลกในช่วงทศวรรษ 2490 – 2500 ที่ฝ่ายผู้นำทางทหารในหลายประเทศก้าวขึ้นมามีบทบาทและอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากปฏิกิริยาต่อต้านการขยายตัวของอิทธิพลคอมมิวนิสต์ในทางการเมืองโลกยุคสงครามเย็น (Cold War) [2]

แม้มิเคยปรากฏข่าวว่า นายพลชาร์ล เดอ โกล กับจอมพลสฤษดิ์ เป็นสหายสุราร่วมเรียงเคียงโต๊ะเดียวกันมาก่อน อีกทั้งการเมืองไทยกับการเมืองฝรั่งเศสก็มีปัจจัยและบริบททางการเมืองแตกต่างกันออกไป ทว่าช่วง พ.ศ. 2500-2501 สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสกลับได้รับการกล่าวถึง เชื่อมโยงและนำมาคาดการณ์เปรียบเทียบกับการเมืองไทยอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่น ในงานเขียนสารคดีการเมืองของ วิเทศกรณีย์ (สมบูรณ์ คนฉลาด) เล่าว่า รัฐธรรมนูญเดอโกลเเป็นที่สนใจของพลเอกถนอมเป็นอย่างมาก ถึงขั้นจะให้มีคนแปลรัฐธรรมนูญเดอโกล จนมีหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลพลเอกถนอมจะนำรัฐธรรมนูญเดอโกลมาใช้มาปกครอง[3]

ไม่เพียงเฉพาะแต่พลเอกถนอม สำหรับจอมพลสฤษดิ์ที่ในขณะนั้นกำลังนอนพักรักษาตัวจากปัญหาเรื่องสุขภาพอยู่ลอนดอน ก็มีความสนใจรัฐธรรมนูญเดอโกลด้วยเช่นกัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว จอมพลสฤษดิ์เริ่มมีความคิดกลับมายึดอำนาจและเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของไทยไปสู่ระบอบปฏิวัติ มีเรื่องเล่าว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ขอให้หลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตไทยประจำสวิตเซอร์แลนด์ขณะนั้น (ต่อมา หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งเป็น ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์) ช่วยแปลเอกสารรัฐธรรมนูญฉบับเดอโกลเพื่อศึกษาด้วยเช่นกัน

ด้วยบทบาททางการเมืองอันโดดเด่นของ นายพลชาร์ล เดอ โกล ที่ประเทศฝรั่งเศส กับบทบาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ที่ประเทศไทย ทำให้จอมพลสฤษดิ์ถูกหนังสือพิมพ์นำไปเชื่อมโยงเปรียบเทียบกับ นายพลชาร์ล เดอ โกล ว่า จอมพลสฤษดิ์กำลังจะกลายเป็น ‘เดอ โกล เมืองไทย’ อันเนื่องมาจากในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลพลเอกถนอมกำลังประสบปัญหาทางการเมืองอย่างมาก ทำให้จอมพลสฤษดิ์ที่อยู่ระหว่างการพักรักษาตัวในต่างประเทศ ต้องนั่งเครื่องบินกลับมาประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นการด่วน

หนังสือพิมพ์ชาติไทย (วันจันทร์) พาดหัวข่าวตัวใหญ่รายงานสถานการณ์ว่า “เผยเบื้องหลังสฤษดิ์บินกลับด่วน ไม่เลิกบทเฉพาะกาลในปี 2504 เปลี่ยนประเทศไทยเป็นระบอบเผด็จการแน่” และรายงานให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลพลเอกถนอมว่า

“ความปั่นป่วนในวงการเมืองขณะนี้เป็นไปอย่างรุนแรง การแตกแยกและขัดแย้งกันเกิดขึ้นในหมู่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล แม้แต่คณะรัฐมนตรีเองก็ไม่ลงรอยกันทำให้นายก ถนอม กิติขจร ผู้ซึ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งได้ไม่ถึงปีหนักใจเป็นที่สุด ทั้งนี้ เนื่องจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่อาจคุมเสถียรภาพของรัฐบาลไว้ได้ นอกกจากจะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม จากประชาชนและหนังสือพิมพ์ในเรื่องความฟอนเฟะในวงการเมืองไม่เว้นแต่ละวันแล้ว การเคลื่อนไหวในกลุ่มนักการเมืองที่สูญเสียอำนาจในระยะนี้ก็เป็นไปอย่างคึกคัก นายกเองก็คุมสถานการณ์ไว้ไม่ได้เดือดร้อนถึงจอมพลสฤษดิ์ ต้องรีบบินกลับเมืองไทยกลางดึก เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยด่วน การยึดอำนาจก็จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แล้วระบอบเผด็จการก็จะถูกนำมาใช้อีกแน่นอน”[4]

การบินด่วนเพื่อกลับเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ของจอมพลสฤษดิ์ มาพร้อมกับการคาดการณ์จากบรรดากูรูทางการเมืองไทยว่า จอมพลสฤษดิ์จะกลับเข้ามายึดอำนาจและแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง ทำให้หนังสือพิมพ์บางฉบับนำจอมพลสฤษดิ์ไปเปรียบเทียบกับ นายพลชาร์ล เดอ โกล ว่า

“นับเป็นสัปดาห์แห่งวิกฤติการ และสัปดาห์แห่งความอัปยศอดศูนย์แพ้พ่ายของคณะรัฐบาลของพลเอกถนอม กิตติขจร ที่อยู่ ๆ จู่ ๆ ก็ถูกบัญชาจากเหนือหัวให้ดำเนินการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีชุดที่ได้สร้างความอลวนวุ่นวายสร้างมลทินเปรอะเปื้อนด่างพร้อยให้แก่คณะรัฐบาลใหม่ชุดนี้..แต่ทว่า ทั้งๆ ที่จอมพล ‘เครื่องในดี’ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้กำลังจะกลายเป็นเดอโกลดิ์เมืองไทยไปแล้วในปัจจุบัน และ ‘พลเอก’ ตงฉิน ถนอม กิตติขจร จะพยายามโปรประกันดาเพื่อให้ประชาชนหลงคารมสักเท่าใดก็ตาม ในที่สุดกลิ่นเหม็นเน่าอลึ่งฉึ่ง ที่ทั้งๆ ที่จะพยายามปิดบังกลบเกลื่อนสักเท่าใดๆ ก็ตามก็ยังส่งกลิ่นคลื่นเหียรให้หน้าสำรากอาเจียรแก่หมู่ประชาชนทั่วๆ ไป…ฉนั้น เมื่อยุคก่อนๆ เราเคยได้เคยมี ‘ฮิดเล่อรเมืองไทย’ กันมาแล้ว ในยุคนี้เล่า? เมืองไทยเรา จะมี ‘เดอะโกลล์’ ตะวันออกคนที่ 2 หรือไม่นั้นบ้างก็คงจะได้รู้กันในเวลาอันไม่ช้านี้แน่นอน และประวัติศาสตร์อาถรรพ์แต่ก่อนจะกลับมาซ้ำรอยอีกหรือไม่ เราจะคอยดูกันต่อไป”[5]

ภาพการเชื่อมโยง จอมพลสฤษดิ์ กับ นายพลชาร์ล เดอ โกล และการเชื่อมโยงการเมืองฝรั่งเศสเข้ากับการเมืองไทย ยังเห็นได้จากภาพการ์ตูนการเมืองล้อเลียนจอมพลสฤษดิ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชน (ฉบับปฐมฤกษ์) ที่ล้อเลียนจอมพลสฤษดิ์ด้วยการวาดเป็นรูปลิงกำลังเอาหางม้วนรัดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อถอนจากพื้น อีกฟากมีกลุ่มประชาชนกำลังพยายามดันค้ำต่อสู้ ขณะที่ด้านขวาของภาพมีตัวการ์ตูนนาย ควง อภัยวงศ์ ผู้นำฝ่ายค้านเวลานั้นนั่งกอดเข่าอยู่เฉยๆ ส่วนด้านซ้ายของรูป เป็นตัวการ์ตูนนายพลชาร์ล เดอ โกล กำลังยืนมองภาพสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย โดยมีข้อความบรรยายใต้ภาพว่า “สนุกแหง๋ ๆ ถ้าท่านได้ชมละครลิงคณะ “จิ้งจกป่าจาก” แสดงเรื่องอ้ายหน้าลิงฆ่าประชาธิปไตย แสดงแน่ ๆ โปรดรอฟังกำหนดแสดงที่แน่นอนในเร็ววันนี้”[6]


ภาพการ์ตูนล้อเลียนจอมพลสฤษดิ์ว่ากำลังทำลายประชาธิปไตย โดยมีรูปการ์ตูน นายพลชาร์ลเดอ โกล กำลังยืนมองสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย
ที่มา: ประชาชน ฉบับปฐมฤกษ์ กรกฎาคม  2501 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สบ. 9.2.1 เอกสารส่วนบุคคล เอก วีสกุล


ภาพการพยายามเชื่อมโยงเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมืองไทยกับฝรั่งเศส ยังพบเห็นได้ภายหลังจอมพลทำการยึดอำนาจตัวเอง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ผ่านคอลัมน์ของ ‘ปลาทอง’ (ประจวบ ทองอุไร) ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งเขียนบทความสารคดีการเมืองเกี่ยวกับนายพลชาร์ล เดอ โกล ชื่อ ‘ใครจะเป็นเดอโกลล์เมืองไทย ผมยังสงสัยอยู่ครับ’

ประเด็นสำคัญที่ ‘ปลาทอง’ พยายามนำเสนอในบทความคือ การชี้ชวนให้เห็นว่าการยึดอำนาจ-ปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ เป็นเหตุการณ์ที่สอดคล้องหรือเข้าใจได้ เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมืองประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้น โดยเฉพาะการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ดังที่ ‘ปลาทอง’ ใช้กลวิธีสร้างความเข้าใจด้วยการนำเหตุผลและชุดคำอธิบายของคณะปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ‘สวม’ เข้าไปกับการอธิบายสถานการณ์ของประเทศฝรั่งเศส จนแลดูราวกับเป็นเรื่องเดียวกัน ว่า

“เมื่อนายพลเดอโกลล์เห็นว่าสถานการณ์ของประเทศฝรั่งเศสนั้นเปรียบเสมือนคนไข้หนักจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกเอาวิธีการผ่าตัดหรือทำศัลยกรรมจึงจะมีโอกาสช่วยคนไข้รอดจากอันตราย สิ่งแรกที่นายพลเดอโกลล์จำต้องปฏิบัติคือการตระเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์อันจำเป็นต่าง ๆ เพื่อการนั้นให้พร้อมเพรียง อุปกรณ์อันสำคัญและจำเป็นยิ่งยวดคือการตรารัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นกฎหมายปกครองประเทศฝรั่งเศสเสียใหม่ให้เหมาะสมรัดกุม”[7]

ข้อความข้างต้น แม้จะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศฝรั่งเศส แต่สำหรับประชาชนคนไทยที่ได้อ่านได้ฟังประกาศคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ จะสัมผัสได้ว่าวาทศิลป์และรูปแบบวิธีการเล่าดังกล่าวของปลาทอง คือการเลียนล้อไปกับประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ที่กล่าวว่า

“เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เป็นแผลร้ายพิษแรงสำหรับประเทศชาติ ไม่มีทางจะบำบัดด้วยวิธีปลีกย่อย แต่ละเรื่องละรายไม่สามารถจะแก้ไขด้วยวิธีทางเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวคนหรือเพียงแต่แก้ระบบบางอย่าง เปรียบประดุจโรคร้ายไม่มีทางรักษาด้วยยากินยาทา จำต้องใช้วิธีผ่าตัดถึงขั้นศัลยกรรม การปฏิวัติเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาโรคร้ายของประเทศชาติดังที่กล่าวมานี้…จึงจำเป็นสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ให้รัดกุมเข้มแข็ง”[8]

ไม่เพียงเท่านี้ ผู้นำและการเมืองของไทยกับฝรั่งเศสยังถูกเชื่อมโยงกันในลักษณะกระแสการเมืองวัฒนธรรม ดังปรากฏว่า ในงานถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 ภาพและการบรรยายของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ แสดงให้เห็นว่า อัตลักษณ์และการแต่งตัวของนายพลชาร์ล เดอ โกล กลายเป็นกระแสแฟชั่นฮิตของหนุ่มๆ และเด็กๆ ที่มาเที่ยวงาน โดยเฉพาะหมวกทรง รอย โรเย่อห์ ซึ่งเป็นหมวกอัตลักษณ์ประจำตัวของ นายพลชาร์ล เดอ โกล หรือเรียกในไทยว่า ‘หมวกเดอโกล’ มีพ่อค้าแม่ค้าทำมาขายให้หนุ่มๆ และเด็กๆ ใส่เที่ยวกันในงาน เป็นกระแสฮิตไม่แพ้หน้ากากอินทรีแดง ตามที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนบรรยายบรรยากาศภายในงานว่า “หนุ่ม ๆ บางคนแวะเข้าไปในร้านขายเหล้าเสียก่อน พอตึง ๆ หน้าก็ฉุยฉาย ซื้อหมวกกระดาษทรงรอย โรเย่อห์ หรือเดอโกลล์ ติดหนวดปลอม…”[9]


ภาพเด็กๆ กำลังเที่ยวงานถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2501 จากภาพจะเห็นได้ว่า เด็กสี่คนแถวหน้าต่างสวมหมวกกระดาษทรงรอย โรเย่อร์ หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า หมวกเดอโกล ตามแบบ นายพลชาร์ล เดอ โกล ประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ที่มาภาพ : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 20 (2 พฤศจิกายน พ.ศ.2501). ถ่ายโดย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์


ท้ายที่สุด ภาพประจักษ์สำคัญที่สุดของการเมืองไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์ ในเงาเวลานายพลชาร์ล เดอ โกล คือแนวคิดเรื่องอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองอาณาจักร พ.ศ. 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่มีแม่แบบมาจากมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดอโกล โดยมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองอาณาจักร พ.ศ. 2502 ของไทย บัญญัติว่า

“ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่ เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักรให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”[10]

ในขณะที่ มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดอโกล บัญญัติว่า

“หากสถาบันแห่งสาธารณรัฐ เอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้รับการข่มขู่คุกคามอย่างร้ายแรงและอย่างกระทัน และเมื่อการปฏิบัติงานตามปกติขององค์การที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญต้องสะดุดหยุดลง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐมีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นในสถานการณ์เช่นนั้น ภายหลังที่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐได้ปรึกษาหารือเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรี ประธานสภาและสภารัฐธรรมนูญแล้ว ประธานาธิบดีแห่งสาธารณัฐต้องมีสาส์นแจ้งให้ประชาชนทราบ”[11]

อย่างไรก็ดี ทั้งที่มา แนวคิด และการใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญ-ธรรมนูญการปกครองของไทยกับฝรั่งเศส ก็มีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทปัจจัยทางการเมือง ดังที่ในงานศึกษาของ เสน่ห์ จามริก อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เพราะในกรณีของอำนาจพิเศษและสิทธิ์ขาดของประธานาธิบดีเดอโกลล์ โดยแท้จริงแล้ว ตั้งอยู่บนรากฐานของการเลือกตั้งประชาชน และยังมีการกำกับอยู่ด้วยองค์กรรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน มิใช่เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดที่ช่วงชิงมาด้วยกำลังอาวุธโดยปราศจากฐานการยินยอมเห็นชอบแต่ประการใดของประชาชน นอกจากการยอมจำนนด้วยความกลัว ด้วยเหตุนี้ ในทางปฏิบัติ การใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีเดอโกลล์ จึงอยู่ภายใต้กรอบการควบคุมโดยพฤตินัยของมติมหาชนชาวฝรั่งเศส และจริง ๆ แล้ว ก็ได้ใช้อำนาจพิเศษเพียงครั้งเดียวตอนที่คณะทหารและพลเรือนในอาณานิคมแอลจีเรียก่อการกบฎแข็งข้อขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2504 แต่ไม่เคยใช้อำนาจพิเศษไปในทางกำจัดปราบปรามปรปักษ์การเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ผิดกับอำนาจพิเศษมาตรา 17 ของไทย ซึ่งคงบังคับใช้ประกอบกับประกาศใช้กฎอัยการศึกยืดเยื้อถึงสิบปีเศษ และใช้อำนาจนี้สั่งจับกุมและลงโทษถึงขั้นจำคุกและประหารชีวิตคนเป็นจำนวนมากด้วยกัน”[12]

ภาพการเชื่อมโยง จอมพลสฤษดิ์ กับ นายพลชาร์ล เดอ โกล และการเชื่อมโยงการเมืองฝรั่งเศสเข้ากับการเมืองไทย จึงนับว่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์ทางการเมืองของคนในสังคมไทยผ่านความรู้ ความคิด และความเข้าใจทางการเมืองในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ที่คนส่วนใหญ่มีภาพความเข้าใจว่ามีลักษณะแบบ ‘ไทยๆ’

ประเด็นสำคัญคือ แม้บริบท ปัจจัย และข้อเท็จจริงทางการเมืองระหว่างจอมพลสฤษดิ์ กับ นายพลชาร์ล เดอ โกล จะแตกต่างกันอย่างมาก แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่าการเชื่อมโยงโลกทัศน์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ส่งผลต่อกระบวนการความคิด ความรู้ และความเข้าใจอำนาจทางการเมืองไทยของระบอบปฏิวัติในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เพราะถึงแม้ว่าการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดและรุนแรงของจอมพลสฤษดิ์  จะเป็น ‘ความจริง’ แต่การประกอบสร้างความจริงนั้นมีการผลิต (production) และสร้างความชอบธรรม (legitimation) ให้แก่ความจริงนั้นด้วย ในแง่หนึ่งจึงคล้ายกับการใช้สถานการณ์การเมืองต่างประเทศมาเป็นปัจจัยเสริมสร้างคำอธิบายการกระทำ สร้างความชอบธรรมแก่จอมพลสฤษดิ์ด้วยนั่นเอง



[1] ดูงานศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552),

[2] เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540), 203-204.

[3] วิเทศกรณีย์ (นามแฝง), เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปีแห่งระบอบประชาธิปไตย สารคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ตั้งแต่ ร.ศ. 130 จนถึงยุคปัจจุบัน (กรุงเทพฯ, รวมการพิมพ์, 2518), 1065-1067.

[4] ชาติไทย 7 กรกฎาคม 2501 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สบ. 9.2.1 เอกสารส่วนบุคคล เอก วีสกุล

[5] ประชาชนฉบับปฐมฤกษ์ กรกฎาคม 2501 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สบ. 9.2.1 เอกสารส่วนบุคคล เอก วีสกุล. (สะกดตามต้นฉบับ เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] ปลาทอง, “ใครจะเป็นเดอโกลล์เมืองไทย ผมยังสงสัยอยู่ครับ (ตอน 4),” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 22 (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501), 16.

[8] “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4,” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 81 (20 ตุลาคม 2501): 10.

[9] สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 20 (2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501).

[10] “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502,” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 76 ตอนที่ 17ก (28 มกราคม 2502): 6-7.

[11] อ้างใน เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, 225.

[12] เรื่องเดียวกัน 226.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save