fbpx

เมืองหลวง เมืองไทย และมอไซค์รับจ้าง: ‘โลโซ’ กับสังคมไทยในพงศาวดารฉบับร็อกแอนด์โรล

“เรามาแล้ว มาแล้ว เรามาแล้วครับ ยินดีต้อนรับ ต้อนรับสู่เมือง Loso”

เป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับคนไทย ตั้งแต่ในวัยลูกเด็กเล็กแดง หนุ่มสาว ผู้ใหญ่วัยทำงาน ไปจนถึงกระทั่งผู้เฒ่าผู้แก่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยช่วงราวต้นทศวรรษ 2540 จะไม่เคยได้ยินเพลงของวงดนตรีที่ได้รับการยกย่องกันว่าเป็นวงดนตรีแนวเพลงร็อกแอนด์โรลอันดับหนึ่งของเมืองไทย อย่างวง ‘โลโซ (Loso)’

วงโลโซเป็นวงดนตรีสตริงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีเพลงดังเพลงฮิตเป็นจำนวนมาก หลายบทเพลงเรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่ร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง อย่างเพลง ‘ซมซาน’ ‘อะไรก็ยอม’ ‘ใจสั่งมา’ ‘เราและนาย’ และ ‘ฝนตกที่หน้าต่าง’

โลโซมีอัลบั้มเพลงออกมาทั้งหมดจำนวน 5 อัลบั้ม ได้แก่ Lo Society (พ.ศ. 2539) Loso Entertainment (พ.ศ. 2541) Loso Rock & Roll (พ.ศ. 2542) Losoland (พ.ศ. 2544) และ Loso ปกแดง (พ.ศ. 2544) และมีอัลบั้มพิเศษออกมาจำนวน  2 อัลบั้ม ได้แก่ Lo Society Bonus Track (พ.ศ. 2539) โดยเป็นอัลบั้มพิเศษที่ทำต่อเนื่องมาจากความสำเร็จในอัลบั้มแรก ด้วยการเพิ่มเพลง ‘ไม่ตายหรอกเธอ’ ‘ไม่ต้องห่วงฉัน (เวอร์ชันโดด)’ และ ‘ฉันหรือเธอที่เปลี่ยนไป (เวอร์ชันอะคูสติก)’ เข้ามา และอีกอัลบั้มได้แก่ Loso Special (พ.ศ. 2540) ซึ่งเป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘จักรยานสีแดง’

วงโลโซมีสมาชิกภายในวงประกอบไปด้วย เสกสรรค์ ศุขพิมาย (พี่เสก) ตำแหน่งร้องนำและกีต้าร์, กิตติศักดิ์ โคตรคำ (พี่ใหญ่) ตำแหน่งกลอง และอภิรัฐ สุขจิตต์ (พี่รัฐ) ตำแหน่งเบส โดยภายหลังได้ ณัฐพล สุนทรานู (พี่กลาง) เข้ามาสมทบในตำแหน่งมือเบสแทนที่พี่รัฐ ในช่วงอัลบั้ม Loso Rock & Roll และ Losoland

ด้วยความนิยมและความโด่งดังของวงโลโซทำให้ปรากฏงานเขียนและบทความวิเคราะห์ศึกษาผลงานเพลงของวงโลโซอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การวิเคราะห์ในด้านสุนทรียศาสตร์ทางดนตรี[1] ไปจนถึงการวิเคราะห์อย่างเอาจริงเอาจังในด้านสังคมศาสตร์ เช่น การวิเคราะห์ภาพลักษณ์ผู้ชายอกหักในวรรณกรรมเพลงของโลโซ[2] และการวิเคราะห์ความหมายในบทเพลง ‘จากวิถีร็อคแอนด์โรลล์สู่นิพพาน’ ของพี่เสก โลโซ[3]

ทว่า ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏการศึกษาเนื้อหาเพลงของวงโลโซในฐานะบันทึกทางสังคมเท่าใดนัก บทความนี้จึงเป็นการทดลองนำเสนอการวิเคราะห์เนื้อหาในเพลงต่างๆ ของวงโลโซด้วยวิธีการนำเอาเนื้อเพลงต่างๆ ของวงโลโซมาวางแล้วอ่านในฐานะ ‘พงศาวดารฉบับร็อกแอนด์โรล’ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สภาพสังคมไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2540 อันเป็นช่วงเวลาที่วงโลโซกำลังโด่งดังอย่างสุดขีด

เมื่อผู้เขียนนำเนื้อหาในเพลงต่างๆ ของวงโลโซมาอ่านในฐานะพงศาวดารฉบับร็อกแอนด์โรลก็พบความประหลาดใจที่ว่า นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความรักและเรื่องราวในวิถีความเป็นร็อกแอนด์โรลอย่างเรื่องผู้หญิง ยาเสพติด และแอลกอฮอล์แล้ว บทเพลงจำนวนหนึ่งของวงโลโซกล่าวถึงปัญหาสังคมไทยในเมืองหลวงอย่าง ‘ปัญหาการจราจร’

การพูดถึงปัญหาการจราจรของวงโลโซปรากฏขึ้นตั้งแต่ในอัลบั้มแรก (Lo Society) ที่มีเพลงอย่าง ‘ขับรถให้มันตามกฎ‘ เล่าถึงสภาพปัญหารถติดในเมืองหลวงหรือกรุงเทพฯ ว่า

“รามอินทรา ประชาชื่น งามวงศ์วาน คลองเตย ลาดยาว

รัชดา ลาดพร้าว สุขุมวิท เพชรบุรี อโศก

ซอยเสนา สุขาภิบาล ถนนวิภาวดี

ทั้งนครชัยศรี ถึงบางกอกน้อย รถมันก็ติด

ที่ไหนก็เหมือนกัน เส้นไหนก็รถติด

ตรอกไหนก็เหมือนกัน ซอยไหนก็ต้องติด

พัฒนาการ บางนา ซอยอ่อนนุช ถึงรามคำแหง

ยืนโหนจนอ่อนแรง ไม่ว่าที่ไหนรถมันก็ติด

ทั้งเจริญนคร สาธร บางรัก สีลม หมอชิต

โอ๊ยมันจริงชีวิต ไม่รู้จะติดไปถึงไหน”

อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลกที่ผู้เขียนจะมาเรียกเสียงฮา แต่ทว่า ในอัลบั้มที่สองอย่าง Loso Entertainment วงโลโซก็พูดถึงสภาพปัญหาการจราจร ดังปรากฏในบทเพลง ‘สบายอยู่แล้ว’ ที่ร้องขึ้นต้นว่า “เช้าก็มาทำงาน รถก็ดันมาติด ทำไมหนอชีวิต มันถึงได้เป็นอย่างนี้” เช่นเดียวกับอีกหนึ่งเพลงในอัลบั้มเดียวกันอย่าง ‘หนีเมือง หนีเธอ’ ที่แม้จะไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่ผู้ฟังก็รู้ได้แน่ว่าพี่เสกต้องเจอกับปัญหารถติดอีกแล้ว เพราะพี่เสกร้องว่า “ถนนหลายสาย ที่สร้างเมื่อไหร่จะเสร็จครับ ใครเป็นคนรับผิดชอบ ช่วยบอกกันสักหน่อย”

นอกจากนี้ ปัญหาการจราจรยังถูกพูดถึงโดยนัยจากเพลงโปรโมตหลักของอัลบั้ม Losoland อย่างเพลง ‘มอไซค์รับจ้าง’ ที่แม้ว่าจะเกิดเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นั่งข้างทางคนก็มองว่าไม่ดี แต่ทว่า มอไซค์รับจ้างคันนี้ก็สามารถ “ส่งเธอไปทุกทางไปได้ทุกที่” ซึ่งก็เป็นการกล่าวถึงหรือสะท้อนโดยนัยให้เห็นถึงสภาพปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ หรือเมืองหลวงของไทย

ความน่าสนใจตามมาก็คือ แล้วทำไมพี่เสกและวงโลโซต้องมาทุกข์ทนและเผชิญอยู่กับสภาพปัญหารถติดในเมืองกรุงเช่นนี้

คำตอบก็คือเพราะ ‘เงิน’

สำหรับแฟนเพลงโลโซย่อมทราบดีว่า นอกจากภาพลักษณ์ในการเป็นนักร้องร็อกแอนด์โรลแล้ว พี่เสก โลโซ ยังเป็นนักร้องที่มีภาพลักษณ์เป็น ‘คนต่างจังหวัด’ ที่เดินทางเข้ามาทำงานหาเงินในเมืองหลวง ทำให้ในหลายบทเพลงของวงโลโซจึงกล่าวถึงเรื่องเงิน เช่น เพลง ‘เงิน’ ในอัลบั้ม Loso Entertainment ที่พี่เสกร้องบอกแฟนเพลงว่า

“เธอคือเงิน เธอคือไฟ เธอเป็นของใคร ทำไมกัน

พอวันจันทร์ ตั้งแต่เช้า ต้องรีบไป ออกไปหา เงิน”

ในระบบทุนนิยม เงินถือเป็นปัจจัยหลักของชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเงินสามารถซื้อปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ทำให้ในเพลง ‘ดีไหมเอ่ย’ จากอัลบั้ม  Loso Rock & Roll พี่เสกจึงร้องบอกทุกๆ คนว่า ถึงแม้ “ฉันไม่มีอะไรฉันมีแค่กีต้าร์ ฉันมันเป็นคนบ้าฉันมันชอบร้องเพลง” แต่ทว่า เงิน เป็นสิ่งสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถึงแม้บางคนจะเป็นคนดี แต่กลับเป็นส่วนเกินและถูกหมางเมิน “เพราะอะไร หรือเขาไม่มีเงิน” ดังนั้น

“สังคมไทยก็อย่างนี้ เมื่อไรจะดีสักทีนะ

ชีวิตคนเกิดมา มันเลือกเกิดได้ที่ไหน

ใครๆ ก็อยากจะมีเงิน ใครๆ ก็อยากจะสบาย

สุขใจ สุขกาย ใครไม่เอา…ครับ”

แน่ชัดว่าปรากฏการณ์สังคมที่ทุกคนต่างก้มหน้าทำงานหาเงินคือภาพของสังคมในระบบทุนนิยม ในบางบทเพลงของวงโลโซ จึงเป็นพงศาวดารฉบับร็อกแอนด์โรลที่บอกและเน้นย้ำกับแฟนเพลงทุกคนในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ว่า เมืองไทย สังคมไทย และเมืองหลวงของไทย เป็นสังคมทุนนิยม (ไม่มากก็น้อย) เพราะทุกคนต่างต้องตื่นแต่เช้าเพื่อที่จะไปทำงานหาเงิน ดังที่เพลง ‘มอไซค์รับจ้าง’ ร้องบอกทุกคนว่า “เช้าตื่นก็ต้องรีบไปปากซอย นั่งคอยว่าใครจะมาเรียกใช้” เช่นเดียวกับเพลง ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ ในอัลบั้มเดียวกันอย่าง Losoland ก็บอกว่า “หน้าไม่เคยเบิกบาน ทำแต่งานร่ำไป เขาบอกสมัยนี้สมัยเงิน”

ดังนั้น แม้ในความเป็นจริงเราจะไม่อยากทำก็ตาม แต่ถ้าอยากมีเงินก็ต้องทำงาน ทำให้ในสองบทเพลงจากอัลบั้ม Loso ปกแดง อย่าง ‘อยากเปลี่ยนใจเธอ’ และ ‘5นาที’ พี่เสกจึงตัดพ้อกับแฟนเพลงว่า “อยากเปลี่ยนวันจันทร์ เป็นวันอาทิตย์ อยากเปลี่ยนชีวิตให้ง่ายขึ้น” และ “ทำๆ ทำงาน ตัวเป็นเกลียว เธอคนเดียว คนเดียวคือเธอ ทำแต่งานไม่ค่อยได้เจอ ก็อยู่น้อยอยู่หน่อย อีกสักห้านาที เดี๋ยวค่อยไป”

กล่าวได้ว่า งาน เงิน และเมืองหลวง ในหลายเพลงของวงโลโซคือภาพสะท้อนสังคมเมืองไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2540 โดยเฉพาะภาพของวิถีชีวิตผู้คนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากการต้องทำงานหาเงินในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

อย่างไรก็ตาม บทเพลงของวงโลโซก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของสภาพสังคมทุนนิยมในประเทศไทย ผ่านภาพของแรงงานต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางเข้ามาหาทำงานในเมืองหลวง เนื่องจากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมที่มีทั้งงาน เงิน และความเจริญศิวิไลซ์

และหากจะกล่าวไปให้มากกว่านั้น งาน เงิน และความเจริญศิวิไลซ์ในเมืองหลวง ที่ทำให้คนต่างจังหวัดต้องยินยอมอย่างปฏิเสธไม่ได้ในการเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง ก็เป็นภาพสะท้อนมรดกประวัติศาสตร์แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่มีลักษณะกระจุกตัวและไม่เท่าเทียม กล่าวคือ ด้วยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย จึงทำให้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางหรือหัวใจของกลไกทางเศรษฐกิจที่รวมไว้ซึ่งแหล่งปัจจัยการผลิตในระบบทุนนิยมอย่างครบครัน ทั้งที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ

ดังนั้น ไม่ว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ จะวุ่นวายสับสนเพียงใด และแม้พี่เสกจะคิดถึงแม่สักเพียงใด แต่ทว่าตอนนี้ พี่เสกก็จะยังคงไม่กลับไปโคราชบ้านเกิด เพราะกรุงเทพฯ หรือเมืองหลวงนั้น เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของไทยในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คือมีทั้งงาน เงิน และความความเจริญศิวิไลซ์ ดังที่เพลงฮิตอย่างเพลง ‘แม่’ จากอัลบั้ม Loso Entertainment พี่เสกบอกกับเราว่า

“ป่านนี้ จะเป็นอย่างไร จากมาไกล แสนนาน

คิดถึง คิดถึงบ้าน

จากมาตั้งนานเมื่อไรจะได้กลับ

แม่จ๋า แม่รู้บ้างไหม

ว่าดวงใจ ดวงนี้เป็นห่วง

จากลูกน้อย ที่แม่ห่วงหวง

อยู่เมืองหลวงศิวิไลซ์ ไกลบ้านเรา”

และสำหรับวงโลโซ ความศิวิไลซ์ของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็สามารถดูง่ายๆ จากเพลงดังอย่าง ‘พันธ์ทิพย์’ ในอัลบั้ม Loso ปกแดง ที่เนื้อหาของเพลงแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในเมือง ทั้งการไปดูหนัง การไปกินข้าว การทำงานจนไม่มีเวลา กระนั้น หากมี ‘เงิน’ และมี ‘เวลา’ แล้วละก็คงต้องไปพักผ่อนเที่ยว ‘ห้างสรรพสินค้า’ เสียหน่อย

ดังนั้น แม้พี่เสกจะบอกกับแฟนเพลงว่า “แต่ไม่ไปพันธ์ทิพย์ แต่ไม่ไปพันธ์ทิพย์แน่นอน” เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นที่รู้กันว่า ‘พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ ถือเป็นแหล่งจำหน่ายเทปผีซีดีเถื่อนที่มีชื่อเสียง แต่ทว่ากรุงเทพฯ ก็ยังมีร้านค้าและห้างสรรพสินค้าอีกเป็นจำนวนมากให้เราได้พักผ่อนหย่อนใจในวิถีชีวิตแบบทุนนิยม ดังที่พี่เสกร้องว่า

“ก็ว่าจะชวนเธอไปดูหนัง และว่าจะชวนเธอไปกินข้าว

อยากจะคุยเรื่องของสองเรา เรื่องเก่าๆ ที่ยังค้างคา

ก็เพราะว่าฉันในช่วงนี้ งานมันยุ่งมันยุ่งเป็นบ้า

เลยไม่ค่อยมีเวล่ำเวลา จะพาเธอออกไปเที่ยวเลย

เลยว่าจะพาเธอไปเดอะมอลล์ แล้วไปต่อกันที่เซ็นทรัล

ไปเอ็มโพเรียมก็ไปกัน แค่มีเธอกับฉันก็พอ

 

แต่ไม่ไปพันธ์ทิพย์ แต่ไม่ไปพันธ์ทิพย์แน่นอน

อย่าไปเลยนะขอวอน คราวก่อนก็เคยพูดคุย

ว่าจะไม่ไปพันธ์ทิพย์ ว่าจะไม่ไปพันธ์ทิพย์แน่เลย

ไม่อยากเจอคนที่เคย เคยหักอกกันเปิดร้าน อยู่ที่พันธ์ทิพย์

 

เวิลด์เทรดก็ดูดี เอ็มเคสุกี้ก็ใช้ได้

ไปมาบุญครองต่อเป็นไง หรือว่าจะไปสยามสแควร์

นั่งตากแอร์กันให้ชุ่มปอด แล้วพร่ำพรอดกันให้ชุ่มฉ่ำ

จากที่ทำงานจนหน้าดำ จะเผยน้ำคำให้เธอหน้าแดง”

สำหรับแนวคิดของสำนักคิดทางสังคมศาสตร์อย่างสกุลหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) มีแนวความเห็นว่า ในระบบทุนนิยม เมืองมีความสำคัญในฐานะพื้นที่หนึ่งที่มีการสร้างวิธีคิด/วิธีจัดการเกี่ยวกับพื้นที่แห่งความเป็นเมืองขึ้นมา ซึ่งเรียกว่า ‘วิถีชีวิตแบบเมือง’ (urbanism) หรือ ‘จิตสำนึกแบบเมือง’ (urbanized consciousness) ซึ่งห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า ก็คือรูปธรรมที่ชัดเจนของพื้นที่และวิถีชีวิตแบบเมืองในระบบทุนนิยม อย่างเช่น การไปดูหนัง การไปกินข้าว หรือ การนั่งตากแอร์กันให้ชุ่มปอด

อย่างไรก็ตามไม่ต้องสงสัยเลยว่า ด้วยประวัติศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยที่มีลักษณะกระจุกตัว ย่อมส่งผลตามมาถึงปัญหาสภาพสังคม สภาพที่อยู่อาศัยอันแออัดของผู้คน และส่งผลไปถึงการคมนาคมที่ถนนหนทางในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไม่สามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตการเดินทางของผู้คนที่มีเป็นจำนวนมากได้ จึงย่อมเป็นเหตุผลให้บางผลงานเพลงของวงโลโซต้องกล่าวถึงปัญหาการจราจร

ในเชิงบริบททางประวัติศาสตร์ น่าสนใจว่าหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหารถติดของสังคมไทย ก็คือการเกิดขึ้นของอาชีพอิสระที่เรียกกันว่า ‘มอไซค์รับจ้าง’ ในช่วงทศวรรษ 2530[4] ผนวกกับการที่สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 ที่ทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องออกจากการทำงานในระบบ เปลี่ยนมาทำงานนอกระบบและอาชีพอิสระ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาประกอบอาชีพ ‘มอไซค์รับจ้าง’[5] ซึ่งเป็นอาชีพนอกระบบและอาชีพอิสระในขณะนั้น เป็นช่องทางหนึ่งในการทำมาหากิน

เนื้อหาในเพลงฮิตอย่าง ‘มอไซค์รับจ้าง’ จากอัลบั้ม Losoland (พ.ศ. 2544) จึงเป็นพงศาวดารฉบับร็อกแอนด์โรลที่แสดงให้เห็นภาพวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยและในเมืองหลวงช่วงต้นทศวรรษ 2540 นับตั้งแต่การต้อง “เช้าตื่นก็ต้องรีบไปปากซอย” การกล่าวถึงปัญหาสภาพเศรษฐกิจอย่าง “น้ำมันมันก็แพงรดต้นคอรายได้ไม่ค่อยจะพอกับรายใช้” และการประกอบอาชีพนอกระบบอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ “นั่งข้างทางคนก็มองว่าไม่ดี” แต่ทว่า ด้วยสภาพปัญหาพื้นที่ของเมืองที่เต็มไปด้วยความแออัดและปัญหาการจราจรมอเตอร์ไซค์รับจ้างคันนี้กลับเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมเมืองหลวงของไทย เพราะสามารถ “ส่งเธอไปทุกทางไปได้ทุกที่”


“ก็เลยมาร้องเพลงบอก แค่อยากให้เธอนั้นเข้าใจ”

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ในหลายบทเพลงของวงโลโซนอกจากจะถือกันว่าเป็นเพลงในตำนานของวงการเพลงร็อกแอนด์โรลเมืองไทยแล้ว หาก ‘ฟังใหม่’ และ ‘อ่านใหม่’ อีกครั้ง ก็ถือได้ว่าเป็นพงศาวดารฉบับร็อกแอนด์โรลของไทยชั้นดี ในการศึกษาทำความเข้าใจสังคมไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวว่าสำหรับแฟนเพลงโลโซและแฟนเพลงทั่วไป ไม่จำเป็นต้องฟังเพลงของวงโลโซแล้วต้องได้อะไรเช่นนี้เลย เพราะการฟังเพลงของวงโลโซแล้วเกิดสุนทรียะทางอารมณ์นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแก่ผู้ฟังแล้ว กล่าวคือ ไม่ต้องฟังและอ่านอะไรแบบนี้ ชีวิตก็ “ไม่ตายหรอกเธอ”

หากแต่ที่ผู้เขียนกระทำไปทั้งหมดนั้น ก็บอกได้เพียงคำเดียวว่า เพราะ “ใจสั่งมา”

References
1 ตัวอย่างเช่น ‘วิเคราะห์เพลงขึงขัง ซมซาน ทำไม? เพลงนี้จึงคู่ควรกับคำว่า ตำนาน’
2 ภุชงค์ เสือทอง และพัชลินจ์ จีนนุ่ม, “การสร้างความหมายด้านภาพลักษณ์ของผู้ชายที่ไม่สมหวังกับความรักจากวรรณกรรม เพลงของ “เสก โลโซ””, การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติ และนานาชาติ ครั้งที่ 12, วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 ณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, 342-355.
3 พอล เฮง, ‘เสก โลโซ (เสกสรรค์ ศุขพิมาย): ความหมายในบทเพลง จากวิถีร็อคแอนด์โรลล์สู่นิพพาน’
4 ดู สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, “ทำไมจึงเกิดมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ”, สมุดปกขาวทีดีอาร์ไอ, ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2537, 1-12.
5 ดู ปณัยกร วรศิลป์มนตรี, ‘กำเนิด ‘วินมอเตอร์ไซค์’ แรกของกรุงเทพฯ เส้นเลือดฝอยของคนเมืองที่ต้องพึ่งความแว้นไว’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save