fbpx

“ไม่ใช่เพราะเก่า ศิลปะจึงงาม” ประวัติศาสตร์ศิลป์และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของ ‘สันติ เล็กสุขุม’

โดยไม่ต้องมียศถาบรรดาศักดิ์นำหน้า งานของสันติ เล็กสุขุม คือตัวชี้วัดคุณค่าความหมายของเขาอย่างกระจ่างแจ้ง

หนังสือสำคัญหลายเล่มเกี่ยวกับลวดลายและเจดีย์สมัยอยุธยา มีชื่อคนเขียนบนปกว่า ‘สันติ เล็กสุขุม’ หรือที่นักศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะเรียกกันติดปากว่า ‘อาจารย์สันติ’

วิวัฒนาการของชั้นประดับลวดลาย และลวดลายสมัยอยุธยาตอนต้น คือหนังสือเล่มแรกของเขา ผลงานที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สมัยเรียนที่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร โดยมีศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา หลังจากนั้นตลอดช่วงชีวิตการทำงานก็มีหนังสือที่กลายเป็นตำราของนักประวัติศาสตร์ศิลปะอีกหลายเล่ม เช่น เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมุม สมัยอยุธยา, ลวดลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2172-2310), เจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว, กระหนกในดินแดนไทย, ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย (ฉบับย่อ), จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 : ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม และวัด-เจดีย์: ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในชื่อนิทรรศการ ‘ซากโบราณสถาน สู่จิตรกรรมดิจิตอล’ และงานนิทรรศการร่วมกับเทพศักดิ์ ทองนพคุณ โดยสันติถ่ายทอดผลงานจากงานวิจัยศิลปะโบราณอันยาวนานออกมาเป็นงานทดลองศิลปะสมัยใหม่

วันนี้ในวัยใกล้ 80 ปี หากมีแรงและเวลา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต ยังออกเดินทางไปยังโบราณสถาน ดูสถูปเจดีย์ในอยุธยา สุโขทัย ฯลฯ เพื่อ ‘คุย’ กับซากอิฐซากปูน ที่เขาบอกเสมอว่ามีเรื่องราวมากมายอยู่ในนั้น หลายครั้งที่เขานำทัวร์กลุ่มคนที่สนใจประวัติศาสตร์และเล่าเกร็ดความรู้อย่างไม่รู้เหนื่อย – เป็นอาจารย์ทั้งในและนอกห้องเรียน

เรานัดสัมภาษณ์กันที่บ้านของเขา เสียงพูดและแววตายังแข็งแรง ที่นั่งประจำของอาจารย์สันติอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ในวันที่หลายคนล้มเลิกกับการตามเทคโนโลยีไปแล้ว อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดีคนนี้ยังนั่งใช้โปรแกรม SketchUp อย่างคล่องแคล่ว เขาสร้างรูปแบบสันนิษฐานขึ้นมาด้วยความรู้และจินตนาการ วาดซากฐานให้กลายเป็นโบราณสถานแบบสมบูรณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ และนำเสนอให้สังคมตีความ – เชื่อหรือไม่เชื่อ ปล่อยให้เป็นเรื่องของการถกเถียงในสังคมอารยะ

บรรทัดถัดจากนี้คือเรื่องราวชีวิตของสันติ เล็กสุขุม ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มที่ไฟแห่งศิลปินยังพลุ่งพล่าน สู่การเป็นอาจารย์ และคุยถึงความรู้ที่ตกผลึกในการเรียนรู้แก่นของประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ทั้งโลดโผน สันติ และสุขุม

อาจารย์สนใจศิลปะตั้งแต่เด็กเลยไหม

สมัยเด็กอยู่สมุทรสาคร ไม่มีใครสนใจเรื่องศิลปะ แม่ก็ไม่สนใจและไม่ได้สนับสนุน ส่วนพ่อมาจากไหหลำ พ่อไม่ได้เรียนหนังสือนะ เป็นเด็กยากจน แต่พ่อกลับสนับสนุน ถึงแม้ว่าเขาจะไม่รู้เรื่องศิลปะเลย แต่เขาก็ชอบดูรูป

ผมเป็นลูกคนแรก แม่บอกว่าต้องอุ้มทั้งคืน งอแงและไม่สบายตลอด ก็เลยเรียกผมเป็นภาษาไหหลำว่าไอ้เคี้ยบ แปลว่า ไอ้ตัวร้าย ไอ้ตัวแสบ ผมโตในตรอก วิ่งเล่นอยู่ในนั้น บางวันก็วิ่งออกจากตรอกเพื่อไปหาพ่อตรงภัตตาคารที่พ่อเป็นกุ๊กอยู่ตรงหัวตลาด

ตอนนั้นไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมเรื่องศิลปะเลย นอกจากตัวผมเองที่นึกชอบ วงดนตรีของพยงค์ มุกดาไปเล่นที่มหาชัย ผมก็ชอบไปดูเขา สมัยเรียนมัธยมผมก็ชอบวาดเขียนแล้ว เรียนวิชาวาดเขียนได้คะแนนดี ผมวาดรูปติดผนังเต็มบ้าน ตอนนั้นออกมาเช่าบ้านข้างนอกแล้ว อยู่กับแม่ที่รับจ้างซักรีด ช่วยหารายได้เสริมให้พ่อ

ผมวาดติดผนัง ไม่คิดมาก สนุกแบบนั้น พอจบมัธยมฯ เข้ากรุงเทพฯ รู้จักอย่างเดียวคือโรงเรียนเพาะช่าง เลยมาสอบเพาะช่าง เราเด็กบ้านนอก ไม่ได้เทรนสอบมา เห็นเขาวาดกันแล้วตกใจเลยนะ วาดดีทั้งนั้น ผมวาดไม่ได้เรื่องเลย สุดท้ายสอบไม่ติดเพาะช่าง แต่พอดีได้ข่าวจากอาที่เป็นครูรู้ข่าวบอกว่าวิทยาลัยช่างศิลปเปิดรับ สุดท้ายก็สอบได้ที่ช่างศิลป

ไม่มีใครสอนการวาดรูปมาก่อนหน้านั้น?

ไม่มี ครูสอนวาดเขียนตอน ม.6 ท่านก็ไม่ได้สอนอะไรมาก แนะนำธรรมดา ผมไม่ได้ฝึก ตอนมาสอบเขาให้วาดหุ่น ซึ่งผมไม่เคยทำแบบนั้น ก็สอบไม่ได้

ตอนเรียนที่ช่างศิลป ผมขยันเรียน เพราะชอบ ก็ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีไฟและชอบวาดรูป เคยได้รางวัลปั้นภาพนูนสูงอยู่ครั้งหนึ่งตอนเรียนปี 2 จำได้ว่าอาจารย์ศิลป์ พีระศรีไปงานประกวดด้วย

จำได้ติดตาเลยว่าอาจารย์ศิลป์นั่งอยู่กับอาจารย์สวัสดิ์ (ตันติสุข) ผมเดินเซ่อๆ ซ่าๆ ผ่านหน้าท่านไป ปรากฏว่าตรงพื้นมีสายไฟขวางอยู่ อาจารย์สวัสดิ์ท่านก็ชี้ให้ผมเห็น กลัวผมจะเตะสายไฟ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ผมจำได้แม่น แต่เรื่องใหญ่ๆ จำไม่ค่อยได้ (หัวเราะ)

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนอยู่ช่างศิลปปี 2-3 ผมปีนข้ามรั้วไปพิพิธภัณฑ์ จำได้ติดตาว่าเห็นอาจารย์เฟื้อ (หริพิทักษ์) ใส่เสื้อกล้ามนั่งคัดลอกสมุดข่อย ผมเดินไปถามท่านว่า ลุงๆ วาดไปทำไม 

ตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นอาจารย์เฟื้อ?

ไม่รู้ ตอนนั้นยังเด็ก ไม่รู้เรื่อง ค่อยมารู้ทีหลัง

ผมนั่งรถไปกลับมหาชัยทุกวัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่วิถีชีวิตผมเปลี่ยน รู้จักเพื่อนกรุงเทพฯ พวกนี้ทันสมัยมาก ฟังเพลงป็อป เพลงฮิต ทุกวันนี้ผมก็ยังฟัง ฟังแล้วนึกถึงตอนนั้น ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ใหม่มาก ชีวิตผมแปลกและเปลี่ยนไปเลย

ไปกลับมหาชัยกรุงเทพฯ จนเรียนจบช่างศิลปเลยไหม

ใช่ ผมเรียนช่างศิลป 3 ปี ได้ประกาศนียบัตรครู จากนั้นก็สอบเข้าเรียนได้ที่คณะจิตรกรรม ศิลปากร ผมเป็นคนไม่มีอะไรทำ เลยขยันเรียนมากและทำงานไปด้วย ได้ไปรับจ้างเขียนฉากละครให้กรมศิลปากร มีเพื่อนชวนไปทำ เขาเป็นนายช่าง ติดต่อกับทางโรงถ่ายหนังด้วย รับจ้างเขียนฉากหนัง ช่วงนั้นผมเลยทำงานช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านได้ มีตังค์ใช้ ผมดูหนังบ่อยมาก ชอบมาก มาร์ลอน แบรนโดอยู่ในหัวใจเลย

ผมไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่เป็นคนขยันและใฝ่หาความรู้ ชอบคุยกับรุ่นพี่กับเพื่อนถึงเรื่องงานศิลปะ น่าเสียดายที่สมัยนั้นหาตัวอย่างงานดูไม่ได้ หนังสือในห้องสมุดก็มีน้อยมาก เกือบจะไม่มีเลย ไม่เหมือนทุกวันนี้ คีย์ในกูเกิลขึ้นมาเลย เด็กเดี๋ยวนี้ไปได้เร็วมาก แต่สมัยก่อนยิ่งกว่าเรือเกลืออีก ไปตามเรื่องตามราว ตามบุญตามกรรมของมัน

ตอนนั้นใครเป็นศิลปินหรือครูที่พอยึดเป็นแนวทางได้บ้าง

ตอนที่เรียนจิตรกรรมก็มีอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ กับอาจารย์เฟื้อ ที่ผมชื่นชมท่านน่ะนะ ส่วนอาจารย์ท่านอื่นก็รองๆ ลงมา ผมประทับใจอาจารย์ชลูดเพราะท่านทำงานตลอด ทั้งวัน ทุกวัน ผมได้ภาพนั้นจากอาจารย์ชลูด

ส่วนอาจารย์เฟื้อเป็นคนสมถะ แล้วไม่ใช่คนสะสมกำลังอำนาจ ท่านสบายๆ ยังจำภาพได้ว่าตอนที่เรียนอยู่ พอท่านเข้ามาในห้องเรียน ท่านมองคนโน้นคนนี้ แล้วก็ไม่วิจารณ์งานของนักศึกษาโดยตรง แต่จะพูดเรื่องศิลปะ แล้วเวลาพูดท่านหลับตา พอลืมตามาอีกที เพื่อนหลายคนก็หนีออกไปแล้ว (หัวเราะ) ไม่ใช่หนเดียวนะ หลายหน แล้วท่านพูดในแบบของท่าน ท่านพูดแล้วท่านก็หัวเราะ ผมน่ะอยู่ฟัง เพราะผมชอบฟัง ส่วนเพื่อนที่วาดรูปเก่งๆ ไม่ฟังหรอก มันหนีลอดใต้รักแร้ไป

เมื่อเรียนจบแล้ว ผมพูดกับเพื่อนหลายครั้งว่าอาจารย์สอนศิลปะเขาไม่พูดอะไรเลยนะ หมายถึงไม่วิจารณ์งานนักศึกษาตรงๆ คุณลองคิดดูสิว่าเมื่อไหร่ที่เขาพูด คำพูดของเขาอาจจะพาให้คุณเฉเป๋ไปเลยได้ นักเรียนศิลปะพร้อมที่จะรับฟังอยู่แล้ว มันคิดอะไรไม่ได้มากหรอก ครูพูดอะไรก็เอนไปตามนั้น พวกครูทั้งหลายเขาจึงไม่พูด แต่ทำให้ดู ข้อนี้สำคัญมากนะ

มีเหตุการณ์ไหนที่ครูทำให้เห็นแล้วประทับใจไหม

ตอนอยู่จิตรกรรมปี 3 เรียนปั้นคอมโพสใหญ่เป็นภาพนูน ผมปั้นเสร็จแล้ว อาจารย์ชลูดก็เดินมาดูงานผม ไม่พูดกับผมสักคำ สักพักท่านเดินเข้าไปตบตรงนี้ พอกตรงนั้น แป้บเดียวเสร็จแล้ว แล้วก็เดินไป ซึ่งเราเห็นเลยว่างานดีกว่าเก่า มีระยะเพิ่มขึ้น ก่อนนี้ตรงไหล่ของหุ่นจมไปกับพื้นหลัง ท่านก็กดก็พอกไปหน่อย เห็นชัดเลยว่าลอยตัวขึ้นมา เป็นระยะลวงตา ซึ่งเรื่องพวกนี้ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ ไม่มีทางเลยที่จะจัดการให้เป็นผลอย่างนั้น

การสอนแบบนี้ทำให้เราเห็นว่าทำอย่างนี้แล้วได้ผลเลย ดีกว่าตำราอีก ตำรายังบอกมากขนาดนั้นไม่ได้

อีกคราวหนึ่ง ผมเขียนพอร์เทรตสีน้ำมันได้คะแนนท็อป ผมก็ขึ้นไปหาอาจารย์เฟื้ออยู่ชั้นลอย บอกว่า “อาจารย์ครับ ผมอยากให้อาจารย์ให้คำแนะนำและวิจารณ์รูปนี้” อาจารย์เฟื้อดูรูปแล้วพูดแค่ว่า “ดีแล้วๆ ทำไปๆ” ท่านจะใช้คำพูดอย่างนี้กับนักศึกษาทุกคนตลอด อาจารย์ชลูดก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน

ครั้งหนึ่งอาจารย์ชลูดดูงานผมแล้วก็ทำเสียง “อืมๆ” เบาๆ ในลำคอ เดินผ่านไป แล้วก็เดินกลับมา แล้วพูดว่า “อืมๆ เออ ทำไปๆ” ผมอดใจไม่อยู่เลยถามว่า “อาจารย์สอนแบบเซนหรือครับ” อาจารย์ก็มองหน้าแล้วบอกว่า “เปล่า ฉันสอนเหมือนที่อาจารย์ศิลป์สอนน่ะ ฉันก็เอามาสอนอย่างนี้”

นั่นแสดงว่าอาจารย์ศิลป์ก็ไม่ได้พูดอะไรมาก มีแต่แนะอะไรเล็กๆ น้อยๆ แค่นั้นเอง ที่เราได้ยินคำพูดอาจารย์ศิลป์ทั้งจากคนที่จำมาหรือจากในหนังสือของอาจารย์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่อาจารย์ศิลป์พูดถึงความคิดและคอนเซ็ปต์เท่านั้นเอง พูดเพื่อปลุกปลอบให้นักศึกษามีกำลังใจในการทำงาน เพราะสมัยก่อน คุณจบมายังเขียนรูปขายไม่ได้ จะไปขายที่ไหน สมัยผมก็ยังขายรูปไม่ได้ ต้องต่อจากรุ่นผมมาอีก 2-3 รุ่นถึงจะพอขายได้

ตอนนั้นคุยกันในหมู่เพื่อนบ้างไหมว่าเรียนจบไปแล้วจะทำอะไรต่อ

ตอนใกล้เรียนจบ ผมมองออกไปข้างนอกแล้วเคว้งเลยนะ พอเรียนจบ ผมไปสมัครงานหลายที่ก็ไม่ได้ จนมีรุ่นพี่คนหนึ่ง อาจารย์อวบ สาณะเสน เขาทำงานที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ชวนไปทำงานด้วยกัน เมื่อก่อนคนออกแบบปกไม่มีใครหรอกที่จบปริญญามานอกจากอาจารย์อวบ สาณะเสน ซึ่งเป็นหัวหน้า สมัยนั้นคนจบจิตรกรรมยังน้อยด้วย หรือจบแล้วก็ไปทำอย่างอื่น เช่น ดีไซเนอร์

ผมทำอยู่ที่ไทยวัฒนาพานิช 3-4 ปี แล้วก็ออกมาพร้อมกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เป็นบรรณาธิการใหญ่ พออาจารย์สุลักษณ์ออก ทีมของท่านก็ออกมาด้วย ผมเป็นฝ่ายศิลป์ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็นับเป็นทีมของท่าน เพราะพี่อวบก็เป็นทีมของอาจารย์สุลักษณ์

พอออกมา อาจารย์สุลักษณ์ก็ให้คนมาตาม ชวนให้ไปเป็นฝ่ายศิลป์ที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ตอนนั้นสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็น บ.ก. ผมก็ทำอยู่พักหนึ่ง ช่วงใกล้ๆ กันนั้นอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้ก่อตั้งนิตยสารสตรีสารก็ให้โอกาสผมทำงานด้วย ท่านให้ไปทำข่าวการแสดงภาพถ่ายแล้วกลับมาเขียน แล้วท่านก็แก้งานเขียนให้ ผมเสียดายมากเลยที่มีโอกาสให้ท่านแก้ภาษาให้ครั้งสองครั้งเท่านั้นเอง เพราะหลังจากนั้นศาสตราจารย์ คุณหญิงไขศรี (ศรีอรุณ) ก็ชวนผมไปทำงานที่คณะโบราณคดี ไปสอนดรอว์อิ้ง เพราะเด็กภาควิชาโบราณคดีต้องทำผังตอนขุดค้น ต้องดรอว์อิ้งควบคู่กับการถ่ายรูปในการบันทึกข้อมูล

ตอนเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาโบราณคดี ผมออกไปคุมขุดค้นกับนักศึกษาทุกปี ตอนนั้นยังไม่มีภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ สอนไปสักพัก ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ท่านเคยเป็นคณบดีคณะโบราณคดีก็ถามผมว่าไม่อยากเรียนต่อโทโบราณคดีเหรอ ผมก็ทูลท่านตรงๆ ว่า ผมรอจะไปเรียนโทที่คณะจิตรกรรม แต่ตอนนั้นมันเปิดบ้างไม่เปิดบ้าง ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ คณะโบราณคดีนิ่งกว่า เปิดได้ทุกปี ผมเลยเรียนโทที่คณะโบราณคดี

ตอนที่เข้าไปเรียน ผมก็ลังเลใจนะว่าจะไม่ได้เขียนรูป แต่ก่อนทำงานโบราณคดีผมก็ยังปลีกเวลามาเขียนรูปได้ แต่เรียนปริญญาโทเกือบไม่ได้เขียนรูป เพราะต้องทำวิจัยและเตรียมตัวสอนนักศึกษาพร้อมกันไปด้วย

ตอนนั้นเลือกเส้นทางการเป็นอาจารย์มากกว่าการเป็นศิลปินแล้ว?

ตอนนั้นยังหวังเป็นศิลปินอยู่ ก็ยังพอเขียนรูปได้นะ จนกระทั่งจบ ป.โท กลับมาสอนสักพัก ก็มีทุนรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ อาจารย์ใหญ่ (โปรเฟสเซอร์ฌอง บวสเซอลีเย่ร์) ที่ดูแลที่นั่นเขาเป็นเพื่อนกับหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ก็ฝากฝังกัน

ตอนนั้นผมก็ยังลังเลว่าถึงจบปริญญาโทมาแล้วทำงาน อย่างน้อยว่างๆ เสาร์อาทิตย์ผมยังได้เขียนรูปบ้าง แต่ถ้ารับทุนไปฝรั่งเศสคงเขียนรูปไม่ได้อีกแน่นอน เพราะถ้าไปเรียนระดับปริญญาเอกมาก็ต้องทำงานให้เต็มที่ เพราะอาชีพเรามาทางกินเงินเดือนเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว แล้วตอนนั้นเป็นตอนที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเปิดใหม่ๆ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศก็ให้ผมย้ายมาที่ภาคประวัติศาสตร์ศิลปะ

แต่สุดท้ายก็ไปเรียนที่ปารีส?

ใช่ สุดท้ายก็ไป

จริงๆ ก่อนจะรู้ว่ามีทุนมา คุณหญิงไขศรีให้ผมไปเรียนภาษาที่ Alliance Française Bangkok (สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ) แล้ว เผื่อว่าจะมีทุนมา พอมีทุนมาจริงๆ ผมก็เรียนภาษาต่ออีกปี ก็ขึ้นชั้นมาเรื่อยๆ และยังได้ไปนั่งเรียนกับคุณหญิงไขศรีในคลาสเรียนด้วย

ก่อนจะไปสัก 3-4 เดือน หม่อมเจ้าสุภัทรดิศให้หนังสือผมเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือของโปรเฟสเซอร์มาดแลน จิโต อีกท่านหนึ่งที่จะดูแลผมที่ปารีส ท่านอาจารย์ก็ให้ผมแปลเป็นภาษาไทย แล้วท่านก็ตรวจแก้ ตอนนั้นผมพอรู้เรื่องบ้างแต่ไม่มาก แต่ทำได้เพราะแปลจากฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยง่ายกว่าภาษาไทยแปลเป็นฝรั่งเศส ทำอย่างนี้สักระยะหนึ่งประมาณ 3-4 ครั้ง ผมก็บินไปปารีส

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศเคยบอกผมว่า คุณน่ะได้เปรียบคนอื่นตรงที่ตาคุณเห็นได้มากกว่าคนอื่น เห็นความผิดปกติ ความมากความน้อยของงานศิลปะ ในใจผมก็นึกว่า ใช่ แต่ผมเสียเปรียบตรงที่ผมเขียนหนังสือไม่ได้เรื่อง เพราะเรียนศิลปะมา ไม่ได้เขียนหนังสือ การไปเรียนที่ปารีสต้องเรียนวิธีคิดในการเขียนและการวิจัย ซึ่งผมได้ความละเอียดอ่อนจากการใช้ภาษาฝรั่งเศสมากจากโปรเฟสเซอร์ที่ฝรั่งเศส

ก่อนจะเรียนปริญญาเอกต้องเรียนปริญญาโทก่อนหนึ่งปี ช่วงนั้นผมได้ฝึกภาษาฝรั่งเศสจากการทำงานกับนักศึกษา ป.เอกชาวฝรั่งเศส เขาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับทางไทย เพราะฉะนั้นจึงต้องเรียนภาษาไทยจากผม ผมก็เรียนภาษาฝรั่งเศสจากเขา ตอนเขียนงานวิจัยประกาศนียบัตรชั้นสูงเพื่อจะส่งให้ผ่านไปเรียนปริญญาเอกได้ ผมก็เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสแล้วให้เขาแก้ แล้วผมก็ช่วยแปล text ภาษาไทยให้เขา นั่งทำงานด้วยกัน จนสุดท้ายก็ขึ้นปริญญาเอก ได้เรียนกับโปรเฟสเซอร์ฌอง บวสเซอลีเย่ร์

ตอนเรียนเอก ผมไปมหาวิทยาลัยเฉพาะเมื่อโปรเฟสเซอร์มีคลาสบรรยายและตอนลงทะเบียนแรกเข้าเป็นนักศึกษา จากนั้นก็ตอนสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และสุดท้ายตอนไปลงทะเบียนจบการศึกษา คลาสเรียนของผมคือบ้านโปรเฟสเซอร์ฌอง บวสเซอลีเย่ร์ นั่งเรียนที่โซฟาบ้านท่าน วิธีเรียนคือผมต้องเขียนงานส่ง ช่วงแรกผมเขียนเป็นภาษาไทยก่อนแล้วก็แปล แล้วก็ส่งให้โปรเฟสเซอร์อ่าน อีก 15 วันผมไปรับงานคืน ท่านอ่านทุกคำ ทุกบรรทัด ทุกหน้า ส่งงานครั้งแรก ท่านแก้ทุกประโยคที่ผมเขียนเลย แต่แก้แล้วอธิบายด้วย อธิบายในเชิงภาษา ถ้าเปรียบเทียบศิลปะต้องใช้คำแบบนี้ๆ ในภาษาประวัติศาสตร์ศิลปะมีน้ำหนักของคำ เช่น น่าจะเป็นอย่างนี้ เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ เป็นไปได้ว่าเป็นอย่างนี้ ฯลฯ ภาษาพวกนี้เยอะมาก ซับซ้อนมาก โปรเฟสเซอร์สอนหมด

ท่านแก้เรียบร้อย ผมก็เอางานกลับบ้าน ตอนนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ผมก็นั่งคัดที่ท่านให้แก้ เสร็จแล้วก็ไปหาโปรเฟสเซอร์จิโต ให้ท่านตรวจอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็แก้คำเล็กๆ น้อยๆ ประมาณว่า ไหนเป็นใน ที่โน่นเป็นที่นี่ ฯลฯ พอเสร็จแล้ว ถึงเที่ยงท่านก็ทำกับข้าวให้กิน ผมโชคดีมากเลยเรื่องนี้

ผมทำแบบนี้ไปสักพัก ผมก็ไม่ต้องเขียนภาษาไทยก่อนแล้วค่อยแปลแล้ว แต่ผมคิดเป็นภาษาฝรั่งเศสแล้วเขียนเลย ง่ายกว่าเยอะ เขียนเป็นภาษาไทยแล้วแปล ยากมาก อึดอัดมาก แต่ถึงจะเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสแล้วก็ไม่ใช่ไม่มีผิดนะ มี แต่ค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากครั้งแรก ผิดทุกคำหรือทุกประโยค ก็ค่อยๆ ดีขึ้นมาเป็นผิดทุกบรรทัด แล้วก็ค่อยๆ ดีขึ้นมา ย่อหน้าหนึ่งผิดสัก 2-3 ที่ แล้วก็มาเป็นหน้าหนึ่งผิด 2-3 ที่ ดีขึ้นเป็นลำดับ

มีคนไทยที่เรียนด้วยกันไหม

ไม่มี มีผมคนเดียว ผมอยู่หอพัก มีคนไทยอยู่ 3-4 คน แต่อยู่คนละชั้น เจอกันทีก็ตอนกินข้าวในโรงอาหาร หรือบางทีก็ไม่เจอกัน เพราะบางทีผมนั่งทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์-อาทิตย์ผมถึงไปเดินเล่นในปารีส ไปดูพิพิธภัณฑ์ ทุกเสาร์-อาทิตย์ผมต้องไปดูพิพิธภัณฑ์

การเรียนที่ฝรั่งเศสเปลี่ยนความคิดอาจารย์บ้างไหม วิธีการเรียนการสอนแบบนี้ทำให้มองศิลปะเปลี่ยนไปไหม

เปลี่ยนไปเลย จนกระทั่งวิธีที่ทำงานกับนักศึกษาเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยน แล้วไม่ได้เปลี่ยนแบบเอาตัวอย่างจากที่นั่นมาอย่างเดียว เราพัฒนาวิธีคิดขึ้นมาอีกระดับหนึ่งด้วย แต่บางทีก็ใช้ไม่ได้กับนักศึกษาไทย เพราะนักศึกษาไทยฟังแล้วจะจดอย่างเดียว ไม่ซัก ไม่ถาม แต่เวลาผมทำงานกับครู ตรงไหนผมสงสัย ผมก็ถาม 

จากสิ่งที่เรียนรู้มาจากฝรั่งเศส แก่นของการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะคืออะไร

คือการดูว่าคนในอดีตเป็นอย่างไรนั่นแหละ ครูไม่ได้บอกผมตรงๆ นะ แต่ผมได้จากวิธีที่เราเสวนากัน มันบอกเลยว่าประวัติศาสตร์ศิลปะคือการพยายามทำความเข้าใจคนโบราณผ่านศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ใช่เรื่องการกำหนดอายุ ไม่ใช่เรื่องความสวยงามอย่างเดียว เราศึกษาอดีต แต่คนในอดีตตายไปหมดแล้ว ตัวแทนของเขาก็คือศิลปะ เราก็ดูศิลปะว่าเขาคิดอย่างไร แน่นอนที่สุดว่าเราต้องคุ้นเคยกับการวิเคราะห์ว่าจะทำในแนวทางไหน อย่างไร

คำถามนี้ทำให้ผมนึกได้อีกเรื่องหนึ่งว่าเวลานักประวัติศาสตร์ศิลปะดูศิลปะ เขาไม่ได้ดูว่าเพราะมันงาม มันจึงเก่า หรือเพราะมันไม่งาม มันจึงใหม่ แต่จะต้องพิจารณาข้อมูลทั้งหมดรวมทั้งตัวศิลปะด้วยว่าหลักการคืออะไร มีที่มาอย่างไร แล้วค่อยกำหนดอายุ คุณจะกำหนดอายุจากตัวศิลปะโดยมองว่างามหรือไม่งามไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่บอกว่างามหรือไม่งามนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่สูตรตายตัว โดยพื้นฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกันก็ชอบไม่เหมือนกันแล้ว ผมถึงพูดตลอดเวลาว่าผมต่อต้านนะถ้าใครจะมาบอกให้ผมเชื่อว่าสุนทรียภาพคือกฎเกณฑ์

โปรเฟสเซอร์ของผมเคยบอกว่า คุณต้องกำหนดอายุจบไปแล้ว คุณถึงค่อยมาบอกว่าโดยความรู้สึกส่วนตัวมองว่าสวยหรือไม่สวย แต่อย่าไปพูดตั้งแต่แรกว่าเห็นว่าสวยจึงมากำหนดอายุ แบบนั้นใครจะไปเชื่อ ต้องมีหลักการ

เวลานักประวัติศาสตร์ศิลปะดูศิลปะ เขาไม่ได้ดูว่าเพราะมันงาม มันจึงเก่า หรือเพราะมันไม่งาม มันจึงใหม่ แต่จะต้องพิจารณาข้อมูลทั้งหมดรวมทั้งตัวศิลปะด้วยว่าหลักการคืออะไร มีที่มาอย่างไร แล้วค่อยกำหนดอายุ

งานหนึ่งที่อาจารย์ทำและคนสนใจกันมาก คือการสร้างรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถาน อยากชวนคุยเรื่องการสร้างรูปแบบสันนิษฐานว่าเริ่มต้นอย่างไร

ผมอยากตอบเรื่องนี้มาก เพราะมีคนอยากรู้เยอะ แต่พอผมพูดสักสองสามประโยคเขาก็ขี้เกียจฟังแล้ว

ผมจะเล่าให้ฟังอย่างนี้ว่าทั้งหมดเริ่มต้นในชั้นเรียนที่ผมสอน ทีแรกผมเขียนบนกระดาน ต่อมาผมก็เขียนบนคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นยังไม่มีโปรแกรม SketchUp ต้องใช้โปรแกรมอื่น เขียนยากลำบากมากกว่าจะได้เจดีย์สักองค์หนึ่ง พอเขียนเสร็จแล้วผมก็เอาไปฉายให้นักศึกษาดู เขาก็ชอบ บอกว่าเข้าใจง่าย ก็ทำอย่างนั้นเรื่อยมา ทำเจดีย์หลายองค์ที่พอจะทำได้ แต่ตอนนั้นข้อจำกัดเยอะมาก

แล้วช่วงนั้นประจวบเหมาะกับที่เขาจะสร้างศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ญี่ปุ่นให้งบสนับสนุน ช่วยออกแบบตึก แล้วเขาอยากได้รูปแบบสันนิษฐานพระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เพนียดคล้องช้าง และวัดไชยวัฒนาราม

ทีแรกผมก็บอกว่าไม่ทำหรอก เยอะ ไม่อยากทำ ตอนนั้นผมไม่มีลูกมือด้วย เพราะส่วนใหญ่นักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะก็เรียนแค่หนังสือ ไม่มีพวกที่จบทางช่างมาเลย เขาบอกว่า ช่วยหน่อยนะ อาจารย์ศรีศักร (วัลลิโภดม) ก็คะยั้นคะยอ ผมก็ไม่นึกไม่ฝันว่าจะช่วยเขาหรอก แต่ท้ายที่สุดก็คิดว่าลองดู

ช่วงแรกผมออกเดินสำรวจคนเดียวเลยนะ สักพักมีลูกศิษย์เป็นนักโบราณคดีอยู่ที่อยุธยามา ก็เลยชวนเดินสำรวจด้วย เขาทำแผนผังมา เลยเบาแรง และได้แผนผังมาจากกรมศิลปากรด้วย เราก็เดินเช็กว่าใช่หรือไม่ใช่ จดมาหมด แล้วก็มานั่งเขียนแบบด้วยดินสอบนโต๊ะเขียนแบบ ไม่มีคอมพิวเตอร์มาเกี่ยวเลย

อาจารย์สร้างรูปแบบสันนิษฐานขึ้นมาอย่างไร

ยกตัวอย่างวัดไชยวัฒนาราม เหลือฐานให้เห็นประมาณ 70-80% แต่วิหารข้างบนพังหมดแล้ว เราก็ไปดูของที่มีอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเราก็รู้ว่าหลังคาที่ทลายแล้ว อย่างไรก็ต้องเป็นหลังคาทรงจั่ว เพราะเราเห็นในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เราก็เอาข้อมูลมาปะติดปะต่อกัน ซึ่งสถานที่สำคัญไม่ใช่หลังคาคลุมอุโบสถวิหารหรอก แต่ที่สำคัญและเป็นน้ำเป็นเนื้อจริงๆ คือพวกปราสาทราชวัง เพราะมันไม่มีที่ไหนให้ดูเทียบ เราก็ต้องไปดูที่วังหลวงของรัตนโกสินทร์ ซึ่งแผนผังก็ไม่เหมือนกันอีก พอแผนผังไม่เหมือนกัน รูปทรงเค้าโครงก็ไม่เหมือนกัน วิธีการคือเอาไอเดียจากวังหลวงรัตนโกสินทร์มาปรับใช้ อย่างที่หนึ่งตรงกลางเป็นกะเปาะออกไป แต่ที่หนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เราก็ต้องปรับไปเรื่อยๆ

ส่วนเรื่องเจดีย์ผมศึกษามาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ผมเก็บข้อมูลเรื่องของเจดีย์มามาก พอเห็นก็เดาได้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วไม่ใช่รู้เฉพาะสมัยอยุธยานะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่มีเจดีย์สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะยอดหักหายบ้าง ส่วนกลางหักหายบ้าง แต่ส่วนอื่นที่เหลืออยู่ เราก็เอามาเป็นเค้าแล้วปรับใช้ แต่เอามาใช้ใส่โดยตรงไม่ได้ เพราะสูง กว้าง ใหญ่ ยาว ไม่เหมือนกัน แล้วบางทีอยู่คนละยุคสมัย ต้องปรับหมด พวกนี้ต้องใช้ความรู้สะสม

แล้วไม่ใช่รู้เฉพาะที่อยุธยานะ ที่ราชบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ก็มีต่างออกไปอีก แต่ถ้าเรารู้ตรงกลางแล้ว ตรงข้างๆ ก็พอจะเข้าใจได้ เลยไปถึงที่ล้านนา เชียงใหม่ อันนั้นง่าย เพราะคนเชียงใหม่เขาบูรณะเจดีย์ตลอด ไม่ปล่อยให้เป็นซาก มีซากเจดีย์น้อยมาก

ถ้าเป็นล้านนาคือไม่ค่อยต้องสันนิษฐาน

ใช่ แต่ในสุโขทัย พอราชธานีร้างแล้วก็ร้างเลย ไม่มีใครไปตอแยอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ศรีสัชนาลัย ซึ่งค่อนข้างจะไกลปืนเที่ยง เราก็ศึกษาเทียบส่วนที่เหลือมากกับส่วนที่เหลือน้อยว่าควรจะเป็นอย่างไร

มีอยู่คราวหนึ่ง ผมไปศึกษาที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวศรีสัชนาลัย ซึ่งมีเจดีย์อยู่มากเลย ส่วนใหญ่แล้วตรงส่วนบนเจดีย์หายหมด เหลือแต่ส่วนกลางและส่วนล่าง แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม มองแล้วก็พอจะเข้าใจได้ แต่ที่ยุ่งยากและเป็นไม้เด็ดเลยก็คือ เมื่อสันนิษฐานได้ว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร ก็ต้องวิเคราะห์แล้วอธิบายให้ได้เลยว่ามีที่มาอย่างไร ซึ่งเราจะรู้แค่เรื่องอยุธยา สุโขทัย ล้านนาไม่ได้ แต่ต้องรู้เรื่องเขมรด้วย พุกามด้วย เพราะเจดีย์ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีอยู่ 28 องค์ บางองค์มีลักษณะที่เอาเจดีย์แบบพุกามมาผสม บางทีเอาปราสาทแบบเขมรมาผสม แต่ถ้าคนไม่คุ้นเคยจะดูไม่ออก แต่เราดูออก มันมีประเด็นให้เราดู

ตอนหลังผมเลยเกิดความคิดเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ลำพังความเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างเดียวไม่พอ ฉะนั้นผมคิดแผลงออกไป เพราะชอบและทำงานศิลปะด้วย ผมเลยทำรูปแบบสันนิษฐานขึ้นมา ซึ่งผมบอกแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าคุณอย่าเชื่อรูปแบบสันนิษฐานนี้นะ เพราะผมก็เกิดไม่ทัน คุณก็เกิดไม่ทัน ให้ดูรูปแบบสันนิษฐานเพื่อให้เกิดจินตนาการ ไม่ให้ดูเพื่อเกิดความเชื่อ เพราะเมื่อไหร่ที่ดูแล้วเกิดจินตนาการ ก็จะเกิดการคัดค้าน และจะยิ่งทำให้ความรู้งอกเงย เรื่องของจินตนาการเป็นเรื่องวิเศษมาก แต่ถ้าดูแล้วเชื่อก็จบเลย เพราะบางทีมันดิ่งนรกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผิดหรือเปล่าก็ไม่รู้

ทีนี้พอเป็นเรื่องจินตนาการ ผมก็เติมสีเข้าไปกลายเป็นรูปแบบศิลปะ ผมอยากได้ตรงนั้น อยากเติมตรงนี้ ซึ่งการทำแบบนี้คือหลังจากทำงานวิชาการที่เป็นเรื่องจริงจังและตรงไปตรงมาแล้วนะ งานวิชาการก็เรื่องหนึ่ง นำเสนอให้คนคิดต่อ ดูว่าน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อตรงไหน แต่พอเป็นงานศิลปะที่ผมเติมนู่นนี่เข้าไป นี่คือจินตนาการล้วนๆ เป็นสุนทรียภาพเฉพาะตัว

มีเรื่องเล่าอีกเรื่อง ตอนที่ผมทำรูปแบบสันนิษฐานที่พระราชวังจันทน์ ที่พิษณุโลก อันนั้นยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะหลักฐานไม่มีเลย กรมศิลปากรขุดมาก็มีเฉพาะฐานรากของอาคารเท่านั้น อย่างอื่นไม่มีพ้นดินขึ้นมาเลย เพราะก่อนที่กรมศิลปากรจะไปขุดนั้น พระราชวังจันทน์เคยเป็นสนามฟุตบอลของโรงเรียน แล้วเขาเกลี่ยที่หมดเลย พอกรมศิลปากรเข้าไปก็คุยกับจังหวัดขอให้ย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่อื่น แล้วทำอันนี้ขึ้นมา เขาก็ขอให้ผมทำรูปแบบสันนิษฐาน ผมเลยบอกว่าผมเดาร้อยเปอร์เซ็นต์เลยนะ เขาบอกเอาเถอะ ทำมาอย่างน้อยก็เป็นจินตนาการ ผมก็ทำมา

แล้วดีใจที่กรมศิลปากรกับ ม.นเรศวร เขาจัดสัมมนา ผมก็มีโอกาสพูดให้เขาฟัง ผมบอกว่าอันนี้เป็นรูปแบบสันนิษฐานจากแค่ซากฐานเลยนะครับ ผมเองเป็นคนทำ ผมก็ไม่เชื่อทั้งหมด เพียงแต่ดูว่าน่าจะมีเค้ามาจากที่ไหน แล้วก็มาใช้กับที่นี่เท่านั้นเอง แต่ปรากฏว่าบนเวทีเสวนาผมพูดว่า ‘รูปแบบสันนิษฐาน’ แต่พิธีกรก็พูด ‘รูปแบบสัณฐาน’ ทุกที จนผมบอกเขาว่า “ผมพูดว่าสันนิษฐานนะครับ ไม่ใช่สัณฐาน” เพราะผมจริงจังมาก พูดแบบนี้ความหมายผิดไปเลยนะ ดีที่ไม่ทะเลาะกันบนเวที

การสร้างรูปแบบสันนิษฐานขึ้นมา นอกจากให้คนจินตนาการ ถกเถียงกันแล้ว มีประโยชน์อะไรเป็นรูปธรรมอีกไหม

ถามว่ามันเป็นประโยชน์อะไรหรือเปล่า ผมก็ไม่เห็นเป็นประโยชน์อะไรที่เป็นน้ำเป็นเนื้อนะ นอกจากได้ประเด็นคิดใหม่ๆ ไม่ย่ำซ้ำอยู่กับที่

แล้วช่วยในการบูรณะได้ไหม

ห้ามเลย ผมบอกกรมศิลปากรซึ่งเขารู้ดีว่าผมทำอันนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อบูรณะ ไม่เอาไปบูรณะ เพราะผมทำเป็นรูปร่างขึ้นมา เพื่อให้เราดูแล้วจินตนาการไป อย่างน้อยถ้าจะเป็นประโยชน์บ้างก็เป็นประโยชน์ตรงที่ว่ารูปแบบสันนิษฐานเป็นส่วนช่วยให้โบราณสถานมีตัวตน ให้คนรับรู้ว่าแต่ก่อนเคยสมบูรณ์นะ แต่สมบูรณ์แบบนี้เป็นแบบหนึ่งในการสันนิษฐาน ทำให้การไปเที่ยวโบราณสถานสนุกขึ้น หรือถ้าหากจะพิมพ์เป็นหนังสือก็ดูเพลินๆ เหมือนเป็นรูปเขียน ก็เท่านั้น อย่างอื่นผมไม่เห็นว่าจะมีคุณค่ามหาศาลอะไรเลย เป็นแค่คุณค่าเล็กๆ น้อยๆ กระมัง

ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่ผมดีใจที่ได้ทำ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้คนรับรู้ว่าเรามีศิลปะโบราณนะ ทำให้คนมีมุมมองที่แตกต่างจากมุมมองที่สังคมไทยคุ้นเคยว่ามันมีราคา เก่า แล้วถึงจะสวย อันนี้คือประโยชน์ที่หากว่ามันจะได้ ก็เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ประโยชน์อีกอย่างก็คือทำให้ผมหายเหงา (หัวเราะ) แล้วบางทีก็ได้คุยกับคน นานๆ มีเพื่อนมีลูกศิษย์โผล่มาคุยในเฟซบุ๊ก

มาถกเถียงกัน

ส่วนใหญ่ไม่ถกเถียงหรอก มาอวย (หัวเราะ) ก็ดีใจที่ได้ทักทาย ได้รู้จักกัน

เวลาพูดว่าเราจะอนุรักษ์โบราณสถาน อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ อนุรักษ์ความเป็นมาของชาติไทย อาจารย์มองคำว่าอนุรักษ์อย่างไร คำว่าอนุรักษ์คืออะไร

เรื่องการอนุรักษ์มีหลายแง่มุมที่จะพูด ผมเอาใจใส่และสอนนักศึกษามาตลอด และผมก็เคยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากรมาหลายปี แล้วก็ลาออกเพราะเห็นว่าทำประโยชน์ให้เขาไม่ได้

งานอนุรักษ์มีหลักการที่ทางตะวันตกเขาศึกษากันแล้ว ซึ่งสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็เคยมีลายพระหัตถ์ไว้ในทำนองเดียวกันว่า งานบูรณะของคุณต้องหยุดทันทีเมื่อคุณสงสัย พูดง่ายๆ คือไม่ใช่เดาสุ่มบูรณะไป มันจึงมีคำว่าบูรณะแบบเสริมความแข็งแรง คือเสริมความแข็งแรงที่โครงสร้างที่จำเป็น การเสริมความแข็งแรงเป็นศิลปะชั้นสูง ต้องใช้ความชำนาญ ต้องรู้ว่าจะใช้อะไรเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้าง โดยต้องซ่อนไม่ให้เห็นแข่งกับโบราณสถาน ต่อจากนั้นยังมีเงื่อนไขกติกาอีกว่า เมื่อภายหลังรู้ว่าซ่อมผิดจะต้องรื้อออกมาได้ ไม่ใช่ซ่อมแบบเอาปูนซีเมนต์ไปโบกทับ แบบนั้นไม่ได้

อย่างเรื่องที่พูดถึงกันเยอะเรื่องการบูรณะบุโรพุทโธที่อินโดนีเซีย ที่มีการใช้กาวอีพ็อกซี่เพื่อจะทำให้ศิลาแลงติดกันแข็งแรง ปรากฏว่าตอนหลังจะรื้อออกมา หน้าหินก็หลุดออกมาด้วย เพราะกาวอีพ็อกซี่เหนียวมาก เสียหายสิทีนี้ ข้อบกพร่องผิดพลาดนี้ก็เป็นครูสอนด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังให้มาก เพราะโบราณสถานนั้นสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้

มีอีกคำหนึ่งคือคำว่า ‘สงวนรักษา’ หมายความว่าคุณอย่าไปแตะต้องเพิ่มเติมอะไรเลยนะ แต่ถ้าใช้คำว่าซ่อมแซม อันนี้เติมได้ ก็มีเกณฑ์ของการซ่อมแซม เช่น ถ้าเป็นวัดพระแก้วหรือวัดโพธิ์ที่สร้างมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ตั้งใหม่ๆ คุณต้องซ่อมตลอด ใช้คำว่าซ่อมเลย แต่ต้องซ่อมแบบเคารพของเก่านะ ถ้าจะต้องรื้ออะไรออกก็รื้อ แล้วเติมเข้าไปได้ เพราะเป็นโบราณสถานที่ยังใช้งานอยู่ มีคนอยู่ ถ้าคุณไม่ซ่อม ปล่อยให้ทรุดโทรม อย่างนี้ไม่ไหว แต่ถ้าเป็นซากโบราณสถานร้างเช่นที่อยุธยา คุณซ่อมไม่ได้เพราะจะต้องรักษาสภาพ แล้วเสริมความแข็งแรงให้อยู่ทนนานที่สุด แต่ถ้าตามวัดวาอารามต่างๆ ก็มีเกณฑ์อีก วัดทั่วๆ ไป ถ้าโบสถ์หลังคารั่ว คุณก็ต้องซ่อม ไม่ซ่อมได้ไง แต่ไม่ใช่ไปต่อเติมอะไรจนเกินจำเป็น

แม้ว่าโบราณสถานจะทรุดโทรมลงเรื่อยๆ เราเป็นมนุษย์ยุคปัจจุบันก็ห้ามไปบูรณะปรับปรุงให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตเลยหรือ

ทำไม่ได้ ก็หลักการเดียวกับรูปแบบสันนิษฐานของผม ผมถึงบอกว่านี่คือการสันนิษฐานนะ คุณอย่าไปเอาทำจริงนะ เพราะคุณเกิดไม่ทัน แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่ามันถูก เพราะถ้าคุณทำออกมาแล้วคนจะเข้าใจผิด แล้วจะเชื่อ

ประวัติศาสตร์ก็จะบิดเบี้ยว?

ถูกต้อง แล้วเอาเข้าจริง ตอนนี้ประวัติศาสตร์ในสังคมไทยบิดเบี้ยวเยอะแล้ว ความเข้าใจต่อเรื่องแบบนี้สำคัญมาก มีอยู่คำหนึ่งที่ผมพยายามพูดเพื่อฉุดความสนใจของคน ผมบอกว่า คุณต้องพัฒนาก่อนอนุรักษ์ คนก็งงสิ เพราะการอนุรักษ์ก็คือทำให้มันมีคุณค่าอย่างเดิมเหมือนตอนเป็นซากให้มากที่สุด แล้วจะไปพัฒนาก่อนได้อย่างไร ผมต้องขยายความว่าก่อนที่คุณจะอนุรักษ์อะไร คุณต้องพัฒนาความรู้ของคุณก่อน คุณถึงจะรู้ว่าคุณจะอนุรักษ์อย่างไร ใช้วิธีไหน ใช้วัสดุอะไร มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจู่ๆ ลุกขึ้นมาอนุรักษ์เลยโดยที่ไม่พัฒนาความรู้ คุณทำไปมันก็พังก็เสีย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก

ผมแกล้งพูดเพื่อปลุกความรู้สึกขึ้นมาว่าคุณต้องพัฒนาก่อนนะ คนมักไปคิดว่าพัฒนาคือการปรับปรุงบำรุงพื้นที่ต่อเติม ผมบอกว่าไม่ใช่ พัฒนาหมายถึงพัฒนาความรู้และความเข้าใจของคุณ เพราะก่อนที่คุณจะไปอนุรักษ์อะไร คุณต้องรู้จักมันดีก่อนว่าเป็นอย่างไร เสียหายจากสาเหตุอะไร เพราะพอคุณอนุรักษ์แล้ว คุณจะได้ป้องกันมันด้วย นอกจากตกแต่งภูมิทัศน์นะ อันนั้นพอทำได้ แต่ภูมิทัศน์ต้องไม่ไปรบกวนทัศนียภาพของโบราณสถาน

งานโบราณสถานเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ว่าวิศวกร สถาปนิก นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะล้วนสำคัญ ทุกคนต้องมานั่งคุยกันว่ามันเก่าแค่ไหน วิศวกรดูว่าจะเสริมโครงสร้างอย่างไร นักโบราณคดีก็มาตรวจสอบอายุอีกทีหนึ่ง ควบคู่กับนักประวัติศาสตร์ศิลปะ

มีคำถามว่านักโบราณคดีกับนักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างกันอย่างไร เพราะเราก็เรียกคู่ๆ กันไป ความจริงแล้ว ศาสตร์ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะก็รวมกับโบราณคดี ที่แปลว่าการศึกษาโบราณจากหลักฐานต่างๆ ทีนี้หน้าที่โดยตรงของนักโบราณคดีคือการศึกษาหลักฐานจากหลุมขุดค้น ขุดค้นลงไปใต้ดิน ดูเรื่องของดิน เรื่องของวัตถุ ซึ่งจะมีนักธรณีวิทยามาช่วยดูโปรไฟล์ดินด้วย นั่นคือนักโบราณคดี

ส่วนนักประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ได้ดูใต้ดิน แต่มองบนดิน มองดูรูปแบบศิลปะ มองดูโบราณวัตถุ ทีนี้ถ้าหากว่ามีข้อจำเป็นหรือข้อมูลจากใต้ดินที่ได้จากการขุดค้นฐานของซากโบราณสถานว่ามีหลักฐานอะไรบ้าง ก็เอามาตรวจสอบกัน แต่ทุกวันนี้ต่างคนต่างทำ เพราะบางทีนักโบราณคดีเขาก็คุ้นเคยกับเรื่องของเขา ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะ และนักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนก็ทิ้งเรื่องโบราณคดี ซึ่งทิ้งไม่ได้ แม้แต่เรื่องของประวัติศาสตร์ก็ทิ้งไม่ได้

เรื่องประวัติศาสตร์บ้านเราก็ไม่เหมือนกับหลายชาติ ตรงที่ว่าชาติอื่นเขามีบันทึกไว้หมดเรียบร้อย ของเราไม่มีบันทึก แม้ว่าเรามีจารึกสุโขทัยตั้งร้อยกว่าอัน แต่ส่วนใหญ่จะบันทึกว่าแม่นางคนโน้นหรือพระเจ้าอยู่หัวคนนี้ให้สร้างวัด แล้วจบ ไม่มีบรรยายว่าให้สร้างวัดตรงนี้ เอารูปแบบนี้ ข้อมูลของเราเป็นแบบนี้ คุณจะลำดับความทางประวัติศาสตร์ได้อย่างไร

หรืออย่างประวัติศาสตร์อยุธยา ส่วนใหญ่แล้วเราก็อาศัยบันทึกจากจดหมายเหตุชาวต่างชาติที่เข้ามา แต่ถ้าของไทยจริงๆ น้อยมาก อย่างพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนถึงสมัยอยุธยาตอนต้นก็เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย

คุณต้องพัฒนาก่อนอนุรักษ์… ก่อนที่คุณจะอนุรักษ์อะไร คุณต้องพัฒนาความรู้ของคุณก่อน คุณถึงจะรู้ว่าคุณจะอนุรักษ์อย่างไร ใช้วิธีไหน ใช้วัสดุอะไร มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจู่ๆ ลุกขึ้นมาอนุรักษ์เลยโดยที่ไม่พัฒนาความรู้ คุณทำไปมันก็พังก็เสีย

ซึ่งไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน?

ใช่ สมัยพระนารายณ์ซึ่งเป็นอยุธยาตอนปลาย เขียนเล่าเรื่องเมื่อสามร้อยปีก่อน ตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วบอกว่าเอามาจากจดหมายเหตุหอหลวง ปัญหาคือจดหมายเหตุจากหอหลวงที่เอามาเรียบเรียง รัชกาลหนึ่งก็ให้จดอย่างนี้ พอรัชกาลต่อมาไม่ชอบราชวงศ์นี้ ก็เขียนของตัวเองดี มันมีเรื่องอย่างนี้ด้วย แต่ผมเองก็พูดมากไม่ได้นะ เพราะผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เวลาผมจะใช้ประวัติศาสตร์ ผมใช้อย่างระมัดระวังมาก เพราะผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันผมก็ไม่มั่นใจว่าผมจะเข้าใจหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นส่วนใหญ่ผมจะไปมุ่งเน้นที่เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วอาศัยข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์มาตรวจสอบเท่าที่จะตรวจสอบได้ ไม่ได้หมายความว่าตรวจสอบได้ทุกครั้ง

ผมระมัดระวังมากที่จะเล่าเรื่องอดีตอย่างเป็นคุ้งเป็นแคว ก็อย่างเดียวกันกับที่ผมทำรูปแบบสันนิษฐาน ผมระมัดระวังมากที่จะบอกว่าอันนี้เป็นของจริง ผมมักจะบอกด้วยซ้ำว่าอย่าเชื่อ เพราะอันนี้สำคัญมาก เมื่อไหร่ที่ผมบอกให้เชื่อ ผมก็ลงนรกเมื่อนั้น

การศึกษาประวัติศาสตร์ทางศิลปะ ส่วนมากก็ศึกษาวัดวัง แต่ถ้าเราอยากจะเข้าใจประวัติศาสตร์ของสามัญชน เราสามารถเข้าใจผ่านประวัติศาสตร์ศิลปะได้ไหม

ศิลปะที่หลงเหลือให้เราศึกษาอยู่ทุกวันนี้มีอายุยาวนานเพราะเป็นถาวรวัตถุ ซึ่งของพวกนี้ส่วนใหญ่ก็คือคนระดับชั้นนำทำ ต้องมีอำนาจ มีเงินถึงจะทำได้ ทีนี้คนบอกว่า โอ๊ย ศึกษาแต่เรื่องของราชวงศ์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราฝักใฝ่ที่จะศึกษาอย่างนั้น ก็ข้อมูลมีอย่างนั้นอยู่

ถามว่าสามัญชนมีให้ศึกษาไหม มี แล้วก็น่าสนใจด้วย ศิลปะของสามัญชนส่วนใหญ่มักจะอยู่ตามนอกเมือง ซึ่งเป็นของที่น่าศึกษามาก คุณก็จะได้รับรู้ว่าชาวบ้านคิดอย่างไร เพราะอะไร เพราะศิลปะคือคน ผมศึกษาศิลปะที่เป็นของหลวง ก็หมายความว่าผมศึกษาคนในระดับที่สร้างมัน เป็นรสนิยม ความชอบ และความเชื่อของเขา แต่ถ้าศึกษาชาวบ้าน คุณก็ไปดูรูปแบบที่เขาทำ ก็จะบอกเลยว่าชาวบ้านเขาคิดอย่างไร เพราะศิลปะคือตัวแทนของคนที่สร้างศิลปะ ศิลปะคือคนนั่นแหละ

ต้องบอกอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อไหร่ที่มีศิลปะพื้นบ้านหรือศิลปะพื้นถิ่นเหลือมาให้คุณศึกษาได้ ส่วนใหญ่อายุประมาณร้อยกว่าปีเท่านั้นเอง เช่น ฮูปแต้มในสิมทางอีสาน ก็อายุประมาณร้อยกว่าปี หรือไม่ถึงร้อยปี ฉะนั้นเมื่อไหร่ถ้าคุณศึกษาอันนี้ คุณสามารถใช้ประวัติศาสตร์ได้มากกว่า ข้อมูลเหลืออยู่เยอะกว่า แต่ถ้าเป็นสองสามร้อยปีขึ้นไป แม้แต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ศิลปะของสมัยรัชกาลที่ 1 ยังหาดูยากเลย จะดูได้จริงๆ ต้องทำไว้มาก สร้างไว้เยอะ และซ่อมเยอะๆ ก็คือสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา

พอมาถึงปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว ปัจจุบันนี้ใครๆ ก็สร้างได้ วัดสร้างแบบราษฎร์แบบหลวงได้ทั้งนั้น วัดไหนมีเงินก็สร้างได้แล้ว ใหญ่โตมโหฬาร อันนี้ต้องศึกษาอีกแนวทางหนึ่ง

อาจารย์มีความฝันหรือสิ่งที่อยากทำที่ยังค้างคาอยู่ไหม งานที่คาใจ อยากทำให้สำเร็จ

มี ผมอยากเขียนรูป ผมอยากทำศิลปะอย่างที่เขาไม่ทำกัน โดยเอาประสบการณ์จากโบราณมาทำในคอนเซ็ปต์ใหม่ เป็นงานศิลปะอย่างที่ผมจัดนิทรรศการมา 2-3 ครั้ง นั่นอันที่หนึ่งที่อยากทำ แต่คงไม่ได้ทำ

อันที่สอง ผมอยากเขียนหนังสือลวดลายศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง คือผมเคยทำมาแล้วสองยุค คือลวดลายศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท พอจบจากเมืองนอกผมก็มาเขียนอีกเล่มหนึ่งคือลวดลายศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ตอนนี้ลวดลายสมัยอยุธยาตอนกลางยังไม่มี

ถามว่าทำไมผมถึงอยากทำลวดลายอยุธยาตอนกลาง เพราะไม่ว่าจะเป็นลวดลายตอนต้นหรือตอนปลายที่ผมทำ มันเป็นการทำแบบใช้วิธีการที่ประณีต ไม่ว่าจะในการศึกษาหรือนำเสนอ ต้องดรอว์อิ้งทุกลาย แล้วเปรียบเทียบกันจากวัดนั้นวัดนี้เพื่อให้เห็นว่าคืออะไรกันแน่ ให้เห็นตำแหน่งชัด เมื่อไหร่ที่รู้ตำแหน่งชัดๆ เราก็ต้องเห็นตำแหน่งอื่น เพื่อจะไปบล็อกกัน นี่เป็นวิธีการของประวัติศาสตร์ศิลปะเลยนะ ผมเลยอยากทำอยุธยาตอนกลางที่เป็นรูโหว่อยู่ ทีนี้มานึกดู ผมจะต้องออกไปสำรวจเพิ่มเติม ข้อมูลน่ะมีอยู่แล้ว แต่ไม่พอ ต้องไปดูอีก เห็นอีก แล้วก็ต้องไปดรอว์อิ้งอีกตั้งร้อยสองร้อยรูป สมัยหนุ่มๆ มันก็ทำได้ แต่ตอนนี้ผมหมดแรงแล้ว แต่ยังอยากทำ

อาจารย์คิดว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะจะทำให้เรามองเห็นอนาคตได้อย่างไรบ้าง

ในส่วนตัวผมนะ ผมมองไม่เห็น เพราะมันเป็นส่วนปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ที่จะเสริมความเข้าใจของคนได้เท่านั้นเอง แล้วความเข้าใจอันนี้ก็จะเลยไปถึงศาสตร์อื่นทางสังคม เช่น ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ผมเชื่อว่าโดยหลักการแล้ว อะไรต่ออะไรในโลกนี้เกี่ยวโยงกันหมด แต่จะเกี่ยวโยงกันแค่ไหน อย่างไร ประสบการณ์ของผมยังไม่ชัดเจน แต่ผมเชื่อว่ามีแน่ อย่างน้อยที่สุด ถ้าคุณเข้าใจดีถึงเรื่องของศิลปะหรือประวัติศาสตร์ศิลปะที่มันเป็นจริงอย่างตัวมันเอง ไม่ใช่เป็นจริงอย่างจินตนาการผิดๆ ถูกๆ ก็น่าจะทำให้คนคนนั้นคิดอย่างเป็นเหตุผลแล้ว เพราะประวัติศาสตร์สอนให้คิดอย่างเป็นเหตุผล ไม่ใช่คิดแบบเชื่อ

ฉะนั้นในเมื่อคนคนนั้นคิดอย่างเป็นเหตุผลแล้ว ถ้าเขาเป็นรัฐบาลหรือผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เขาก็คงจะกำหนดนโยบายที่เป็นที่เป็นทางมากขึ้น เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น อันนี้พูดกว้างๆ นะ รีบตอบว่าไม่เห็นเป็นประโยชน์อะไรกับสังคมไทย แต่ถ้าจะพูดกันแบบยกตัว ยกวิชาที่เรารู้ ก็คงมีประโยชน์เหมือนกัน แต่เป็นประโยชน์อ้อมๆ อย่างที่บอกไป

ผมยังมองไม่เห็นว่ามันเป็นประโยชน์อย่างไร ทั้งที่มีมันมีประโยชน์ เอาอย่างนี้ดีกว่า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save