fbpx

เมื่องานวิจัยบอกว่าคู่รักชายหญิงมีปัญหาในชีวิตมากกว่าคู่รักเพศเดียวกัน: ถึงเวลาเปิดใจรับความหลากหลายแล้วหรือยัง

“น้องชายของผมแต่งงานกับผู้หญิง โดยที่เขาไม่ต้องมานั่งอธิบายว่าทำไมเขาต้องแต่งงานกับผู้หญิง แต่ในขณะที่ผมต้องอธิบายทุกอย่าง ตั้งแต่ความเป็นมนุษย์”

โคลตัน อันเดอร์วู้ด

นักกีฬา NFL ที่ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์

1

ปีหน้าจะเป็นปีที่ 10 สำหรับชีวิตคู่ของผม เราเป็นคู่รักเพศเดียวกันที่มีชีวิตไม่แตกต่างจากคู่แต่งงานอื่นๆ ครอบครัวของเราทั้งสองก็เข้าใจเรื่องนี้ดี ในช่วงเวลาที่ต้องต้องบอกกับทุกๆ คนถึงสถานภาพของเราทั้งคู่ อาจมีความรู้สึกต้องลุ้นอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างคือการเรียนรู้ไปด้วยกัน และเวลาที่ผ่านมา ก็พอจะยืนยันได้ว่าความมั่นคงของสถาบันครอบครัวไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเพศภาพ ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าเป็นชายหรือหญิง แต่อยู่ที่การให้เกียรติกันและกันในฐานะคนๆ หนึ่งมากกว่า

ชีวิตคู่ของผม เมื่อเทียบกับอีกหลายคน เราอาจเรียกว่าโชคดีก็เป็นได้ แต่ผมไม่อยากให้ชีวิตของทุกๆ คนต้องมาเพิ่งโชคหรือดวง แต่เราควรอยู่ได้ เพราะนี่คือมาตรฐานของการดำรงชีวิต ที่พลเมืองพึงได้รับจากการลงทุนลงแรงสร้างประเทศนี้มาด้วยกันมากกว่า การต่อสู้ที่ผ่านมาของกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในสังคมหลายกลุ่มก็เป็นเสียงสะท้อนให้เห็นแล้วว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่างๆ มากขึ้น และไม่มีทางที่จะลดลง เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว จะช้าจะเร็วเราก็ต้องเปลี่ยน อยู่ที่ว่าผู้บริหารประเทศอยากให้การเปลี่ยนแปลงเป็นแบบไหน สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้ปกครองประเทศ

ทว่าดูเหมือนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เราเพิ่งได้อ่านกันสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยต่อประชาคมโลกได้ระดับหนึ่งทีเดียว โดยเฉพาะในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน การวางตัวเองในกระแสโลกาภิวัตน์ และวิสัยทัศน์ทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจในอนาคต เอกสารไม่กี่หน้าที่เผยแพร่ออกมาสะท้อนภาพรวมต่อทัศนคติในการมองโลกของระบบศาลไทยว่าเราอยู่ส่วนไหนของเวทีโลก – อยู่หัวตารางหรือท้ายตารางกันแน่

ปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกายอมรับการแต่งงานเพศเดียวกันใน 50 รัฐจากทั้งหมด 52 รัฐ ในยุโรปมี 16 ประเทศที่ยอมรับการแต่งงานเพศเดียวกัน อีกไม่นานนี้จะมีอีก 15 ประเทศในยุโรปที่แก้กฎหมาย สำหรับในเอเชีย แม้ว่าจะดูมีพัฒนาการช้ากว่าทวีปอื่นๆ แต่จากการสำรวจของ The Economist ในปี 2019 พบว่า 45% ของประเทศในทวีปเอเชีย พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าในอนาคต นี่คือเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้เข้ากับสังคมโลก

เดือนนี้ก็ผมเลยอยากมาแชร์งานวิจัยงานหนึ่งของนักวิจัยจากสถาบันก็อตต์แมน (Gottman Institute) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ก่อตั้งโดยสองนักวิจัยสามี ภรรยา จอห์นและจูลี ก็อตต์แมน งานหลักที่ทั้งสองทำมาตลอด 40 ปีคือการหาสาเหตุว่า ทำไมเราถึงหย่ากัน อะไรที่จะทำให้ชีวิตการแต่งงานมีความสุข เรียกว่าหากจะพาผู้เชี่ยวชาญสักคนมาอ้างถึงเรื่องชีวิตคู่ การหย่าร้าง ความรักหรือความใคร่ เรียกว่าสองคนนี้คือกูรูที่แท้จริง

ทั้งสองคนไม่ได้ทำการศึกษาเฉพาะคู่แต่งงานต่างเพศ แต่ทั้งคู่ยังศึกษาถึงคู่แต่งงานเพศเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2012 ทำให้พวกเขาได้ข้อมูลเชิงลึกและพบว่า คู่รักต่างเพศจริงๆ มีปัญหาในชีวิตคู่มากกว่าคู่รักเพศเดียวกันเสียอีก ก็อตต์แมนใช้หลากหลายวิธีในการรวบรวมข้อมูล ทั้งการสัมภาษณ์ การสังเกต และทดลองเชิงเปรียบเทียบ

ก็อตต์แมนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงก็เพราะการสร้างรูปแบบงานศึกษาวิจัยแบบสังเกตการณ์เชิงลึก โดยจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘ห้องปฏิบัติการแห่งความรัก’ ตั้งอยู่ในส่วนหนึ่งของอาคารสำนักงานที่แต่เดิมเคยอยู่ในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน คู่แต่งงานที่เข้าร่วมโครงการศึกษาจะต้องติดเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต จากนั้นก็อตต์แมนก็เฝ้าดูว่า คู่แต่งงานทั้งแบบเพศเดียวกันและต่างเพศมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรเมื่อมีบทสนทนาในประเด็นขัดแย้ง มีปฏิสัมพันธ์อย่างไรบ้างเมื่อเล่าว่าทั้งคู่พบกันได้อย่างไร และใคร่ครวญถึงความทรงจำทั้งด้านบวกและลบของความสัมพันธ์อย่างไรบ้าง

การทดลองแต่ละคู่ที่ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ร่วมกันที่ห้องทดลอง ซึ่งมีบริการแบบ bed & breakfast ด้วย มีการบันทึกวิดีโอว่าพวกเขาโต้ตอบกันอย่างไรในช่วงเวลาในแต่ละวัน และติดตามอีกหลายปีเพื่อดูว่าความสัมพันธ์ของเป็นไปอย่างไร

การศึกษาทั้งหมดนี้วัดการตอบสนองทางสรีรวิทยาของคู่แต่งงาน และเฝ้าดูปฏิกิริยาต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้สถาบัน ก็อตต์แมนสามารถทำนายได้ถูกต้องกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ว่า คู่ไหนจะหย่าร้างกันในอีกห้าถึงหกปีต่อมาหรือเปล่า

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อมีการเปิดเผยรายงานการศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์หลังแต่งงานของคู่รักต่างเพศและคู่รักเพศเดียวกัน เพื่อดูว่าใครจะรับมือกับปัญหาในชีวิตคู่ได้ดีกว่า

แน่นอนครับว่า ไม่มีคู่ไหนไม่เคยทะเลาะกัน

สำหรับผม การอยู่รอดของชีวิตคู่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าพวกเราทะเลาะกันบ่อยแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเราจัดการมันอย่างไรต่างหากเมื่อเกิดความขัดแย้ง

ก็อตต์แมนศึกษาประเด็นดังกล่าวผ่านการสัมภาษณ์เปรียบเทียบ ทั้งในกลุ่มคู่แต่งงานต่างเพศและคู่แต่งงานเพศเดียวกัน (ทั้งชาย-ชายและหญิง-หญิง) โดยให้คู่รักเกย์และคู่รักชายหญิงเข้ามาในห้อง สัมภาษณ์แต่ละคู่แยกกันเกี่ยวกับประเด็นที่ทะเลาะกัน ก็อตต์แมนทำการทดลองแบบนี้หลายต่อหลายครั้ง จนสรุปได้ว่าคู่แต่งงานส่วนมากไม่ว่าจะเป็นคู่รักแบบไหน จะทะเลาะกันในสามเรื่องใหญ่ๆ นั่นคือ หน้าที่การแบ่งงานในครอบครัว ปัญหาเรื่องเงิน และสุดท้ายคือเรื่องความต้องการทางเพศที่ไม่เท่ากัน

ก็อตต์แมนพบว่าคู่รักต่างเพศมักเอาเป็นเอาตายกับการเอาชนะกัน ขณะที่คู่รักเพศเดียวกันมีแนวโน้มจะใช้อารมณ์ขันเพื่อลดความตึงเครียดได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะเมื่อเป็นปัญหาในเรื่องเพศ ทั้งคู่แต่งงานเกย์และเลสเบียน มีทัศนคติเปิดกว้างและตรงไปตรงมามากกว่า 

ก็อตต์แมนยกตัวอย่างชายเกย์สองคนที่ถกเถียงกันว่า ใครเป็นฝ่ายเริ่มขอเพศสัมพันธ์มากกว่ากัน

คนแรกพูดกับคู่ของเขาว่า “คุณคิดว่าใครเริ่มมีเซ็กส์เมื่อเช้านี้”

คู่ของเขาตอบว่า “คุณไม่ได้มีรูปร่างเหมือนผู้ชายที่ผมรู้สึกว่ามีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ”

คู่ของเขาพูดว่า “ผมรู้ แต่คำถามคือ คุณคิดว่าใครเป็นคนเริ่มมีเซ็กส์เมื่อเช้านี้”

ลองนึกภาพตามว่า หากเป็นผู้ชายที่พูดกับภรรยาว่า “คุณไม่ได้มีรูปร่างดึงดูดทางเพศ” คุณคิดว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร ความตรงไปตรงมาและการไม่ยกการ์ดใส่กันเสียก่อน ทำให้คู่รักสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้จริง

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นคู่รักเลสเบียน คู่นี้มีความไม่ลงรอยกัน เพราะมีคนใดคนหนึ่งที่เจ้าชู้กับผู้ชายเกินไป เนื่องจากว่าเธอทำงานในบาร์และการบริการที่ดีทำให้เธอได้ทิปส์พิเศษจากลูกค้า การบริการที่ดีนั้นอาจหมายรวมถึงการโปรยเสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ การหยอดคำหวานและแต่งตัวให้เป็นที่สนใจของหนุ่มๆ ซึ่งคู่ของเธอคิดว่าพฤติกรรมของเธอกำลังบ่อนทำลายชีวิตคู่ แต่คู่รักของเธอสาบานว่า เธอทำไปเพียงเพราะว่าหวังรายได้ที่มากขึ้นเท่านั้น

“นั่นมันเป็นเรื่องไร้สาระ ฉันคิดว่าคุณเลิกทำตัวแบบนี้ได้แล้ว เลิกแต่งตัวยั่วๆ ฉันเห็นคุณจีบผู้ชายในบาร์และฉันคิดว่าคุณชอบเป็นจุดสนใจ” คู่รักผู้เสียเปรียบบอกว่า “ฉันคิดว่าคุณพูดถูก ฉันชอบเป็นจุดสนใจ แต่ฉันไม่ต้องการนอนกับผู้ชายพวกนั้น ฉันแค่ชอบเป็นจุดสนใจจริงๆ”

คู่หูของเธอพูดว่า “ฉันรู้ แต่มันทำให้ฉันเจ็บปวด ถึงแม้ฉันจะรู้ว่าคุณจะไม่มีอะไรกับผู้ชายพวกนั้น แต่ฉันพบว่ามันคุกคามชีวิตคู่ของเรา”

สุดท้ายคู่ของเธอก็บอกว่าเธอตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

หากคิดถึงในสถานการณ์เดียวกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในคู่แต่งงานต่างเพศ 

2

จากการศึกษาสถาบันก็อตต์แมน พบว่าไม่ว่าจะการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันหรือรักต่างเพศ โดยมากปัจจัยที่ส่งผลต่อการคงความสัมพันธ์ให้ยืนยาวนั้นไม่แตกต่างกัน ภูมิหลังจากครอบครัวที่อบอุ่นและการเลี้ยงดูท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรกันคือปัจจัยหลักที่ทำให้ชีวิตคู่ยืนยาว ส่วนคู่รักที่มีแนวโน้มจะหย่าก็มีสัญญาณบ่งชี้ไม่แตกต่างกัน สองอย่างที่เป็นสัญญาณสำคัญคือ การตอบสนองทางสรีรวิทยาที่เพิ่มขึ้น (อัตราการเต้นของหัวใจหรือความดันโลหิตสูงขึ้น) เมื่อพูดถึงประเด็นความขัดแย้ง เช่น เรื่องเงินหรือญาติๆ หรือเมื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนเริ่มเข้าสู่ ‘โหมดต่อสู้หรือหนี’ นั่นเป็นสัญญาณว่ากำลังรู้สึกว่าถูกคุกคาม

ตรงข้าม คู่แต่งงานที่มีแนวโน้มใกล้เคียงกันจะรักษาความสงบทางสรีรวิทยาได้ดี แม้กระทั่งเมื่อพูดคุยเกี่ยวกับความขัดแย้ง เพราะรู้สึกปลอดภัยและยังรู้สึกว่าตัวเองมีค่าสำหรับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็อตต์แมนยังพบอีกว่า เมื่อติดตามดูคู่รักในขณะที่กำลังสนทนาเกี่ยวกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์ คู่แต่งงานต่างเพศมักใส่อารมณ์เชิงลบมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การสนทนาดำเนินไป ในขณะที่คู่รักเพศเดียวกันไม่มีเหตุการณ์แบบนี้

เมื่อดูจำนวนผลกระทบเชิงลบระหว่างการโต้เถียงกัน 15 นาที พบว่าช่วง 5 นาทีสุดท้ายของการทะเลาะ จะเป็นช่วงเวลาที่แย่มาก แม้แต่ในคู่ชายหญิงที่มีความสัมพันธ์ที่ดี ในขณะที่ไม่พบเหตุการณ์เช่นนี้ในคู่รักเพศเดียวกัน สิ่งที่ส่งสัญญาณเชิงลบก็คือ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มโจมตีกัน โดยใช้หัวข้อที่ก็อตต์แมนเรียกว่า ‘สี่จตุรอาชา (แห่งหายนะ)’ (The Four Horseman) ได้แก่ การดูถูก การวิจารณ์ การป้องกันและการสกัดกั้น หากมาครบทั้งสี่หัวข้อ ความรู้สึกเชิงลบจะมากล้น กำลังทำลายล้างจะสูงมาก เพราะเขาต้องการให้อีกฝ่ายรู้สึกไร้ค่าและไม่ปลอดภัยในความสัมพันธ์ แต่ในการศึกษาพบว่าคู่รักเพศเดียวกันมีโอกาสน้อยกว่าที่จะใช้ The Four Horseman ผิดกับคู่แต่งงานต่างเพศที่มีการตอบสนองทางสรีรวิทยาสูงกว่า โจมตีกันรุนแรงกว่า ทั้งการดูถูก การวิจารณ์ ปกป้องตัวเองและจบลงด้วยไม่สนใจคำวิจารณ์อีกฝ่าย

โดยทั่วไป คู่แต่งงานเพศเดียวกันมักจัดการกับความขัดแย้งได้ดีกว่า ก็อตต์แมนวิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์แบบคู่รักเพศเดียวกันได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราคาดไม่ถึงคือ การรวมกันของคนเพศเดียวกันสองคน สอดคล้องกับที่บทความ The Gay Guide to Wedded Bliss ของลิซา มันดี (Liza Mundy) ใน The Atlantic เสนอไว้ว่า คู่แต่งงานเพศเดียวกันจะรู้สึกเท่าเทียมกันมากกว่าคู่แต่งงาน​ต่างเพศ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างทางเพศ ทั้งคู่จึงไม่พบว่าตนเองตกอยู่ในความขัดแย้งที่ต้องแบ่งบทบาทในครัวเรือนตามเพศสภาพอย่างเช่น การแบ่งภาระงานบ้านอย่างยุติธรรม เมื่อเทียบกับคู่แต่งงานต่างเพศ ผู้หญิงยังคงเป็นฝ่ายรับผิดชอบงานบ้านเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะทำงานเต็มเวลาด้วยก็ตาม นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะหนึ่งในหัวข้อที่คู่รักทะเลาะกันอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดคืองานบ้าน แต่ดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะกระทบต่อคู่รักเพศเดียวกันน้อยกว่า 

จากการศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ชายจะต่างฝ่ายต่างเข้าใจประสบการณ์ของผู้ชายกันเองได้ง่ายกว่า และผู้หญิงจะเข้าใจประสบการณ์ของผู้หญิงอีกคนได้มากกว่า ในขณะที่ผู้ชายจะเข้าใจประสบการณ์ของผู้หญิงอีกคนได้ไม่ง่ายนัก

ก็อตต์แมนยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง จากการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับคู่แต่งงานเกย์และเลสเบียน ก็อตต์แมนให้ทุกคนทำแบบฝึกหัด พบว่าคู่เกย์ทำแบบฝึกหัดเร็วกว่าคู่เลสเบียน ส่วนคู่เลสเบียน พวกเธอรู้สึกว่าต้องการเวลาเพิ่มเพื่อแชร์คำตอบระหว่างกันและระหว่างกลุ่ม แต่คู่ชายหญิงทำสิ่งที่ต่างกันออกไป – ผู้ชายต้องการเก็บคำตอบไว้กับตัวเองและไปทำแบบฝึกหัดถัดไป และปล่อยให้ผู้หญิงทำให้เสร็จแล้วค่อยตามไป ซึ่งก็นำไปสู่พฤติกรรที่คล้ายๆ กัน ก็คือเรื่องเซ็กส์

หัวข้อใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในชีวิต

3

อย่างที่เรารู้ว่า แรงขับทางเพศของผู้ชายนั้นมากกว่าผู้หญิง นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นประเด็นร้อนที่คู่รักต่างเพศมักทะเลาะกัน โดยปกติแล้วที่ปรึกษาการแต่งงานพบว่า ผู้ชายต้องการเซ็กส์มากขึ้น ขณะที่ผู้หญิงอาจรู้สึกว่ามีเพียงพอแล้วหรือต้องการน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาในคู่แต่งงานต่างเพศมากกว่า ในขณะที่คู่แต่งงานเพศเดียวกันมีระดับความใคร่ต่อกันและกันในระดับที่สอดคล้องกันมากกว่า

สิ่งที่ก็อตต์แมนพบจากการศึกษาก็คือ แต่ละกลุ่มมีวิธีจัดการปัญหาแตกต่างกัน คู่แต่งงานเกย์อาจมีแฟนหลายคนมากกว่าผู้หญิงเลสเบียนหรือผู้ชายที่มีความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ ข้อมูลจากการศึกษาของ Scientific American พบว่าในสหรัฐอเมริกา เกย์ประมาณร้อยละ 60 เปอร์เซ็นต์มีเพศสัมพันธ์นอกการแต่งงาน ร้อยละ 44 บอกว่าพวกเขาทำเช่นนั้นด้วยการตกลงกับคู่แต่งงาน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ในคู่แต่งงานต่างเพศมีเพียงร้อยละ 14 ที่ยอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์นอกการแต่งงาน และมีเพียงร้อยละ 8 ของคู่แต่งงานเลสเบียนที่ทำเช่นนั้น

มีการบัญญัติศัพท์ความสัมพันธ์แบบนี้ในคู่แต่งงานเกย์เหมือนกันครับ ว่าเป็น ‘monogamish’ คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกโดยคอลัมนิสต์และนักเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศ (และแน่นอน เขาเป็นเกย์) ชื่อแดน ซาเวจ (Dan Savage) เขาบัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นเพื่ออธิบายแนวทางการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ซาเวจอธิบายว่า เมื่อพิจารณาจากแรงขับทางเพศของผู้ชาย การคาดหวังให้ผู้ชายยังคงมีคู่สมรสคนเดียวไปตลอดชีวิตนั้นไม่สมเหตุสมผล การนัดพบนอกการแต่งงานเป็นครั้งคราวช่วยรักษาและประคับประคองชีวิตการแต่งงานไว้ได้ หากรู้จักการป้องกันและมีวุฒิภาวะ “ความผิดพลาดของคู่รักต่างเพศ คือการตั้งความคาดหวังกับการตเ้องมีคู่สมรสคนเดียวมากเกินไป”

ซาเวจและสามีของเขาเทอร์รี มิลเลอร์ (Therry Miller) คบกันตั้งแต่ปี 2005 และแต่งงานกันในปี 2012 ปีแรกที่สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้มีการแต่งงานในคู่รักเพศเดียวกัน เขาทั้งคู่รับเลี้ยงเด็กเป็นลูกบุญธรรมปัจจุบันลูกของเขาอายุ 20 ปีแล้ว พวกเขาตกลงกันว่าจะผ่อนคลายความสัมพันธ์ ไม่ผูกมัดเรื่องเพศหลังจากที่มีลูกคนแรก

ก็อตต์แมนกล่าวถึงปรากฎการณ์ดังกล่าวในคู่แต่งงานชายรักชายที่เขาศึกษาเช่นกันว่า การมีเซ็กส์แบบ ‘ไม่ยึดติดกับอารมณ์ความรู้สึก’ “พวกเขาเพียงแค่ต้องการความผูกพันทางกาย แม้ว่าอาจมีปัญหาในบางคน เพราะฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งทำให้ผู้คนมีอารมณ์ผูกพันกับบุคคลอื่นอาจทำงานดีเกินไปก็ตาม แต่หากมีการตกลงกัน ปัญหานี้ก็จะลดน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม คู่เลสเบียนดูจะมีปัญหาตรงข้าม แทนที่จะมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป ดูเหมือนว่าคู่เลสเบียนจะมีน้อยเกินไปจนขาด จนเกิดคำว่า ‘เลสเบียนเตียงตาย‘ (Lesbian bed death) บัญญัติโดยนักสังคมวิทยา เปปเปอร์ ชวาร์ตส (Pepper Schwartz) ทำให้เราเห็นภาพว่าผู้หญิงเลสเบียนมีเซ็กส์น้อยแค่ไหน และเมื่อดูจากการศึกษาของก็อตต์แมนก็พบว่าเลสเบียนขาดความสนิทสนมเรื่องเพศ

แต่จากการศึกษาก็พบว่า การมีเพศสัมพันธ์น้อยลงไม่ได้ทำให้คู่เลสเบียนมีความรักใคร่กันน้อยลง สารออกซิโทซินก็จะถูกปล่อยออกมาเช่นกันเมื่อผู้คนตกหลุมรักกันและกัน

ที่เล่ามาทั้งหมด ผมตั้งใจอยากสะท้อนภาพให้เห็นว่า การเปิดกว้างทางความคิดของสังคมหนึ่งๆ จะทำให้เราได้องค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย มีความเข้าใจต่อคนที่แตกต่างจากเรามากขึ้น และดึงดูดผู้คนที่หลากหลายทางความคิดความสามารถให้มาคำตอบ หาทางออกร่วมกัน ซึ่งนั่นเป็นกุญแจของการทำให้เกิดพลวัตใหม่ๆ ขึ้นในสังคม และยังเป็นคลังของการเรียนรู้สำหรับอนาคต

ผมทราบดีว่านี่คือเรื่องใหม่ ไม่เพียงแต่ของไทยแต่เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ไปด้วยกันทั้งโลก และในฐานะคู่รักเพศเดียวกัน ผมไม่ได้หวังผลเลิศเลอว่า การสร้างความเข้าใจต่อคนในวงกว้างจะราบรื่นไปเสียหมด แต่ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้ เราได้ยินเรื่องราวต่างๆ มากมายที่นักการเมืองพยายามจะเขียนภาพให้ทุกคนเห็นว่า ประเทศไทยคือประเทศที่ทันสมัย เปิดกว้าง เป็นประเทศแห่งเสรีภาพ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการลงทุนของภูมิภาค แต่สิ่งที่สถาบันทางสังคมกระแสหลักสะท้อนออกมาดูไม่ไปด้วยกันและน่าผิดหวัง เหมือนเสียงของพลเมืองไม่น่านับถือมากพอ เราไม่ได้รับเกียรติอย่างที่ควรจะเป็น 

การรักเพศเดียวกันไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว ความรักก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว การแต่งงานก็เป็นวิถีของการแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ของคนในสังคมแบบหนึ่ง หากเราช่วยกันประคับประคองมันให้ดีนี่จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของสถาบันอื่นๆ ในสังคมของเราได้

ดีกว่าห้าม ปิดหูปิดตาและไม่พยายามทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

อ้างอิง

บทความนี้สรุปใจความจากงานเขียนของ Emily Esfahani Smith  “Are Gay Marriage Healthier Than Straught Marriages?” จาก Politico Magazine

The Gottman Institute

Married, With Infidelities

How Strong Is the Female Sex Drive After All?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save