fbpx

Hollywood strikes ใครที่ได้และใครที่เจ็บ: ปลายทางของนายทุนกับแรงงาน


กว่าสามเดือนแล้วที่สมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกา (Writers Guild of America-WGA) นัดประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงและความเป็นธรรม และเป็นเวลาอีกหนึ่งเดือนกว่าๆ ที่สมาคมนักแสดงและศิลปิน (The Screen Actors Guild – American Federation of Television and Radio Artists -SAG-AFTRA) อันเป็นสหภาพที่มีสมาชิกทั้งนักแสดงกว่า 160,000 ราย, ผู้กำกับ, ทีมโปรดักชั่นและทีมงานด้านภาพยนตร์สาขาอื่นๆ เข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายไม่ห่างกันมากนักคือเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ ให้แก่นักแสดงและทีมงานทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมฮอลลีวูด รวมทั้งหาทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคตอันใกล้

กล่าวอย่างละเอียด สิ่งที่นักแสดงในสหภาพเรียกร้องคือการเพิ่มค่าแรงขึ้นมาเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และอีก 8 เปอร์เซ็นต์ในอีกสองปีข้างหน้าเพื่อให้สอดรับกับค่าเงินเฟ้อมหาโหดของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นสูงอย่างน่าจับตาในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้น สตูดิโอยื่นข้อเสนอด้วยการเพิ่มค่าแรงเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และอีก 7.5 เปอร์เซ็นต์ในอีกสองปีข้างหน้า

การนัดประท้วงของ SAG-AFTRA ยังผลให้การถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์หยุดชะงักลง สัญญาของสหภาพเองระบุให้นักแสดงและทีมงานทุกภาคส่วนรวมตัวกันหยุดงาน ตัวนักแสดงเองไม่สามารถไปร่วมงานรอบปฐมทัศน์, ให้สัมภาษณ์หรือกระทำการใดๆ ที่ยังผลให้การถ่ายทำหรืองานนั้นเป็นผลสำเร็จลุล่วง ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการไปร่วมงานประกาศรางวัล, ไปเทศกาลภาพยนตร์หรือโปรโมตภาพยนตร์ในโซเชียลมีเดียขณะที่การประท้วงยังดำเนินอยู่ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ, นักแสดงหรือทีมงานต่างๆ ที่ปล่อยออกมาหลังเดือนกรกฎาคมจึงมักมีหมายเหตุว่า “บทสัมภาษณ์, บทความนี้จัดทำขึ้นก่อนหน้าการนัดประท้วงหยุดงาน”

“เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานั้นก็เกิดขึ้นกับแรงงานอื่นๆ ทั่วโลกเหมือนกัน นั่นคือเมื่นายจ้างให้ความสำคัญกับตลาดหลักทรัพย์และความละโมบ เสียจนลืมว่าใครกันที่เป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องจักรต่างๆ ทำงาน” ฟราน เดรสเชอร์ ประธานสหภาพ SAG-AFTRA บอก “เราคือเหยื่อ เราถูกทำให้เป็นเหยื่อโดยความละโมบเหล่านี้ ฉันตกใจกับวิธีที่คนในอุตสาหกรรมนี้ปฏิบัติต่อพวกเราเหลือเกิน แทบจะเชื่อไม่ลงด้วยซ้ำว่าพวกเราอยู่ห่างจากสิ่งที่ถูกที่ควรขนาดนี้ได้ยังไง และเป็นไปได้ยังไงที่พวกเขามาขอร้องให้คนที่ยังขัดสนด้านรายได้ให้อดทน มาบอกว่าพวกเขากำลังสูญเสียรายได้มหาศาลทั้งที่ก็มีเงินไปจ่ายพวกซีอีโอของบริษัทตั้งไม่รู้กี่ร้อยล้านเหรียญฯ นี่มันช่างน่าขยะแขยงเหลือเกิน”

“รายได้โดยเฉลี่ยของสมาชิกในสหภาพเราตกอยู่ที่ราวๆ 26,000 เหรียญฯ ต่อปีซึ่งแทบไม่พอให้พวกเขาเข้าถึงประกันสุขภาพด้วยซ้ำไป แถมงานส่วนใหญ่ที่พวกเขาทำก็ไม่ใช่งานประจำด้วยซ้ำไป ส่วนสตูดิโอหนังก็สนแค่ว่าพวกเขาจะโกยเงินได้มากแค่ไหน ทำยังไงไม่ให้เสียเงินไป แล้วนี่แหละที่ประหลาดมากๆ ฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมคนเราไม่ค่อยทำอะไรที่ถูกที่ควรกันนะ”

“รูปแบบของอุตสาหกรรมผลัดเปลี่ยนไปสู่การสตรีมมิ่ง ดิจิตัล การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหากเราไม่ยืนหยัดด้วยกันในเวลานี้ ภายหน้าพวกเราจะต้องเผชิญกับปัญหาอีกมหาศาล จะใช้ชีวิตโดยมีปัญหามากมายเมื่อพวกเราถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร” เธอบอก “คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินถึง 500 เหรียญฯ ด้วยซ้ำ นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่มากและเป็นสิ่งที่พวกเราต้องแบกรับ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ต้องบอกออกไปว่าเราจะไม่อดทนอีกแล้ว ทำไมเราต้องยอมให้พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้กับเราด้วย พวกเขาบอกว่าเราคือหัวใจของการทำงาน พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์ของเรา กระนั้นการกระทำก็สำคัญกว่าคำพูด เพราะพวกเขาแสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาไม่ได้แยแสอะไรเลย ซึ่งถือเป็นการหยามเหยียดกันอย่างรุนแรงเหลือเกิน เราจึงต้องมารวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนัดประท้วงหยุดงานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งสหภาพนี้”

เรื่องยิ่งเดือดดาลเมื่อ บ็อบ อีเกอร์ ประธานกรรมการบริหารสตูดิโอดิสนีย์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การนัดประท้วงหยุดงานของ SAG-AFTRA นั้น “ทำให้ผมรู้สึกแย่มาก เราพูดกันตลอดว่าอุตสาหกรรมนี้มันต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรมากมาย ทั้งเราเพิ่งจะฟื้นตัวจากการหยุดชะงักของการระบาดใหญ่ ซึ่งเราก็ยังฟื้นตัวได้ไม่สำเร็จดี เรายังไม่ได้กลับมาเป็นเหมือนเดิมเต็มรูปแบบ มันเลยเป็นจังหวะที่แย่ที่สุดเลยที่จะมาประท้วงนัดหยุดงานซึ่งจะมาเพิ่มความยากลำบากให้แก่อุตสาหกรรมในเวลานี้” อีเกอร์ -ซึ่งทำรายได้เฉลี่ยตกปีละ 27 ล้านเหรียญฯ- ระบุ “ผมเข้าใจนะว่าสหภาพก็ต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้สมาชิกได้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุด ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับงานที่พวกเขาทำ เราก็พยายามอยู่ -ในฐานะตัวอุตสาหกรรม- เราก็เจรจาเพื่อหาข้อตกลงกับเหล่าสหภาพซึ่งก็สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมอุตสาหกรรมนี้ เราอยากทำให้ได้ตามที่เหล่าคนเขียนบทเรียกร้อง และก็อยากทำให้ได้ตามที่นักแสดงเรียกร้องด้วยเหมือนกัน ซึ่งความคาดหวังของพวกเขาสูงมาก สูงจนเหมือนไม่อยู่กับความเป็นจริง”

“ผมคิดว่าพวกเขาต้องมองความเป็นจริงด้วยนะว่าสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องมันเป็นไปได้แค่ไหน และอุตสาหกรรมนี้มันตอบแทนพวกเขาได้เท่าไหร่ ตอนนี้มันกลายเป็นว่าธุรกิจทั้งระบบได้รับผลกระทบ และก็น่าเศร้าจริงๆ ที่มันส่งผลถึงคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ด้วย ซึ่งมีมากมายมหาศาลจนพูดถึงไม่หมด ทั้งการประท้วงนี้ยังจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ อีกต่างหากเพราะตลาดของอุตสาหกรรมนี้มันกว้างมาก เรื่องนี้มันจึงน่าเศร้าเหลือเกิน”

ไบรอัน แครนสตัน (ภาพจาก AFP)

แน่นอนว่าคำสัมภาษณ์ของอีเกอร์เป็นเสมือนน้ำมันราดลงกองไฟ ไบรอัน แครนสตัน นักแสดงจาก Breaking Bad (2008–2013) และ Asteroid City (2023) ตอกกลับอีเกอร์ผ่านสปีชที่เขาขึ้นพูดในการประท้วงของ SAG-AFTRA ว่า “ผมเข้าใจนะว่าคุณมองการประท้วงนี้ผ่านเลนส์ของคุณ เราไม่ได้เรียกร้องให้คุณมาเข้าอกเข้าใจเราหรอก แต่อยากให้ฟังกันบ้าง และพ้นไปจากการฟังกันแล้ว เราก็จะบอกคุณว่าเราไม่ยอมให้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนพวกเรา และเราจะไม่ยอมให้คุณยึดเอาสิทธิต่างๆ และคุณภาพชีวิตที่เราควรจะมีไปจากพวกเราด้วย เหนือสิ่งอื่นใด เราจะไม่ยอมให้คุณมาพรากศักดิ์ศรีไปจากเราโดยเด็ดขาด”

“เราไม่ได้อยู่ในธุรกิจที่เราเคยอยู่เมื่อสิบปีก่อนอีกต่อไปแล้ว ทั้งอย่างนั้น พวกเขาก็ยอมรับว่าในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ พวกเขาก็ยังกัดฟันสู้เรายิบตาเพื่อจะคงสภาพรูปแบบเศรษฐกิจที่ล้าหลังและหลุดยุคต่อไป พวกเขาอยากให้เราเดินถอยหลังไปสู่ยุคเดิม และบอกไว้ตรงนี้เลยว่าเราไม่ยอมหรอก”

แครนสตันไม่ใช่นักแสดงดัง -ที่ประมาณการกันว่าเขาทำรายได้เฉลี่ยต่อปีตกอยู่ที่ 40 ล้านเหรีญฯ- เพียงคนเดียวที่เข้าร่วมการประท้วงนัดหยุดงานครั้งนี้ แต่ยังมีนักแสดงในสหภาพอีกจำนวนมากที่เข้าร่วมเดินขบวน เช่น เจน ฟอนดา, เจเรมี อัลเลน ไวต์ นักแสดงจากซีรีส์ The Bear ซึ่งซีซั่นที่สองเพิ่งออกฉาย, อดัม แซนด์เลอร์, เบน สติลเลอร์, ลูปิตา ยองโก, โคลิน ฟาร์เรลล์, เจสสิกา เชสแทน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าการประท้วงที่ยืดเยื้อมีแต่จะส่งผลเสียต่อกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะฝั่งสตูดิโอที่ไม่มีงานผลิตออกมาสู่สายตาคนดูอันจะนำไปสู่ความเสียหายด้านการเงินมหาศาลในเวลาต่อมา หรือฝั่งผู้ประท้วงที่แม้จะมีกองทุนอุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment Community Fund) คอยช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและการเคลื่อนไหว กระนั้นการขาดรายได้ในระยะยาวก็ดูไม่ใช่หนทางที่สดใสนัก

เรื่อยมาจนถึงเวลานี้ การนัดประท้วงหยุดงานที่กินพื้นที่ในย่านฮอลลีวูด ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจภาพรวมของแคลิฟอร์เนียกว่าสามพันล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่ามากกว่าการประท้วงนัดหยุดงานโดยกลุ่มคนเขียนบทในปี 2007 ที่ทำไว้ที่สองพันล้านเหรียญฯ เสียอีก โดยคาดการณ์ว่า หากการประท้วงยังดำเนินไปถึงเดือนตุลาคมนี้ มีสิทธิที่ยอดตัวเลขจะพุ่งสูงถึงห้าพันล้านเหรียญฯ และการนัดหยุดงานของคนในอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่อย่างอุตสาหกรรมฮอลลีวูดนั้น ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อแวดวงอื่นๆ ทั้งร้านอาหาร, การขนส่ง ไปจนถึงบริษัทรับทำความสะอาด และกินพื้นที่นอกเหนือจากแคลิฟอร์เนียไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมักเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์อย่างนิวยอร์ค, แอตแลนตา, พิตต์สเบิร์กด้วย

อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ความคืบหน้าในภาพรวม แม้ฝั่ง SAG-AFTRA จะยังคัดง้างและหาข้อตกลงร่วมกับสตูดิโอไม่สำเร็จ แต่ฝั่งสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกาดูคืบหน้ามากขึ้น เมื่อคู่กรณีอย่าง สมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers-AMPTP) ออกแถลงการณ์ต่อข้อเรียกร้องของสมาคมฯ โดย คารอล ลอมบาร์ดินี ประธานของสมาพันธ์ฯ กล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือยุติการประท้วงหยุดงานนี้ เพื่อที่เหล่าสมาชิกผู้ทรงคุณค่าในสายงานสร้างสรรค์จะได้กลับไปทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด และเพื่อจบอุปสรรคซึ่งผู้คนในอุตสาหกรรมนี้ต้องเผชิญ เรามีข้อเสนอซึ่งตอบสนองต่อสิ่งที่กลุ่มนักเขียนบทเรียกร้อง และขอย้ำว่าเราปรารถนาในการยุติการประท้วงหยุดงานนี้อย่างยิ่ง และหวังว่าสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกาเองจะเห็นด้วยกันกับเรา”

โดยเนื้อหาแล้ว สมาพันธ์ฯ จะเพิ่มค่าแรงมากที่สุดในรอบ 35 ปี โดยจะเพิ่มค่าแรงให้แก่ผู้เขียนบท 13 เปอร์เซ็นต์ต่อสัญญาสามปี โดยแบ่งเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ในปีแรก, 4 เปอร์เซ็นต์ในปีที่สองและ 3.5 เปอร์เซ็นต์ในปีที่สาม รวมทั้งปรับโครงสร้างระยะเวลาการทำงานแต่ละโปรเจ็กต์เพื่อไม่ให้คนเขียนบทแบกรับงานที่หนักเกินไป หรือขาดหายรายได้ในแต่ละช่วงปี และปรับปรุงสวัสดิการด้านสุขภาพเพื่อให้คนในสมาคมฯ เข้าถึงได้มากขึ้นด้วย

เจสซี ไอเซนเบิร์ก นักแสดงจาก The Social Network (2010), Now You See Me (2013) เข้าร่วมการประท้วง (ภาพจาก AFP)

แน่แท้แล้วว่าหากการประท้วงยิ่งยาวนาน ทั้งสองฝั่งคงต้องรับมือกับความบาดเจ็บทั้งคู่ และหากสตูดิโอปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพ ก็เป็นไปได้ว่ารายได้ที่พวกเขาต้องเจอช่วงปลายปีจะเป็นตัวเลขอันหฤโหด เพราะภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์นับตั้งแต่ Gladiator 2 (2024) มหากาพย์พีเรียตของ ริดลีย์ สก็อตต์ ไปจนถึงภาคต่อ Deadpool 3 (2024) ก็เป็นอันต้องหยุดพักการถ่ายทำไปโดยปริยาย ขณะที่ภาพยนตร์ที่มีนักแสดงระดับแถวหน้า -อันเป็นเสมือนแม่เหล็กในการดึงคนดูเสมอมา- อย่าง Dune: Part Two (2023), Aquaman and the Lost Kingdom (2023) ที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นแหล่งทำเงินให้สตูดิโอช่วงปลายปี ก็อาจต้องเลื่อนฉายออกไปก่อนเพื่อรับมือกับการนัดหยุดงาน และหากวัดจากผลลัพธ์ของการที่ภาพยนตร์หลายเรื่องต้องเลื่อนฉายในช่วงระบาดใหญ่ ไม่ว่าจะ Black Widow (2021), Wonder Woman 1984 (2020) หรือ Tenet (2020) ก็เป็นที่แน่ชัดว่าไม่ประสบผลสำเร็จนัก เพราะแม้ด้านหนึ่งจะเป็นผลพวงจากการที่โรงภาพยนตร์หลายแห่งยังต้องปิดตัวและคนยังไม่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กระนั้นเนื้อหาหรือความสดของตัวภาพยนตร์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจางหายลงไปไม่น้อย ยังไม่นับว่าการต้องลากโปรโมตหนังไปเรื่อยๆ เพื่อประวิงเวลารอให้หนังฉายนั้นก็ไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวภาพยนตร์และตัวสตูดิโอเอง

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกัน 67 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยและสนับสนุนกับการนัดหยุดงานของกลุ่มคนในอุตสาหกรรมฮอลลีวูด ขณะที่ชาวอเมริกันอีก 59 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยที่สตูดิโอใหญ่ปฏิเสธหรือเมินข้อเรียกร้องของสหภาพฯ และอีก 74 เปอร์เซ็นต์แสดงความไม่เห็นด้วยที่สตูดิโอตั้งใจจะใช้ AI มาทำงานแทนมนุษย์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save