fbpx
วารสารศาสตร์ยังไม่ตาย? : สำรวจชีพจรนักสื่อสารมวลชน กับ รุจน์ โกมลบุตร

วารสารศาสตร์ยังไม่ตาย? : สำรวจชีพจรนักสื่อสารมวลชน กับ รุจน์ โกมลบุตร

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล, ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่สะเทือนแวดวงสื่อมวลชน คงหนีไม่พ้นการประกาศปิดตัวของหนังสือพิมพ์สองหัวที่อยู่ในเครือเดียวกัน อย่าง ‘โพสต์ทูเดย์’ และ ‘M2F’ โดยนายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ หัวเรือใหญ่แห่งบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลว่าประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง โดยวางแผนจะปรับโพสต์ทูเดย์ไปเป็นสื่อดิจิทัลแบบเต็มตัว

ผลที่เกิดขึ้นทันที คือพนักงานราวๆ 200 ชีวิตจากหนังสือพิมพ์ทั้งสองหัวจะถูกเลิกจ้าง ตั้งแต่ผู้สื่อข่าว พนักงานฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดหน้า ฝ่ายพิสูจน์อักษร ฯลฯ โดยจะคัดเลือกพนักงานจากกองบรรณาธิการให้เหลือเพียง 20 คน เพื่อทำสื่อดิจิทัลร่วมกับทีมดิจิทัลเดิมของโพสต์ทูเดย์

เหตุการณ์ที่ว่ามา คือตัวอย่างที่สะท้อนสภาวะการเปลี่ยนผ่านจากสื่อเก่าไปสู่สื่อใหม่ได้เป็นอย่างดี ดังที่เห็นว่าในช่วงหลายปีมานี้ สื่อหลายหัวหลายค่าย เลือกยุติการผลิตสื่อที่เป็นกระดาษ และเบนเข็มไปสู่สนามออนไลน์

ความระส่ำระสายที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะกับคนทำงานในสนามสื่อมวลชนเท่านั้น ทว่ายังลามไปถึงรั้วมหาวิทยาลัย คณะที่เปิดสอนด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสาขาที่เน้นงานข่าวและสื่อสิ่งพิมพ์ ได้รับความสนใจน้อยลงอย่างถนัดตา

“พอเห็นความเป็นกระดาษล่มสลายไปต่อหน้า นักศึกษาก็กลัวไม่มีงานทำ บวกกับความเป็น journalism ความเป็นคนข่าว ซึ่งคนมักติดภาพว่าทำงานเหนื่อย เงินเดือนน้อย ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า แล้วกูจะเรียนไปทำไม…”

รองศาสตราจารย์ รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ (ชื่อเดิมคือ สาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างน่าคิด

ในฐานะที่เรียนจบจากสาขานี้ และเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำสาขาอยู่ราวๆ 20 ปี เขาสารภาพว่าการเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อระลอกนี้ เป็นระลอกที่ทำให้เขาปวดหัวมากที่สุด

แม้จะผ่านประสบการณ์ในสนามข่าวมาโชกโชน ปลุกปั้นบุคลากรป้อนแวดวงสื่อมวลชนมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และนับเป็นนักวิชาการด้านสื่อที่ ‘เก๋าเกม’ คนหนึ่ง ทว่ากับโลกที่เปลี่ยนไปไว เขายอมรับซื่อๆ ว่าตัวเอง “ไม่ทันโลกขนาดนั้น” แต่ขณะเดียวกันก็ยืดอกอย่างมั่นใจ ว่าแทบไม่เคยตกข่าว

ในวันเวลาที่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์กำลังเข้าสู่ช่วงอัสดง และในขวบปีที่นักศึกษาสาขา ‘วารสารศาสตร์’ มีกันอยู่ไม่ถึงสิบคน (จากนักศึกษาทั้งคณะราวๆ 200 คน รวม 6 สาขา) เราชวนอาจารย์รุจน์มานั่งคุยยาวๆ ว่าด้วยโจทย์ใหม่ๆ ของการเป็นนักสื่อสารมวลชน ความท้าทายในการเรียนการสอนวิชาชีพสื่อในยุคเปลี่ยนผ่าน พร้อมประเมินชีพจรสื่อไทย ในยุคที่รัฐบาลเผด็จการครองอำนาจมาเกือบ 5 ปี

รุจน์ โกมลบุตร

อยากให้อาจารย์อัพเดทว่าตอนนี้ คณะวารสารฯ ธรรมศาสตร์ ที่อาจารย์สอนอยู่ มีการปรับหลักสูตรยังไงบ้าง เรียนอะไร สอนอะไร

ตอนนี้เราใช้หลักสูตรใหม่ 2561 เพิ่งเริ่มปีนี้ นักศึกษาปีหนึ่งได้ใช้แล้ว ปีหน้าจะเขยิบเป็นปี 2 3 4 ปกติเราจะปรับใหญ่ทุกห้าปี หมายความว่าหลักสูตร 2561 ที่พูดถึงนี้ เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว

ความเปลี่ยนแปลงข้อแรก คือการลดวิชาบังคับ ซึ่งมาจากเสียงบ่นทั้งหลาย (หัวเราะ) เช่น ทำไมบังคับเยอะจัง ฉันไม่อยากเรียนพีอาร์ ไม่อยากเรียนโฆษณา ทำไมต้องบังคับฉันเรียนด้วย อันนี้จะลดจาก 39 หน่วย เหลือ 27 หน่วย ตัดให้เหลือแค่วิชาสำคัญๆ เช่น วิจัยยังต้องมี กฎหมายยังต้องมี ทฤษฎีสื่อเบื้องต้นยังต้องมี วิชาการเขียนยังอยู่ วิชาฝึกงานก็ยังอยู่

ส่วนวิชาบังคับพื้นฐาน จะงอกวิชาใหม่มาสองวิชา คือวิชา ‘สื่อใหม่ศึกษา’ เป็น study เกี่ยวกับเรื่องสื่อใหม่ เรื่องโซเชียลมีเดีย อีกวิชาคือ ‘สื่อกับสังคม’ ดึงจากสาขาบริหารสื่อมาเป็นวิชาพื้นฐานบังคับของคณะ อันนี้เกิดจากการที่อาจารย์ที่ช่วยกันร่างทำหลักสูตรใหม่ บ่นว่าทำไมเรื่อง critical thinking, social concern มันถึงได้น้อยลงเรื่อยๆ งั้นดึงอันนี้มาเป็นวิชาบังคับพื้นฐานซะเลย

ความเปลี่ยนแปลงข้อต่อมา คือความพยายามจัดการวิชาที่เกี่ยวกับ media skill ซึ่งเถียงกันพอสมควร เสียงแตกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งบอกว่าให้แยกสาขาเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลว่า เอาจริงๆ กว่าจะถ่ายหนังเป็นสักเรื่อง หรือกว่าจะเขียนข่าว เขียนบทความเจ๋งๆ ได้สักเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องผ่านการฝึกจริงๆ ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ จนถึงปลายทาง ส่วนอีกฝั่งหนึ่งคือ จะมองว่าทั้งโลกเขารวมกันหมดแล้ว นักศึกษาต้องมีความเป็น multi skill ต้องทำได้หลายอย่างในตัวคนเดียว

แต่สรุปท้ายที่สุด ฝั่งที่บอกว่าแยกสาขายังดังกว่า เพราะเขาเชื่อว่าการทำให้เก่งในแต่ละสกิลมันเป็นเรื่องยาก ควรมุ่งไปให้ลึกสักทางหนึ่ง ไม่ใช่สอนอย่างละนิดละหน่อย ฉะนั้นเมื่อตกลงว่าจะเอาทางนี้ ทางออกก็คือเราต้องแนะนำให้นักศึกษารู้ด้วยว่า เรื่อง multi skill เป็นความต้องการของตลาด ซึ่งนักศึกษาเขาก็รู้อยู่แล้วแหละ ก็เป็นหน้าที่เขาในการที่จะช้อปปิ้งวิชาที่สนใจ หรือคิดว่าเขาควรจะทำเป็น เช่น อยากถ่ายหนังเป็น อยากเขียนบทเป็น อยากเขียนข่าวเป็น ก็เป็นหน้าที่คุณต้องไปจัดการเอง เลือกลงเองในวิชาโท

นอกจากนี้ ก็มีวิชาใหม่ที่เรียนรวมกันหลายสาขา ชื่อวิชา ‘การเล่าเรื่องข้ามสื่อ’ จะมีอาจารย์จากหลากหลายสาขามานั่งด้วยกัน โยนโจทย์ลงไป เด็กฟิล์มว่ายังไง เด็กสิ่งพิมพ์ว่ายังไง เด็กวิทยุโทรทัศน์ว่ายังไง ลองให้โจทย์เดียวกัน แล้วดูว่าถ้าเปลี่ยนแพลตฟอร์ม เราจะเล่าเรื่องเดียวกันผ่านสื่อต่างๆ ได้ยังไง

อีกประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจ คือผมกับอาจารย์บางคนรู้สึกว่า เราไม่ควรจะผลิตนักศึกษาให้เป็นลูกจ้างอย่างเดียว แต่ควรผลิตเขาให้เป็นผู้ประกอบการได้ด้วย หมายถึงเป็นนักเขียนได้ เป็น editor ได้ และถ้าอยากไปเปิดสตาร์ทอัพของตัวเองก็ทำได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่านักศึกษาหลายคนที่ตอนเรียนอยู่ มีแวว มีฝีมือ แต่พอถึงเวลาออกไปทำงาน กลับโดนกลืนไปกับระบบ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสายพาน ไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ เลยคิดว่าต้องมีวิชาที่สอนเรื่องผู้ประกอบการ เพิ่มเข้ามาเป็นวิชาเลือกด้วย

ตอนที่หารือกันเรื่องหลักสูตรใหม่ มีการเทียบเคียงกับหลักสูตรในต่างประเทศไหม

มีครับ เปิดค้นทั่วโลกเลย แล้วก็ดูว่าอะไรที่เหมาะกับเรา ซึ่งในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เขาใช้แบบรวมนะ ในหนึ่งวิชาทำได้หลายแพลตฟอร์ม ซึ่งอันนี้ผมกับอาจารย์หลายๆ คน ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าแล้วมันไปเอาสกิลคมๆ มาได้ยังไง

แต่สิ่งที่ผมต้องยืนยันคือ ต้องไม่ให้ตลาดนำการศึกษาจนเกินไป หมายถึงตลาดต้องการอะไร กูป้อนให้หมด แบบนี้ยอมไม่ได้ เช่น ตลาดต้องการสกิล ก็ป้อนสกิลได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่อง study เราต้องไม่ยอม เรื่องวิจัยยังต้องมี ทฤษฎียังต้องรู้ ถ้าคุณไม่รู้ทฤษฎีแล้วจะเห็นทุกอย่างเป็นระบบได้ยังไง

 

แล้วสาขาเก่าแก่อย่างสาขาหนังสือพิมพ์ มีวิชาใหม่ๆ ไหม

มีครับ คือวิชา Data Journalism เป็นวิชาเกี่ยวกับการจัดการ สืบค้น วิเคราะห์ และใช้ข้อมูล ซึ่งใหญ่โตมโหระทึก ทีแรกเราไม่คิดว่าจะเป็นวิชาหนึ่งได้ เพราะรู้สึกว่าควรจะแทรกอยู่ในวิชาอื่นๆ หรือเปล่า แต่พอคุยไปคุยมา เฮ้ย ไม่ได้ นี่มันเรื่องใหญ่ว่ะ ก็ต้องเปิดขึ้นมาอีกหนึ่งวิชา

ที่ต้องเปิดเพราะเราพบว่า นักศึกษามักเจอปัญหาของการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อมาประกอบในการทำงาน อย่างวิชาเขียนข่าวที่ผมสอน จะเจอบ่อย เข้าไปแล้วชน เข้าไปแล้วตัน ไปต่อไม่ถูก ไม่รู้จะไปหาข้อมูลจากไหน ส่วนอีกแง่หนึ่งก็เป็นพลวัตสังคมโลกด้วย เรากำลังอยู่บนโลกที่ข้อมูลท่วมท้น ฉะนั้นควรมีวิชาที่โฟกัสเรื่องการจัดการข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะ

อีกเรื่องที่ต้องแจ้งข่าวคือ เราเปลี่ยนชื่อสาขาแล้วนะครับ จากสาขา ‘หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์’ เป็น ‘วารสารศาสตร์’ อันนี้เปลี่ยนเพื่อไม่ให้ติดภาพเดิมๆ ว่าต้องเป็นสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์เท่านั้น เพราะสิ่งที่เราสอนจริงๆ มันคือการผลิตคอนเทนต์

แล้วในมุมคนสอน พอหลักสูตรเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ มีอะไรที่ต้องเตรียมพร้อมไหม

ตอนนี้สิ่งที่พวกเราพยายามจะทำ และบอกให้คณะทำ คือการสปอนเซอร์ให้อาจารย์ที่อาสาเข้ามาสอนวิชาใหม่ๆ ให้เขาไป take course ที่เป็นประโยชน์กับการสอนของเขา เชิญบรรยายให้ ซื้อหนังสือให้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เขา เพราะผมเชื่อว่าอาจารย์จำนวนหนึ่งก็อาจงงๆ อยู่ว่าแล้วกูจะสอนอะไร

ถามว่าอาจารย์รู้สึกยังไง ผมว่าบางคนก็พร้อมแล้วที่จะสอน แต่สำหรับผม ผมก็กังวลนะ ผมมีคอร์สในลิสต์ที่ต้องไปเรียนภายในสองสามเดือนนี้อยู่จำนวนหนึ่ง และผมก็ต้องรับผิดชอบมีวิชาใหม่ที่ไม่เคยสอน ก็คือวิชา ‘สื่อกับสังคม’ ที่เล่าให้ฟัง ที่กังวลเพราะมันเป็นวิชาใหม่ซึ่งเราไม่คุ้นเคย พูดง่ายๆ ว่า แต่ละวิชาที่ผมเคยสอนมา กว่าจะเข้าปาก กว่าจะพลิ้ว มันใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่ว่าสอนแล้วพลิ้วเลย (หัวเราะ)

แต่วิชานี้น่าสนใจ จะเน้นเรื่องของการฝึกคิด ฝึกคิดแปลว่าต้องมาจากการอ่านก่อน ถ้าจะอ่าน อ่านอะไรล่ะ ก็ต้องอ่าน current affair ที่อยู่ในสังคมทั่วๆ ไป อาจเริ่มจากประเด็นที่น่าสนใจ เช่น เรื่องผู้หญิง ความรุนแรง บรรษัทข้ามชาติ อาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นในปัจจุบัน อ่านแล้วมานั่งคุยกัน ซึ่งจะได้สองอย่างแน่ๆ คือได้ข้อมูลใหม่ กับได้ฝึกการคิดตามด้วย พอเอาเข้ามาคุยในห้องเรียน ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ต้องฝึกการคิดวิเคราะห์ ฝึกการฟังอย่างตั้งใจ ได้หลายทักษะอยู่ ระยะสามสี่เดือนนี้ผมรับผิดชอบวิชานี้

รุจน์ โกมลบุตร

พูดถึงเรื่อง critical thinking อาจารย์คิดว่าที่ผ่านมาการเรียนการสอนในคณะ หรือกระทั่งมหาวิทยาลัย ได้สอนทักษะนี้อย่างเพียงพอไหม

อันนี้ผมอาจต้องถามคุณมากกว่า ว่าตอนที่คุณเรียน คุณได้ทักษะเหล่านี้แค่ไหน.. (ยิ้ม)

จริงๆ มันเป็นอุดมคติของอุดมศึกษาหรือเปล่า ว่าต้องฝึกทักษะนี้ เพราะตอนมัธยมเราเรียน what กับ why แต่อุดมศึกษามันต้อง why and how โดยอุดมคติมันต้องทำอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง อย่างที่คุณก็รู้ การสอนส่วนใหญ่มันเป็น lecture base ซึ่งไม่ได้สนใจเรื่อง critical thinking เท่าไหร่

ถามว่าทำไมถึงเลคเชอร์เยอะ ถ้าว่ากันถึงที่สุด ก็เชื่อมไปถึงเรื่องโครงสร้างการเรียนการสอน โครงสร้างของมหาวิทยาลัย เช่น การที่คุณต้องแบกรับนักเรียนสองร้อยคนต่อปี การที่คุณต้องประหยัดต้นทุน การที่คุณต้องมีการวัดผลแบบเอาไปสอบ สุดท้ายมันบีบให้การเรียนการสอนออกมาเป็นแบบนี้ เรื่องนี้เป็นอีกยกหนึ่งที่ต้องคุยกัน

นอกจากเรื่อง critical thinking มีทักษะอื่นๆ อีกไหมที่เด็กยุคนี้ควรมี และมหาวิทยาลัยควรสอน

ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรเหมือนกัน แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นอุดมคติของการศึกษา ซึ่งน่าจะมี 2 เรื่องใหญ่ๆ

เรื่องที่หนึ่งคือ ทำให้คนปลดปล่อยจากพันธนาการทั้งหลาย เขาควรจะรู้ว่าเสรีภาพในชีวิตคืออะไร อะไรเป็นสาระแก่นแท้ อะไรเป็นเรื่องจอมปลอม อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่การศึกษาต้องทำ ไม่ใช่เฉพาะวารสารศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของทั้งระบบ

อีกเรื่องคือการสร้างความรับผิดชอบต่อโลก ต่อสังคมของเรา ไม่ใช่ต่อประเทศชาตินะ แต่ต่อโลกและสังคมในฐานะที่เราอยู่ใน global community สองเรื่องนี้เป็นเรื่องสากลของการศึกษาที่ควรจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นให้ได้

 

ย้อนกลับมาที่เรื่องสาขาวารสารศาสตร์ การที่ต้องเปลี่ยนชื่อสาขาใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะนักศึกษาสนใจสาขานี้น้อยลงด้วยรึเปล่า

ใช่ อย่างปีล่าสุด มีแจ้งความจำนงไว้ 5 คน ก็เป็นที่ตระหนกตกใจในสาขาพอสมควรว่าทำไมมัน 5 คน ซึ่งเราก็วิเคราะห์กันว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการติดภาพว่าต้องกางหนังสือพิมพ์ออก หรือต้องทำนิตยสารเป็นเล่มๆ การที่เราเปลี่ยนชื่อสาขา คือการพยายามบอกว่า เรากำลังผลิตเนื้อหานะ แต่รูปแบบอะไรค่อยว่ากัน

ในฐานะที่สอนสาขานี้เป็นหลัก พอเหลือนักศึกษาแค่ 5 คน อาจารย์กังวลไหม

ไม่ครับ เพราะตั้งแต่สมัยผมเป็นนักศึกษา ก็มีกันอยู่แค่ 10 คน ยุคที่มากสุดก็ประมาณ 30 คน แต่ช่วงหลังก็ชัดเจนว่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเลขตัวเดียวมาปีสองปีแล้ว

แต่พอไม่มีนักศึกษาเข้ามาเรียน ก็อาจส่งผลต่อบุคลากรที่จะออกไปทำงานในสายนี้ด้วยหรือเปล่า

ถ้าพูดแบบโอ้อวดหน่อย จุดแข็งของคณะวารสารฯ ไม่ใช่เฉพาะสาขาหนังสือพิมพ์ คือการจับประเด็น แล้วสื่อสารประเด็นอย่างมีวัตถุประสงค์ ผมว่านี่เป็นจุดแข็ง ในแง่การดีไซน์เราอาจไม่ดีเท่าที่อื่น แต่เรื่องจับประเด็นที่นี่เป็นจุดแข็ง ถ้าจะเสียดายอะไรสักอย่าง ก็คงเป็นอย่างที่คุณว่า คือตลาดตรงนี้อาจหายไปส่วนหนึ่ง

แต่โดยรวม อุดมศึกษาทั้งหมดจะเจอภาวะผู้เรียนน้อยลงแน่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของประชากร อย่างยุคผมเป็นยุค Baby Boomer ถ้าดูตัวเลขตั้งแต่ยุคผมเป็นต้นมา ถึงเมื่อสักสิบปีที่แล้ว มีที่นั่งในชั้นเรียนอุดมศึกษาราวๆ 1.5 ล้านที่นั่ง เพราะกลุ่มประชากรวัยรุ่นมันเยอะ แต่ยุคหลังๆ อัตราการเกิดต่ำลง ที่นั่งเท่าเดิม แต่คนไม่เต็มแล้ว เราเริ่มเห็นแล้วว่าโรงเรียนตามต่างจังหวัดถูกยุบ และตอนนี้ก็เริ่มลามมาถึงมหา’ลัยแล้ว

ถ้าดูจากข้อมูล ณ เวลานี้ มีผู้เรียนจริงๆ อยู่แปดแสน ขณะที่ห้องเรียนรองรับได้ 1.5 ล้าน พูดง่ายๆ คือปิดได้ครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นการที่สาขาหนังสือพิมพ์ หรือชื่อใหม่คือวารสารศาสตร์ มีคนเรียนลดลง ส่วนหนึ่งก็สะท้อนสถานการณ์ในภาพใหญ่ด้วย เพียงแต่ธรรมศาสตร์โดยรวมยังไม่กระทบนัก เนื่องจากแบรนด์มันแข็ง แต่ที่อื่นที่แบรนด์ไม่แข็งจะเจอภาวะนี้ก่อน มหา’ลัยเอกชนจะเจอก่อน หลายที่เริ่มมีปัญหาแล้วว่าผู้เรียนไม่พอ เริ่มปิดบางสาขาไปแล้ว

กังวลว่าสาขาวารสารศาสตร์จะถูกปิดไหม

ถ้าจะปิดก็ปิด ก็ให้เป็นไปตามพลวัตของมัน ถามว่าเป็นห่วงไหม ไม่ค่อยห่วง เอาเข้าจริงมันเป็น scenario ที่ผมคิดไม่ค่อยออกเหมือนกัน ว่าการปิดสาขาหนังสือพิมพ์ สาขาวารสาร มันคืออะไร ในความหมายที่ว่า แม้มันอาจไม่ได้เป็น major แต่มันยังเป็น minor ได้ไง ยังมีวิชาเขียนข่าวอยู่ ยังมีวิชา data journalism อยู่ แต่อาจไม่สามารถเปิดให้เรียนครบจนเป็น major ได้

มุมของผมคือ ถ้าปิดสาขา อาจแปลว่าจะไม่มีคนจบ major นี้แล้ว แต่ตัววิชาต่างๆ ยังเป็นวิชาเลือกให้กับคนที่ลง major อื่นๆ ได้

ยกตัวอย่างวิชาเขียนบทความที่ผมสอนมาสิบปี ก็ไม่เคยมีปีไหนที่มีแต่เด็กสาขาวารสารนะ มีเด็กสาขาอื่น คณะอื่น มานั่งแจมตลอด อย่างปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาคนหนึ่งจากศิลปศาสตร์ เอกภาษาศาสตร์ มาลงด้วย คนนี้นี่ดิกชันนารีเคลื่อนที่เลย เวลาเพื่อนในคลาส หรือกระทั่งตัวผมเอง เจอปัญหาเรื่องคำ เรื่องภาษา คนนี้ช่วยได้ตลอดเวลา ซึ่งผมก็เชียร์ให้เด็กคณะอื่นมาเรียนกันเยอะๆ ด้วยนะ เพราะคนที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวเราและเด็กวารสารด้วยกันเอง

แล้วในแง่ของวิชาข่าว รวมถึงการทำงานข่าว ความสนใจลดลงบ้างไหม

อันนี้น่าสนใจ เพราะว่าวิชาข่าว นอกจากสาขาวารสารแล้ว สาขาวิทยุโทรทัศน์ก็มี ซึ่งสาขาวิทยุโทรทัศน์นี่คนลงน้อยมาก บางเทอมไม่มีคนลง หรือลงกันแค่คนสองคน ก็ต้องปิด มีบางเทอมไม่ได้สอนเลย

ถ้าลองวิเคราะห์ อาจเพราะคนติดภาพว่างานข่าวเป็นงานหนัก งานเหนื่อย เงินเดือนน้อย ซึ่งก็เป็นตั้งแต่สมัยผมแล้วนะ ทำงานหนัก ไม่เป็นเวล่ำเวลา ดึกดื่นเที่ยงคืนก็ต้องโดดไปทำข่าวแล้ว แล้วก็เงินเดือนน้อยอีก คนก็เลยไม่ค่อยอยากเป็นกันเท่าไหร่ ประกอบกับช่วงหลังๆ ที่มีการปิดตัวลงของสื่อกระดาษ สื่อหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ผมว่าอันนี้ก็ทำให้คนกลัว งานก็หายาก เงินก็ไม่ดี แถมเป็นอุตสาหกรรมที่ตะวันตกดินอีก แล้วกูจะไปเรียนทำไมวะ มีหลายปัจจัยประกอบกัน

รุจน์ โกมลบุตร

อาจารย์คิดว่านิยามเรื่องการทำสื่อของเด็กรุ่นใหม่ ต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้ไหม ยังไง

โดยรวมๆ ผมว่าเป็นเรื่องพฤติกรรม คือแทบไม่จับกระดาษเลย ตำราอาจจับบ้าง ชีทก็ใช้บ้าง แต่ว่าในชีวิตประจำวัน การ์ตูนก็อ่านใน ipad แล้ว นิยายก็อยู่ในนั้น เวลาจะโน้ตอะไรก็ใช้มือถือ ความเห็นผมคือเขาไม่ค่อยจับกระดาษกันแล้ว

อย่างวันก่อน ผมเอาหนังสือพิมพ์มาให้อ่านในคลาส เปิดคลาสมาผมก็บอกให้ทุกคนอ่านบทบรรณาธิการ ให้เวลาสิบนาที ไอ้เราก็นั่งเงียบๆ อ่านของเราไป เขาอ่านของเขา สักพักก็มีคนหนึ่งค่อยๆ ยกมือถาม อาจารย์คะ บทบรรณาธิการคือตรงไหน (หัวเราะ) มันสะท้อนว่าเราอยู่กันคนละยุคสมัยจริงๆ ซึ่งผมว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เปลี่ยนไปตามกาลเวลา คำถามคือว่าแล้วสื่อกระดาษจะทำยังไงต่อ ก็มีคนบอกว่าต้องทำเป็นของหายาก เป็นของวินเทจ หรือไม่ก็ต้องเป็นของยูนีค เป็นแรไอเท็มก็ว่ากันไป

ทำไมยังใช้หนังสือพิมพ์ในการเรียนการสอนอยู่

เพราะผมอยากให้เขาได้เห็นการเรียบเรียงข่าวในแบบยาวและครบถ้วน ว่ามันอยู่บนหน้า 1 ยังไง รวมถึงข่าวรองๆ ที่อยู่หน้าใน ซึ่งในฟอร์แมตของสื่อออนไลน์บทเว็บไซต์ข่าว มันดูยาก ทั้งการจัดวาระ และความครบถ้วน มันจะมีข่าวเล็กๆ แต่สำคัญอยู่บนหนังสือพิมพ์ ขณะที่บนเว็บจะกลายเป็นข่าวด่วนขนาดสั้นเป็นส่วนใหญ่ การอ่านหนังสือพิมพ์จะช่วยให้เห็นทั้งเรื่องและวาระของมัน เห็นทั้งความครบถ้วนทั้งข่าวใหญ่และข่าวเล็ก

เท่าที่ทราบมา อาจารย์เป็นคนที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดีย และมีวิถีชีวิตแบบ old fashion พอสมควร อยากรู้ว่าในฐานะคนที่สอนการทำสื่อในยุคที่ภูมิทัศน์สื่อกำลังพลิกโฉม อาจารย์ทันข่าว-ทันโลกแค่ไหน

(หัวเราะ) ผมว่าผมเป็นหลุมดำนะ เป็นหลุมดำที่ดูดทุกอย่างเข้ามา

เอาง่ายๆ ว่าแป๊บเดียวที่ผมนั่งคุยกับคุณ ผมก็รู้แล้วว่ากำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมแทบจะไม่ตกข่าวเลย ผมเคยเข้าไปส่องเฟซบุ๊กอยู่บ้าง แล้วก็ตอบตัวเองได้ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจ เนื้อหาส่วนมากเป็นเรื่องที่เราไม่ได้สนใจ ส่องอยู่พักหนึ่งก็เลิกส่อง ปล่อยให้ข่าวสารมันหมุนไป เพราะสุดท้ายถ้ามันสำคัญจริงๆ มันจะมาถึงหูเราในที่สุด

ถามว่าทันโลกมั้ย ก็อาจไม่ทันจริงๆ นั่นแหละ ต้องอาศัยฟังเพื่อนคุยให้ฟัง เช่น มีแผ่นดินไหวที่ลำปาง หรือวันนี้ค่าฝุ่นเท่าไหร่ อีกทางคืออ่านเอาเองตามเว็บ ซึ่งก็รู้เร็วไม่เท่าคนอื่นแน่นอน แต่ประเด็นของผมคือ ความจำเป็นที่ผมต้องรู้ให้เร็วด่วนจี๋คืออะไร

ผมอาจคิดเข้าข้างตัวเองว่า ผมไม่รู้เร็วก็ได้ แต่ขอให้รู้ให้มากพอต่อการตัดสินใจ แม้จะช้าไปบ้างก็ตาม ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเช็คโน่นนี่นั่นตลอดเวลา แต่อาศัยว่าพอเวลาผ่านไป ข้อมูลนิ่งขึ้น เราก็ค่อยๆ ละเลียดข้อมูลให้รอบด้านเต็มที่

ส่วนอะไรที่ตกหล่นไป คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ก็เป็นโอกาสดีที่ให้เพื่อนที่รู้เรื่องจะสรุปให้ฟัง ซึ่งส่วนมากเพื่อนก็ยินดีจะเล่าให้ฟังอย่างเต็มใจ นอกจากนี้ถ้ายังตกข่าวอีก ก็ต้องยอมให้ตกแล้วแหละ ซึ่งคงจะตกหลายต่อหลายเรื่องด้วย แต่ที่ผ่านมา ชีวิตผมก็เรียบร้อยดีอยู่นะ

ผมเลยอยากชวนใครก็ได้ ช่วยมาทำวิจัยหน่อยว่าคนไม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์แบบผม จะมีผลให้ชีวิตบกพร่องไปด้านใด อย่างไรบ้าง เพราะผมเคยได้ยินหลายคนบอกว่า แค่ไม่ได้แตะมือถือสักหนึ่งชั่วโมง ก็ร้อนรน ทำท่าจะอยู่ไม่ได้แล้ว หรือบางคนจะไปเข้าคอร์สสมาธิ แต่เขาห้ามใช้มือถือตลอดการอบรม ก็เลยพากันเท เลยอยากชวนให้มาทำวิจัยหน่อยว่า หากไม่ใช้โซเชียลแล้วชีวิตมันจะยังไง

เวลาสอน เจอ gap บ้างไหม ในแง่ที่อาจารย์กับนักศึกษารุ่นใหม่เสพสื่อไม่เหมือนกัน

มีอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาเจอนักศึกษา ไม่ว่ารุ่นไหน ผมจะถามเสมอว่าใครทำอะไรกันอยู่ เพื่อจะได้รู้จัก mindset ซึ่งกันและกัน นักศึกษารู้จัก mindset เราดีอยู่แล้ว เพราะเราพูดตลอดเวลา แต่หน้าที่ของเราคือต้องพยายามดูว่านักศึกษามีอะไรอยู่ในมือของเขาบ้าง สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือให้เขาพูดออกมา คุยกันในห้อง อีกทางคืออ่านจากงานที่เขาเขียนมา

ทุกวันนี้ติดตามข่าวสารจากช่องทางไหนเป็นหลัก

เข้าเว็บไซต์เป็นหลัก แต่หนังสือพิมพ์ก็ยังเปิดอยู่ เว็บไซต์ทั้งหลายมันเร็วก็จริง แต่กูต้องตามมึงทุกสิบนาที สู้วันรุ่งขึ้นให้มันจัดพรวดเดียวมาในหนึ่งฉบับดีกว่า แล้วดูว่าวันนี้ภาพรวมทั้งประเทศชาติ ทั้งโลก มีอะไรบ้างในกระดาษสิบกว่าแผ่น

เราอยากได้เสิร์ฟแบบเต็มจานไง หนังสือพิมพ์คือเต็มจาน แต่ออนไลน์คือค่อยๆ กิน ทีละคำๆ ซึ่งเราไม่มีมือถือ ไม่ได้ออนไลน์หน้าจอตลอดเวลา เอาไว้ใช้เท่าที่จำเป็น

ถามต่อในฐานะที่อาจารย์ยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ เห็นการเปลี่ยนแปลงไหมทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบ

ถ้าแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ คือข่าว กับคอลัมน์ ผมว่าส่วนที่เป็นข่าวมันเปลี่ยนเยอะ เช่น จะมีข่าวที่ดึงมาจากเฟซบุ๊ก จากไอจี โผล่เข้ามา เช่น ไอจีคนนั้นคนนี้บอกว่า เฟซบุ๊กคนนั้นคนนี้เขียนว่า หนังสือพิมพ์จะกรองเนื้อหาพวกนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของข่าวสำคัญๆ เช่น เรื่องพ.ร.บ.ข้าว ที่เพิ่งเข้าสภาไป ในเนื้อข่าวก็เขียนว่า มีอาจารย์คนนั้น โพสต์เฟซบุ๊กแบบนี้ๆ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาเราอยากได้ความเห็นอาจารย์สักคน ก็ต้องโทรนัดสัมภาษณ์ แล้วเอามาเขียน แต่เดี๋ยวนี้มีการเอาเนื้อหาจากโซเชียลมีเดียมาเขียนข่าวมากขึ้น

ส่วนเรื่องคอลัมน์ ผมว่าไม่ค่อยเปลี่ยนนะ แล้วผมคิดว่าหนังสือพิมพ์เวลานี้ขายคอลัมน์ด้วยซ้ำ เพราะตัวข่าวมันคล้ายๆ กัน เราอยากอ่านอาจารย์นิธิ อาจารย์เกษียร อยากอ่านสฤณี ก็ต้องดูว่าเขาเหล่านั้นไปอยู่ในคอลัมน์ไหน หัวไหน เป็นต้น

แล้วเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ความน่าเชื่อถือ มีอะไรน่ากังวลไหม

เรื่องความน่าเชื่อถือ ผมว่าเป็นเรื่องการพิสูจน์ตัวเอง สั่งสมบารมี และทำให้ผู้บริโภคหรือผู้อ่านทั้งหลายเห็นว่าตกลงคุณคือใครกันแน่ แต่ว่าก็ต้องใส่เครื่องหมายดอกจันให้คุณผู้อ่านผู้เสพสื่อด้วยว่า เมื่อพูดถึงความน่าเชื่อถือ มันกลับไปกลับมาได้เหมือนกัน พูดง่ายๆ คือบางวันเขาก็พลาดได้ ในแง่นี้ก็ต้องมีพื้นที่ว่างเพื่อยอมรับความผิดพลาดของคนทำด้วย หมายความว่าคนอ่านก็ต้องพยายามเหมือนกัน ในการเก็บข้อมูลระยะยาวว่าสื่อนี้ใช้ได้ไหม หรือสื่อนี้อย่าไปเชื่อมันเลย เป็นเรื่องวิจารณญาณและความสามารถส่วนบุคคลในการคัดกรอง

ในแง่นี้ สื่อสถาบันหลายแหล่งที่เคยมีความน่าเชื่อถือ เป็นเสาหลักของสังคม ทุกวันนี้ดูเหมือนจะค่อยๆ เสื่อมความน่าเชื่อถือลงไปพอสมควร

ผมว่าความเป็นสื่อสถาบันมันไม่ได้การันตีอะไรมานานแล้วนะ ถ้าเราดูดีๆ มันก็มีความพลิ้ว มีข้อผิดพลาด กระทั่งมี agenda บางอย่างมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าชัดไม่ชัด รู้ไม่รู้ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

พอมาถึงยุคสื่อใหม่ที่มีความหลากหลายของสื่อ ผมก็ยังเชื่อว่าเราต้องมีความรู้เท่าทันด้วยตัวของเราเองประมาณหนึ่ง ไม่ว่าจะสื่อสถาบัน หรือไม่สถาบัน มันการันตีได้ยากว่าอะไรน่าเชื่อถือกว่ากัน

แล้วสื่อแบบไหนที่จะเป็นที่พึ่งพิงหรือไว้เนื้อเชื่อใจได้

แบบหนึ่งที่นึกได้คือ จะมีสื่ออยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง ที่ไม่ว่าใครเข้าไปอ่านแล้วพยักหน้า ไม่ว่ากลุ่มการเมืองไหน พออ่านปุ๊บ เออ รับฟังได้ น่าเชื่อถือ หรือย่างน้อยๆ ก็ทำให้เขาต้องใจเย็นขึ้น พิจารณาบางเรื่องบางประเด็นอย่างละเอียดขึ้น แบบนี้ผมว่าน่าสนใจ

หรือถ้าคุณเป็นสื่อที่อยู่ในสังกัดขั้ว คุณสามารถพูดจาให้อีกขั้วหนึ่งเปิดใจรับฟังได้ไหม ที่เห็นเดี๋ยวนี้มันฟังกันไม่ค่อยได้ กลายเป็นเรื่องสาดเสียเทเสีย ทำ fake news ถล่มใส่กัน เวลากลุ่มเอเขียนข่าวด่ากลุ่มบี คนกลุ่มเอก็ตบมือเฮ ชอบใจ แต่คนกลุ่มบีโกรธหมด แต่ถามว่าได้มาอ่านงานกลุ่มเอจริงหรือเปล่า ก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง เพราะรู้สึกว่าอ่านไปก็มีแต่ข่าวจริงบ้างไม่จริงบ้าง ก็เลยปิดหูปิดตา ไม่อ่าน แล้วก็เลือกรับข้อมูลเฉพาะในกลุ่มตัวเอง

ภาวะนี้เรียกว่าวงเวียนแห่งข้อมูล เปรียบง่ายๆ ว่าคุณอยู่ในกรวยที่มีเสียงบางเสียง ข้อมูลบางชุด ดังก้องอยู่ในนั้น แต่เสียงอื่นๆ ที่แตกต่าง ไม่ว่าจะดังกว่าหรือเบากว่า มันแทรกเข้ามาในกรวยนี้ไม่ได้ ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ควรจะทำให้คนเข้าใจและตระหนักรู้

สถาบันการศึกษา รวมถึงสื่อเอง ต้องช่วยกันทำความเข้าใจกับคนในสังคม ว่าคุณต้องใจเย็นๆ ลงหน่อย เพราะคุณกำลังอยู่ในชุดข้อมูลเดียวภายในกรวยนี้ เรื่องนี้มีหลักฐานงานวิจัยบอกชัดเจน ว่าทุกวันนี้คนอยู่ในกรวยจริงๆ แล้วถ้าย้อนกลับไปสเต็ปเมื่อกี้ สิ่งที่สื่อควรมีและควรทำ คือการทำให้คนอ่านไม่ว่าจะอยู่ในกรวยไหน เข้าไปอ่านแล้วรู้สึกว่า เออ แม่งจริงว่ะ แม้แต่สื่อที่เลือกข้างก็ตาม คุณต้องทำข้อมูลข่าวสารให้อีกข้างหนึ่งรับฟังได้ด้วย ซึ่งแปลว่าคนที่เป็นผู้เขียน เป็นกอง บ.ก. ต้องเปิดกว้างมากๆ

ต้องยึดหลักอะไรถึงจะทำแบบนั้นได้

ผมว่าเป็นเรื่องบาลานซ์ กับเรื่องความหลากหลาย สังเกตว่านักข่าวแต่ละค่ายก็มักจะใช้แหล่งข่าวซ้ำๆ หน้าเดิมๆ ค่ายหนึ่งก็มีแต่อาจารย์หน้านี้ อีกค่ายก็มีแต่อาจารย์หน้านี้ จะไม่ค่อยมีใครเอามาไขว้กันเท่าไหร่ ผมเลยรู้สึกว่าถ้าใช้ความบาลานซ์ และหลากหลาย น่าจะช่วยได้ คือชมตัวเองบ้างก็ได้ ด่าตัวเองบ้างก้ได้ แล้วเวลาวิพากษ์คนอื่น ก็วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องสาดเสียเทเสีย ผมว่าน่าจะช่วยได้

 

รุจน์ โกมลบุตร

อาจารย์มองเห็นจุดดี จุดด้อย อะไรบ้าง ในการที่สื่อขยับมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

ข้อเด่นๆ คือเรื่องการเจาะข้อมูล การทำข้อมูลดีๆ ออกมาแล้วโชว์ให้สาธารณะรับรู้ ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่สื่อ แต่มาจากฝีมือปัจเจก มีที่น่าสนใจหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีนาฬิกาเพื่อน ผมชอบมาก

การขยับมาสู่ออนไลน์ ยังไงมันก็ดีกว่าแน่ๆ เพราะเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารคืออำนาจ ยิ่งมีข้อมูลเยอะ ไม่ว่าจะปลอมหรือไม่ปลอม จริงหรือไม่จริง ยังไงก็ดีกว่าการที่ข้อมูลข่าวสารถูกผูกขาดในมือ กองบ.ก. หรือในมือของสื่อเพียงกลุ่มเดียว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ผู้บริโภคสื่อด้วยในการคัดกรองข้อมูลข่าวสาร

อย่างเรื่องนาฬิกาเพื่อน ถ้าไม่ได้เซียนนาฬิกาคนนั้นมาช่วย ก็คงไม่เปรี้ยงขนาดนี้ ความหลากหลายของข้อมูลข่าวสารทำให้คนมองเห็นตัวเลือก มีคนบอกว่ามันจะโกลาหล แน่นอน ก็คงโกลาหลอยู่ แต่ถ้าให้แลกระหว่างการกุมข้อมูลข่าวสารไว้กับคนกลุ่มหนึ่ง กับการปล่อยฟรี ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าปล่อยฟรีดีกว่าแน่ๆ

เรื่อง fake news เป็นปัญหาที่คนพูดกันเยอะ แต่สุดท้ายผมว่าคนก็เรียนรู้นะ เวลาเสพพวกนี้ก็เอะใจนิดนึง อย่าเพิ่งเชื่อทันที นี่ควรเป็นคาถาของคนยุคนี้

แล้วถ้าคนที่ไม่ทันสื่อจริงๆ หรือแยกแยะไม่ได้จริงๆ จะทำยังไง

พูดแบบนี้ก็เหมือนว่าคุณต้องการให้มีคนมาคอยคุม ว่าอะไรดูได้ ดูไม่ได้ ถูกไหม แต่คำถามคือเราจะเอาแบบนั้นจริงๆ หรือ ถ้าเป็นผม ผมไม่เอา ไม่ต้องมาช่วยกู กูคิดเองได้ ไม่ต้องมีคุณพ่อรู้ดีมาคอยบอก ผมว่าไม่คุ้มที่จะแลก

แล้วโดยยุคสมัยและเทคโนโลยี มันไปไกลแล้ว คุณจะย้อนไปใช้วิธีแบบสมัยสงครามโลกไม่ได้แล้ว ขนาดจีนยังทำไม่ค่อยได้เลย ในยุคแบบนี้คุณจะปิดหูปิดตาทุกคนได้ยังไง ฉะนั้นผมจึงเห็นว่ามีทางเลือกเดียว คือต้องชนกับกองข้อมูลข่าวสารอันท่วมท้นนี้ แล้วก็ต้องช่วยกัน educate คณะวารสารฯ คณะนิเทศศาสตร์ อาจต้องยื่นมือมาช่วยมากขึ้น ในแง่การทำวิจัย เผยแพร่งานวิจัยเพื่อ educate ผู้คนให้เท่าทันสื่อ เท่าทันข้อมูลข่าวสาร

สุดท้ายผมยังเชื่อว่า พอถึงจุดหนึ่ง คนมันต้องนึกออกบ้างแหละวะ ผมไปเจอกลุ่ม peer group กลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหว คุยไปคุยมา เขาบอกว่าพวกเขาถูกหลอกมาโดยตลอด ผมก็ถามว่าแล้วรู้ได้ไง เขาก็บอกว่าได้ยินอย่างโน้นอย่างนี้มา คือจะให้เราไปบอกตรงๆ ว่า เฮ้ย คุณถูกหลอก เขาก็ไม่เชื่อคุณหรอก แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เขาเริ่มสะสมข้อมูล ได้เจอชุดข้อมูลใหม่ๆ เขาจะเชื่อมโยงและนึกออกเอง เออว่ะ กูถูกหลอกจริงๆ ด้วย

อีกปัญหาของสื่อใหม่ คือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีทั้งการละเมิดโดยตั้งใจเจาะระบบเข้าไป หรือใช้อำนาจรัฐในการเข้าค้น กับการละเมิดโดยไม่ตั้งใจ เช่น ผู้ประกอบการทำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าหลุด

หลายคนอาจบอกว่า แค่เบอร์โทร ที่อยู่ หรือเลขบัตรประชาชนที่หลุดออกไปนั้น ไม่เห็นเสียหายอะไรนักหนา หากไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร คำพูดแบบนี้อาจสะท้อนถึงความไม่หวงแหนในข้อมูลส่วนตัวเท่าที่ควรหรือไม่ เพราะต่อให้ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ในบางกรณีการรักษาข้อมูลส่วนตัวก็เป็นเรื่องจำเป็น เช่น การเป็นผู้เปิดโปงข้อมูลเรื่องนาฬิกาเพื่อน หรือตรวจสอบเรื่องนักเรียนเตรียมทหารเสียชีวิตลึกลับ กรณีแบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ข้อมูลส่วนตัวของผู้ตรวจสอบจะต้องไม่ถูกเปิดเผย

ขยับมาที่การทำงานของสื่อในยุค คสช. อาจารย์มองเห็นอะไรบ้าง

ผมมีสองประเด็นใหญ่ ประเด็นที่หนึ่งคือ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เขาประกาศตัวว่าเขาเป็น คสช. เขาเป็นเผด็จการ คุณจะแปลกใจอะไรถ้าเขาจะมาปิดกั้นสื่อ แทรกแซงสื่อ เขาทำตามทฤษฎีสื่อเลยนะ ก็กูเป็นเผด็จการ กูต้องห้ามคนอื่นพูด กอดตำรามาเป๊ะ ข้อนี้ผมว่าไม่ต้องแปลกใจ คนที่ตีโพยตีพาย ผมว่าสุดท้ายอาจจะเหนื่อยฟรี ส่วนตัวผมไม่ขอเล่นบทบาทนี้ ใครอยากทำ อยากเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ก็ทำไป ผมขอเป็นผู้ให้กำลังใจอยู่ห่างๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยนะ แต่มองแบบเข้าใจความเป็นทหาร อย่างการเรียกปรับทัศนคติ ก็มีสื่อจำนวนมากโดนเรียกเข้าค่าย บางคนถูกจับไปขังเดี่ยว อาจไม่เป็นข่าวชัดเจน แต่คอนเฟิร์มว่ามีอยู่จริง มีหลายแบบ เรียกมาคุยเพราะๆ ก็มี คุยแบบกูมึง ด่าพ่อล่อแม่ก็มี หนักสุดคือจับไปขังเดี่ยว ซึ่งคนที่ผ่านกระบวนการปรับทัศนคติออกมา ก็มีหลายแบบ มีทั้งคนที่อยู่เฉยๆ เงียบๆ ไป กับคนที่ยังเปรี้ยวอยู่ทุกวันนี้ก็มี

แต่ถ้ามองในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผมเห็นมากับตา ยุคนี้น่าจะแรงกว่าเพื่อน อย่างยุคพฤษภา 35 นี่ไม่มีการปิดสื่อ แต่ยุคนี้  Voice TV เจอไปกี่หน อันนี้ผิดรัฐธรรมนูญนะครับ เขียนชัดเจนว่าห้ามปิดสื่อ แต่ กสทช. ทำแบบนี้มาสองสามรอบแล้ว เพียงแต่รอบล่าสุดนี้ ผมแอบลุ้นและดีใจว่าที่ Voice TV เขาไม่ยอม และไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองก็ให้ความคุ้มครองชั่วคราว

ประเด็นต่อมา เป็นผลจากการเรียกสื่อไปปรับทัศนคติ รวมถึงบรรยากาศทั้งปวง ที่สร้างบรรยากาศให้คนรู้สึกว่าต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ผมอ่านงานวิจัยทั้งหลาย พบว่า บ.ก. ทั้งหลายใช้วิธีลดการวิพากษ์วิจารณ์ คสช.ลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย ทำให้คนทั่วไปเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย แต่ก็ยังดีที่มีโซเชียลมีเดียมาช่วย ทำให้คนเห็นว่ามันยังมีข้อมูลอื่นๆ บ้าง

แล้วสื่อควรดีลกับสภาวะอย่างนี้ยังไง รู้ว่าอาจโดนปิด โดนเรียกเข้าไปคุย ถ้าไม่เซ็นเซอร์ตัวเองแล้วจะทำงานยังไง

รออีกเดือนเดียว (หัวเราะ) นี่ตอบกำปั้นทุบดิน

ผมไม่มีข้อมูลเลยว่าเขาปรับตัวยังไงในทางบวก เท่าที่เห็นมีแต่ปรับตัวในทางลบ คือเป็นสื่อเชื่องๆ ไม่วิพากษ์วิจารณ์เท่าที่ควรจะเป็น

มีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ แต่เป็นยุคทักษิณ ยุคนั้นก็แสบ เพราะกูเลือกมึงมากับมือไง ปรากฏว่ามาแทรกแซงสื่อ ยุคนั้นจะมีรายการสัมภาษณ์ รายการทอล์กเกิดขึ้นเยอะ พอถึงยุคทักษิณก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ทักษิณเริ่มไม่ชอบ เพราะว่าแขกในรายการไปด่าเขาเยอะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคนไปกระซิบผู้ดำเนินรายการ บอกว่าห้ามถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล คุยอะไรก็คุยไป แต่อย่าคุยเรื่องนี้ ปรากฏว่าพิธีกรเหล่านั้นก็เก่งมาก ไปบอกแขกรับเชิญก่อนออกอากาศว่า อาจารย์จะพูดอะไรเกี่ยวกับทักษิณก็พูดเลยนะครับ โดยผมไม่ต้องถาม (หัวเราะ)

นี่เป็นวิธีดิ้นรนในสมัยนั้น แต่วิธีดิ้นรนในสมัยนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาทำยังไงกัน เพียงแต่เท่าที่สังเกต มันเงียบงันกันไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

นอกจากประเด็นที่ว่ามา ก็มีเรื่องอื่นๆ เข้ามารายล้อมด้วย ที่ทำให้กองบรรณาธิการของสื่อใหญ่ๆ ไม่มีกระจิตกระใจไปทำเรื่องของรัฐบาล เช่น เหนื่อยแล้วเว้ยทำเรื่องนี้ ไปทำเรื่องอื่นดีกว่าไหม ทำเรื่องหมูหมากาไก่ คลิปเป็ดคลิปแมว สนุกสนานเฮฮา คนดูก็เยอะ แรงจูงใจทางการตลาดก็เทไปทางนั้นเยอะด้วย แล้วทำไมเราต้องไปเสียเวลากับเรื่องที่ทำแล้วอาจจะเจ็บตัว ไปทำเรื่องขำๆ ดีกว่า

อีกประเด็นที่ผมสนใจคือ นอกจากความเข้มแข็งของ คสช.แล้ว ความเข็มแข็งของ peer group กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเข้มแข็ง ก็อ่อนกำลังลงนะ เช่น กลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มผู้รักประชาธิปไตยอะไรทั้งหลาย อ่อนแอลงชัดเจน ยังมีอยู่ แต่น้อยมาก และต้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง หรือเกี่ยวแต่ห่างมากๆ พูดตรงๆ คือทำงานกันไม่ค่อยได้ เพราะ คสช. จ้องเล่นงานตลอด ออกแรงอย่าสุดลิ่มทิ่มประตู ทั้งหมดนี้ทำให้ดิ้นรนลำบาก ถามว่าควรทำยังไง อย่างง่ายสุดก็รอเดือนหน้า

ส่วน peer group ที่เป็นทางการ เช่น regulator ทั้งหลาย อย่าง กสทช. ที่ดูแลด้านสื่อ กลายเป็นต้องตั้งคำถามว่าตกลงคุณทำเพื่อผู้บริโภคจริงหรือเปล่า หรือกำลังทำตามใบสั่งใคร มีคนจำนวนมากไม่ค่อยมั่นใจใน regulator ไม่รู้ว่าผลประโยชน์ของเขาคืออะไร เราออกแบบ กสทช. มาเพื่อให้เป็นองค์กรอิสระในการดูแลเรื่องคลื่นความถี่ แต่สุดท้ายแล้วคนเริ่มไม่ค่อยแน่ใจว่าอิสระจริงหรือเปล่า หรืออยู่ภายใต้ใคร

ในแง่นี้ สะท้อนว่า คสช. ประสบความสำเร็จได้ไหม

อื้อ (เสียงสูง) แต่อย่างที่บอกตอนต้น เขาทำตามทฤษฎีเป๊ะ ขอพูดคนเดียว ปิดคนอื่นไม่ให้พูด แล้วตัวเองก็พูดบ่อยๆ พูดทุกเย็น พูดทุกคืนวันศุกร์ เพราะเขาเชื่อว่าพูดคนเดียว พูดฝ่ายเดียว พูดเยอะๆ แล้วจะดี ซึ่งไม่จริง ถามว่าคนจำอะไรที่เขาพูดได้ไหม จำได้แค่ไหน

รุจน์ โกมลบุตร

ที่บอกว่ารอหลังเลือกตั้งค่อยว่ากัน คำถามคือพอพ้นเลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น สื่อจะขยับอะไรได้มากกว่านี้ เพราะดูเหมือนการเลือกตั้งครั้งนี้ คสช. ก็วางหมากเพื่อสืบทอดอำนาจไว้แล้วอยู่ดี

มันไม่มี คสช. แล้ว ไม่มี ม.44 แล้ว ไม่มากก็น้อย มึงมาจากการเลือกตั้งแล้ว คราวนี้กูด่าได้เต็มปากเต็มคำแล้วนะ

พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนโหมดแล้ว จากโหมดเผด็จการเป็นโหมดประชาธิปไตย ฉะนั้นผมมีสิทธิคาดหวังในเรื่องเสรีภาพมากกว่ายุค คสช. ที่ผ่านมารึเปล่า ถ้ามี ผมจะเล่นแล้วนะ ผมว่าคนจำนวนมากก็จะไม่ยอม และตอนนี้ถ้ามันยังเบี้ยว ยังปิดกั้นอยู่ ผมว่าต้องลงถนนนะ แล้วลงถนนจะกลับไปใช้ ม.44 ยังไง มึงไม่มีแล้ว พอเลือกตั้ง มีครม. ม.44 ก็หายไปโดยอัตโนมัติ

แล้วถ้ามองในแง่การยอมรับจากเวทีโลก ต่อให้ลุงตู่เป็นนายกก็เถอะ เขาก็ไม่กล้าเผด็จอำนาจอีกแล้ว ถ้าคุณเป็นนายกที่สภาและ สว. เลือกคุณเข้ามา อย่างน้อยหมายความว่าคุณก็ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แล้วถ้าคุณยังจะเปรี้ยวเผด็จอำนาจอยู่ คุณจะไปเยือนประเทศไหนได้ไหม ก็อาจจะได้ แต่คุณจะอายเขา

แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะมีเสรีภาพสุดฤทธิ์นะ เพราะผมก็เชื่อว่า สว.จำนวนหนึ่งก็ยังอยู่ใต้อาณัติของเขา และถ้าเกิดลุงตู่เป็นนายก ก็ยังมีความเป็นทหาร ผมว่าท่านยังติดการหันซ้ายหันขวาระดับหนึ่ง คงต้องให้เวลาเขาเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็เรียนรู้มาห้าปีแล้วนะ แต่ถัดจากนี้ เขาต้องเรียนรู้ว่าในบรรยากาศเปิดแบบประชาธิปไตย การถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และถ้าไม่ชอบก็ต้องใช้วิธีการอธิบาย สิ่งนี้วิจารณ์ผิดก็ต้องอธิบาย คุณมีช่อง 11 คุณก็พูดไปดิ ทำไมจะพูดไม่ได้ ไปใช้วิธีด่าเขาปิดเขาทำไม

ผมไปเจอตัวเลขหนึ่งของ Reporter without Border ตลกมาก เขารวบรวมข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดเสรีภาพสื่อ โดยจะ assign คนในประเทศให้ช่วยส่งข้อมูลให้ และจัดลำดับออกมา อันนี้น่าสนใจมาก

ช่วงปี 2557 ตอนลุงตู่มา เราอยู่ลำดับ 130 อันนี้เลขยิ่งเยอะยิ่งไม่ดีนะ พอปี 2560 เขยิบเป็น 142 แล้วปีล่าสุดปี 2561 เพิ่งประกาศ เราขยับลงมาเป็น 140 ดีขึ้นกว่าปีก่อนนิดนึง แต่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร

จุดที่น่าสนใจคือ ปี 2561 ซึ่งเราได้ที่ 140 แต่ขอประทานโทษ เราอยู่หลังพม่านะครับ พม่าแซงไปแล้ว

ประเด็นคือพม่าเพิ่งมีประชาธิปไตย เพิ่งมีการเลือกตั้งสักห้าปีที่ผ่านมา แซงไปแล้ว ก่อนหน้านี้เป็นรัฐบาลเผด็จการมาสี่สิบห้าสิบปี ท่านผู้นำเป็นทุกอย่างในคนเดียว ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ประเด็นคือเขาใช้เวลา 4-5 ปีในการฟื้นประชาธิปไตยขึ้นมา และตัวชี้วัดเสรีภาพสื่อก็แซงหน้าเราไปแล้ว นี่สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องเสรีภาพ ถ้าทำกันจริงๆ มันทำได้นะครับ อยู่ที่จะทำรึเปล่าแค่นั้นเอง.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save