fbpx
นิ้วกลม : ชวนฟัง 'เสียง' ที่คนเมืองไม่ค่อยได้ยิน

นิ้วกลม : ชวนฟัง ‘เสียง’ ที่คนเมืองไม่ค่อยได้ยิน

บ่ายโมงครึ่ง 23 เมษายนนี้ ‘ณ’ สารคดีสร้างสรรค์ที่รวบรวมศิลปินหลายแนวมาเล่าเรื่องปัญหาของเพื่อนร่วมสังคมผ่านงานศิลปะ จะออกอากาศตอนแรกทาง The101.world และช่อง Now 26

ความน่าสนใจของสารคดีนี้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาการต่อสู้อันเข้มข้นของพี่น้องคนจนในแต่ละชุมชนเท่านั้น แต่อยู่ที่ความท้าทายในการเล่าเรื่องราวอันซับซ้อน จริงจัง และดูไกลตัว ให้เพื่อนร่วมสังคมทั่วประเทศสนใจราวกับเป็นเรื่องใกล้ตัว และการสื่อสารอย่างมีสุนทรียภาพ – สวยงาม น่าสนใจ สนุก และรื่นรมย์

‘นิ้วกลม’ – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ตัวแทนของ 101 ผู้กำกับและผู้ดำเนินรายการ ตอน ‘เสียงของคลอง’ และ ‘สถาปนิกชุมชน’ เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังงานสร้างสรรค์ที่นำศิลปะไปบอกเล่าปัญหาสังคม

  

 

สารคดีนี้มีความน่าสนใจอย่างไร

ตอนได้โจทย์จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) คิดว่าเป็นโจทย์ที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นสารคดีเกี่ยวกับคนจนซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสังคมที่เราไม่ค่อยรับรู้ปัญหาของพวกเขาสักเท่าไหร่ จึงตั้งใจที่จะสื่อสารกับคนเมือง ชนชั้นกลาง ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดียวกัน หรือในประเทศเดียวกันให้ทราบที่มาของปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ไม่เป็นสารคดีที่ดูแล้วน่าเบื่อ

ทีม 101 จึงคิดหา ‘สะพาน’ ที่จะมาช่วยเราสื่อสารด้วยความคิดสร้างสรรค์ และโชคดีมากที่แทบทุกคนที่เราชวนมาร่วมกันทำสารคดีชุดนี้ตอบรับมาลงเรือลำเดียวกัน ทุกคนล้วนเป็นนักสื่อสารร่วมสมัยที่เราชื่นชอบผลงานทั้งนั้นเลย นี่จึงเป็นสารคดีเกี่ยวกับปัญหาของคนจนที่ถูกสื่อสารผ่านศิลปะนานาชนิด ทั้งงานเขียน เพลง การแสดง อาหาร ภาพถ่าย และสื่อผสม ฟังแล้วก็น่าตื่นเต้นดี

 

ตอนทำงาน มีอะไรบ้างที่มากระแทกตัวเรา แล้วเรารับมือกับมันอย่างไร

สิ่งที่กระทบใจที่สุดน่าจะเป็นตอนประชุมครั้งแรก ซึ่งจะมีตัวแทนชาวบ้านจากทั่วประเทศมาร่วมประชุม เพื่อหาประเด็นและกำหนดโครงของสารคดี เราได้ฟังปัญหาและเส้นทางการต่อสู้ของพวกเขา ได้รับรู้ว่า ‘บ้าน’ สำคัญสำหรับเขาแค่ไหน มันทำให้เราเชื่อมั่นว่า ชาวบ้านที่รวมตัวกันได้นั้นมีพลัง ทั้งพลังในการต่อสู้ต่อรอง ทั้งพลังในการบริหารจัดการปัญหา ทั้งพลังในการจัดการตัวเองภายในชุมชน ทั้งพลังในการกำหนดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาในอนาคต

เราสัมผัสได้เลยว่าชุมชนที่ต่อสู้มายาวนานนั้นเข้มแข็งและมีพัฒนาการที่น่าสนใจ เราไม่ได้มองเขาว่าเป็นชาวบ้านที่แบมือรอขอความช่วยเหลือ แต่กลับทำให้ยิ่งเชื่อมั่นในพลังของผู้คน ว่าถ้าเราเปิดพื้นที่ให้เขาส่งเสียง แสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนกัน จะมีโอกาสสร้างสิ่งดีๆ ในแต่ละชุมชนขึ้นมาได้ และการพัฒนาสังคมจากฐานรากขึ้นไปนั้นเป็นไปได้จริง ไม่ใช่พัฒนาจากข้างบนกำหนดลงมาแบบที่เป็นมาตลอด แบบนั้นเป็นวิธีที่มองไม่เห็นศักยภาพที่แท้จริงของคน การจัดการตัวเองของชาวบ้านทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น ซึ่งประเทศที่มีคุณภาพก็ต้องการประชากรแบบนี้มิใช่หรือ

 

 

ลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ช่วงตอนที่ลงไปทำงาน แล้วรู้สึกประทับใจ

การได้ฟังชาวบ้านที่คลองบางบัวเล่าปัญหาให้ฟังว่าผ่านอะไรมาบ้าง เคยจะถูกรื้อบ้าน ถูกไล่ที่ แล้วก็ไปต่อรอง รวมตัวกันทำบ้านมั่นคง ปัญหามีรายละเอียดเยอะมาก แต่พวกเขาก็ค่อยๆ แก้กันไป ปัญหาขยะก็จัดกลุ่มเพื่อจัดการขยะ สื่อสารกันในชุมชนให้ช่วยกันดูแล แล้วสภาพคลองแถวนั้นก็ดีขึ้น เรื่องบ้านก็มีการจัดการภายในชุมชน ค่อยๆ หาวิธีตะล่อมโน้มน้าวคนที่ไม่เห็นด้วยให้ค่อยๆ เห็นด้วย ทั้งไม้แข็งไม้นวม จนทุกวันนี้คลองบางบัวกลายเป็นชุมชนที่เป็นบ้านมั่นคงเกือบทั้งหมด และแทบไม่มีปัญหารุกล้ำคลอง ทำให้ไม่โดนไล่รื้อ

กระบวนการที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านรู้จักกัน นอกจากนั้นยังรู้ด้วยว่าใครเป็นอย่างไร คิดอย่างไร ต้องดีลด้วยอย่างไร ต้องให้ใครคุยให้ การตัดสินใจอะไรก็ต้องรับรู้ร่วมกัน เราได้เห็นกระบวนการประชาธิปไตย และวิถีประชาในชุมชนอย่างชัดเจน ซึ่งใช่ว่ามันจะไม่มีปัญหา มันก็มีปัญหามาตลอดทาง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนเรียนรู้ไปด้วยกัน ค่อยๆ หาทางไปด้วยกัน และดีขึ้นเรื่อยๆ

 

 

มีวิธีหยิบจับประเด็นขึ้นมาทำงานศิลปะอย่างไร

ทีม 101 ตีโจทย์จากประเด็นว่า เสียงของคนจนเป็นเสียงที่เราไม่ค่อยได้ยิน ตอนทำสารคดีคลองบางบัว จึงใช้วิธีเดินเข้าไปในชุมชนเพื่อเก็บเสียงของชาวบ้านมาบอกต่อไปยังคนเมืองที่ไม่ได้อยู่ริมคลองว่าพวกเขามีปัญหาอะไรที่เราควรรับรู้บ้าง เสียงเหล่านี้สุดท้ายอาจถูกแปลงเป็นงานศิลปะ และในสารคดีอาจมีบางช่วงบางตอนที่เราไม่ได้ยินเสียง คือปิดเสียงไปเลย เพื่อสื่อสารว่า เวลาปกติเราก็ไม่ได้ยินปัญหาของเพื่อนร่วมเมืองแบบนี้แหละ

 

 

แล้วมีกระบวนทำงานอย่างไรบ้าง ในการผลิตชิ้นงานออกมาเป็นรายการ

ผมทำงานร่วมกับน้องๆ ครีเอทีฟในทีม 101 ส่วนบทสารคดีก็ช่วยกันเขียนและปรับแก้โดยมีคุณโตมร ศุขปรีชา เป็นหัวหน้าทีมเขียนบท และมีอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ คอยกำหนดประเด็นสำคัญ ผมกับทีมครีเอทีฟก็ช่วยกันหาวิธีนำเสนอที่จะทำให้เรื่องราวที่เราเล่าดูน่าสนใจมากขึ้น เช่น ชวนน้องๆ สถาปัตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาทำเวิร์คช็อป ลงพื้นที่จริง เพื่อทำโครงการขึ้นมาเสนอชาวบ้าน คล้ายๆ มีรายการเรียลลิตี้ซ้อนเข้าไปในสารคดีอีกทีหนึ่ง ทั้งหมดนี้ก็ต้องการเพิ่มสีสันให้รายการสนุกขึ้น

……………………….

เชิญร่วม workshop ความคิดสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ศิลปะบอกเล่าปัญหาสังคมกับนักสร้างสรรค์หลากหลายแขนง

Eyedropper Fill ศิลปินสื่อผสมแห่งยุค
B-Floor กลุ่มละครเข้มข้นลึกซึ้ง
ชาติฉกาจ ไวกวี ช่างภาพยียวนกวนเท่
นิ้วกลม+โตมร ศุขปรีชา ครีเอทีฟและมือเขียนบทแห่งทีม 101

ในงานเปิดตัวสารคดี “ณ” – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน บ่ายอาทิตย์ที่ 9 เมษายนนี้ เวลา 12.30-17.10 น. ที่ NOW Studio สยามสแควร์ ซอย 7

ลงทะเบียนฟรีได้ ที่นี่

 

และติดตามสารคดี ‘ณ’ – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน ได้ทาง The101.world และช่อง NOW 26 ทุกบ่ายโมงครึ่งวันอาทิตย์ เริ่ม 23 เมษายนนี้

ร่วมสร้างสรรค์โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save