fbpx
สิทธิสตรีมุสลิม จากปากคำของ ‘รอซิดะห์ ปูซู’ นักต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงชายแดนใต้

สิทธิสตรีมุสลิม จากปากคำของ ‘รอซิดะห์ ปูซู’ นักต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงชายแดนใต้

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

 

หากพูดถึงบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิสตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ‘รอซิดะห์ ปูซู’ ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ คือหนึ่งบุคคลสำคัญที่ต่อสู้เพื่อผู้หญิงมายาวนาน เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของคนในพื้นที่ และเป็นแบบอย่างของผู้หญิงชายแดนใต้ยุคใหม่หลายคนที่ทำงานต่อสู้เรื่องสิทธิสตรี

รอซิดะห์ ปูซู หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า ‘ก๊ะดะห์’ (‘ก๊ะ’ ในภาษามลายูใช้เรียก ‘พี่สาว’) คือสตรีวัย 48 ปีที่ทำงานอย่างแข็งขัน เป็นทั้งด่านหน้าคอยรับเคสผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาผู้หญิงในสำนักงานเครือข่ายฯ ที่เธอดูแล และยังเป็นตัวกลางคอยประสานกับองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรศาสนา และอาสาสมัครในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีอย่างเป็นรูปธรรม

แม้ปัญหาความรุนแรงในอาณาบริเวณส่วนตัว (Domestic Vilolence) และความรุนแรงต่อสตรีจะเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทุกหนแห่งในประเทศไทย แต่ในสามจังหวะชายแดนใต้ ปัญหาดังกล่าวแวดล้อมไปด้วยบริบทที่หลากหลาย ทั้งความเชื่อเรื่องเพศและการสมรสตามแบบอิสลาม ไปจนถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงที่ต้องพิจารณาทั้งกฎหมายอิสลามและกฎหมายไทย กล่าวอย่างเรียบง่ายได้ว่า หากต้องการทำความเข้าใจปัญหาความรุนแรงต่อสตรีในชายแดนใต้ ก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแว่นสายตาให้คล้องจองกับวิถีชีวิตในพื้นที่ – บทสนทนากับรอซิดะห์ครานี้จึงเป็นการหาคำตอบและคำอธิบายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีชายแดนใต้ผ่านสายตาคนในอย่างเรียบง่ายและหนักแน่นไปพร้อมกัน

เส้นทางชีวิตของเธอสะท้อนปัญหาสิทธิสตรีไว้ตลอดทาง ความยากและความท้าทายของหญิงมุสลิมอยู่ตรงไหน ปัญหาของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในชายแดนใต้แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นอย่างไรบ้าง และหากเราจะมุ่งหน้าไปหา ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ในสังคมที่ความเชื่อทางศาสนากำหนดบทบาทให้หญิงและชายแตกต่างกัน ความเท่าเทียมที่ว่าจะมีหน้าตาอย่างไร

 

 

-1-

 

รอซิดะห์ เกิดและโตในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ช่วงเวลาการเติบโตของรอซิดะห์ต่างจากเพื่อนๆ หลายคนในวัยเดียวกัน สมัยก่อนเด็กมุสลิมส่วนมากมักจะไม่เรียนต่อในระดับชั้นมัธยม หลายคนเลือกศึกษาต่อในด้านศาสนา และเด็กผู้หญิงหลายคนก็ต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนรอซิดะห์เป็นคนเดียวในห้องเรียนที่เมื่อจบการศึกษาชั้นป.6 แล้วได้เรียนต่อระดับมัธยมสายสามัญ

เธอนิยามว่าตัวเองเป็น ‘เด็กแปลก’ ในสายตาคนในหมู่บ้าน หลายคนยังไม่เข้าใจว่าทำไม ‘เด็กผู้หญิง’ จะต้องเรียนต่อในโรงเรียนไทยด้วย แต่รอซิดะห์กลับอธิบายเหตุผลง่ายๆ ไว้ว่า นอกจากความรักเรียนแล้ว เธอสังเกตว่าในสมัยนั้นการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญกับชีวิต เช่น ไปโรงพยาบาล การติดต่อกับราชการ จะต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ขณะที่คนในพื้นที่ใช้ภาษามลายูเป็นหลักและไม่ค่อยถนัดภาษาไทย จึงมักเกิดปัญหาในการติดต่อสื่อสารอยู่เสมอ นี่เป็นเหตุผลให้เธอตัดสินใจเรียนต่อในโรงเรียนไทยด้วยหวังว่าจะสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้ตัวเองและผู้คนรอบข้าง

“ตอนเรียนก็ลำบาก คนเขายังไม่ค่อยยอมรับ มองว่าทำไมเด็กผู้หญิงมุสลิมต้องไปเรียนโรงเรียนไทย ไปอยู่กับสังคมพุทธ ในขณะที่เพื่อนๆ คนอื่นเรียนในสังคมที่เป็นมุสลิมร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นวัฒนธรรมสังคมเมือง สังคมพุทธ

“ระบบโรงเรียนไทยไม่ได้ออกแบบมาตรงกับวิถีชีวิตเรา เช่น ไม่มีการแบ่งเวลาให้ไปละหมาด แล้วเวลาละหมาดมักจะตรงกับคาบเรียน เรียนๆ อยู่ก็จะต้องขออนุญาตคุณครูออกไป คาบนั้นเราก็จะไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาสอนอะไรไปบ้าง ทำให้เราต้องรู้จักบริหารจัดการตัวเองตั้งแต่เด็ก เพื่อเรียนให้รู้เรื่องและไม่ทิ้งศาสนา คือโรงเรียนเขาไม่ได้ห้ามปฏิบัติศาสนกิจ อยู่ที่เราจะทำได้หรือไม่ตามข้อจำกัดเท่านั้นเอง”

ในช่วงรอยต่อมัธยมสู่มหาวิทยาลัย อาชีพราชการเป็นอาชีพยอดฮิตที่วัยรุ่นชายแดนใต้ยุคนั้นอยากเป็นและครอบครัวมักส่งเสริมให้เป็น หลายคนจึงเข้าเรียนในคณะที่สามารถสอบบรรจุเป็นราชการได้ แต่รอซิดะห์กลับพบทางที่ต่างออกไป เธอไม่อยากทำงานในระบบที่มีกรอบคอยจำกัดอิสระและความคิดสร้างสรรค์ เธอสนใจทำสิ่งใหม่ๆ และท่องโลกกว้าง เธอเล่าว่ามีโอกาสได้ไปทำงานพิเศษกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เปิดธุรกิจโรงพิมพ์ ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับบางๆ โดยเธอมีหน้าที่เรียงตัวอักษรในแม่พิมพ์โลหะ เพราะสมัยนั้นการพิมพ์หนังสือพิมพ์ยังใช้ระบบ Letterpress อยู่

การได้ฝึกเรียงตัวหนังสือทำให้เธอได้เห็นกระบวนการเขียน ได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ทั้งในรูปแบบข่าว บทความ สกู๊ป จนเธอเริ่มขยับไปช่วยพี่ๆ บางคนเขียนพาดหัวข่าวและเนื้อข่าวตามแต่โอกาส เธอเล่าว่าความสนุกของงานนี้คือการได้อ่านเรื่องราวที่หลากหลายและได้เห็นปัญหาในพื้นที่จริงๆ ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจเรียนด้านนิเทศศาสตร์ไปพร้อมกับการทำงานพิเศษเป็นนักข่าวในพื้นที่

เส้นทางใหม่นี้นำพาให้เธอได้ลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับโลกความเป็นจริง ได้ตามนักวิชาการและนักกิจกรรมในพื้นที่ไปทำข่าวของชาวบ้านในชุมชน และด้วยทักษะด้านการสื่อสารบวกกับความขยันขันแข็ง ไม่กี่ปีต่อมาเธอจึงถูกชักชวนให้ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม

“ส่วนใหญ่จะทำงานเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน เช่น โครงการของรัฐที่ชาวบ้านไม่เอา ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือชาวบ้านร้องเรียนว่าไม่มีการรับฟังความเห็น เช่น เรื่องถนนหนทาง โรงไฟฟ้าแรงสูง เรียกได้ว่าอะไรที่รัฐทำแล้วกระทบต่อชุมชน ชาวบ้านก็มาบอกเรากับทีม เราทำงานเหมือนเป็นฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูล คอยเอาข้อมูลในโครงการของรัฐและปัญหาที่เกิดขึ้นมาเรียบเรียง

“ช่วงปี 2540 สังคมกำลังพูดถึงประเด็นการกระจายอำนาจ เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เราก็พยายามทำงานเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ เพราะชาวบ้านไม่รู้เรื่องรัฐธรรมนูญเลย เราเอารัฐธรรมนูญมาอ่าน แล้วก็สรุปออกมาสองสามหน้าในเรื่องสำคัญๆ ทำเป็นจดหมายข่าวบ้าง แผ่นพับบ้าง แจกให้ชาวบ้าน เช่น เขียนเรื่อง อบต. ถ้ากระจายอำนาจแล้วมีการเลือกตั้งท้องถิ่น อบต. ต้องทำหน้าที่อะไร เขียนย่อยออกมาแล้วก็ส่งไปตามมัสยิดกับชุมชน บางทีก็เอาไปให้นักวิชาการหรืออาจารย์ที่รู้จักกันช่วยแปลและเขียนเป็นภาษามลายูให้”

ในสมัยนั้นเธอทำงานแบบ ‘ตะลอนๆ’ ค่ำไหนก็นอนนั่น และทำงานร่วมกับผู้ชายอย่างสมบุกสมบันไม่แพ้กัน การทำงานลุยๆ ของเธอท้าทายความเชื่อเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงมุสลิมที่ถูกกำหนดให้มีหน้าที่เป็นภรรยาและแม่ของลูก กระทั่งเมื่อเธอแต่งงานมีครอบครัว เธอจึงต้องบาลานซ์การให้ความสำคัญกับครอบครัวตามหลักศาสนาอิสลาม ไปพร้อมๆ กับการทำงานที่เธอรัก

เมื่อมิติด้านเพศบรรจบกับชีวิตของเธอเอง เธอจึงใช้มันเป็นตัวจุดประกายและเริ่มหันมาทำงานในประเด็นสิทธิสตรี โดยงานแรกที่เธอทำเกี่ยวกับสิทธิสตรีคือการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าใจกฎหมายรัฐธรรมนูญ

“เราจับประเด็นเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ พยายามทำให้ผู้หญิงได้รู้สิทธิด้านต่างๆ เริ่มจัดเวที ทำกิจกรรมในนามกลุ่ม ‘เพื่อนหญิงมุสลิม’ และไปรวมกลุ่มกับนักวิชาการสองสามคนเขียนโครงการตั้งองค์กรเพื่อขับเคลื่อนประเด็นอย่างต่อเนื่อง

“ยุคนั้นจะมีปัญหาเรื่องสิทธิของผู้หญิงมุสลิมตามกฎหมาย คือเรื่องการสวมฮิญาบ เวลาผู้หญิงไปทำงานราชการ เขาไม่อนุญาตให้ใส่ บริษัทเอกชนก็ไม่รับผู้หญิงใส่ฮิญาบเข้าทำงาน แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เราก็ตั้งคำถามว่าแล้วทำไมรัฐถึงไม่ให้คลุมฮิญาบ เราเริ่มไปสัมภาษณ์เด็กนักเรียนมุสลิมบางโรงเรียนที่ใส่ฮิญาบไปเรียนไม่ได้ เราเห็นปัญหาอยู่แล้ว เพราะสมัยเราก็ห้ามใส่ ตอนมาเรียนก็ปล่อยผม กลับบ้านก็เอาผ้าคลุมหัว เรารณรงค์ไปเรื่อยๆ จนหลายโรงเรียนให้อิสระตรงนี้”

 

 

เธอทำงานเรื่องสิทธิสตรีเรื่อยมาจนกระทั่งในปี 2547 เหตุการณ์ความไม่สงบเริ่มโหมกระหน่ำ ความรุนแรงจากความขัดแย้งแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่สามจังหวัด ในสถานการณ์นี้หลายบ้านสูญเสียสมาชิกในครอบครัว ผู้หญิงสูญเสียสามี และมีเด็กหลายคนที่กำพร้าพ่อแม่ รอซิดะห์จึงเริ่มขยับตัวและหันมาทำงานเพื่อเยียวยาเด็กและผู้หญิงจากสถานการณ์ความไม่สงบ

“ผู้หญิงที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้าน เพราะความเชื่อว่าผู้หญิงมีหน้าที่เป็นภรรยาและมารดา ต้องทำงานบ้าน ดูแลลูก จะไปทำอะไรก็ต้องขออนุญาตจากสามี เพราะฉะนั้นในครอบครัวส่วนใหญ่ สามีจะเป็นคนทำงานหารายได้เป็นหลัก ยกเว้นผู้หญิงที่เรียนหนังสือถึงจะมีงานทำ

“หลายครอบครัวที่เจอคือ พอผู้หญิงเป็นแม่บ้าน แล้วอยู่ๆ สามีเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ ก็ตั้งหลักไม่ถูก ใครจะทำงาน ใครจะหารายได้ หลายเคสไม่เคยทำงานอะไรเลย ไปโรงพยาบาลก็ไม่ถูก ราชการก็ไม่เคยติดต่อ ตอนนั้นเราพยายามทำข้อมูลสู่สังคม ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงสร้างผลกระทบอะไร และพยายามเก็บข้อมูลจำนวนเด็กกำพร้าหรือครอบครัวที่สูญเสียเพื่อระดมทุนช่วยเหลือ”

รอซิดะห์เล่าว่าในช่วงหลายปีที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงในสถานการณ์ความไม่สงบ เธอเริ่มได้ยินเสียงของผู้หญิงบางคนบอกเล่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การถูกทำร้ายร่างกายจากสามี แต่เธอไม่แน่ใจว่าขนาดของปัญหานั้นมากน้อยเพียงใด เพราะในสังคมมุสลิม มีหลักการที่เรียกว่า ‘ตออัต’ หรือการเชื่อฟังต่อสามี ทำให้ผู้หญิงหลายคนเก็บงำปัญหาเอาไว้ เธอจึงเริ่มค้นหาข้อมูล พยายามหาตัวเลขจากการสำรวจขององค์กรรัฐ เพื่อประเมินว่าปัญหาที่เธอได้รับฟังมานั้นร้ายแรงมากแค่ไหน

เมื่อถามเธอว่า พูดได้ไหมว่าอัตราความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นพร้อมกับไฟใต้ เธอส่ายหน้าและตอบว่า

“ตอนนั้นเราเคลมอะไรไม่ได้เลย เพราะแทบไม่มีข้อมูล เรารู้ว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าคือเรื่องความขัดแย้ง มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น ผู้หญิงเป็นแม่ม่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ดูข้อมูลระดับประเทศก็เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้ ติดอันดับประเทศที่มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่พอตั้งคำถามว่า เอ๊ะ แล้วสามจังหวัดบ้านเราเป็นยังไง เราไม่รู้เรื่องเลย และเป็นความไม่รู้ที่ไม่ดีเอามากๆ”

ความ ‘ไม่รู้’ นี่เองคือจุดเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงของผู้หญิงชื่อ รอซิดะห์ ปูซู

 

-2-

 

รอซิดะห์เริ่มพูดคุยกับสมาชิกกลุ่มเพื่อนหญิงมุสลิมเพื่อดำเนินงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอย่างไม่เป็นทางการ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือหญิงม่ายและเด็กกำพร้า โดยจัดวงสนทนาเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มาส่งเสียงเล่าปัญหาของตัวเอง พัฒนาศักยภาพผู้หญิงให้เข้มแข็งในสถานการณ์ความขัดแย้ง และให้ความรู้ผู้หญิงเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวไปพร้อมกัน

การทำงานอย่างไม่เป็นทางการค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวจนเกิดเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัวในปี 2557 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (UN) และองค์กรภาครัฐ

“ก่อนหน้านั้นแทบไม่มีหน่วยงานที่รับดูแลปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจังมาก่อนเลย เราก็ดีไซน์ว่าเราจะต้องเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้หญิง และต้องเปิดศูนย์ฯ ทั้งสามจังหวัด โดยศูนย์จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้หญิง จากจุดนั้นก็เริ่มสร้างศูนย์ ขึ้นป้ายประกาศให้ผู้หญิงในชุมชนได้รับรู้”

เธอเล่าว่าช่วงแรกๆ มีผู้หญิงวอล์กอินเข้ามาขอคำปรึกษาบ้าง โดยเธอและทีมงานก็คอยจดบันทึกข้อมูลไว้ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เธอเกิดความเคลือบแคลงใจว่าทำไมจำนวนผู้หญิงที่มาร้องเรียนถึงมีไม่มาก เธอจึงลองไปสำรวจดูที่คณะกรรมการอิสลาม เพราะตามหลักทางศาสนาผู้หญิงจะต้องไปฟ้องหย่าที่นั่น เธอคาดเดาว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงน่าจะเข้าหาหน่วยงานทางศาสนาเป็นที่แรก

“เวลาจะหย่าผู้หญิงต้องไปหาคนทางศาสนา เขาไม่ไปหานายอำเภอ เขาไม่ไปหา พม. (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) หรอก พอไปปุ๊ป เราก็พบว่ามีผู้หญิงที่ไปขอฟ้องหย่าจำนวนมากเลย พอเราตามต่อว่าแล้วผู้หญิงเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลือไหม ก็พบว่าเมื่อฟ้องหย่า คณะกรรมการจะพยายามไกล่เกลี่ยให้คืนดีกับสามี บางทีไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ หย่าก็ไม่สำเร็จ ผู้หญิงก็กลับบ้านไป หลายคนกลับไปเผชิญความรุนแรงเหมือนเดิม เราก็เริ่มรู้แล้วว่า ถ้างั้นเราต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการอิสลามด้วย”

 

 

ความยากลำบากที่ผู้หญิงได้รับจากการไปฟ้องหย่าในสถานที่ทางศาสนามีหลายประการ นอกจากการไกล่เกลี่ยของคณะกรรมการที่พยายามรักษาสถานะความเป็นครอบครัวไว้และไม่สามารถดึงผู้หญิงออกจากความรุนแรงได้แล้ว หลายครั้งผู้หญิงยังไม่สามารถแจ้งปัญหาได้อย่างสะดวกกายและใจ เช่น หากมีร่อยรอยจากความรุนแรงเกิดขึ้นตามร่างกาย ก็ไม่สามารถเปิดเผยให้คณะกรรมการที่เป็นผู้ชายทั้งหมดดูได้ รวมถึงคณะกรรมการเองไม่ได้มีกลไกความรู้ด้านการให้คำปรึกษาหรือเยียวยาจิตใจของผู้หญิงมาก่อน

นอกจากนี้ กระบวนการอีกหลายอย่างก็ไม่สามารถช่วยให้ผู้หญิงเดินออกจากความรุนแรงได้จริง เช่น กระบวนการทางกฎหมายไทย เธอเล่าว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 มีช่องว่างอยู่ โดยเป็นกฎหมายที่เนื้อหาไม่ได้เน้นจัดการกับผู้ที่ใช้ความรุนแรง แต่มีเจตนารักษาไว้ซึ่งสถานภาพของความเป็นครอบครัว

“เมื่อกฎหมายพยายามรักษาครอบครัวไว้ ผู้ใช้กฎหมายก็พยายามที่จะไกล่เกลี่ยเจรจา ถึงแม้ว่าในกฎหมายจะระบุว่าผู้ที่ใช้ความรุนแรงสามารถเอาความดำเนินคดีได้ แต่ก็จะเกิดปัญหาเช่น เมื่อไปแจ้งตำรวจ ตำรวจบอกว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ให้จัดการเอง”

เมื่อรอซิดะห์พบต้นตอของปัญหา ในช่วงแรกเธอจึงเริ่มสร้างความสัมพันธ์และสร้างความน่าเชื่อถือกับผู้หญิงในชุมชน เพื่อยืนยันกับผู้หญิงเหล่านั้นว่า “เราต้องการช่วยเหลือคุณ และเราช่วยคุณได้” โดยเมื่อเธอและทีมงานได้ข้อมูลมาจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เธอก็จะลงพื้นที่ตามไปพูดคุยกับผู้หญิงเหล่านั้น

ในภายหลัง เธอและเครือข่ายผู้หญิงฯ ยังทำงานร่วมกับองค์การอ็อกแฟม ชมรมผู้นำมุสลีมะห์จังหวัดนราธิวาส และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย พยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยเริ่มผนวกรวมผู้ชายเข้ามาเป็นสมการสำคัญในการลดความรุนแรงต่อผู้หญิง เข้าไปพูดคุยกับผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ต่างๆ จนมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาที่มีผู้หญิงทำงานเป็นหลัก ตั้งอยู่ในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสและยะลา – นับแต่นั้น ผู้หญิงหลายคนที่เดินเข้ามาในพื้นที่ทางศาสนาเพื่อขอความช่วยเหลือจึงได้พูดคุยกับผู้หญิงด้วยกันที่เข้าใจพวกเธอมากกว่า และไม่จำเป็นต้องกลับบ้านไปเผชิญความรุนแรงอีก

สิ่งที่รอซิดะห์เรียนรู้จากการทำงานช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงคือ ผู้หญิงมุสลิมมีทัศนคติที่เชื่อว่าอะไรที่เป็นปัญหาในบ้าน โดยเฉพาะปัญหากับสามี จะต้องไม่ไปเล่าให้คนอื่นฟัง

“เราเชื่อว่าไม่ใช่แค่สังคมมุสลิมหรอก สังคมไทยก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เพียงแต่พอเป็นสังคมมุสลิม เรื่องของสามีเป็นเรื่องสำคัญมาก ห้ามเอาไปเล่าเด็ดขาดเลย เพราะจะถือว่าไม่เคารพ ไม่ศรัทธา ไม่เชื่อสามี จริงๆ แล้วในหลักการศาสนาอิสลามไม่เคยยอมรับเรื่องการใช้ความรุนแรงนะ แต่พอความเชื่อถูกตีความต่างกัน บวกกับการที่ผู้หญิงในพื้นที่ไม่มีความมั่นใจ ไม่มีความรู้ในการจัดการปัญหา ความรุนแรงจึงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในรั้วบ้าน”

 

 

“โอ้ปวงชนทั้งหลาย จงทำดีต่อบรรดาสตรี พวกนางเปรียบเสมือนเชลยในมือของพวกท่าน ทั้งที่ความจริงแล้วพวกท่านไม่มีสิทธิอะไรในตัวนางนอกจากการทำดี” (Sunan Turmudzi, no. Hadits: 1926)

 

ข้างต้นคือคำกล่าวของท่านนบีหรือศาสดาในศาสนาอิสลาม เมื่อศตวรรษที่ 14 ในการประกอบพิธีทางศาสนาครั้งสุดท้ายที่เรียกว่า ‘ฮัจย์’ จากคำกล่าวข้างต้น ผู้หญิงตามทัศนะของท่านนบีจะต้องได้รับการปฏิบัติที่ดี และการกล่าวว่า ‘ผู้หญิงเหมือนเชลยในมือของพวกท่าน’ นั้น ตามหลักอิสลามไม่ได้มองว่าผู้หญิงเป็นเชลยของผู้ชาย แต่เปรียบเช่นนั้นเพราะพวกเธอมักถูกกระทำความรุนแรง และถูกสังคมวางตำแหน่งให้อยู่บริเวณชายขอบของหลายมิติ

ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ท่านนบีย้ำคือการให้ความคุ้มครองและการทำดีต่อผู้หญิง ซึ่งรอซิดะห์กล่าวว่าไม่ต่างอะไรกับหลักการขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน

“หลักการจริงๆ คือผู้หญิงมุสลิมเป็นบุคคลที่จะต้องให้เกียรติ และต้องดูแลนางอย่างดีที่สุด แน่นอนว่าต้องดูแลไปถึงความรู้สึกและอารมณ์

“ถ้าไปดูรายละเอียดของหลักศาสนา มีหลายบทหลายตอนที่อ้างอิงถึงการให้เกียรติผู้หญิง ทั้งในอัลกุรอานก็ดี หรือการปฏิบัติของท่านศาสดาที่ปฏิบัติต่อภรรยาก็ดี ก่อนท่านศาสดาจะเสียชีวิตท่านสั่งไว้สามอย่าง หนึ่งในสามบอกไว้ว่าต้องดูแลผู้หญิง แต่ความเข้าใจในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม และไม่มีคนกล้าพูดกล้าแย้ง ผู้หญิงเราก็ฟังเขาบอกต่อกันมาด้วยแพทเทิร์นเดิมๆ คือผู้หญิงต้องทำหน้าที่ภรรยาและแม่ แล้วคนสอนก็เป็นผู้ชาย ผู้รู้ศาสนาทั้งหลายก็เป็นผู้ชาย เวลาสอนเขาจึงพูดว่าผู้หญิงต้องเคารพสามี”

การทำงานของรอซิดะห์และเครือข่ายผู้หญิงเรียกได้ว่าช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงตั้งแต่ต้นทางไปจนปลายทาง ทันทีที่มีผู้หญิงมาขอรับคำปรึกษา หากพวกเธอถูกทำร้ายในระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิต รอซิดะห์จะประสานงานกับอาสาสมัครในพื้นที่ หรือ พม. เพื่อจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวให้ผู้หญิง

หลายครั้งเธอยังรับหน้าที่เป็นเพื่อน เป็นก๊ะ ของผู้หญิงเหล่านั้น โดยเธอเล่าว่าสภาพจิตใจของผู้หญิงที่มุ่งหน้ามาหาเธอมักอยู่ในจุดที่อัดอั้นเต็มที่ หมดหวัง และมองไม่เห็นทางออก “หลายคนทนมานักต่อนัก จิตใจของพวกเธอเปราะบาง แต่ก็รวบรวมความกล้ามาหาเรา” เธอว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เธอมักจะเน้นย้ำกับทีมเสมอคือ ต้องให้กำลังใจผู้หญิงก่อนจะเริ่มกระบวนการใดๆ

“เราต้องให้กำลังใจเขาก่อน ให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเขา แต่หลังจากนั้นเราก็จะต้องพาเขาไปต่อ เพราะในความเป็นจริงเขาต้องทำอะไรอีกมากมายเพื่อชีวิตของตัวเอง และบางครั้งการไปต่อก็เป็นการทำเพื่อคนที่รักเขา หรือเพื่อลูก สิ่งที่เราทำคือการชี้ให้เห็นว่า เอาล่ะ ถ้าคุณตัดสินใจแล้ว คุณมีทางเลือกอะไรบ้าง

“พอเป็นปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การที่คนหนึ่งคนจะตัดสินใจเดินออกมาเป็นเรื่องยากมาก คนทำงานด้านนี้ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน และต้องทำให้เขาค่อยๆ มีความมั่นใจ”

 

 

-3-

 

หลายครั้งเมื่อสังคมพูดถึงความรุนแรง ผู้คนจะพุ่งเป้าไปที่กระบวนการของผู้ถูกกระทำ และอาจตกหล่นการยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงโดยตั้งต้นจากผู้กระทำ ในกรณีของสามจังหวัดชายแดนใต้ ความท้าทายที่รอซิดะห์ตระหนักคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ชายหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง

ขณะเดียวกัน เธอมองว่าสังคมที่เพิกเฉยต่อปัญหาก็นับเป็น ‘ผู้กระทำ’ ในอีกรูปแบบหนึ่ง – โจทย์สำคัญอีกข้อคือ ทำอย่างไรให้ผู้คนไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง ทำอย่างไรให้ปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนรวม ทำอย่างไรให้ผู้คนเคารพสิทธิสตรีอย่างแท้จริง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องปลูกฝังกันระยะยาว แต่ในจุดที่พอจะทำได้ เราพยายามทำให้เขาเห็นว่าปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงมันมีจริงนะ และมีผลกระทบตามมาด้วย ต้องทำให้เขาเห็นก่อนว่าผู้หญิงเดือดร้อนยังไง

“บางครั้งเราก็พยายามเรียกร้องให้เขายอมรับ เพราะผู้ชายส่วนหนึ่งไม่ยอมรับว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องผิด เขายังมองว่าที่ใช้ความรุนแรงเพราะว่าผู้หญิงไม่ดี ผู้หญิงไม่ตออัตเขา ไม่เชื่อฟังเขา เขายังรู้สึกว่ามีสิทธิจะทำอะไรก็ได้ ฉันไม่หย่าก็ได้ ฉันจะตีภรรยายังไงก็ได้

“ส่วนในสังคม หลายคนมองเรื่องนี้เป็นเรื่องของเธอ ไม่ใช่เรื่องของฉัน ฉันไม่ได้เดือดร้อนอะไร เราจึงต้องทำให้เห็นว่า คุณมีส่วนจัดการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อนบ้าน ไปจนถึงผู้นำศาสนา”

ในวิถีชีวิตที่ศาสนาได้กำหนดบทบาทไว้ชัดเจนว่าผู้หญิงต้องเป็นภรรยาและมารดา พร้อมกับบริบทอันซับซ้อนของคนในพื้นที่ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ในสังคมมุสลิมอาจมีนิยามที่ไม่ตรงเป๊ะกับวิถีชีวิตของผู้คนจากต่างพื้นที่ แต่รอซิดะห์ได้กล่าวว่า เมื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาและความเชื่อที่แตกต่างแล้ว ความเท่าเทียมในพื้นที่ชายแดนใต้มีหน้าตาไม่ต่างไปจากความยุติธรรม

“เราคิดว่าความเท่าเทียมทางเพศในทัศนะมุสลิมมีหัวใจสำคัญคือความยุติธรรมต่อทุกคน รวมไปถึงผู้หญิง ทุกคนต้องได้ครอบครองสิทธิโดยเท่าเทียม แม้ศาสนาจะระบุบทบาทของเพศไว้แตกต่างกัน แต่เกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่สังคมจะต้องให้ความยุติธรรม

“และหากจะเริ่มถกกันถึงบทบาทหน้าที่ เราก็จะบอกว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะอะไร คุณจะรับราชการ คุณจะเป็นชาวบ้าน เป็นภรรยาหรือสามี หน้าที่หลักของชาวมุสลิมคือการมีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นหน้าที่ของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ใช่แค่ตออัตต่อสามี ไม่ใช่แค่ละหมาด แล้วจะเพิกเฉยต่อความรุนแรงได้

“เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น คุณต้องมีส่วนแก้ เพราะนี่คือความรับผิดชอบต่อสังคม นี่เป็นงานที่ชาวมุสลิมพึงกระทำเพื่อนำไปสู่ความดีงาม และเป็นสิ่งที่เราต้องทำในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save