‘Rosetta’​ ศักดิ์ศรีของความยากไร้

‘Rosetta’​ ศักดิ์ศรีของความยากไร้

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

‘Rosetta’​ คือภาพยนตร์ปี 1999 ผลงานกำกับของพี่น้อง ฌอง-ปิแอร์ และลุค ดาร์เดนน์ จากเบลเยียม ที่หยิบขึ้นมาดูเมื่อเวลาล่วงไปแล้วถึง 20 ปีก็ยังคงกลมกล่อม ได้อรรถรสและความร่วมสมัยอยู่

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังสัจนิยมใหม่ของพี่น้องดาร์เดนน์ที่โดดเด่น ด้วยองค์ประกอบของการพยายามสร้างภาพยนตร์ที่ปรุงแต่งน้อย ไม่ใช้เทคนิคพิเศษ เน้นความสมจริงในการถ่ายทำ ไร้ดนตรีประกอบ การถ่ายแบบแฮนด์เฮลด์ที่ทำให้ผู้ชมได้เดินตามตัวละครเหมือนได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ โดยเน้นไปที่เรื่องราวและการแสดงที่สะท้อนปัญหาสังคมของชนชั้นล่าง

เรื่องเปิดฉากด้วยการปะทะของนายจ้างกับเด็กสาวที่ถูกไล่ออกจากโรงงานไอศกรีมโดยไม่มีเหตุผล เธอถูกเขี่ยทิ้งเพียงเพราะสิ้นสุดช่วงเวลาทดลองงาน และโรงงานต้องการหาประโยชน์จากแรงงานไร้ทักษะค่าจ้างต่ำ ทั้งที่เธอยืนยันว่าตัวเองทำงานได้ดีเยี่ยมจนไม่มีเหตุผลให้ถูกไล่ออก

เด็กสาวกรีดร้อง วิ่งหนี ปฏิเสธการออกจากงานที่ให้ค่าจ้างน้อยนิด เพราะนั่นหมายถึงการถูกโยนกลับไปบนถนนโดยไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิตในวันต่อไป แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

โรเซตตา เด็กสาวอายุ 17 ปีอาศัยอยู่กับแม่ติดเหล้าในรถคาราวานเช่าเล็กๆ ที่จอดเรียงรายในลานนอกเมือง หาเงินเล็กๆ น้อยๆ โดยให้แม่ซ่อมเสื้อผ้าเก่าไปขายร้านเสื้อผ้ามือสอง ขณะที่ตัวเธอวิ่งวุ่นหางานประจำทำำ ก็ต้องรับมือกับอารมณ์และอาการติดเหล้าของแม่ ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยความมึนเมา กระทั่งการใช้เซ็กส์แลกเหล้าขวดเดียว

ภาพยนตร์ไม่ได้เล่าภูมิหลังของตัวละคร แต่พาผู้ชมไปเจอกับสถานการณ์เฉพาะหน้าของโรเซตตาที่ต้องรับมือกับความลำบากยากเข็ญในชีวิต โดยไม่เล่าที่มาที่ไปว่าทำไมแม่ถึงพาเธอมาอยู่ในสภาพนี้ พ่อของเธอไปไหน ชีวิตวัยเด็กของเธอเป็นอย่างไร หรือกระทั่งอาการปวดท้องตลอดทั้งเรื่องของโรเซตตาที่อาจเป็นการปวดท้องประจำเดือน แต่ก็ไม่ได้มีการอธิบายอย่างชัดเจน ไม่มีการพบแพทย์ ไม่มีการกินยา มีแค่แก้ปัญหาปลายเหตุอย่างการใช้ไดร์เป่าผมให้ความร้อนกับท้องเพื่อบรรเทาความทุกข์

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่องคือภาพความพยายามเอาตัวรอดจากความยากลำบากของชีวิต การต่อสู้ของชนชั้นล่างที่ปะทะเข้ากับสภาพโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้คนได้ลืมตาอ้าปาก ถูกฉายผ่านชีวิตประจำวันของเด็กสาวเจ้าของใบหน้าอันแสนบริสุทธิ์

สภาพชีวิตที่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน ก้ำกึ่งอยู่ในสถานะคนไร้บ้าน บีบบังคับให้โรเซตตาต้องดิ้นรนเอาตัวรอด แต่สิ่งหนึ่งที่เธอกอดรัดไว้แน่นคือการธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีในการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง เช่นเมื่อเธอไปสำนักงานจัดหางาน เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเธอขึ้นทะเบียนคนว่างงานไม่ได้ แต่สามารถรับเงินสงเคราะห์ได้ เธอหันหลังเดินออกมาแทนคำตอบ เพราะสิ่งที่เธอต้องการคือการมีรายได้จากงานที่มั่นคงพอจะเลี้ยงครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่การรับเงินสงเคราะห์ในฐานะผู้ยากไร้ที่รอการช่วยเหลือ หรืออีกฉากที่เธอขว้างปลาตัวโตที่แม่ไปขอมาจากคนอื่นทิ้ง แล้ววิ่งไปดูเบ็ดที่หย่อนไว้ริมบึงก่อนจะพบว่าตกได้แต่ปลาตัวเล็กเกินกว่าจะกิน

ความทะนงในศักดิ์ศรีของโรเซตตา นัยหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นความดื้อดึงของเด็ก แต่อีกนัยหนึ่งก็จะเห็นความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเธอที่ไม่ต้องการอยู่ในสภาพล้มเหลวแบบแม่ที่พ่ายแพ้ต่อชีวิต แล้วโยนทุกความรับผิดชอบในชีวิตทิ้ง จนหน้าที่ในการรับผิดชอบครอบครัวตกมาสู่ลูกสาววัย 17

แม้เป็นการเล่าถึงเรื่องราวความลำบากยากเข็ญเหลือแสนของเด็กสาวหน้าตาน่ารัก แต่น้ำเสียงในการเล่าเรื่องไม่ได้บีบคั้นอารมณ์ผู้ชมให้สงสารไปกับชะตากรรมของตัวละคร เรื่องดำเนินไปด้วยความปกติธรรมดา ไม่ได้นำเสนอภาพเด็กสาวสู้ชีวิตที่ยืนหยัดบนความถูกต้องเพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆ แต่หนังพยายามตั้งคำถามเชิงศีลธรรมกับผู้ชมตลอดเวลา เมื่อตัวละครต้องเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ดูจะไร้ทางเลือก จนต้องเลือกทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความถูกต้อง

ตัวละครหลักของเรื่องถูกสร้างให้กลายเป็นคนนอกของสังคม ไม่มีที่อยู่อันมั่นคง ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีสังคม ซึ่งมีต้นเหตุหลักจากความยากจน กระทั่งเมื่อโรเซตตาได้พบ ‘ริเกต์’ ชายหนุ่มร้านขายวาฟเฟิลที่น่าจะเป็นเพื่อนคนเดียวในชีวิตของเธอ ซึ่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยแฝงความรู้สึกชอบพอ

เขาแนะนำงานให้จนเธอได้ทำงานที่โรงงานวาฟเฟิลเพียงไม่กี่วัน ก่อนจะถูกไล่ออกอีกครั้งเพราะเจ้าของโรงงานเอาลูกชายตัวเองมาทำงานแทน ทำให้เธอต้องดิ้นรนหางานอีกครั้ง โดยยอมเอาสิ่งสำคัญในชีวิตไปแลกกับการมีงานทำ

Rosetta บรรจุความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยฉายให้เห็นที่มาที่ไปในการตัดสินใจเลือกเพื่อเอาชีวิตรอดของชนชั้นล่าง ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ผู้ชมจะรู้สึกอยากเอาใจช่วยเช่นเรื่องเล่าการต่อสู้ของชนชั้นล่างอื่นๆ แต่เป็นแบบจำลองจากสังคมจริง ที่เราไม่อาจคาดคั้นให้คนอื่นรักษาหลักการความถูกต้องอันบริสุทธิ์ท่ามกลางเงื่อนไขชีวิตอันตีบตันและแตกต่างในแต่ละบุคคลได้

แต่ที่สุดแล้ว เรื่องก็คลี่ปมด้วยตัวเองว่าตัวละครรู้สึกเช่นไรกับการกระทำอันร้ายกาจที่เด็กสาววัย 17 คนหนึ่งจะทำได้ โดยเฉพาะฉากลองเทคสุดท้ายที่สร้างประสบการณ์ทางเสียงให้แก่ผู้ชมอย่างตราตรึงโดยไม่มีเพลงประกอบ

 

 

สิ่งที่โรเซตตาพูดย้ำคือเธอต้องการมี ‘ชีวิตธรรมดา’ อันหมายถึงชีวิตที่มีงานทำ มีเพื่อน ไม่ถูกโยนทิ้งไว้ข้างทาง อันเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่คนทั่วไปได้รับโดยไม่ต้องพยายาม แต่สำหรับบางชีวิตในสังคมเดียวกัน สิ่งนี้กลับห่างไกลจนดูไร้ความหวังที่จะยกระดับชีวิตตัวเองให้เทียบเท่าความปกติธรรมดาของสังคม

ความยากจน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การว่างงาน อาการเจ็บป่วยทางกาย ครอบครัวแตกแยก เป็นปมเงื่อนที่โรเซตตาต้องแก้ให้ได้ก่อนจะพาชีวิตไปแตะที่ระดับของ ‘ความปกติธรรมดา’ ซึ่งเป็นเรื่องสาหัสสำหรับคนอายุ 17 ปีที่ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมุ่งหวังที่จะหยัดกายตรงได้เทียบเท่าคนอื่นๆ ไม่ต้องค้อมตัวก้มหน้าร้องขอความช่วยเหลือ

ปัญหาชีวิตอันแร้นแค้นของโรเซตตาถูกโยนกลับมาที่โครงสร้างสังคม ซึ่งไม่สามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะคนไร้โอกาสที่ดิ้นรนด้วยแรงตัวเองแล้ว แต่กลับต้องเผชิญการถูกปฏิเสธและการหาประโยชน์จากเจ้าของธุรกิจที่อาศัยช่องโหว่ในกฎหมายที่ไม่มีการปกป้องสิทธิแรงงาน

ในปี 1998 ช่วงเดียวกับที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ คนหนุ่มสาวเบลเยียมที่อายุต่ำกว่า 25 ปี เกินครึ่ง ต้องเจอกับปัญหาการว่างงานกว่า 6 เดือนหลังเรียนจบ หลังภาพยนตร์เรื่องนี้คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากคานส์มาได้ ทำให้เกิดการตื่นตัวต่อปัญหาเช่นที่โรเซตตาต้องเผชิญ จนมีการผลักดัน ‘กฎหมายโรเซตตา’ เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานเยาวชน โดยบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำกับเยาวชน และธุรกิจที่มีแรงงานเกิน 50 คน ต้องจ้างเยาวชนอย่างน้อย 3 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด

แม้ว่าพี่น้องดาร์เดนน์จะปฏิเสธว่ากฎหมายดังกล่าวมีกระบวนการผลักดันมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่มาได้รับความสนใจเพราะภาพยนตร์ โดยลุคบอกว่า “เราคาดหวังเสมอว่าหนังของพวกเราจะได้สื่อสารกับผู้คน ทำให้พวกเขาปั่นป่วน แต่เราไม่เคยหวังว่าจะเปลี่ยนโลก” แต่ในความเป็นจริงแล้ว หนังของดาร์เดนน์หลายเรื่องสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกของผู้ชม เมื่อเขาพยายามสื่อสารย้ำในประเด็นความยากจน ชนชั้นล่าง แรงงาน เมืองอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาสะท้อนมาจากปัญหาในบ้านเกิดที่ถูกนำเสนอตั้งแต่ในผลงานสารคดีเรื่องแรก

20 ปีให้หลัง แม้สังคมจะเปลี่ยนโฉมหน้าไป แต่ยังคงมีคนแบบโรเซตตาจำนวนมากที่กำลังพยายามยกระดับตัวเองไปสู่ความปกติธรรมดาอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการงานที่มั่นคง สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐได้โดยไม่ต้องถูกประทับตราว่าเป็น ‘คนจน’ อันเป็นการแปะสัญลักษณ์ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมจากสังคม ให้ต้องค้อมตัวก้มหน้ารับความช่วยเหลือไปไม่สิ้นสุด

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save