fbpx
พวกมากลากศาสตร์ : ว่าด้วยการจลาจล

พวกมากลากศาสตร์ : ว่าด้วยการจลาจล

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การรวมตัวชุมนุมกัน จะเพื่อประท้วงเรียกร้องหรือเพื่อการใดการหนึ่งก็ตาม ในประเทศพัฒนาแล้วถือเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกตินะครับ หากไม่ทำอะไรให้เป็นการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่น ก็ถือว่าถูกกฎหมายกันทั้งนั้น

ในประเทศไทยนั้นออกจะแปลกสักหน่อย คือมักมองว่าการชุมนุมมักจะจบลงที่ความเดือดร้อนวุ่นวาย ซึ่งไม่จริงเท่าไหร่ หากดูตามสถิติจะเห็นว่า มีม็อบการเมืองจำนวนน้อยเท่านั้นที่นำไปสู่ความวุ่นวายแบบนั้น

แต่กระนั้นก็ตาม ภาพพจน์แบบนี้ดูจะติดหัวคนไทยที่ชอบ ‘ความสงบเรียบร้อย’ ไปเสียแล้ว

เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า ม็อบธรรมดาๆ สงบเรียบร้อย กลายไปเป็นการจลาจลวุ่นวาย ก่อความเดือดร้อนให้กับผู้คน และก่อความเสียหายกับทรัพย์สินได้อย่างไร?

อะไรเป็นตัวจุดชนวน?

อันที่จริง เรื่องนี้สำคัญมากทั้งกับผู้ร่วมชุมนุมเองและเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่มักจะมีความรู้จากการเรียนหรือฝึกอบรมหัวเรื่องแบบนี้ไม่มากก็น้อย แต่ประชาชนทั่วไปยังรู้หรือสนใจ และมีการกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้น้อยอยู่ น่าจะได้มาดูกันว่า อะไรทำให้ม็อบดำเนินไปด้วยดีหรือกลับกลายเป็นการจลาจลวุ่นวายไปได้?

 

ภาษาที่ไม่ได้รับการสดับ

 

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เคยกล่าวไว้ว่า “การจลาจลก็คือ ภาษาที่ฟังไม่ได้ยิน”

เวลาเราดูข่าวเกี่ยวกับการจลาจล ภาพที่เราเห็นมักจะได้แก่ ผู้คนที่สับสน ทุกข์ใจ และโกรธเกรี้ยวที่มองว่า เหลือวิธีการเพียงอย่างเดียวที่จะเรียกร้องความสนใจจากคนที่เกี่ยวข้อง (มักจะเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมือง) ได้คือ การลงไม้ลงมือบางอย่างทางกายภาพ เช่น การทุบ คว่ำ หรือแม้แต่เผารถยนต์ (ความซวยของเจ้าของรถจริงๆ ครับ) การทุบร้านค้าและมักฉวยโอกาสเข้าไปขโมยของติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วย

หรือแม้แต่การเผชิญหน้า ขว้างปา และสู้รบปรบมือกับเจ้าหน้าที่

คิงยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “หากไม่นำเรื่องศีลธรรมมาพิจารณา ข้อจำกัดของการจลาจลก็คือ การลงมือแบบนี้ไม่เคยทำให้ได้ชัยชนะ และผู้ที่เข้าร่วมก็รู้ดี ดังนั้นการจลาจลจึงไม่ใช่เรื่องของการปฏิวัติ เพราะมันเป็นได้ก็แค่การปลดปล่อยอารมณ์รุนแรงที่คั่งค้าง ซึ่งเปล่าประโยชน์ และกลับจะมีแต่ทำให้พ่ายแพ้”

นี่เองที่เป็นมุมมองของชายผู้โด่งดังจากการยึดถือวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยไม่อาศัยความรุนแรง

ก็แล้วการจลาจลเกิดขึ้นได้อย่างไรกันแน่?

 

ชนวนความรุนแรง

 

การจลาจลต่างจากการชุมนุมประท้วงทั่วไปตรงความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของความสับสนวุ่นวาย และขาดการจัดการ

การประท้วงมักจะมีแกนนำและทีมงาน มีการวางแผนเป็นอย่างดีในการจัดการเรื่องต่างๆ ขณะที่การจลาจลมักเกิดจากกลุ่มคนที่แปลกหน้าต่อกัน (แต่อันนี้ต้องขอยกเว้นการจลาจล ‘แบบจัดตั้ง’ ที่มีมือที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องนะครับ)

ปัจจัยที่พบได้บ่อยที่สุด เรียกว่าเป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดการจลาจลเลยคือ ความยากจนและเรื่องชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน คนเหล่านี้เป็น ‘เบี้ยล่าง’ ในสังคมประจำวัน และไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรเสีย ขณะที่ชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง มีแนวโน้มจะเลี่ยงการก่อจลาจลมากกว่า เพราะมี ‘ต้นทุนทางสังคม’ สูงกว่า หากถูกจับได้และโดนลงโทษ

แต่นอกจากปัจจัยพื้นฐานสองเรื่องที่กล่าวไปแล้ว ยังพบว่ามี ‘ปัจจัยร่วม’ อื่นๆ อีก 4 ปัจจัยที่เป็นเชื้อไฟอย่างดีสำหรับการกระตุ้นให้เกิดการก่อจลาจล ได้แก่ (1) การลอบสังหาร มักพบกันว่ามีการจลาจลใหญ่เกิดขึ้นภายหลังการลอบสังหารผู้นำกลุ่มการเมืองและผู้นำแนวคิด เช่น กรณีของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เองก็เช่นกัน

(2) ผลการตัดสินคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินผลเลือกตั้งของคณะกรรมการเลือกตั้งที่บิดเบี้ยว การดำเนินคดีของทนายหรือการตัดสินใจคดีของศาลที่มองดูแล้วอาจไม่โปร่งใส ขัดหูขัดตาคนเป็นอย่างมาก หรืออย่างที่เห็นในบ้านเรากรณีผลการตัดสินลงโทษคนรวยที่ทำผิด จนกล่าวกันติดปาก (แม้จะไม่จริงทั้งหมด) ว่า คนรวยยากจะติดคุกในประเทศนี้

(3) ข่าวลือ เป็นตัวกระพืออารมณ์ของคนในม็อบจนนำไปสู่การจลาจลได้เป็นอย่างดี

และ (4) ผลการตัดสินแพ้ชนะในเกมกีฬา อันนี้เห็นกันบ่อยทีเดียว ไม่น่าจะต้องอธิบายกันมาก

กล่าวโดยรวมๆ ปัจจัยร่วมทั้งหมดที่เป็นเชื้อไฟ ล้วนมีรากมาจากเรื่องของความอยุติธรรมในสังคมนั่นเอง (แต่อาจมีอคติส่วนตัวมาเกี่ยวข้องด้วยมากบ้างน้อยบ้าง)

 

น้ำผึ้งหยดเดียว

 

ชนวนการจลาจลจะเริ่มทำงานจริงก็ในตอนที่ผู้ร่วมชุมนุมเริ่มยุยงต่อกัน เริ่มมองหน้ากัน แล้วคิดในใจ “เอาเลยดีไหม(วะ)” ซึ่งมักจะต้องชั่งใจกันอยู่สักพัก กินเวลาสั้นบ้าง ยาวบ้าง โดยเวลาที่ใช้ก็คือ เวลาในการประเมินว่า หากลงมือ ตัวเองจะรอดจากการโดนจับกุมไหมนั่นเอง!

ปกติการชุมนุมจะต้องมีผู้นำ แต่การจลาจลตามธรรมชาติ มีลักษณะเฉพาะตัวสำคัญคือ ไม่มีผู้นำอยู่ในตอนต้น แต่จะเกิดผู้นำการจลาจลขึ้นภายหลัง ซึ่งผู้นำคนดังกล่าวก็ ‘ชั่งใจ’ ตรวจวัดอุณหภูมิในม็อบว่า ร้อนพอจะลงมือหรือไม่

ลองคิดดูว่าหากลงมือไปแล้ว คนอื่นไม่เอาด้วย ยืนมองเฉยๆ คราวนี้ก็เข้าปิ้งคนเดียวละครับ

สภาวะรอบตัวก็เกี่ยวนะครับ ส่วนใหญ่พบว่าการจลาจลจะเกิดในวันอากาศดี ไม่ค่อยก่อจลาจลกันในวันฝนตก หิมะตก หรืออากาศย่ำแย่ จำนวนคนหนุ่มสาวในม็อบก็มีส่วน หากมีสัดส่วนมากกว่าคนสูงอายุก็ยิ่งมีโอกาสเกิดการจลาจลง่ายขึ้นไปด้วย … ก็ฮอร์โมนมันแรงอะนะ!

นอกจากนี้ การจลาจลยังเกิดขึ้นในเมืองบ่อยกว่าในชนบท เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก ยิ่งชนบทคนก็ยิ่งเข้าร่วมน้อย จึงเร่งอุณหภูมิของม็อบได้ยาก ความเป็นเมืองยังทำให้ง่ายที่จะนัดหมาย แถมพื้นที่เมืองยังมักมีสถานที่ที่เป็น ‘หมุดหมาย’ การชุมนุม หรือมีประวัติศาสตร์การเมืองอยู่ด้วยมากกว่า

มีงานวิจัยที่สอบถามผู้เข้าร่วมชุมนุมว่า หากปุบปับจะหาที่ไปม็อบกัน คนส่วนใหญ่ก็มักเลือกสถานที่ซึ่งไปม็อบกันบ่อยๆ ซ้ำๆ ก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว นอกจากนี้ ข่าวคราวในสื่อซึ่งรวมทั้งโซเชียลมีเดีย ยังระบุสถานที่ได้ง่ายกว่าอีกด้วย เพราะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก

การประเมินของผู้เริ่มก่อการจลาจลมักจะครอบคลุมการประเมินคนร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ด้วย ว่าพร้อมจะเอาด้วยไหม? มีคนร่วมชุมนุมมากกว่าจำนวนตำรวจสักเท่าใด? อาจจะมีใครเป็นสักขีพยานและชี้ตัวได้ว่าเป็นคนเริ่มทำลายข้าวของหรือไม่?

เสียงสัญญาณการเริ่มจลาจลมักจะเป็นเสียงกระจกแตกจากก้อนหินหรืออะไรอย่างอื่นที่ขว้างได้ ร้านของคนในพื้นที่ชุมนุมที่แต่งร้านด้วยกระจก จึงควรมีประตูโลหะขวางกระจกไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยง การที่มักเลือกปากระจกให้แตก ก็เพราะเสียงกระจกแตกมีลักษณะโครมคราม ได้ยินไปไกล

สร้างความตื่นตัวและปลุกเร้าคนอื่นในม็อบได้ แม้ว่าจะไม่เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตัวเองก็ตาม

 

ไฟลามทุ่ง

 

ปกติหากเริ่มจุดชนวนติดแล้ว การจลาจลจะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนที่โกรธแค้นและเก็บกดอยู่แล้ว ก็พร้อมจะทำอะไรเป็นการระเบิดออกอยู่ทุกตลอดเวลา การทำลายข้าวของและทำร้ายผู้คนจะเกิดต่อเนื่องไปอย่างไม่อาจควบคุมได้ และไม่มีหัวหน้าคอยควบคุมอยู่เลย ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างสับสนอลหม่าน

สิ่งที่คนในกลุ่มที่ก่อจลาจลพยายามทำ หลักๆ ก็มีแค่การทุบทำลายข้าวของ ทำร้ายคน และหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนจับได้เท่านั้น การอยู่ท่ามกลางม็อบแบบนี้จะกระตุ้นให้รู้สึกตื่นเต้น ตื่นตัว และรู้สึกราวกับตัวเองมีอำนาจทำอะไรได้ และที่แปลกแต่สำคัญที่สุดคือ มีความรู้สึกราวกับว่าตัวเอง ‘ล่องหนอยู่’ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ซึ่งจะไม่มีใครจำได้ จับได้ และ (หลอกตัวเองว่า) ไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำดังดังกล่าว

มีงานวิจัยที่ชี้ว่า การจลาจลที่เกิดขึ้นในคุกหรือในสนามกีฬา ผู้เข้าร่วมในสถานการณ์มีความรู้สึกของความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มสูงมาก เพราะสวมใส่ชุดเหมือนกัน ร้องเพลงเดียวกัน และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในกรณีของผู้ต้องขังก็คือ ความต้องการเสรีภาพ ส่วนพวกแฟนกีฬาก็คือ ความมุ่งหวังจะได้ชัยชนะ

ตัวเร่งเร้าที่ดีที่สุดในกรณีหลังก็คือ แอลกอฮอล์

ดังนั้น หากต้องการจะหลีกเลี่ยงจลาจลในสนามกีฬาหรือบริเวณรอบๆ ในกีฬานัดสำคัญที่มีเดิมพันสูง (อาจจะรวมเดิมพันเรื่องชื่อเสียงด้วย ไม่แค่ตัวเงิน) ก็ควรห้ามขายหรือนำสุราเข้ามาในบริเวณดังกล่าว ในเมืองไทยอาจจะเพิ่มกรณีของคอนเสิร์ตที่มี ‘เพลงแรงๆ’ และมักตีกันบ่อยเข้าไปด้วย

เรื่องที่น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ยิ่งการจลาจลเนิ่นนานออกไป คนก็ยิ่งลืมวัตถุประสงค์แรกสุดว่า พวกตนมาชุมนุมกันเพื่ออะไรแน่ ขณะที่คนเหล่านั้นรู้สึกว่า การลงมือเหล่านี้ยุติธรรมดีแล้ว สำหรับตัวเองที่โดนเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความยุติธรรม

ผลลัพธ์จึงเป็นความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยคนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือจำเป็นต้องได้รับผลกระทบเช่นนั้น เป็นแต่เพียงการอยู่ผิดที่ผิดเวลา

การจลาจลแม้จะรุนแรง และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็มักจะมีโมเมนตัมได้ไม่นาน เพราะไม่มีการจัดตั้งควบคุมอย่างเป็นระบบ สุดท้ายจึงมักจะจบได้อย่างง่ายดาย หากเจ้าหน้าที่สามารถจับตัวหลักๆ โดยเฉพาะในจุดเริ่มการจลาจลได้

ดังนั้น สำหรับผู้ที่เข้าร่วมม็อบ แต่ไม่เห็นด้วยกับการจลาจล ก็พึงวัดระดับอุณหภูมิม็อบตนเองไว้ให้ดีอยู่เป็นระยะๆ เพราะม็อบที่กลายเป็นจลาจลนั้น ส่วนใหญ่จะไร้หัว แต่ฟาดหางได้รุนแรง และคงไม่มีใครอยากซวย เพราะโดนหางนั้นฟาดแหงๆ

สำหรับฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้น การระดมกำลังพร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา สายฉีดน้ำ กระสุนยาง หรือแม้แต่สุนัขตำรวจ ฯลฯ (กระสุนจริงไม่ใช่อุปกรณ์หลักในการปราบจลาจล) และเข้าจู่โจมที่ ‘หัวโจก’ ก็เป็นมาตรฐานที่ได้ผลแทบจะทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากจลาจลเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ และไม่มีฝ่ายไหนอยากเห็น อีกทั้งจะเป็นตัวทำลายความเข้มแข็งและความชอบธรรมของม็อบเองรวมไปถึงกีดกันคนที่ไม่นิยมความรุนแรง แต่มีเป้าหมายเดียวกันออกจากวงด้วย

ช่วยๆ กันหลีกเลี่ยงก็จะดีครับ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022