fbpx
ค้นหาสปิริต 2475 ในเกมส์การ์ดและข้าวของ

ค้นหาสปิริต 2475 ในเกมส์การ์ดและข้าวของ

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่องและภาพ

‘Revolution Things’ เป็นนิทรรศการเล็กๆ อัดแน่นในแกลเลอรีไซซ์ย่อมอย่าง Cartel Artspace แต่สิ่งที่นิทรรศการนี้พูด นับว่าหาฟังได้ยากในสังคมไทย

“นิทรรศการนี้รวบรวมข้าวของยุค 2475 จากหลายๆ ที่ และแทบหาดูไม่ได้แล้วมาจัดแสดง ปัจจุบันแทบไม่มีพิพิธภัณฑ์ไหนในประเทศไทยให้ความสำคัญต่อยุคสมัยทางศิลปะของศิลปะคณะราษฎร น่าจะเป็นไม่กี่ครั้งที่เราจะได้ดูของเหล่านี้” กิตติมา จารีประสิทธิ์ หนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ และอาจารย์ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพรวมของ ‘Revolution Things’

นิทรรศการครั้งนี้ ตั้งใจพูดถึงนัยยะของข้าวของที่เกี่ยวข้องกับยุค 2475 โดยเฉพาะ โดยทีมงานจาก Waiting You Curator Lab นำโดยกิตติมา ใช้เวลากว่าหนึ่งปีรวบรวมข้าวของซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะสมัยคณะราษฎรจากทั่วประเทศ เธอกล่าวว่างานนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีองค์ความรู้ของภัณฑารักษ์อีกคนหนึ่ง นั่นคือ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งค้นคว้าเรื่องสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรมายาวนานกว่า 12 ปี

ชาตรี ประกิตนนทการ และ กิตติมา จารีประสิทธิ์
ชาตรี ประกิตนนทการ และ กิตติมา จารีประสิทธิ์ สองภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ‘Revolution Things’ กำลังเล่น ‘เกมส์การ์ด ของ(คณะ)ราษฎร’ อีกหนึ่งความพิเศษที่พบได้ในนิทรรศการครั้งนี้

“เริ่มแรกเราอยากเอางานวิชาการที่อาจารย์ชาตรีทำ มาแปลงเป็นนิทรรศการ จึงนำมาสู่ความสนใจเรื่องสิ่งของวัตถุในสมัยคณะราษฎรซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจในเชิงศิลปะด้วย ที่ผ่านมาแวดวงศิลปะไม่ได้สนใจยุคสมัยทางศิลปะนี้ชัดเจน จะพูดกันในแง่การเมืองมากกว่า”  กิตติมากล่าว

‘ข้าวของ’ เหล่านี้สำคัญอย่างไร? ถึงต้องเอามาจัดแสดงนิทรรศการ และของธรรมดาๆ เช่น ขวดน้ำ โอ่ง กล่องเก็บบุหรี่ พวงกุญแจ ฯลฯ มีความหมายใดซ่อนไว้ ชาตรี ประกิตนนทการ กิตติมา จารีประสิทธิ์ ร่วมด้วยประชา สุวีรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการออกแบบ จะร่วมค้นหา ‘สปิริตแห่งการปฏิวัติ’ ที่ติดมากับข้าวของเหล่านี้

 

ข้าวของสะท้อนคำขานรับ

 

“นิทรรศการ ‘Revolution Things’ เราใช้ชื่อภาษาไทยว่า ‘ของ(คณะ)ราษฎร’ มีนัยยะสำคัญคือ ของที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้มีทั้งของที่ผลิตขึ้นโดยคณะราษฎรเอง เช่น เหรียญที่ระลึก อนุสาวรีย์ และมีของของราษฎร หรือของที่ผลิตขึ้นโดยเอกชน ซึ่งในทัศนะผม หมวดนี้สำคัญ” ชาตรีกล่าว

แผ่นเสียงตรากระต่าย บันทึกเพลงสดุดีรัฐธรรมนูญ
แผ่นเสียงตรากระต่าย บันทึกเพลงสดุดีรัฐธรรมนูญ

“ผมคิดว่าเราน่าจะเคยได้ยินการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นเรื่องจำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคล เช่น เป็นเรื่องของทหารหัวสมัยใหม่จากเมืองนอกเท่านั้น หรือเป็นการแย่งชิงอำนาจในคนกลุ่มเล็กๆ แต่ความจริงที่ว่าข้าวของเหล่านี้แพร่กระจายไปเยอะ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองแพร่กระจายไปในวงกว้าง คนธรรมดาทั่วไปมีสำนึกและตอบรับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วร่วมกันเฉลิมฉลองด้วยการผลิตสิ่งของเหล่านี้ขึ้นมา”

นอกจากข้าวของที่ผลิตโดยรัฐและเอกชนแล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังจัดแสดงข้าวของที่ผลิตขึ้นเพื่อเป็นองค์ประกอบในศาสนสถานอีกด้วย เช่น หน้าบันซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่หลังจากนั้นมีการซ่อมแซม พอกเสริมคอนกรีตทับเข้าไปเป็นรูปเทวดาถือพานรัฐธรรมนูญ ฝ้าเพดานภายในโบสถ์ที่ออกแบบเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญล้อมรอบด้วยดาว 6 ดวง พนักพิงธรรมาสน์ที่มีรูปพานรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ชาตรีกล่าวถึงความสำคัญที่ศิลปะยุคนี้ทิ้งร่องรอยไว้ว่า “ความเปลี่ยนแปลงในยุคนั้นไปไกลถึงปริมณฑลทางศาสนา พระก็ร่วมเฉลิมฉลอง สะท้อนผ่านงานศิลปกรรมที่ปรากฏในวัดวาอารามต่างๆ”

รูปจำลองประติมากรรมนูนต่ำ รูปเจ้าแม่โมฬี ของจริงติดตั้งอยู่ที่ผนังโรงภาพยนตร์ทหารบก จังหวัดลพบุรี บันทึกอุดมคติของร่างกายยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งให้ความสำคัญกับพลเมืองในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติสมัยใหม่ ร่างกายผู้หญิงจึงไม่นิยมผู้ที่อ้อนแอ้นอรชร แต่เป็นหญิงที่แข็งแรงสุขภาพดี
รูปจำลองประติมากรรมนูนต่ำ รูปเจ้าแม่โมฬี ของจริงติดตั้งอยู่ที่ผนังโรงภาพยนตร์ทหารบก จังหวัดลพบุรี บันทึกอุดมคติของร่างกายยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งให้ความสำคัญกับพลเมืองในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติสมัยใหม่ ร่างกายผู้หญิงจึงไม่นิยมผู้ที่อ้อนแอ้นอรชร แต่เป็นหญิงที่แข็งแรงสุขภาพดี

กิตติมากล่าวถึงพิกัดที่ข้าวของศิลปะคณะราษฎรกระจายตัวอยู่ ก่อนที่จะเลือกมาจัดแสดง 50 ชิ้นว่า “เราพบของอยู่ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งภูเก็ต เลย ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน ฯลฯ แต่เราขอยืมมาจัดแสดงได้บางส่วน เช่น ภาพเขียนเพดานเราจำลองมาจากวัดท่าคก อำเภอเชียงของ จังหวัดเลย พนักพิงธรรมาสน์เอามาจากวัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี โคมไฟจากภูเก็ต เราจะเห็นความเป็นประชาธิปไตยผ่านสัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญที่อยู่บนสิ่งของทุกอย่าง ว่านอกจากสัญลักษณ์นี้จะอยู่ในศูนย์กลางของประเทศไทย ยังแพร่กระจายไปส่วนอื่นของประเทศด้วย

“เราพบขวดน้ำหวานยี่ห้อ สมัยไทย ที่มีสัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญ ขวดไม่ใช่ของสูงส่ง เป็นของทั่วไป เราจะเห็นว่าสัญลักษณ์แบบนี้สามารถอยู่กับของเชิงพาณิชย์ก็ได้ อยู่ที่ขวดเบียร์ด้วย อยู่กับโอ่ง มีกล่องใส่บุหรี่ซึ่งเป็นเครื่องถม เราได้มาจากพิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ปกติเครื่องถมจะเป็นลวดลายไทยแบบประเพณี มีสัญลักษณ์สูงส่ง แต่ที่เราพบใช้สัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญแทนเข้าไปในรูปแบบของงานหัตถกรรมเดิม

ตัวอย่างข้าวของที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญปรากฏอยู่ เช่น กล่องบุหรี่ กล่องซิการ์ ขันน้ำ โคมไฟเปลือกหอย  ฯลฯ
ตัวอย่างข้าวของที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญปรากฏอยู่ เช่น กล่องบุหรี่ กล่องซิการ์ ขันน้ำ โคมไฟเปลือกหอย  ฯลฯ

“สิ่งของเหล่านี้ไปไกลมากค่ะ นอกจากสถานที่ราชการ มีของสะสมส่วนตัวที่ได้จากตามบ้าน เช่นแผ่นเสียง ที่เขี่ยบุหรี่ ที่แขวนพวงกุญแจ สัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญผูกเข้าไปในชีวิตประจำวันมากๆ มีคนเข้าใจสปิริตยุคสมัยแล้วเก็บของไว้เยอะ การที่สัญลักษณ์ของการปฏิวัติอย่างพานรัฐธรรมนูญเข้าไปอยู่ในสิ่งของ และในชีวิตประจำวัน คือการสะท้อนสปิริตของความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งของพวกนี้แสดงให้เราเห็นว่าในยุคสมัยนั้นได้เกิดแนวคิดใหม่และเทรนด์ใหม่ที่เริ่มเปลี่ยนไป”

ฟาสซิสม์ของคณะราษฎร vs เผด็จการอำนาจนิยมในปัจจุบัน

เมื่อเอ่ยถามกิตติมาว่ายุคที่ผู้คน สังคม และข้าวของ ยังมีจิตวิญญาณของการปฏิวัติ ตามชื่อนิทรรศการว่า ‘Revolution Things’ นั้น ครอบคลุมระยะเวลายาวนานแค่ไหน กิตติมาตอบว่า

“15 ปีค่ะ พ.ศ. 2475 – 2490 นับแค่ช่วงนี้ แม้แต่การเปลี่ยนแปลงของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงหลัง พ.ศ. 2490 ก็ไม่นับ เพราะสปิริตไม่เหมือนเดิมแล้ว เราคิดว่าจริงๆ แล้วสปิริตในยุคต้นมันคือ ‘Revolution Spirit’ หรือสปิริตแห่งการปฏิวัติ”

คำว่าปฏิวัติในความหมายของกิตติมา หมายถึงการริเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งต่างกับการรัฐประหารซึ่งมุ่งไปที่มิติการแย่งชิงอำนาจ

“ทุกวันนี้ในสังคมยังมีความสับสนระหว่างคำว่า ‘ปฏิวัติ’ กับ ‘รัฐประหาร’ ซึ่งไม่เหมือนกัน เราพยายามทำให้เห็นว่าสปิริตช่วงนั้นเป็นยังไง คนอาจมองว่าเราโปรคณะราษฎรหรือเปล่า แต่จริงๆ ไม่ใช่ เราเห็นจุดอ่อน เช่น นโยบายรัฐนิยมก็มีเรื่องการสั่งการทางวัฒนธรรมที่สุดโต่งหลายอย่าง แต่เราอยากชี้ให้เห็นว่าในประวัติศาสตร์ช่วงนั้นมีสปิริตของคำว่าปฏิวัติ (revolution) อยู่จริง ครั้งหนึ่งเราเคยมีความพยายาม”

เมื่อเอ่ยถึงประวัติศาสตร์ 2475 และผลงานของคณะราษฎร นอกจากคำว่า ‘ปฎิวัติ’ ที่ถูกบิดผันจากความหมายเชิงก้าวหน้าในช่วงเริ่มแรก จนผู้คนในยุคปัจจุบันจำนวนมากตีค่าบิดเบี้ยวให้เท่าคำว่า ‘รัฐประหาร’ แล้วนั้น คำว่า ‘ฟาสซิสม์’ ยังเป็นคำเจ้าปัญหาอีกคำหนึ่ง ชาตรีกล่าวว่าคำนี้มีรายละเอียดอันละเอียดอ่อน แต่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ

ชาตรีในวันเปิดนิทรรศการเมื่อ 24 มิถุนายน 2561 ที่ Cartel Art Space ซ.นราธิวาส 22
ชาตรีในวันเปิดนิทรรศการเมื่อ 24 มิถุนายน 2561 ที่ Cartel Art Space ซ.นราธิวาส 22

“เวลาผมพูดว่าศิลปะคณะราษฎรเป็นศิลปะแบบฟาสซิสม์ ผมไม่ได้ใช้ในเซ็นส์ที่ว่ามันถ่ายแบบความคิดจากอุดมการณ์ฟาสซิสม์ต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อว่าการดีไซน์หรือไอเดียอะไรก็ตามที่ถูกส่งผ่านข้ามโลก ข้ามวัฒนธรรม จะถูกทำให้เป็นท้องถิ่น (localize) เสมอ ไม่มากก็น้อย

“แน่นอน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ลักษณะศิลปะแบบฟาสซิสม์เข้ามาปรากฏในศิลปะสมัยคณะราษฎร แต่ผมอยากเสนอว่า รูปแบบดังกล่าวถูกนำมาปรับให้ตอบสนองต่อบริบทและคำถามเฉพาะของสังคมไทยเอง เป็นการหยิบยืมและปรับแปลงใช้รูปแบบดังกล่าวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่ตรงข้ามกับศิลปะแบบประเพณีไทย เพื่อสะท้อนจิตวิญญาณใหม่ของการปฏิวัติ 2475 ซึ่งก็คือ อำนาจอธิปไตย สิทธิ ความเสมอภาค การปกครองสมัยใหม่ ซึ่งงานศึกษาที่ผ่านมามักละเลยประเด็นนี้ เพราะมุ่งแต่การพิจารณาเทียบเคียงรูปแบบเปลือกนอกทางศิลปะเท่านั้น ว่าถ้าหน้าตาเหมือนกัน แนวคิดเบื้องหลังย่อมเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งความจริงไม่ใช่แบบนั้น

“นัยยะของรูปแบบศิลปะฟาสซิสม์ในยุค 2475 ในสังคมไทย จึงถูกแปลงให้มารับใช้อุดมการณ์แบบประชาธิปไตยมากกว่า และมีอำนาจเหนือ (dominate) ไอเดียฟาสซิสม์ต้นฉบับ พูดให้ชัดก็คือบริบทภายในของไทยยุคแรกมีประชาธิปไตย ที่เน้นลักษณะเสรีนิยมและประชาธิปไตย ได้เข้าไปกำหนดการหยืบยืมรูปแบบฟาสซิสม์ให้เหลือเพียงแค่สไตล์ โดยใส่ความหมายเฉพาะของสังคมไทยลงไปแทน

“ถ้าให้ผมเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ปัจจุบันนี้มีลักษณะที่เป็นฟาสซิสม์จริงๆ หรือรุนแรงมากกว่า คือเป็นทั้งแก่น ไอเดีย แนวคิด ฟอร์ม แต่สมัยคณะราษฎร ไอเดียและแก่นเป็นชุดหนึ่ง คือเรื่องสิทธิ เรื่องประชาธิปไตย แต่ไปเลือกใช้ฟอร์มหรือสไตล์แบบฟาสซิสม์ ในขณะที่ปัจจุบันไอเดีย ฟอร์ม แก่น ไปด้วยกัน”

พลังของความเรียบทื่อในศิลปะคณะราษฎร

เช่นเดียวกับกิตติมา ชาตรีขีดเส้นว่าศิลปะที่มีสปิริตแห่งการปฏิวัติ ตามคำจำกัดความของนิทรรศการครั้งนี้ เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2490 เพราะหลังจาก พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา รัฐได้ย้อนกลับไปหาศิลปะแบบไทยประเพณีอย่างที่เคยเป็นมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนรูปแบบงานไทยประเพณีมีอิทธิพลเหนือศิลปะแบบอื่นๆ สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“ในบริบทของสังคมไทย ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและความอ่อนช้อยนั้น มีนัยยะทางวัฒนธรรมที่สะท้อนฐานานุศักดิ์ทางสังคมอยู่ด้วย ผู้คนที่ใช้อาคารนั้นๆ ต้องเรียนรู้ความมีสูงมีต่ำ ความนอบน้อม กาละเทศะ เพราะฉะนั้นรูปแบบศิลปะแบบประเพณีที่อลังการจึงมิใช่เรื่องของการสร้างความงามเพียงอย่างเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นการแฝงนัยยะทางความคิดแบบอนุรักษนิยมและการจำแนกแยกคนออกเป็นชนชั้นสูงต่ำตามไปด้วย

“ส่วนศิลปะคณะราษฎร ในแง่ดีไซน์มีการลดทอนและทำให้เรียบง่าย ใช้ระบบโมดุลลาร์ สร้างตึกคอนกรีตที่มีเส้นตรงเยอะ ผิวหน้าเกลี้ยง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะอาร์ตเดคโค (Art Deco) ในทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นแนวทางหลักแนวหนึ่งในกระแสใหญ่ของศิลปะยุคโมเดิร์นทั้งหมด อาร์ตเดคโคในบริบทสากลอาจเป็นที่รังเกียจอยู่บ้างว่าเป็นแค่สไตล์ซึ่งคลุมเครือ รับใช้ทั้งฟาสซิสม์ก็ได้ ทุนนิยมก็ได้ อย่างไรก็ตาม ศิลปะแบบลดทอนเหล่านี้ แม้ว่าต้นกำเนิดจะอยู่ในสังคมตะวันตกซึ่งรากเดิมไม่ได้มีนัยยะเพื่อมาสู้กับอนุรักษนิยมหรือตอบโจทย์สังคมไทย แต่คณะราษฎรเลือกหยิบมาและใช้ในความหมายที่เป็นคู่ตรงข้ามกับศิลปะประเพณีซึ่งเป็นบริบทเฉพาะของไทยเอง  สิ่งหนึ่งมลังเมลือง อ่อนช้อย รายละเอียดเยอะ อีกสิ่งหนึ่งลดทอน เรียบง่าย ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นคู่ตรงข้ามทางสัญลักษณ์ที่มีพลัง”

ภาษา ตัวโป้ง และชนชั้น

สิ่งพิมพ์ยุค 2475 ที่ใช้ 'ตัวเหลี่ยม' ในการออกแบบ l ภาพจาก Cartel Artspace
สิ่งพิมพ์ยุค 2475 ที่ใช้ ‘ตัวเหลี่ยม’ ในการออกแบบ l ภาพจาก Cartel Artspace

 

ในนิทรรศการนี้ยังมีสิ่งของที่น่าสนใจอีกหมวดหนึ่ง คือสิ่งพิมพ์ การแพร่หลายของสิ่งพิมพ์หลัง พ.ศ. 2475 ทำให้อำนาจของสื่อไม่จำกัดอยู่ที่ชนชั้นสูง และช่วยกระจายข่าวสารการเมืองสู่คนหมู่มากได้  ในบริบทโลก การแพร่หลายของสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Modernism) ซึ่งความ ‘ใหม่’ นี้ กินความทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศิลปวัฒนธรรม

ประชา สุวีรานนท์ ชวนสังเกตศิลปะสมัยใหม่ที่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์อย่าง Darkest Hour (2017) และซีรีย์อย่าง The Crown (2016) ซึ่งตามท้องเรื่องเกิดขึ้นในอังกฤษเมื่อทศวรรษ 1930 ใกล้เคียงกับยุค Revolution หรือ พ.ศ. 2475-2490 ของไทยพอดี

“ในยุคนี้อังกฤษเปลี่ยนแปลงมาก ตัววัดอาจเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง ถ้าคุณดูหนังแล้วสังเกตป้ายต่างๆ เช่นป้ายในสถานีรถไฟ คุณจะไม่เห็นฟอนต์ Sherif แต่จะเปลี่ยนเป็นฟอนต์ที่โมเดิร์นแล้ว” ประชากล่าวถึงความกรุยกรายที่ค่อยๆ หายไป และความเรียบง่ายที่ค่อยๆ เข้ามาแทนที่

“เรารู้ว่าโมเดิร์นดีไซน์เป็นร่มใหญ่ที่สุดของสไตล์ในทุกวันนี้ ยุคโมเดิร์นเป็นยุคเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ในไทยตัวอักษรแบบเหลี่ยมชุด ‘โป้ง’ เกิดขึ้นพร้อมกับการถือกำเนิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ เช่น ประชาชาติ ไทยใหม่ ศรีกรุง บางกอกการเมือง  ความพิเศษคือหนังสือพิมพ์เริ่มมีการพาดหัวข่าวเป็นครั้งแรกด้วยตัวอักษรโป้งแซและโป้งไม้ โป้งแซเป็นบล็อกตัวตะกั่ว ส่วนโป้งไม้เป็นโป้งไม้จริงๆ คือแกะบล็อกตัวเรียงพิมพ์ด้วยไม้

“ยุคนี้เป็นยุคที่รัฐบาลและเอกชนของไทยพยายามสร้างเอกลักษณ์ใหม่ของชาติ สิ่งเหล่านี้แสดงออกในสิ่งพิมพ์และโฆษณาจำนวนมาก ตัวเหลี่ยมของคณะราษฎรปรากฏในหลัก 6 ประการ คือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา และถูกทำซ้ำบ่อยๆ ทั้งในระบบราชการ ในรูปปั้น ในฐานรูปปั้นรูปพานรัฐธรรมนูญ หลังยุครัฐนิยมตัวเหลี่ยมก็ถูกกำจัดจากระบบราชการ”

ป้ายหลัก 6 ประการของคณะราษฎรซึ่งอยู่เหนือรูปปั้นพานรัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่ในกรมศิลปากร ใช้ตัวอักษรแบบเหลี่ยม หรือ 'ตัวเหลี่ยม' เน้นเส้นตั้งตรงและหนา คล้ายตัวอักษรละติน ให้ความรู้สึก 'โมเดิร์น' รูปแบบการใช้เส้นตั้งตรงแบบเรขาคณิตเช่นนี้เป็นที่นิยมในตะวันตกในสมัยเดียวกัน l ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์
ป้ายหลัก 6 ประการของคณะราษฎรซึ่งอยู่เหนือรูปปั้นพานรัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่ในกรมศิลปากร ใช้ตัวอักษรแบบเหลี่ยม หรือ ‘ตัวเหลี่ยม’ เน้นเส้นตั้งตรงและหนา คล้ายตัวอักษรละติน ให้ความรู้สึก ‘โมเดิร์น’ รูปแบบการใช้เส้นตั้งตรงแบบเรขาคณิตเช่นนี้เป็นที่นิยมในตะวันตกในสมัยเดียวกัน l ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

นอกจากรูปแบบตัวอักษร คณะราษฎรชุด Revolution ยังเห็นความสำคัญของการที่ต้องมีอีกชุดวัฒนธรรมมาคะคานอำนาจวัฒนธรรมอนุรักษนิยมเดิม จนถึงขั้นปรับเปลี่ยนการใช้ภาษาไทยในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกำจัดตัวอักษรและสระที่มีเสียงซ้ำกันออกไปเป็นจำนวนมาก คงเหลือไว้เท่าที่จำเป็น ซึ่งคนในยุคปัจจุบันหลายคนเมื่อย้อนกลับไปอ่านภาษาช่วงนี้ จะพากันส่ายหน้าแล้วบอกว่า ‘อ่านไม่รู้เรื่อง’ ส่วนนักเขียนพากันทรมานที่ถูกบีบบังคับให้ใช้ภาษาวิบัติของ ‘คนะราสดร’ แม้ว่าช่วงเวลานี้จะกินเวลาแค่ 2 ปี เพราะหลังจากเริ่มใช้ภาษาชุดนี้ไปได้ไม่นาน จอมพล ป. ได้ถูกยึดอำนาจก็ตาม

“เกาหลี ญี่ปุ่น มีการปรับเปลี่ยนภาษาโดยลดทอนให้ง่ายลงเหมือนกัน ซึ่งเขาอ้างเหตุผลว่าเพื่อทำให้เข้ากับระบบเครื่องจักรและทำให้นักศึกษาเรียนสำเร็จเร็วขึ้น ก่อนหน้านั้นประเทศเพื่อนบ้านเราเปลี่ยนตัวเขียนเป็นภาษาโรมันทั้งหมด ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย” ประชากล่าวถึงชาติที่ปรับเปลี่ยนจากเยอะไปน้อยได้สำเร็จ

ประชา สุวีรานนท์ ในวันเปิดนิทรรศการ Revolution Things
ประชา สุวีรานนท์ ในวันเปิดนิทรรศการ Revolution Things

ชาตรีสะท้อนถึงความขลุกขลักในการใช้ภาษาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า “มีการออกกฎไวยากรณ์ค่อนข้างละเอียด ภาครัฐเองใช้เองยังผิด และยังไม่ค่อยมีมาตรฐานในการใช้ บางทีคำเดียวกันในสิ่งพิมพ์ของรัฐแบบเดียวกัน สะกดไม่เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้ซึมลึกลงไปจริงๆ

“แต่ผมเชื่อนะครับว่า สมมติถ้าได้ใช้ไปได้นานๆ การปรับปรุงภาษาน่าจะส่งผลต่อสปิริตของการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย เช่น คนจะลดหรือเลิกใช้สรรพนามหลายระดับซับซ้อนของสังคมไทย ให้เหลือแค่ฉันกับเธอ หรือคุณกับผมเหมือนภาษาอังกฤษ ในสังคมไทยการใช้สรรพนามมีหลายระดับชั้นซึ่งส่งผลต่อระบบความคิดแน่นอน เพราะตอนคุยกัน เราจะมองกัน แล้วระบบสรรพนามในหัวเราจะประเมินอัตโนมัติทันทีว่านี่คือใคร

“ผมเจอคุณประชาก็ต้องเป็น ‘คุณประชา’ แม้ว่าเราอาจจะเกลียดกันและอาจมี ‘มึง’ อยู่ในใจ (หัวเราะ) แต่ระบบภาษาในหัวของเราจะปฏิบัติการโดยอัตโนมัติ และกำหนดให้เราเลือกสรรพนามให้สอดคล้องกับชนชั้นและฐานะทางสังคมของผู้ที่เราพูดด้วยเสมอ เช่น อายุเท่าไหร่ ยศชั้นตำแหน่งคืออะไร หน้าตาอย่างนี้จะใช้สรรพนามอะไร ฯลฯ แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนไปใช้ภาษาแบบยุคจอมพล ป. ไปนานๆ เป็น 10 ปี ผมคิดว่า ระบบคิดนี้คงจะหายไป”

การหวนคืนของสปิริต 2475

“เราจะเห็นว่าเทรนด์การวิพากษ์สังคมในปริมณฑลของศิลปะตอนนี้มีสองสาย คือการใช้ศิลปะสมัยใหม่ เช่น วิดีโออาร์ต ศิลปะจัดวาง กับอีกทางหนึ่งคือการกลับไปหา 2475 ที่มีวิวัฒนาการทางการเมืองอยู่แล้ว” ชาตรีกล่าวถึงเทรนด์ล่าสุดในแวดวงศิลปะ

“จากการศึกษาของผม พบว่าช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 กลุ่มคนที่ทำงานต่อสู้ทางการเมืองทางวัฒนธรรม ไม่จำเพาะศิลปินนะครับ อาจเป็นนักกิจกรรมที่อยากต่อสู้กับฝ่ายอนุรักษนิยมผ่านงานศิลปวัฒนธรรม เริ่มหันกลับไปหายุคคณะราษฎร ไปจับสไตล์และสปิริตแบบคณะราษฎรขึ้นมาเป็นสาร (message) อีกครั้ง มีศิลปะหรือการวิพากษ์การเมืองที่ย้อนกลับไปหาคณะราษฎร การเลือกย้อนกลับไป 2475 ประสบความสำเร็จในแง่ที่ว่ามีรากของความหมายอยู่ แม้ว่าคนจะลืม 2475 ไปแล้ว แต่พอเราปลุกขึ้นมาพร้อมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มันก็มีพลังได้อย่างรวดเร็ว”

ชาตรีกับหน้าบันวัดตลิ่งชัน รูปเทวดาเทินพานรัฐธรรมนูญ, ศิลปะคณะราษฎร พ.ศ. 2484
ชาตรีกับหน้าบันวัดตลิ่งชัน รูปเทวดาเทินพานรัฐธรรมนูญ, ศิลปะคณะราษฎร พ.ศ. 2484

ชาตรีกล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า 2475 ยังมีพลังอยู่ ก็คือปรากฏการณ์ของกลุ่มผู้คนในฟากคิดอนุรักษนิยมที่ต้องการทำลายศิลปะและสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“การที่เราให้ความสำคัญกับ 2475 มีทั้งข้อดีและเสีย เอาข้อเสียก่อนนะครับ ตั้งแต่ผมทำงานวิชาการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม 2475 มา ผมรู้สึกว่ามรดกทางศิลปะสถาปัตยกรรมในยุคนี้ ถูกรื้อถูกทำลายไปมากขึ้น ไม่ใช่เพราะผมคนเดียวนะ มันเป็นกระแสอย่างที่บอกว่ามีการย้อนกลับไปหายุคสมัยนั้น แล้วเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมรู้สึกไม่สบายใจ แล้วก็รื้อ ทำลาย เช่นการรื้อหมุดคณะราษฎร ทุบตึกกลุ่มอาคารศาลฎีกาตรงข้ามสนามหลวง ย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่บางเขน นื่คือในแง่ไม่ดี ส่วนในแง่ดี ผมคิดว่าวงวิชาการจะเห็นชัด ถ้าเราย้อนกลับไปดู 4-5 ปีที่ผ่านมา จะพบงานศึกษาในแง่มุมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปวัฒนธรรมในยุคนี้เยอะขึ้น

“สำหรับหมุดคณะราษฎรที่หายไป ถ้าถามผมว่าเสียดายหมุดมั้ย ในแง่ของการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ผมคิดว่ามันไม่หายไปไหนหรอก ประโยคที่พูดว่า ‘หมุดอยู่ในใจเรา’ มันจริงในแง่ที่เรายังใช้มันในฐานะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพราะหลังหายไป หมุดตัวนี้กลับถูกผลิตให้เป็นวัฒนธรรมป็อบมากขึ้น คนกลับเห็นมันมากขึ้น

“แต่อีกด้านหนึ่ง ผมเสียดายมันในฐานะที่ตัวมันเองถือเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ว่าคนที่สมาทานอุดมการณ์แบบไหนควรจะเก็บรักษามัน ประเด็นนี้เราควรเรียกร้องกับทุกฝ่าย ว่าเราไม่ควรเอาจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน มาทำลายมรดกทางศิลปะ ผมคิดว่าอย่างน้อยเราควรมีเส้นต่ำสุดร่วมกันที่ไม่ควรล้ำ เช่น ถ้าวัตถุนั้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่าไปแล้วด้วยอายุ สมัย หรือความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ดังนั้นเราจะต้องไม่ทำลายมันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมอยากจะรณรงค์ให้ทุกคนทุกฝ่ายมีเส้นนี้ร่วมกันก่อน

“ทุกยุคทุกสมัย งานศิลปะกับการเมืองไม่เคยถูกแยกออกจากกัน เวลาเรามองดูวัดวาอารามโบราณสถานในอดีต เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของชนชั้นนำในยุคสมัยนั้น สถาปัตยกรรมของรัฐทุกชิ้นคือสัญลักษณ์ทางการเมืองทั้งหมด ดังนั้นถ้าเรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เราจะเห็นว่าก็ต้องต่อสู้กัน แต่มันควรมีเส้นบางอย่าง สงครามยังมีเส้นว่าถ้าใครใส่ชุดกาชาดจะไม่ฆ่า ผมก็อยากให้มีลักษณะเช่นเดียวกันว่า มรดกทางสถาปัตยกรรมหรือศิลปวัฒนธรรม เราควรตั้งเส้นร่วมกัน สู้กันยังไงก็ไม่ควรทำลายมัน”

ผมทำงานเป็นครูบาอาจารย์ ก็เล็งเห็นประโยชน์ในทางวิชาการเป็นหลัก การเก็บวัตถุทั้งหลายเอาไว้ ไม่ว่าเป็นวัตถุในอุดมการณ์ชุดไหน จะทำให้คนรุ่นต่อไปเข้าใจความเป็นมนุษย์ของคนยุคเรา เหมือนกับที่เราศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีตแล้วสามารถเข้าใจความเป็นมนุษย์ของคนรุ่นอดีตผ่านสิ่งของวัตถุต่างๆ ที่ตกทอดหลงเหลือมา เพราะฉะนั้นของเหล่านี้มีค่า” ชาตรีกล่าว

 เกมส์การ์ด ของ(คณะ)ราษฎร

 เกมส์การ์ด ของ(คณะ)ราษฎร
| ภาพจาก Cartel Artspace

นอกจากการจัดแสดงวัตถุสิ่งของจากยุคคณะราษฎรแล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังเพิ่มความพิเศษด้วยการออกแบบ ‘เกมส์การ์ด ของ(คณะ)ราษฎร’ มาให้ลองเล่นกัน หรือถ้าใครจะซื้อติดมือกลับบ้านไปด้วยก็ได้ ชาตรีกล่าวถึงความเป็นมาของเกมนี้ว่า

“ในงานนิทรรศการมักจะมีสูจิบัตรใช่ไหมครับ ซึ่งงานนี้เราก็ต้องมี แต่ว่าเราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างผม คุณกิตติมา และคุณวชิราแล้วเสนอกันว่าทำเป็นเกมมั้ย เพราะนิทรรศการเราพูดถึงวัตถุสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทำสูจิบัตรให้เป็นสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ทำเป็นเกม ก็น่าจะตรงกับคอนเซ็ปต์ และตัวเกมนี้จะทำให้เราเรียนรู้ยุคคณะราษฎรได้ด้วย”

‘เกมส์การ์ด ของ(คณะ)ราษฎร’ 1 ชุด มีการ์ดหรือไพ่ทั้งหมด 54 ใบ แต่ละใบมีภาพวัตถุสิ่งของในยุคคณะราษฎรที่มีความสำคัญหรือมีการออกแบบน่าสนใจ หรือหากไม่ใช่ภาพวัตถุ จะเป็นภาพที่สะท้อนนโยบายหรือแนวความคิดในยุคนั้น เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย, นโยบายรัฐนิยม, การประกวดนางสาวสยาม ฯลฯ

วิธีเล่นคือจับคู่เล่นกับเพื่อน คนหนึ่งถือการ์ดไว้ในมือวางตรงระดับหัวใจ โดยไม่มองว่าอีกด้านหนึ่งของการ์ดเป็นรูปภาพอะไร จากนั้นให้เพื่อนที่มองเห็นการ์ดใบ้ โดยไม่เอ่ยคำที่ปรากฏในการ์ดอย่างตรงไปตรงมา หากทายไม่ถูกและต้องการเปลี่ยนไพ่ให้พูดคำว่า ‘รัฐประหาร’ หากใครทายถูกได้จำนวนมากกว่าภายในเวลา 2.40 นาที จะเป็นฝ่ายชนะ โดยที่การ์ดจะมี QR Code ให้สแกนเข้าไปดูคำเฉลยพร้อมคำอธิบายได้

Wating You Curator Lab
ตัวอย่างข้อมูลที่เฉลยขึ้นมาหลังสแกน QR code หลังการ์ดเข้าไปแล้ว ซึ่งใครที่ไม่ได้ซื้อเกมการ์ดนี้ก็สามารถเข้าไปอ่านคำเฉลยได้เช่นกัน คลิกอ่านได้ที่ภาพ  | ภาพจาก Wating You Curator Lab

ชาตรีกล่าวว่า “ของใช้ในชีวิตประจำวันมีความหมายสองด้านตลอด เช่น ขันน้ำในยุค 2475 ก็เอาไว้ตักอาบในเชิงฟังก์ชั่น แต่ขณะเดียวกันขันน้ำก็มีตราพานรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเนื้อหาทางการเมืองด้วยในเชิงสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นเกมชุดนี้ก็จะมีความหมายสองระดับ ก็คือเป็นเกมเอาไว้เพื่อความบันเทิงเต็มที่ สองคือสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุคสมัยคณะราษฎรผ่านเกม เพราะฉะนั้นถ้าเกมชุดนี้แพร่กระจายไปใช้จริงๆ แล้วได้รับความนิยม ความเข้าใจเกี่ยวกับคณะราษฎรซึ่งต้องพูดว่ามีน้อยมากในสังคมไทยปัจจุบัน ก็อาจยกระดับขึ้นครับ”

เกมการ์ดชุดนี้นับเป็นความร่วมมือกันหลายฝ่าย ตั้งแต่องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะของชาตรี ไอเดียการแปรความรู้เป็นเกมของ Waiting You Curator Lab นำโดยกิตติมา และการออกแบบเกมให้เป็นรูปธรรมโดยสตูดิโอออกแบบ Rabbithood ของ วชิรา รุธิรกนก 

กิตติมา จารีประสิทธิ์ กับสิ่งพิมพ์ยุค 2475
กิตติมา จารีประสิทธิ์ กับสิ่งพิมพ์ยุค 2475

กิตติมาเล่าถึงความสนุกในการทำงานข้ามศาสตร์ครั้งนี้ว่า “นิทรรศการเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ เราเลยอยากสร้างอะไรที่เป็นวัตถุที่สามารถส่งต่อได้ แล้วก็อยากให้มันสนุกสนานด้วย อีกอย่างเราอยากให้องค์ความรู้เรื่องคณะราษฎร สามารถเข้าถึงคนวงกว้างได้มากขึ้น เลยคิดว่าถ้าเป็นเกม มีกฎ มีกติกา คนจะสามารถเข้าใจบริบทของวัตถุเหล่านี้มากขึ้น

“Waiting You Curator Lab เป็นแล็บที่เราพยายามทำงานข้ามศาสตร์ หลายครั้งเราพบว่างานวิชาการสามารถไปต่อได้นอกจากอยู่ในเปเปอร์ ตัวเราเองสนใจการทำนิทรรศการ และสนใจเรื่องอำนาจของวัตถุจัดแสดงที่จะผลักให้ประเด็นต่างๆ และข้อค้นพบในเชิงทฤษฎีไปสู่รูปแบบและแพล็ตฟอร์มอื่นๆ อยู่แล้ว” กิตติมากล่าว

เสียงประชาชนในข้าวของ

กิตติมา จารีประสิทธิ์ กับสิ่งพิมพ์ยุค 2475

เมื่อพิจารณาถึงสถาปัตยกรรมยุค 2475 เราอาจได้เห็นความพยายามการทำลายและรื้อถอน เมื่อพิจารณาถึงแบบเรียนประวัติศาสตร์ กวาดตาไปเราอาจไม่พบบทบันทึกของยุคสมัยตามความเป็นจริง แต่เมื่อมองข้าวของ เราอาจได้พบสิ่งที่แตกต่างออกไป ดังที่ชาตรีกล่าวว่า

“งานศึกษาเรื่องการใช้วัฒนธรรมปลูกฝังอุดมการณ์ยุค 2475 ที่ผ่านมา จะมีงานศึกษาทางด้านวัฒนธรรมของจอมพล ป. เยอะอยู่แล้ว แต่อาจมุ่งเน้นไปที่รัฐนิยม การแต่งกาย แต่ผมว่าในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีงานศึกษาศึกษาในแง่การเมืองของการมองเห็น (Visual Politic) หรือซึ่งน่าจะเป็นเทรนด์ล่าสุดที่ช่วยให้เราเข้าใจยุคคณะราษฎรได้มากขึ้น

“รัฐสร้างโฆษณาชวนเชื่อมาทุกยุคทุกสมัยเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือ เมื่อรัฐสร้างโฆษณาชวนเชื่อขึ้นมา การตอบสนองจากคนข้างล่างมีมากน้อยแค่ไหน การเปลี่ยนแปลงบางครั้งแทบไม่ส่งผลต่อประชาชน ทำไปก็ไม่มีใครสนใจ เช่นการพูดทุกวันศุกร์ตอนนี้

“ของทุกชิ้นในนิทรรรศการนี้คือผลจากการโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ (state propaganda) แบบหนึ่งแน่นอน แต่มีการตอบรับจากคนข้างล่างเยอะมาก ในระดับที่รับเอามาผลิตขึ้นเองและร่วมเฉลิมฉลองด้วย การตอบรับนี้สะท้อนอยู่ในวัตถุสิ่งของ นี่คือตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการปฏิวัติ 2475 เป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้หรือยอมรับหรือไม่

“ในประเด็นนี้ ผมอยากเสนอว่า อย่าไปดูที่เอกสารเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของภาครัฐและกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งไม่ช่วยให้เข้าใจประเด็นนี้เท่าที่ควร โอเค เราจะดูก็ได้ แต่งานวิชาการที่ผ่านมา เราดูไปเยอะแล้วและอาจถึงทางตัน ผมเสนอว่าเปลี่ยนมาดูที่ ‘สิ่งของ’ ดีกว่า เพราะมันอาจบอกอะไรเรามากขึ้น”


นิทรรศการ Revolution Things จะจัดแสดงไปถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

……………………………..

ภาพประกอบกราฟิก: นันทภัค คูศิริรัตน์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save