fbpx
เส้นทางธุรกิจอาหารค้าปลีกไทย : อิ่มท้องอย่างยั่งยืน ?

เส้นทางธุรกิจอาหารค้าปลีกไทย : อิ่มท้องอย่างยั่งยืน ?

ธิติ มีแต้ม, ภาวิณี คงฤทธิ์ เรื่อง

ชินธิป เอกก้านตรง ภาพประกอบ

 

 

เมื่อทางเลือกในการจ่ายตลาดหาอาหารเข้าครัวไม่ได้มีมากพอ ส่วนตลาดสดที่ผู้บริโภคได้ปฏิสัมพันธ์กับพ่อค้าแม่ค้าโดยตรงก็แทบไม่ใช่ตัวเลือกแรกของสังคมเมืองสมัยใหม่ ตัวเลือกที่ถูกเลือกเป็นอันดับแรกๆ เสมอก็คือซุปเปอร์มาร์เก็ต

แต่เมื่อธุรกิจค้าปลีกต้องเติบโตต่อไป ท่ามกลางกระแสการทำธุรกิจเพื่อสังคม อะไรคือมาตรการพ่วงทั้งสังคมเข้าไปในเส้นทางการเติบโตไปพร้อมๆ กัน

ที่ผ่านมา วิกฤตการค้าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย โดยเฉพาะภาคประมง เพราะการขาดการควบคุมและรายงานผลเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU – Illegal Unreported and Unregulated Fishing) นำไปสู่การได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปเมื่อกลางปี 2558 และนั่นทำให้เกิดการตั้งคำถามไปถึงอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบว่ามีส่วนร่วมกับวิกฤตดังกล่าวหรือไม่ และจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร

นอกจากใบเหลืองและแรงกระเพื่อมจากภาวะเศรษฐกิจไทยเสื่อมทรุด ทำให้ธุรกิจอาหารค้าปลีกที่เป็นส่วนหนึ่งในสายพานอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบต้องหาทางยกระดับคุณภาพทั้งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการแจกแจงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบอย่างทั่วถึงก่อนตัดสินใจซื้อ

อุตสาหกรรมอาหารทะเลใช้เวลาราว 3 ปีกว่า ในการพยายามปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้ถอนใบเหลืองออก แต่นั่นยังเป็นเพียงภาพย่อยของธุรกิจค้าปลีกทั้งระบบที่ยังมีการพึ่งพาแรงงานอย่างมหาศาล

คำถามคือภาคธุรกิจค้าปลีกต้องยกระดับคุณภาพองค์กรและสังคมต่อไปอย่างไร ในกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ความยั่งยืนในมือทุนค้าปลีก

 

ในฐานะที่เป็นบริษัทผลิตอาหารสดแปรรูปจำหน่ายเบอร์ต้นๆ ของประเทศ ดาเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาการอย่างยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงประเด็นคลาสสิคดังกล่าวว่า เสาหลักที่ไทยยูเนี่ยนยึดถือเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในองค์กร ได้แก่ เสาที่ 1แรงงาน ไทยยูเนี่ยนมีการดูแลแรงงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

“เราตรวจสอบเสมอว่าแรงงานที่อยู่ในห่วงโซ่ของไทยยูเนี่ยนมีความปลอดภัยหรือไม่ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมหรือเปล่า”

 

ดาเรี่ยน แมคเบรน : องค์การอ็อกแฟม ภาพ

 

ผอ.ดาเรี่ยน กล่าวต่อว่า เสาที่ 2 เรื่องแหล่งวัตถุดิบ คือ แหล่งวัตถุดิบแต่ละแหล่งจะต้องคำนึงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเสาที่ 3 เรื่องระบบโรงงาน โรงงานต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การทำงานและมีความปลอดภัย และเสาที่ 4 การสร้าง community คือการเข้าไปสานสัมพันธ์ในระดับสังคม

“ไทยยูเนี่ยนมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องของความโปร่งใส เรามีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ตามรอยแหล่งที่มาของอาหารว่าก่อนที่จะมาจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องผ่านอะไรมาบ้าง หรือกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นกับผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เรารู้ถึงสาเหตุของปัญหาเกิดขึ้นว่าอยู่ที่จุดไหน

นอกจากเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว ผอ.ดาเรี่ยน กล่าวว่าทางไทยยูเนี่ยนยังคำนึงถึงการที่สังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อโครงสร้างประชากรของประเทศ เพราะฉะนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมและเอื้อต่อแรงงานทุกคน สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย เป็นโจทย์ที่ไทยยูเนี่ยนต้องดำเนินการ

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่อีกหนึ่งที่ สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบริษัท เทสโก้ โลตัส จำกัด อธิบายว่า โลตัสเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นเรามีจุดประสงค์ที่ต้องการจะสร้างห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืน นโยบายความยั่งยืนที่ทางโลตัสจัดทำขึ้นมานั้นมีชื่อว่า “The little helps plan”

สลิลลาอธิบายต่อว่า นโยบายดังกล่าวมีการทำงานแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักด้วยกัน ได้แก่ People คือ พนักงานของเรา, Products คือ สินค้าที่เราขาย และ Places คือ ชุมชนที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจด้วย

สลิลลา โฟกัสเฉพาะเจาะจงไปที่ Productsว่า โลตัสแบ่ง Products ออกเป็น 4 หัวข้อหลักด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. Sourcing ที่มาของสินค้าต้องมาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน อย่างที่โลตัสสาขาแม่ของอังกฤษจะมีแผนว่าเราจะต้องมีการศึกษาสินค้าหลักของเราอย่างละเอียด และดูว่าสินค้าเหล่านั้นทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หรือ สินค้าตัวไหนมีความเสี่ยงบ้าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่น กรณีน้ำมันปาล์ม นอกจากจะศึกษาในตัวสินค้าแล้ว โลตัสยังมีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการตรวจสอบและดำเนินการอย่างจริงจังด้วย

2. Packaging เรามุ่งเน้นเรื่องการลดใช้พลาสติก โดยภายในปี 2025 เรามุ่งมั่นไว้ว่าบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของโลตัสทั่วโลกจะสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด

3. Health อาหารที่นำมาให้ผู้บริโภคได้บริโภค จะต้องไม่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ

4. Food waste อาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวันจะถูกส่งต่อให้หน่วยงานภาคประชาสังคมนำไปบริจาค

สลิลลา กล่าวถึงความท้าทายว่า ที่เมืองไทยยังไม่มีการจัดตั้ง Food bank ขึ้นมา ไม่มีคนที่ช่วยส่งต่อ เพราะฉะนั้นเราจึงยังส่งอาหารนี้ไปได้บางพื้นที่เท่านั้น ถือเป็น local issue ที่ทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไข และโลตัสยังคงต้องการ social enterprise เข้ามาทำงานด้วยกัน

 

สลิลลา สีหพันธุ์ : องค์การอ็อกแฟม ภาพ

 

“เราไม่มีทางทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว สิ่งที่จะช่วยทำให้เรื่องนี้มันเกิดขึ้นจริงได้ก็คือแรงขับเคลื่อนจากมวลชน เช่น กรณีของถุงพลาสติก มันจะไม่เกิดผลอะไรถ้าประชาชนไม่เปลี่ยนใจเลิกใช้ถุงพลาสติก”

แต่ในฐานะที่โลตัสทำธุรกิจ คำถามคือจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิด awareness ได้อย่างไร สลิลลาบอกว่า เราต้องมีหน้าที่ทำแคมเปญต่างๆ ออกมา อย่างเรื่องถุงพลาสติก เมื่อลูกค้าไม่รับถุง เราก็มีการให้แต้มส่วนลด เราควักกระเป๋าตัวเองออกมา และต้องมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งประชาสังคมหรือภาครัฐมาช่วยกัน

ด้าน นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ตอบคำถามที่ว่า เครือ CP จัดการองค์กรอย่างไร ถึงจะผลักดันให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง

เขาอธิบายว่า ในอดีตเราไม่เคยมีการสอนเรื่อง sustainability หรือ sustainable development มาก่อน วิชา MBA สอนให้เราสร้างมูลค่า และถ้าถามว่ามูลค่าเกิดขึ้นจากไหน ก็มาจากกำไรที่ทำให้กับผู้ถือหุ้น แล้วถ้าย้อนกลับไปอีกว่ากำไรมาจากไหน ก็มาจาก 2 เรื่องด้วยกันคือ productivity ที่ดี กับ innovationที่ดี ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เราไม่เคยพูดถึงมาก่อน เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ มูลค่าที่สูงที่สุดคือความยั่งยืน

ถามว่าทำอย่างไรถึงบริษัทจะยั่งยืน นพปฎลอธิบายโดยแบ่งออกเป็น 4 ข้อดังนี้

1. CEO หรือ ประธานบริษัทต้องเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพื่อสร้างเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นให้เกิดขึ้นในองค์กร

2. ต้องมีการ educate และ share ความรู้เรื่องความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในองค์กร

3. ต้องมีการประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่สามารถวัดผลได้จริง และมีระยะเวลากำหนด พร้อมประกาศให้คนทั้งโลกรับรู้ถึงสิ่งที่เราจะทำ

4. จ้างบุคคลภายนอก หรือ auditor ต่างๆ ตรวจสอบและวัดผล มีการทำ sustainability report ออกมา แล้วให้คนภายนอกได้รับทราบ

“เราต้องกล้าที่จะประจานตัวเองว่าอันไหนเราทำได้ อันไหนเราทำไม่ได้ และจะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราเลือกทำแค่ educate หรือจัด training ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ”

 

นพปฎล เดชอุดม : องค์การอ็อกแฟม ภาพ

 

นพปฎล บอกอีกว่า เทคโนโลยีซื้อได้หมด แต่ในอนาคตสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจแตกต่างจากคู่แข่งคือความยั่งยืน เพราะกว่าจะสำเร็จต้องใช้เวลานานมาก

“สมมติว่ามีสินค้าสองชิ้น ทุกอย่างเหมือนกันหมด แพ็คเกจ หรือ ราคา ถ้าคุณต้องเลือกซื้อสินค้า คุณจะเลือกอะไร สุดท้ายคุณต้องเลือกซื้อสินค้าที่ไม่มีผลร้ายต่อคุณหรือโลกใบนี้ หน้าที่เราในตอนนี้จึงจำเป็นต้อง educate ให้ผู้บริโภคทราบ”

ผู้บริหาร CP ยังพูดถึงเป้าหมายที่จะทำให้เรื่อง sustainability เป็นจริงได้อีกว่า เพราะสหประชาชาติเซ็ต global goal ไว้ว่า ทั้งโลกจะต้องทำตามเป้าหมายนี้ให้สำเร็จภายในปี 2030 เครือ CP ก็ต้องการจะทำให้ได้ เพราะ CP ไม่ต้องการจะเป็นภาระของโลกใบนี้

“สิ่งที่ท้าทายสำหรับเรา คือ ทำยังไงให้บริษัทที่เหลือตามทัน ทำอย่างไรให้เรามีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งรวมไปถึงเรื่องคู่ค้าของเราที่จะต้องอยู่ภายใต้ code of conduct และ sustainability เดียวกัน รวมไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ถ้าใครไม่เห็นคุณค่าตรงนี้ก็ไม่เป็นไร แต่เราคงไม่ include เขาให้มาอยู่ใน supply chain ของเรา”

 

ภารกิจสิทธิมนุษยชนในบรรษัท

 

เมื่อทิศทางของบรรษัทมักอ้างถึงผลกำไรไม่ใช่หนึ่งเดียวของความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วเพดานของความยั่งยืนในการทำธุรกิจควรสูงแค่ไหน นโยบายบริษัทที่วาดภาพไว้ จะพิสูจน์ด้วยหลักสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

ชลธิชา ตั้งวรมงคล จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา พยายามอธิบายประเด็นดังกล่าว โดยโฟกัสไปที่สิทธิของแรงงานข้ามชาติว่า กรณีแรงงานข้ามชาติมีความซับซ้อนกว่าแรงงานไทย ทั้งประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิด เช่น ไม่ได้รับเงินเดือน หรือ ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม การทำเอกสารที่มีความซับซ้อนสูง

 

ชลธิชา ตั้งวรมงคล : องค์การอ็อกแฟม ภาพ

 

แล้วภาระดังกล่าวใครควรรับผิดชอบ เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ชลธิชามองว่าอย่างแรก ภาครัฐจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความคุ้มครองของประชาชนหรือคนที่มาอยู่ในประเทศไทย และภาคเอกชนต้องทำตามกฎหมาย และทำให้เกิดการตรวจสอบใน supply chain ได้

ส่วนประเด็นการเยียวยา ชลธิชามองว่า ไม่จำเป็นต้องเกิดจากภาครัฐอย่างเดียว ภาคเอกชนก็ช่วยเยียวยาด้วยการเปิดช่องทางร้องเรียนแก่คนงานได้ เพื่อที่จะได้รักษาสิทธิมนุษยชนไว้ด้วยการเริ่มจากภาคเอกชนเอง

“ด้วยประสบการณ์ที่เรามี บอกสั้นๆ เลยว่าถ้าไม่มีการช่วยเหลือ การร้องเรียนแทบเป็นไปไม่ได้ การถูกละเมิดจะผ่านไปและเงียบหาย แรงงานข้ามชาติไม่ได้พูดภาษาไทย เวลาที่ไปร้องเรียนที่ต้องพึ่งล่ามก็ไม่ได้มีทุกที่ หลายๆ ครั้งเราเจอว่าเขาต้องจ้างคนมาเขียนภาษาไทยให้ แต่มันมีรายละเอียดมากกว่านั้น เช่น ถ้าคุณไม่พอใจคำตัดสินของศาล คุณต้องทำอย่างไรต่อ เคสที่เคยเจอมาใช้เวลายาวนานถึง 7 ปี นึกภาพคนที่จะต้องหยุดงานเพื่อไปขึ้นศาล แล้วยิ่งคนต่างชาติเขาไม่สามารถอยู่ไทยได้นาน หลังจากออกจากงานแล้วเขาต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นเขาจะถูกส่งตัวกลับ”

จุดนี้เองที่ทำให้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา ตั้งคำถามไปยังทุนใหญ่ภาคเอกชนว่าจะทำอย่างไรได้ เมื่อบริษัทที่จ้างแรงงานข้ามชาติเป็นบริษัทเล็กๆ ที่ถูกจ้างต่อจากบริษัทใหญ่อีกที

“นายจ้างที่เป็นนายจ้างตามกฎหมายต้องเป็นคนแรกที่รับผิดชอบ แต่หลายๆ กรณี เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เราพบว่าปกติค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ที่ 300 แต่ความเป็นจริงยังมีคนงานไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ ได้เป็นรายวัน และวันไหนที่หยุดงาน ก็ไม่ได้ค่าจ้าง นี่เป็นภาพสะท้อนความลำบากของแรงงาน”

ชลธิชา เล่าประสบการณ์จากการเข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทด้านการเกษตรแห่งหนึ่งว่า เขาอยากให้เราเข้าไปช่วยดูว่าลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ภายใต้เกษตรกรที่เป็น supplier ใน contract farming ของเขามีการปฏิบัติที่คล้องจองกับกฎหมายหรือไม่

“พอเข้าไปดู ทั้งสิทธิ ความปลอดภัย ผิดหมดเลย เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เป็นชาวกะเหรี่ยง แม้ว่าจะได้รับสัญชาติไทย แต่พวกเขาไม่รู้ว่าตอนนี้กฎหมายสิทธิแรงงานไปถึงไหนแล้ว”

ทั้งหมดจึงเกิดคำถามกลับไปยังภาครัฐและบริษัทประเภท global brand ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจะเป็นรูปธรรมอย่างไร

 

อนาคตเส้นทางอาหารไทย – อาหารโลก

 

ความยั่งยืนทางอาหารที่โลกอยากเห็นในปี 2030 นั้น เกิดคำถามขึ้นมาหลายประเด็น หนึ่งในคำถามคลาสสิกคือทำอย่างไรจึงจะเกิดขึ้นได้จริง

ศรีธา ธรรมปุรี หัวหน้าสำนักระบบอาหารและการเกษตร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO) อธิบายว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ขจัดความอดอยากและความหิวโหย อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่แบ่งแยก มีความเท่าเทียม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี 2. ปกป้องโลกที่กำลังเสื่อมถอย 3. สร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยีที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

สำหรับข้อแรก ศรีธามองว่า ภาพรวมในโลกเรื่องความอดอยากกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกขยายตัว แต่ในรอบ 3 ปีมานี้ จำนวนประชากรที่อดอยากหิวโหยกลับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลายประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกที่มีประชากรกำลังแคระแกร็นจากโรคขาดสารอาหารเกือบ 500 ล้านคน

 

ศรีธา ธรรมปุรี : องค์การอ็อกแฟม ภาพ

 

ศรีธายังระบุอีกว่า ที่อินเดียมีประชากรวัยเด็กต่ำกว่า 5 ปีที่เป็นโรคขาดสารอาหารในระดับสูงเกิน 15% ขึ้นไป ส่วนศรีลังกา ปาปัวนิวกินี มีประชากรเป็นโรคขาดสารอาหารค่อนข้างสูง 10-15%

“ประเทศที่ประชากรได้รับอาหารมากเกินไป ก็เผชิญปัญหาโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก เพราะฉะนั้น โลกไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาเรื่องความอดอยากหิวโหยเท่านั้น”

หัวหน้า FAO วิเคราะห์ต่อว่า พื้นที่เมืองทุกประเทศในโลกกำลังขยายตัว และสถานการณ์นี้จะนำมาสู่ปัญหาพื้นที่ทำการเกษตรและแหล่งน้ำน้อยลงไปด้วย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงก็จะยิ่งส่งผลกระทบผลิตผลทางการเกษตรต่อไปด้วย

แนวคิดการเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการนำมาเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน และวิธีคิดของศรีธาก็มาแนวนี้เช่นกัน เขามองว่าการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรต้องเปลี่ยนแนวทางเป็นเกษตรอินทรีย์ ต้องมีการอนุรักษ์น้ำ อนุรักษ์ดิน ปกป้องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์

“ความยั่งยืนไม่ได้หมายถึงแค่ value chain เท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกคนเพื่อให้ทุกคนสามารถมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนได้ เราต้องบูรณาการการทำธุรกิจ จะทำอย่างไรให้บริษัทเล็กและใหญ่อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาหารต้องมีความปลอดภัยทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงผู้บริโภค” ศรีธาทิ้งท้าย

ข้อเสนอดังกล่าวอาจเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่พูดกันมาหลายปี หากภาคธุรกิจอาหารค้าปลีกต่างตระหนักและเดินหน้าปรับตัวอย่างจริงจัง พิสูจน์ให้ผู้บริโภครับรู้และสัมผัสได้

 

_________________________________
หมายเหตุ
– เก็บความจากเวทีเสวนาสาธารณะ ‘เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม’ วันที่ 30 มกราคม 2562

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save