fbpx

ยังไม่แก่สักหน่อย ทำไมชอบเล่าอะไรซ้ำซาก

เขาบอกว่า คนที่ตั้งใจฟังเรื่องที่เราเล่าย่อมเป็นเพื่อนของเรา / คนที่ตั้งใจฟังเรื่องที่เราเล่าเป็นหนที่สอง ย่อมคือเพื่อนแท้ของเรา / แต่ถ้าใครตั้งใจฟังเรื่องที่เราเล่าเป็นหนที่สาม สี่ ห้า แล้วละก็ แสดงว่าคนคนนั้นกำลังแกล้งทำแล้วละ

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะไม่มีใครอยากจะฟังเรื่องเล่าซ้ำๆ ซากๆ หรอก แต่คำถามก็คือ แล้วทำไมถึงได้มีคนบางคนชอบเล่าเรื่องซ้ำๆ อยู่ได้ เราจะได้ยินคนทุกวัย (ที่รู้ตัวว่าชอบเล่าเรื่องซ้ำ) บอกในทำนองที่ว่า “ถ้าฉันเล่าเรื่องซ้ำ ช่วยตบฉันที” อยู่บ่อยๆ นั่นแปลว่าคนจำนวนมากไม่อยากให้ตัวเองเล่าเรื่องซ้ำซากหรอก แต่ปัญหาก็คือ-พวกเขาไม่รู้ตัว

แล้วทำไมถึงไม่รู้ตัว?

 

นักจิตวิทยาคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ‘ความทรงจำ’ ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปดูเรื่องนี้ จะพบว่าในเรื่องของ ‘ความทรงจำ’ หรือ Memory นั้น มีการจับคู่เอาไว้หลายแบบมาก เช่น ความจำระยะยาว (Long-Term Memory) กับความจำระยะสั้น (Short-Term Memory) หรือ ‘ความจำชัดแจ้ง’ (Explicit Memory) คือความจำแบบที่เอาไว้จำศัพท์หรือจำหน้าคน กับ ‘ความจำเชิงกระบวนวิธี’ (Implicit Memory) หรือการจำวิธีการต่างๆ เช่น จำวิธีขับรถ มีงานวิจัยเรื่องความจำอะไรทำนองนี้มากมาย ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่า ความจำกับสมองทำงานกันอย่างไร

แต่ความทรงจำทั้งหลายที่เอ่ยมา ยังใช้อธิบายไม่ได้ว่าทำไมคนเราถึง ‘เล่าเรื่องซ้ำซาก’

การเล่าเรื่องซ้ำซากไม่ได้มีผลแค่ความน่าเบื่อ ทำให้คนฟังหาวเรอไม่อยากฟัง แถมถ้าบางคนไม่อยากเสียมารยาทบอกว่า-เล่าแล้ว เล่าเป็นหนที่ห้าแล้ว, ก็ต้องทนเฟคฟังกันต่อไป แต่นิสัยการเล่าเรื่องซ้ำซากยังส่งผลเสียหายอื่นๆ ได้อีกมาก อย่างแรกเลยคือทำให้เสียบุคลิก ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะเล่าแต่เรื่องซ้ำๆ ซากๆ โดยเฉพาะถ้าทำงานวิชาชีพบางอย่างที่ต้องเจรจาต่อรอง เช่น นักการทูต ล็อบบี้ยิสต์

แล้วถ้าอย่างนั้น อะไรทำให้คนเราเล่าเรื่องซ้ำซากโดยไม่รู้ตัว?

คำตอบที่นักจิตวิทยาอย่าง Nigel Gopie แห่ง Rotman Research Institute ในโตรอนโตอธิบายไว้ ก็คือเรื่องของ ‘ความทรงจำ’ อีกคู่หนึ่ง เรียกว่า ‘ความทรงจำถึงแหล่งที่มา’ (Source Memory) กับ ‘ความทรงจำของปลายทาง’ (Destination Memory)

เขาทดลองโดยให้แบ่งอาสาสมัครนักศึกษา (ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว) ออกเป็นสองกลุ่ม วิธีทดลองนั้นซับซ้อนพอสมควร แต่เล่าคร่าวๆ ก็คือให้กลุ่มหนึ่ง ‘บอก’ อะไรบางอย่างกับรูปคนดังหลายๆ คน ส่วนอีกกลุ่มรับรู้อะไรบางอย่างจากรูปของคนดัง แล้วมาทดสอบความทรงจำกันว่า กลุ่มไหนจำคู่ของคนดังกับเรื่องที่รับรู้ได้มากกว่ากัน พูดง่ายๆ ก็คือ ระหว่างการ ‘รับ’ ข้อมูล กับการ ‘ให้’ ข้อมูล คนเราจำอะไรได้มากกว่ากัน

ผลปรากฏว่า คนกลุ่มที่รับข้อมูลจากของคนดัง จำเรื่องได้มากกว่ากลุ่มที่เป็นผู้เล่าเรื่องให้คนดังฟัง 16%

นักจิตวิทยาสรุปว่า เวลาคนเรา ‘พ่น’ ข้อมูลออกไปจากตัวเรานั้น เราจะสนใจบริบทสิ่งแวดล้อม (ซึ่งรวมถึงตัวผู้ฟังด้วย) น้อยกว่าเวลาที่ข้อมูลนั้น ‘ใส่’ เข้ามาในตัวเรา

พูดอีกอย่างก็คือ ‘ความทรงจำถึงแหล่งที่มา’ (Source Memory) เป็นสิ่งที่เราจำได้มากกว่า ‘ความทรงจำของปลายทาง’ (Destination Memory) นั่นเอง

นี่เป็นแนวโน้มปกติอยู่แล้ว ทำให้เราจำไม่ค่อยได้ว่าเราเล่าเรื่องต่างๆ ให้ใครฟังบ้าง ดังนั้นต่อให้เป็นคนปกติทั่วไป ก็มักจะเล่าเรื่องซ้ำๆ ซากๆ เพราะคิดว่ายังไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้คนนี้ฟัง แต่กระนั้นก็จะไม่ได้เกิดขึ้นในปริมาณมากมายมหาศาลอะไรนัก

แต่ในกรณีที่บางคนเป็นคนเล่าเรื่องซ้ำๆ ซากๆ บ่อยๆ คือเล่าซ้ำจนคนอื่นในแวดวงสังคมรู้และสังเกตเห็นได้ชัด นักจิตวิทยาบอกว่า คนเหล่านี้มักจะมีลักษณะที่เรียกว่า Self-Absorption คือสนใจแต่เรื่องตัวเอง เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของเรื่องต่างๆ โดยมีการทดลองเพิ่มเติม ให้ผู้เข้าร่วมทดลอง ‘บอก’ ข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวของตัวเอง (เช่นบอกว่าตัวเองราศีอะไร) ผลปรากฏว่ายิ่งข้อมูลเป็นเรื่องส่วนตัวมากเท่าไหร่ Destination Memory (คือการจำว่าเล่าให้ใครฟังไปแล้วบ้าง) ก็จะยิ่งแย่ลงเท่านั้น

แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าคนคนนั้นเป็นคนที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์ หรือเป็นคนที่ละเอียดอ่อน จับอารมณ์ได้เร็ว จะรู้ตัวเร็วว่ากำลังเล่าเรื่องซ้ำ เพราะจะจับสังเกตรายละเอียดของผู้ฟังได้ว่าเคยฟังเรื่องเหล่านี้มาแล้ว

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น จะมี Destination Memory ที่ลดน้อยถอยลงไปตามวัย จึงมักเล่าเรื่องซ้ำได้เรื่อยๆ ไม่รู้จักเบื่อ แต่ถ้าคุณมีเพื่อนที่อายุยังไม่มากนัก แต่ชอบเล่าเรื่องซ้ำๆ ซากๆ อาจแสดงให้เห็นว่าคนคนนั้นมี Destination Memory ที่อ่อนแอ จึงอาจช่วยด้วยการเตือนเขาว่าเล่าเรื่องซ้ำๆ ซากๆ มากเกินไปแล้ว

 

Destination Memory เป็นเรื่องสำคัญในการสนทนา เพราะการสนทนาคือการสื่อสารสองทาง การเติมเต็มพื้นที่ในการสนทนาด้วยการเล่าเรื่องซ้ำจึงไม่เกิดผลดีอะไร แถมยังทำให้คู่สนทนารู้ด้วยว่า ผู้พูดไม่ได้ ‘ใส่ใจ’ กับปลายทาง (คือผู้ฟัง) มากเท่าใส่ใจกับการ ‘ได้พูด’ ของตัวเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save