fbpx
อ่านยุทธศาสตร์ในช่วงเวลา

อ่านยุทธศาสตร์ในช่วงเวลา

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

สวัสดีครับปาณ

คำชวนของปาณให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในวงเสวนายุทธศาสตร์ต่างประเทศไทยต่อจีนและสหรัฐฯ มาถึงในจังหวะเดียวกับที่นิสิตหลายคนถามเรื่องนี้ในชั้นเรียนพอดี แต่ดูตารางนัดแล้ว ไม่แน่ใจว่าวันนั้นจะไปให้ปาณได้ แม้ว่าอยากฟังทัศนะของผู้อาวุโสที่นำการเสวนาและของสมาชิกคนอื่นๆ ที่มาร่วมประชุมเหมือนกัน ปาณว่าท่านทูตตอบขัดข้องมาไม่ได้หรือครับ ผมเพิ่งพบท่านเมื่อวันก่อนนี่เอง แต่อาจารย์เจ้าสำนักของปาณรับไม้แทนนำการเสวนาได้อยู่แล้ว ขอให้ปาณรับฝากความระลึกของผมไปถึงท่านด้วย หากวันนั้นผมขัดข้องไปร่วมงานของปาณไม่ได้

แต่ตอนนี้เผอิญเป็นจังหวะเหมาะพอจะมีเวลาเขียนตอบปาณยาวๆ เพราะอยู่ในช่วงจุฬาฯ ประกาศงดการเรียนการสอนเนื่องจากงานรับพระราชทานปริญญาบัตร จึงอยากเล่าความคิดบางอย่างให้ปาณทราบในฐานคนคุ้นเคยกัน และเพราะเห็นปาณกำลังไปได้ดีและดูจะสนุกกับการทำงานใน Think Tank ด้านยุทธศาสตร์จริงๆ

ปาณถามความเห็นผมมาในเรื่องยุทธศาสตร์ไทยต่อจีนและสหรัฐฯ ทำให้ผมนึกย้อนขึ้นได้ว่า นี่ไม่ใช่คราวแรกที่สังคมไทยอยู่บนทางแพร่งอันเกิดจากพลังผลัก-ดึงกัน ๒ กระแส ที่ด้านหนึ่งผลักไทยให้เข้ากับสหรัฐฯ (เราเรียกกันสมัยนั้นว่าฝ่ายโลกเสรี) ในขณะที่พลังอีกด้านหนึ่งพยายามดึงไทยไปเข้ากับจีน (สมัยนั้นเป็นเหมาอิสต์)  แต่ช่วงเวลาที่ผมนึกถึงกับช่วงเวลาในปัจจุบันแตกต่างกันอยู่มาก การเทียบเคียงจะให้บทเรียนอะไรแก่กันได้แค่ไหนผมไม่แน่ใจ หากนักประวัติศาสตร์ปาณสนใจจะลองพิจารณาเทียบเคียงดูก็ได้ แต่ในเวลาแบบนี้ ถ้าผมจะชวนปาณคุยในปางของปาณนักยุทธศาสตร์ คิดว่าปาณคงสนใจมากกว่า

ผมขอตั้งต้นด้วยการเล่าให้ปาณทราบแง่คิดที่ผมได้จากการฟังอภิปรายเรื่องการต่างประเทศไทยของท่านทูตสุรพงษ์ ชัยนาม ก็แล้วกันนะครับ ผมจะได้ถือโอกาสเขียนบันทึกจากที่ฟังมาพร้อมกันไปเลย

ในงานเสวนาเดือนก่อนที่ภาควิชาฯ จัด ซึ่งหัวข้อใกล้เคียงกับที่ปาณเตรียมจัดเป็นเสวนาวงปิดคราวนี้ ท่านทูตฯ ให้ข้อสังเกตบนเวทีวันนั้นไว้อย่างน่าสนใจว่า ในการวางยุทธศาสตร์การต่างประเทศ อย่าตั้งต้นมองโดยใช้ภัยคุกคามมาเป็นตัวกำหนดผลประโยชน์ โดยเฉพาะการมองภัยคุกคามที่มาจากความแตกต่างในทางอุดมการณ์ ตามที่ผมเข้าใจท่านทูตสุรพงษ์ความแตกต่างระหว่างประเทศในทางอุดมการณ์มิใช่สิ่งที่สร้างภัยคุกคามขึ้นมาโดยตัวของมันเอง แม้ว่าเราจะเห็นมันถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลสร้างน้ำหนักให้แก่การดำเนินนโยบาย และอธิบายสภาวะความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่เป็นประจำก็ตาม

แทนที่จะตั้งต้นด้วยการมองภัยคุกคามเป็นตัวมากำหนดผลประโยชน์ ท่านทูตฯ เสนอว่าให้มองการขัดกันของผลประโยชน์เป็นจุดตั้งต้นในการมองภัยคุกคาม เพราะสำหรับรัฐแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐมหาอำนาจ หรือไม่ใช่มหาอำนาจ ต่างก็ยึดถือวิธีคิดด้วยเหตุผลของรัฐหรือ raison d’état ที่ให้ความสำคัญแก่การรักษาผลประโยชน์ของตนเป็นหลักก่อนด้วยกันทั้งนั้น การสกัดขัดขวางหรือการกระทำที่ส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ ของแต่ละฝ่ายที่ถือว่าสำคัญต่างหากที่จะเป็นตัวกำหนดการมองภัยคุกคามระหว่างกัน

ผมอาจเสริมข้อเสนอแนวสัจนิยมแบบกระทรวงการต่างประเทศของท่านทูตฯ ต่อให้ปาณตรงนี้ได้อีกหน่อยว่า ความแตกต่างระหว่างรัฐในทางอุดมการณ์จะสร้างปัญหาเป็นภัยคุกคามต่อกันขึ้นมาได้เมื่ออุดมการณ์และรูปการณ์ของรัฐและระบอบการเมืองการปกครองของประเทศหนึ่งท้าทายรากฐานความชอบธรรมของอำนาจรัฐ และเสถียรภาพความมั่นคงของระบอบการปกครองของอีกประเทศหนึ่ง และรัฐฝ่ายแรกตั้งใจเผยแพร่และส่งออกอุดมการณ์รวมทั้งให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ในทางที่สร้างหรือส่งเสริมพลังที่เป็นปฏิปักษ์ขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐและระบอบการปกครองของอีกประเทศ ในกรณีแบบนี้ ความแตกต่างในทางอุดมการณ์จะถือเป็นปัญหาภัยคุกคามได้โดยตรงเพราะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์พื้นฐานที่ทุกรัฐต่างเห็นว่าสำคัญ ดังเช่นรัฐต่างๆ ในยุโรปเห็นภัยคุกคามที่ส่งออกมาจากฝรั่งเศสภายหลังจากการปฏิวัติปี ๑๗๘๙

และอีกทางหนึ่งที่ความแตกต่างในทางอุดมการณ์จะเป็นประเด็นขึ้นมาได้ คือในสภาวะอนาธิปไตยของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐมหาอำนาจจะมีความอ่อนไหวสูงต่อความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อสถานะอำนาจเชิงสัมพัทธ์ระหว่างกัน ในกรณีเช่นนี้ ประเทศมหาอำนาจที่แตกต่างกันในทางอุดมการณ์ จะจับตาเฝ้าระวังสถานะอำนาจของกันและกันเป็นพิเศษ และเมื่อเวลาที่ผลประโยชน์ของ ๒ ฝ่ายขัดกันขึ้นมา มีทางเป็นไปได้มากที่ความแตกต่างระหว่างกันในทางอุดมการณ์จะส่งผลเข้ามาจำกัดทางเลือกในการพิจารณาหาทางแก้ไขความขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่างกัน

ดังเช่นงานศึกษาการต่างประเทศของชาติมหาอำนาจก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ของ Paul Kennedy ที่ชี้ให้เห็นว่าในจังหวะที่สหรัฐฯ ทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ อังกฤษกับเยอรมนีต่างตระหนักในการเปลี่ยนแปลงของสถานะอำนาจในระบบระหว่างประเทศจากการทะยานขึ้นมาของสหรัฐฯ ดี แต่ท่าทีตอบสนองของอังกฤษต่อการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อังกฤษรู้ตัวว่าตกเป็นรองสหรัฐฯ ตั้งแต่นั้นมา แตกต่างกับท่าทีที่เยอรมนีก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีต่อสหรัฐฯ อย่างมาก เยอรมนีในช่วงเวลาดังกล่าวมองสหรัฐฯ ด้วยสายตาที่เป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน ไม่เพียงเพราะการขัดกันในผลประโยชน์ แต่ความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ระหว่างประเทศทั้ง ๒ ทำให้ผู้นำเยอรมันไม่คิดพิจารณาโอกาสที่อาจดึงสหรัฐฯ มาเป็นพันธมิตร หรือหาทางลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันลงด้วยแนวทาง rapprochement แม้ว่าระบบระหว่างประเทศในเวลานั้นจะเป็นแบบหลายขั้วอำนาจก็ตาม ความผิดพลาดอันเกิดจากข้อจำกัดในการมองภัยคุกคามผ่านแว่นของอุดมการณ์นี้ ในที่สุดแล้วจักรวรรดิเยอรมันต้องจ่ายค่าความผิดพลาดด้วยราคาแสนแพง

ถ้าเราย้ายมุมมองจากมหาอำนาจมาเป็นประเทศเล็กที่มีกำลังอำนาจไม่มากบ้าง ผมก็อยากสนับสนุนข้อเสนอของท่านทูตสุรพงษ์ฯ ที่ว่าประเทศเล็กก็ควรกำหนดยุทธศาสตร์การต่างประเทศโดยใช้ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งเช่นกัน แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการมองว่ามหาอำนาจชาติไหนหรือมองว่าประเทศไหนเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาค หรือเป็นแกนแห่งความชั่วร้ายที่คุกคามสันติภาพโลก ดังเช่นที่ผู้นำนโยบายและ Think Tanks ตะวันตกหลายสำนักพยายามขายภัยคุกคามผ่านบทวิเคราะห์ หรือพยายามขับเน้นความแตกต่างในทางอุดมการณ์ ค่านิยมไปจนถึงการปะทะทางอารยธรรมขึ้นมาสร้างความหวาดกลัวแบบ phobia เพื่อชี้เป้าให้เห็นว่าใครเป็นภัยคุกคาม

และที่สำคัญ ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ และการต่อสู้แข่งขันที่มหาอำนาจฝ่ายหนึ่งพยายามดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อหาทางขยายอิทธิพลของตนและสกัดทัดทานการขยายอิทธิพลของอีกฝ่ายหนึ่ง อาจเป็นโอกาสอำนวยให้ประเทศซึ่งมีขีดความสามารถไม่มากนักสามารถแสวงหาผลประโยชน์ที่ตนต้องการได้ ถ้ารู้ทิศทางและมองเป้าหมายการดำเนินยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจแต่ละฝ่ายออกว่าต้องการอะไร แล้วปรับแนวทางความร่วมมือกับมหาอำนาจเหล่านั้นในทางที่ทำให้ตนรักษาผลประโยชน์ไว้ได้ หรือมิเช่นนั้นก็ได้รับประโยชน์ตอบแทน หรือผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม จากการดำเนินนโยบายสอดคล้องหรือตอบสนองการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กที่ชำนาญการทูตแบบนี้เป็นพิเศษ และสามารถรักษาความสัมพันธ์กับมหาอำนาจแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งแข่งขันกันอย่างได้ดุลกับการรักษาผลประโยชน์ตนเองได้ดีมาก

หรือในกรณีของไทยในช่วงสงครามเย็นดังที่ปาณทราบดี เมื่อสหรัฐฯขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตและจีน และความขัดแย้งแตกร้าวกันระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา การต่างประเทศไทยก็มีการปรับแนวทางการแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ที่โน้มเข้าหาทิศทางการดำเนินยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจต่างๆ ท่ามกลางความขัดแย้งและพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้อยู่โดยตลอด ว่าไปแล้วการทูตไทยก็ไม่ได้อ่อนประสบการณ์แต่อย่างใดในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขในสภาพแวดล้อมภายนอกในแต่ละระยะ เป็นแต่ว่าเราอาจต้องพิจารณาให้มากขึ้นเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่รักษาไว้ได้ในแต่ละระยะจากการดำเนินความสัมพันธ์กับภายนอกว่าเป็นผลประโยชน์อะไร ถ้าปาณสนใจเรื่องนี้ ก็จำเป็นต้องเปิดการเมืองภายในออกมาพิจารณา

ผมเห็นว่าเมื่อปาณจะทำงานด้านยุทธศาสตร์ต่อไป ควรติดตามต่อจากการมองแบบ state -centric ของนักการทูตและกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นตัวแทนไทยในสนามการเมืองระหว่างประเทศลงไปอีกชั้นหนึ่งสู่กระดานหรือสนามของการเมืองภายใน เพราะภายในรัฐใด ๆ ไม่มีที่จะเป็น monolith ภายในประเทศทุกประเทศต่างประกอบด้วยกลุ่มพลังทางการเมืองหลายฝ่ายหลายระดับที่ขัดแย้งแข่งขันกันอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ และเชื่อมโยงกับเงื่อนไขภายนอกหรือได้รับผลจากภายนอกแตกต่างกัน

ท่านทูตสุรพงษ์ระบุความสำคัญของการมองผลประโยชน์ในความคลุมเครือของมันที่ฝ่ายสัจนิยมใช้ไว้ชัดสมกับเป็นนักการทูต แต่เราต้องรู้ว่ามันไม่ใช่แนวคิดสำเร็จรูปที่บอกเสร็จสรรพแล้วในตัวเองว่าอะไรคือผลประโยชน์แห่งชาติ และไม่ได้มีไว้เพื่อรองรับความคับแคบในการกำหนดผลประโยชน์ของฝ่ายใด แต่มีไว้เพื่อคำนึงว่า นอกจากผลประโยชน์ของประเทศเราแล้ว ประเทศอื่นก็มีผลประโยชน์ที่เขาต้องการรักษาเช่นกัน และเท่าที่ความหลากหลายภายในระหว่างฝ่ายต่างๆ จะมีอยู่ในแต่ละประเทศ ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นแนวคิดที่เปิดสนามสำหรับการถกเถียงและตรวจสอบกันและกันให้แก่แต่ละฝ่ายได้ ว่าข้ออ้างที่ฝ่ายใดจะหยิบมาใช้อ้างอย่างคับแคบ หรือเป้าหมายและวิธีการ/มาตรการที่ว่าดีและเลือกใช้จะถูกตั้งคำถามให้หาเหตุผลออกมาแสดงว่าเป้าหมายแบบนั้นมันเป็นผลประโยชน์แห่งชาติตรงไหน มันเป็นวิธีการเป็นมาตรการที่ช่วยรักษาผลประโยชน์ได้อย่างไร ได้จริงหรือ โดยความคลุมเครือของมันนี่เอง มันจึงเป็นแนวคิดที่ตั้งข้อเรียกร้องให้ผู้อ้างต้องแสดงเหตุผลและแสดงอย่างเป็นเหตุเป็นผลออกมาให้ชัดเจนในการอภิปราย/อธิบายต่อสาธารณะ ไม่ใช่แนวคิดที่สกัดให้หยุดการตั้งคำถาม

และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือคำตอบ คำตอบเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ดูเหมือนลงตัวได้รับฉันทามติจากกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ในการเมืองเวลานั้นว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ แต่การบรรลุผลประโยชน์ในเรื่องนั้นอาจจะก่อปัญหาตามมาที่สร้างรอยแยกในฉันทามติเดิม หรือสร้างพลังกดดันใหม่ๆ เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลงผลและผลพวงที่เกิดขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ในการเมืองภายในและเปลี่ยนรูปความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นกับประเทศอื่นๆ

โจทย์ของนักยุทธศาสตร์อย่างปาณจึงมีอย่างน้อย ๒ โจทย์ใหญ่ๆ คือยุทธศาสตร์จัดการกับเงื่อนไขหลากหลายภายในเพื่อบรรลุเป้าหมายการต่างประเทศที่ต้องการ และยุทธศาสตร์จัดการกับเงื่อนไขในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายของการเมืองภายในที่ต้องการ ไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายในสนามการเมืองภายในจะถือทั้ง ๒ โจทย์นี้และเล่นไปพร้อมกันเพื่อให้คำตอบที่ได้ในแต่ละส่วนสนับสนุนส่งเสริมกันในทางสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดแก่ผลประโยชน์ของชาติหรือของสาธารณะส่วนรวม ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นถือไว้เพียงโจทย์เดียว และคนที่ประสบความสำเร็จในการเล่นทั้ง ๒ กระดานพร้อมกันยิ่งมีน้อยคนลงไปอีก

โดยนัยนี้ โจทย์ยุทธศาสตร์ที่ปาณตั้งถามผมมาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ไทยต่อจีนและต่อสหรัฐฯ อย่างน้อยจึงแยกออกได้เป็น ๒  โจทย์ โจทย์แรกคือยุทธศาสตร์จัดการกับเงื่อนไขภายในที่ทำให้ไทยไร้พลังในเวทีระหว่างประเทศมานานนับทศวรรษเพื่อที่จะไปบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์การต่างประเทศอันพึงมีพึงรักษาในการปรับจัดแกนหมุนความสัมพันธ์กับจีนและกับสหรัฐฯ ไปไว้ที่องศาไหน ห่างใกล้จากกันเพียงใด  และโจทย์ที่ ๒ คือยุทธศาสตร์จัดการสภาพแวดล้อมภายนอกคือความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้ง ๒ รวมทั้งจัดการผลกระทบที่เกิดจากพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯและพันธมิตรที่กำลังพลิกเข้าหาความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ในการเมืองภายใน

พอแยกออกมาเป็น ๒ โจทย์อย่างนี้ ปาณก็จะเห็นชัดว่าเราต้องถามต่อด้วยว่า ยุทธศาสตร์ที่จะวางเป็นยุทธศาสตร์ของใคร เพราะผลประโยชน์ภายในที่แต่ละฝ่ายต้องการจากการจัดการเงื่อนไขในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ และการจัดการกับเงื่อนไขภายในเพื่อที่จะบรรลุผลประโยชน์อะไรในการต่างประเทศ ใครต่อใครของปาณเขาต้องการไม่เหมือนกัน งานของนักยุทธศาสตร์จึงสนุกก็ตรงนี้แหละ จริงไหมครับท่านขงเบ้ง

ในการพิจารณาสภาวะเงื่อนไขกับข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวผลักดันของกลุ่มพลังต่างๆ ในการเมืองภายในอย่างสัมพันธ์กับเงื่อนไขในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศแต่ละระยะเพื่อวางยุทธศาสตร์ตอบโจทย์ใหญ่ ๆ ทั้ง ๒ ด้านข้างต้น ปาณควรดูช่วงเวลาในแต่ละระยะนั้นด้วย ว่าช่วงเวลาที่ปาณกำลังพิจารณาเป็นช่วงเวลาแบบไหน ถ้าจะว่าเรื่องนี้ให้ละเอียดคงต้องหาเวลามาเจอกัน ให้พูดอธิบายอาจจะง่ายกว่าเขียน

แต่เขียนมาให้ปาณพอเห็นเป็นเค้าสั้นๆ ได้ ปาณคงคุ้นดีอยู่กับวิธีที่นักประวัติศาสตร์ใช้เกณฑ์บางอย่างมาตัดเวลาของสังคมหรือเวลาของโลกช่วงหนึ่งเพื่อแบ่งระยะออกมาศึกษา ที่เรียกว่า periodization นักยุทธศาสตร์การเมืองบางคนเขาก็มองเวลาของสังคมเป็นช่วง เป็นระยะเหมือนกัน อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันคนหนึ่งที่ผมเคยตามงานที่เขาศึกษาพัฒนาการรัฐของสหรัฐอเมริกา คือ Stephen Skowronek เขาแบ่งช่วงเวลาไว้เป็น ๒ แบบ ซึ่งผมเห็นว่าเข้าทีและเป็นเครื่องมือช่วยให้เข้าใจง่ายดี ช่วงเวลาแบบแรกเขาเรียกว่า secular time อีกแบบหนึ่งเขาเรียกว่า political time แต่เพื่อไม่ให้สับสนเพราะมีการเมืองอยู่ในทั้ง ๒ ช่วงแต่เป็นการเมืองคนละแบบ ผมจะขอเรียกเวลาแบบหลังว่า critical time ก็แล้วกัน

secular time คือช่วงเวลาของการบริหารราชการแผ่นดินตามข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหานานาประเภทและตามแรงกดดัน-ผลักดันเชิงนโยบายของฝ่ายต่างๆ ผ่านกระบวนการตามช่องทางและกลไกเชิงสถาบันในวงจรปกติ ยุทธศาสตร์และตัววัดความสำเร็จของยุทธศาสตร์ในช่วงเวลาแบบนี้คือยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างขีดสมรรถนะในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนำมาตรการที่วางไว้ไปปฏิบัติสำหรับส่งมอบบริการและผลการดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อลดแรงกดดัน ขยายฐานสนับสนุนและเพิ่มความพึงพอใจทางการเมืองสำหรับการผ่านกฎหมาย การบริหารงานภาครัฐ การแต่งตั้งคนลงในตำแหน่ง หรือสำหรับการเมืองเพื่อการเลือกตั้งคราวต่อไป

แต่เวลาที่ Skowronek เรียกว่าเป็น political time หรือผมเรียกง่ายๆ ว่าช่วงเวลาสำคัญโดยนัยของ critical time นั้น หมายถึงเวลาในจังหวะที่การไหลรวมของเหตุปัจจัยจากกระแสผลักดัน/กดดันหลายทางที่ประจัญกันอยู่ในสนามการเมืองได้เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้แก่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการจะรื้อเปลี่ยนกรอบอุดมการณ์เดิมที่เป็นตัวจัดเป้าหมายภารกิจของกลไกการทำงานของระบอบ ไปสู่การกำหนดเป้าหมายภารกิจในทิศทางต่างออกไปจากเดิมตามกรอบอุดมการณ์ชุดใหม่ และรื้อปรับจัดความสัมพันธ์ภายในโครงสร้างและการทำงานของกลไกเชิงสถาบันของรัฐเพื่อตอบสนองเป้าหมายใหม่

Skowronek ยกตัวอย่างในบริบทการเมืองอเมริกันว่าประธานาธิบดีเรแกนคือผู้นำในช่วงเวลา political หรือ critical time ดังกล่าวที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนการเมืองอเมริกันมาอยู่ภายใต้กำกับของอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมใหม่ พร้อมกับตั้งประเด็นให้ติดตามต่อว่าการเมืองอเมริกันหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวล่าสุดที่ผ่านมา กำลังเปลี่ยนช่วงเวลาจากแบบ secular time มาสู่ช่วงเวลาแบบ critical time อีกครั้งหนึ่งแล้วใช่หรือไม่ และผลของการประจัญกันระหว่างพลังผลักดัน/กดดันของฝ่ายต่างๆ และจากการเล่นบทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของประธานาธิบดีคนใหม่จะเปลี่ยนโฉมการเมืองอเมริกันไปทำงานตอบสนองเป้าหมายใหม่อยู่ในกำกับของอุดมการณ์ชุดใด

การหาทางอ่านยุทธศาสตร์ของแต่ละฝ่าย และการเผชิญประจัญกันระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ในจังหวะเวลาแบบ critical time นี้ที่ผมอยากชวนให้ปาณพิจารณา เพราะผมเห็นว่าคำถามที่ปาณสนใจถามผมมาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ไทยต่อจีนและต่อสหรัฐฯ ในเวลาต่อจากนี้ไปว่าควรเป็นอย่างไร กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในห้วงเวลาที่บ้านเรากำลังอยู่ในระยะของ critical time เช่นกัน แน่ละว่า critical time ของเรามีลักษณะและรายละเอียดต่างไปจากของสหรัฐฯ มาก เพราะพัฒนาการทางการเมืองของเราของเขาเป็นมาต่างกัน

แต่อย่างที่ผมบอกตอนต้น ถ้าปาณย้อนกลับไปพิจารณาปัญหาการต่างประเทศไทยในช่วงสงครามเย็นที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนไทยเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจมของสหรัฐฯ กับความพยายามของอีกฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนให้ไทยมารวมพลังกับการนำของจีนในการต่อสู้กับจักรพรรดินิยมอเมริกันร่วมกับกองทัพปลดปล่อยประชาชาติทั้งหลายในภูมิภาค บ้านเราในตอนนั้นก็ตกอยู่ในห้วงเวลาคับขันสำคัญเหมือนกัน และดำรงอยู่ติดต่อกันมาเสียด้วย ปาณนักยุทธศาสตร์ลองเปลี่ยนหมวกมาเป็นนักประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่า critical time ช่วงแรกนับแต่ ๒๔๗๕ คือการเผชิญประจัญระหว่างชุดอุดมการณ์ ๒ แบบคือราชาธิปไตยกับประชาธิปไตย ช่วงที่ ๒ ต่อมาคือช่วงเวลาของการประจัญกันระหว่างอุดมการณ์ชาติศาสน์กษัตริย์กับคอมมิวนิสต์ ใน ๒ ช่วงเวลาที่เป็น critical time ของการเมืองไทยนี้ ผมคิดว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลสะเทือนมากที่สุดต่อผลลัพธ์ทางการเมืองในเวลาทั้ง ๒ ช่วง คือจอมพลป. พิบูลสงคราม แม้ว่าเขาจะไม่ได้เกียรติคุณจากผลการเปลี่ยนแปลง ที่เขามีส่วนอย่างมากในทั้ง ๒ ช่วงเวลา

ในเวลาช่วงแรก ความพยายามของจอมพลป. ในการจัดการกับเงื่อนไขภายนอกมาตอบสนองการบรรลุเป้าหมายการเมืองภายในในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงรูปการณ์ของรัฐและฐานความชอบธรรมของอำนาจรัฐจากราชาธิปไตยจบลงที่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย แต่ตัวเขาต้องพ้นจากตำแหน่งทางการทหารและการเมืองและเกือบถูกส่งไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามที่เมืองจีน ในช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนเข้าหา critical time ช่วงที่ ๒ ยุทธศาสตร์การจัดการกับเงื่อนไขในสภาพแวดล้อมภายนอกต่อสหรัฐฯ และต่อจีน ของจอมพลป. เพื่อบรรลุเป้าหมายการเมืองภายใน ทำให้จอมพลป. โดยไม่รู้ตัวเป็นผู้เปิดประตูแห่งโอกาสในการดึงทรัพยากรจากภายนอกเข้ามาสร้างพลังสนับสนุนความเข้มแข็งให้แก่คนที่เป็นปฏิปักษ์กับเขาประสบความสำเร็จในเปลี่ยนการจัดรูปการณ์ของรัฐและฐานรองรับความชอบธรรมของอำนาจรัฐเสียใหม่ ด้วยชุดอุดมการณ์ชาติศาสน์กษัตริย์ ในขณะที่เขาต้องปลาสนาการไปจากการเมืองไทยแบบไม่หวนคืน

และคนที่เข้ามารับช่วงต่อจากจอมพลป. ต่อมาในการวางยุทธศาสตร์ในห้วงเวลา critical time ระยะที่ ๒ อันเป็นการเผชิญประจัญระหว่างอุดมการณ์ชาติศาสน์กษัตริย์กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ก็ดำเนินยุทธศาสตร์ทั้ง ๒ ระดับที่ประกอบด้วยจัดการกับเงื่อนไขภายในเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการต่างประเทศ และการดำเนินยุทธศาสตร์จัดการกับสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายภายใน

แต่ปาณต้องรู้ว่าการดำเนินการในทางยุทธศาสตร์ไม่เหมือนกับบทละครองก์เดียว หรือจะกี่องก์ก็ตาม ที่จะมีตอนจบบริบูรณ์ แล้วจะสรุปได้ว่ามันเป็น comedy ที่จบแบบสมสุขใจทุกคน หรือว่าเป็น tragedy นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์คนสำคัญคือ Lawrence Freedman บอกว่าการดำเนินการทางยุทธศาสตร์เป็นเรื่องการไปสู่เป้าหมายทีละขั้นและดำเนินไป ทำไปอย่างเป็นขั้นๆ จากจุดที่เป็นอยู่ไปสู่จุดต่อไปและต่อไป มากกว่าที่จะดำเนินเพื่อพาเข้าหาเป้าหมายสุดท้ายปลายทาง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเป้าหมายสุดท้ายปลายทางที่ว่านั้น ไม่มีอยู่ เพราะชีวิตของประเทศของผู้คนยังคงดำเนินต่อไป

Freedman จึงเสนอว่าเราควรพิจารณาการดำเนินยุทธศาสตร์อย่างที่เป็น soap opera ในรายการทีวีอเมริกันตอนกลางวัน หรือ series ละครที่เล่นต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เปลี่ยนตัวผู้เล่น เปลี่ยนพล็อต เปลี่ยนสถานการณ์ไปเมื่อตอนใหม่ของฤดูกาลใหม่เริ่มต้นขึ้น และเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และอีกครั้ง

ถ้าจะให้จดหมายนี้เล่าแต่ละ episode ที่เกิดขึ้นใน critical time ระยะที่ ๒ และในระยะต่อมา ผมก็คงเขียนไม่จบและไม่ได้ส่งถึงปาณสักที ผมจึงขอลงท้ายจดหมายแบบที่ Freedman เขาลงท้ายหนังสือยุทธศาสตร์ขนาดเขื่องของเขาฝากมาให้ปาณไว้คิดเล่นๆ ก็แล้วกันนะครับ Freedman เขาลงท้ายหนังสือของเขาด้วยประโยคนี้

“The strategist aims for comedy but risks tragedy.”

 

หาโอกาสเจอกันนะครับ จะได้คุยกันยาวๆ

ศ.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save