fbpx
อ่านการสอน

อ่านการสอน

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพ

 

มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งออกแบบระบบประเมินการเรียนการสอนให้คนเรียนแสดงความเห็นต่อวิชาที่ได้เรียนจบไปและเสนอแนะข้อที่คนสอนควรปรับปรุงให้ดีขึ้น กระบวนการนี้ในส่วนที่ผมพบมาในการทำงาน ยังไม่ถึงกับย้อนมาเข้มงวดกับคนสอนเท่าไรนักว่าในคราวต่อๆ ไปจะต้องปรับการเรียนการสอนอย่างไรให้ดีขึ้น ปรับในแง่ไหน และทำได้แค่ไหน คนเรียนก็คงรู้คงเข้าใจอย่างนั้นเหมือนกัน จึงไม่ค่อยมีใครใช้มันเป็นการประเมินจริงๆ คนเรียนใจดีใช้ช่องทางนี้สำหรับส่งกำลังใจให้คนสอนก็มาก คนสอนคนไหนได้รับกำลังใจแบบนี้ก็ดีใจกันทุกคน

บางแห่งออกแบบให้คนสอนประเมินการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นด้วย ว่าได้ผลโดยรวมเป็นที่น่าพอใจเพียงใด แต่การประเมินตามแบบฟอร์มเหล่านี้ก็ไม่สู้มีผลให้คนสอนเกิดการย้อนพินิจอะไรขึ้นมามากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาที่ต้องกรอกเอกสารประเมินประมวลการต่างๆ เหล่านั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ข้อสอบและรายงานของนิสิตมากองพะเนินเทินทึกรอการตรวจให้ทันกำหนดเวลาออกเกรดอยู่ การกรอกแบบฟอร์มเหล่านั้นจึงเป็นภาระ ทำพอให้แล้วไปเป็นคราวๆ  ไม่ได้ช่วยคนกรอกสักเท่าใดในการย้อนมองมากน้อยหนักเบาในการสอนที่เกิดขึ้นให้เกิดตระหนักว่าตัวเองสอนอะไร และเกิดผลอย่างไร ในขณะที่การตรวจข้อสอบและตรวจรายงานที่นิสิตทำมาอาจทำให้คนสอนประจักษ์แจ้ง หรือตื่นตะลึง ต่อความจริงเกี่ยวกับการสอนของตัวเองได้มากกว่า

ในสาขาวิชาที่ผมสังกัด คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเรียกกันโดยลำลองในมหาวิทยาลัยเมืองไทยว่า IR (ย่อมาจาก International Relations) มีตัวช่วยอีกแบบหนึ่งที่จะทำให้คนสอนเกิดความตระหนักได้มากในสิ่งที่ตัวเองสอน ในการวางเป้าหมายการสอน และในการตามดูตามรู้ในผลจากการสอน

ตัวช่วยที่ว่านั้นคือกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันความก้าวหน้าของความรู้ในสาขาวิชานี้ นั่นคือ การวิพากษ์ความรู้ภายในสาขาวิชา ซึ่งก่อ debates ใหญ่ๆ ในทางทฤษฎีขึ้นมาหลายระลอก และส่งผลสะเทือนตามมาหลายด้าน ทั้งในด้านการทบทวนฐานคิดและแนวคิดที่ใช้พิจารณาทำความเข้าใจการทำงานของโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทบทวนวิธีการและแนวทางการสร้างความรู้และการจะรับและนับอะไรว่าเป็นความรู้จากวิธีการและแนวทางแบบไหน ทบทวนสภาพสภาวะเป็นอยู่คือของโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าควรจะเข้าใจมันจากองค์ประกอบอะไร ควรจะมององค์ประกอบเหล่านั้นในความสัมพันธ์ต่อกันแบบใด ทบทวนการทำงานของความรู้ การสร้างและถ่ายทอดความรู้ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติ และการทำงานส่งผลของการปฏิบัติต่อความรู้ที่ถูกสร้างและนำเสนออยู่ในสาขาวิชา

ดังนั้น แม้คนเรียนจะไม่ตั้งคำถามเพื่อวิพากษ์เนื้อหาและแนวทางที่คนสอนจัดมาสอน แต่คนสอนผู้รู้ราตรีนานก็ถูกข้อวิพากษ์ความรู้ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะภายในสาขาวิชา IR ทำให้เขารู้ตรึก-ถ้าคิดอยากจะตรึก-และไตร่ตรองเกี่ยวกับการจัดเนื้อหาและแนวทางการสอนของตัวเอง

ขอยกคนสอนบางคนในแวดวงที่ผมรู้จักคุ้นเคยดีมาเป็นตัวอย่างนะครับ

 

1

 

คนสอนคนนี้เขาเจนจบข้ออภิปรายระหว่างฝ่าย liberalism กับ realism อย่างดี และจากข้ออภิปรายรอบนั้น เขาจึงตระหนักดีว่าอุดมการณ์อำพรางตนเองมาอยู่ในรูปของความรู้ได้อย่างกลมกลืน และความรู้ก็ช่วยรักษาการทำงานของอุดมการณ์ชุดหนึ่งให้อยู่เหนืออุดมการณ์ชุดอื่นๆ ที่เสนอตัวมาท้าชิงได้ ด้วยการทำให้ฝ่ายหนึ่งเป็นความคิดความเข้าใจปกติสอดคล้องกับวิถีการทำงานของธรรมชาติและสภาพที่เป็นจริงของโลก และจัดอีกฝ่ายหนึ่งให้เป็นอุดมคติที่อาจเหมาะสำหรับวางเป็นเป้าหมายปลายทางซึ่งต้องการเวลาอีกยาวไกลและเงื่อนไขความพร้อมอีกมากกว่าจะบรรลุเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่ไม่เหมาะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงตามที่เป็นมาและเป็นอยู่ หรือไม่อาจงอกงามได้ในธรรมชาติของโลกในปัจจุบัน

ผมถามเขาว่าเขาเลือกถ่ายทอดบทเรียนเรื่องนี้ออกมาให้คนเรียนรับไปอย่างไรในวิชาทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เขารับสอนผูกขาดมานาน? เขาบอกผมว่าที่ผ่านๆ มา เขาใช้การบรรยายและยังถนัดที่จะสอนด้วยวิธีเก่าแก่อย่างนั้นอยู่ แต่บางครั้งเขาก็ให้นิสิตทำกิจกรรม และพบว่ามันได้ผลดีมาก

เพื่อให้เข้าใจบทเรียนว่าโลกทำงานอย่างไร เขาให้คนเรียนทำกิจกรรม กิจกรรมหนึ่งตั้งต้นโดยคนสอนแบ่งโลกออกเป็น 2 โลก โลกใบหนึ่งทำงานตามความรู้ชุดที่ realism เสนอ และโลกอีกใบหนึ่งทำงานตามความรู้ที่ liberalism เสนอ แล้วเขาก็ให้คนเรียนแบ่งกลุ่มอภิปรายว่า (1) ความรู้ 2 ชุด และโลก 2 โลกนี้เมื่อมาเผชิญกันเข้า ความรู้ชุดไหนและโลกใบไหนจะมีพลังส่งผลต่อการจัดหรือกำหนดสภาวะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากกว่ากัน (2) ให้เลือกภูมิภาคหนึ่งภูมิภาคใดขึ้นมาพิจารณา แล้วอภิปรายในกลุ่มว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคนั้น ค่อนมาทางโลก realist หรือโลก liberal และความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคมีลักษณะสอดคล้องกับที่เกิดขึ้นในโลก realist หรือโลก liberal มากกว่ากัน

หรือกิจกรรมอีกแบบที่เขาใช้ถ่ายทอดให้คนเรียนเข้าใจข้อเสนอและข้อถกเถียงระหว่าง liberalism กับ realism ใน IR คือจัดให้คนเรียนเล่นสถานการณ์จำลอง ที่ออกแบบสถานการณ์เพื่อเปิดโอกาสให้คนเล่นแต่ละฝ่ายเลือกได้ว่าจะจัดสัมพันธ์และดำเนินความสัมพันธ์ต่อกันในแบบที่มองโลกทั้งผองเป็นพี่น้องกันโดยไม่คำนึงถึงพงศ์เผ่าเพศพรรณภาษาหรือการเคารพนับถือศาสดาที่มาแยกความแตกต่าง หรือจะจัดสัมพันธ์กันโดยการหาทางดำรงอยู่ร่วมกันในความแตกต่างบนฐานของการเคารพกฎกติกา อันเกิดจากการทำข้อตกลงระหว่างกันอย่างสันติ หรือว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ที่แต่ละฝ่ายมองผลประโยชน์ในเชิงอำนาจที่จะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง และขยายการมีอิทธิพลเหนือความคิดจิตใจและการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งให้มากที่สุด

ผมถามเขาว่าแล้วกิจกรรมทั้ง 2 ได้ผลแบบไหนออกมา เขาก็บอกผมด้วยคำเดิมคือ ได้ผลดีมาก

การเรียนผ่านกิจกรรมในชั้นเรียนที่คนสอนจัดให้คนเรียนได้ลองทำลองเล่นแล้วหาข้อสรุปด้วยตัวของเขาเองและรับฟังจากกันและกันแบบนี้ ลดบทบาทคนสอนในฐานะผู้บอกความรู้ลงไป แทนที่ด้วยการหันไปใช้ตัวกิจกรรมเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อให้คนเรียนได้ค้นพบความรู้ด้วยตัวของเขาเอง แต่กิจกรรมเหล่านั้นความจริงได้ล็อคเป้าหมายที่จะพาคนเล่นคนทำไปสู่ผลและข้อสรุปบางอย่างที่ซ่อนไว้ในตัวอยู่แล้ว และคนสอนที่เลือกกิจกรรมประกอบการเรียนในชั้นอย่างใดมาก็รู้อยู่ก่อนแล้วว่า การทำการเล่นกิจกรรมนั้นจะทำให้คนเล่นคนทำลงเอยที่ความเข้าใจในบทเรียนด้วยข้อสรุปแบบไหนมากที่สุด และเมื่อคนเรียนเขาคิดว่าเขาได้ข้อสรุปนั้นมาเอง เขาก็จะรับเอาความเข้าใจโลกเข้าใจการทำงานของโลกว่ามีปกติเป็นเช่นนั้น หรือเป็นเช่นไร ไว้ต่อไป

การถ่ายทอดอุดมการณ์ ชุดความคิด ท่าทีและวิธีการมองโลก ผ่านการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่คนเรียนเหมือนว่าได้ลงมือปฏิบัติและรู้ขึ้นมาด้วยตัวเองอย่างนี้ จึงเป็นวิธีที่ ‘ได้ผลดีมาก’ เพราะมันถูกอำพรางมาในกิจกรรมการเรียนรู้ ในรูปของความรู้ และเป็นความรู้ที่คนเรียนค้นพบด้วยตัวเขาเอง

การถ่ายทอดบทเรียนให้คนเรียนเข้าใจผ่านการทำกิจกรรมเป็นวิธีการเรียนรู้ที่นิสิตชอบมากกว่าการเรียนแบบฟังคนสอนบรรยายมากนัก ผมได้แต่หวังว่าพวกเขาคนเรียนจะมีเวลาย้อนพินิจความรู้ที่พวกเขาค้นพบและรับเข้ามาไว้เป็นความเข้าใจโลกด้วยวิธีการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมและการพูดการอภิปราย หรือ -ถ้ายืมสำนวนของ Horace ที่ Sir Philip Sidney นำมาเผยแพร่- คือการเรียนผ่าน “a speaking picture, with this end, to teach and delight” และจากการย้อนพินิจนั้น จะได้ทบทวนความเป็นปกติ -และไม่ปกติ- ของความเข้าใจโลกแบบนั้นดูอีกที

 

2

 

คนสอนอีกรายหนึ่งสอนด้านการเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นวิชาเลือกที่นิสิตนิยมเลือกพอสมควร อาจเป็นเพราะแรงโฆษณาว่าเป็นวิชาฝึกฝนทักษะวิชาชีพ อันได้แก่ทักษะการวางแผนยุทธศาสตร์ การเจรจา การต่อรอง การจัดทำข้อตกลง การจัดการประชุม ผมขอเข้าไปสังเกตการณ์การสอนของเขา พอครบเทอมแล้วเราก็คุยกัน

เมื่อรู้ว่าผมสนใจการประเมิน เขาก็ประเมินการสอนวิชาเจรจาฯ ของเขาให้ผมฟังว่า กิจกรรมการเจรจาส่วนใหญ่หรือแทบจะทั้งหมดที่ใช้ในการเรียน ยังไม่สู้จะช่วยให้คนเรียนมองสถานการณ์การเจรจาพ้นไปจาก strategic situations คือคู่เจรจาแต่ละฝ่ายมองความสัมพันธ์ระหว่างกันในสถานการณ์ของการเจรจาที่ใช้ทำกิจกรรมในชั้นเรียนว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่แข่ง/ฝ่ายตรงข้าม ที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ที่ตนต้องการจากอีกฝ่ายหนึ่ง และหาทางทำให้อีกฝ่ายยอมมอบผลประโยชน์นั้นออกมาให้มากที่สุด กิจกรรมการเจรจาเป็นสถานการณ์ของการหาทางวางแผนดักทางการดำเนินการของอีกฝ่ายเพื่อให้เข้าทางของฝ่ายเรา หรือต้องหยั่งกันว่าอีกฝ่ายจะตัดสินใจอย่างไรเมื่อคำนึงถึงทางได้ทางเสียต่างๆ ที่มี และดังนั้นฝ่ายเราควรจะตัดสินใจทำอย่างไร หรือควรจะต้องเตรียมตัวรับมือหรือตั้งรับกับยุทธวิธีของอีกฝ่ายอย่างไร

ผมบอกเขาว่าการจัดกิจกรรมจำลองการเจรจาในบริบทของ strategic situations ให้นิสิตลองฝึกฝนอย่างนี้ ไม่เห็นเป็นข้อจำกัดตรงไหน สถานการณ์เจรจาระหว่างประเทศในโลกข้างนอกต่างฝ่ายต่างหาทางรักษาประโยชน์ของตัวเองยิ่งกว่านี้อีก

เขาบอกว่ามันก็ไม่ถึงกับจะเป็นข้อจำกัดในโลกที่เป็นแบบนั้น แต่ก็ต้องรู้ว่ามันเป็นการใช้การเจรจาเป็นเครื่องมือในแบบ utilitarian ที่คนเจรจาจะทำทุกทางที่จะโน้มฝ่ายตรงข้ามให้ยอมให้เรามากที่สุด ถ้าคิดมาก ก็จะเห็นว่าการสอนให้คิดแบบนี้มันมีผลข้างเคียงตามมาได้

ในการฝึกหัดการเจรจาต่อรองแบบนี้ ถ้าเราพูดเราเสนอความจริง ก็เพราะเห็นว่าการพูดตามความเป็นจริงช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่ต้องการจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ หรือเห็นว่าจะพูดความจริงก็เมื่อเห็นว่าการทำเช่นนั้นรักษาผลประโยชน์ให้เราได้ ถ้าเป็นแบบนี้ มันก็จะไต่ไปหาขั้นต่อไปว่า ถ้าการพูดความจริงหรือตามที่รู้จริงๆ ขัดกับเป้าหมายและการรักษาผลประโยชน์ของเรา เราก็จะไม่พูด ไม่บอก วิธีคิดที่ใช้อรรถประโยชน์เป็นที่ตั้งแบบนี้ก็จะผลักให้เราไต่ขึ้นไปอีกขั้น คือเราจะพูดไม่จริง คือโกหกอีกฝ่าย ถ้าหากว่ามันช่วยรักษาประโยชน์ให้เรา สอนนิสิตแบบนี้มากเข้า เราจะพาเขาห่างออกมาจาก self-mastery ที่จะทำให้เขามีเสรีภาพและอัตตาณัติที่จะเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ทำตามความปรารถนาเชิงอรรถประโยชน์หรือตามแรงกดดันและอามิสเครื่องล่อใจต่างๆ

ในการฝึกหัดการเจรจาต่อรองแบบนี้ มันเลยกลายเป็นว่าเรากำลังสนับสนุนให้คนเรียนมองกันและกันที่เป็นคู่เจรจาแต่ละฝ่ายในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ฝ่ายของตนบรรลุเป้าหมาย หรือเป็นเครื่องมือสำหรับสนองผลประโยชน์และความต้องการของตน โดยไม่เห็นคุณค่าในกันและกันมากไปกว่านั้น

นอกจากนั้น การเจรจาต่อรองมันก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการเจรจา การเจรจาทำอะไรได้มากกว่านั้นมาก หรือจะว่าอีกแบบ วิชาการเจรจาควรทำให้คนเรียนเห็นวิธีที่จะเปลี่ยนการเจรจาแบบต่อรองที่มองคู่เจรจาเป็นฝ่ายตรงข้าม เจรจาเพื่อหาทางชนะฝ่ายนั้นแล้วเก็บรับผลประโยชน์ที่ตนมุ่งหมายหรือให้ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้แล้วกลับบ้าน ไปเป็นการเจรจาแบบสานสนทนาที่มองคู่เจรจาอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ไม่ใช่เป็นพวกเดียวกัน แต่ก็มิใช่ฝ่ายตรงข้ามที่ต้องหาทางชนะ แต่สนทนาเพื่อทำความเข้าใจความคิด ความรู้สึก ทัศนะ เหตุผล หลักการของอีกฝ่ายหนึ่งและของกันและกัน เพื่อสำรวจทางเลือก เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

และที่สำคัญพอกัน คือให้โอกาสที่จะเปลี่ยนการเรียนการเจรจาไปเป็นฝึกการรู้จักฟังจากกันและกันให้เป็น การฟังเป็นเป็นของสอนยากอย่างยิ่ง เป็น tacit knowledge ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนผ่านการร่วมวงเจรจาหรือวงสนทนาในอีกลักษณะหนึ่งที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับวงเจรจาในคลาสการต่อรองแบบที่เราเรียนที่เราสอนอยู่

ผมถามเขาว่าแล้วอาจารย์จะปรับการสอนวิชาเจรจาฯ ไปในทางนั้นไหม เขาบอกผมว่าในสถานการณ์แบบนี้ เขาคิดอยากจะเปลี่ยนไปสอนวิชาความขัดแย้งมากกว่า สอนมืดง่ายกว่าสอนสว่าง เขาว่า ก่อนปิดการสนทนาของเราไว้เพียงเท่านั้น

 

3

 

ตัวอย่างรายสุดท้ายเป็นคนสอนเนื้อหา IR แบบกระแสหลัก กล่าวให้คนนอกแวดวงพวกเราเข้าใจได้ง่ายขึ้น การเรียนการสอนกระแสหลักใน IR คือการสอนให้เข้าใจสภาวะอนาธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สอนการมองผลประโยชน์ของรัฐในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ สอนการจัดระเบียบระหว่างประเทศและการทำงานขององค์การโลกาภิบาล สอนบทบาทและอิทธิพลของมหาอำนาจในการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สอนการทำงานของระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและการทำงานของตลาดเสรีว่าดีต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร เป็นต้น

เมื่อสบโอกาส ผมถามเขาเกี่ยวกับการจัดเนื้อหาการเรียนแนวคิดทฤษฎีในวิชาการเมืองระหว่างประเทศที่เขาสอนอยู่ โดยยกความเห็นของนักทฤษฎีฝ่ายกระแสวิพากษ์ของ IR มาตั้งประเด็น ซึ่งเขาก็รู้จักประเด็นวิพากษ์นี้ดี แม้ว่าเขาจะสอนตามแนวทางกระแสหลักตลอดมาก็ตาม เพราะความเห็นดังกล่าวมีการนำมาอ้างอิงแพร่หลายในที่ต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง ความเห็นซึ่งเป็นการวิพากษ์การเรียนการสอนแบบกระแสหลักอยู่ในตัวนั้นมีอยู่ว่า

 

“ทฤษฎีมีไว้ เพื่อ บางคน และ เพื่อ บางเป้าหมาย เสมอ ทฤษฎีทั้งหมดต่างมีมุมมอง มุมมองเหล่านั้นได้มาจากตำแหน่งในกาละและเทศะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกาละและเทศะทางการเมืองและสังคม โลกถูกมองจากจุดยืนที่กำหนดความหมายขึ้นมาจากชาติหรือชนชั้นทางสังคม จากอำนาจครอบงำหรือการอยู่ภายใต้การครอบงำ จากอำนาจที่กำลังทะยานขึ้นมาหรือกำลังถดถอยลงไป จากความรู้สึกว่าหมดทางเคลื่อนไหวหรือจากวิกฤตปัจจุบัน จากประสบการณ์ในอดีตหรือจากความหวังและความคาดหวังถึงอนาคต แน่ล่ะ ว่าทฤษฎีที่ซับซ้อนไม่ได้เป็นเพียงการกล่าวแสดงมุมมองออกมาเฉยๆ ยิ่งทฤษฎีมีความซับซ้อนมากเพียงไร มันก็ยิ่งพินิจและเปลี่ยนพ้นมุมมองของตัวมันเองออกไป แต่ทฤษฎีก็ยังเก็บมุมมองตั้งต้นแต่แรกนั้นไว้ และมุมมองนั้นก็ยังคงส่งผลเกี่ยวข้องในการอธิบายโลกของมันอยู่ ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่มีสิ่งที่เป็นทฤษฎีโดยตัวของมันเองที่ตัดขาดจากจุดยืนในกาละและเทศะ เมื่อทฤษฎีใดก็ตามเสนอตัวมันเองออกมาอย่างนั้น ยิ่งต้องให้ความสำคัญที่จะตรวจสอบมันอย่างเป็นอุดมการณ์ และเปิดเผยมุมมองของมันที่ถูกเก็บซ่อนไว้ออกมา” [1]

 

เมื่อเห็นผมเปิดประเด็นด้วยกระแสวิพากษ์ เขาพูดทีเล่นทีจริงตอบผมว่า อาจารย์เคยได้ยินไหมคำที่เขาว่า รู้มากแล้วยากนาน พวกถนัดการวิพากษ์แล้วยากจะหางาน แล้วยังยากจะทำงาน

แล้วเขาก็อธิบายว่า ที่เขาสอนแต่ทฤษฎีกระแสหลักของการเมืองระหว่างประเทศเพราะทั้งหลักสูตรก็มีเรียนในวิชานี้ ไม่สอนในวิชานี้ แล้วจะให้นิสิตไปเรียนทฤษฎีพวกนี้ในวิชาไหน เวลาเรียนมี 14 ไม่เกิน 15 สัปดาห์ ถ้าเร่งสอนแบบชะโงกทัวร์ คือแวะชะโงกดูแล้วขึ้นรถไปต่อ ชะโงกดูแล้วขึ้นรถไปต่อ เพื่อเก็บทฤษฎี ที่เผอิญต้นศัพท์แปลว่าการเห็น ให้เห็นแบบเร่งรีบเพื่อให้ครบ ก็พอจะทำได้ แต่ก็ได้แต่รูปเป็นที่ระลึก ย้อนกลับมาดูอีกทีไม่รู้ว่ารูปนั้นถ่ายที่ไหน

ผมยั่วเขาว่าสอนแบบอาจารย์สอน ก็ใช่ว่าคนเรียนจะได้ หรือได้แล้วก็ใช่ว่าจะใช้เป็น หรือใช้เป็นแล้วก็ใช่ว่าจะไม่ลืม เขายอมรับว่าจริง แต่ผมบอกเขาว่าประเด็นที่ผมอยากถามเขาจริงๆ คือ เขาสามารถสอนทฤษฎีกระแสหลักด้วยท่าทีและแนวทางของฝ่ายวิพากษ์ได้ หรืออย่างน้อยก็ควรแบ่งระหว่างการสอนกระแสต่างๆ ให้ได้ทั้งกระแสหลักและกระแสวิพากษ์ ทำไมอาจารย์จึงไม่สอนกระแสวิพากษ์ ผมถามเขาตรงๆ

สั้นๆ เลยนะ เขาบอก ความกลัว

อาจารย์กลัวหรือ? ผมถาม อาจารย์กลัวอะไร?

เขาอธิบายให้ฟังว่า

 

“รัฐศาสตร์หรือการเมืองสมัยใหม่มีรากฐานอยู่บนความกลัวไม่ใช่หรือ หรือผมจะเข้าใจผิด เมื่อ IR มาอยู่ในสาขานี้และอาศัยความคิดและวิธีมองการเมืองของเขาอยู่ เราจะไม่รับเอาความกลัวนั้นเข้ามาเป็นรากฐานในการศึกษาหาความรู้ของเราหรือ ถ้าเราตั้งต้นทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่กันที่ Hobbes และถ้าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งต้นศึกษาหาความรู้ในฐานะสาขาวิชาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยรากฐานความคิดแบบ liberalism ผมคิดว่าถ้าจะให้ผมตอบประเด็นของ Cox ว่าทฤษฎีกระแสหลักที่ผมสอนอยู่นั้นมีมุมมองตั้งต้นที่ไหน มีคติหรือทางดำเนินของมันด้วยแนวโน้มความคิดแบบไหนปูเป็นฐาน ผมก็อยากจะบอกว่าทฤษฎีกระแสหลักของการเมืองระหว่างประเทศมีความกลัวเป็นฉากหลัง และถ้าเป็นอย่างที่เชื่อกันว่ามันตั้งต้นที่เสรีนิยมและใช้เสรีนิยมวางรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศด้วย ผมก็อยากเสนอว่ามันตั้งต้นที่ liberalism of fear ในความหมายอย่างที่ Judith Shklar แสดงประเด็นนี้ไว้ [2] ว่าเสรีนิยมนั้นเป็นทฤษฎีการเมืองที่มุ่งสร้างเงื่อนไขให้เราหลีกพ้นจากความกลัวการจะต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสภาวะการเมืองที่ชั่วร้ายอันเกิดจากความรุนแรง การฆ่าฟัน และความทารุณโหดร้ายที่มนุษย์จะกระทำต่อกัน หรือที่รัฐจะกระทำต่อเรา

และทำไมทฤษฎีที่วางอยู่บนความกลัวจึงยังเป็นกระแสหลักแม้จะถูกวิพากษ์จากกระแสไหนๆ เรารู้ว่ามันไม่ใช่เพราะพลังในการอธิบายการคาดการณ์ทำนายของมัน หรือเพราะเหตุว่ามันสวมรอยเสนอปกติวิสัยของการเมืองระหว่างประเทศที่ทำให้ใครๆ เชื่อได้สนิทว่าสภาพจริงเป็นแบบนั้น แต่ผมคิดว่าเป็นเพราะสิ่งที่ Erich Fromm เรียกว่า the social unconscious [3] สำหรับศตวรรษที่ 20 และจนถึงเดี๋ยวนี้ ผมคิดว่าส่วนสำคัญคือความกลัว ศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษที่ได้เห็นคนตายจากการที่รัฐทำสงครามรบพุ่งฆ่าฟัน คนตายจากการทำร้ายทำอันตรายกันในสภาวะที่อำนาจของรัฐล้มเหลว และคนถูกกระทำทารุณโหดร้ายโดยรัฐหรือโดยการกระทำในนามของรัฐหรือได้การสนับสนุนจากรัฐ มีจำนวนมากกว่าในศตวรรษอื่นๆ [4] และเราถูกนำเสนอเห็นความทารุณโหดร้าย สภาวะอันชั่วร้ายที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันผ่านตาในข่าวที่เรารับชม ให้เห็นว่าความเป็นไปได้แบบนั้นวนเวียนอยู่รอบๆ ไม่ไกลจากเรา

และความกลัวนี่แหละที่ผมเห็นว่าทำให้ระเบียบยังไม่พังทลายลงไปง่ายนัก แม้ว่าระเบียบจะอยุติธรรม จะมีด้านที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันมากเพียงใด กรัมชี่ได้ความคิดเรื่องอำนาจรัฐเหมือนตัวเซนทอร์มาจากมาคิอาเวลลี่และ Cox นำมาใช้ต่อในการเสนอความหมายของ hegemony ในทฤษฎีของเขา อำนาจรัฐมีทั้งส่วนที่เป็นมนุษย์และส่วนที่เป็นสัตว์ป่า การท้าทายทำลาย hegemony มันเท่ากับผลักให้รัฐหมุนด้านที่เป็นสัตว์ป่าออกมาเผชิญ ผมเลยคิดว่ามันยังมีความจำเป็นจะต้องสอนให้เข้าใจด้านที่เป็น coercion หรือเราจะเรียกให้ฟังดีขึ้นว่า security และส่วนที่รักษา consent หรือเราเรียกว่าด้านสถาบันในการเมืองระหว่างประเทศ

แต่ก็ไม่ขัดขวางและเห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนกระแสวิพากษ์ด้วย เป็นแต่ว่าการวิพากษ์ถ้าให้ลึกจริงมันก็ต้องวิพากษ์ consciousness ทั้งของคนสอนคนเรียนไปหาพลังของ the social unconscious ที่เขาไม่รู้ตัวว่าคุมความคิดการกระทำของเขาอยู่ ซึ่งสำหรับผม ผมเห็นว่าพลังอันนั้นที่สำคัญคือ ความกลัว “nameless, unreasoning, unjustified terror which paralyzes needed efforts to convert retreat into advance””

 

FDR หรือครับ?

ครับ FDR.

 

เชิงอรรถ

บทความเดือนนี้ส่วนหนึ่งเขียนเพื่อระลึกถึง Robert W. Cox (1926 – 2018) นักทฤษฎี IR กระแสวิพากษ์และเป็นคนนำงานและความคิดของ Antonio Gramsci เข้าสู่วงวิชาการ IR งานที่ให้อรรถาธิบายความคิดส่วนหนึ่งของ Cox ในพากย์ไทยได้แก่ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์, “ความคิดของ Robert W. Cox ว่าด้วยอารยธรรมกับการครองอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา,” วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560), 151-168. อ่านได้ที่นี่ ความคิดของ Robert W. Cox ว่าด้วยอารยธรรมกับการครองอำนาจของ US

[1] Robert W. Cox, “Social Forces, States and World Orders: Beyond International Relations Theory,” Millennium: Journal of international Studies vol.10, no. 2, p. 128

[2] Judith N. Shklar, “The Liberalism of Fear,” in Judith N. Shklar, Political Thought & Political Thinkers, edited by Stanley Hoffmann (Chicago: University of Chicago Press, 1998), 3-20

[3] Erich Fromm, Beyond the Chains of Illusion: My Encounter with Marx and Freud (New York: Touchstone Book, 1962), 88 -134.

[4] นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เก็บรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าฟันกัน ทั้งในสงครามระหว่างรัฐ สงครามภายในรัฐ และโดยการกระทำของรัฐหรือเป็นผลโดยตรงจากการดำเนินนโยบายของรัฐ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 และวิเคราะห์ไว้อย่างเป็นระบบคือ Rudolph J. Rummel ดูตัวอย่างผลงานของเขาที่มหาวิทยาลัยฮาวายอิรวบรวมไว้ที่นี่ นักวิชาการ IR บางคนที่เห็นจำนวนตัวเลขมากมายขนาดนั้นรำพึงว่า “All these theories yet the bodies keep piling up.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save