fbpx
อ่านภาษาการต่างประเทศ ศุภมิตร ปิติพัฒน์

อ่านภาษาการต่างประเทศ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ทักษะความชำนาญสำคัญอย่างหนึ่งอันจะขาดไปไม่ได้ในการทำงานทางการทูตคือความชำนาญในภาษาการต่างประเทศ

นักการทูตและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเจรจาทำข้อตกลง สนธิสัญญา หรือความร่วมมือรูปแบบอื่นๆ ต่างตระหนักว่าการใช้ถ้อยคำที่จะบรรจุลงไปในความตกลงต้องเลือกกันอย่างพิถีพิถันให้สอดคล้องกับการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย และให้บรรลุถึงผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างดีที่สุด ภาษาของ การต่างประเทศแบบนี้นักการทูตย่อมได้รับการฝึกฝนอยู่แล้วในวิชาชีพ

แต่ยังมีภาษาการต่างประเทศอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกว่า ภาษา ใน การต่างประเทศ อันเป็นภาษาที่สัมพันธ์กับการสื่อสารในเรื่องที่ว่าด้วยการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอหลักการและแนวทางของนโยบายต่างประเทศ,  การสื่อสารทำความเข้าใจบทบาทภารกิจด้านการต่างประเทศ, การประเมินตัดสินสถานการณ์และตัดสินใจดำเนินการ, การใช้เหตุผลสนับสนุนเพื่อให้การตัดสินใจที่จะกระทำ นโยบายที่จะดำเนิน หรือวัตถุอุปกรณ์ที่ต้องจัดซื้อจัดหา ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่จะใช้ได้รับการยอมรับและได้รับการรับรองอนุมัติ,  การสื่อสารส่งสัญญาณทางการทูตที่เป็นข้อเรียกร้องต้องการ ท่าที หรือเงื่อนไขกับมิตรประเทศหรือฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ

ภาษาในการต่างประเทศแบบนี้เป็นการใช้ภาษาสื่อความด้วยความมุ่งหมายหลายแบบ  ให้จับใจ ให้เข้าใจ ให้เกิดความประทับใจ ให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้เห็นใจ ให้เชื่อใจ ให้คลายใจหรือให้คลายความขุ่นข้องหมองใจ   บางทีก็ซ่อนนัยให้ผู้รับสารต้องมองหาความหมายและความตั้งใจจริงๆ ของผู้พูด บางทีก็แฝงนัยสื่อความถึงคนหลายฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ฟังตรงนั้น   และบ่อยครั้งก็จะพบการใช้การเปรียบเทียบหลายรูปแบบมาช่วยลัดการอธิบายเหตุผลที่ซับซ้อนเพื่อให้นโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินเป็นที่เข้าใจได้ง่าย ๆ   แต่การใช้ภาษาสื่อความหมายที่สร้างความเข้าใจอย่างง่าย ๆ หรือให้ความจับใจ เกิดแรงปลุกใจ ฟังแล้วเชื่อมั่นไว้วางใจ ก็เตือนให้เราต้องใส่ใจติดตามพิจารณาฐานคิดและสมมุติฐานที่อยู่เบื้องหลังภาษาที่ใช้ในการต่างประเทศแบบนี้เสมอ

เริ่มต้นตัวอย่างด้วยภาษาในการต่างประเทศของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทยอย่าง สปป. ลาว น่าจะดี

การเจรจาทางการทูตนั้นบางทีก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นมากขึ้นถ้าประกอบด้วยอาหารสราญรสและเครื่องดื่มที่คัดสรรมาว่าเข้ากันกับอาหารเป็นอย่างดี ซึ่งไม่พ้นจะเป็นไวน์ และไวน์ในวงการทูตนั้นก็ต้องเลือกกันพิถีพิถันอยู่  เรื่องที่จะเล่านี้มาจากหนังสือของคุณวงศ์ พลนิกร ผู้ข้ามโขงยามรุ่งอรุณ อันเป็นบันทึกเบื้องหลังการประสานทางการทูตเพื่อยุติศึกบ้านร่มเกล้าระหว่างทหารไทยกับทหารของสปป.ลาวที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายปี ๒๕๓๐ จนข้ามปีใหม่มา พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เชื่อมประสานผู้นำทหารของทั้งสองฝ่ายสำหรับการเจรจาหาลู่ทางที่จะยุติการใช้กำลัง และแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในแนวชายแดนโดยสันติวิธี

รายละเอียดของการดำเนินการทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการของพลเอกเกรียงศักดิ์คราวนั้น คุณวงศ์บันทึกไว้อย่างใช้เป็นกรณีศึกษาของการจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี ส่วนที่จะนำมาเล่าต่อ คือ อาหารในการต้อนรับพลเอกเกรียงศักดิ์ที่ข้ามโขงไปพบผู้นำลาวทั้งฝ่ายทหาร และผู้นำทางการเมืองคือ ฯพณฯ ไกสอน พมวิหาน เมื่อมูลเหตุของการไปเจรจาครั้งนั้นเป็นเพราะเหตุการณ์ปะทะด้วยกำลังที่ยังไม่ยุติเป็นหัวข้อใหญ่ การผ่อนคลายบรรยากาศเพื่อไม่ให้การพบกันระหว่างมิตรเก่าที่เคยมีแถลงการณ์ร่วมแสดงหลักการที่จะอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องอย่างสันติต้องตึงเครียดจนเกินไป  เจ้าภาพฝ่ายลาวก็ได้เลือกสรรอาหารเลี้ยงต้อนรับมิตรเก่าจากประเทศไทย และอาหารที่ได้ขึ้นโต๊ะก็กลายมาเป็นเครื่องช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีและมีความหมายในการเจรจาที่ตามมา

อาหารมื้อแรกที่เจ้าภาพฝ่ายลาวจัดเลี้ยง คุณวงศ์เล่าว่าเป็นอาหารทะเล ทั้งปูทะเลและกุ้ง แต่ที่พิเศษกว่าอาหารทะเล คือ ไข่เต่านา คุณวงศ์เล่าว่าเขาเสริฟไข่เต่าสดๆ ประกบมากับน้ำแข็ง เวลารับประทาน ก็ใช้ช้อนกะเทาะเปลือกไข่ให้แตกแล้วโรยเกลือโรยพริกไทยลงไปแล้วตักไข่เต่านารับประทานกันสดๆ  ความพิเศษของไข่เต่านานี้ เจ้าภาพฝ่ายลาวเล่าให้ผู้มาเยือนฝ่ายไทยทราบว่า “ถ้ารับประทานวันละลูก ทุกๆ วัน จะทำให้อายุอ่อนลงได้ 5 ปี ฉะนั้น ถ้าคนอายุใกล้ 70 เช่นรุ่นเรานี้ ประสงค์จะให้มีสุขภาพทุกอย่างเหมือนตอนอายุ 50 ปี ก็ต้องรับประทานไข่เต่านาวันละ 4 ฟอง”

อาศัยอาหารพาไปสู่การสนทนา และจากการสนทนาเรื่องอาหารก็ทำให้ผู้มาเยือนฝ่ายไทยทราบจากผู้นำทหารของสปป.ลาวว่าในเวลานั้น สปป. ลาว เวียดนาม และกัมพูชาสร้างถนนเชื่อมโยงกันเดินทางหากันได้โดยตลอด จนสปป.ลาวขนส่งสินค้าออกทะเลที่เวียดนามและกัมพูชาได้โดยสะดวกจนได้ปูได้กุ้งจากเวียดนาม และได้ไข่เต่านาสดๆ เดินทางตรงมาจากกัมพูชาประชาธิปไตยมาตั้งโต๊ะเลี้ยงรับรองมิตรจากฝั่งไทยผู้มาเยือนให้เป็นที่สำราญ

ภาษาสื่อความในการต่างประเทศจำนวนไม่น้อยจะใช้ภาพพจน์ความเปรียบเพื่อทำให้การสื่อสารนั้นมีพลังหรือเพื่อให้คนฟังเข้าใจสารัตถะสำคัญของเรื่องที่ต้องการสื่อความนั้นได้ง่ายและโดยทันที เช่น ความเปรียบเรื่อง เม่น ของโกะจ๊กตง ในสมัยที่เขาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมสิงคโปร์ กับแนวทางป้องกันประเทศที่เขากล่าวกับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายทหารกองทัพอากาศสิงคโปร์

 

To have permanent peace, all Singaporeans must be ready, operationally ready, to keep out threats from any direction. The sharper our defensive skills, the higher the chance of our being left alone to progress and prosper in peace, to work and play. Take the porcupine, for example. But unlike the porcupine, we are not born with defensive quills. The Bloodhounds, Giraffes, Skyhawks, have to be acquired. Infrastructure has to be built. We cannot quiver these quills at ease in natural reflex. We have to learn to master the defensive skills the hard way. … Are you able and ready to bristle and rattle your quills to warn off unfriendly footsteps as easily and naturally as a porcupine? (Singapore Government Press Release 1983)

 

ความคมคายแนบเนียนของภาษาที่ใช้ในการต่างประเทศเป็นคุณสมบัติอันควรยกย่อง อย่างไรก็ดี ภาษาในการต่างประเทศอีกไม่น้อยที่นิยมใช้ การเปรียบเทียบ หรือความเปรียบเทียบ แบบที่โกะจ๊กตงใช้ข้างต้น  แต่มิใช่เพื่อผลในการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังใช่เป็นหลักการและเหตุผลของการกำหนดนโยบายและดำเนินยุทธศาสตร์ เช่น “มิวนิค” มีนัยมาจากการประชุมระหว่างฮิตเลอร์กับเนวิลล์ เชมเบอร์ลิน ที่มิวนิคปี 1938  ที่อังกฤษหลงอ่อนข้อยอมต่อการขยายอำนาจของนาซีเยอรมัน ต่อมา “มิวนิค” ถูกใช้ทั้งในความหมายบ่งถึงการดำเนินการทางการทูตที่เป็นการยอมอ่อนข้อให้รัฐเผด็จการทำให้รัฐนั้นยิ่งย่ามใจขยายอำนาจระหว่างประเทศส่งผลอันเลวร้ายต่อสันติภาพโลกตามมา และใช้ในความหมายการให้เหตุผลแบบรวบยอดที่จะถือเป็นหลักของนโยบายว่าจะไม่ยอมปล่อยให้เกิด “มิวนิค” ซ้ำอีกในวิกฤตการณ์ครั้งต่อๆ ไป  (Khong 1992)

 

ในงานวิจัยของสุรพงษ์ ชัยนามชุด “นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น: สี่กรณีศึกษาเปรียบเทียบ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์” ส่วนหนึ่งเป็นการศึกษาผลของการดำเนินยุทธศาสตร์สหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หลักการเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังยุทธศาสตร์ดังกล่าวรู้จักกันทั่วไปว่าคือ  “ทฤษฎี” โดมิโน ที่ใช้การล้มของตัวต่อโดมิโนตัวแรกแล้วกระทบพาให้โดมิโนตัวถัดไปล้ม และตัวอื่นๆ ที่ตั้งเรียงต่อจากนั้นล้มตามกันไปหมด มาแสดงถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เมื่อประเทศหนึ่งกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ในเวลาอีกไม่นาน ประเทศที่ใกล้เคียงก็จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไปด้วย  โดมิโน จึงเป็นการใช้ภาพพจน์ทางภาษาในการต่างประเทศที่ส่งผลอย่างกว้างขวางในการมองภัยคุกคาม การต่อสู้ป้องกันและขจัดอันตราย และผลกระทบดีร้ายต่อบ้านเมืองและผู้คนตลอดทั่วทั้งภูมิภาคที่เกิดขึ้นตามมา

 

เมื่อการใช้ภาษาในการต่างประเทศออกฤทธิ์ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความอยู่รอดของผู้คนจำนวนมากเช่นนี้แล้ว  ความชำนาญในภาษาการต่างประเทศของนักการทูต นอกเหนือจากความสามารถในการใช้ภาพพจน์ทางภาษามาเป็นหลักการและเหตุผลในการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์การต่างประเทศเพื่อการสื่อสารความเข้าใจอย่างมีประสิทธิผลตามที่ต้องการแล้ว  ยังต้องรวมถึงความสามารถในการสอบทานและตรวจสอบฐานคิดและตรวจสอบสมมุติฐานที่แฝงอยู่ในภาพพจน์ภาษาที่นำมาเป็นเหตุผลและเป็นหลักสำหรับการวางแนวนโยบาย หรือเป็นความคิดเบื้องหลังแนวทางยุทธศาสตร์ ว่าการใช้ภาษาในการต่างประเทศแบบนั้นมีความสมเหตุสมผลต่อการวางยุทธศาสตร์ตลอดสายเพียงใด ตั้งแต่การใช้เป็นกรอบกำหนดมุมมองสาเหตุเงื่อนไขของสถานการณ์ การคาดหวังเกี่ยวกับผลที่จะตามมา และการเสนอแนวทางจัดการกับสถานการณ์  ภาพพจน์ความเปรียบที่นำมาใช้ในทางยุทศศาสตร์มีช่องว่างและจุดอ่อนตรงไหนอย่างไรหรือไม่ ใช้ได้แค่ไหน ข้อจำกัดอยู่ตรงไหน หรือมีความผิดพลาดอย่างไรบ้าง (Jervis and Snyder, eds. 1991)

 

ในการตรวจสอบการใช้ภาษาในการต่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์แบบนี้ อย่างน้อยที่สุดที่ควรพิจารณา ถ้าใช้ตัวอย่างจาก “ทฤษฎีโดมิโน” ก็คือ :-

การเปรียบสถานการณ์กับการล้มของตัวโดมิโน เท่ากับใช้สถานการณ์ที่มีเงื่อนไขแบบหนึ่งมากำหนดมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น  เมื่อเห็นการใช้แบบนี้ เราต้องพิจารณาว่า เงื่อนไขในสถานการณ์ของตัวโดมิโนที่ตั้งเรียงกัน พาให้เข้าใจสถานการณ์ที่กำลังพิจารณาไปอย่างไร และมีฐานข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในสถานการณ์นั้นเพียงพอให้มองไปแบบโดมิโนได้ตรงไหน ถ้าเหตุส่งผลในการล้มของตัวโดมิโนคือ แรงผลักและทิศทางการล้ม  อะไรคือแรงผลักที่ทำงานอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังพิจารณาเปรียบด้วยโดมิโน และจากเหตุที่เป็นแรงผลักไปสู่ผล คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์  แรงผลักนี้ทำงานส่งผลอย่างไรแน่  และตรงไหนในสถานการณ์ที่กำลังพิจารณาที่อาจใช้แย้งได้ว่า การเรียงตัวกันของประเทศในภูมิภาคไม่เป็นเหมือนตัวโดมิโน และเปรียบอย่างนั้นไม่ได้ หรือเปรียบได้ แต่เข้าใจจากแง่มุมนั้นอย่างเดียวยังไม่พอ และควรมองสถานการณ์นั้นด้วยกรอบความเข้าใจแบบอื่นเพิ่มเติมให้เห็นถึงความเป็นไปได้ลักษณะอื่นๆ หรือเสนอฉากทัศน์ที่แตกต่างออกมาในแบบอื่นๆ ได้

ในการใช้ โดมิโน (หรือ x) มาเป็นภาพพจน์เปรียบให้เข้าใจสถานการณ์เป็นการใช้ภาษาในการต่างประเทศที่ต้องตามตรวจสอบต่อว่า การเปรียบแบบนั้นส่งให้เห็นว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องเข้าไปป้องกันรักษาให้ตั้งอยู่มั่นคง  สิ่งนั้นเป็นผลประโยชน์อย่างไร เป็นผลประโยชน์ในลักษณะไหนแน่ และมีความสำคัญในขั้นไหนต่อเรา หรือต่อพันธมิตรของเรา  เหตุที่ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมากระทบต่อสิ่งที่ต้องรักษาให้ตั้งอยู่ได้มั่นคงนั้นได้แก่อะไร และในการระงับเหตุเช่นนั้นไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ จะต้องทำอะไรและทำอย่างไร เช่น ถ้าไม่อยากให้โดมิโนตัวอื่นๆ ล้ม ก็ต้องป้องกันตัวแรกไม่ให้ล้ม จากการเปรียบนี้ต้องตั้งคำถามต่อว่า ตรงไหนคือโดมิโนตัวแรก ทำไมจึงเป็นตรงนั้น เหตุที่จะทำให้ตัวแรกล้มนั้นคืออะไร เหตุนั้นอยู่ที่ไหน ใครและอะไรที่จะช่วยป้องกันมิให้โดมิโนตัวแรกล้ม การป้องกันควรทำอย่างไร ด้วยวิธีใด มีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด  ด้วยต้นทุนสูงเพียงใด และถ้าโดมิโนตัวแรกล้ม  จะล้มไปทางไหน (Jervis and Snyder eds., 1991)

ผู้วางยุทธศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาที่คิดในกรอบของ “ทฤษฎี” โดมิโน ไม่ถึงกับผิดทั้งหมดที่เปรียบเทียบสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการมองประเทศในภูมิภาคตั้งเรียงกันและส่งผลและผลกระทบถึงกันได้แบบตัวโดมิโนล้ม ส่วนที่ถูกคือมองความตั้งใจและความปรารถนาของผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์คือจีนและเวียดนามเหนือและขบวนการคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคได้ถูกต้องที่สนับสนุนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ให้แผ่กระจายจากที่หนึ่งไปสู่ที่อื่นๆ และต้องการเห็นความสำเร็จของการปฏิวัติในที่หนึ่งหนุนการปฏิวัติในที่อื่นๆ แต่การมองความตั้งใจมองแผนการของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างถูกต้องนี้ยังมิได้หมายความว่าแนวทางยุทธศาสตร์ที่ใช้เข้าไปสกัดความตั้งใจของฝ่ายตรงข้ามไม่ให้สำเร็จผลได้นั้นจะต้องถูกต้องตามไปด้วย สิ่งที่ผู้วางแผนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไม่ได้พิจารณาคืออะไรคือผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ เห็นว่าจะกระทบถ้าไม่เข้าไปช่วยป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากความตั้งใจขยายตัวของผู้นำคอมมิวนิสต์

ถ้าผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้คือความน่าเชื่อถือในทางยุทธศาสตร์ทั้งในสายตาของพันธมิตรและในการประเมินของฝ่ายตรงข้ามคือสหภาพโซเวียต ก็ต้องถามตามต่อไปว่าการป้องกันผลประโยชน์นี้ทำแบบไหนได้บ้าง และถ้าหนึ่งในนั้นจำเป็นว่าต้องเข้าไปช่วยป้องกันสกัดกั้นไม่ให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคอมมิวนิสต์  วิธีป้องกันนั้นมีอะไรบ้างและสหรัฐฯควรทำแค่ไหนและควรตั้งเป้าหมายไว้แบบไหนเพียงไรในส่วนที่จะเป็นการรักษาความน่าเชื่อถือ และถ้าหากว่าการที่เลือกทำนั้นไม่ประสบความสำเร็จจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ไปอีกแบบหนึ่งเพียงใด

นอกจากนั้น เมื่อตัดสินใจทำแล้ว การติดตามประเมินผลลัพธ์ ผลกระทบของทางเลือกที่ได้ทำไป จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์พิจารณา Kissinger เรียกการตรวจสอบแบบนี้ว่า Acid test of a policy ในกรณีของสหรัฐฯ ผลกระทบหรือผลข้างเคียงอย่างหนึ่งอันเกิดจากทางเลือกที่สหรัฐฯ ตัดสินใจทำคือการเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารโดยตรงและเปลี่ยนสงครามในเวียดนามให้กลายเป็นสงครามของสหรัฐฯ นั้นเท่ากับว่าสหรัฐฯ ได้เติมเงื่อนไขของการปฏิวัติให้เพิ่มมากขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งและการต่อสู้ที่ดำเนินอยู่ เพราะอำนาจจากภายนอกที่เข้ามาแทรกแซงเป็นสิ่งที่ฝ่ายขบวนการปฏิวัติจะใช้ระดมพลังสนับสนุนจากประชาชนให้ลุกขึ้นสู้กับอำนาจของ “จักรวรรดินิยมอเมริกัน” ต่อไป

และเมื่อกองกำลังของสหรัฐฯ เลือกใช้ยุทธวิธี counterinsurgency ตามแนวทาง “pacification” ที่อาศัย “search and destroy” ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่แฝงตัวอยู่ในหมู่บ้านก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายลง ขยายผลสภาวะปรปักษ์ระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐของเวียดนามใต้ให้มากขึ้น และยิ่งรัฐบาลเวียดนามใต้สูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องพึ่งการใช้กำลังและต้องพึ่งสหรัฐฯ ในค้ำยันและสนับสนุนกำลังในการปราบปรามมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างนี้ชี้ว่า นอกจากความชำนาญการใช้ภาษาในการต่างประเทศและการตรวจสอบตรรกะวิธีคิด ความหมาย และความสมเหตุสมผลที่อยู่เบื้องหลังการใช้ภาษาเชิงยุทศาสตร์แล้ว ความชำนาญดังกล่าวยังต้องการอุปกรณ์การคิดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งควบคู่กัน นั่นคือ การใช้ความคิดเพื่อประเมินและตัดสินวินิจฉัย

นักการทูตผู้รับผิดชอบการต่างประเทศจะต้องพบการวินิจฉัยตัดสินชั่งน้ำหนักแก่อ่อนมาน้อยหนักเบาให้พอเหมาะ อย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

  • ข้อคิดที่ผู้เขียนรายงานเคยรับฟังมาจากหม่อมราชวงศ์เกษมสโมสร เกษมศรีคือ การรู้ประเมินจังหวะเวลาว่า เมื่อไรควรทำ เมื่อไรควรรอ เมื่อไรควรตัดสินใจ เมือไรควรลงมือ หรือเมื่อเห็นการตัดสินใจหรือการเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย ก็ต้องรู้ประเมินว่า “Why now?” หรือในทางกลับกันคือ “Why not now?”

 

  • ข้อคิดจาก Herbert A. Simon (1996, 165) คือการรู้ประเมินว่าเมื่อไรควรพอใจเท่าที่เป็นไปได้หรือเมื่อพบกับทางเลือกที่คิดว่าดีพอก็ไม่ต้องหาอื่นอีกต่อไป (satisficing) และเมื่อไรเป็นเวลาควรรุกเพื่อให้ได้มากที่สุดหรือควรมองหาจนพบทางเลือกที่ดีที่สุด (optimizing) และใกล้เคียงกับการประเมินเรื่องนี้จากข้อพิจารณาในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือการรู้วินิจฉัยความแตกต่างระหว่างความพอใจที่ประเมินจาก absolute gains คือดูที่ยอดรวมผลตอบแทนที่จะได้รับว่าน่าพอใจหรือยัง กับความพอใจที่ประเมินจาก relative gains คือเปรียบเทียบผลที่ได้รับกับที่คนอื่นๆ ได้ ว่าแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ความพอใจไม่พอใจแบบหลังเกิดจากความแตกต่างที่พบจากการเปรียบเทียบ

 

  • ข้อคิดจาก Henry Kissinger ที่เสนอให้มองหาสิ่งที่จะใช้เป็น acid test สำหรับใช้วัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ตัดสินใจจะดำเนิน ซึ่งมีทั้งเกณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และเกณฑ์ทั่วๆ ไป สำหรับเกณฑ์ทั่วไป เขาเสนอว่า “The acid test of a policy …is its ability to obtain domestic support. This has two aspects: the problem of legitimizing a policy within the governmental apparatus … and that of harmonizing it with the national experience.” และถ้าหากว่ามีช่องว่างระหว่างวิสัยทัศน์ของนโยบายกับความเข้าใจที่มีอยู่ตามประสบการณ์ของคนทั่วไป คนที่มีหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้สองด้านนี้รับกันได้เพื่อให้นโยบายได้รับการสนับสนุนก็คือคนที่เป็นผู้นำ (Kissinger 1964, 326 – 329)

 

ส่วนตัวอย่าง acid test ในกรณีเฉพาะนั้น อาจใช้ตัวอย่างการมองภัยคอมมิวนิสต์ในยุโรปที่เมื่อมาถึงทศวรรษ 1970 คิสซินเจอร์และผู้นำของฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก และอังกฤษกังวลกับ “real enemy” ที่เป็นพวก Euro-Communism มากกว่าภัยคุกคามจากมอสโก  ในการประชุมหารือกับ “the Quadripartite Group” อันเป็นการประชุมในวงลับ คิสซินเจอร์เสนอให้ใช้เกณฑ์ต่อไปนี้สำหรับประเมินพวก Euro-Communism

 

The acid test isn’t whether they would come to power democratically; the test is whether they would allow the reversal. It is difficult for a Communist party to admit that history can be reversed and allow themselves to be voted out of power. (Kissinger Transcript, 1975)

 

  • ข้อคิดจาก Alexander George (2006) เสนอการรู้จักชั่งน้ำหนัก 3 ด้านระหว่างด้านคุณภาพของนโยบายที่ได้มาจากการประเมินอรรถประโยชน์ที่จะได้รับ เทียบกับต้นทุนที่ต้องจ่าย ค่าเสียโอกาส และอัตราเสี่ยงที่ยอมรับได้ อีกด้านหนึ่งคือการแสวงหาการสนับสนุนทางการเมืองต่อนโยบายที่จะดำเนินทั้งระดับภายในและระหว่างประเทศ และด้านที่สามคือการบริหารจัดการเวลาและทรัพยากรอื่นๆ รวมทั้งการจัดการผลกระทบและผลข้างเคียงอันเกิดจากการตัดสินใจในด้านแรกและด้านที่สอง

 

  • สุดท้ายคือข้อคิดจาก Isaiah Berlin (1990) ว่าด้วย pluralism of values ที่ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายตระหนักว่าคุณค่าต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายอันพึงประสงค์เช่น เสรีภาพ ความมั่นคงปลอดภัย ความเสมอภาค ความสงบเรียบร้อยในสาธารณะ ความเป็นธรรม เหล่านี้อาจไม่ได้มาพร้อมกันหรือต้องเลือกแลกว่าจะรักษาเรื่องไหนและจะยอมให้คุณค่าด้านอื่นถูกกระทบมากน้อยเพียงใด ในเงื่อนไขแบบใด

 

ขอลงท้ายด้วยข้อคิดจากพระราชดำริรัชกาลที่ 4 (เพ็ญศรี ดุ๊ก 2542) เกี่ยวกับความสำคัญของภาษาในการต่างประเทศสำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีกำลังอำนาจน้อยมากเช่นสยามในรัชสมัยของพระองค์

 

ถ้าหากเราพบบ่อทองในประเทศของเราพอที่จะซื้อเรือรบจำนวนร้อยๆ ลำก็ตาม เราก็คงไม่สามารถจะสู้กับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธจากประเทศเหล่านี้ พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไรก็ได้ อาวุธชนิดเดียวที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตก็คือ วาจาและหัวใจของเราอันกอปรด้วยสติและปัญญา

 

แต่ถึงจะเป็นรัฐที่มีอำนาจ มีความเข้มแข็ง เป็นเจ้าของอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีชั้นเลิศ “วาจาและหัวใจอันกอปรด้วยสติและปัญญา” ก็เป็นสิ่งจำเป็นเสมอไปในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

 

รายการอ้างอิง

เพ็ญศรี ดุ๊ก. (2542).  การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

วงศ์ พลนิกร. (2531).  ผู้ข้ามโขงยามรุ่งอรุณ: บันทึกเบื้องหลังการยุติสงครามไทย-ลาว. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.

Berlin, Isaiah. (1990). The Crooked Timber of Humanity: Chapters in the History of Ideas, Henry Hardy (ed.), London: John Murray.

George, Alexander. (2006). On Foreign Policy: Unfinished Business. Boulder: Paradigm Publishers.

Jervis, Robert and Jack Snyder, eds. (1991).  Dominoes and Bandwagons: Strategic Beliefs and Great Power Competition in the Eurasian Rimland. Oxford: Oxford University Press.

Khong, Yuen Foong. (1992). Analogies at War: Korea, Munich, Dien Bien Phu and the Vietnam Decision of 1965. Princeton: Princeton University Press.

Kissinger, Henry A. (1964). A World Restored. New York: Grosset & Dunlap Universal Library Edition.

Kissinger Transcript.  (1975).  Memorandum of Conversation, “East-West Relations (European Communist Parties); Angola; Spain; Yugoslavia; Cyprus; Italy,”12 December 1975, 3:30-5:40 p.m., Brussels, Residence of U.S. Ambassador, Top Secret/Nodis/Xgds

Simon, Herbert A.  (1996). Models of My Life. Cambridge, MA: MIT Press.

Singapore Government Press Release. (1983).  Speech by Mr. Goh Chok Tong, Minister of Defence and Second Minister for Health, at the RSAF Graduation Ceremony at Paya Lebar Airport. Available at https://www.nas.gov.sg/archivesonline/data/pdfdoc/gct19831101s.pdf

 

หมายเหตุ :

บทความเป็นส่วนหนึ่งของรายงานวิจัยบทที่ 5 ศุภมิตร ปิติพัฒน์, บทเรียนนโยบายต่างประเทศไทยสมัยสงครามเย็นต่อประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล:  การสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยของสุรพงษ์ ชัยนาม ชุด “นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น: สี่กรณีศึกษาเปรียบเทียบ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์”, รายงานวิจัยเสนอสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2563.   ผู้เขียนขอขอบคุณ สกว. – สกสว. ผู้สนับสนุนทุนวิจัย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save